ปลูกจิตสำนึกรักษ์นก รักษ์ป่าเมืองน่านผ่านสามเณร
สามเณรชนเผ่า เด็กในพื้นที่ห่างไกล และเด็กเมือง กลุ่มเยาวชน 3 กลุ่มที่ถูกหล่อหลอมด้วยระบบการศึกษาและบริบททางสังคมที่แตกต่างกันของจังหวัดน่าน ได้รับโอกาสที่ผู้ใหญ่ใจดีจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโครงการเรียนรู้มาพาพวกเขาให้เดินทางออกจากโลกของตนเองที่อาจแตกต่างเหลื่อมล้ำกับโลกของคนอื่น แล้วร่วมกันสร้างโลกแห่งการเรียนรู้ใบใหม่ที่มีธรรมชาติเป็นห้องเรียนและครูผู้สอน
เรียน – รู้ – รักษ์นก คือชื่อโครงการนี้ ดร. นพดล กิตนะ ผู้รับผิดชอบโครงการเล่าถึงที่มาโครงการว่าเริ่มต้นขึ้นในปี 2556-2557 เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระนามเดิมในขณะนั้น) ในการปลูกฝังให้เยาวชนมีสำนึกในการอนุรักษ์ โดยใช้ “นก” เป็นตัวแทนสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศป่า
ทำไมจึงเป็นนก
เพราะว่าถ้าไม่มีป่าที่สมบูรณ์นกก็จะอยู่ไม่ได้ ทำไมในกรุงเทพฯ เราเห็นแต่นกเมือง ไม่พบนกสวยๆ แต่ที่น่านยังมีนกสวยๆ อยู่ อย่างไรก็ตามหากมีการหักล้างทำลายป่า นกจะเป็นตัวที่หายไปเพราะฉะนั้นเราเอานกเป็นพระเอกในเรื่องนี้แล้วจึงค่อยขยายไป พอเรียนรู้และมีความผูกพันกับนกแล้วก็จะขยายผลออกไปว่าหากจะรักษานกเอาไว้จะต้องทำอย่างไร จะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวต่อไปหรือไม่ ก็จะเริ่มต้นจากนกและขยายวงไปเรื่อยๆ ครับ
และทำไมถึงเป็นเด็กนักเรียนสามกลุ่ม ที่มาจากโรงเรียนในเมือง โรงเรียนระดับอำเภอเล็กๆ ที่นักเรียนส่วนใหญ่มาจากชนเผ่าต่างๆ และโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่ผู้เรียนเป็นสามเณร
“สำหรับเราโรงเรียนปริยัติธรรมเขาก็คือนักเรียนมัธยมทั่วไป และเป็นด่านสุดท้ายที่ดึงเขาไว้กับระบบการศึกษาของเราได้ นักเรียนเหล่านี้อยู่ในฐานะด้อยโอกาสทางการศึกษา เราบอกว่าการศึกษาของเราเรียนฟรีถึงมัธยมต้น แล้วการกิน อยู่ เขาจะทำอย่างไร รัฐบาลสนับสนุนเฉพาะค่าเทอม นักเรียนส่วนนี้จะเป็นชนเผ่า การที่เขาจะเดินทางมาโรงเรียนมีหอพักให้เขาไหม และหากมีก็ไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึง ดังนั้น โรงเรียนปริยัติธรรมเป็นด่านสุดท้ายที่เขาจะเข้ามาอยู่ได้ มาบวชและพักอยู่ที่วัด”
โครงการนี้จึงต่างจากโครงการหรือกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ทั่วไป หากแฝงไว้ด้วยการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
เรียน – รู้ – รักษ์นก ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากธนาคารกสิกรไทย ดำเนินโครงการโดยภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งการดำเนินกิจกรรมเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ “การเรียน” เป็นช่วงที่ให้เด็กๆ ได้เรียนจากประสบการณ์ของตนเองด้วยการออกสำรวจนกในภาคสนาม โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ
