8 ช่องทางความสุข

เยียวยากายและใจด้วยอาชาเพื่อนรัก

เมื่อเอ่ยชื่อครูอุ้ย-อภิสิรี จรัลชวนะเพท คนในวงการศึกษาทางเลือกต่างเคยได้ยินชื่อเสียงของเธอกันมานานกว่าสามสิบปี เพราะเธอคือผู้ก่อตั้งอนุบาลบ้านรัก และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาแนววอลดอร์ฟรุ่นบุกเบิกของเมืองไทย  รวมทั้งยังได้รับรางวัลอาโชก้า ในฐานะ “นักบริหารงานเพื่อสร้างสรรค์สังคม” และได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรด้านการศึกษามานับไม่ถ้วน

ภาพความสำเร็จในชีวิตของผู้หญิงผมสั้นสีสีดอกเลาท่าทางทะมัดทแมงคนนี้ ก้าวเข้ามาในชีวิตตั้งแต่เธอเรียนจบปริญญาตรีไม่นาน วงรอบชีวิตการทำงานของเธอหมุนเร็วกว่าเพื่อนวัยเดียวกันทั่วไป เพราะเธอทำทุกอย่างด้วยหัวใจและทุ่มเทจนสุดกำลัง

ทว่า ความสำเร็จที่ได้เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่สามารถทำให้ชีวิตพลิกผันได้เสมอ เมื่อโชคชะตาเล่นตลกกับผู้หญิงทะมัดทแมง ทำอะไรคล่องแคล่วว่องไว ใจเดินเร็วกว่าสองเท้า ต้องกลายเป็นคนที่ถูกบังคับให้เดินช้าลงและทรมานจากอาการเจ็บปวดตั้งแต่กระดูกก้นกบ สะโพก เข่า ลงมาจนถึงปลายขา  ครูอุ้ยจึงเริ่มมองหาหนทางบำบัดเยียวยาร่างกายของตนเองให้กลับสู่สมดุลอีกครั้ง โดยเลือกเส้นทางของอาชาบำบัด…บนเส้นทางสายนี้ เธอได้ค้นพบ “เพื่อนรักสี่ขา” ที่พร้อมช่วยพยุงร่างกายและหัวใจของเธอให้ก้าวข้ามความหวาดกลัวต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้า เรียนรู้การสื่อสารผ่าน “ภาษากาย” ไปด้วยกันจนกระทั่งเธอและอาชาเพื่อนรักเคลื่อนไหวกลายเป็นหนึ่งเดียว 

             ……….

ย้อนกลับไปเมื่อสามสิบปีก่อน บนพื้นที่เกือบสองไร่ บริเวณสุขุมวิท ใจกลางกรุงเทพ เสียงหัวเราะแจ่มใสของเด็กๆดังอยู่เป็นระยะ เท้าเล็กๆ เหล่านั้นวิ่งเล่นอยู่ท่ามกลางต้นไม้สีเขียวร่มรื่นเรียงราย เป็ดไก่คุ้ยเขี่ยหาอาหารกิน ครูอุ้ยในวัยยี่สิบสองปีเพิ่งเรียนจบจากคณะครุศาสตร์ ภาควิชาศิลปะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ตัดสินใจใช้พื้นที่บ้านตนเองเปิดโรงเรียนอนุบาลและพัฒนามาเป็นอนุบาล “บ้านรัก” เพื่อจัดการศึกษาตามแนวทางวอลดอร์ฟตามที่ฝันไว้ ด้วยเพราะเติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณอาเป็นเจ้าของโรงเรียนอนุบาล เธอจึงได้คลุกคลีและซึมซับความเป็น “ครูอนุบาล” มาตั้งแต่วัยเยาว์ และเติบโตมาในครอบครัวที่คุณพ่อจะพาออกเที่ยวป่าและสัมผัสธรรมชาติอยู่เสมอ โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้จึงเน้นให้เด็กๆเรียนรู้ที่จะเล่นอยู่กับธรรมชาติอย่างเป็นธรรมชาติให้ได้มากที่สุด โดยไม่มีการสอนอ่านเขียน เพราะเธอตระหนักว่า  “ อนุบาล ” ยังไม่ใช่  “ โรงเรียน ”

