ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ มิสเตอร์เตือนภัยพิบัติ
ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน คนไทยเพิ่งรู้สึกสึนามิเป็นครั้งแรก เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตนับไม่ถ้วน หลายคนเดินทางลงไปช่วยเป็นอาสาสมัครกู้ภัยในรูปแบบต่างๆ ที่ตนเองถนัด ทว่าในอีกซีกโลกหนึ่งของดินแดนอเมริกา นักศึกษาปริญญาเอกด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากประเทศไทยคนหนึ่งกลับไม่ได้นิ่งเฉยกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในแผ่นดินเกิด เขาตั้งคำถามว่า ถ้าเราห้ามแผ่นดินไหวไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้คือการมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแผ่นดินไหวล่วงหน้าเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นน้อยที่สุด
“ผมทำบอร์ดไดอารี่ประจำวันเพื่อเก็บข้อมูลด้านภัยพิบัติ วันนี้เกิดพายุที่ไหน ไฟป่าที่ไหน ตื่นเช้าขึ้นมาตีห้าครึ่งจะนั่งหาข่าวก่อนเลย นั่งโพสต์เก็บรวบรวมสถานการณ์ทั่วโลกเลย ผมรู้ว่าแผ่นดินไหวที่ไหน พายุทั่วโลกเป็นยังไง ติดตามเส้นทางเดินพายุเป็นยังไง ตอนนั้นคือทำเองเหมือนงานอดิเรกแทนที่เราจะตื่นเช้าขึ้นมาตีห้าครึ่งเพื่อใส่บาตรเป็นตื่นเช้าตีห้าครึ่งขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้วิทยาทาน”
“ต่อมาเริ่มมีสื่อสังคมออนไลน์ twitter ผมสร้างแอคเคาท์ภัยพิบัติ “Paipibat” เพื่อโพสต์ข้อมูลการเกิดภัยพิบัติจากทั่วโลก ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้มีคนติดตามประมาณ 3-4 แสนคน ผมเริ่มก่อตั้งเว็บไซต์ขึ้นมาโดยใช้ชื่อ ภัยพิบัติดอทคอม “paipibat.com” ให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ มีคนเข้ามาชมเว็บไซต์ประมาณสามสี่ล้านคนแล้ว เรามีการรวมกลุ่มใน social network ขึ้นมาเพื่อจะติดตามข่าวภัยพิบัติร่วมกัน ทำให้มีคนช่วยทำงานและสานต่อข้อมูลที่มีให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทุกคนจะรู้จักผมในชื่อ “Mr. Paipibat ” (มิสเตอร์ภัยพิบัติ) ผมมองว่านี่คือโจทย์ที่สำคัญมากเลยของการนำระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับการจัดการภัยพิบัติ”
ดร.ภาสกรกลับมาเป็นอาจารย์ในเมืองไทยประมาณปี 2554 ได้ก่อตั้งกลุ่มวิจัย OASYS พร้อมกับทำระบบเตือนภัยน้ำป่าที่ภาคเหนือ “ทางสวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) ภาคเหนือได้รับโจทย์จากชุมชนเกี่ยวกับปัญหาน้ำป่าที่เกิดขึ้น ได้ติดต่อหานักวิจัยเพื่อจะทำระบบเตือนภัยน้ำป่าให้กับชุมชนที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เราพัฒนาตั้งแต่การสร้างเครื่องโทรมาตรขนาดเล็ก