8 ช่องทางความสุข

ส่งความรักผ่านการออกกำลังกายจากแม่สู่ลูกภาวะออทิสติก

ณ สนามกีฬาโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านจังหวัดนนทบุรี ชายหนุ่มร่างท้วมวัยสามสิบปีกำลังฝึกซ้อมวิ่งด้วยแววตามุ่งมั่น รอยยิ้มเหมือนเด็กน้อยไร้เดียงสาส่งให้หญิงวัยหกสิบปีที่ยืนอยู่ข้างสนามด้วยความรัก หลังฝึกจบ ชายหนุ่มเดินมากอดและหอมหญิงสูงวัยผู้ทุ่มเทชีวิตทุกลมหายใจเพื่อทำให้ลูกชายที่มีภาวะออทิสติกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

 วรรณวิชญ์ เหล่าตระกูลงาม หรือ ปาล์ม เป็นลูกชายคนโตของทรรศน์วรรธ์น เหล่าตระกูลงาม หรือแม่อู๊ด แม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสองผู้ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อทุ่มเทเวลาดูแลลูกตั้งแต่ลูกอายุได้ 8 ปี  แม่อู๊ดเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของลูกตั้งแต่อายุ  4 ขวบ เพราะลูกไม่พูดและไม่สบตาใคร สนใจบางเรื่องเป็นพิเศษ หลังจากพาลูกไปตรวจกับแพทย์จึงพบว่าลูกชายเป็นภาวะออทิสติก ด้วยสมัยนั้นความรู้เกี่ยวกับภาวะออทิสติกยังไม่แพร่หลาย แม่อู๊ดจึงต้องแสวงหาวิธีบำบัดลูกด้วยตนเองแบบ “บ้านๆ”  ด้วยการหาของใช้ในบ้านมาช่วยฝึกพัฒนาการให้ลูก อาทิ การฝึกให้สบตาคนด้วยการหากล่องทีวีขนาดใหญ่ หันฝาด้านบนลงมาตั้งกับพื้น แล้วให้ลูกเข้าไปนั่งอยู่ในนั้นเพื่อสบตามองแม่ระหว่างพูด ไม่วอกแวกไปไหน เป็นต้น

ความอดทนผสมกับความรักของแม่ทุกลมหายใจได้กลายเป็นวิตามินบำรุงสมองชั้นเลิศที่ทำให้ลูกชายมีพัฒนาการดีเยี่ยมจนสามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ดีขึ้นเรื่อยๆ   แม้ว่าแต่ละเรื่องจะต้องใช้เวลาฝึกฝนนานกว่าเด็กคนอื่นหลายสิบเท่า แต่ในวันที่ลูกสามารถผ่านบทเรียนต่างๆ ไปได้ หัวใจของแม่ก็รู้สึกพองโตทุกครั้งเช่นกัน

การออกกำลังกายทำให้ช่วยลดอารมณ์ก้าวร้าวและยังทำให้แม่อู๊ดมีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้นตามไปด้วยเพราะต้องคอยวิ่งเป็นเพื่อนลูก ภาพนี้น้องปาล์มหอมแม่อู๊ดหลังจากฝึกซ้อมวิ่งเสร็จ

กว่าน้องปาล์มจะพูดเป็นประโยคก็ต้องรอจนอายุ 10 ขวบ กว่าน้องจะผูกเชือกรองเท้าได้เองก็ใช้เวลาฝึกอยู่สามปี  ทุกๆ เรื่องเราต้องใช้ความอดทนและรอคอย สิ่งที่ฝึกเขาช่วยสอนความอดทนแก่เรา  เราทำทุกอย่างด้วยความรักและเต็มใจ แม่ไม่เคยด่าลูกเพราะมองว่า คำพูดของแม่คือคำอวยพรสู่ความสำเร็จให้ลูกเสมอ

แม่อู๊ดเริ่มพาลูกชายเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลยุวประสาทอยู่ช่วงหนึ่ง  และพาไปเข้าเรียนห้องเรียนพิเศษในโรงเรียนคู่ขนาน ซึ่งเปิดโอกาสให้เด็กพิเศษและเด็กทั่วไปได้เรียนร่วมกันบางกิจกรรม แม่อู๊ดติดตามลูกชายคนโตไปทุกแห่งเพื่อให้ลูกได้มีพัฒนาการดีขึ้นทุกด้าน ทั้งการฝึกอ่านเขียน ควบคู่ไปการฝึกกิจกรรมบำบัด โดยแม่อู๊ดจะจดจำวิธีการฝึกจากผู้มีความเชี่ยวชาญมาทำการฝึกด้วยตนเองต่อเมื่อกลับมาบ้าน อาทิ การฝึกพูด แม่อู๊ดจะใช้การสัมผัส นวดลิ้น ห่อลิ้นทุกเช้า จนกระทั่งลูก สามารถพูดสื่อสารได้เป็นประโยคดีขึ้นเรื่อยๆ

