เพชร มโนปวิตร ความสุขของนักอนุรักษ์จากภูเขาถึงทะเล
เด็กชายที่ชอบอ่านหนังสือและดูสารคดีชีวิตสัตว์โลก ใช้เวลาส่วนใหญ่ในรั้วมหาวิทยาลัยหมดไปกับกิจกรรมชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ เริ่มงานแรกในชีวิตด้วยการเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ข้ามฟ้าไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านนิเวศวิทยาเขตร้อน ที่มหาวิทยาลัยเจมส์คุ๊ก ประเทศออสเตรเลีย ขณะทำวิจัยเรื่องนกกินแมลงในป่าฝนเขตร้อนก็หาเวลาไปเรียนดำน้ำและท่องโลกใต้ทะเลที่เกรทแบริเออรีฟไปด้วย พอกลับมาเมืองไทยสานต่องานอนุรักษ์กับองค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติหลายแห่งตั้งแต่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กองทุนสัตว์ป่าโลก (World Wide Fund for Nature) และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ปัจจุบันกลับไปทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศแคนาดา
เพชร มโนปวิตร ชายหนุ่มวัย 40 กลางๆ คือเจ้าของประวัติชีวิตนี้ ชีวิตที่เต็มไปด้วยการเดินทางท่ามกลางธรรมชาติและกิจกรรมการอนุรักษ์ ชีวิตที่ความสุขวนเวียนอยู่กับผืนป่าและท้องทะเล
“การทำงานอนุรักษ์เป็นเส้นทางที่เลือกตั้งแต่ตอนจบปริญญาตรี คงเป็นเพราะความสนใจและคิดเอาเองว่าน่าจะไม่มีงานอะไรที่สำคัญไปกว่านี้แล้ว นั่นคือการกอบกู้โลก (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่ายิ่งใหญ่นะ แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นงานที่มีความหมาย จะงานเล็กงานใหญ่เราเชื่อว่าอย่างน้อยมันก็ทำให้อะไรดีขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย ตั้งแต่จบปริญญาตรีก็ทำงานสายนี้มาตลอดพอทำไปนานๆ ก็รู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นวิถีชีวิตไปแล้ว เพราะเราสนใจและเหมือนมีแรงขับภายในว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องทำ” คือคำตอบของเขาเมื่อถูกถามถึงความหมายของงานอนุรักษ์ธรรมชาติต่อชีวิตของตนเอง
จุดเริ่มต้นในการทำงานอนุรักษ์ของเขาเริ่มต้นจากการดูนกระหว่างเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ไปออกค่ายของชมรมอนุรักษ์ฯ ในต่างจังหวัด มีโอกาสเห็นนกที่ไม่เคยเห็นผ่านกล้องส่องทางไกล “ยิ่งมีโอกาสได้เดินทางยิ่งเป็นการเปิดประตูสู่โลกธรรมชาติ เพราะพื้นที่อนุรักษ์แต่ละแห่งที่ไปเยือนพบนกไม่เหมือนกัน ทำให้เราเริ่มอ่านธรรมชาติออกและพบว่าแทบทุกที่มีปัญหาคุกคามเหมือนๆ กัน จากโครงการพัฒนาของรัฐ จากกิจกรรมล่าสัตว์ ตัดไม้ เลยเป็นการสนใจธรรมชาติที่คู่ไปกับการอนุรักษ์มาตลอด”
เมื่อเริ่มงานที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร นกจึงเป็นสัตว์ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการอย่างเขาหยิบมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับสังคมไทยเรื่องการอนุรักษ์ด้วยเหตุผลว่า “เราพูดถึงธรรมชาติหรือความหลากหลายทางชีวภาพมันเป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก แต่พอสื่อว่านกชนิดนั้นชนิดนี้ใกล้สูญพันธุ์แล้วนะ เพราะอะไร คนก็เข้าใจได้ทันที เราจึงหยิบข้อมูลมาสื่อสารกับคนได้ง่ายขึ้น”
