วิถีการเรียนรู้รักปลอดภัยในกลุ่มชายรักชาย
สังคมยุคนี้ดูเหมือนจะเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ในกลุ่มชายรักชายก็ยังมีปัญหาซ่อนอยู่ อย่างเช่นเรื่องการขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกัน HIV และการเปิดเผยตัวตนกับครอบครัวคนใกล้ชิด
เพราะมองเห็นปัญหาเหล่านี้ คุณออฟ (ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่สะดวกเปิดเผยชื่อจริง) ชายหนุ่มวัยทำงานซึ่งเรียนจบทางด้านวิทยาศาสตร์และเภสัชวิทยาจึงนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาทำงานช่วยเหลือกลุ่มชายรักชาย เพื่อให้มีรักได้อย่างปลอดภัย “ที่อยากทำกลุ่มนี้เพราะ ด้วยความที่เราพอจะมีความรู้ด้านนี้ มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ อย่างน้อยมันเป็นแรงขับเคลื่อนจุดเล็กๆ ของสังคมในกลุ่มเราเอง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่เราไม่ได้ไปหวังว่าจะต้องมีผลตอบแทนอะไร”
รูปแบบการทำงาน เริ่มจากการรวมกลุ่ม facebook ชื่อ GBKK ให้ข้อมูลอัพเดทเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศ ข่าวสาร บันเทิง และไลฟ์สไตล์ รวมทั้งพูดคุยผ่านไลน์ สมาชิกส่วนใหญ่อายุระหว่าง 14 – 50 ปี โครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกรุงเทพมหานครเพื่อรณรงค์ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อ HIV และเก็บข้อมูลทำสถิติซึ่งสถิติที่พบนั้นก็น่าตกใจไม่น้อย “อายุของผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง อายุ 13 ปี 14 ปี ก็เจอแล้ว ซึ่งไม่ใช่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ได้รับเชื้อจากแม่สู่ลูก แต่ไปได้รับเชื้อมาเอง เนื่องด้วยโซเซียลมีเดียมันเยอะ บางคนคุยแอปกัน 5-10 นาที ถ้าถูกใจกันก็ไปเลย”
หลายคนคิดว่ารู้ทฤษฎีการป้องกัน แต่ในทางปฏิบัติกลับทำไม่ได้ “ส่วนใหญ่ที่เสี่ยงมาจากการมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น เมา โอกาสของชายรักชายยิ่งง่าย ทั้งเรื่องสถานที่ ห้องน้ำต่างๆ การป้องกันยาก เพราะบางคนไปเที่ยว พอถึงเวลานั้นควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ถ้าอยู่หน้างาน ส่วนใหญ่ที่รับเชื้อมาก็เกิดจากการเปลี่ยนคู่ อย่างในผับไม่มีของที่สามารถป้องกันได้ขาย บางคนหากใช้ถุงยางต้องหมดค่าใช้จ่ายเพิ่ม งานของเราจึงมีกิจกรรมที่ไปแจกถุงยางอนามัยถึงผับของกระทรวงสาธารณสุขแจกเป็นชุดเล็กๆ แจก รวมถึงหลังผับเลิก เราแจกหน้าประตู พยายามให้ถึงมือเขา แต่บางคนก็ยังไม่ใช้ถุงยาง หรือใช้ไม่ถูกวิธี อย่างเช่น วัยทำงานไปมีเพศสัมพันธ์กับวัยนักเรียนจะมีความเชื่อว่าเด็กยังบริสุทธิ์อยู่ ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะไม่ใช่ บางคนใช้ถุงยางแล้วแพ้ หรือไม่ถึงจุดสุดยอด ไม่รู้ไซส์ตัวเองก็อาจทำให้หลุดหรือฉีกขาดได้”
จริงๆ เขามีความรู้ในเรื่องการรักษาและป้องกัน แต่เหมือนมีความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด บางทีมันนิดเดียวแต่ก็ทำพลาด บางคนรู้มาไม่ถูกต้อง รู้แต่ไม่เข้าใจ บางคนเถียงกับเรา แต่เราค่อย ๆ ป้อนข้อมูลเข้าไป
นอกเหนือจากการพูดคุยยังมีกิจกรรมเพิ่มความรู้ความเข้าใจทั้งในและนอกกลุ่ม “หลายกิจกรรมเราไม่ได้จำกัดว่าเฉพาะชายรักชาย แต่จะมีทั้งผู้หญิง หรือแม้แต่ทอมมาเข้าร่วม เราก็ได้แลกเปลี่ยน และพยายามนำเสนอให้ข้างนอกได้เข้าใจกลุ่มของเรามากขึ้น รูปแบบกิจกรรมคล้ายกับการรับน้องทั่วไป แต่จะแทรกความรู้ความเข้าใจ เช่น มีเกมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย เวลาใช้กับสารอะไรจะทำให้ไม่เสียหาย เพราะบางคนก็ยังเข้าใจผิด”
