บางกอกนี้ดีจัง สร้างพื้นที่ศิลปะวัฒนธรรมให้คนเมืองกรุง
“บางกอกนี้ดีจังเป็นกลุ่มเครือข่ายชุมชนที่มีทั้งองค์ประกอบเด็กเยาวชนแล้วก็ผู้นำชุมชนที่ทำกิจกรรมทางสังคมต่างๆ” คุณตัน-สุรนาถ แป้นประเสริฐ เล่าถึงกลุ่มที่เขาเป็นแกนนำก่อตั้งขึ้นเพื่อใช้กระบวนการชุมชนแก้ไขปัญหา
“ผมรู้สึกว่าการทำงานแบบนี้มันสนุกนะ ให้เด็กเยาวชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขโดยใช้ความเป็นธรรมชาติของเขา ใช้ทักษะบางอย่างที่เขามีในด้านบวก เช่น งานรณรงค์ กิจกรรมสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านตัวประเด็นปัจจัยเสี่ยงชุมชน”
แรงบันดาลใจในการตั้งกลุ่มและเปิดเพจมาจากปัญหาที่ตัวเขาเองก็เคยเป็นต้นเหตุ ““ผมโตมาจากชุมชนที่มีปัญหา และผมเองก็เคยสร้างปัญหาให้กับชุมชน ผมติดยา ผมค้ายา” คุณตันบอก
“ผมอยู่ในชุมชนแออัด ชุมชนวัดโพธิ์เรียง มีพื้นที่พันกว่าหลังคาเรือน ชุมชนแออัดมาก ปัญหาค่อนข้างเยอะ เป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มคนหลากหลาย พอเราโตมา เราเห็นน้องๆ ในชุมชนค่อนข้างเยอะ เราก็รู้สึกว่าการที่ให้คนในชุมชนที่อยู่กันแบบต่างคนต่างอยู่ ชุมชนมันจะไม่ค่อยมีอะไรดีขึ้น มันจะมีแต่แย่ลง”
เขาเริ่มเรียนรู้การทำงานจากพ่อแม่ที่เป็นผู้นำชุมชน และลองไปเข้าอบรม แต่ก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ “ไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม ร่วมไปอย่างนั้นเอง แล้วก็มีโอกาสได้ไปอบรมกับเครือข่ายกับมูลนิธิ กับสำนักงานเขต แต่ก็ไม่ได้อะไร รู้สึกว่าเป็นการบ่นให้เราฟัง เราเองก็ยังไม่รู้จะทำอะไรเหมือนกัน”
จนกระทั่งได้พบกับมูลนิธิเพื่อนเยาวชน “เป็นองค์กรที่เป็นพี่เลี้ยงเรา แล้วก็อยากจะเข้ามาทำงานร่วมกัน เพราะเรามีเครือข่ายเด็กเยาวชนแต่ยังไม่ได้ใช้ทักษะหรือศักยภาพให้เต็มที่”
ตอนนั้นเองที่เขาเริ่มมองเห็นแนวทาง “ผมค่อยๆ เห็นทิศเห็นทางของการแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้พูดถึงแต่ปัญหา มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนามาส่งเสริมพวกเราว่า เอ๊! มันเกิดปัญหาเพราะอะไร ก็เพราะเราไม่รู้จักชุมชนตัวเอง”
ภารกิจแรกของกลุ่มที่เขาตั้งขึ้นเมื่อห้าปีก่อนจึงมุ่งไปที่การสำรวจชุมชน “บางกอกนี้ดีจังส่งเสริมให้เด็กเยาวชนรู้จักชุมชนตัวเองก่อนเบื้องต้นเลยครับ รู้จักยังไงก็ต้องสำรวจ ต้องสืบค้น เด็กเยาวชนจะได้เห็นชุมชนตัวเองทุกมิติ ปัญหานั้นก็จะถูกแก้ไขจากต้นตอ หรือรากจริงๆ”
นอกเหนือจากปัญหา เหล่าสมาชิกกลุ่มยังค้นพบศักยภาพในชุมชนของตนเองด้วย “พาน้องๆ พาพี่ๆ พาลุงๆไปรู้จักชุมชนตัวเองให้มากขึ้น เลยเห็นบริบทว่า อ๋อ…ชุมชนเรามีอะไรดี ของดีก็เยอะแยะครับ ต้นทุนคนตั้งเยอะแยะ พื้นที่เสี่ยงก็เยอะ ปัญหาสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตก็เยอะ นี่แหละครับ เห็นองค์รวมของชุมชนก่อน บางกอกนี้ดีจังมองถึงมิติของการต้องเห็นบริบทชุมชน”