“ มีความรู้สึกว่าเด็กต้องเติบโตไปกับธรรมชาติ สื่อการเรียนการสอนออกแบบไปก็สู้ธรรมชาติไม่ได้หรอก ถ้าเราเขียนเป็ดสักตัวลงในกระดาษ ดูแล้วก็ยังเป็นเป็ดอยู่ แต่ถ้ากระดาษขาดก็ไม่เป็นเป็ดแล้ว เราจึงควรให้เด็กเรียนรู้จากชีวิตเป็ดตัวจริงๆเ ลย ไม่มีสื่อการสอน ไม่มีอะไรมาขั้นกลางระหว่างเด็กกับธรรมชาติ เด็กๆ จะมีความสุขมากกว่า”

ด้วยพลังความมุ่งมั่นและไฟฝันที่คุกรุ่นอยู่ในใจ บัณฑิตสาวคนใหม่ตัดสินใจเปิดรับเด็กพิเศษจากมูลนิธิแสงสว่างให้มาเรียนร่วมกับเพื่อนๆในวัยเดียวกัน ซึ่งนับเป็นโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกๆ ในเมืองไทยที่เปิดโอกาสให้เด็กพิเศษเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปตั้งแต่วัยอนุบาล ส่งผลให้โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับชื่อเสียงของหญิงสาวไฟแรงเจ้าของโรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ ครูอุ้ยกล่าวถึงที่มาของแนวคิดการเรียนร่วมระหว่างเด็กสองกลุ่มนี้ให้ฟังว่า

         

   ด้วยความที่เป็นคนสนใจเด็กพิเศษตั้งแต่ตอนยังเป็นครูฝึกสอน เราจึงริเริ่มให้เด็กปกติกับเด็กพิเศษมาเรียนรู้ด้วยกัน มาอยู่ด้วยกัน มาใช้ชีวิตตั้งแต่อนุบาล เรามีความรู้สึกว่าถ้าเราตัดเขียนอ่านออกไป ซึ่งเป็นความต้องการของสังคม แล้วเราก็เหลือเนื้อแท้ๆ ที่เด็กจะเติบโตด้วยกันแบบธรรมชาติ เด็กจะอยู่ด้วยกันได้จริงๆ ในระดับอนุบาล

เด็กที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษหรือ “ เด็กพิเศษ ” ในอนุบาลของครูอุ้ย อยู่ในระดับที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเด็กอื่นๆ ได้ เมื่อเด็กในวัยซนจับกลุ่มกันเล่น ความร่าเริง สดใส ย่อมไม่มีความแตกต่าง และเด็กปกติจะเกิดความรู้สึก “อยากช่วยเหลือเพื่อน” ขึ้นมาได้เองจากธรรมชาติของหัวใจดวงน้อย

“ เด็กปกติจะช่วยเพื่อนติดกระดุม พาไปห้องน้ำ หารองเท้าให้ เขากินข้าวด้วยกัน เพื่อนทำข้าวหก ก็มองๆ ดูแล้วช่วยเก็บ ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ครูช่วยเหลือเด็กพิเศษ เขามีครูเป็นแบบ แล้วก็ทำตาม ”

หากมองอย่างผิวเผินจะเห็นว่า เด็กปกติที่ช่วยเหลือเพื่อนคือผู้ให้ และเด็กพิเศษคือผู้รับ แต่ครูอุ้ยกลับมองเห็นในมุมอื่นร่วมด้วย

       

