Music Sharing สร้างดนตรีในหัวใจเด็กด้อยโอกาส
ดนตรีอาจสร้างจุดเปลี่ยนของชีวิตใครหลายคน สำหรับเด็กด้อยโอกาสแล้ว การเล่นดนตรีสักชิ้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเครื่องดนตรีสากลที่ต้องมีครูมาช่วยสอนและชี้แนะ หากมีใครสักคนนำเครื่องดนตรีมาแบ่งปันพร้อมกับครูสอนในชุมชนของเด็กเหล่านี้ เด็กๆ คงจะมีความสุขไม่น้อยเลยทีเดียว
ศิริพร พรมวงศ์ หรือ “ครูแอ๋ม” หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการ Music Sharing แบ่งปันเครื่องดนตรีให้กับกลุ่มเด็กด้อยโอกาสตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าเธอจะเรียนสายวิชาชีพสาธารณสุข แต่เธอก็หลงรักการเล่นกีตาร์มาตั้งแต่วัยเยาว์ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนที่เรียนด้านดนตรีมาทำค่ายเด็กด้วยกัน โดยเปิดรับบริจาคเครื่องดนตรีให้น้องๆ ชนเผ่าในจังหวัดน่าน ผลปรากฎว่าเสียงตอบรับดีมากจนเครื่องดนตรีมากเกินจำเป็นสำหรับเด็กในพื้นที่เดียว
“เป็นโครงการเรียนรู้คุณธรรม แอ๋มก็เลยทำโปสเตอร์ขึ้นมาแบบไม่ได้ใช้ชื่อกลุ่ม โปสเตอร์ก็ใช้ชื่อว่ามิวสิคแชริ่งเฉยๆ แล้วก็บริจาคเครื่องดนตรีไปให้น้อง เพราะว่าเป็นเด็กที่เราทำกิจกรรมมาในค่ายค่ะ ปรากฏว่าโปสเตอร์ได้รับการตอบรับดีมาก มีคนโทรเข้ามาบริจาคเครื่องดนตรีเยอมากค่ะ ส่วนใหญ่เป็นกีต้าร์ คีบอร์ด อูคูเลเล่บ้าง พอเอาไปให้แล้วมันเหลือเกินความจำเป็น แต่ก็ยังมีคนโทรมาตลอด จนต้องนำเครื่องดนตรีไปบริจาคให้เด็กในพื้นที่อื่นบ้าง”
ด้วยกระแสการบริจาคหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย เธอจึงเริ่มกระจายเครื่องดนตรีให้เด็กๆ ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือเมื่อมีเครื่องดนตรีแล้ว เด็กๆ จะเล่นได้อย่างไร หากไม่มีครูสอนดนตรี ดังนั้น โครงการจัดหาทีมครูดนตรีอาสาจึงเกิดขึ้นตามมา และขยายกิจกรรมไปสู่เด็กๆ หลากหลายชุมชนทั่วประเทศในเวลาต่อมาภายใต้ชื่อ “โครงการดนตรีเพื่อการแบ่งปัน” หรือ “Music Sharing” โดยได้รับเงินสนับสนุนทั้งจากธุรกิจและภาคสังคม อาทิ บริษัทอยุธยาอลิแลนซ์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กิจกรรมของ Music Sharing นอกจากการนำเครื่องดนตรีไปบริจาค และการจัดหาทีมครูอาสาในพื้นที่แล้ว ยังมีกิจกรรมที่ช่วยสร้างแรงจูงใจในการเล่นดนตรีให้เด็กๆ อีกหลายกิจการ อาทิ การจัดค่ายให้เด็กจากหลายพื้นที่มาเจอกันเพื่อเรียนรู้และแบ่งปัน การให้ทุนเพื่อให้แต่ละพื้นที่จัดทำกิจกรรมของตนเอง ไปจนถึงการจัดคอนเสิร์ตประจำปีจากเด็กๆ ที่ได้รับทุนทั่วประเทศ ส่งผลให้เด็กด้อยโอกาสได้มีดนตรีเป็นเพื่อนร่วมทางมากขึ้นเรื่อย แอ๋มกล่าวถึงรูปแบบกิจกรรมที่ผ่านมาว่าขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้ให้ทุนว่าต้องการสนับสนุนกิจกรรมรูปแบบใด