แง่มุมดีๆ ที่ได้เห็นคือที่มาของชื่อบางกอกนี้ดีจัง “คนที่อยู่ในชุมชนหรือในเครือข่ายเรา บางคนก็ไม่ใช่กรุงเทพฯ โดยกำเนิด แต่พื้นที่ทำงานหรือพื้นที่ที่เขาอยู่ปัจจุบันคือกรุงเทพฯ บางกอก มันก็คือกรุงเทพฯ นี้ดีจัง เรากำลังบอกว่าจริงๆ มันมีของดีเยอะแยะเลย มันมีพื้นที่ดี มีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ที่ดีอยู่ตั้งเยอะ มีรากของชุมชนอยู่ไม่ได้แตกต่างอะไรกับพื้นที่ต่างจังหวัด”
คุณตันเริ่มต้นชุมชนแรกที่วัดโพธิ์เรียง จรัญสนิทวงศ์ซอย 20 ที่อยู่ของเขาเอง แล้วก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชนวัย 12-20 ที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กนอกโรงเรียนที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติดและอบายมุข
เราไปดึงเด็กเหล่านี้มาสร้างกิจกรรมก่อน ให้เขามาเป็นส่วนหนึ่งของพวกเรา เช่น คุยกันแบบพี่น้อง ถามความต้องการซึ่งกันและกัน เขาเป็นอะไร เขาถนัดอะไร เอามาร่วมกัน แล้วก็พาเขาสำรวจชุมชน สำรวจแบบสนุกๆ นะครับ ทำกระบวนการแบบสนุกสนาน เราใช้มิติของการลงสำรวจ ใช้คำนิยามอันหนึ่งก็คือไปหาจุดยิ้มออกกับจุดยิ้มไม่ออก
“ต้องหาจุดร่วมด้วยกันว่า น้องๆ ทำอะไรได้บ้าง เช่น ใครถนัดเรื่องการวาดแผนที่ ใครถนัดเรื่องการเอาข้อมูล การจดบันทึก ใครถนัดพูด ถนัดสัมภาษณ์ ใครถนัดที่จะเก็บข้อมูลในรูปแบบของภาพถ่าย ทุกคนมีบทบาท ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า เป็นส่วนหนึ่งของทีม”
ขั้นแรก คือการสำรวจและเก็บข้อมูล “เห็นจุดยิ้มออก อะไรยิ้มออกเก็บมาเลย บันทึก ถ่ายภาพ สัมภาษณ์มา อะไรยิ้มไม่ออก เก็บภาพ เก็บข้อมูลบันทึกมา เห็นร้านค้าร้านหนึ่งมีที่นั่งร่วมกันอยู่หน้าบ้าน มีผู้เฒ่าผู้แก่นั่งรวมกัน พูดคุยกันถึงสารทุกข์สุกดิบ เขาเห็นแล้วก็ยิ้มได้ เห็นวัดโพธิ์เรียงมีเจดีย์ร้อยปี โอ้! เป็นโบราณสถานเลย ไปเห็นบ้านภูมิปัญญา ทำเรือกระทงกาบมะพร้าวร้อยกว่าปี ไม่เคยรู้มาก่อนเลยเก็บมา” ข้อดีที่พบเจอ นำมาแสดงออกผ่านสื่อได้หลายรูปแบบ อย่างเช่นนิทรรศการ วิดิทัศน์ และละคร
ส่วนจุดยิ้มไม่ออก หมายถึงปัญหาในชุมชน กองขยะ ถนนชำรุด และจุดหนึ่งในชุมชนนี้ที่เด็กๆ พบเจอก็คือกำแพงสกปรก น้องๆ รู้สึกว่าการจัดสภาพแวดล้อม ถ้าทำแค่พื้นสะอาด แต่กำแพงก็ยังรู้สึกว่ามันสกปรกจะทำอย่างไรได้ น้องบอกพี่ เราได้ประวัติมาจากป้าหมี เรารู้นี่ชุมชนเราเป็นสวนเดิม เรารู้ชุมชนเรา ที่มาที่ไปของวัดโพธิ์เรียงมาจากไหนก็เอาศิลปะไปใส่บนกำแพงเพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้มันเป็นกำแพงเล่าเรื่องชุมชน”
“นี่ครับ พอออกแบบร่วมกันก็เลยนำไปสู่การหาความร่วมมือ เด็กทำเองไม่ได้ครับ จะเอาเงินที่ไหนมาซื้อสี จะเอาแรงที่ไหนมาขัดกำแพงเยอะยาวๆ อย่างนี้ กรรมการชุมชนช่วยหน่อยไหม สำนักเขตมาช่วยหน่อยไหม สห. กรมสารวัตรทหารเรือมาช่วยเราอยู่ในเขตทหาร”
เด็กๆ ได้เรียนรู้ที่จะร่วมมือและประสานงานกับผู้ใหญ่ เมื่อกำแพงสวยงามแล้วยังได้เปิดเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมศิลปะ การแสดง และดนตรี มีกลุ่มย่อยเกิดขึ้นมา เป็นกิจกรรมที่ทั้งเด็กและชุมชนอยากเข้ามามีส่วนร่วม ดึงเด็กออกจากปัจจัยเสี่ยง และนำไปสู่การกล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ รวมถึงประเด็นทางสังคม