การทำงานมีทั้งกิจกรรมกลุ่ม และช่วยเหลือเป็นรายบุคคล “ทุกสองสามเดือนเราจะจัดทริป 40 – 50 คน ไปเที่ยว ในทริปจะมีเกมส์ที่แทรกเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง หรือเทคโนโลยีการรักษาโรคที่ถูกพัฒนาขึ้น เพื่อช่วยให้เขาไม่รู้สึกกลัว บางคนก็อยากให้เราพาไปตรวจ สิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ คนที่เราพาไป เขาไว้ใจเรามากพอที่จะเล่าตั้งแต่ทานยา และเปลี่ยนสูตรยา จนกระทั่งมีแฟน เขาเล่าให้เราฟังเป็นระยะโดยที่เราไม่ต้องถาม เขาวางใจเรา เพราะเรารู้ข้อมูลเขาแล้วเราไม่ได้ไปป่าวประกาศ”
สำหรับผู้ติดเชื้อ คุณออฟและทีมงานจะให้กำลังใจ รวมถึงแนะนำเรื่องการดูแลตนเองและคนรัก “ส่วนใหญ่มีการป้องกัน คนที่รู้ตัวเองว่ามีเชื้อ เขาจะกินยา บางทีบอกให้แฟนรู้ด้วย แต่ บางคนพยายามไม่ปล่อยหรือรับเชื้อเพิ่ม เพราะบางทีมีเชื้อที่คล้ายกัน มันอาจจะทำให้ดื้อยาได้ เราก็ให้ความเข้าใจในเรื่องนี้ไป”
ความยากลำบากในการทำงานยุคสื่อโซเชียล นอกจากให้ข้อมูลและพยายามปรับพฤติกรรม ยังต้องแก้ไขความเข้าใจผิดที่ส่งต่อกันได้ง่าย
“สิ่งที่ท้าทาย เราจะทำยังไงให้คนเข้าใจได้ถูกต้อง ให้เขาสามารถเข้าใจ กับเกี่ยวกับเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้องได้ด้วยตนเองด้วย เขาสามารถที่จะไปหาแหล่งที่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ได้มากกว่าที่จะไปอ่านตามเว็บไซต์ที่ไม่มี แหล่งอ้างอิงชัดเจน”
อีกเรื่องที่ทางกลุ่มเข้าไปช่วย คือการทำความรู้จักกับตัวเอง และเปิดเผยให้ครอบครัวทราบ ซึ่งคุณออฟเองก็เคยผ่านจุดนี้มาก่อน “เหมือนเป็นจุดที่เราก้าวข้ามมันไม่ได้ แต่พอก้าวข้ามมันได้ก็ไม่ได้มีอะไร เราบอกที่บ้านตอนจบปริญญาโท เริ่มรู้ตัวเองว่ารักเพศเดียวกันตอนมัธยม แต่ตอนประถม ยังไม่รู้ว่าเป็นอะไร เคยมีความรู้สึกหลงรักผู้หญิงตอนประถม มีการจีบด้วย แต่มันเหมือนมีอะไรมากระตุ้น”
เพราะเข้าใจความยากลำบากในการเปิดตัว ทางกลุ่มจึงมีกิจกรรมในส่วนนี้ด้วย
ในช่วงวันแม่และวันพ่อ เราจะถ่ายคลิปให้ไปบอกกับแม่อย่างจริงจังว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน บางคนพ่อแม่ก็รู้อยู่แล้วและยอมรับได้ ส่วนใหญ่เขาบอกว่ายังไงก็เป็นลูก แค่เขาเป็นคนดีของสังคมก็พอ
ข้อหนึ่งที่คนเป็นพ่อแม่น่าจะห่วงใยก็คือเรื่องคู่ครอง และโอกาสที่จะมีรักแท้ ซึ่งคุณออฟมองว่า “มันยากทั้งตัวเราและคนที่จะอยู่กับเรา หมายถึงต้องเป็นความไว้วางใจกัน ด้วยสมัยนี้มันเร็วไปหมด ทุกอย่างเลยง่ายขึ้นด้วย แม้แต่ชายหญิงก็ยากที่จะมีรักแท้ ด้วยความที่ทุกคนต่างมีตัวเป็นของตัวเอง จุดเกิดจุดแตกหักได้ง่ายมาก จริงๆ แล้ว เรื่องเพศในยุคนี้ เราอาจมองข้ามเรื่องนั้นไปแล้ว ถึงจุดหนึ่งถ้าเรารักใคร จะเป็นเพศไหนก็ได้ อาจจะเป็นเกย์ด้วยกัน เป็นทอม เกย์กับผู้หญิง หรืออะไรก็ได้ที่คนสองคนรู้สึกดีและสามารถอยู่ด้วยกันได้ ”
รักแท้แบบหนึ่งที่คุณออฟมีอยู่อย่างแน่นอน ก็คือความรักที่นำมาซึ่งความสุขจากการแบ่งปันและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ตามความตั้งใจที่ว่า “อยากใช้ความรู้ความสามารถที่พอมี เป็นส่วนเล็กๆช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น”