8 ช่องทางความสุข

ความสุขจากการถ่ายภาพธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

 โลกยุคดิจิทัลทุกวันนี้ทำให้ทุกคนกลายเป็นช่างภาพกันแทบจะทุกอิริยาบถกันเลยทีเดียว แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่า ภาพถ่ายส่วนใหญ่ที่เราถ่ายมักจะ “ถูกจัดวาง” ทั้งท่วงท่านายแบบนางแบบ หรือองค์ประกอบฉากเพื่อความสวยงาม ถ้าไม่ถูกใจก็จะกดถ่ายใหม่กันได้ทันที ภาพถ่ายเหล่านี้จึงถูก “ปรุงแต่ง” ด้วยความรู้สึกของช่างภาพจนกว่าจะพอใจ ทว่า หากใครได้ลองฝึกถ่ายภาพแบบ Contemplative Photography หรือภาพถ่ายที่ “ไร้การปรุงแต่ง” ดูแล้วละก็  คุณจะได้สัมผัสกับความรู้สึกถ่ายภาพในมุมใหม่และภาพถ่ายที่ดูเหมือนธรรมดาจะกลายเป็นภาพถ่ายที่ไม่ธรรมดาไปได้เช่นกัน

อาจารย์นิตยา เกษมโกสินทร์ เป็นคนหนึ่งที่หลงใหลการถ่ายภาพแนวนี้มานานหลายปี แม้ว่าอาชีพหลักจะไม่ได้สอนถ่ายภาพ แต่เป็นอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  ถ้าใครเห็นภาพถ่ายของอาจารย์ก็มักจะร้องว้าว… เพราะเป็นการถ่ายภาพที่ “ไร้การปรุงแต่ง” แต่ทุกภาพสะท้อนถึงมุมมองอันแตกต่างที่คนทั่วไปไม่เคยสังเกตหรือมองไม่เห็นความงามที่ซ่อนอยู่ในภาพตรงหน้า

ด้วยเพราะตามปกติ คนเรามักจะรับรู้สิ่งต่าง ๆแล้วตีความตามลักษณะนิสัย ความคุ้นเคย หรือแพตเทิร์นความคิดของตน จนมีการบิดเบือนความจริง มองข้ามรายละเอียด แม้แต่การถ่ายภาพ ถ้าเรามีความละเอียดอ่อนพอ เมื่อเราพิจารณาภาพถ่ายของนักถ่ายภาพบางคน เราก็จะสามารถเดาทางการถ่ายภาพของเขาได้เช่นกัน

 “การถ่ายภาพแนว contemplative photography” เป็นวิธีฝึกฝนให้กลับไปสู่การรับรู้ ผ่านการ ‘เห็น’ แล้วถ่ายทอดออกมาอย่างซื่อๆ

ทฤษฎีนี้เชื่อว่า ภาพถ่ายจะต้องเกิดจากการมองเห็นแล้วถ่ายภาพทันที คนถ่ายภาพ ณ.เวลานั้นจะไม่มีการคิดปรุงแต่ง หรือจัดองค์ประกอบก่อนถ่ายภาพ  เช่น “เวลากลางวันขณะเราเดินผ่านสนามเด็กเล่น เหลือบไปเห็นเด็กนั่งชิงช้า เงาของภาพเด็กบนชิงช้าสะท้อนบนพื้นดิน เราเห็นปุ๊บก็กดชัดเตอร์ทันที ไม่มีการหยุดพิจารณาว่าจะถ่ายยังไงให้สวย” ภาพที่ถ่ายส่วนใหญ่ มาจากสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ที่ไหนก็ได้ ไม่ใช่การเดินหา เป็นการถ่ายภาพธรรมดาที่ไม่ธรรมดา” อาจารย์บอก

การสอนถ่ายภาพทั่วไปอาจจะเน้นวิธีใช้อุปกรณ์ แต่การถ่ายภาพแนว contemplative photography จะต่างออกไป เมื่ออาจารย์หมอธนา นิลชัยโกวิทย์ได้กลับมาจากการเรียนรู้เรื่อง contemplative photography ที่สถาบันแห่งหนึ่งในประเทศอเมริกา อาจารย์ชวนลูกศิษย์ 4-5 คนมาเรียน ใช้เวลาหลังเลิกงานสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง

“เราถูกสอนให้มองเห็นสีก่อนแล้วถ่ายภาพออกมา โดยเทคนิกการถ่ายภาพสี “ห้ามถ่ายกราฟฟิค ห้ามถ่ายขาวดำ และเลี่ยงการถ่ายภาพสีเดียว”  พอได้การบ้านไปทำ กลับมาส่งครู ครูก็จะดูภาพของแต่ละคน แล้ววิจารณ์ภาพแต่ละภาพ ช่วงที่หัดถ่ายภาพสีใหม่ๆ ยังไม่ทันกับความคิดที่อยากทำให้ภาพออกมาดี ภาพที่ถ่ายทอดออกมาจึงมีองค์ประกอบอื่นติดมาด้วย บางทีก็แสดงเรื่องราวของภาพมากกว่า  ทำให้ไม่เห็นการโฟกัสภาพสีที่ผู้ถ่ายเห็น จึงรกตาไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นแท้จริง ฉะนั้นเราต้องเคลียร์ เรารู้ว่าเราถ่ายอะไร” เช่น เราเห็นสีของดอกบานบุรีตัดกับรถสีม่วงที่จอดอยู่ แทนที่จะถ่ายภาพสีเหลืองกับสีม่วง แต่มีความคิดแวบเข้ามาขณะนั้นบอกว่า เดี๋ยวคนไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็ไปถ่ายภาพรถทั้งคันกับดอกไม้มา ภาพที่ได้เลยไม่ใช่ภาพสี แต่เป็นภาพรถแทน”

 สิ่งสำคัญของการถ่ายภาพแนวนี้ คือ “ความใสซื่อ” ของจิตที่มองเห็นภาพตรงหน้าตามความเป็นจริง  และความสนุกของช่างภาพแนวนี้จะเกิดขึ้นหลังจากเรียนทฤษฎีต่างๆ และฝึกถ่ายภาพทีละแบบฝึกหัด เริ่มจากเรื่อง สี แสง พื้นผิวสัมผัส แพตเทิร์นของภาพและความสัมพันธ์ของพื้นที่ว่างกับรูปทรงตามลำดับ  “แต่เมื่อเรียนจนถึงจุดสุดท้าย  คือจุดที่ไม่เหลืออะไรเลย เป็นอิสระทางความคิด ภาพของเราจะสามารถเป็นอะไรก็ได้” และทุกครั้งที่จะถ่ายภาพให้กลับมาอยู่ที่ศูนย์ การกลับมาเริ่มต้นใหม่ จะทำให้เราได้ภาพใหม่ สดเสมอ นี่แหละคือ Contemplative photography จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการฝึกที่จะให้เราทันกับความคิดที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเราไม่มีความรู้สึกตัว

ตอนเริ่มต้นเรียน Concept คนเรียนต้องนิ่งพอ และ ไม่ควรมีความคิดเข้ามาแทรก การที่เรานิ่ง ใจสงบ ได้มองเห็นสิ่งตรงหน้าด้วยใจที่ว่าง ก็จะเห็นความงาม พอเห็นความงามแล้วก็กดชัตเตอร์กับภาพตรงหน้าอย่างซื่อๆ อีกเรื่องหนึ่งคือ ไม่ถ่ายด้วยความจำเดิม ๆ ในมุมมองที่เคยเห็นแล้วชอบ หรือภาพของคนอื่นแล้วเราชอบ แต่ไม่ทันกับความรู้สึกชอบภาพนั้น พอวันหนึ่งเห็นคล้ายกัน ก็ถ่าย เพราะมีความอยากทำได้ ภาพนี้ก็จะไม่ใช่ภาพที่สด

