สายใยรักกลางชุมชนแออัด
เมื่อเอ่ยคำว่า “ชุมชนแออัด” ภาพที่คนทั่วไปนึกถึงคือเด็กหน้าตามอมแมม บ้านมุงสังกะสีเรียงต่อกันเป็นแนวยาว ผู้ใหญ่มีอาชีพหาเช้ากินค่ำ เด็กส่วนใหญ่เรียนหนังสือแค่จบชั้นประถมก็ต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน หลายคนมีลูกตั้งแต่วัยทีน ทิ้งให้ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลาน เมื่อเงินไม่พอใช้ก็เข้าสู่วงจรของยาเสพติดวนเวียนเป็นวัฎจักรเช่นนี้จนเป็นเรื่องธรรมดา โอกาสที่เด็กสักคนจะหลุดพ้นออกจากวังวนปัญหาเหล่านี้จึงเปรียบได้กับแสงเทียนริบหรี่ที่พร้อมจะถูกลมพัดให้วูบดับในชั่ววินาที
ชุมชนวัดดวงแขข้างสถานีรถไฟหัวลำโพงนับเป็นชุมชนที่มองหาแสงสว่างแห่งความหวังสำหรับเด็กเยาวชนให้ก้าวเดินออกจากวัฎจักรของเด็กวิ่งยาจนกลายเป็นทาสยาเสพติดได้ยาก แต่ด้วยเพราะมีผู้หญิงสองคนที่คอยช่วยดูแลสอดส่องให้ความรู้และความรักกับเด็กๆ แทนพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาเอาใจใส่ จนเด็กๆ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คิดดี พูดดี ทำดี เปลี่ยนภาพลักษณ์ “เด็กสลัม” ด้อยโอกาสทางการศึกษาสู่รั้วมหาวิทยาลัยไปแล้วหลายคน
รัสมี ทอนทอง หรือ ป้าหมี วัย 58 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี มีอาชีพขายของบนรถไฟเริ่มต้นพาลูกชายเข้ามาทำกิจกรรมในศูนย์พัฒนาเด็กดวงแข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ตอนที่ลูกชายอายุได้เพียงสี่ห้าขวบ มีน้องสาวของเธอคอยเป็นพี่เลี้ยงพามาเล่นที่นี่เป็นประจำ จวบจนกระทั่งปี พ.ศ. 2545 น้องสาวย้ายกลับไปอยู่จังหวัดอุบลราชธานี เธอจึงต้องดูแลลูกเองโดยวิ่งวุ่นระหว่างสถานีรถไฟและบ้านวันละหลายรอบตามประสาคนหาเช้ากินค่ำ โดยยังคงพาลูกไปเล่นที่ศูนย์เป็นประจำจนกระทั่งวันหนึ่ง ทางศูนย์ต้องการหาแม่บ้านมาช่วยทำความสะอาดในช่วงเสาร์อาทิตย์ เธอรับปากว่าจะไปถามหาคนในชุมชนมาทำงานให้
ทว่า หนึ่งเดือนผ่านไป ยังไม่มีใครสนใจมาทำงานแม่บ้านแบบประจำ เพราะส่วนใหญ่ชอบประกอบอาชีพอิสระหาเช้ากินค่ำ และมักใช้เงินไม่ถูกวิธี เวลาได้เงินมาก็จะนำไปแทงหวยหรือเล่นการพนัน เธอจึงอาสาเข้ามาทำงานแม่บ้านแทน
เวลาล่วงผ่าน เสียงหัวเราะร้องไห้บริเวณสนามเด็กเล่นได้สร้างสายใยรักเส้นบางผูกโยงป้าหมีกับหัวใจของเด็กๆ ไว้โดยไม่รู้ตัว รอยยิ้มของเด็กเล็กที่ได้เล่นอย่างอิสระบนผืนทราย เสียงหยอกล้อเล่นหัวของกลุ่มวัยรุ่นที่มาเล่นกีฬาในศูนย์ เริ่มทำให้ป้าหมีมองเห็น “บางสิ่ง” ที่ซ่อนอยู่ในหัวใจของตนเอง โดยเฉพาะเวลาได้ฟังเด็กๆ ระบายเรื่องราวในใจออกมา
“ก่อนหน้านี้เวลาอยู่บ้าน ป้าก็มีพื้นที่แค่ห้องเล็กๆ ให้เพื่อนลูกชายมาเล่นด้วยกันได้แค่สามคน พอเข้ามาเป็นอาสาสมัครดูแลเด็กและเป็นแม่บ้าน เรามองเห็นเลยว่าเด็กเขามีหนทางที่จะระบายปัญหาที่ผู้ใหญ่เข้าถึง ยอมรับว่าตอนป้าอยู่ในชุมชนป้ามองไม่เห็นปัญหา”
ขณะที่เธอเล่าเสียงเด็กๆ เล่นกันเกรียวกราวดูมีความสุขก็ดังแว่วเข้ามาให้ได้ยินตลอดเวลา
