ลมหายใจแห่งความสุขของครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ
เมื่อเอ่ยชื่อครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีปและเจ้าของรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะปี 2521 หลายคนคงนึกถึงผู้หญิงตัวเล็กแววตามุ่งมั่นกล้าต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวชุมชนแออัดหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “สลัมคลองเตย” ตลอดเวลากว่าห้าสิบปีที่ผ่านมา ผู้หญิงคนนี้ทำหน้าที่ “ครู” ทุกลมหายใจเข้าออก เฝ้ามองหาโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้นให้กับเด็กด้อยโอกาสมากที่สุดของเมืองหลวง เพราะรอยยิ้มของเด็กๆ เป็นดั่งอากาศอันสดใสที่ทำให้ทุกเช้าวันใหม่เริ่มต้นด้วยความสุขและมีกำลังใจต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของคนด้อยโอกาสมาตลอดชีวิตของครูวัยกว่าหกสิบปีท่านนี
“เราพยายามแสวงหาช่องทางที่จะช่วยบรรเทาปัญหาของผู้ยากไร้ อยากทำสิ่งที่ขาดหายไปจากสังคมไทย คือความเท่าเทียมกันในสังคม”
ครูประทีปกล่าวถึงเหตุผลที่เลือกเดินบนเส้นทางนี้มาตลอดชีวิต เมื่อถูกตั้งคำถามถึงจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจ หญิงสูงวัยอมยิ้มก่อนจะเริ่มต้นเล่าเรื่องราวในวัยเยาว์ให้ฟังว่า
“แม่ชอบพาไปวัด เราจึงเชื่อว่าถ้าทำดีจะมีผีคุ้ม และเพราะเราได้รับการหล่อหลอมให้ทำงานแต่เล็กๆ จากเตี่ย เราจึงไม่กลัวความลำบาก ยิ่งเห็นความไม่เป็นธรรมก็ยิ่งรู้สึกทนไม่ได้ที่จะละเลยมัน เวลาเห็นเพื่อนถูกรังแกอย่างไม่เป็นธรรม เราก็อยู่ข้างคนที่ถูกรังแกเสมอ”
เมล็ดพันธุ์รักความยุติธรรมค่อยๆ เติบโตในใจเด็กหญิงประทีปตามวัยที่เติบใหญ่ จนเธอเริ่มมีความฝันอยากเป็น “ครู” เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กในชุมชนตนเอง ทุกครั้งที่เจอสายตาและคำพูดดูถูกเหยียดหยามจากคนในสังคมที่มีต่อ “เด็กสลัม” ต้นไม้แห่งความรักความเป็นธรรมก็ยิ่งแผ่กิ่งก้านสาขาออกไปจนเธอกลายเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแถวหน้าของเมืองไทยในเวลาต่อมา
“สมัยยังเด็กภาษาราชการที่ใช้เรียกพวกเราไม่ใช้คำว่า‘ สลัม’ แต่ใช้คำว่า ‘แหล่งวิบัติ’ หรือ ‘แหล่งเสื่อมโทรม’ เราก็ต้องกล้ำกลืนฝืนทน ไปเที่ยวไหน เวลาขึ้นรถเมล์ กระเป๋ารถเมล์ก็ยังมาดุเรา มองว่าเป็นเด็กเหลือขอ เด็กสลัมส่วนใหญ่มักจะได้รับสายตาดูถูกหรือคำพูดอะไรแบบนี้แหล่ะ”
หากเปรียบชนชั้นของคนในเมืองใหญ่เหมือนกับรูปทรงพีระมิด กลุ่มคนที่อยู่บนยอดแหลมคือคนรวยล้นฟ้าที่มีอยู่เพียงหยิบมือเดียว ส่วนคนที่อยู่บนปลายฐานกว้างที่สุดคือคนยากจนที่หาเช้ากินค่ำ ซึ่งรวมถึงชุมชนแออัดอย่างสลัมคลองเตยซึ่งเป็นแหล่งงานราคาถูกที่ช่วยหนุนเสริมให้ธุรกิจไทยก้าวไกลสู่การแข่งขันสากล นับตั้งแต่เรียนจบครูตามที่ตั้งใจ ครูประทีปตัดสินใจเลือก “ปักหลัก” เป็นครูเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กในชุมชนที่ตนเองเติบโตขึ้นมาตั้งแต่วันแรกมาจนถึงวันนี้ เพราะมีความสุขที่ได้เห็นคนที่อยู่บนฐานพีระมิดได้รับโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ
การสอนหนังสือให้เด็กอ่านออกเขียนได้ เราก็รู้สึกดีนะ เด็กที่ไม่มีใบเกิดเข้าเรียนไม่ได้ เราห่วงอนาคตของเด็ก เราก็ไปติดต่อที่ต่างๆ แม้เราจะถูกปรามาสบ้าง แต่อย่างน้อยเราก็ทำให้เด็กเข้าเรียนได้ เราสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น พอเห็นสิ่งใดที่มันดีขึ้นก็มีความสุข เห็นเด็กที่ติดยาเลิกยาได้เราก็ดีใจ
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มเป็นครูวันแรกในชุมชนคลองเตยแห่งนี้ ครูประทีปไม่เคยหยุดพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กในชุมชนที่ด้อยโอกาสที่สุดของเมืองหลวง ตรงกันข้ามกลับพยายาม “ยกระดับ” คุณภาพการศึกษาให้เทียบเท่ากับคนที่มีฐานะ จนชุมชนที่ถูกมองว่าเป็น “แหล่งเสื่อมโทรม” มีการศึกษาแนวมอนเตสเซอรี่ในระดับเด็กอนุบาล และกำลังจะมีหลักสูตรห้องเรียนภาษาอังกฤษในอนาคตอันใกล้ โดยหาทุนสนับสนุนจากภายนอกมาช่วยเหลือเพื่อให้เด็กในครอบครัวหาเช้ากินค่ำได้มีโอกาสทางการศึกษาและอาชีพที่ดีขึ้น
ความสุขของครูประทีปคือการได้เห็นโอกาสทางการศึกษาของเด็กในชุมชนที่ด้อยโอกาสมากที่สุดของเมืองหลวงเท่าเทียมกับเด็กที่มีโอกาสดีกว่า“หลักสูตรห้องเรียนภาษาอังกฤษจะสอนร่วมกับแนวมอนเตสเซอรี่ หากเราปลูกฝังตรงนี้ได้ โตขึ้นไปเด็กก็จะมีอนาคตที่ดี ตอนนี้มีครูชาวออสเตรเลียมาวางหลักสูตรให้ เริ่มต้นทำมา 2 ปีแล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ถ้าหากเราอยู่แค่ประเทศไทย เราไปไม่รอด โดยเฉพาะเด็กยากจน หากจบแล้วไม่สามารถมีงานรายได้ดีก็จะกลับไปสู่วงจรอุบาทว์ (โง่ จน เจ็บ) แต่ถ้าหากเด็กเก่งภาษาอังกฤษและคอมพิวเตอร์ เขาสามารถทำงานทั่วโลกได้โดยไม่ต้องจบอะไรสูง ยิ่งถ้าเป็นคนขยัน ซื่อสัตย์ ไปไหนก็มีแต่คนอ้าแขนต้อนรับ หากเราสามารถวางรากฐานการศึกษาที่ดีให้กับเด็กได้ มันก็จะเห็นผลภายใน 10 ปี”
ทุกครั้งที่ได้เห็นเด็กหลายคนมีโอกาสก้าวเดินไปตามความฝันของตนเองจนสุดทาง หัวใจของครูท่านนี้จะรู้สึกอิ่มเอมใจยิ่งนัก บางคนได้ทุนเรียนจบจนถึงปริญญาเอก และกลับมาเป็น “ไอดอล” สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นต่อไปก้าวเดินตาม แต่ทว่า ไม่ใช่เด็กทุกคนที่มีโอกาสโบยบินตามหาความฝันของตนเองจนเจอ เพราะบางครั้งปีกความฝันอาจเจอพายุลูกใหญ่ที่พัดโหมกระหน่ำเข้ามาจนหมดแรงบินต่อไป
ครูประทีปกล่าวถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เด็กในชุมชนแออัดคนหนึ่งประสบความสำเร็จในชีวิตว่า
“ปัจจัยสำคัญอันดับแรกคือครอบครัว บางครอบครัวคิดแต่ว่าให้เรียนหนังสือแค่นี้ เป็นอาชีพยามก็พอแล้ว นี่เป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กไม่สู้ชีวิต บางครอบครัวถ้าพ่อแม่เข้าใจเรื่องการรักลูกให้ถูกทาง แม้ยากจนก็เป็นไปได้ ถ้าคนเรามีความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ เราก็จะเลี้ยงลูกให้แก้ปัญหาที่เขาเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเราก็พยายามสื่อสารกับกลุ่มผู้ปกครอง พยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างดีที่สุด ที่สำคัญอีกอย่างคือตัวของเด็ก เราหาตัวอย่างรุ่นพี่ที่ดี มอบทุนการศึกษาเป็นรางวัล การเชิดชูก็เป็นเรื่องสำคัญมาก ให้เขาเป็นวัยรุ่นที่ดี เป็น “เยาวชนคนดีต้นแบบของชุมชน”