เอาตัวเครื่องไปติดในพื้นที่ต้นน้ำเอง เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำในพื้นที่ต้นน้ำ ทำให้ชุมชนสามารถทราบและมีเวลากเตรียมการจัดการกับปัญหาน้ำป่าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนด้านล่าง โดยเครื่องโทรมาตรนี้ได้รับรางวัลการออกแบบแห่งชาติ TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ)”
นอกจากนี้ ผลงานของอาจารย์ ดร.ภาสกร ยังได้รับรางวัลออกแบบสิ่งประดิษฐ์แห่งชาติอีกด้วย “ประมาณปี 58-59 เครื่องโทรมาตรของเราได้รับรางวัลออกแบบสิ่งประดิษฐ์แห่งชาติ โดยเราสามารถเตือนภัยน้ำป่าให้กับชุมชนแม่จันได้ก่อนน้ำจะมาถึงพื้นที่ชุมชนถึง 6 ชั่วโมง เราเอาเครื่องโทรมาตรไปติดในพื้นที่ต้นน้ำพอน้ำมาระบบจะส่ง SMS ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เมื่อใช้ได้ดีก็มีการติดตั้งเพิ่มขึ้นจาก 2 ตัวบนลุ่มน้ำแม่จันขยายเป็น 7 ตัวบนลำน้ำแม่คำ แล้วก็กลายเป็น 30 ตัวทั่วจังหวัดเชียงราย เราพัฒนาระบบสารสนเทศออนไลน์สำหรับติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดเชียงราย โดยมีเว็บไซต์ชื่อ crflood.com ครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอในจังหวัดเชียงราย นอกจากสถานีโทรมาตรที่เราพัฒนาขึ้นเอง ระบบยังได้ดึงข้อมูลจากสถานีโทรมาตรขนาดใหญ่ของกรมชลประทานมาบูรณาการเพื่อแสดงข้อมูลติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงราย ซึ่ง ณ ปัจจุบันระบบก็ยังสามารถทำงานอยู่โดยมีการบำรุงรักษาร่วมกับชุมชน”
ปัจจุบันงานของอาจารย์และกลุ่มวิจัย OASYS ได้มีการขยายไปจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ ระบบติดตามและตรวจสอบปริมาณและคุณภาพน้ำในจังหวัดเชียงใหม่ และระบบติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพะเยา
อาจารย์ภาสกรบอกว่าการทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องการป้องกันภัยภิบัติเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเตรียมการจัดการรับมือกับภัยภิบัติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างไม่ตื่นตระหนกและลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด
“ตอนแรกมีคนถามอาจารย์ว่ามีเครื่องนี้มาติดแล้วน้ำจะไม่ท่วมใช่ไหม ผมบอกไม่ใช่ (หัวเราะ) ถึงแม้ว่าก่อนจะติดตั้งก็มีการรดน้ำมนต์อะไรเรียบร้อยแล้วนะ เครื่องโทรมาตรสามารถใช้งานได้แน่นอน แต่ว่ามันไม่ใช่ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ เราต้องอยู่กับภัยธรรมชาติ สิ่งที่เขาได้คือเขาจะได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้วเขาจะสามารถใช้ข้อมูลตรงนั้นมาจัดการน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติได้ดีขึ้น”
