เยียวยาผู้ต้องขังหญิงด้วยการสื่อสารอย่างสันติ
“เวลาที่เราไปทำงานในคุก เราเห็นถึงความกรุณาของเขา ถึงแม้สังคมจะตัดสินเขาแบบโน้นแบบนี้ก็ตาม จากประสบการณ์ตรงของเรา เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีจิตวิญญาณที่มีทั้งความเมตตากรุณา ความกระจ่าง ความเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งต่างๆ แต่อะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราไปกลบสิ่งต่างๆเหล่านี้ แล้วการที่เราเข้าไปทำงานกับผู้ต้องขังก็เพื่อไปเอาสิ่งพวกนี้ออกเพื่อให้เขาเห็นจิตวิญญาณที่มันมีความเต็มอยู่ในตัวของเขาอยู่แล้ว”
กัญญา ลิขนสุทธิ์ หรือ คุณหลิ่ง หญิงวัยกลางคนผู้พลิกผันชีวิตจากอดีตมนุษย์เงินเดือนทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวันที่ Silicon Valley สู่นักสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ หรือ Nonviolent Communication (NVC) บอกเล่าเรื่องราวของงานที่เธอทำมาตลอดเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมาหลังจากป่วยเป็นโรคมะเร็ง ขณะที่ผู้ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่หวาดกลัวความตายที่รออยู่ตรงหน้าแต่เธอกลับมองมุมกลับ เธอเรียนรู้จากความทุกข์และการก้าวเดินบนเส้นทางสายใหม่ที่มีความหมายและสอดคล้องกับสิ่งที่เธอให้คุณค่า
“วันที่ถูกเข็นเข้าห้องผ่าตัด เราบอกกับตัวเองว่าดีจังฉันได้พักแล้ว เพราะเราใช้ชีวิตเหมือนหนูถีบจักร หลังจากป่วยเป็นมะเร็งที่มดลูก เรากลับเข้าไปทำงาน อยู่หน้าคอมฯ ไม่ได้เลย เหมือนที่ทำอยู่ไม่ใช่ตัวเราอีกต่อไป แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไรตอนนั้นยังอยู่อเมริกา เลยหยุดทำงานพักหนึ่งแล้วกลับไปเรียนต่อ เลือกคอร์สที่อยากเรียนเท่านั้น และสุดท้ายเราก็ไปเจอเรื่องการสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์หรือ NVC ซึ่งศาสตร์นี้โดนใจเรามาก มีครั้งหนึ่งเราเอาเข้าไปใช้ในคุกสำหรับผู้ต้องขังชายที่ทำผิดร้ายแรง และได้พูดคุยกับนักโทษคนหนึ่ง เขาขอให้เอาเรื่องของเขาไปเล่าต่อที่เมืองไทย เพราะเขาอยากให้คนอื่นได้รู้ว่า อะไรทำให้เขาต้องติดคุก แล้วอยากให้เราแชร์เรื่องของเขาให้เป็นอุทาหรณ์ว่ามีวิธีการอื่นในการจัดการเรื่องของเขา โดยไม่ต้องมาติดคุกแบบนี้”
หลังกลับมาเมืองไทย คุณหลิ่งมีโอกาสได้ร่วมทำงานกับกลุ่มผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำทางภาคเหนือในโครงการใจสู่ใจ
“สิ่งที่เราเข้าไปทำในคุกอย่างแรกสุดเลย ตัวเราต้องเปิดเผยตัวตนของเราให้ผู้ต้องขังได้เห็นตัวจริงๆของเรา โดยการใช้เรื่องราวของเราในการฝึกให้เขาฟัง เพื่อฝึกการให้ความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น พอเขาฟังเรื่องของพวกเราที่เข้าไปทำกิจกรรม หลายคนก็บอกว่า เรื่องของเราก็คล้ายๆ กับพวกเขา พอเราเปิดใจให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้ต่างจากพวกเขา เวลาทำกิจกรรมเขาจะวางใจเรา เปิดใจเอาตัวจริงๆ ของเขาลงทำกิจกรรม แบ่งปันสิ่งที่เขากังวล ปัญหาที่เขาเผชิญทั้งในและนอกคุก เราพบว่าผู้ต้องขังส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองไร้ค่า ตัดสินวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรง เราจะทำงานกับพวกเขาเพื่อให้เขากลับมาดูว่าแล้วอะไรที่มันสำคัญกับตัวเขา หลายคนบอกว่าอยากจะมีความสงบในใจ เพราะในคุก ภายนอกมันสงบไม่ได้ แต่ทำยังไงเพื่อให้ข้างในของเขามีความสงบ”