“ถ้าเป็น สสส.จะทำเป็นกระบวนการเพื่อพัฒนาเด็กผ่านดนตรีมีค่ายดนตรี มีแคมป์ มีเวิร์คช็อป มีอบรม มีคอนเสิร์ต มีถอดบทเรียน เป็นโปรเจ็คต์ลองเทอมค่ะ ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราไปที่ภูเก็ตเราไปทำอะไร พื้นที่นี้อยากเข้าโครงการกับเรา เขาก็ต้องคัดเลือกเด็กเพื่อที่จะเข้าร่วมโครงการ ก็จัดคล้ายๆ ค่ายดนตรีก่อน เสร็จปุ๊บเราก็ให้ทุนก้อนนึงสำหรับทำกิจกรรมแล้วก็รับบริจาคเรื่องดนตรีไปให้ บางพื้นที่เขามีทรัพยากรในการจัดเวิร์คช็อปได้ก็ให้เค้าจัดเองแต่ถ้าบางพื้นที่ที่เค้าไม่มีเราก็เข้าไปจัดให้ พอหลังจากนั้นเค้าก็จะหาครูมาสอนทุกสัปดาห์”
หนึ่งในพื้นที่กิจกรรมที่Music Sharing ทำงานมายาวนานเกือบสิบปีจนเห็นปัญหาและความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ อย่างชัดเจน คือ พื้นที่ชุมชนคลองเตย ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ
“เริ่มจากเขาบอกว่า เขาอยากได้เครื่องดนตรี เราก็เอาเครื่องดนตรีไปให้ หลังจากนั้น เขาก็อยากได้ครูสอนดนตรี เราก็เลยไปช่วยสอนแล้วก็ชวนเพื่อนๆ ไปช่วยจนทำโรงเรียนอยู่ในคลองเตยร่วมกับโครงการ Playing for Change ของอเมริกาที่เขาทำเรื่องดนตรี เรายกทีมครูอาสาไปสอนเด็กๆ ที่คลองเตยเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง โดยเด็กๆ ที่มาเรียนมีอายุตั้งแต่ 6 -7 ขวบ ไปจนถึงวัยรุ่นอายุ 13 – 14 ด้วยจำนวนเด็กที่มากถึง 30 – 40 คน ทำให้กีตาร์ตัวหนึ่งต้องผลัดกันเล่นห้าคน”
แม้บางคนจะไม่ได้เล่นดนตรีเก่งโดดเด่น แต่เสียงดนตรีก็ยังทำหน้าที่ช่วยกล่อมเกลา รวมทั้งสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขายามเผชิญมรสมรุมเร้าจากปัญหาในครอบครัว
การที่เด็กๆ ได้มาเล่นดนตรีด้วยกัน ทุกคนมีความสุข บางคนไม่มีพ่อแม่ แต่พอได้มาทำกิจกรรมด้วยกัน มันทำให้รู้สึกเหมือนเรามีครอบครัว มีคนที่ใส่ใจดูแลกัน
หลังจากทำกิจกรรมมาได้หลายปี แอ๋มก็เริ่มพบว่าปัญหาสำคัญของโครงการ คือ การขาดแคลนครูสอนดนตรีที่ต้องสละเวลามาสอนด้วยรายได้ที่น้อยกว่าครูสอนดนตรีตามโรงเรียนดนตรีทั่วไป หรือน้อยกว่าการไปเล่นดนตรีตามสถานที่ต่างๆ หลายคนจึงอยู่ได้ไม่นานแล้วจากไป หลายพื้นที่จึงขาดครูสอน โครงการในพื้นที่นั้นก็ต้องหยุดชะงักลง
“ปัญหาที่ทำให้เขาไม่ได้ทำโครงการต่อ น่าจะเป็นเรื่องครูค่ะเพราะว่าหลักๆ อย่างเครื่องดนตรีหรือพวกงบก็ไม่ได้ซีเรียสมากแต่ว่าครูที่อยากจะสอนต่อเนื่องก็จะน้อยและนักดนตรีส่วนใหญ่ก็จะไม่ชอบสอน เพราะว่ารายได้ไม่ได้คุ้ม ในช่วงแรกของงานจิตอาสาก็จะมีคนไปอยู่แต่ในระยะยาวก็จะหายไป ถ้าเป็นกลุ่มแกนนำหมายถึงคนในพื้นที่เช่นทางอีสาน เขาเป็นครูดนตรีกันอยู่แล้ว ชีวิตเขาอยู่กับดนตรี โครงการในพื้นที่นั้นก็จะไปต่อได้ แต่ถ้าบางคนอยากทำโครงการ แต่ตนเองไม่มีทักษะด้านดนตรี ต้องหาครูข้างนอกเข้ามาช่วยสอนจะไปต่อลำบาก เพราะครูก็อาจอยู่ได้ไม่นานก็จากไป”
