ถนนแห่งความสุขของ Life Coach
ชีวิตทุกคนล้วนต้องการก้าวเดินไปสู่จุดหมายปลายทางที่ฝันไว้ แต่เรามักจะเจอทางแยกหลากหลายเส้นทางจนบางครั้งเดินอ้อมไปไกล หรือหลงทางไปสู่จุดหมายที่ไม่ได้ใฝ่ฝันจนความสุขในชีวิตลดลงเรื่อยๆ กลายเป็นคนที่ตื่นเช้าไปทำงานด้วยความซังกะตายไปวันๆ เพราะขาดแรงบันดาลใจที่จะก้าวไปสู่ปลายทางที่เคยฝันไว้
คุณทัศนีย์ จารุสมบัติหรือ โค้ชอ้อม หญิงวัยห้าสิบเก้าปีคนนี้เคยเป็นคนหนึ่งที่เดินวกวนอยู่บนเส้นทางที่ “ไม่ใช่ความสุข” มากว่าครึ่งชีวิต จนวันหนึ่งตัดสินใจหยุดเดินไปบนถนนสายเดิมด้วยการลาออกจากงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อมาเป็นแม่บ้าน ระหว่างที่ “หยุดพัก” เธอจึงเริ่มมองเห็น “ทางเลือกใหม่” ให้ลองก้าวเดิน จนได้ค้นพบความสุขที่ตามหามาเนิ่นนานด้วยอาชีพ “Life Coach”
โค้ชอ้อมเล่าถึงเหตุผลของการตัดสินใจหยุดเดินบนถนนสายเก่าที่คุ้นชินในวัย 48 ปีทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าถนนสายใหม่อยู่ที่ไหนให้ฟังว่า
“ตอนนั้นเริ่มรู้สึกว่าโลกคอมพิวเตอร์ไม่ใช่โลกของเรา เลยอยากเป็นแม่บ้าน ช่วงออกจากงานหนึ่งถึงสองเดือนแรกก็มีความสุขดีแต่เหมือนคุณค่าบางอย่างหายไป เลยลองค้นหาสิ่งที่ช่วยทำให้ชีวิตมีคุณค่ามากขึ้นจากอินเตอร์เน็ต แล้วก็ไปเจอคำว่าโค้ชชิ่ง (Coaching) พออ่านปุ๊บก็รู้สึกเหมือนมีอะไรเรียกร้องเราอยู่ข้างใน เพราะเป็นอาชีพที่เราสามารถทำงานอยู่บ้านและบริหารเวลาของเราได้ รวมทั้งเราได้ช่วยพัฒนาคนอื่นไปพร้อมๆ กัน เลยตัดสินใจลงเรียนออนไลน์เป็นภาษาอังกฤษ ชื่อ International Coach Academy : ICA”
หลังเรียนจบคอร์สแรก โค้ชอ้อมจึงก้าวเข้าสู่เส้นทางสายใหม่ของการพัฒนาคนในฐานะ “โค้ช” อาชีพนี้ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีใดๆ ในการทำงาน ใช้เพียง “หัวใจ” ของโค้ชที่จะช่วยพา “ผู้รับการโค้ช” ออกจากเขาวงกตไปสู่ปลายทางที่ฝันไว้ให้ได้ โดยโค้ชจะทำหน้าที่ชวนคิดชวนคุย ช่วยวาดแผนผังชีวิตจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่งและให้ผู้รับการโค้ชค้นหาคำตอบที่เดินไปถึงเป้าหมายด้วยตนเอง
นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก้าวเดินบนถนนสายใหม่ โค้ชอ้อมสัมผัสได้ถึงปริมาณความสุขที่เพิ่มแบบเท่าทวีคูณ เพราะการได้เห็นความสำเร็จของผู้รับการโค้ชเป็นพลังแห่งความสุขที่ย้อนกลับมาเติมเต็มหัวใจ “โค้ช” จนเต็มอิ่ม เมื่อรู้ว่าเส้นทางสายนี้มีความสุขรออยู่ตลอดสองข้างทาง เธอจึงไม่ลังเลใจที่จะก้าวต่อไปเพื่อเป็น “Life Coach” ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเธอสมัครเข้าเรียนปริญญาโทด้านจิตตปัญญาศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ผู้เรียนจะได้ทำความเข้าใจตนเองมากขึ้นก่อนจะทำความเข้าใจคนอื่นต่อไป ในช่วงทำวิทยานิพนธ์เพื่อจบปริญญาโทนี้เองที่โค้ชอ้อมได้พบกับคนสำคัญบนเส้นทางการโค้ช คือ โค้ชจิมมี่ หรืออาจารย์พจนารถ ซีบังเกิด ซึ่งเป็นเจ้าของสถาบันฝึกอบรมไลฟ์โค้ชแห่งแรกในเมืองไทยชื่อ Thailand Coaching Academy: TCAและเป็นผู้ชักชวนให้โค้ชอ้อมทำงานที่สถาบันนี้มาตั้งแต่ปี2554จนถึงปัจจุบัน