น้องออกจากปัจจัยเสี่ยงชัดเจน เปลี่ยนตัวเองมาทำกิจกรรมแบบสร้างสรรค์ สามารถมีภูมิคุ้มกันในตัวเองได้ รู้และแยกแยะผิดชอบชั่วดี แล้วก็สามารถอยู่กับมันได้ แล้วเด็กลุกขึ้นมาส่งเสียงครับ ไม่ใช่แค่ประเด็นชุมชน แต่ส่งเสียงเรื่องประเด็นสังคมที่เกิดขึ้น เพราะเขาเห็นจากต้นทุนชุมชนแล้วว่าเขาทำได้ มีคนรับฟังเขา เขารู้สึกมีพลัง
ตลอดห้าปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนในกลุ่มหลายคนเติบโตขึ้นกลายเป็นผู้นำที่ช่วยเหลือคนอื่น “เตยเป็นคนชอบรำก็เปิดบ้านให้เด็กเยาวชนเข้ามา จะมาเรียนรำก็ได้ ฟรีนะครับ”
“แวนเคยเป็นเด็กแก๊ง อยู่กับแก๊งจี้ปล้น แก๊งไถเงินอยู่แถวสยามก็กลับมาทำงานชุมชน ลุกมาเป็นแกนนำ รู้สึกว่าคุณค่าชีวิตมันไม่ได้อยู่ที่แค่เป็นเด็กแก๊งชั่ววูบชั่วคราว
“ม็อปอยู่กับครอบครัวที่เคยค้ายาเสพติด ป้าก็เคยค้ายาเสพติด พ่อถูกวิสามัญ เขาเคยส่งยาตอนที่เขาไม่รู้เรื่อง เป็นเด็กเล็กๆ ถูกยัดยาใส่กระเป๋าไป แต่พอโตมาเขาพยายามหนี พอหนีก็มาหากิจกรรม มาทำกิจกรรมชุมชน มาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพราะอยากออกจากปัญหาเหล่านี้
“น้องฟลอยเป็นเด็กที่เก็บกด ติดเกมแล้วก็รู้สึกว่าเขาเองเรียนไม่เก่ง ตอนนี้ฟลอยก็มาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เราพยายามพัฒนาศักยภาพเขาให้เป็นผู้แบ่งปันเรื่องแนวคิด แล้วก็ทำให้เขายกระดับเป็นพี่เลี้ยง”
จากโครงการแรกที่ชุมชนวัดโพธิ์เรียงเป็นต้นแบบความสำเร็จที่ขยายออกไปสู่ชุมชนอื่นๆ “มีชุมชนอื่นมาดู มาเรียนรู้เพิ่ม แล้วเขาก็อยากทำ เพราะนั้นเครือข่ายบางกอกนี้ดีจัง เราทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้นำชุมชนในพื้นที่ฝั่งธน ฝั่งพระนครแล้วก็เขตอื่นๆ เรามีเครือข่ายเด็ก เพราะนั้นกลุ่มต่างๆ เขามีอัตลักษณ์เฉพาะ อย่างกลุ่มสิงโตเด็กก็มีอัตลักษณ์เรื่องสิงโตที่เป็นสื่อ กลุ่มบ้านนี้ดีจังร้องรำทำเพลงก็เน้นส่งเสริมศักยภาพน้องในการแสดงออก”
“ตอนนี้ก็มีชุมชนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านงานศิลปะอยู่ 4 ชุมชน มีสื่อที่เกิดขึ้นที่เป็นทั้งภูมิปัญญา เป็นทั้งงานศิลปะวัฒนธรรมอยู่ 6 ชุมชน แล้วก็มีโรงเรียนในเครือข่าย โรงเรียนวัดบวรมงคล โรงเรียนศึกษานารีก็เป็นเครือข่ายที่มีสื่อเฉพาะของตัวเอง”
ศิลปะเหล่านี้ ยังช่วยในการสื่อสารให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาปรับปรุงสภาพแวดล้อมได้ด้วย “สุดท้ายก็วกกลับไปเรื่องการจัดสภาพแวดล้อม สื่อดีแค่ไหน แต่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตก็อยู่ลำบาก เพราะนั้นก็เอาฐานความรู้เหล่านี้ครับ เรื่องของ 5 ส. ที่เราสำรวจสืบค้นชุมชนออกมาสร้างสรรค์ มาสื่อสารกับชุมชน สร้างความร่วมมือ สร้างความเปลี่ยนแปลง”
