8 ช่องทางความสุข

Folk Rice ตลาดข้าวอินทรีย์ในมือคนรุ่นใหม่

เขียนโดย เพ็ญนภา หงษ์ทอง

“เพราะทุกคนมีความฝัน และมีสิทธิ์ที่จะเดินตามฝันโดยไม่ต้องเดินตามคนอื่น” คือสิ่งที่อนุกูล ทรายเพชร ชายหนุ่มวัย 30 เชื่อมาตลอด และเพราะความเชื่อมั่นในพลังแห่งความฝันทำให้เขามีเส้นทางชีวิตที่ไม่เหมือนใคร เพราะฝันของเขาไม่มีใครเหมือน  

จากเด็กนักเรียนโรงเรียนวัด ลูกชาวนาจังหวัดสุรินทร์ที่ขอให้แม่ขายที่นาเพื่อส่งให้ตัวเองเรียนวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรอินเตอร์ฯ ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง แต่วุฒิการศึกษาที่ติดมือกลับบ้านกลายเป็นปริญญาตรีด้านสังคมศาสตร์ ก่อนจะกลับบ้านพร้อมด้วยบาดแผลในใจที่สุดท้ายต้องกลับมาเช่าผืนนาคนอื่นปลูกข้าวเพื่อทำข้าวอินทรีย์หลากหลายพันธุกรรมและทำการตลาดโดยผ่าน IT ภายใต้ชื่อ Flokrice ที่มีออเดอร์จากต่างประเทศบางครั้งสูงถึงหลักพันตัน พร้อมกับเปิดเวทีให้มี sommelier หรือการชิมข้าวหลากหลายสายพันธุ์

“ผมจัดการเองหมดเลย ตอนนั้นยังเป็นวัยรุ่น อยากได้อะไรก็ต้องได้ แต่เราไม่ได้อยากได้ในสิ่งที่ไม่ดีเลยนะ เราแค่มีความใฝ่ฝันที่ทำไมมนุษย์คนหนึ่งจะมีไม่ได้” อนุกูลตอบเมื่อถูกถามถึงที่มาที่ไปของการที่เด็กโรงเรียนวัดที่มาจากต่างจังหวัดคนหนึ่ง ต้องไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์หลักสูตรอินเตอร์

ใช้ชีวิตอยู่กับสังคมที่แวดล้อมด้วยเพื่อนระดับลูกเศรษฐีได้ 2 ปี เขาก็พบว่าสังคมตรงนั้นแปลกแยกตามชนชั้นเกินกว่าที่ตนเองจะใช้ชีวิตอยู่ได้ ประกอบกับถึงเวลาที่ต้องไปเรียนที่ประเทศอังกฤษตามที่หลักสูตรกำหนด อนุกูลตัดสินใจหยุดเรียนพร้อมด้วยบาดแผลในใจที่ทำให้ครอบครัวต้องสูญเสียที่ดินทำกินโดยที่ตัวเองไม่สามารถเรียนจบได้ตามที่บอกกับทางบ้านไว้

“ยากมากที่จะบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตเรา ยอมรับตัวเองไม่ได้ มันทำให้ผมเก็บตัว ขอแม่บวช แต่แม่ไม่ยอม”   

เมื่อไม่ได้บวช เขายังเลือกที่จะรักษาแผลใจด้วยการศึกษาธรรมะกับชมรมพุทธสายกรรมฐานที่รุ่นพี่กลุ่มหนึ่งในสถาบันการศึกษาเดียวกันเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมา เขาใช้เวลากว่า 1 ปีเต็มเดินทางศึกษาและปฏิบัติธรรมกับวัดป่าสายกรรมฐานทั่วประเทศ ควบคู่กับการอ่านพระไตรปิฎก จนสามารถรวบรวมกำลังใจในการศึกษาเรียนรู้ในระบบอีกครั้ง และสามารถสอบเข้าศึกษาด้านสังคมศาสตร์เกี่ยวกับ area studies ที่คณะสหวิทยาการสังคมศาสตร์ สาขาอนุภาคลุ่มน้ำโขงศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมต้องปรับตัวอยู่ปีสองปีเลยครับ ทำความเข้าใจกับมนุษย์ที่มีความดราม่าอยู่ตลอด ในสายสังคมศาสตร์นี่ผมไปไม่เป็นเลย คือเราเรียนวิศวะมา ไม่ต้องคิดตีความกับอะไรมาก ไม่ต้องเชื่อมโยงกับอะไรมาก เรียนฟิสิกส์ก็ทำโจทย์ให้เสร็จ แต่พอมาเรียนสายสังคมศาสตร์ มันทำให้เราได้ thinking ได้เรียนรู้โลกแห่งความจริง โลกปัจจุบัน โลกอะไรหลายๆ อย่าง การเมือง สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ผมมีโอกาสขอทุนตั้งแต่ปีแรกเลย เพราะที่บ้านไม่เหลืออะไรแล้ว

แม้ผลการสอบทุนการศึกษาในปีแรกจะมีชื่อของอนุกุลแสดงอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ให้ศึกษาต่อด้าน Folklore ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก แต่สุดท้ายเขาก็โดนยกเลิกทุน  “เกรดเทอมแรกออกมาอีกคนได้ 4.00 ของผมได้ 3 กว่า” เขาตอบเมื่อถูกถามถึงสาเหตุที่ถูกบอกยกเลิกทุนภายหลังเรียน