เป้าหมายของการทำกิจกรรมคือการสร้างความสงบจากข้างในและให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ภายในคุกอย่างมีความสงบภายใน และรู้เท่าทันตัวเอง เมื่อพ้นโทษออกไปสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการที่มีทรัพยากรภายในที่มากขึ้น โดยกระบวนการทำกิจกรรม 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งเริ่มต้นจากการสอนเรื่องการสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ (NVC) เพื่อช่วยให้เขาเข้าใจตัวเองและผู้อื่น ครั้งที่สอง สอนเรื่องการตั้งคำถาม เพื่อให้คนที่มาปรึกษาสามารถหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง (ทักษะโค้ชชิ่ง) และครั้งสุดท้ายเราให้ผู้ต้องขังฝึกให้ความเข้าใจและโค้ชผู้ต้องขังคนอื่น
คุณหลิ่งกล่าวถึงผลที่เกิดขึ้นหลังจากจบกระบวนการว่า
มีผู้ต้องขังหลายคนเขียนมาว่า ‘หนูรู้สึกมีคุณค่ามากๆ ที่ได้ช่วยเหลือคนอื่น’ นี่คือสิ่งที่เราอยากให้เขามี ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน เขาจะรู้ว่าตัวเขามีคุณค่า ไม่ว่าเขาจะอยู่ในคุกหรือนอกคุก ถ้าเขามีความสงบภายในใจและมีความเคารพตัวเอง เขาจะสามารถการรับมือกับปัญหาต่างๆ และอยู่อย่างเห็นคุณค่าของตัวเอง
แม้ว่าสังคมภายนอกจะมองคนในคุกเป็นคนไม่ดี แต่สำหรับคุณหลิ่ง เธอมองว่า แม้พฤติกรรมของพวกเขาทำความเสียหายให้กับคนรอบข้างและสังคม แต่มันมีอะไรบางอย่างที่สำคัญซ่อนอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านี้ ซึ่งถ้าเราหาเจอ เราจะพบความเป็นมนุษย์ของเขา ความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมี ไม่ว่าคนๆนั้นจะอยู่ในคุกหรือนอกคุก จุดนี่เองที่เป็นจุดที่เราสามารถเชื่อมโยงกับผู้ต้องขังได้อย่างลึกซึ้ง ทะลุผ่านการตัดสินว่าเขาดีหรือไม่ดี
เราเคยทำกิจกรรมอันหนึ่งในคุกหญิงที่ถามว่า แต่ละคนอยากได้ยินคำชมจากใคร แล้วให้เขาเขียนออกมา หลังจากนั้นก็ให้หาคนที่อยู่ในห้องนั้นเป็นตัวแทนของคนที่เขาอยากได้คำชม ผู้หญิงคนหนึ่งอยากให้พ่อที่เสียไปแล้วรับรู้ว่าเขาช่วยเหลือน้องๆให้เรียนหนังสือด้วยเงินที่เขาขายยาเสพย์ติด จนตอนนี้น้องๆ เรียนจบครบทุกคนแล้ว ถึงแม้ว่าตัวเขาจะต้องติดคุกก็ตาม เพราะฉะนั้นสำหรับเราแล้วคำว่าให้เขากลับมาเป็นคนดีมันตื้นไป มันเป็นการแก้ปัญหาที่ยังไปไม่ถึงต้นตอของปัญหา การที่พวกเขาติดคุก มีเหตุปัจจัยหลายอย่าง นอกจากเพราะพฤติกรรมของเขาเองแล้ว มีทั้งปัญหาทางด้านโครงสร้างของสังคม ความสะดวกไม่สะดวกของการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ในสังคมอีกด้วย
สิ่งที่เป็นความสุขของคนในคุกก็คือการได้ติดต่อสื่อสารกับคนในครอบครัวผ่านจดหมาย ซึ่งในบางครั้งสิทธิบางอย่างอาจถูกริดลอนไปเพราะกฎระเบียบที่เข้มงวดจนทำให้ผู้ต้องขังเกิดความทุกข์ทรมานใจ อาทิ การค้นล็อคเกอร์ส่วนตัวเพื่อหาสิ่งผิดกฎหมาย และการทำลายจดหมายจากคนรักหรือญาติพี่น้องที่ผู้ต้องขังเก็บไว้ในล็อคเกอร์ เพื่ออ่านเป็นกำลังใจให้มีความหวังที่จะกลับออกไปพบเจอกันที่หลังกำแพงสูงในสักวันหนึ่ง ทว่า แม้ผู้ต้องขังจะคุกเข่าลงอ้อนวอนไม่ให้เจ้าหน้าที่ทำลายจดหมายฉบับนั้น แต่ก็ไม่เป็นผล ความทุกข์ทางใจเหล่านี้ได้กัดกร่อนความหวังของคนในคุกให้แหว่งวิ่นลงที่ละน้อย กระบวนการทำงานสื่อสารเพื่อสานสัมพันธ์ภายในคุกจึงเป็นเสมือนหยดน้ำเล็กๆ ที่มาช่วยทำให้หัวใจอันเหี่ยวเฉาสดชื่นขึ้นอีกครั้ง
ก่อนจะจากกันเราได้ถามคุณหลิ่งถึงวิธีที่เธอเอาตัวออกจากความหมดหวัง ความวิกฤต ว่าเธอทำอย่างไร “ตอนที่ป่วยเราไม่ได้รู้สึกชีวิตหมดหวัง เพราะมะเร็งสำหรับเราไม่ใช่ช่วงวิกฤติ แต่หลังจากแม่เสีย คือช่วงวิกฤต จิตตก ช่วงของการไว้อาลัย โลกไม่สดใส ถ้าถามว่าพี่ทำยังไง พี่ฟังเสียงลึกๆข้างในของตัวเอง มันบอกอะไรบางอย่างที่สำคัญ อยากให้วางใจกับเสียงข้างในของตัวเองที่มันอยู่ลึกๆ ที่บางทีเราไม่ได้ให้เวลากับมัน เราจึงอาจไม่ได้ยิน แต่ถ้าเรานิ่งและเปิดใจรับฟัง เสียงลึกๆนี้ช่วยเราอยู่เสมอ”