     เมื่อเด็กพิเศษต้องการความช่วยเหลือ การช่วยเหลือจะทำให้เด็กปกติมีความอ่อนโยนขึ้น กลับเป็นว่า เด็กปกตินั่นแหละที่ได้รับโอกาสดี  โอกาสที่จะเป็นคนอ่อนโยนขึ้น เป็นคนมีเมตตาโดยทันทีตามธรรมชาติ นี่คือสิ่งที่เด็กปกติได้รับ

ผลจากความสำเร็จในการเรียนรู้อยู่ร่วมกัน ครูอุ้ยจึงเสนอโครงการ “บ้านเรียนแห่งความสุข” และได้รับรางวัล Ashoka Fellow อย่างน่าภาคภูมิใจ เพราะเธอสามารถพิสูจน์ให้ครอบครัวยอมรับและเห็นคุณค่าในความฝันของเธอได้ในที่สุด หลังจากนั้นครูอุ้ยก็เริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะผู้หญิงเก่ง เธอจึงคิดฝันโครงการใหม่ๆ จนกระทั่งร่างกายเริ่มแสดงอาการประท้วง ยิ่งเธอไปข้างหน้าเร็วเท่าไหร่ สองขากลับดึงรั้งเธอไว้ด้วยความเจ็บปวดจนเธอต้องเดินช้าลงเรื่อยๆ ความรู้สึกหดหู่เริ่มเกาะกินจิตใจ ไฟฝันเริ่มมอดดับลง 

“เราเคยคิดว่าเราเก่ง กระฉับกระเฉง แต่ตอนนี้ทำไมร่างกายไม่เป็นไปตามใจอย่างที่เราอยาก ทำไมถึงปวดขา ทำไมถึงเดินแล้วขาแพลงขาพลิกบ่อยๆ แล้วก็ปวดหลัง เราแก่แล้วหรอ รู้สึกข้างในมันเศร้า”

ท่ามกลางความเศร้าที่เริ่มครอบครองพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเธอไม่สามารถลุกเดินคล่องแคล่วแบบเดิมเหมือนในอดีต ระหว่างการหยุดพักร่างกาย หัวใจก็เริ่มมองเห็นบางสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในวัยเยาว์ เธอเริ่มมองหาความสุขที่หล่นหายไประหว่างทาง คิดถึงความทรงจำเมื่อครั้งยังเด็ก บ้านของเธอในวัยเยาว์มีคอกม้าอยู่หน้าบ้าน เธอชอบเอาหญ้าไปให้ม้าและเล่นกับมันเป็นประจำ ทำให้เธอผูกพันกับม้าโดยไม่รู้ตัว

ภาพในอดีตแจ่มชัดขึ้นเมื่อนึกถึงเหตุการณ์ตอนอายุสิบเก้าปี เธอหนีแม่ไปสมัครเรียนขี่ม้าและพอแม่เห็นเธอตกม้าก็เริ่มกังวลใจ แม่ไม่เคยสนับสนุนให้เธอขี่ม้ามาแต่ไหนแต่ไรด้วยเพราะเหตุว่ากลัวลูกตกม้า แม้ตอนเด็กๆ จะรบเร้าให้แม่พาไปเรียนขี่ม้า แต่แม่กลับพาลูกๆ ไปว่ายน้ำแทน ทว่าในวันนี้ เสียงของม้าในวัยเยาว์เรียกร้องให้เธอกลับไปหามันอีกครั้ง  แต่การกลับมาครั้งนี้แตกต่างออกไป ด้วยอายุที่มากขึ้นในวัยราว 45 ปี  ความหวาดกลัวเข้ามาแทนที่ความสนุกที่เคยมี

“ตอนเด็กๆ อยู่บนม้า ตกม้าก็สนุก แต่ตอนนี้ขึ้นม้าก็สั่นไปหมด ข้างในมันกลัว ต้องโหย่งตัวเองเอาไว้ กลัวไปหมดทุกอย่าง”