จบด้วยทุน Agon Shu Foundation ประเทศญี่ปุ่นที่เขาขวนขวายได้มาในภายหลัง อนุกูลตัดสินใจกลับบ้านเกิดพร้อมด้วยความรู้ที่เขาเรียกว่า “ดาวน์และดาร์ก” ด้วยบาดแผลจากระบบการศึกษา และประสบการณ์ที่ไม่สู้ดีนักกับบริษัทใหญ่ระดับประเทศที่เขาได้ฝึกงานระหว่างเรียน “ผมอยู่ในองค์กรใหญ่ แต่การจัดการ human resource ไม่ดีเลย ก็เลยเห็นว่าทำไปแล้วเครียด ไม่มีความสุข ทำไปแล้วไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ในองค์กรที่คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า ก็เลยตัดสินใจไม่ทำงานต่อ”

วันแรกที่ตัดสินใจกลับบ้านอนุกูลมีความฝันอยากสร้างเครือข่ายเกษตรกรรุ่นใหม่ที่จะเติบโตไปด้วยกันบนวิถีเศรษฐกิจ เขาเริ่มต้นความฝันด้วยการทำโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร การได้สัมผัสกับระบบส่งเสริมการเกษตรอย่างครบวงจรก่อให้เกิดความเข้าใจใหม่ๆ เขามองเห็นว่าโครงสร้างระบบการเกษตรของประเทศทำให้ชาวนาผู้ผลิตต้องแบกรับความเสี่ยงและอยู่กับความจนต่อไป และยังได้มองเห็นความจริงประการสำคัญว่าคนที่แก้ปัญหาเรื่องชาวนาในเชิงนโยบายไม่เคยทำนามาก่อน ไม่เคยอยู่ในจุดที่เป็นชาวนา สุดท้ายเขาพาตัวเองกลับสู่รากเหง้าของครอบครัวคือการเป็นชาวนาด้วยการเช่าที่คนอื่น

แทนการปลูกข้าวสายพันธุ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อนุกูลเลือกทำในสิ่งที่บรรพบุรุษชาวนาไทยเชี่ยวชาญคือการปลูกพืชหลากหลายสายพันธุ์ด้วยการออกเสาะหาข้าวสายพันธุ์ต่างๆ และเริ่มขยายพันธุ์ข้าวเองเพื่อเก็บพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองให้มากที่สุด เขาพบว่าข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองที่สามารถปลูกได้ในปัจจุบันมีถึงกว่า 50 สายพันธุ์ แต่ในท้องตลาดกลับมีข้าวขายเพียง 5-6 สายพันธุ์เท่านั้น

การเซฟพันธุกรรมเป็นนวัตกรรมขั้นสูงแต่มันอยู่ในระดับที่เกษตรกรทำเองได้ไม่ต้องจบพันธุวิศวกรรม ในตลาดมีสายพันธุ์ข้าวน้อยเกินไป การทำตลาดข้าวของเราก็เลยเล็กตามไปด้วย ถ้าไม่มีพันธุกรรมที่แตกต่างจากคนอื่น เราแข่งกับคนอื่นไม่ได้หรอกเพราะเราทำน้อย

อนุกุลดำเนินกิจการ Flokrice อันเป็นบริษัทค้าข้าวที่เขาตั้งกับเพื่อนๆ ด้วยการสร้างเครือข่ายกับชาวนาที่มีข้าวพื้นเมืองทั่วประเทศ รวมกลุ่มชาวนาได้ประมาณ 20 กลุ่ม กลุ่มละ 20-30 ครอบครัว เป้าหมายทางการตตลาดของเขาไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศแต่รวมถึงตลาดต่างประเทศที่เขาใช้ทั้งเทคโนโลยี IT สมัยใหม่ ทั้ง แอพพลิเคชั่น เฟซบุ๊ค  และแผนการตลาดแบบบ้านๆ เข้ามาผสานกัน

“ผมก็ไปออกงานแฟร์ทั่วไปเหมือนที่เขาทำกัน แต่เอาหม้อหุงข้าวไปด้วย” เขาเล่าถึงเทคนิคที่ใช้ในการแนะนำข้าวพื้นเมืองให้คนต่างประเทศรู้จัก นอกจากพาข้าวออกไปสู่คนข้างนอก อนุกูลพาคนข้างนอกเข้ามาสู่ข้าวของเขาด้วยการจัดชิมข้าวขึ้นในฟาร์มตนเอง คนที่เข้าร่วมชิมมีทั้งเชฟ คนกินข้าวทั่วไป พ่อค้า ซึ่งเขาจัดไม่บ่อยครั้งนัก 

เมื่อถามถึงเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้คนที่ไม่ได้เรียนด้านพันธุกรรม การเกษตรหรือธุรกิจโดยตรงมาแต่สามารถทำให้ Folkrice มีที่ยืนในตลาดข้าวต่างประเทศได้จนมีออเดอร์หลักพันตัน คำตอบของเขาคือ “ต้องทำได้ โจทย์มันต้องทำได้” ในหัวของเขาไม่เคยมีคำว่าทำไม่ได้ และความเป็นเป็นไปได้ของเขาถูกรังสรรค์ขึ้นพร้อมความสุข

“ความสุขของผมคือการได้คิด ได้ลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำทั้งหมดเลย มันเป็นความสุข มันเป็นการมอบความสุขในทุกช่วงเวลาแต่ละช่วงของชีวิตมากๆ เลย ผมยินดีกับการลงมือทำในทุกๆ กิจกรรมของชีวิต มันคือความสุขผมมากๆ เลย จะบอกว่าเอาแต่ใจ จะบอกว่าเห็นตัวเอง คือเรามีสิทธิ์ที่จะเห็นบางอย่าง รับผิดชอบบางอย่าง ถ้ามันทำให้ชีวิตเราเป็นเรา หรือเรายังอยู่ในแก่นในแกนที่เราจะอยู่ในความหมายความเชื่อของชีวิตตัวเองอยู่ ผมทำ”

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ค อนุกูล ทรายเพชร และ Folk rice มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

การสัมผัสธรรมชาติ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save