ไอคิโด…เรียนรู้การแพ้เพื่อชนะ
เมื่อพูดถึงศิลปะการป้องกันตัว ไอคิโดเป็นศาสตร์ที่คนไทยยังไม่นิยมแพร่หลายมากนัก หากเทียบกับเทควันโดหรือกีฬาประเภทอื่นๆ ที่มีการแข่งขันทั่วไป เพราะไอคิโดเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่ไม่มีการแข่งขันกับผู้อื่น แต่เป็นศาสตร์ของการ “แข่งขันกับตนเอง” โดยผู้เรียนจะได้ค้นพบกับความเปลี่ยนแปลงภายในจิตใจตนเองมากขึ้นจนรู้ว่า “ศัตรูที่แท้จริง” ไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก “ความคิด” ของตัวเรานั่นเอง
รักชนก ชยุตม์กุล หรือ ครูป๋อม เริ่มฝึกไอคิโดตั้งแต่ปี 2538 หรือ 22 ปีที่แล้ว ในเวลานั้นเธอต้องทำงานลงชุมชนตามเทือกเขาสูงและชนบทห่างไกล จึงอยากเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตัวเอาไว้ใช้ยามตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัย แต่หลังจากเริ่มต้นศึกษาศาสตร์ไอคิโด เธอก็เริ่มหลงรักศาสตร์นี้อย่างจริงจัง และมุ่งมั่นฝึกฝนจนสามารถสอบเลื่อนขั้นจนถึงสายดำ ซึ่งเป็นลำดับสูงสุดของการเรียนไอคิโดและใช้ชีวิตเป็นครูสอนไอคิโดในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน
ครูป๋อมเล่าว่า ตอนเริ่มต้นเรียนไอคิโดเพราะกลัว “คนอื่น” เข้ามาทำร้าย แต่เมื่อได้เรียนจนเข้าใจหลักปรัชญาอันลึกซึ้งของไอคิโดแล้ว จึงรู้ว่า “ศัตรูที่แท้จริง” คือตัวเรานั่นเอง
“ตอนนั้นทำงานในป่า ต้องอยู่กับทหาร แล้วเราเป็นผู้หญิง เพื่อนก็บอกให้เราหาศิลปะป้องกันตัวไว้หน่อย แต่ไม่รู้จะไปเรียนอะไรดี เพราะชกมวยต้องใช้พละกำลัง เราก็ไม่สนใจ เลยลองเรียนไอคิโดดู เริ่มต้นเรียนกับอ.สมบัติ ตาปัญญา และอ.ธีระรัตน์ บริพันธ์กุล อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนแรกตั้งใจจะเรียนเพื่อเอาไว้ใช้ป้องกันตัว แต่เรียนไปเรียนมาก็พบว่า การป้องกันตัวที่ดีที่สุด คือ การที่เราไม่ไปขัดแย้งกับใคร และเข้าอกเข้าใจคนอื่น ซึ่งศาสตร์ไอคิโดสอนให้เราป้องกันตัวด้วยวิธีคิดแบบนี้เป็นพื้นฐาน”
ฝึกล้มเพื่อลุก
คนทั่วไปมักเข้าใจว่า ในการต่อสู้ระหว่างคนสองคน หากฝ่ายหนึ่งล้มลงก่อน คนนั้นคือผู้แพ้ แต่ในการเรียนไอคิโดแล้ว “การล้ม” ไม่ได้หมายความว่า “การแพ้” เพราะหากใครสามารถล้มแบบไม่เจ็บตัว แล้วลุกขึ้นมาต่อสู้ด้วยก้าวย่างอันมั่นคง คนนั้นอาจก็จะเป็นผู้ชนะในที่สุด ดังนั้น การฝึกแรกที่ผู้เรียนไอคิโดจะต้องทำจนเคยชิน คือ การฝึกล้มให้ถูกต้อง
สิ่งที่ทุกคนต้องฝึกก่อนอื่นเลยคือฝึกล้มให้เป็น ล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ การล้มไม่ได้หมายความว่าเราแพ้ หรือเราสูญเสีย เราล้มในท่าที่ปลอดภัยแล้วก็ลุกขึ้นมาอย่างสง่างามก็เหมือนชีวิตคนเรา บางทีเราก็ล้มแต่ไม่ใช่ว่าเราล้มไปตลอดชีวิต พอล้มเป็นแล้วก็ต้องเรียนรู้ท่าการทรงตัว ทำยังไงถึงจะทรงตัวได้ดี เราก็ต้องทรงใจของเราให้มั่นคงก่อน ถ้าเรามัวแต่คิดอยากเอาชนะคนอื่น อยากให้เขาเจ็บตัว ใจของเราก็ไม่มั่นคง เราก็จะทรงตัวไม่ได้
