8 ช่องทางความสุข

พระจันทร์พเนจร ความสุขของคนเล่นเงา

 “เราเป็นคนขี้อาย การเล่นหุ่นเงาทำให้เรารู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด เพราะไม่ต้องออกไปแสดงหน้าเวที เรารู้สึกสนุกที่ได้ใช้หุ่นเป็นสื่อเพื่อบอกเล่าเรื่องราวปัญหาของสังคมโดยไม่ต้องมีใครมองเห็นเรา”

มณฑาทิพย์ สุขโสภา หรือ ทิพย์บอกถึงเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการเลือกอยู่ด้านหลังฉากสีขาวมาตลอดเวลากว่ายี่สิบปีที่ผ่านมาภายใต้ชื่อคณะละครเงาที่หลายคนคุ้นหูกันดีว่า “พระจันทร์พเนจร” หรือชื่อเต็มว่า “พระจันทร์พเนจร และการเดินทางที่ไม่สิ้นสุด ” 

ด้วยเพราะมนต์เสน่ห์ของแสงและเงาบนฉากสีขาว ผู้ชมโดยเฉพาะเด็กๆ จะตื่นเต้นเสมอเมื่อได้เห็นเงาบนผืนผ้าเคลื่อนไหวไปมาเป็นเรื่องราว คณะละครพระจันทร์พเนจรฯ จึงใช้ละครเงาเป็นสื่อสำหรับสะท้อนปัญหาสังคม ออกเดินทางไปแสดงตามชุมชนต่างๆ ทั้งในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงต่างประเทศ หลายเรื่องราวนำปัญหาในสังคมมาร้อยเรียงเป็นบทละครเพื่อชวนขบคิด ตั้งคำถาม และหาทางออกร่วมกัน ละครเงาจึงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อสร้างความเพลินเพลินใจเท่านั้น หากยังช่วยสร้างสรรค์ให้สังคมน่าอยู่มากขึ้นด้วยเช่นกัน

 ทิพย์ยกตัวอย่างละครเรื่อง “The Butterfly” ซึ่งนำสัญลักษณ์ผีเสื้อมาใช้แทนผู้หญิงเพื่อสะท้อนปัญหาความรุนแรงทางเพศว่า

 “เราเริ่มจากนิยามความเป็นผู้หญิง ใครบอกว่าเราเป็นผู้หญิงหรือสังคมบอกเรา เราเชื่อหรือเปล่าว่าเราเป็นผู้หญิง แล้วก็พูดเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย เรื่อง “Masturbetion”  เรื่อง “Forgotten Memories”  เรื่องการทำแท้ง โดยสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ผีเสื้อ จริงๆ เนื้อหาที่เรานำเสนอสำหรับผู้ใหญ่ แต่รูปแบบการนำเสนอเป็นเด็กเพื่อให้คนเข้าใจได้ง่าย เหมือนกับหนังสือเรื่องเจ้าชายน้อยที่ต้องอาศัยการตีความที่ซับซ้อน ผ่านตัวละครและวิธีการเล่าเรื่องแบบนิทาน”

ไม่เพียงคณะละครจะเป็นคนแสดงให้คนดู แต่บางเรื่อง คนดูก็กลายมาเป็นคนเล่นละครเงาได้เช่นกัน เพราะนั่นจะยิ่งทำให้คนในชุมชนนั้นๆ เข้าใจปัญหาชัดเจนยิ่งขึ้น ตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ทิพย์ผ่านการทำละครร่วมกับหลายชุมชน กลุ่มคนพิการ หรือกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคม อาทิ  เด็กออทิสติก เด็กพิการทางหู รวมทั้งชุมชนที่มีปัญหาเรื่องภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่นเรื่อง “ตุ่นน้อยตื่นตัว” สอนให้เด็กๆ ในชุมชนได้รู้จักการระวังภัยพิบัติ เป็นต้น 

 ภารกิจสำคัญของคนทำละครหุ่นเงาจึงไม่ใช่แค่ทำหุ่น แต่ต้องเป็น “นักวิจัย” ประเด็นปัญหาที่ต้องการสื่อสาร นำมาตีความเป็นสัญลักษณ์ ร้อยเรียงเรื่องราวเป็นละครที่สามารถดึงดูดใจคนดูตั้งแต่เด็กน้อยไปจนถึงคนชราให้ติดตามจนจบเรื่องด้วยเช่นกัน

เราเคยทำละครเกี่ยวกับเด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ เรื่อง ‘ความลับของมอริส’ โดยเล่าเรื่องผ่านตุ๊กตาเพราะเด็กไม่กล้าเล่าเรื่องด้วยตนเอง เวลาเล่าจะร้องไห้ เราจัดแสดงตามชุมชน หมู่บ้าน และโรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นจุดเสี่ยงด้วย คนส่วนใหญ่มักจะไปพึ่งพิงครู ชาวบ้านก็สะท้อนว่าดี เพราะตัวเขาเองก็ไม่รู้จะสอนลูกในการป้องกันตัวยังไง เราต้องสอนให้ทำให้เด็กเชื่อในสัญชาตญาณของเขาเองว่าคนไหนปลอดภัย คนไหนไม่ปลอดภัย รู้จักการปฏิเสธและการวิ่งหนี เรื่องนี้เป็นทักษะที่เด็กจะต้องพัฒนา แต่ว่าเมื่อผู้ใหญ่ในบ้านมักไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ยิ่งในสังคมที่มีชายเป็นใหญ่อย่างบ้านเรา ยิ่งทำให้ปัญหาทับซ้อนมากขึ้นไปอีก” 

สิ่งที่ทิพย์มุ่งหวังในฐานะคนละครเงาสะท้อนปัญหาสังคมมากที่สุด คือ การนำแง่คิดจากละครไปผลักดันต่อ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

“บางทีเราก็รู้สึกเสียดาย ถ้ากลุ่มคนในพื้นที่ไม่ได้ทำงานในเรื่องนี้ต่อ เพราะเราเป็นแค่ ‘ตัวต่อ’ หรือ ‘แรงกระตุ้น’ เพื่อผลักดันให้เขาทำงานต่อไป”

จวบจนวันนี้ หญิงสาวผู้อยู่ด้านหลังฉากสีขาวก็ยังมีความสุขกับการทำละครเงาเพื่อสะท้อนปัญหาสังคม เพราะเธอเชื่อว่าโชคชะตากำหนดมาให้เธอเดินบนเส้นทางสายนี้ และเธอก็ได้เรียนรู้สัจธรรมจากการเล่นหุ่นเงาเช่นเดียวกัน

“เราเชื่อว่า เราถูกเลือกให้มาเดินบนเส้นทางสายนี้ แล้วเราก็ทำด้วยแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยมจนสุดความสามารถที่เรามี สิ่งที่หุ่นเงาสอนเรา คือ สัจธรรม ในความมืดมีความสว่าง และในความสว่างมีความมืด ทุกอย่างมีสองด้านเสมอ” 

(ขอบคุณภาพประกอบจากเฟสบุ๊คของ Monthatip Suksopha มา ​ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)

ศิลปะ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save