โค้ชอ้อมกล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญของโค้ชคือ การสร้างความสัมพันธ์เชิงลึก การรับฟังด้วยหัวใจ การใช้คำถามทรงพลัง และการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยเพื่อให้ผู้รับการโค้ชค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ตัดสินใจ วางแผน ลงมือทำ และก้าวไปสู่จุดหมายที่ต้องการ
“ในมุมมองส่วนตัว นักจิตวิทยาทำหน้าที่คล้ายๆ กับโค้ช แต่จะทำงานกับคนที่มีอาการทางใจ จิตตก หรืออาจป่วยทางจิตซึ่งคนกลุ่มนี้ถ้ามาเจอโค้ช เขาอาจไม่พร้อมที่จะตอบคำถามหรือทำงานกับตัวเอง เพราะโค้ชต้องให้ผู้รับการโค้ชตอบคำถามด้วยตนเอง ความแตกต่างของทักษะนักจิตวิทยา คือ “heal and help” (เยียวยาและช่วยเหลือ)แต่ทักษะของโค้ชคือ “Inspire and serve” (สร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุน) จนกว่าคนนั้นจะค้นพบคำตอบแล้วเดินไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นมุมมองของพวกเราคือ จากจุด A ไป B หรือมองไปข้างหน้า แต่นักจิตวิทยาเค้าอาจเริ่มจากจุดติดลบ A คือ ย้อนไปทำงานกับปมปัญหาในอดีตเพื่อให้เดินมาถึงปัจจุบัน และใช้ชีวิตต่อไปได้”
ด้วยเหตุนี้ หลังจากได้รับการโค้ช หลายคนจึงมีมุมมองชีวิตแตกต่างไปจากเดิม
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปคือโลกทัศน์ในการมองคน มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริหารที่อยากประสบความสำเร็จ เราต้องสอนให้สร้างความสัมพันธ์ก่อน หรือสอนให้ตั้งคำถามกับลูกน้อง พอฟังได้ดีเราก็ถามคำถามให้ลูกน้องเกิดการเรียนรู้แล้วดึงศักยภาพขึ้นมา แล้วค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง การโค้ชชิ่งจะทำให้ผู้บริหารมองโลกเปลี่ยนไปและประสบความสำเร็จในชีวิตด้านต่างๆ มากขึ้น
บนเส้นทางของการโค้ช ผู้รับการโค้ชไม่ได้เป็นแค่ “ผู้รับ” แต่ยังเป็น “ผู้ให้” บทเรียนต่างๆ กับโค้ชได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ โค้ชอ้อมจึงไม่ได้รู้สึกว่าการทำหน้าที่โค้ชเป็น การทำงานหากเป็น “วิถีชิวิต” มากกว่า
“สิ่งที่เราได้รับคือการเติบโตไปพร้อมๆ กับการโค้ชคน เราได้ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองและก้าวข้ามความกลัว ก่อนหน้านั้นเราก็เหมือนผู้บริหารทั่วไป คือห่างจากครอบครัว ไม่ได้ดูแลตัวเอง แต่สิบปีมานี้ เราหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น รู้ว่าชีวิตด้านในที่เราต้องให้ความสำคัญจริงๆ ดังนั้น สิ่งที่เราได้รับจากการทำงานโค้ช คือ ความสุขในชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่ว่าเราจะไปช่วยใคร เราก็ต้องตั้งต้นที่หันกลับมามองตัวเราเองก่อน ถ้าเราไม่รู้จักเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว เราจะเอาความสุขที่ไหนไปมอบให้คนอื่น”
เมื่อตนเองมีความสุข การส่งต่อความสุขให้คนอื่นจึงเกิดขึ้นตามมา ชีวิตของโค้ชอ้อมจึงรายล้อมไปด้วยผู้คนที่มีความสุขในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ยิ่งตอนได้เป็นโค้ชสอน “ว่าที่โค้ช” ด้วยแล้ว เธอยิ่งสัมผัสได้ถึงการ “ส่งต่อ” ความสุขไปยังผู้คนมากมายนับไม่ถ้วน เพราะได้ทำหน้าที่เป็น ลมใต้ปีกความฝันให้คนอื่นโบยบินไปยังจุดหมายที่ต้องการ