จวบจนทุกวันนี้ ครูประทีปยังคงมุ่งมั่นทำงาน มีโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและคนยากไร้กว่า 20โครงการ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กในชุมชนคลองเตยและถิ่นทุรกันดารอย่างไม่ย่อท้อ ผมสีดำในวัยสาวอาจเปลี่ยนเป็นสีดอกเลาต่างไปจากเดิม ทว่าไฟแห่งความหวังกลับยังไม่เคยดับมอดลง แม้ว่าหลายช่วงจังหวะในชีวิตอาจเดินสะดุดล้มลงจนเกิดความท้อใจไปบ้าง แต่หลังจากพยุงตัวขึ้นมาเดินได้ใหม่ สองขาที่ก้าวย่างไปข้างหน้าก็เริ่มมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ
ช่วงวัยหนุ่มสาวบางช่วงเคยอยากจะเลิก อยากจะทิ้งไป แต่มีคำถามในหัวดังขึ้นว่า ตัวเองทั้งเกิดและเติบโต รู้ปัญหาดี ยังอยากทิ้ง แล้วจะให้ใครเขามาทำ ทุกอย่างมันปรับที่ความคิดของเรา เวลาเราเผชิญปัญหาที่ถาโถม หากเราไม่ตั้งสติแล้วมีความคิดที่แข็งกว่ามาต้าน เราก็จะไหลลื่นไปกับความกดดัน แล้วเราก็จะแพ้ไป หากการทำงานผิดพลาด เราพยายามไม่ให้งานกลายเป็นดาบไปทิ่มแทงข้างนอกหรือตัวเอง ถ้าผิดพลาดก็แก้ไขกันได้ และพยายามอย่าให้มันเกิดอีก ใช้ความยืดหยุ่นและความเข้าใจทำให้เราไม่ไปเครียดกับมัน ลดความเร็วลง ก้าวต่อไปเรื่อยๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป
“พอถึงวัยกลางคน เรามองปัญหาว่าเดี๋ยวมันก็แก้ได้ ใช้แนวคิดพุทธเข้ามาว่าทุกอย่างเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เราก็คิดว่าทุกอย่างมีการคลี่คลายขยายตัว พออายุเยอะขึ้นก็เริ่มหาสมดุล เริ่มมองมุมกลับแบบองุ่นเปรี้ยวมะนาวหวาน ลดความคาดหวัง ลดความอยาก เริ่มพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่มากขึ้น ใช้การมองแบบสถานการณ์ว่าในสถานการณ์นั้นมันก็เป็นแบบนี้แหละ มันก็ทำให้เราวางได้ เมื่อก่อนรู้สึกว่าเราเป็นคนก้าวร้าว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เห็นความอยุติธรรม แต่พออายุมากขึ้นประสบการณ์ก็สอนให้เราหัดถอย เวลามันก็จะทำให้คลี่คลาย วิธีคิดต่าง ๆ ก็จะทำให้เราเบาลง”
แม้ว่าปัญหาของชุมชนแออัดจะมีมากมายให้คิดแก้ไขไม่รู้จบ แต่ทุกๆ เช้าวันใหม่ ครูประทีปก็ยังมีความสุขที่ได้รดน้ำพรวนดิน “ดอกไม้แห่งโอกาส” ให้กับท้องทุ่งที่คนภายนอกมองว่าเป็น “แหล่งเสื่อมโทรม” ที่สุดของเมืองหลวงอยู่เสมอ
“เวลาเห็นเด็ก ครู ชาวบ้านมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เรามองไปตรงไหนก็มีความสุขไปหมดเพราะเราไม่ได้มองแบบทุกข์ แต่มองพัฒนาการที่ดีขึ้น อะไรที่มันเป็นปัญหาอยู่ก็แก้ไขต่อไป ทุกวันนี้ก็เลยมีความสุขได้ทุกวัน”
ขอบคุณภาพจากมูลนิธิดวงประทีป