ครูป๋อมกล่าวถึงปรัชญาอันลึกซึ้งที่แฝงไว้ในแต่ละท่าฝึกไอคิโดซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตคนเราได้เช่นกัน ยิ่งฝึกฝนเท่าไหร่ ทักษะการใช้ชีวิตก็จะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นตามไปด้วย เพราะศาสตร์ไอคิโดมีความสัมพันธ์กับความคิดอย่างชัดเจน
“เราต้องคิดให้เป็นธรรมชาติ ถ้าเราทำท่าถูกต้อง คิดถูกต้อง เราจะทรงตัวได้ ถ้าเราคิดออกนอกลู่นอกทางก็จะทำท่าไม่ถูก อย่างเช่น เราคิดจะหมุนไปพร้อมเขา แต่ว่าระยะห่างของเรากับเขาไม่เหมาะสม เราไม่ได้เรียนรู้ระยะห่างที่ถูกต้อง และเมื่อคิดจะพยายามดึงเขาให้ล้มลง เราก็จะล้มเอง เหมือนกับว่ายิ่งเราคิดเคียดแค้นเขามากเท่าไหร่ ใจเราก็ไม่มั่นคง ทรงตัวไม่ได้ ทำท่าไม่ถูกต้อง เราก็จะแพ้ภัยตัวเอง
“การทรงตัวนี้คือการหาจุดที่ทำให้ตัวเองมั่นคงก่อน มันไม่ใช่การที่เราไปเอาชนะคนอื่น เป็นการสร้างความมั่นคงของตัวเอง คนที่เปิดใจที่จะเรียนรู้ รับรู้เรื่องของคนอื่น รับรู้สภาพแวดล้อม รับรู้จิตใจของคนอื่น ศาสตร์ของไอคิโดเป็นการฝึกสมาธิขั้นสูง เหมือนฝึกสมาธิเข้าไปก็รู้จักตัวเอง”
ประโยชน์ของการล้มถูกท่าจะช่วยลดอาการบาดเจ็บของร่างกายจนถึงขั้นแขนหรือขาหัก รวมทั้งหัวกระแทกจนสมองได้รับความกระเทือนอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะบางครั้งเราอาจเดินสะดุดหรือถูกใครวิ่งมาชนจนล้มลง หากเราฝึกล้มจนเคยชิน เราก็จะ “ล้มเป็น” แล้วสามารถลุกขึ้นยืนอย่างปลอดภัยด้วยตนเอง
อ่านความคิดคู่ต่อสู้
“ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” คือ การเผชิญหน้ากันแบบนักเลงที่เชื่อว่านี่คือศักดิ์ศรีที่ยอมกันไม่ได้ แต่หากใครได้เรียนไอคิโดจะพบกับการสอนในสิ่งที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ครูป๋อมอธิบายให้ฟังว่า การเอาชนะคู่ต่อสู้ไม่ได้เกิดจากคนที่มีกำลังเหนือกว่าจู่โจมเข้าใส่อีกฝ่าย แต่เกิดจากคนที่ “ความคิดเหนือกว่า” อ่านใจของอีกฝ่ายได้ ถึงจะเป็นผู้ชนะหรือเอาตัวรอดจากอันตรายได้
“อาจารย์สอนว่า ถ้าเราอยากรู้จักเขาหรือความคิดของเขา เราต้องไปยืนฝั่งเดียวกับเขา ในการฝึกจะมีท่า Exercise ที่เราต้องไปยืนฝั่งเดียวกับคู่ของเรา นอกจากนี้เราต้องเรียนรู้ความคิดของอีกฝ่ายผ่านการสัมผัส เช่น ท่าทางของไอคิโดจะต้องมีการเข้าไปจู่โจม เข้าไปจับ สัมผัสทางกาย มันจะมีพละกำลังฝ่ายตรงข้ามส่งมาให้เรา เราก็จะอ่านแรงเขาได้ ถ้าฝึกไปเยอะๆ จะสามารถอ่านความคิดความรู้สึกของคู่ต่อสู้ได้ ทั้งจากการพูดและจากสายตา ถ้าใช้พละกำลังอย่างเดียวจะทำไม่ได้ ต้องใช้พลังจากภายในร่วมด้วย เราต้องรู้ว่าเขาส่งแรงมาทางไหน แล้วเราควรจะไปทางไหน ต้องคิดก่อนลงมือ แต่บางคนยังไม่ทันคิดก็ใช้แรงตัวเองเข้าไปก่อน ใช้ความคิดแต่จะห้ำหั่นพุ่งเข้าไป ผลสุดท้ายก็จะแพ้กลับมา”
หลักการสำคัญที่ทำให้คนตัวเล็กกว่าสามารถเอาชนะคนตัวใหญ่กว่า คือ “การสลายแรง” คู่ต่อสู้ ซึ่งในกระบวนการฝึกไอคิโด ผู้เรียนจะได้ฝึกวิธีการสลายแรงจากการจู่โจมหลากหลายรูปแบบ
