8 ช่องทางความสุข

เชฟเต้น…หญิงสาวผู้หลงรักขนมหวาน

จุดเริ่มต้น…สำหรับบางคนเพราะโอกาส แต่นั่นไม่ใช่ข้ออ้างหากไม่มีความรัก และความพยายามจนถึงฝั่งฝัน เส้นทางเดินกว่าจะได้เป็นเชฟขนมหวานของทะเลจันทร์ บุณยรักษ์ หรือ “เต้น” อาจเริ่มต้นด้วยโอกาสที่ดีกว่าคนอีกหลายคน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จจะโปรยด้วยกลีบกุหลาบอันหอมหวานเสมอไป เพราะหากเธอไม่ได้มีหัวใจรักการทำขนมหวานจนหมดใจแล้ว เธอก็อาจไม่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของร้านขนมสไตล์ฝรั่งเศสที่หลายคนอยากแวะไปลิ้มลองมากที่สุดร้านหนึ่งในทุกวันนี้อย่างแน่นอน

สาวน้อยหน้าหวานคนนี้เป็นบุตรสาวของนักเขียนชื่อดัง “วดีลดา เพียงศิริ”  ซึ่งเคยเปิดโรงเรียนอนุบาลในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่มีความสุขตั้งแต่วัยเด็ก เธอจึงได้รับการสนับสนุนให้ทำในสิ่งที่รักอย่างเต็มที่  เต้นเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ “รักแรกพบ” ระหว่างเธอกับการทำขนมให้ฟังว่า

“ขนมที่หัดทำครั้งแรก คือ บราวนี่ จำได้ว่าทุกครั้งที่ไปบ้านอาม่าอากง อาอึ้ม (ป้าสะใภ้)ทำบราวนี่กับเอแคลร์ให้กินแบบสดๆ ใหม่ๆ อร่อยมาก  เราจึงเริ่มชอบความรู้สึกที่ขนมเพิ่งเอาออกมาจากเตาอบแล้วได้กินตอนนั้นเลย ยิ่งถ้าทำเองก็ยิ่งรู้สึกดีมากๆ”

“อาอึ้ม” จึงนับครูคนแรกที่นำพาเธอเข้าสู่เส้นทางเชฟ  เธอได้เรียนทำเค้กบราวนี่สูตรพิเศษของอาอึ้มและนำกลับมาทดลองทำเองที่บ้านในเชียงใหม่ เธอยังจำได้ดีถึงความรู้สึกครั้งแรกเมื่อนำขนมออกจากเตาอบร้อนๆ เสิร์ฟให้สมาชิกในครอบครัวได้ลิ้มลอง

“เวลาคนกินขนมของเรา เราก็จะมีความสุขมาก ลุ้นว่าเขาจะอร่อยไหม ถ้าเขาชอบก็ดี หรือเอาไปให้ที่บ้านทานก็มีความสุข  เคยทำโปรเจคทำบราวนี่ขาย แล้วเอาเงินที่ได้มาไปบริจาคให้กับเด็กที่ผ่าตัดโรคหัวใจเหมือนกัน ที่ “มูลนิธิเด็กโรคหัวใจ” เพราะเราก็เป็นโรคหัวใจและเคยผ่าตัดใหญ่เหมือนกัน”

หลังจบมัธยมปลายเพื่อนส่วนใหญ่มุ่งมั่นสอบเข้ามหาวิทยาลัยเรียนให้จบปริญญาตรีตามสาขาที่ชอบ แต่เต้นกลับนึกไม่ออกว่าจะสอบเข้าคณะอะไร เธอรู้แต่ว่า เธอชอบทำขนม และมีความสุขกับการอ่านตำราทำอาหารจนวางไม่ลง เธอจึงตัดสินใจขอไปเรียนทำขนมที่สถาบันเลอ กอร์ดองเบลอ ปารีส ใช้เวลาเรียนอยู่ที่นั่น 7-8 เดือน

แม้ว่าเต้นจะโชคดีกว่าอีกหลายคนที่มีครอบครัวพร้อมสนับสนุนให้เธอเดินตามความฝัน แต่หากเธอไม่ได้ลงมือทำด้วยความรักและความมุ่งมั่น เธอก็คงเป็นแค่ “คุณหนู” คนหนึ่งที่ถือใบประกาศจากสถาบันสอนทำอาหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลกกลับมาประดับบ้านหนึ่งใบ