เช่นเดียวกับเด็กๆ ที่มาร่วมโครงการ หากไม่มีใจรักการเล่นดนตรี หลังเข้าร่วมโครงการเพียงไม่นานก็จะจากไปเช่นกัน
“จริงๆ ดนตรีต้องใช้ความอดทน บางคนก็แค่อยากจะมาเล่นไม่ได้อยากมาเรียนจริงจัง สักพักนึงเขาก็จะหายไปเอง”
ตลอดการก้าวเดินบนเส้นทางการแบ่งปันเสียงดนตรีให้เด็กด้อยโอกาสสายนี้ หญิงสาวผู้ริเริ่มโครงการบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ยังทำให้เธอสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาบนรายทาง โดยเฉพาะอุปสรรคในใจของเธอเองว่า
“ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะทำยาวนาน ไม่ได้มาเป็นโปรเจ็ค เราก็เริ่มคล้ายๆ กันคืออยากทำ แต่ว่าพอเห็นเด็กๆ เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา อย่างเช่น เด็กในคลองเตย ถ้าไม่มีตรงนี้ เราก็ไม่รู้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะไปยังไง เพราะเราได้สร้างแรงบันดาลใจให้เขา จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของหลายคน เราก็เลยรู้สึกว่า เราทำเล่นๆไม่ได้แล้วนะ มันก็เลยค่อนข้างเริ่มจริงจังขึ้นมา หลังจากเราต้องทำให้โครงการเข้มแข็งขึ้นเป็นองค์กร ต้องหาทุน หาครูสอน หาเพื่อน ตอนแรกเราก็กะว่าจะไปเป็นอาสา ถ้าเหนื่อยเมื่อไหร่ก็เลิก ก็กะแค่นั้นเอง ไม่ได้คิดแบบเป็นอะไรยิ่งใหญ่ แต่พอเห็นเด็กๆ อยากทำกิจกรรมเยอะ แต่เขาไม่มีโอกาส เราก็ต้องทำโครงการต่อไปจนมาถึงจุดที่ไกลกว่าที่คิดไว้มากมาย
เราเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองว่าต้อง commit กับสิ่งที่ทำมากขึ้น จากเมื่อก่อนไปแค่ค่ายอาสาหรือเป็นอาสาสมัครชั่วคราว เราไม่ได้เห็นเส้นทางชีวิตเขาหรอก เราก็จะเห็นว่ามันมีความสุข ณ ขณะหนึ่ง แล้วก็ออกมา หลังจากนั้นเราก็ไม่รู้ว่า คนนี้เป็นยังไง แต่พอเราทำระยะยาว อย่างคลองเตย เราทำมา 7 ปีแล้ว ก็จะรู้ว่ากว่าเด็กคนหนึ่งจะผ่านช่วงชีวิตที่มันยากลำบาก กว่าจะเอาชนะตัวเองได้ต้องใช้อะไรบ้าง ทักษะอะไร มีปัญหาอะไร เราจะจัดการความรู้สึกกับการคาดหวังยังไง พอเราเป็นครู เราก็จะเหมือนเป็นพ่อแม่เขา การที่เรา commit มากขึ้น เราต้องใช้ความแข็งแรงภายในสูงขึ้น เวลาเจอปัญหาก็รู้สึกว่า ทิ้งไม่ได้ มันก็ทำให้เราแข็งแรงขึ้น กลายเป็นว่าอะไรที่เป็นเรื่องยากๆ แต่ก่อน ก็รู้สึกว่าจัดการได้ง่ายขึ้น แล้วก็ไม่ได้รู้สึกทุกข์ไปกับปัญหาเหมือนแต่ก่อน
ความสุขของครูแอ๋มในวันนี้ไม่ได้มีเพียงการได้สอนให้เด็กรักดนตรีเท่านั้น หากยังมีความสุขจากการได้เห็นเด็กๆ เติบโตอย่างถูกทาง จนเธอเป็นเหมือนแม่คนที่สองของเด็กๆ ไปเลยทีเดียว