“บางคนที่มีพละกำลังมากก็จะใช้กำลังตัวเองเข้าไปแก้ไข แต่คนที่ไม่มีพละกำลังก็จะอ่านแรงว่า แรงมันมาแบบไหน เราควรจะสลายแรงตรงนั้นยังไง อย่างเช่น คนที่ทะเลาะกันตะโกนใส่กัน ถ้าเราไปตะโกนกลับมันก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าคนเขาตะโกนมาแล้วก็ยอมรับฟัง เขาก็จะสงบไปเอง ก็เหมือนไอคิโดบางทีแรงเข้ามา เราก็สลายแรงตอนนั้น ลองดันกำปั้น อันนี้ต่างคนต่างออกแรง แต่ถ้าเรายอมผ่อนแรงนิดนึง เราก็สลายแรงของเขาได้ เพราะเขาจะเสียหลักและทำให้เราสามารถนำแรงเขาไปอีกทางได้ เหมือนกับคนที่จ้องทำร้ายคนอื่นก่อน แล้วสุดท้ายตัวเองก็ล้มเอง”
ปัจจุบันการฝึกไอคิโดยังไม่เป็นที่แพร่หลายในเมืองไทย เพราะเป็นศาสตร์ที่ไม่มีการแข่งขัน และผู้คิดค้นเองก็ไม่ได้กำหนดให้เป็นกีฬาเพื่อเอาชนะผู้อื่น แต่ต้องการให้แข่งกับตัวเอง โดยมีการสอบสายเพื่อวัดระดับฝีมือของตนเอง ถ้าเป็นการสอบสายของญี่ปุ่นจะมี 5 ขั้นก่อนจะถึงสายดำ ซึ่งเป็นสายสูงสุด ส่วนของไทยจะมี 10 หรือ 11 ขั้น
ยิ่งเรียนสูงเท่าไหร่ สิ่งที่ทำให้ครูป๋อมพบความสุขมากขึ้นกลับไม่ใช่ “ความเก่ง” แต่เป็น “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” เพราะเมื่อรู้สึกว่าตนเอง “ไม่เก่ง” นั่นหมายความว่า อัตตาก็จะลดลงตามไปด้วย และโอกาสที่จะขัดแย้งกับผู้อื่นจนทำให้ตนเองไม่ปลอดภัยก็จะน้อยลงเช่นกัน
ตอนนั้นคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่จริงๆ เรายังไม่เข้าใจศาสตร์ไอคิโดที่แท้จริง เลยต้องเริ่มต้นคิดใหม่หมดเลยเริ่มจากศูนย์ ก่อนหน้านั้นเรารู้สึกว่า เอาวิชาไว้ป้องกันตัว เรายิ่งเรียนทำท่าได้เพิ่มมากขึ้น เราก็เหมือน Ego เราเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่พอเราทำจริงแล้วมันไม่ได้ เลยต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่าทำไมเราคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว แต่ทำไมเราทำไม่ได้
“พอฝึกไปแล้วมันท้าทายว่าเราทำไม่ได้ ก็เลยมาฝึกเพื่อที่จะรู้ว่าทำไมเราทำไม่ได้ เพื่อที่จะค้นหาตัวเอง พอฝึกไปแล้วมันมีความสุขและได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ได้อ่านความผิดเพื่อน ได้อ่านแรงเพื่อน จนได้รู้ว่าสิ่งที่ทำให้เราไม่ปลอดภัยคือความคิดเรา ซึ่งคิดว่าตัวเองดีที่สุด ทำให้เราไม่ทำความเข้าใจคนอื่น และไปสร้างศัตรูความคิด จนนำไปสู่ความรู้สึกเคียดแค้น ไม่พอใจ คิดอย่างอื่นไปเรื่อยๆ จนทำให้เราไม่ปลอดภัย เวลาที่เราต้องเผชิญสถานการณ์ความขัดแย้ง สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ หยุดความคิดที่จะทำให้เราไม่ปลอดภัย และค่อยๆ พิจารณาว่าเราจะจัดการสถานการณ์นั้นยังไง”
ปกป้องตัวเองแต่ไม่ทำร้ายผู้อื่น…
หลังจากฝึกไอคิโดนานวันเข้า ครูป๋อมก็พบว่า บุคลิกของตนเองเปลี่ยนแปลงไปมากจากคนที่ขาดความมั่นใจในตนเองสู่คนที่มีความกล้าพูด กล้าลงมือทำมากขึ้น