ส่วนที่สอง คือ “การหาความรู้” เป็นช่วงที่เด็กๆ จะได้หาความรู้ด้วยตนเองทั้งจากหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต ให้นักเรียนได้สะสมองค์ความรู้เกี่ยวกับนก และส่วนที่สามคือ “การทำโครงการเพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนา” เป็นการนำความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับนกที่ได้จากส่วนที่ 1 และ 2 มาใช้ในการนำเสนอปัญหารวมทั้งแนวทางในการแก้ปัญหาและสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับ “นก” ได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยโครงการฯ มีอุปกรณ์เครื่องมือที่จำเป็นให้ใช้ ได้แก่ คู่มือดูนก กล้องส่องนกแบบสองตา กล้อง spotting scope และขาตั้งกล้อง แจกให้ทุกโรงเรียน
นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการไม่ว่าจะมาจากกลุ่มโรงเรียนใดจะได้รับโอกาสในการเรียนรู้เหมือนกัน เข้าร่วมกิจกรรมส่วนที่หนึ่งและสองร่วมกัน และกลับไปดำเนินกิจกรรมส่วนที่สามในโรงเรียนของตนเอง ก่อนจะนำโครงการกลับมานำเสนออีกครั้งหนึ่ง
ภูมิหลังของบริบททางสังคมและระบบการศึกษาของผู้เข้าร่วมโครงการที่แตกต่างกัน ทำให้ “เรียน – รู้ – รักษ์นก” ต้องละเอียดอ่อนในการดำเนินโครงการเพื่อไม่ให้ไปซ้ำเติมความรู้สึกทางลบของผู้เข้าร่วม ดร. นพดลกล่าวถึงเหตุผลที่จัดกิจกรรมเด็กนักเรียนฆราวาสร่วมกับเณรร่วมกันว่า
เราต้องให้กิจกรรมเป็นส่วนผสมของเณรกับฆราวาส เณรส่วนใหญ่อาจมีปมในใจว่าเขาด้อยโอกาสอยู่แล้ว หากเราแยกกิจกรรมจากเพื่อนอีกเขาก็จะยิ่งคิดว่าเขาด้อยโอกาส เราจึงดูแลและให้ร่วมกิจกรรมเหมือนนักเรียนปกติ แต่ตอนพักกลางวันเรายึดเวลาของเณรเป็นหลักคือพักตอน 11 โมงทุกคน และกลับมาเรียนรู้ร่วมกันอีกครั้งตอนเที่ยง
ศีลของเณรไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนรู้ร่วมกัน แต่จีวรยังเป็นอุปสรรคของการเรียนรู้นกในพื้นที่ธรรมชาติ
“ตอนที่เราอบรมสามเณรปีแรก สิ่งที่เราเห็นคือจีวรท่านจะสีสด คนดูนกจะบอกว่าควรใส่เสื้อสี Earth Tone เพื่อไม่ให้นกตื่น นกในเมืองหรือในจุฬาไม่เป็นอะไรเพราะคุ้น แต่นกในป่าน่าน เดินใกล้ๆ ก็ไปแล้วแม้ว่าเราจะเดินใกล้ที่สุด นกก็บินหนีไปแล้ว และส่วนใหญ่เราจะให้สามเณรออกเป็นกลุ่มสุดท้ายเพราะเรากลัวว่านกจะบินหนีไปหมด”
ความทราบถึงสมเด็จพระเทพฯ จึงพระราชทานแนวทางออกว่าสามารถใช้ผ้าคลุมได้หรือไม่ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ผิดวินัยของสมณะเพศ สามเณรที่ร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ปีที่ 2 เป็นต้นมา จึงมีผ้าคลุมสีกลมกลืนกับธรรมชาติห่มคลุมร่างกายทับจีวรอีกชั้นหนึ่ง ก่อนจะเข้าป่าดูนกร่วมกับเพื่อนเยาวชนที่อยู่ในเพศฆราวาส
ความต่างของประสบการณ์ชีวิตและโอกาสในการเรียนรู้ของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะปรากฏให้เห็นในโครงการที่พวกเขาต้องนำเสนอ แต่ละโรงเรียนสามารถจัดทำโครงการได้อย่างเป็นอิสระ นักเรียนโรงเรียนเชียงกลาง (ประชาพัฒนา) ซึ่งเป็นโรงเรียนในเขตตัวเมืองนำเสนอโครงการที่เกี่ยวกับการสำรวจการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ของนกด้วยการใช้ภาพถ่ายจาก Google Earth ประกอบเพื่อบันทึกว่าในบริเวณที่ทำการศึกษามีนกกี่ชนิด เมื่อคลิกไปที่ภาพนกก็จะพบข้อมูลว่านกเข้ามาใช้ประโยชน์จากต้นไม้นั้นๆ อย่างไร ขณะที่สามเณรจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมศาสนาพิพัฒน์วัดเมืองราม นำเสนอการสำรวจชนิดและปริมาณของนกในวัดด้วยการวาดภาพนกประกอบ เป็นการนำความสามารถส่วนตัวมาสร้างเสน่ห์ให้ผลงานตัวเอง