“ตลอดเวลาที่น้องไปโรงเรียน  แม่จะอยู่ในห้องเรียนด้วยตลอด เพราะอยากให้น้องอ่านออกเขียนได้ แม่จับมือเขาตลอด ตัวเราเองสูญเสียครอบครัวแล้ว เหลือแต่ลูกสองคน เราคิดว่าเราจะไม่สูญเสียแล้ว เราต้องได้กลับมา ก็เลยอยู่กับเขาตลอด เวลาฝึกที่ไหน ไม่เคยทิ้งเขา  ไม่อยากให้เป็นภาระสังคม แม่มองว่าเขาดูแลตัวเองดี เขาต้องดีขึ้นได้”

หนึ่งในกิจกรรมที่แม่อู๊ดค้นพบว่าส่งผลดีต่อพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจของลูกชายมากคือ การออกกำลังกาย เพราะเด็กกลุ่มนี้จะมีพลังเยอะ และไม่สามารถควบคุมตนเองได้เมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน ตัวแม่อู๊ดเองก็เคยเจอลูกชายทำร้ายร่างกายในร้านหนังสือโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะขัดใจที่ไม่ซื้อหนังสือแนวที่ชอบให้อ่าน

น้องเขามีพลังเยอะ แม้ว่าการกินยาจะช่วยให้น้องดีขึ้น แต่แม่ไม่ให้น้องกินยาไปตลอด เลยขอหมอให้ลดยาและฝึกพัฒนาการลูกเองอย่างต่อเนื่อง  เลยคิดว่า เราไปวิ่งในสนามเด็กเล่นกันไหมวิ่งทุกวัน เมื่อก่อนจะวิ่งตอนเช้ากับเย็น ตื่นมาวิ่งก่อนไปโรงเรียน เหมือนช่วยลดพลังในตัว ให้เขานอนหลับ สองทุ่มน้องก็หลับแล้ว เพราะเขาสูญเสียพลังทุกวัน แม่มีความเชื่อว่า  ถ้าลูกใช้พลังงานไปเยอะๆ แล้วเขาจะนอนง่าย เหมือนให้เขาไม่ต้องคิดอะไรแล้วให้เขาพักผ่อน

“การออกกำลังกายช่วยลดอารมณ์ก้าวร้าวได้เยอะ เพราะเมื่อก่อนเขาอาละวาด เขาไม่พูดด้วย เวลาเขาจะเอาอะไร  เช่นเหมือนเขาจะเอาน้ำ เราไม่รู้ว่าเขาจะเอาน้ำ เขาจะอาละวาด จะโยนของ แต่พอออกกำลังกายปัญหาเรื่องอารมณ์ก็หายไป”

ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์หลายด้านของการออกกำลังกาย แม่อู๊ดจึงจัดตารางเวลาออกกำลังกายให้จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ขาดไม่ได้

“เช้ามาแม่จะให้เขายกน้ำหนักประมาณครึ่งชั่วโมง ทานข้าวเสร็จตอนเย็น ประมาณ 5 โมงครึ่ง ก็จะให้เขาออกกำลังกายก่อนนอนเบาๆ บางทีไม่อยากออกไปข้างนอก แม่ก็ให้เขาวิ่งในบ้าน แต่ทุกวันเขาต้องได้ทำ  บางทีเขางอแง แต่เราจะมีเงื่อนไขว่า ถ้าไม่ออกกำลังกายต้องกินน้อยๆ เขาก็ยอม  อย่างเช่น เขาทานเยอะ แล้วเขาต้องออกกำลังกายทั้งเช้าและเย็น ซึ่งเราไม่ต้องสั่ง เขาจะทำของเขาเอง บางทีแม่ยังไม่พร้อมที่จะออกไปกับเขา เขาก็เตรียมถุงเท้ารองเท้าของเขา  เพราะเหมือนเขาก็รู้ตัวว่าร่างกายเขาไม่ไหว”

