8 ช่องทางความสุข

โกเอนก้าเด็ก คอร์สบ่มเพาะธรรมะเมล็ดพันธุ์รุ่นจิ๋ว

ธรรมะ คือ ความสงบนิ่ง…จะเกิดอะไรขึ้นถ้าพาเด็กที่ชอบวิ่งซุกซน ติดเกมออนไลน์ อยากพูดอะไรก็พูดมาเข้าคอร์สธรรมะ หลับตานั่งสมาธิ ปิดวาจา ปิดโทรศัพท์มือถือในชั่วเวลาหนึ่งวัน

ณ สวนโมกข์กรุงเทพฯ สถานที่พักใจกลางกรุงติดกับสวนสาธารณะจตุจักร เด็กหญิงเด็กชายวัยแปดปีขึ้นไปจนถึงมัธยมต้นกำลังนั่งหลับตาเฝ้ามองลมหายใจเข้าออกของตนเอง ไม่มีเสียงเจี้ยวจ้าวตามประสาเด็กเล็ดลอดออกมาให้ได้ยิน อาจมีเสียงขยับตัวไปมาตามประสาเด็กอยู่นิ่งไม่เป็น และเกิดอาการเหน็บชาจากท่าขัดสมาธิที่ไม่คุ้นชิน เพราะกำลังอยู่ในคอร์สปฏิบัติธรรม “โกเอนก้าเด็ก”

“คิดถึงเราตอนเป็นเด็กถ้าได้สมาธิสักเล็กน้อย สามารถควบคุมจิตใจตนเองได้ ก็จะไม่เถลไถล ไม่เกเร เด็กมันเกเรอยู่แล้วแต่ก็ไม่นอกลู่นอกทาง ยังสามารถเป็นเด็กที่พัฒนาได้”

วิบูลย์ ปราชญ์เรืองไกร หรือ คุณอุ้ย ผู้จัดกิจกรรม “โกเอนก้าเด็ก” เล่าถึงเหตุผลที่จัดกิจกรรมนี้มานานหลายปี หลังจากตนเองสนใจปฏิบัติธรรมตามแนวทางท่านโกเอนก้ามาตั้งแต่ปี2552และนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องจนมองเห็นถึงความสำคัญของการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ธรรมะในหัวใจเด็ก โดยจะรับสมัครเด็กตั้งแต่อายุ 8-17 ปีเดือนละ 1 ครั้ง ยกเว้นในช่วงปิดเทอมจะจัดประมาณ 6-8 ครั้ง เป็นคอร์สหนึ่งวัน ระหว่าง 9.00 น.-15.00น. แบ่งการนั่งสมาธิออกเป็น 7 รอบ รอบละครึ่งชั่วโมง โดยเน้นการเฝ้าสังเกตลมหายใจเข้าออกบริเวณปลายจมูก หรือ อาณาปานสติ สลับกับการทำกิจกรรมธรรมะอื่นๆ ที่เหมาะสมกับวัยเด็ก อาทิ การเล่านิทานธรรม หรือการฝึกสติด้วยกิจกรรมง่ายๆ เป็นต้น

ด้วยความเป็นเด็กและความแตกต่างของแต่ละครอบครัว การพาเด็กมานั่งนิ่งๆ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักโดยเฉพาะถ้าเด็กคนไหนถูกบังคับมาร่วมกิจกรรมก็จะออกอาการป่วนหรือแสดงความเบื่อหน่ายออกมาอย่างชัดเจน ธรรมบริกรจึงต้องมีกระบวนการดูแลความรู้สึกของเด็กให้สามารถทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในคอร์สจนกว่าจะหมดเวลา

“เริ่มต้นเราต้องทำความเข้าใจกับเขาว่าวันนี้มาเพื่ออะไร เขาก็จะบอกเราว่าโดนบังคับให้มาไหมซึ่งในใบสมัครของเราจะให้เด็กเซ็นยินยอมเข้าร่วมกิจกรรมด้วยตนเอง แต่เด็กบางคนอาจยังไม่เต็มใจนัก เราก็จะสังเกต พูดคุย  คอยให้กำลังใจ วิธีการจัดการกับเขา เราก็ต้องเข้าใจพื้นฐานของเด็กแต่ละคนว่า ไม่เหมือนกัน เราก็จะถามผู้ปกครองก่อนว่าเขาเป็นยังไง โดยพื้นฐานเด็กที่ซน ถ้าเพื่อนๆ ข้างๆ เขาไม่เล่นด้วย เขาก็ซนกับใครไม่ได้ ก็จะอยู่กับตัวเองอยู่ดี เขาก็จะเริ่มทำได้ บางทีเราก็ต้องสร้างบรรยากาศให้เกื้อหนุนในการปฏิบัติ คือต้องมีความเงียบ และเด็กรอบข้างก็ไม่ซน คือถ้าซนหนึ่งคน ซนสองคน ก็เรียบร้อยครับ เป็นโดมิโน”