“สิ่งที่เรามี คือ เครื่องมือที่สร้างความสุขและความสำเร็จให้ตัวเอง ด้วยเครื่องมือนี้เราสามารถสร้างวิถีชีวิตที่ใช่ในแบบตัวเอง และถ้าเครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นเราก็ส่งมอบเครื่องมือให้เขาไปออกแบบชีวิตเขา ฉะนั้นความสุขก็คือการส่งมอบเครื่องมือให้เขาไปสร้างความสุขความสำเร็จในแบบของเขา แต่ที่สำคัญคือเครื่องมือนี้พอเขาเอาไปแล้ว เขาก็เอาไปช่วยเหลือคนอื่นด้วย การโค้ชมันก็เหมือนการโยนก้อนหินลงน้ำแล้วก็กระเพื่อมต่อไป โค้ชหนึ่งคนที่ออกไปจากเรา เขาช่วยคนได้อีกเยอะแยะมากมาย เราเป็นลมใต้ปีกของคนให้เขามีความสุขมีความสำเร็จ การโค้ชมันเหมือนคนเกิดใหม่หรือได้แว่นตาอันใหม่ โลกเขาสดใสขึ้น ถ้าเป็นในองค์กรเหมือนเราได้ส่งพ่อแม่กลับสู่ครอบครัวเขา แล้วก็ส่งนายที่ดีกลับสู่ลูกน้องเขา เนี่ยความสุขของการทำงานของเราก็คงจะอยู่ตรงนั้น”
เมื่อย้อนกลับมามองความเปลี่ยนแปลงในตนเองตลอดกว่าสิบปีที่ผ่านมาของการทำหน้าที่โค้ช โค้ชอ้อมบอกว่า หลังจากได้ “ปลดล็อค” ความทุกข์เรื่อง “เชื่อว่า” แม่ไม่รักออกไปได้ ชีวิตก็เบาสบายพร้อมจะโบยบินสูงขึ้นฟ้าโดยปราศจากปมใดๆ เหนี่ยวรั้งไว้
“ตลอดเวลาเกือบห้าสิบปีที่เรารู้สึกน้อยใจแม่ เพราะเชื่อว่าแม่ไม่รักเรา เคยเผชิญช่วงชีวิตที่จะฆ่าตัวตายมาแล้ว พอเราเริ่มต้นเรียนโค้ชชิ่ง เราก็จะได้รับการโค้ชก่อน ซึ่งทำให้ค้นพบว่า การที่เราน้อยใจโชคชะตา เพราะเราอาจไม่ได้มองมุมอื่น พอเราถูกท้าทายให้กลับไปกราบแม่ เราก็เหมือนได้แม่คืน หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าใจตนเองมากขึ้นว่า เหตุผลที่เราทำงานหนักและอารมณ์ร้ายเพราะว่าเราไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า พอปลดล็อคเรื่องแม่ได้ก็รู้สึกนิ่งขึ้น และยอมรับพ่อได้มากขึ้นด้วย เหมือนเราได้พ่อแม่กลับคืนมาในชีวิตอีกครั้ง”
ปัจจุบันโค้ชอ้อมทำงานในฐานะ Faculty ของ Thailand Coaching Academy (TCA) และเป็น Founder & Executive Coach ที่Courage to Coach รายได้หลักที่หล่อเลี้ยงร่างกายมาจากการทำหน้าที่เป็นครูสอนโค้ช และการโค้ชคนอื่น ส่วนสิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจคือ การได้แบ่งเวลาไปทำงาน “โค้ชจิตอาสา” ปีละอย่างน้อย 30 วันให้กับหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร หน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ เพราะความสุขจากการได้ช่วยเติมเต็มหัวใจความเป็นมนุษย์ทำให้หัวใจของเธออิ่มเอมมากยิ่งขึ้น
บนเส้นทางการช่วยคนอื่น เราต้องช่วยตัวเราก่อน เราจะได้มีพลังส่งกำลังใจไปให้เขาได้ บนเส้นทางสายนี้เรามีครูเยอะมาก สิ่งที่เราได้จากครูก็คือการส่งมอบความสุขให้คนอื่นต่อไป นี่คือความสุขของ Life Coach
หากเปรียบชีวิตของคนทุกคนคือถนน ถนนชีวิตของบางคนอาจตรงดิ่งไปยังจุดหมายปลายทางที่ฝันไว้โดยปราศจากหลุมบ่อใดๆ แต่ถนนชีวิตของบางคนอาจวกวนไปมาเหมือนอยู่ในเขาวงกตที่ไม่รู้ปลายทางแห่งความสำเร็จในชีวิตอยู่ตรงไหน หากใครกำลังรู้สึก “หลงทาง” ให้ลอง “หยุดก้าวเดินสักพัก” เพราะถ้าเดินต่อไปก็อาจเหนื่อยจนหมดแรงก่อนจะเจอทางออกที่ต้องการ แต่หากลองหยุดเดิน คุณอาจมองเห็น “ทางแยก” อีกมากมายให้คุณเลือกเดินบนถนนสายใหม่ที่ “ใช่คำตอบ” ที่คุณตามหามานาน เช่นเดียวกับถนนสายความสุขของโค้ชอ้อม Life Coachคนนี้
ขอบคุณภาพจากโค้ชอ้อมมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