 “ตอนนั้นเราอายุแค่ 19 ปีเท่านั้น คนอื่นในคลาสคือคนที่เก็บเงินมาเรียนเพื่อจะเปลี่ยนอาชีพ เขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว ส่วนเราคือเด็กที่สุด ความยากคือความกดดัน ทั้งเรื่องเวลา ทักษะการทำอาหาร ภาษา และสภาพภูมิอากาศในต่างประเทศที่หนาวมาก เราเรียนหลักสูตรเข้มข้น ตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงสามทุ่มต้องทำงานอยู่ในครัว หลังจากนั้นต้องฝึกงานต่ออีก 3 เดือน”

หลังจบจากเลอ กอร์ดองเบลอ ปารีส เต้นเลือกไปเรียนปริญญาตรีการโรงแรมต่อที่สวิสเซอร์แลนด์อีก 3 ปีครึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เธอห่างหายไปจากการทำขนมอย่างจริงจัง  แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้เธอค้นพบคำตอบที่ชัดเจนให้ตนเองว่า เธอหลงรักการทำขนมมากเพียงใด  หลังจากเรียนจบจากสวิสฯ เต้นขอกลับไปที่ปารีสอีกครั้งเพื่อทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์อีกเกือบปี ซึ่งนับเป็นช่วงประสบการณ์ที่ทำให้เธอได้พิสูจน์ตนเองว่า เธอไม่ได้เป็นเพียงแค่ “คุณหนู” ที่ชอบทำขนมหวาน แต่เธอเป็น “เชฟมืออาชีพ” ที่พร้อมทุ่มเทความรักให้กับการเป็นเชพขนมหวานอย่างหมดหัวใจ

“เราได้รื้อฟื้นทุกอย่างอีกครั้งหนึ่ง เป็นผู้ช่วยเชฟต้องเตรียมการสอนทั้งหมด ได้อยู่กับเชฟตลอดการสอน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีมาก เรามีอะไรก็คุยกับเชฟ และต้องพูดภาษาฝรั่งเศส ต้องตื่นตัวและพัฒนาตัวเองอย่างมาก ทั้งเรื่องของภาษา เทคนิคการทำขนม ตื่นเช้าทุกวัน ขยันมากและต้องฟิตตลอดเวลา อาชีพนี้ต้องยืน ต้องเดินตลอด ยกแป้งครั้งละ 20 กิโล เราผ่านมาแล้ว ทำอะไรก็ได้แล้วตอนนี้ เราต้องทุ่มเทเพราะว่าเราชอบจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าเราเสแสร้งหรือผลัดไปวันๆ อาชีพเชฟไม่ใช่อาชีพที่ดูสวยหรู แต่เราต้องทำงานหนักและเสี่ยงอันตรายไม่น้อยไปกว่าอีกหลายอาชีพเหมือนกัน”

กว่าจะเป็นเชฟมืออาชีพ

เต้นกลับมาเมืองไทยอีกครั้งหลังจากได้รับประสบการณ์เป็นผู้ช่วยเชฟจนมีความมั่นใจมากขึ้น เธอเริ่มต้นสมัครงานที่โรงแรมห้าดาวแห่งหนึ่ง แต่แล้วอุบัติเหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในวันที่ต้องทดลองทำขนมตัวอย่างในการพิจารณาเข้าทำงาน

“เนื่องจากอุปกรณ์เป็นเตาแก๊สซึ่งเราไม่ชิน หม้อน้ำเดือดมันดันฝาขึ้นมาจนน้ำร้อนกระเด็นใส่แขนและคอเป็นแผลเป็นไปเลย ต้องรักษาตัวอยู่นานเป็นเดือนเหมือนกัน การทำงานอยู่ในครัว มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้เสมอ มีรอยแผลเป็นเต็มไปหมด ขนาดรองเท้าก็ต้องเป็นรองเท้าหนัก ๆ ชนิดกันมีดตกใส่ได้”