นอกเหนือจากการติดตั้งอุปกรณ์ และพัฒนาระบบเตือนภัย อาจารย์ยังสอนให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ด้วย “เราติดตั้งระบบเสร็จแล้ว เราสอนชาวบ้านด้วย มันไม่ใช่แค่ไปติดตั้งสถานีแต่เราไปถ่ายทอดความรู้ให้เขา ในแต่ละที่ผมจะเข้าไปสอนชาวบ้านจะรู้จักเครื่องตัวนี้จะสามารถเปิดตู้ขึ้นมาแล้วซ่อมได้ สามารถที่จะดูข้อมูลผ่านเว็บไซต์ได้เอง”
สิ่งที่ทำให้อาจารย์หนุ่มดีกรีเมืองนอกคนนี้มีความสุขทุกครั้งคือ การได้เห็นชาวบ้านรับมือกับภัยพิบัติได้ดีขึ้น
ชาวบ้านมีความสุขมากขึ้นเพราะได้เตรียมตัวล่วงหน้า เริ่มเข้าใจสถานการณ์มากขึ้น จากเดิมที่เคยต้องหวาดระแวง หัวหน้าศูนย์เตือนภัยที่แม่จันบอกว่า ทุกทีพอฝนตกจะนอนไม่ได้แล้วต้องรีบตื่นขึ้นมาแล้วก็ส่งใครสักคนไปพื้นที่ต้นน้ำดูว่าน้ำเยอะขนาดไหนน้ำป่าจะมารึเปล่า แต่ตอนนี้เขาสามารถเปิดมือถือดูได้แล้ว ไปดูเว็บไซต์ได้ถ้าน้ำเตือนมีไลน์ส่ง มี SMS ส่ง คุยกันตลอดเพราะเขาเห็นเป็นกราฟเลยว่าน้ำกำลังจะขึ้นจะลง ตอนนี้เห็นเป็นไฟเขียวมันไม่เตือน พวกเขานอนต่อได้อีกตั้งหกชั่วโมงกว่าน้ำจะมา เป็นการสร้างความสุขให้เขา ไม่ใช่แค่ระบบเตือนภัยอย่างเดียว
บ่มเพาะนักวิศวกรรมรุ่นใหม่เพื่อสังคม
นับตั้งแต่เรียนจบด็อกเตอร์กลับมาเมืองไทย ดร.ภาสกรใช้วิชาความรู้สร้างเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือผู้คนมาโดยตลอด “ผมชอบสายเทคโนโลยี ได้มาเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็มีความท้าทาย มีความตื่นเต้นที่เราได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ว่าเราสามารถสร้างอะไรบางอย่างแล้วมันออกมามีประโยชน์มันไม่ได้หยุดนิ่ง รู้สึกว่ามันสนุกจังเลยเราเขียนโปรแกรม แล้วเราก็ประดิษฐ์โน่นประดิษฐ์นี่ คอมพิวเตอร์มันกว้าง เอาไปทำอะไรได้เยอะ รู้สึกว่าเราได้เรียนรู้โลกกว้างแล้วก็มีบทบาทต่อสังคม”
ค่ายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ที่อาจารย์วางแผนการสอน นำประสบการณ์มาสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาคิดค้นนวัตกรรม “เราจะสอนเขาได้นี่ต้องเริ่มจากตัวเองก่อนว่าเราดีไซน์หรือออกแบบนวัตกรรมยังไง โชคดีอย่างที่เราทำเครื่องโทรมาตรและระบบติดตามสถานการณ์น้ำมาก่อน แล้วมันเวิร์ค พอเราทำได้เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะสอนกระบวนการในการออกแบบและพัฒนางานให้กับนักศึกษา
สิ่งแรกที่จะต้องใส่ลงไปในกระบวนการการเรียนการสอนก็คือต้องสร้างแรงบันดาลใจ motivation ต้องชัด เราต้องหาโจทย์ หาโจทย์ที่มันมี impact มีแรงกระตุ้น เราพาเขาเข้าไปดู เพื่อให้เขารู้โจทย์ปัญหาที่มีในพื้นที่ และนำมาคิดและพัฒนางานเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ
“โปรเจคแรกที่ทำ คือโรงเรียนอนุบาลเชิงดอยซึ่งอยู่หลังมอ ใกล้กับคณะวิศวะฯ โดยเราสร้างโจทย์กับนักเรียนป. 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชนกลุ่มน้อย มีชาวเขา เราพานักศึกษาเข้าไปสำรวจด้วยกัน”
โจทย์จากการสำรวจครั้งนั้น คือการผลิตนวัตกรรมที่เป็นของเล่นสำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 “น้องๆ กลุ่มนี้เขาไม่มีของเล่นเลยนะ ของเล่นที่แบบกดปุ่มอะไรอย่างนี้เขาจะได้เคยเล่นมั้ยลูก ไม่เคยหรอก เรามาสร้างของเล่นให้เขากันไหม พองั้นปั๊บเด็กกลับมาคุยกับเพื่อน นี่นะเราไปสำรวจโรงเรียนมา โห! น้องๆ ดูน่าสงสารเนาะ มาสร้างของเล่นกันเถอะ”
โครงการนี้มีรุ่นพี่นักศึกษาปริญญาโทและเอกเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา แต่คนตัดสินให้คะแนนคือ เด็กๆ ชั้นประถม 3 “เวลาครูตรวจงาน ของเล่นที่พัฒนาขึ้นสำหรับเด็ก ป. 3 เขาได้เรียนรู้ไหม มันสนุกไหม เราออกแบบชิ้นงานมาเนี่ย มันทนทานถูกต้องตามหลักการออกแบบของวิศวกรรมรึเปล่า เราให้เงื่อนไขในการตรวจงานเขาให้เขาทราบ ท้ายสุดเนี่ยหลังจากที่เอาไปให้เด็ก ป. 3 เล่นจริงๆ แล้ว เด็กๆ ก็ต้องโหวดด้วยว่าชอบชิ้นงานไหนมากที่สุด คนที่ได้โหวดอันดับหนึ่งนั่นคือได้คะแนนเต็มไปเลยในแง่ที่เด็กชอบ เพราะฉะนั้นนักศึกษาก็จะได้ทั้งความสนุกและความท้าทาย”
ผมมองว่ารุ่นนี้เขาไม่เหมือนรุ่นผมตอนเรียน เด็กรุ่นใหม่อยากจะมีความสุขด้วยการดูการ์ตูน เขาสามารถเปิด YouTube ดูได้ทันที เขาไม่รู้จักการรอคอย เขาไม่รู้ว่าการที่จะได้อะไรมาสักอย่างหนึ่ง มันต้องมี passion หรือมีความตั้งใจ เขาสามารถได้อะไรมาแบบเพียงเสี้ยววินาทีมันก็อยู่ในมือเลย ข้อมูลอยู่ในมือเต็มไปหมด เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนการสอนเลยไม่เหมือนเดิม
“เด็กรุ่นนี้เข้ามาอาจารย์เขียนเลคเชอร์ไปบนกระดาน เด็กนั่งดู YouTube แล้วก็…อ้าวอาจารย์เขียนเสร็จแล้วเหรอ ยกมือถือขึ้นมาถ่ายรูป ก็เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่จะต้องสร้างกระบวนการการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เพื่อที่จะให้เกิดการกระตุ้น สร้างสิ่งแวดล้อมในการเรียนที่มันเหมาะกับเด็ก generation นี้ ให้เขารู้จักว่าจุดมุ่งหมายของเขาคืออะไร แล้วพยายามไปถึงจุดนั้น”
ในยุคที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และชั้นเรียนเน้นสัมมนา อาจารย์รุ่นใหม่ท่านนี้มองว่าทุกอย่างยังต้องมีความสมดุล “ในคณะวิศวะของเราเอง ผมยังมองว่าต้องมีความ Balance กัน ผสมผสานกันให้ดี คือในส่วนหนึ่งเรายังอยากให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของอาจารย์ด้วย แล้วก็มีเรื่องของศาสตร์ที่เขาจะต้องมีความรู้ที่แข็งแรง”