เมื่อเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ปรับวิธีการสื่อสารให้ง่าย คอร์สธรรมะจึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเด็กอีกต่อไป

 “เวลาครูสอนให้หลับตา นั่งตัวตรง แล้วดูลมหายใจ ถ้าลองถามเขาว่ารู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้ไหม ถ้าเด็กตอบว่าไม่ได้ ครูก็จะฝึกให้หายใจแรงขึ้น ก็จะเข้าใจง่ายขึ้น ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่ทำได้ เราก็ไม่ได้หวังว่าเขาต้องนั่งได้ยาวนาน ผู้ใหญ่ยังทำไม่ได้เลย  ถ้าเด็กนั่งสมาธิห้านาทีต่อหน้าคุณครูนี่เก่งแล้ว พอเขากลับไปนั่งที่นั่งเขาก็ทำได้ หรือบางทีก็แอบมองเพื่อนว่าทำได้รึเปล่าเนี่ย”

สิ่งที่พิสูจน์ว่าเด็กกับธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือยากเกินไป คือ เด็กหลายคนจึงหวนกลับมาทำกิจกรรมซ้ำอีกหลายครั้ง

สติสำคัญมากในองค์รวมของธรรมะ เมื่อเราโตขึ้นได้ฝึกธรรมะ สติจะเป็นตัวที่ทำให้ธรรมะข้ออื่นเจริญขึ้น สติจะทำให้เกิดปัญญา นำสู่การแก้ปัญหาในชีวิต ทั้งทางโลก ทางธรรม พอเรามีสติระลึกรู้แล้ว เราก็จะรู้ว่าไปต่อยังไง ยิ่งมีปัญญามาช่วยเสริมแล้วเราก็จะทำในสิ่งที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น หรือทำสิ่งที่ผิดน้อยลง เหตุการณ์มันก็จะดีขึ้นทั้งตัวเด็กและสังคม แม้กระทั่งการที่กลับไปรักษาศีลให้ดีขึ้นก็เพราะมีสติกำกับตั้งแต่แรก

เมื่อสติมาปัญญาเกิด ยิ่งปฏิบัติ ยิ่งเห็นความเปลี่ยนแปลงในตนเอง

“เด็กหลายคนที่ตัวเขาเองไม่คิดว่าจะสามารถทำได้ เขียนในใบแสดงความรู้สึกตอนหลังว่าหนูดีใจมากที่หยุดพูดได้ ปกติหนูเป็นคนไม่เคยหยุดพูดเลย บางคนติดเกม ติดมือถือ เขาก็ไม่คิดว่าเขาจะทำได้ในวันนั้นโดยที่ไม่ต้องอยู่กับมือถือ”

หลายคนกลับไปสานต่อการนั่งสมาธิที่บ้านจนพ่อแม่กลับมาเล่าให้ผู้ดูแลกิจกรรมภูมิใจและมีกำลังใจหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ธรรมะให้งอกงามต่อไป

“มีหลายคนกลับไปชวนแม่นั่งสมาธิ แม่ปลื้มปิติมาก เขาก็จะฟีดแบคมาให้เราฟังว่าเขารู้สึกซึ้งใจมากเวลาเห็นพัฒนาการของลูก  เราเคยไปจัดคอร์สธรรมะในต่างจังหวัด เด็กที่มาเป็นลูกชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับสถานปฏิบัติธรรม ครั้งแรกๆ จะคอยลืมตาซุกซนมาก แต่พอมาหลายครั้งก็เริ่มนิ่งขึ้น หลังจากครั้งที่ห้าเป็นต้นมา เขาได้เป็นต้นแบบให้เด็กคนอื่น พอนั่งปุ๊บเขาจะหลับตาและอยู่กับตัวเองได้ เขาบอกว่ามีความสุขกับการได้นั่งสมาธิ เขาจะถามว่าคราวหน้าจัดเมื่อไหร่ เพราะเราไม่ได้จัดทุกเดือน บางทีโอกาสของเด็กแต่ละที่ไม่เหมือนกัน เด็กที่ได้กลับมาอีกครั้ง มักจะมาจากตัวเด็กอยากมาเอง ผู้ปกครองจะฟีดแบคมาให้เราว่า ลูกคุยรู้เรื่องมากขึ้น รับฟังเหตุผลมากขึ้น หรืออย่างที่บอกว่า เขาเซอร์ไพรส์ว่าลูกนั่งสมาธิเอง”