สมัยก่อนเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าโต้ตอบกับใคร ไม่กล้าจ้องตาใคร ความมั่นใจในตัวเองมีน้อยมากๆ ไม่กล้าไปพูดในที่ชุมชน แต่หลังจากที่เราเรียนไอคิโด เรามีความมั่นใจเพิ่มขึ้น การสร้างบุคลิกภาพของตัวเองให้เป็นคนที่ไม่หงอจนเกินไป และก็ไม่กร่างจนเกินไป เมื่อกร่างก็คือเราทำตัวเองให้ไม่ปลอดภัย
หลักการสำคัญของการเรียนไอคิโด ไม่ใช่การใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น แต่คือการปกป้องตนเองให้ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ การเรียนไอคิโดจึงเหมาะกับเด็กตัวเล็กที่มักถูกเพื่อนตัวใหญ่รังแกหรือเด็กผู้หญิงที่ควรเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดจากสถานการณ์ไม่ปลอดภัย เพราะในสังคมปัจจุบันโอกาสที่เด็กผู้หญิงจะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นในเด็กที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ
ครูป๋อมกล่าวถึงอายุที่เหมาะสมสำหรับเริ่มเรียนคือเจ็ดปีขึ้นไป เพราะถ้าเล็กกว่านั้น กระดูกยังไม่แข็งแรง หากเกิดการดึงแขนจนกระดูกหลุดออกจากเบ้าจะเป็นอันตรายมาก ในการฝึกไอคิโดสิ่งที่ครูจะต้องเน้นย้ำกับเด็กทุกคน คือ การไม่ทำให้เพื่อนบาดเจ็บ โดยสอนให้เด็กทุกคนรู้ถึงพละกำลังของตนเอง
“เวลาเราสอนเด็กคู่กัน เราก็จะทำให้เขารู้ว่า ถ้าทำแบบนี้เขาเจ็บไหม แล้วถ้าเราทำเพื่อนเจ็บ เราสงสารเพื่อนไหม เพราะฉะนั้นเด็กแต่ละคนเขาก็จะดูเพื่อนเขาว่า เพื่อนเขาเจ็บได้มากน้อยแค่ไหน เขาก็จะไม่ทำให้เพื่อนเจ็บ ถ้าเราเจอคนที่รุนแรงกับเรา เราจะทำยังไงถึงจะลดความรุนแรงตรงนั้นโดยไม่ทำให้เขาบาดเจ็บ เวลาสอนเรื่องนี้ เราต้องสอนให้เขาเข้าใจว่าจริงๆ แล้ว การให้รุนแรงมันทำให้ข้างในของอีกคนรู้สึกไม่ดี สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือความคิด เพราะมันคือจุดเริ่มต้นของความรุนแรง เราจึงต้องสอนเรื่องการปรับวิธีคิดไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงก่อนเป็นอันดับแรก”
หลังจากก้าวขึ้นสู่สายดำซึ่งเป็นระดับสูงสุดของการเรียนไอคิโดแล้ว เมื่อบรรดานักไอคิโดสายดำมาเจอกันอาจมีการประลองกำลังกันแบบไม่มีการแข่งขันจริงจัง โดยในวงการไอคิโดจะถือว่า “ผู้ชนะที่แท้จริง” คือ คนที่ทำให้คู่ต่อสู้ล้มลงโดยไม่ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง หรือ “แพ้ภัยตนเอง”
การเรียนไอคิโดจึงไม่ใช่เป็นเพียงการออกกำลังกายหรือการเรียนรู้ศิลปะการป้องกันตนเอง หากยังเป็นการเรียนรู้ปรัชญาการใช้ชีวิตที่แฝงมากับท่าฝึกต่างๆ โดยเฉพาะ “ท่าล้ม” เพราะในชีวิตของคนเราย่อมต้องมีวันล้มลุกคลุกคลานยามเจออุปสรรค แต่หากเราได้ฝึกการล้มอย่างถูกวิธี เราก็คงจะไม่บาดเจ็บมากเกินไป และสามารถกลับมาลุกขึ้นยืนด้วยสองขาที่มั่นคง เพราะการล้มไม่ได้หมายความว่าเราพ่ายแพ้เสมอไป แต่เป็นการแพ้เพื่อชนะในก้าวต่อไปนั่นเอง
ขอบคุณภาพประกอบจากครูป๋อมมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