ระยะเวลา 3 ปี ของการทำงานที่ต้องประสานกับสื่อมวลชนในการร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลทางธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เขาเห็นจุดอ่อนประการหนึ่งในการทำงานอนุรักษ์ของประเทศไทยคือการขาดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่จะอธิบายกับสังคมว่าเหตุใดการอนุรักษ์ธรรมชาติจึงสำคัญต่อมนุษย์ เหตุใดมนุษย์จึงควรต้องดำรงอยู่โดยไม่เบียดเบียนธรรมชาติจนเกินขอบข่ายของการพึ่งพิงกันตามธรรมชาติ ความต้องการเข้าใจธรรมชาติในเชิงวิทยาศาสตร์ที่สามารถอธิบายความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในภาพรวมได้จึงเป็นแรงขับอย่างหนึ่งในการศึกษาต่อระดับปริญญาโทว่าด้วยนิเวศวิทยาเขตร้อน “การเรียนปริญญาโทเป็นการเปิดโลกของเราเหมือนกัน ได้มีโอกาสเรียนตามหลักการมากขึ้น ทำให้เราเข้าใจทฤษฎีเกี่ยวกับชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ (Conservation Biology) ซึ่งเป็นศาสตร์ที่นำมาใช้ในงานอนุรักษ์ได้โดยตรง”
นอกจากเปิดโลกทางวิชาการของการอนุรักษ์แล้ว ชีวิตที่ออสเตรเลียยังพาเขาออกจากโลกของป่าเขาดำดิ่งลงสู่โลกใต้ท้องทะเล เพชรเริ่มเรียนดำน้ำที่นั่นและพบว่าการสำรวจธรรมชาติทางบกด้วยการเดินป่าต่างกับการสำรวจธรรมชาติทางทะเลมากนัก เพราะทางบกโอกาสที่จะพบสัตว์ตัวเป็นๆ ในป่าธรรมชาติค่อนข้างยาก มักได้ยินแต่เสียง หรือพบเพียงร่องรอยของสัตว์ป่า ไม่ว่าจะรอยเท้า ร่องรอยการหาอาหาร รวมถึงกองมูลที่บรรดาสัตว์ถ่ายทิ้งไว้ แต่โลกใต้ทะเลที่ออสเตรเลียเขามีโอกาสได้เห็นปลาขนาดใหญ่ เต่าทะเล และสัตว์แปลกๆ อย่างใกล้ชิด ราวกับมันรอต้อนรับ
การดำน้ำเป็นการเปิดโลกอีกด้านที่เราไม่เคยมีโอกาสสัมผัสมาก่อน เหมือนปลดปล่อยอิสรภาพให้เราได้ลงไปแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางฝูงปลาในแนวปะการัง มันเป็นความรู้สึกที่บรรยายได้ยาก เพราะมันสวยมากๆ ทั้งสีสันฉูดฉาดลวดลาย รูปทรงและความเคลื่อนไหวเกินจินตนาการ ไม่แปลกใจเลยที่คนเรียกแนวปะการังว่าเป็นป่าเขตร้อนแห่งท้องทะเล เพราะเป็นระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนและเต็มไปด้วยชีวิตจริงๆ เป็นการสัมผัสธรรมชาติตรงๆ ที่เรารู้สึกว่าส่งผลกระทบกับเรามาก เหมือนตอนได้มองนกแบบชัดๆ ผ่านกล้องส่องทางไกล เรารู้สึกว่าได้หลุดกลับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
โลกใต้ทะเลกลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแสวงหาความหมายของชีวิต เป็นพื้นที่สนามที่ให้นักวิจัยอย่างเขาต้องลงไปเก็บข้อมูลจริงๆ โดยมีการดำน้ำเป็นระเบียบวิธีวิจัยที่ไม่เพียงช่วยให้เขาได้สำรวจและเก็บข้อมูลปฐมภูมิด้วยตนเอง หากยังเป็นการเติมเต็มความสุขและพลังในการทำงาน