“ความจริงที่บอกว่าถ่ายภาพแบบไม่ต้องคิดนั้นมันเป็นไปได้น้อยมาก เพราะปุถุชนอย่างเรา ถ้าไม่มี ความรู้สึกตัวก็จะไม่เห็นความคิดหรอก”  เมื่ออาจารย์ได้มีโอกาสเจริญสติแนวเคลื่อนไหว ของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ไประยะหนึ่งก็เข้าใจว่าการถ่ายภาพแนว contemplative photography นั้นส่วนหนึ่งได้จากการมีสมาธิที่นิ่งพอ มีความสงบของจิตใจและการได้เรียนรู้วิธีมอง จึงทำให้เห็นภาพ แล้วถ่ายทอดออกมาได้ “ถ้าจะใช้คำว่า “การถ่ายภาพเชิงภาวนา” ได้ คนๆนั้นควรต้องเจริญสติ ด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง และต้องถึงขั้นของการเห็นความคิดของตนเองกำลังจะเกิด หรือเริ่มเกิดขึ้น แล้วไม่เข้าไปในความคิดนั้น  ความรู้สึกตัวทำให้ประสาทสัมผัสคมขึ้น ได้เห็นความงามของสิ่งรอบตัวชัดเจนขึ้น เมื่อถ่ายทอดภาพ ออกมาดูแล้วมีความสด ซึ่งไม่มีคำพูด หรือคำบรรยายของภาพ  และใครๆก็ฝึกได้ค่ะ”

แต่ถ้าต้องการภาวนาเพื่อละ “กิเลส” ก็ต้องไม่ถ่ายภาพด้วย เพราะเมื่อเราถ่ายภาพได้สวย เราอยากจะอวด ภูมิใจในผลงานตนเอง ยิ่งเพิ่มอัตตาให้ตนเอง มันก็ตัดความยึดในตัวตนไม่ได้สักทีใช่ไหม

 นอกเหนือจากชิ้นงานศิลปะ “การฝึกถ่ายภาพแนว contemplative photography ยังให้ผลพฤติกรรมของตนเปลี่ยนไป เพราะฝึกให้มองสิ่งรอบตัวด้วยใจที่ผ่อนคลาย เราสามารถอยู่ตรงนั้น มองเห็นอย่างที่มันเป็น มีความสงบและผ่อนคลาย ละเอียดอ่อนขึ้น ไปที่ไหนมองความสวยงามได้ตลอด เป็นการเสพความพึงพอใจกับธรรมชาติและสิ่งรอบตัว”

 ถือได้ว่าเป็นแบบฝึกหัดที่ช่วยให้จิตใจสงบ มีความสุขแต่อย่าคาดหวังถึงขั้นไม่มีทุกข์  “มันคงทำได้แค่ระดับความคิด ถ้าคนนั้นไม่ได้มีความรู้สึกตัวเพียงพอ มันคือระดับความคิดที่มีการออกแบบขึ้นมาว่า เรากำลังปรุงแต่ง มันแค่หยุด แล้วหยุดไม่ได้นาน เพราะว่าความคิดเกิดขึ้นตลอดเวลา ตราบที่เรายังมีชีวิตอยู่”

 จะทุกข์น้อยลงสุขน้อยลง มันคงไปไม่ถึง มันอยู่แค่ระดับหนึ่ง ที่มองแล้วเห็น  เห็นแล้วอยากถ่ายทอดออกมาแล้วจบ เห็นแค่ระดับที่เราจะสงบพอให้เห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

 อาจารย์แนะนำว่า จากพื้นฐานการฝึกถ่ายภาพภาวนา ถ้าอยากพัฒนาจิต ต้องเจริญสติต่อไป “งานนี้ไม่ใช่เรื่องการภาวนามันแค่ทำให้เราสงบเท่านั้นเอง ไม่ได้เปลี่ยนมาก  แต่เราต้องอาศัยการเจริญสติ”

 “การถ่ายภาพไม่ใช่ทางออกจากทุกข์  แต่สิ่งที่ช่วยให้เราทุกข์น้อยลงคือการเจริญสติที่เราทำอย่างต่อเนื่อง เรารู้ว่ามันเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เราทุกข์น้อยลง”

บางทีการที่เราอยู่กับโลกยุคดิจิตอลสามารถปรับแต่งภาพถ่ายได้ด้วยแอพพริเคชั่นมากมายอาจทำให้เราเคยชินกับการ “ปรุงแต่ง” ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  การได้ลองถ่ายภาพแบบ “ไร้การปรุงแต่ง” อาจทำให้เราสัมผัสกับความสุขแบบธรรมดาที่ไม่ธรรมดาภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยการปรุงแต่งใบนี้มากขึ้นก็เป็นได้

ศิลปะ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save