ขณะที่นักเรียนทุกคนได้เรียน และ รู้จักนก รวมถึงระบบนิเวศที่เอื้อให้นกอยู่ได้ คณะผู้ดำเนินโครงการนี้ได้แก่ คณาจารย์และนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ได้เรียนรู้ความจริงประการหนึ่งที่ถูกบดบังด้วยระบบการศึกษามาโดยตลอด ดร.นพดล บอกเล่าเรื่องราวของสามเณรจากวัดเมืองรามซึ่งส่วนใหญ่สื่อสารด้วยภาษาประจำเผ่าของตนเองแทนการใช้ภาษาไทยที่เป็นภาษาราชการว่าถูกระบบการทดสอบทางการศึกษาจำแนกให้เป็นกลุ่ม “Learning Disabilities” หรือ มีความบกพร่องในการเรียนรู้ “แต่พอเขามาเข้าโครงการเรา เขาสามารถชี้นกชนิดหนึ่งเหมือนเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยครับ ดูแล้วรู้ว่านกชนิดนี้ขอบเขตการกระจายอยู่ที่ไหน การหาอาหารเป็นอย่างไร จากที่ไม่เคยอ่านหนังสือมาเลยได้มีโอกาสมาอ่านหนังสือ Bird guide ของเรา เพื่อให้รู้ว่านกชนิดนี้อยู่ที่ไหน เสียงร้องเป็นยังไง หากินอย่างไร เพราะฉะนั้นจากที่ไม่ชอบอ่านชอบจำ แต่กลับมาสนใจหนังสือนกเล่มนี้ ทำให้คุณครูจับทางได้ว่าควรจะเอานกเป็นศูนย์กลาง” ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าความสามารถในการเรียนรู้ไม่ควรถูกจำแนกด้วยแบบทดสอบทางวิชาการ อีกทั้งยังเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงความสุขในการเรียนรู้ที่ เรียน – รู้ – รักษ์นก มอบให้กับผู้เข้าร่วม
แม้ เรียน – รู้ – รักษ์นก จะมีขั้นตอนของการดำเนินงาน 3 ขั้นตอน ดังกล่าวข้างต้น แต่การวัดผลความสำเร็จของโครงการที่สำคัญสุดไม่ได้อยู่ที่โครงการที่นักเรียนนำเสนอในขั้นตอนสุดท้าย หากอยู่ที่การนำไปต่อยอดของพวกเขา และตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา เรียน – รู้ – รักษ์นก ได้เป็นลำต้นที่แข็งแกร่ง แตกยอดออกไปมากมาย เช่น วัดเมืองราม นำไปสร้างบทเรียน ให้เด็กในรูปแบบเฉพาะของแต่ละคน บางโรงเรียนนำไปประยุกต์กับเทศน์มหาชาติที่เป็นกัณฑ์พระเวสสันดรที่มีการบรรยายถึงนก มีทั้งความเป็นวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ แทรกเรื่องการอนุรักษ์เข้าไปในการเทศน์มหาชาติ โรงเรียนเวียงสาสร้างหลักสูตร/ รายวิชาที่เรียกว่า เวียงสาน่าอยู่ และผูกเรื่องการอนุรักษ์นกเข้าไป ซึ่งตอนนี้นักเรียนมัธยมเริ่มมีรายวิชาค้นคว้าอิสระที่เป็นโครงการเกี่ยวกับนกและการอนุรักษ์นกแล้ว
“เราแค่ช่วยให้เครื่องมือไป โดยโรงเรียนจะนำไปใช้กับวิชาอะไรก็ได้ เนื้อหาของโครงการ หรือจากการประกวดเราไม่เคยหวงห้าม เราไม่ได้เกี่ยวข้องกับตรงนั้นแต่สิ่งที่เราให้คือเครื่องมือที่สามารถนำไปใช้กับเรื่องอะไรก็ได้”
และเหนือสิ่งอื่นใด ความสำเร็จอีกประการหนึ่งของ เรียน – รู้ – รักษ์นก คือความสุขที่เกิดขึ้นในใจคนทำ
“ทุกครั้งที่ไปน่าน พวกเรารู้สึกว่าน่านเป็น comfort zone เป็นพื้นที่ที่รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่จะได้ไป โดยส่วนตัวเป็นความรู้สึกในการให้ เรามีโอกาสให้และคนที่รับเต็มใจรับ เขารู้สึกให้คุณค่ากับสิ่งที่เราให้” ดร.นพดล กล่าว