8 ช่องทางความสุข

เข้าใจชีวิตผ่านสีน้ำภาวนา

เมื่อเอ่ยถึง “สีน้ำ”…เรามักนึกถึงศิลปะ

เมื่อเอ่ยถึง “ภาวนา”…เรามักนึกถึงการทำจิตให้นิ่งอยู่กับปัจจุบันขณะ

กิจกรรม “สีน้ำภาวนา” จึงเป็นเสมือน “ถนนสองสาย” ที่มาเจอกันตรงทางแยกและกลายเป็น “ถนนสายใหม่” ที่นำทางให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงธรรมะด้วยวิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ถนนสายนี้มีปัญจรัตน์ นิลพันธ์พิทักษ์ หรือ ละอ่อน เป็นผู้แผ้วถางเส้นทางให้ผู้คนได้ลองย่างเท้าเข้ามาเดินด้วยตนเองเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ณ สวนโมกข์กรุงเทพฯ

หลังจากเรียนจบปริญญาตรีครุศาสตร์สถาปัตยกรรมภายในเมื่อ 21 ปีก่อน ละอ่อนเป็นเหมือนบัณฑิตจบใหม่อีกหลายคนที่เตะฝุ่นว่างงานจนรู้สึกตนเองไร้ค่าเพราะมองไม่เห็นจุดหมายปลายทางให้ก้าวเดิน จนกระทั่งได้เจอแสงธรรมส่องทาง เธอจึงเริ่มมองเห็นทางออกของชีวิตที่มีคุณค่า ก้าวเดินออกมาสู่ถนนสายใหม่ได้ในที่สุด

“หลังจากเรียนจบแล้วยังไม่มีงานทำ  รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ยิ่งเพื่อนได้งานก่อนเราก็ยิ่งเครียด พบว่ามันมีทุกข์อยู่ จนลองตัดสินใจไปปฏิบัติธรรมที่สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พอได้ไปลองใช้เวลาอยู่ที่สวนโมกข์ก็เริ่มเกิดความทุกข์ทางกายภาพที่ไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้าน เริ่มมองเห็นว่าชีวิตมันต้องมีความทุกข์ จะเอาทุกข์ใจหรือทุกข์กาย เริ่มเห็นสภาวะต่างๆ ที่ชัดเจนขึ้น เริ่มเข้าใจว่า ความทุกข์มันอยู่ที่ตัวเรา ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าคุณแบกมันไปด้วย คุณก็จะแบกมันกลับมาด้วย”   

ปัญจรัตน์ นิลพันธ์พิทักษ์ หรือ ละอ่อน ผู้ริเริ่มกิจกรรมสีน้ำภาวนาที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ

เมื่อเริ่มมองเห็นว่า “ความทุกข์อยู่ที่ใจ” จึงเริ่มหาหนทางดับทุกข์ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องมากขึ้น เรียนรู้ที่จะพัฒนาจิตใจตนเองจากความคาดหวังสู่ความไม่คาดหวัง ใช้ชีวิตให้ดำเนินไปกับปัจจุบันขณะมากขึ้น ระหว่างนั้นละอ่อนก็ได้ใช้ความถนัดของตนเองในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ดีไซน์เก๋ออกมาจำหน่ายเริ่มจากงานทำมือขายดิบขายดีจนขยายเป็นแบรนด์ L-aon Gift Box มาจนถึงปัจจุบัน บนเส้นทางของการทำงานศิลปะเพื่อเลี้ยงชีพควบคู่ไปกับการปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องทำให้ละอ่อนพบว่า ยามใดมือหยิบจับดินสอพู่กันขึ้นมาวาดรูป ละอ่อนจึงเริ่มสังเกตเห็นถึงสภาวะบางอย่างที่ทำให้ “มองเห็น” ตนเองชัดเจนขึ้น

“เริ่มจากเราวาดสีน้ำเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว พอเรามาวาดรูปมันนิ่ง โปร่ง โล่งสบายไม่มีอะไรมารบกวน เลยลองคิดคลาสศิลปะให้ลูกๆ หลานๆ ของเพื่อนมาจับกลุ่มเรียนด้วยกัน สิ่งที่ได้อย่างแรก คือ ความเพลิดเพลินผ่อนคลาย สองคือเด็กได้สมาธิ หลังจากนั้นจึงลองจัดคลาสให้เพื่อนๆ บ้าง แล้วก็ลองนำแนวคิดทางธรรมมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมศิลปะจนกลายเป็นกิจกรรมสีน้ำภาวนา”

กิจกรรมสีน้ำภาวนาเริ่มจัดที่สวนโมกข์กรุงเทพฯ ตั้งแต่มกราคม ปี 2559 เดือนละ 1 ครั้งในวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 4 รวมเวลาสามชั่วโมงครึ่ง แบ่งออกเป็น 4 กิจกรรม แต่ละกิจกรรมมีวัตถุประสงค์เพื่อชวนให้มีสติ รู้ทันการรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากสิ่งกระทบ เห็นความเป็นไปของเหตุปัจจัย เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง ยอมรับ วางจิตสู่ความอิสระภายใน