“ตอนนี้พ่อแม่ทุกคนกลัวลูกที่จะไม่ได้มาทำกิจกรรมกับเรา เพราะเด็กกลุ่มที่มาอยู่กับเราส่วนใหญ่จะรอดพ้นจากวิกฤต โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง เรื่องท้องในวัยรุ่น และเรื่องติดยาในกลุ่มเด็กผู้ชาย ถ้าเด็กคนไหนมีความสามารถด้านดนตรี รักดี ไม่มีเงินเรียน เราก็พยายามช่วยเหลือ คือครอบครัวเขาอาจจะไม่สามารถ support ได้ เราก็จ่ายค่าเทอมให้ ตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อที่จะให้เด็กได้เรียน จนตอนนี้ผู้ปกครองเด็กจะใช้เหตุผลว่าถ้าดื้อหรือมีปัญหา จะไม่ให้มาเรียนกับเรา เพราะเด็กกลัวที่จะไม่ได้มากับเรามากกว่า”
ปัจจุบันโครงการ Music Sharing จึงกลายเป็นโครงการที่สร้างพื้นที่แรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ในชุมชนคลองเตย รวมทั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆ ที่อาจเผชิญกับปัญหาในครอบครัวจนขาดที่พึ่งทางใจ หรือในยามวิกฤติเข้าสู่วัยรุ่น อาจต้องการใครสักคนที่รับฟังปัญหาเพื่อเยียวยาหัวใจให้ไม่ให้อ่อนแอและก้าวพลาดเดินผิดทาง
“ตอนนี้เราไม่ได้ทำแค่เรื่องดนตรีแล้ว แต่เราทำเรื่องเด็ก เรื่องชุมชน เหมือนดนตรีแค่เป็นเครื่องดึงให้เราเข้าไป มันใหญ่กว่านั้น พอเราไปเจอปัญหาที่มันอยู่ข้างใน ดนตรีกับคนยากจนเป็นสิ่งที่พ่อแม่หลายคนเอื้อมไม่ถึง การที่เราเอาดนตรีเข้าไปในชุมชนยากจน ทำให้เด็กๆ มีความหวังที่จะได้เล่นดนตรีมากขึ้น เพราะพ่อแม่ก็ไม่สามารถสนับสนุนได้ และพ่อแม่ไม่ได้รู้สึกว่าดนตรีเป็นเรื่องจำเป็นมากเท่ากับปากท้อง เพราะฉะนั้นพ่อแม่บางคนจะมองว่าเสียเวลาจะไปเรียนทำไม เพราะไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้น แต่สำหรับเราคิดว่า เด็กเล็กเป็นวัยที่เขาต้องการพื้นที่เล่น ดนตรีอาจจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งทั้งหมด แต่ว่าเขาต้องการพื้นที่ที่จะให้เขาได้สนุก ปลอดภัย
“ส่วนวัยรุ่นก็ต้องการการยอมรับตัวตน การรับฟัง สุดท้ายมันกลับไปที่ตัวเขา ดนตรีอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบที่จะทำให้เขาก้าวเดินต่อไป หรือค้นพบว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบอะไร แค่เขามีแรงบันดาลใจอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แค่นี้ก็โอเคแล้ว เด็กๆ เขาจะค่อนข้างกล้าเปิดกับเรา ดนตรีช่วยให้เขากล้าพูดกับเรา เพราะเราได้สร้างพื้นที่ไว้วางใจ สร้างพื้นที่ปลอดภัย”
เมื่อถามถึงความสุขจากการก้าวเดินบนเส้นทางสายนี้ อดีตนักศึกษาพยาบาลที่ผันตัวมาเป็นนักกิจกรรมแบ่งปันดนตรีเพื่อเด็กด้อยโอกาสนึกทบทวนความทรงจำพร้อมเล่าด้วยรอยยิ้ม
“เวลาที่เรารู้สึกเหนื่อยๆ เด็กเขาก็จะมีจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่า พวกเราเป็นจุดยึดเหนี่ยวกับความสุขของเขาบางอย่าง เขาจะเสียใจที่พวกเราไม่อยู่ เขาจะดีใจที่พวกเรามา เขาจะต้องยื้อเวลา ก่อนที่พวกเราจะกลับ เรารู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้คือทุกคนเข้ามาแล้วเขามีความสุข แล้วมันมีความสำคัญบางอย่างที่มันเป็นแรงดึงดูดด้วย ทำให้เรารู้สึกมีพลัง”
ขอบคุณภาพจาก Music Sharing