ไม่ใช่เพียงเด็กๆ ที่มาเข้าคอร์สเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์จากการฝึกสติ ธรรมบริกรและตัวครูผู้สอนเองก็ได้เติบโตภายในจิตใจไปพร้อมกัน ชายหนุ่มผู้เริ่มต้นคอร์สบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์จิ๋วมองย้อนเห็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในตนเองว่า

หลายๆ ครั้งเราก็ได้ฝึกกับตัวเองนะ บางทีเราคิดว่าธรรมะคือหน้าที่ ต้องเสียสละเวลาส่วนตัว ทุกคนอยากมีความสุขกับครอบครัว อยากมีนี่นั่นเป็นของตนเอง แต่พอทำตรงนี้แล้วเราก็เกิดประโยชน์กับตัวเอง เกิดกับคนอื่น ก็เป็นความอิ่มใจ เป็นความสุขใจ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองได้เรียนรู้แม้กระทั่งในจิตใจของเด็กหรือของคนอื่นว่าทุกคนก็มีหัวใจในการให้ ทุกคนตั้งใจมาให้เหมือนๆ กัน เหมือนได้ฝึกย่างก้าวของการเสียสละทั้งแรงกายแรงใจ เขาต้องจัดสถานที่ ต้องตื่นแต่เช้า ถามจริงว่าใครอยากตื่นแต่เช้า ตีห้าต้องนั่งสมาธิร่วมกันก่อนแล้วค่อยจัดสถานที่ อยู่บ้านเคยทำรึเปล่า ต้องมาทำความสะอาด มาจัดการกับเด็กๆ อีก อะไรแบบนี้ พอเขาทำแล้วเขามีความสุข เหมือนเสียสละตัวเองออกมาโดยไม่หวังผลตอบแทน ผมว่าบุญกุศลตัวจริงก็เกิดขึ้นกับคนที่มารับใช้ธรรมะทุกๆ คน

หน้าที่สำคัญของธรรมบริกร หรือผู้ใหญ่ใจดีในคอร์สโกเอนก้าเด็กจึงเปรียบได้กับ “พนักงานดีลิเวอรี่” คอยเป็นผู้ส่งมอบสิ่งดีๆ สู่เด็ก โดยได้รับความอิ่มเอมใจเป็นค่าตอบแทน

“ต้องบอกว่าเวลาทำคอร์สเด็กแล้วเกิดปิติ เราไม่ได้เรียกร้องอะไร มีแต่ดีลิเวอรี่ต่อไปเรื่อยๆ กระทั่งขนมให้เด็ก ของให้เด็ก แม้กระทั่งต้องแบ่งเวลาให้เด็ก เราแบ่งเพราะมันเป็นหน้าที่  ถ้าเราเกิดมามัวแต่ทำอาชีพเพื่อเลี้ยงปากท้องคงไม่ใช่แล้ว นั่นคืออาชีพรอง  อาชีพหลักคือตรงนี้แหล่ะ  เรามองว่าเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ และมีความสุขทุกขณะ”

ในโลกแห่งวัตถุนิยมที่หัวใจของผู้คนเหมือนต้นไม้ที่ขาดน้ำ คอร์สโกเอนก้าเด็ก ยังคงเดินหน้าบ่มเพาะธรรมะในหัวใจของเด็กๆ ต่อไป  เพราะเด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ธรรมะในหัวใจเด็กตั้งแต่วันนี้จึงมีโอกาสให้ธรรมะเติบโตงอกงามเป็นต้นไม้ใหญ่พักพิงใจให้ผู้ใหญ่ในวันหน้าเช่นเดียวกัน

(ขอบคุณรินศรัทธา กาญจนวตีนักเขียนตาบอดที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเขียนสารคดีเรื่องนี้ค่ะ)

การภาวนา

ธรรมะสำหรับเด็ก

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save