เหมือนได้สวมหัวใจของวัยเด็ก ครูอุ้ยค่อยๆ เริ่มเรียนรู้อีกครั้ง เธอเรียนรู้ที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับม้า ปลดปล่อยและถ่ายเทความรู้สึก “เศร้าจากข้างใน” ส่งไปสู่เพื่อนของเธอ อาชาเพื่อนรักก็สามารถรับสัมผัสรู้สึกนั้นได้ และพร้อมที่จะบำบัดทั้งร่างกายและจิตใจให้เธออย่างอ่อนโยน

 “ให้ม้าบำบัดคือ การให้คนเรากลับไปอยู่ในขั้นคลานอีกครั้งหนึ่ง ถ้าเราป่วยจนเดินไม่ได้ เราจึงต้องหัดเดิน แต่ในวันที่เราทรงตัวไม่ได้ เราต้องกลับมาสู่การทรงตัวอีกครั้ง แล้วใครจะช่วยเราได้… การขี่ม้า ม้าจะอยู่ท่ามกลางระหว่างขา ม้ามีสี่ขา ตัวเราคล่อมไปบนสิ่งมีชีวิตที่มีสี่ขา เหมือนการคลาน สันหลังของเราก็จะชูขึ้น เหมือนเด็กที่เตรียมสู่การยืนตรง ต้องเรียนรู้ปรับให้เราหาสมดุลว่า ม้ากับเราจะเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร”

เมื่อเวลาผ่านไป ครูอุ้ยท้าทายความหวาดกลัวด้วยการต่อสู้กับความกลัวในใจตัวเอง โดยความช่วยเหลือของเพื่อนรักสี่ขา ม้า ค่อยๆเติมความรักเข้าสู่หัวใจครูอุ้ย แล้วขับไล่ความหวาดกลัวออกไปจนหมดสิ้น ผ่านการเหยาะย่าง แล้วออกวิ่งไปด้วยกัน ครูอุ้ยรับสัมผัสความรู้สึกนั้นได้ด้วยความตื้นตันและขอบคุณ

 ไม่มีวันไหนที่ขี่ม้าแล้วน้ำตาไม่พราวออกมาจากลูกตา มันมีแต่ความสุข ความชื่นใจ ว่าเราค่อยๆรู้จักม้าทีละเล็กทีละน้อย ขอบคุณมากเลยนะ ที่ทำให้เราเคลื่อนตัวโจนทะยานไปได้อย่างที่เราอยาก การขี่ม้า คนขี่จะพบกับความจริงอย่างที่สุด หลอกตัวเองหรือเข้าข้างตัวเองไม่ได้เลย หากวันนี้เราขี่ม้าไม่ดี เราย่อมรู้ตัวเอง ม้าก็วิ่งโขยกเขยกไปตามการขี่ของเรา วันนี้ทำได้ไม่ดี วันหน้าต้องสู้ใหม่

ครั้งหนึ่งในขณะขี่ม้า ครูฝึกสั่งให้ครูอุ้ยขี่ม้าเป็นวงกลมเล็กๆ แล้วขยายออกให้ใหญ่ขึ้นเป็นเลขแปด เธอนึกถึงการทำ วาดลีลาเส้นหรือ form drawing ที่เธอไม่ชอบเพราะรู้สึกไม่สามารถวาดภาพแสดงความสัมพันธ์ของรูปทรงได้เลย

“ วันหนึ่งในขณะที่กำลังขี่ม้าตามคำสั่งของครูฝึกอยู่ เพิ่งรู้ตัวว่าเรากำลังทำ form drawing อยู่นี่นา ตอนนั้นซึ้งใจจนน้ำตาไหล เพราะ เราไม่สามารถทำในกระดาษได้ เราต้องทำในพื้นที่ที่กว้างใหญ่กว่า เราต้องคีบม้าไปด้วยหนึ่งตัว ราวกับว่า…สิ่งที่ประกอบเป็นตัวเรามันใหญ่มาก คนอื่นอาจต้องมีกระดาษกับปากกา แต่ของเราต้องมีสนามกับม้าอีกหนึ่งตัว เพราะขอบเขตของร่างกายความรู้สึกแต่ละคนมันต่างกัน ของเรามันส่งใจออกไปข้างนอกมากเกินไป กว่าจะรู้ว่าศูนย์กลางและขอบเขตของตัวเองอยู่ตรงไหน ต้องใช้แบบฝึกหัดไม่เหมือนคนอื่น จึงจะรู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหน ”