“การดำน้ำก็เป็นโอกาสที่เราได้ออกภาคสนาม เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขและเป็นเครื่องเตือนใจว่าเรากำลังพยายามจะทำอะไร เพราะงานอนุรักษ์ในความเป็นจริงส่วนใหญ่เราต้องทำงานกับคน กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อยู่ในห้องประชุมเสียมากกว่า บ่อยครั้งก็ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เราจัดการธรรมชาติไม่ได้ เราต้องจัดการคน จัดการการใช้ประโยชน์ ซึ่งพอทำไปๆ ก็ไม่แปลกที่จะเริ่มมองโลกในแง่ร้าย เพราะอยู่กับข่าวร้ายๆ ตลอดเวลา การได้ออกไปสำรวจภาคสนาม โดยเฉพาะการดำน้ำเหมือนการเติมพลังให้ตัวเอง และมันทำให้เราเห็นของจริง สภาพจริงๆ ไม่ใช่แค่การโต้แย้งไปมา การอนุรักษ์จะสำเร็จได้ต้องมีพื้นฐานอยู่กับข้อมูล ข้อเท็จจริง ซึ่งการลงพื้นที่จึงเป็นหัวใจสำคัญ”
การได้สัมผัสสิ่งมีชีวิตใต้น้ำอย่างใกล้ชิดยังทำให้เขาค้นพบถึงความจริงประการหนึ่งว่าโลกใต้ทะเลค่อยๆ เสื่อมโทรมลง สิ่งมีชีวิตต่างๆ กำลังตายลงด้วยฝีมือมนุษย์โดยที่มนุษย์เองยังไม่ตระหนักถึงความเชื่อมโยงตรงนี้
“ส่วนหนึ่งทะเลอาจมีความเป็นทรัพยากรที่เปิดมากกว่า ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ให้ความรู้สึกว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ อย่างป่ามักจะมีขอบเขตชัดเจนคนก็รู้ว่าตรงนี้เป็นพื้นที่คุ้มครอง หรือเขตอนุรักษ์ แต่ทะเลคนจะคิดว่าไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้นปัญหาของการไม่มีเจ้าของคือใครจะเอาก็ได้ ใครจะทำอะไรก็ได้ มือใครยาวสาวได้สาวเอา เราถึงเห็นปัญหาการทำประมงเกินขนาด การทิ้งน้ำเสียลงทะเล ถ้ามีคนร้องเรียนก็จับ แต่ทะเลไม่มีเจ้าภาพไม่มีใครเห็น ถ้ามันไม่สะท้อนออกมาจริงๆ ก็จะเป็นสิ่งที่ยากกว่าทางบก อีกเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับทะเลก็ยิ่งน้อยลงไปอีก อย่างป่าเรารู้ว่าถ้ามีเสือโคร่งคือป่าที่สมบูรณ์ แต่ในส่วนของทะเลยังมีการใช้ประโยชน์กันอย่างไม่บันยะบันยัง คุณไปตลาดตอนนี้ยังเห็นฉลามถูกจับมาขายได้อย่างเปิดเผย มีภัตตาคารหูฉลามในห้างหรูกลางกรุงเทพฯ ปลากระเบนขนาดใหญ่ถูกนำมาปรุงอาหารในรายการทีวีให้คนดูทั้งประเทศ ทั้งๆ ที่ปลาฉลามและปลากระเบนมีบทบาทสำคัญและถูกคุกคามไม่ต่างกับเสือโคร่ง ทะเลที่สมบูรณ์จำเป็นต้องมีสัตว์ผู้ล่าเพื่อรักษาสมดุลใต้ทะเล ยิ่งทำให้เห็นว่าการอนุรักษ์ทะเลยังล้าหลังการอนุรักษ์ทางบกอยู่มาก”
การอนุรักษ์โลกในท้องทะเลที่ไกลหูไกลตาคนจึงเป็นความท้าทายใหม่ในชีวิตนักอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างเขา เพชรเดินหน้างานอนุรักษ์ด้วยการปิดจุดอ่อนของงานอนุรักษ์ในประเทศไทยที่เขาเห็นระหว่างทำงานก่อนเดินทางไปเรียนต่อ เขาพยายามส่งต่อข้อมูลที่ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของกิจกรรมของมนุษย์กับการทำลายธรรมชาติใต้ทะเลออกสู่สังคม โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้สังคมมองเห็นความสำคัญของระบบนิเวศทางทะเลโดยไม่ต้องรอให้ผลของการทำลายปรากฏชัดเพราะนั่นหมายถึงปัญหาลุกลามจนเกินเยียวยา ตัวอย่างหนึ่งคือการรณรงค์ให้ห้างค้าปลีกหยุดนำปลานกแก้วซึ่งเป็นปลากินพืชที่มีความสำคัญในการฟื้นตัวของระบบนิเวศปะการังมาจำหน่ายเพื่อการบริโภค
