หมู่บ้านในสกอตแลนด์เปลี่ยน “ตู้โทรศัพท์เก่า” ให้เป็น “ตู้เสบียง” ของชุมชน
ท่ามกลางวิกฤตมีโอกาส เช่นเดียวกับในวิกฤตโควิด-19 ก็เกิดโครงการดีๆ นี้ที่ได้ถูกริเริ่มขึ้นในหมู่บ้านชนบทของสกอตแลนด์ ซึ่งมีประชากรราว 675 คน ตู้โทรศัพท์สีแดงได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นตู้เสบียงของชุมชน
.
ภาพของตู้โทรศัพท์ที่ไม่ถูกใช้งานในหมู่บ้านมัทฮิลล์ (Muthill) เพิร์ท (Perth) และคินรอสส์ (Kinross) ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ให้เป็นตู้เสบียงของชุมชน ด้วยการใส่อาหาร ของกิน และของใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านที่ขาดแคลนได้รับการแบ่งปันและเยียวยาในช่วงการปิดเมืองเนื่องจากไวรัสโคโรน่า
.
โครงการนี้เกิดขึ้นจากความคิดของคู่หูคือ คอรินน่า โรเบิร์ตสัน (Corinna Robertson) และซูซาน ครอว์ฟอร์ด (Susan Crawford) ซึ่งได้เปลี่ยนจิตวิญญาณของชุมชนให้เป็นความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามวิกฤติ
.
คอรินน่า วัย 52 ปี มีอาชีพเป็นช่างซ่อมรถยนต์ ไม่นานมานี้เธอเพิ่งต้องถูกพักงานเนื่องจากเหตุการณ์โรคระบาดโควิด-19 ประสบการณ์นี้ทำให้เธอได้ตระหนักว่าผู้คนอีกมากมายกำลังเสี่ยงตกงาน ผู้คนต้องหยุดงาน ขาดรายได้ และกว่าจะกลับมามีรายได้อีกครั้งคงต้องใช้เวลา คอลิน่ากล่าวว่า
.
“โครงการนี้แม้เพิ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน แต่มันก็จับใจผู้คนได้อย่างรวดเร็ว ตู้เสบียงของชุมชนมีของบริจาคเต็มอยู่ตลอดเวลา โดยในแต่ละวันจะมีอาสาสมัครช่วยตรวจสอบไม่ให้มีสิ่งของหมดอายุ โครงการของเราได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง แม้แต่ผับในท้องถิ่นซึ่งในช่วงนี้ไม่มีลูกค้า ก็ได้บริจาคลูกอมช็อคโกแล็ตอีสเตอร์ให้แก่เด็กๆ”
.
หลังจากที่เริ่มทำไปไม่นาน ชาวบ้านมากมายก็ให้ความสนใจ ต่างช่วยกันแบ่งปันของกินของใช้ต่าง ๆ ไว้ในตู้โทรศัพท์แห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารกระป๋อง อาหารแห้ง พืชผักจากชาวสวนชาวไร่ในพื้นที่ รวมทั้งยังมีตุ๊กตา หนังสือ จิ๊กซอว์ และช็อกโกแลตอีสเตอร์ที่ถูกจัดเป็นชุด ๆ เผื่อไว้ให้เด็ก ๆ อีกด้วย
.
นอกจากนี้ตู้เสบียงชุมชนยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนที่ขับรถไม่ได้ และไม่อยากเสียเวลาเดินทางไปเมืองใหญ่ที่มีการแจกสิ่งของ
.
“ชาวบ้านรวมพลังกันเป็นน้ำใจของชุมชนอย่างแท้จริง และพวกเราคุยกันว่าน่าจะเป็นการดีที่จะทำโครงการต่อ เพราะเราคงจะต้องอยู่ในสถานการณ์โรคระบาดนี้อีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ประชาชนประสบปัญหาขาดแคลนเงินทองและของใช้ แต่ทั้งนี้เรายังไม่ได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการนัก ตอนนี้จึงเป็นเพียงแนวคิด”
.
คอลิน่ากล่าวทิ้งท้ายถึงโครงการนี้ว่า “ขอให้คุณให้ในสิ่งที่คุณอยากให้ รับเฉพาะสิ่งที่จำเป็นสำหรับคุณ และไม่รับหากคุณเห็นว่าไม่จำเป็น”
.
นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ที่พร้อมจะช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติร้ายแรงแค่ไหน เหมือนคำพูดที่คุ้นหูว่า “การให้ไม่มีคำว่าสิ้นสุด” จริง ๆ ค่ะ
.
ติดตามเนื้อหา คำแนะนำ ข่าวสาร เพื่อสร้าง #ภูมิคุ้มใจ ในสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่เว็บไซต์ความสุขประเทศไทย HappinessisThailand.com