การเรียนรู้ที่มีคุณค่าและเปี่ยมความหมายที่สุด คือการเรียนรู้เพื่อจะพบความสมดุลของชีวิตตนเอง สำหรับครูสอนเด็กอนุบาลที่ชื่อ ครูอุ้ย ผู้หญิงเก่งที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ชีวิตได้ส่งโจทย์สำคัญ นั่นคือ “ความเจ็บป่วย” เพื่อให้เธอได้เรียนรู้และหาคำตอบ และสิ่งที่เธอยึดเป็นแนวทางสำคัญในการสอนเด็กๆ นั่นคือ “การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ” ได้นำเธอให้ได้พบคำตอบของชีวิตผ่าน “ม้า” สัตว์สี่ขาที่เธอยกให้เป็นทั้งเพื่อน และครู ของเธอ เพื่อนที่พร้อมช่วยพยุงร่างกายและหัวใจของเธอให้ยังคงดำรงอยู่ด้วยความแข็งแรง และแข็งแกร่ง ครู ผู้สอนให้เธอเข้าใจชีวิตมนุษย์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และให้เธอเรียนรู้ที่จะอยู่กับวิถีธรรมชาติอย่างมีความสุข

           

ในร่างของคนเราองค์ประกอบมีร่างหลายร่าง เราไม่รู้ว่าร่างของเรามีขอบเขตแค่ไหน แต่เรารู้ว่ามันประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ ร่างกายเนื้อ ร่างพลังชีวิต ร่างความรู้สึก ร่างการตระหนักรู้ เราเห็นได้เฉพาะร่างกายเนื้อ แต่ร่างอื่นๆเรามองไม่เห็น แต่เราควรจะรับรู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ คนบางคนไม่ต้องมีแบบฝึกหัดเยอะแยะแบบครูอุ้ย เพราะเค้าจะเข้าใจตัวเองและหาสมดุลตัวเองเจอ แต่ครูอุ้ยไม่ได้ เหมือนคนล้มลุกคลุกคลานต้องเอาม้ามาอีกหนึ่งตัวถึงจะเกิดความสมดุล มันคือโอกาสดีที่ได้สัมผัสความรู้สึกแท้ๆว่าตัวเรามีตัวเรา

ทุกวันนี้ ครูอุ้ยในวัย 58 ปี ยังคงมีความสุขกับการทำกิจกรรมมากมายหลายด้าน ทั้งการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความสุขให้เด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลบ้านรัก และเป็นประธานมูลนิธิบ้านรักและมูลนิธิขวัญชุมชน เป็นนักกิจกรรมด้านศิลปะ ละครหุ่น และดนตรี อีกหลากหลายโครงการ รวมทั้งยังเป็นนักทำขนมแสนอร่อยที่ใครๆ ได้ชิมแล้วต้องติดใจ และความสุขที่ขาดไม่ได้ก็คือความสุขจากการเคลื่อนไหวร่างกายไปกับอาชาเพื่อนรักด้วยหัวใจเดียวกัน

(ขอบคุณภาพถ่ายจากครูอุ้ย มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)

………………………………

หมายเหตุ : รินศรัทธา กาญจนวตี เป็นนามปากกาของนักเขียนจากโครงการอบรมนักเขียนตาบอด จัดโดยสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย

การเคลื่อนไหวร่างกาย

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save