“เรารณรงค์เรื่องปลานกแก้วโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ตลอด เราอธิบายถึงความสามารถของปะการังที่จะทนทานกับปรากฏการณ์ฟอกขาวหรือการฟื้นตัวกลับมาเองได้ ซึ่งปลานกแก้วมีบทบาทสำคัญมาก เราสื่อสารด้วยข้อมูลจากงานวิจัยตลอด ถ้าปล่อยให้มีการจับปลานกแก้วออกมามากๆ จนเสียสมดุล ปะการังย่อมได้รับผลกระทบ ถ้าปะการังหมดไปไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ แต่หมายถึงแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำสำหรับชาวประมง สุดท้ายผลกระทบนั้นส่งต่อมาถึงมนุษย์ทั่วไปที่เป็นผู้บริโภคสัตว์น้ำนั้นเอง”
การรณรงค์ครั้งนั้นประสบความสำเร็จมาก มีคนร่วมลงชื่อกว่า 2 หมื่นคน ห้างใหญ่ๆ ประกาศหยุดขายปลานกแก้วภายในเวลาเดือนเศษๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากฉันทามติของสังคมโดยไม่ต้องเสียเวลาแก้กฎหมาย “เรื่องปลานกแก้วทำให้มีความหวังว่าถ้าคุณสามารถสื่อสารได้ดี คนส่วนใหญ่จะเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์และพร้อมที่จะเป็นแนวร่วมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ มันก็ทำให้เรามีความหวังอยู่”
วันนี้เพชรยังคงเป็นชายหนุ่มที่ให้ความสำคัญกับการแสวงหาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และการสื่อสารกับสังคม เขานิยามตนเองในปัจจุบันว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ แต่ถามถึงความฝันเขาบอกว่าวันหนึ่งอยากเป็นนักเขียนแนว fiction และมีความปราถนาจะเป็นชาวสวนเต็มตัวในบั้นปลายของชีวิต หากเข้าไปที่หน้าเฟซบุ๊กของเขาจึงพบกับคำแนะนำตัวสั้นๆ ว่า Conservation scientist, wishful writer and hopeful gardener “ที่ผ่านมาเราพยายามประคับประคองความฝัน และผสมผสานความอยากด้านต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งการเดินทาง การอ่าน การเขียน และการทำงานอนุรักษ์ ก็หวังว่า แก่ๆ จะได้อยู่อย่างสงบ ได้ผลิตอาหารกินเอง อนุรักษ์ผืนดินของตัวเอง พร้อมๆ กับทำอย่างอื่นไปด้วย” เขาตอบด้วยน้ำเสียงกลั้วรอยยิ้มเมื่อถูกถามว่าทำไมอยากเป็นหลายอย่าง
เราอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของประวัติศาสตร์โลก ถ้าติดตามข่าวก็จะทราบว่าวิกฤติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะแก้ได้ทันหรือไม่ทันก็อยู่ที่คนรุ่นเรานี่ล่ะ หลายคนฟังข่าวมากๆ ก็จะรู้สึกท้อแท้ หมดหวัง เพราะปัญหามันช่างใหญ่โตเหลือเกิน อยากให้กลับมาตั้งหลักที่ตัวเอง และมองไปรอบๆ ธรรมชาติยังมีอยู่รอบตัวเราเสมอ แม้แต่กลางกรุงเทพฯ เรายังพบนกอพยพหายากได้ในสวนสาธารณะหลายแห่ง
“ผมเชื่อว่าการแก้ปัญหาหลายๆอย่างในปัจจุบันทั้งปัญหาส่วนตัวและปัญหาสังคม อยู่ที่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ ลองเริ่มที่ตัวเราเอง ให้โอกาสตัวเราออกไปสัมผัสและเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว สีเขียวๆ ของต้นไม้ สีฟ้าครามของน้ำทะเล แล้วทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมโลกนานาชนิด ธรรมชาติคือแหล่งเติมเต็มแรงบันดาลใจไม่รู้จบ สำหรับผมมันทำให้รู้สึกว่าชีวิตเป็นสิ่งมหัศจรรย์และโลกนี้ช่างวิเศษ วิเศษเกินกว่าจะยอมปล่อยให้ถูกทำลาย”
ติดตามข่าวคราวสิ่งแวดล้อมและงานเขียนของเพชรได้ที่ https://www.facebook.com/Re4Reef/ https://www.facebook.com/sunshine.sketcher/