สองปีต่อมา ติ๋ม ชูแก้ว หรือ ป้าติ๋ม วัย 56 ปี ก็ตามมาสมทบเป็น “แม่คนที่สอง” ร่วมกับป้าหมี พื้นเพของป้าติ๋มเป็นคนร้อยเอ็ด มีอาชีพรับจ้างซักผ้า อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มากว่าสามสิบปี ช่วงปี พ.ศ. 2547 ลูกสาวของเธอซึ่งเคยเป็นอาสาสมัครอยู่ในศูนย์ต้องไปเรียนต่อ ป้าหมีจึงขอให้เธอมาช่วยงานแทน โดยเริ่มจากการทำงานวันเสาร์อาทิตย์ก่อน
แม้ว่าป้าติ่มจะอาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่ยังสาวจนสูงวัย รับรู้ปัญหาในชุมชนมานาน แต่เพราะต้องหาเช้ากินค่ำ จึงไม่สนใจเรื่องการทำงานจิตอาสามาก่อน จนเมื่อได้ยินเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชักชวนให้เป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ดูแลสุขภาพชุมชนด้วยคำถามว่า
“ป้าอยากให้เด็กๆ มีสุขภาพดีไหม” ฟังจบป้าพยักหน้ารับทันทีเพราะเด็กในชุมชนก็เปรียบเหมือนลูกหลานเห็นหน้ากันจนคุ้นเคย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงมอบกระเป๋ายาไว้ให้ป้าเพื่อช่วยเหลือคนเจ็บไข้ได้ป่วยในชุมชน ทั้งป้าหมีและป้าติ๋มจึงเป็นทั้ง อสส. ดูแลสุขภาพคนในชุมชนร่วมกับทำหน้าที่ “เพื่อน” ให้เด็กๆ ที่มาทำกิจกรรมที่ศูนย์ เพราะเด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวหาเช้ากินค่ำ พ่อแม่ไม่มีเวลามารับฟังปัญหาของลูก หรือแม้แต่ข้าวปลาอาหาร เด็กบางคนก็ต้องดูแลตัวเอง
ยิ่งใกล้ชิดกับเด็กมากเท่าไหร่ ทั้งคู่ก็ยิ่งมีความสุขที่ได้ช่วยทำหน้าที่ “แม่คนที่สอง” เติมเต็มหัวใจแหว่งวิ่นของเด็กๆ ให้สมบูรณ์มากขึ้น ทั้งคอยอบรมสอนสั่งให้เด็กๆ พูดจาไพเราะและเป็นคนดี ห่างไกลจากยาเสพติด แม้ว่าบางคนจะอยู่ในครอบครัวของพ่อแม่ที่เสพยาก็ตาม จนเด็กหลายคนสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมจากเด็กก้าวร้าวเป็นเด็กน่ารักก้าวเดินไปบนเส้นทางที่ดี ป้าหมีกล่าวด้วยความภาคภูมิใจว่า
เราดีใจที่เราได้กลายเป็นคนที่สามารถช่วยเหลือเด็กในชุมชนของตัวเองให้ปลอดภัย เราสอนให้พวกเขารู้จักหน้าที่ของตัวเอง มีความกตัญญูอย่างถูกวิธี ตัวป้าเลี้ยงลูกโดยที่สามีของป้าติดยา พอพ้นคุกไม่เกินสามเดือนห้าเดือนก็จะกลับเข้าไปอีก ป้าเลยไม่อยากให้ลูกยุ่งเกี่ยวกับของแบบนี้ ลูกเองก็รู้สึกไม่ดีนะที่เห็นพ่อเทียวเข้าเทียวออกคุกตลอด แต่ป้าก็จะสอนให้เขารู้จักกตัญญูรู้ว่านี่คือพ่อ
เด็กหลายคนได้รับผลกระทบจากการที่พ่อแม่ทะเลาะกันจึงทำให้พวกเขาต้องการที่พึ่งต้องการคนช่วยเหลือ เมื่อมี “แม่คนที่สอง” คอยรับฟัง หัวใจของเด็กน้อยจึงไม่โดดเดี่ยวจนเกินไปนัก สายใยรักระหว่างบุพการีต่างสายเลือดได้ทำหน้าที่ผูกโยงหัวใจเด็กน้อยที่กำลังอ่อนแอไม่ให้ถูกพายุโหมกระหน่ำจนปีกหักหรือโบยบินออกนอกเส้นทาง และสามารถโผบินสู่ท้องฟ้าด้วยหัวใจที่แข็งแรงมากขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่แตกร้าวก็ตาม
“เวลาพ่อแม่เด็กทะเลาะกันป้าก็จะบอกว่าให้มาหาป้าติ๋มหรือป้าหมีที่บ้านพักหรือที่ศูนย์ก็ได้”