เราเห็นประโยชน์ที่จะให้เขาได้เรียนรู้จากความทุกข์ เป้าหมายแรก คือ เรื่องอริยสัจ จะต้องให้เห็นทุกข์ก่อน ซึ่งความทุกข์ที่เห็นก็มีมาจากหลายเหตุปัจจัย หลายประเด็นที่จะพูดถึงกัน มันขึ้นอยู่กับว่าวันนั้นผู้มาร่วมกิจกรรมพบเจอเรื่องอะไรก็เอาเรื่องนั้นขึ้นมาพูด  ที่เราอยากให้คนได้เรียนรู้เรื่องอริยสัจ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่อยู่กับคุณทุกวัน

การนำกิจกรรมสีน้ำมาเชื่อมโยงกับธรรมะทำให้ผู้คนมองเห็นว่าธรรมะไม่ใช่เรื่องไกลตัวและสามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ มีเด็กบางคนที่ติดตามพ่อแม่มาก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมด้วยได้ ซึ่งหลายคนอาจกังวลว่าเด็กอาจรู้สึกเบื่อกับกิจกรรมแนวธรรมะ แต่ละอ่อนพบว่าความเป็นเด็กที่ “ซื่อสัตย์” ต่อความรู้สึกตนเองกลับเป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้ใหญ่ได้ “ยอมรับความรู้สึกที่แท้จริง” แบบไม่เสแสร้งด้วยเช่นกัน

“ด้วยสถานที่แล้ว คนที่มาจะถูกสกรีนมาส่วนนึงแล้วว่าคุณสนใจธรรมะ บางทีเราเจอเด็กที่เข้าใจเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก ทำให้เรากะวัยไม่ถูกว่าวัยไหนบ้างที่จะไม่เข้าใจ เด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมเขาจะสะท้อนความรู้สึกออกมาตรงกว่าผู้ใหญ่พูด  ถ้าเขาไม่ชอบ เขาก็จะบอกว่าไม่ชอบ แต่เราไม่เคยได้รับข้อความตรงไปตรงมาแบบนี้จากผู้ใหญ่เลย หรืออาจมีบ้างแต่น้อยมาก”

แม้ว่ากิจกรรมจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงแค่ครึ่งวัน แต่สิ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้ก็คือ “การเริ่มต้น” มองเห็นเส้นทางสายใหม่ที่ทำให้เข้าใจธรรมะในมุมที่ง่ายขึ้นผ่านการทำงานศิลปะ เพราะหลายคนเวลาพูดถึงการปฏิบัติธรรมก็มักนึกถึงการนุ่งขาวห่มขาวนั่งสมาธิอยู่ในวัด ธรรมะจึงกลายเป็นเรื่องไกลตัวแต่การนำศิลปะเข้ามาเชื่อมโยงกับธรรมะทำให้มีคนเริ่มสนใจการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันมากขึ้น  ละอ่อนเล่าถึงเสียงสะท้อนที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า

มีบ้างที่บางคนกลับมาเรียนซ้ำ เขาบอกว่ากิจกรรมนี้ทำให้เขาใช้ชีวิตอย่างมีสติมากขึ้นเพราะหนึ่ง เราชวนให้เขากลับมาฝึกให้รู้สึกตัวตลอดเวลา สอง เวลาทำกิจกรรมสีน้ำแล้วควบคุมผลที่ออกมาไม่ได้ ตอนแรกเขารู้สึกหงุดหงิด แต่เขาก็เริ่มเรียนรู้เรื่องความไม่แน่นอน บังคับควบคุมไม่ได้ ทำให้เริ่มยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น ความหงุดหงิดก็น้อยลง

กิจกรรมสีน้ำภาวนาจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้มองเห็นสภาวะต่างๆ ในตนเองชัดขึ้นผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ

ความคล้ายกันระหว่างกิจกรรมสีน้ำภาวนาและการเข้าวัดปฏิบัติธรรม คือ การปฏิบัติในรูปแบบเดิมซ้ำๆ จนทำให้มองเห็น “สภาวะที่ไม่เหมือนเดิม” ในตนเอง  ดังนั้น ผู้เข้าร่วมจึงไม่ควรคาดหวังถึง “ความแปลกใหม่” จากการเข้าร่วมกิจกรรมสีน้ำภาวนาเพราะนั่นไม่ใช่เป้าหมายของการเรียนรู้ธรรมะ

ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดินทางไปสวนโมกข์ที่ภาคใต้ครั้งแรกจนถึงวันนี้ ละอ่อนยังคงเดินทางไปปฏิบัติธรรม เข้าออกวัดอยู่เสมอจนมีคนถามเธอหลายครั้งว่า ธรรมะก็เหมือนเดิม ทำไมต้องไปแล้วไปอีก