นอกเหนือจากความร่วมมือในชุมชนและพลังของเด็กๆ บางกอกนี้ดีจัง ยังได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิ และหน่วยงานต่างๆ “ตอนนี้มิติชุมชนมีปัญหามากมาย แก้ด้วยคนในชุมชนอย่างเดียวก็อาจจะไม่พอ ยังขาดองค์ความรู้บางอย่าง อย่างมูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เป็นมูลนิธิที่ส่งเสริมศักยภาพเยาวชนชัดเจน แล้วก็พยายามส่งเสริมมิติแหล่งเรียนรู้ชุมชน เพราะเขาเชื่อว่าถ้าหากชุมชนสามารถดึงคุณค่าออกมาได้ มันจะทำให้ทุกอย่างหมุนไปได้โดยวิถีธรรมชาติ”
“มีมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ที่สนับสนุนแนวคิด 3 ดี สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี ที่เป็นทิศทางสร้างสรรค์ชุมชน มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทำงานเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สสส. เขต และการไฟฟ้า ชุมชนเราค่อนข้างจะมีองค์กรที่เข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างเยอะ แต่เราต้องตั้งรับด้วยวิธีของการทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อจัดงาน แต่เข้ามาแล้วต้องทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ขอให้มีแนวคิดฝังอยู่กับชุมชนด้วย เขาเองต้องมารู้จักชุมชนเราพอสมควรถึงจะทำงานร่วมกันได้ เรามีคนในชุมชนที่เป็นผู้นำแบบธรรมชาติ มีแกนนำเด็กเยาวชน เรามีพี่เลี้ยง”
อีกองค์ประกอบสำคัญคือทัศนคติของคนในชุมชน “คนในชุมชนมักมองว่า จะทำเฉพาะมีผลประโยชน์เท่านั้น ถ้าไม่มีผลประโยชน์ก็ไม่ทำ ผมว่าอันนี้อันตรายมาก แล้วก็มักจะไม่ค่อยพึ่งตัวเอง สังเกตได้ครับ คนในชุมชนกรุงเทพมักจะเรียกร้อง” ฉันต้องได้ก่อน ถนนพังต้องเขตมาทำ ปัญหาเรื่องนี้เกิดต้องตำรวจมาจัดการ แต่ลืมไปว่าจริงรากของปัญหามันคือพวกเรานี่แหละ ถ้าเราเปลี่ยนวิธีหรือจัดการวิถีบางอย่างได้ มันแก้ไขปัญหาได้แน่ๆ อยู่ที่ว่าจะสำเร็จภายในเร็ววันหรือต้องใช้เวลา”
ถ้าชุมชนใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ผมว่ามันไปได้หมด เราทำเรื่องส่งเสียงขึ้นไปถึงข้างบนหลายๆ ครั้ง แม้กระทั่งการยื่นมติข้อเสนอที่พวกเราเชื่อว่า อันนี้เป็นแนวทางที่ทำไปแล้วน่าจะส่งต่อ มันมีมิติที่เราเคยทำกับหน่วยรัฐแล้ว แต่มันไม่ค่อยเวิร์ค เพราะว่าเขาจะไม่เป็นเจ้าของร่วมกับเราส่วนใหญ่ หน่วยงานรัฐจะลงมาเฉพาะกิจกรรมที่จัดงาน เพราะนั้นมันเลยไม่ยั่งยืน สุดท้ายมันจะกลายเป็นว่า รัฐเป็นผู้กำหนด ชุมชนไม่รู้จักกำหนดเป้าหมายของตัวเอง
คุณตันย้ำว่า เป้าหมายที่ดีนั้นต้องมีข้อมูลเป็นพื้นฐาน “ชุมชนต้องตั้งหลัก ขั้นแรกสืบค้นและสำรวจข้อมูลชุมชนของตัวเองการวิจัยชุมชน คือคนในชุมชนต้องวิจัยชุมชนตัวเอง วิจัยแบบบ้านๆนี่แหละ วิจัยแบบรู้บ้างไม่รู้บ้าง “มันยากแต่ทำได้ครับ ถ้าจะทำ”
และเขาก็ทำสำเร็จ มีผลงานเป็นตัวอย่างให้เห็นมาแล้ว “สิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดตอนนี้ผมรู้สึกว่า ไม่ใช่แค่ตัวเราที่ก้าวข้ามปัญหาที่อยู่กับชุมชน แต่เราสามารถแก้ไขได้”
ขอบคุณภาพจากบางกอกนี้ดีจังมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