แม้ว่าจะเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจนทำให้ต้องรักษาตัวอยู่นานนับเดือน แต่เธอก็ยังอยากพิสูจน์ตนเองให้คนรอบข้างรู้ว่า เธอรักอาชีพนี้อย่างจริงจังและอยากเป็นเชฟที่สร้างสรรค์เมนูขนมหวานใหม่ๆ ด้วยตนเอง  ที่สำคัญเธอไม่ใช่ “คุณหนู” ที่ทำอะไรไม่เป็น ตรงกันข้ามเธอพร้อมจะทำงานหนักเพื่อพิสูจน์ตนเองให้เพื่อนร่วมงานยอมรับในความสามารถที่อยู่ภายในตัวเธอ

“เราไม่ยอมแพ้ง่ายๆ พอรักษาตัวหายแล้วก็ได้โอกาสทำงานที่ร้านขนมของบันยันทรี ชื่อร้าน goodies เราได้ครีเอทการทำขนมเอง แต่ก็ต้องเจอสังคมที่เราไม่คุ้นชิน ซึ่งไม่เหมือนที่เมืองนอก ที่นั่นทุกคนเป็นตัวของตัวเองไม่ต้องแคร์ใคร แต่พอกลับมาอยู่ในสังคมไทย เราก็ต้องแคร์คนอื่นและรู้จักประนีประนอม สิ่งที่เราทำได้คือการพิสูจน์ตัวเองทุกวัน ทำหน้าที่ให้ดี เข้างาน 6 โมงเช้า เราต้องตื่นตั้งแต่ตี 4ทำงานไม่ต่ำกว่า 11 ชั่วโมงทุกวัน ในที่สุดพี่ ๆ ที่ทำงานก็เริ่มยอมรับ ตลอดหนึ่งปีนั้นจึงเป็นการเรียนรู้ชีวิตจริง เรียนรู้สังคมมากกว่าเทคนิคการทำงานของเชฟ”

หนทางสู่การเป็นเชฟมืออาชีพเริ่มเปิดทางให้เธออีกครั้งเมื่อสถาบันกอร์ดอง เบลอ สาขาดุสิตธานีเสนอให้เธอเป็น  Chef de Partie  ทำหน้าที่เป็นผู้สอนอยู่ในคลาสฝึกสอนทำอาหารรวมกับเชฟฝรั่งเศส ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนักเพราะเธออายุน้อยกว่านักเรียนส่วนใหญ่ เธอจึงต้องทำให้นักเรียนยอมรับบทบาทความเป็นครูของเธอให้ได้ โดยต้องฝึกปรือฝีมือตัวเองให้เก่งมากพอที่จะสอนคนอื่น

หลังจากผ่านประสบการณ์เป็นเชฟร้านขนมของคนอื่น และเป็นครูสอนคนอื่นทำขนมมาแล้ว ก็ถึงเวลาที่เต้นอยากเป็นเจ้าของร้านในสไตล์ของตนเองบ้าง ร้าน Talaychan Patisserie จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2016 ในรูปแบบเบเกอรี่สไตล์ฝรั่งเศสที่ใช้วัตถุดิบชั้นดี มีเมนูพิเศษของแต่ละสัปดาห์ให้ลิ้มลองภายใต้บรรยากาศร้านน่ารัก อิ่มอร่อยแบบเอกเขนก ตั้งอยู่ในย่านแถวพระราม 9 ซอย 13

การเปิดร้านตัวเองถือเป็นการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะทุกอย่างเป็นความรับผิดชอบของเรา และเราต้องจัดการให้ได้ เราพบว่าเราไม่เอาไหนกับงานจัดการเลย เพราะที่ผ่านมา เรามุ่งเน้นทำขนมอย่างเดียว เพราะความสุขจริงๆ ของเรา คือการได้ทำขนมอยู่คนเดียว แล้วเราก็สามารถทำอะไรที่เราต้องการได้ แต่พอมีคนมาช่วย เราก็ต้องจัดการคนให้ได้ด้วย เราก็คิดว่าตัวเราไม่ได้เก่งหมดทุกอย่าง พอเปิดร้านมันก็มีหลายจุดที่เครียด แล้วการบริหารพนักงานมันยากมาก เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะหาคนที่มี passion แล้วเข้าใจจริงๆ ว่าการทำงานตรงนี้ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อเงินแต่ต้องชอบทำขนมจริงๆ

 