แม้ว่าทั้งคู่จะไม่ใช่คนร่ำรวยมีเงินทองมากมายหากแต่ด้วยก้นบึ้งของหัวใจอยากเห็นเด็กๆ ในชุมชนปลอดภัย ห่างไกลยาเสพติด เติบโตบนเส้นทางที่ดี จึงยอมสละเวลาวันหยุดมาเป็นอาสาสมัครด้วยเชื่อว่าไม่มีใครรู้ปัญหาของชุมชนนี้ได้ดีไปกว่าคนที่อยู่ในชุมชนนี้เอง
ป้าหมียังเล่าให้ฟังอีกว่า “ชุมชนที่นี่เป็นชุมชนสีแดงเรื่องยาเสพติด สมัยก่อนจะเป็นเรื่องผงเยอะแยะไปหมด เดินกัน 24 ชั่วโมงเป็นตลาดนัดเลยนะ เดินสวนกันมีแต่พวกมาซื้อยา เสพยา” แต่ปัจจุบันนี้เด็กๆ และพ่อแม่หลายคนเลือกที่จะเดินห่างไกลสิ่งเหล่านั้นออกมาทำให้ยาเสพติดในพื้นที่ลดน้อยลงมากจนเรียกได้ว่าชุมชนแห่งนี้ขาวสะอาดขึ้น
คำว่า “จิตอาสา” นับเป็นคำที่ห่างไกลจากวิถีชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำ ยิ่งเป็น “จิตอาสาในชุนชนแออัด” ด้วยแล้ว คำพูดตามประสาชาวบ้านจึงมักเสียดแทงใจอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วงแรกของการทำงาน บางครอบครัวไม่พอใจที่เข้าไปวุ่นวายกับลูกๆ ของพวกเขา ป้าติ๋มเล่าประโยคถึงคำพูดที่ทำให้รู้สึกท้อใจว่า
“ไม่มีจะกินแล้วยังไปเป็นจิตอาสาอีกเหรอ” แม้แวบแรกที่ได้ฟังจะเจ็บแปลบอยู่ในอก แต่เมื่อนึกถึงแววตาเด็กน้อยที่รอคอยใครสักคนโอบกอดยามหัวใจเปลี่ยวเหงา ความเข็มแข็งก็มาเยือนและยังคงทำหน้าที่ “แม่คนที่สอง” อบรมพร่ำสอนสิ่งดีๆ ให้กับเด็กต่อไป จนปัจจุบันนี้หลายครอบครัวเริ่มมองเห็นว่าทั้งคู่ทำสิ่งที่ดีเพื่อลูกหลานเพื่อทุกคนในชุมชนจริงๆ จึงเริ่มให้ความร่วมมือมากขึ้น เด็กหลายคนจึงมีรอยยิ้มมากขึ้นและได้ก้าวเดินบนเส้นทางที่เลือกด้วยตนเอง โดยมี “ไอดอลรุ่นพี่” หลายคนที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นแบบอย่าง ส่วนครอบครัวที่ยังอยู่ในวงจรยาเสพติด เด็กกลุ่มนี้จะเข้าไปช่วยเหลือได้ยากมากที่สุด เพราะเป็นเรื่องเสี่ยงอันตรายหากจะเข้าไปข้องเกี่ยวกับครอบครัวของเด็กมากเกินไป เด็กหลายคนจึงยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงของการเดินผิดทาง ซึ่ง “แม่คนที่สอง” ได้แต่เฝ้ามองด้วยความเศร้าใจ
มาจนวันนี้วันที่ทั้งคู่วัยใกล้เลข 6 วัยที่ใครหลายคนอาจวุ่นวายอยู่กับการหาเลี้ยงปากท้อง วัยที่ใครหลายคนอาจใช้เวลาใกล้เกษียณกลับไปพักผ่อนดูโทรทัศน์ หรือแม้แต่เลี้ยงหลานไปแล้วแต่ทั้งคู่ก็ยังคงอยู่ยังคงตั้งใจใช้สองมือหนึ่งหัวใจทำความสะอาดชุมชนสีแดงให้เป็นสีขาวให้น่าอยู่เพื่อลูกหลานต่อไป
ทุกชุมชนล้วนมีปัญหา แต่ปัญหานั้นจะแก้ไขได้ดีที่สุดก็ต่อเมื่อคนในชุมชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะยาก ดี มี หรือจน เราทุกคนล้วนมีหนึ่งสมอง สองมือ และหนึ่งหัวใจเท่าเทียมกัน แค่เพียงเรานำหัวใจของเราผูกโยงกันไว้ด้วยสายใยความรัก สายใยเส้นนี้จะช่วยทำหน้าที่ประคับประคองหัวใจของเด็กน้อยที่แหว่งวิ่นไม่ให้บินหลงทางไปไกลเช่นเดียวกับสายใยความรักของผู้หญิงหัวใจจิตอาสาแห่งชุมชนวัดดวงแขทั้งสองคนนี้ที่ทำให้เด็กๆ โบยบินไปสู่ท้องฟ้าไกลอย่างมีความสุข
(ขอบคุณนางสาวกมลพัชร์ จินดาพงษ์ นักเขียนตาบอดที่เป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนชิ้นนี้)