“มีคนถามว่าทุกครั้งที่ไปปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์ท่านก็สอนเหมือนเดิม แล้วไปทำไมซ้ำๆ คือเนื้อหามันเหมือนเดิม แต่ที่ไม่เหมือนเดิมคือเราเอง ความเข้าใจบางเรื่องในแต่ละครั้งไม่เหมือนกัน พอเราเข้าไปแตะเรื่องนึงแล้วเอากลับมาใช้ในชีวิตของเรา หลังจากนั้นพอเรากลับไปฟังเหมือนมันกลับไปนำเรื่องนี้คิดทบทวนกลับไปกลับมาจนเราเข้าใจบางเรื่องมากขึ้น เรารู้ว่ามีทุกข์ แต่จะอยู่กับทุกข์ยังไงแบบไม่ทุกข์ พอเราเห็นเหตุปัจจัยของการเกิดการดับระหว่างทาง เห็นแล้วมันเชื่อมย้อนกับประสบการณ์อะไรทั้งหมด แต่ก่อนความเข้าใจอาจเป็นเส้นประ แต่ปัจจุบันมันต่อเชื่อมกันได้ค่อนข้างจะมาก”

กิจกรรมสีน้ำภาวนามีผู้เข้าร่วมทุกเพศทุกวัย บางคนมาซ้ำหลายครั้ง เพราะได้เห็นประโยชน์ที่นำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น

เมื่อเรามองตัวเองวันนี้เปรียบเทียบกับวันที่ก่อนจะเริ่มต้นทำกระบวนการสีน้ำภาวนา ละอ่อนมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในใจตนเองที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

“มันค่อยๆ ปรับเปลี่ยนแบบเนียนๆ การเปลี่ยนแปลงอันแรกคือเราไม่คาดหวังและยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายมาก จากที่เป็นคน Perfectionist ต้องสวยเนี้ยบ ก็ยอมรับสิ่งที่ไม่เป็นไปดังใจได้มากขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น มันทำให้เราอิสระได้เร็วขึ้น เราเห็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับไม่เป็นประโยชน์ชัดขึ้น แยกแยะได้เร็วขึ้น

เวลาทำงานร่วมกับคนอื่น เราเริ่มมองข้ามบางเรื่องได้มากขึ้น ถ้าเราเห็นแล้วว่าการขุดเรื่องนั้นมาจะสร้างแผลให้คนอื่น เช่นเราโดนกระเพื่อม แต่เรารู้เท่าทันว่าเราไม่จำเป็นต้องตอบโต้ จะขยายแผลกันทำไม พอเข้าใจหลายมุม เราอาจดูเป็นคนที่นิ่งมากขึ้น ตัดขยะออกไปได้เร็วขึ้น เราเห็นเวลาที่จำกัดของชีวิตทำให้เราไม่ยึดไม่แบกความทุกข์ไว้นาน วางมันง่ายขึ้น มองเรื่องต่างๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ เราจะแบกหรือจะวางมันไว้อยู่ที่ตัวเรา ทำให้รู้สึกว่าเรามีเมตตามากขึ้น เราจะชอบพูดว่าเมื่อไหร่ที่มุมมองเรากว้างคือใจเรากว้างขึ้น

ประสบการณ์นำกิจกรรม “สีน้ำ” มาผนวกกับ “การภาวนา” มองเผินๆ อาจดูเหมือนง่ายเพราะมีศิลปะเข้ามาช่วยดึงดูดความสนใจของผู้คนให้อยากเข้ามาร่วม แต่เมื่อต้องเชื่อมโยงศิลปะกับธรรมะระหว่างการทำกิจกรรมด้วยแล้ว ความง่ายจึงกลายเป็นความยากขึ้นมาเพราะบางคนคิดว่าการปฏิบัติธรรมต้องอยู่ในวัด ในฐานะผู้บุกเบิกเส้นทางนี้ ละอ่อนสรุปจากมุมมองตนเองว่า

“ธรรมะไม่ใช่เรื่องยาก เพราะอยู่กับเราทุกขณะ เพียงแต่ว่าเรามองเห็นหรือเปล่า การทำให้คนอื่นสนใจธรรมะ เราต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน แล้วคนรอบข้างที่เห็นว่าเราเปลี่ยนไปแล้วดีขึ้นก็จะเข้ามาสนใจศึกษาธรรมะมากขึ้น  การเริ่มจากเรื่องใกล้ตัวอย่างเช่นการทำกิจกรรมสีน้ำภาวนาจะทำให้ บางคนอาจพัฒนาไปสู่การปฏิบัติธรรมในรูปแบบอื่นๆ ตามมา”

บนถนนสายธรรมนั้นมีหลายเส้นทาง เราทุกคนไม่จำเป็นต้องเดินบนถนนสายเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะเดินบนถนนสายไหน บนกระดาษวาดรูประบายสี หรือบนถนนมุ่งสู่วัด ล้วนมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การหลุดพ้นจากความทุกข์เพื่อความสุขสงบอย่างแท้จริงในหัวใจของเราเอง

ขอบคุณภาพจากคุณละอ่อนมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

 

การภาวนา

สีน้ำภาวนา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save