เต้นเลือกเปิดร้านเพียงแค่ 3 วัน คือ ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เพราะอยากมีเวลาออกแบบและทำขนมที่หลากหลายใหม่ๆ ออกมาให้ลิ้มลองมากขึ้น  เธอบอกว่าคุณสมบัติที่สำคัญของเชฟขนมหวาน คือ ต้องมีความอดทนสูง เพราะรายละเอียดในการทำขนมเยอะมาก ถ้าใจร้อน พลาดไปนิดเดียว ขนมก็ออกมาไม่ได้ดั่งใจ

การทำงานจริง เราต้องพร้อมจะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ต้องทำตัวเหมือนน้ำที่ยังไม่เต็มแก้ว พร้อมจะเติมทุกอย่างเข้ามา การทำอาหารเป็นทั้งจินตนาการและความรู้ผสมกัน เราต้องเรียนรู้อะไรอีกเยอะแยะ

 

ส่งมอบความสุขผ่านขนมหวาน

ปัจจุบันร้าน Talaychan Patisserie เป็นที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมนูขนมของร้านนี้เกิดจากความรักและความใส่ใจในรายละเอียดของเจ้าของร้านที่ส่งมอบความรักผ่านขนมหวานทุกชิ้น

“ตอนนี้เราจะดูในครัวเป็นหลัก มีผู้ช่วยทำขนม เราต้องสร้างแรงกระตุ้นให้พนักงานทุกวัน ให้ความรู้เขาก่อนว่าสิ่งที่เราทำมันคืออะไร ขนมที่เราทำ มันให้ความสุขคนนะ  เราพยายามบอกให้ทุกคนรู้ว่า ทุกหน้าที่ในร้านนี้มีความสำคัญเท่ากันหมด อย่างถ้าพี่เป็นคนล้างห้องน้ำ พี่ไม่ได้กำลังล้างห้องน้ำนะ แต่สิ่งที่พี่ทำอยู่มันคือการให้ความสุขกับคน เหมือนกันกับเราต้องทำทาร์ตเยอะมากตอนนี้ เราต้องตะไบทาร์ตทีละอัน เราบอกให้พนักงานรู้ว่า เรากำลังทำสิ่งที่ละเอียดอ่อนมากเพราะเราอยากจะใส่คุณค่าในขนมของเราทุกชิ้น เราอยากให้พนักงานทุกคนภูมิใจทุกครั้งที่ลูกค้าเข้ามาแล้วชื่นชมขนมของเรา  เราก็ต้องเติมแรงบันดาลใจให้เขาทุกวัน”

ตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมา หลายครั้งที่เต้นเครียดและกดดันจนเกิดอารมณ์หงุดหงิดและวีนกับลูกน้อง เพราะอยากให้ลูกน้องทำแบบที่ตนทำได้  แต่หลังจากเรียนรู้ว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรือทำทุกอย่างได้เหมือนกับตนเอง เธอจึงเริ่มเปิดใจยอมรับความแตกต่างและลดความคาดหวังลง การทำงานของเธอจึงผ่อนคลายและมีความสุขมากขึ้น

เราต้องเปิดใจ ลดความเป็นตัวเอง ทำเป็นไม่เห็นสิ่งที่เค้าทำผิดไปบ้าง เพราะเราใส่ใจรายละเอียดมากไป คนแรกที่ต้องจัดการก็คือตัวเราเอง เรามักเห็นความผิดของคนอื่นง่ายกว่าของตนเอง เลยเข้าไปจัดการทุกอย่าง เราต้องมองกลับมาที่ตัวเองนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ต้องปรับที่เราก่อน ลดความคาดหวังว่าทุกคนจะต้องเป็นเหมือนเรา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องคิดว่าทำงานกับคนนี้ยังไงให้เขามีความสุข ทุกวันนี้เรายังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้

 

“สิ่งที่ให้เรามีความสุขทุกวันนี้คือการทำงานแล้วได้เห็นลูกน้องคุยแซวเล่นกันได้อย่างมีความสุข เราได้ครีเอทขนมเค้กที่มันพิเศษออกมาให้ลูกค้าได้ชิม และอีกความสุขหนึ่งก็คือการดูแลลูกค้าให้เขากินขนมของเราอย่างมีความสุข”

 

ขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊ของร้าน Talaychan Patisserie  ​มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

การทำงาน

ทะเลจันทร์

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save