ผลจากการออกกำลังอย่างต่อเนื่องทำให้ปาล์มได้กลายเป็นนักวิ่งลงสนามแข่งมาแล้วหลายครั้ง  ทั้งงานการกุศลและงานแข่งขันกับนักวิ่งทั่วไป แม้ไม่ได้ถ้วยรางวัลใด ๆ แต่รางวัลแห่งความสุขในใจของแม่คนนี้มากมายยิ่งนัก ตั้งแต่ลูกเล็กจนโต แม่อู๊ดพยายามปลูกฝังให้สองพี่น้องรักและไม่ทิ้งกัน เพราะในวันข้างหน้า เมื่อแม่จากโลกนี้ไปแล้ว เขาก็จะยังมีพี่น้องที่รักและดูแลกันต่อไป

แม่มองว่า การที่มีลูกเป็นออทิสติก 1 คน แล้วปกติ 1 คน จะสอนให้เด็กสองคนรักกันมันยาก แต่แม่ตั้งเป้าว่าแม่ต้องทำให้ได้เพราะเมื่อวันหนึ่งแม่ไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว น้องสาวต้องยินดีที่จะเลี้ยงดูพี่ชายไป ตลอดชีวิต แม่เลยฝึกให้เขาแบ่งปันกันตั้งแต่เด็กๆ คนพี่เขาไม่เคยกินกับข้าวหมดจาน เขาจะแบ่งไว้ให้น้องเสมอ นี่คือสิ่งที่เราภูมิใจที่ทำให้พี่น้องรักกัน และทำให้เราท้อไม่ได้ ก่อนถึงวันที่เราไม่อยู่แล้ว เราต้องทำให้ดีที่สุด  เพราะแม่มองว่าตัวเองมีลูกแบบนี้ นี่คือจุดเปลี่ยนของชีวิต สามีรับไม่ได้ ฉะนั้นแม่ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แม่ไม่อยากให้ลูกสาวที่มีครอบครัวแล้วมาเกิดจุดเปลี่ยนตรงนี้ ฉะนั้นเราต้องทำวันนี้ให้ดี

น้องปาล์มลงแข่งวิ่งมาแล้วหลายครั้ง (ขอบคุณภาพจากแม่อุ๊ด)

ในความโชคร้ายอาจมีความโชคดีซ่อนอยู่เสมอ เพียงแค่คุณพยายามมองหาแสงสว่างเล็กๆ ให้เจอ เหมือนเช่นแม่อู๊ดผู้ทุ่มเทความรักอันยิ่งใหญ่ให้กับลูกทั้งสองท่านนี

แม่คิดว่าแม่โชคดีนะมันเป็นพลังพิเศษ ถ้าเขาไม่เป็นออทิสติก แม่คงไม่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ แม่อาจจะทำแต่งานไม่สนใจลูก  แม่ยังคิดไม่ได้ด้วยช้ำในวัยแค่นั้น อาจจะเที่ยวกับเพื่อน อาจไม่สนใจครอบครัว พอเขาเป็นเด็กพิเศษ เหมือนว่าชีวิตทุ่มเทให้กับครอบครัวเต็มร้อย แม่ว่ามันคือความโชคดีเหมือนกัน และมันเป็นพลังพิเศษอย่างหนึ่งว่า เราไม่เจ็บไม่ป่วย แม่เคยบอกคนอื่นว่าเขาจะถามว่าลูกให้อะไร เราบอกว่าลูกให้พลังพิเศษกับเราเสมอ   

ทุกวันนี้ แม่อู๊ดพาลูกชายไปทำกิจกรรมจิตอาสาที่หน่วยงานแห่งหนึ่งเป็นประจำ พอถึงช่วงเย็น น้องปาล์มก็จะเปลี่ยนเสื้อผ้าลงไปวิ่งออกกำลังกายด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีใครบอก เพราะการออกกำลังกายได้กลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่เขาทำจนเคยชินและทำให้เขามีสุขภาพแข็งแรงทั้งกายและใจ ทุกครั้งที่แม่อู๊ดเห็นลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้น และเห็นสองพี่น้องรักและดูแลกัน แม่อู๊ดจึงรู้สึกเหมือนได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่าแก้วแหวนเงินทองใดๆ  และคุ้มค่ากับการทุ่มเทเวลาให้กับการดูแลลูกทุกลมหายใจ 

 

น้องปาล์มกับเหรียญรางวัลอันน่าภาคภูมิใจที่ได้จากการหมั่นฝึกซ้อมวิ่งทุกวัน (เครดิตภาพ : แม่อู๊ด)

การเคลื่อนไหวร่างกาย

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save