แต่จะทำอย่างไรให้นักศึกษาสนใจ อาจารย์ก็คิดแอพพลิเคชั่นแบบเกมขึ้นมา “เรื่องการเรียนรู้นอกห้องเรียนผมทำเป็นเกมใช้แอพพลิเคชั่นตัวหนึ่งชื่อเทรลโล่ (Trello) จะเป็นบอร์ดที่เป็นการ์ด มีอยู่ในมือถือเสร็จแล้วก็จะให้นักศึกษาเข้ามาตอบได้ ตัวการ์ดนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ อยู่ๆ ผมก็จะโพสคำถามเข้าไปนักศึกษาก็จะเข้าไปตอบ ผมก็บอกนักศึกษาว่านักศึกษาสามารถที่จะตั้งโปรแกรมเพื่อที่จะเตือนตัวเองได้ด้วยนะว่าตอนนี้มันมีคำถามผุดขึ้นมาแล้ว เป็น Online Pop Quiz”
“ตอนนี้อยู่ๆ ผมเดินออกไปนอกห้อง ผมเจอลิฟต์แบบสมัยก่อนจะมีดวงไฟเจ็ดดวงที่เป็นตัวเลขน่ะครับ เราก็จะถ่ายแล้วก็ถามว่าดวงไฟเจ็ดดวงนี้เรียกว่าอะไร จะออกแบบวงจรยังไง บางทีก็ถ่ายรูปหอนาฬิกาหรือถ่ายรูปสี่แยกแล้วก็บอกว่าระบบทำไฟตรงนี้มันน่าจะเป็นยังไงอันนี้คือแยกไหนด้วยซ้ำละติจูดลองติจูดของไอ้นี่คืออะไร ทำไม ปิกาจูถึงช๊อดด้วยไฟฟ้าแสนโวลท์ ไม่ใช่หน่วยเป็นแอมป์ไม่ใช่เป็นกระแสอะไรประมาณนี้ คือถ้าเรียนไฟฟ้ามาคุณควรจะเข้าใจว่าโวลท์กับแอมป์มันมายังไงก็เนี่ย ก็เป็น Online Pop Quiz คือเรื่องทั่วๆ ไปเด็กเห็นปั๊บก็จะเข้ามาตอบ ตอบเสร็จเราก็จะเอามาเป็นคะแนน”
แน่นอนว่านักศึกษาสายคอมพ์ต้องหาทางแก้เกม “เด็กก็สนุก แล้วมันก็เป็นเหมือนกับว่าแข่งกันใครจะตอบได้ก่อนเอาสิบคนแรก เด็กก็เริ่มที่จะแบบ…ถ้าทางสายคอมปั๊บมันมีเทคโนโลยีนี่ต้องทำดักนะอาจารย์จะมี quiz มาเมื่อไหร่ให้โปรแกรมมันเตือนเลยนะเขาก็เริ่มที่จะทำอะไรได้มากขึ้น”
พร้อมกันนั้น ก็ต้องลงพื้นที่ เพื่อทำงานกับสังคม “ส่วนใหญ่ก็ศุกร์เสาร์อาทิตย์จะลงพื้นที่กันจัดเวลาสักประมาณเดือนละครั้งแล้วก็เอานักศึกษาไปลง เพื่อไปรับโจทย์เราไปเรียนรู้กับคุณครูจริงๆ เมื่อก่อนก็คืออาจารย์มหาลัยเขาอยู่อีกระดับกับชาวบ้าน เขาจะเป็นคนที่พูดไม่รู้เรื่องเวลาพูดปั๊บนี่มันเป็นสูตรมต้องมาถอดสมการกันหรือไงพูดกับชาวบ้านไม่ได้ นวัตกรรมอะไรที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยจึงไม่ไปลงถึงชุมชนที่แบบถึงลูกถึงคนถึงแบบใช้ได้จริง”
เป้าหมายต่อไปของอาจารย์ คือการสร้างวิศวกรคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่จะช่วยให้เมืองไทยมีความสุขขึ้น “เราอยากจะเป็นอาจารย์ที่ไปช่วยอยู่กับชุมชนเหมือนกับเป็น ‘หนึ่ง ดร. หนึ่งอำเภอ’ อะไรประมาณนี้ คือ ดร. คนนี้ดูแลอำเภอนี้ทำให้มันดีๆ ขึ้นเรื่อยๆ เราก็เลือกแล้วลองทำดู ระดมสรรพกำลังนักศึกษาเกิดการเรียนการสอนกันต่อไป