8 ช่องทางความสุข

สุขกายสุขใจ ปั่นไปไม่ทิ้งกัน

เมื่อพูดถึงความสุขของคนขี่จักรยาน การได้นั่งบนหลังอานปั่นจักรยานด้วยสองเท้าไปข้างหน้านับเป็นความสุขที่ทุกคนสัมผัสได้ไม่ยาก แต่ทว่า หากการปั่นมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสุขให้ผู้อื่นด้วยแล้วละก็ คนปั่นคงจะมีความสุขเป็นสองเท่าทวีคูณอย่างแน่นอน เหมือนดังเช่นความสุขของคุณญาณิศา เอกมหาชัย หรือ คุณนี หนึ่งในนักปั่นจักรยานโครงการ “ปั่นไปไม่ทิ้งกัน” นำพาคนตาบอดขี่จักรยานสองตอนมุ่งหน้าจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่เพื่อระดมทุนสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา เธอเป็นหนึ่งในนักปั่นจิตอาสาที่มักปั่นร่วมงานการกุศลนับตั้งแต่เกษียณอายุก่อนกำหนด เพราะนอกจากจะทำให้สุขภาพกายของเธอแข็งแรงกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เกษียณแล้วอยู่บ้านเฉยๆ สุขภาพใจของเธอก็ยังแข็งแรงตามไปด้วยเช่นกัน 

 

คุณญาณิศา เอกมหาชัย หรือ คุณนี นักปั่นจักรยานทางไกลจิตอาสาที่ใช้ชีวิตบนหลังอานหลังจากเกษียณอายุก่อนกำหนด

วิถีนักปั่นการกุศล

คุณนีเล่าว่า ก่อนเกษียณอายุราชการเคยเล่นกีฬาแบตมินตัน แต่ภายหลังมีปัญหาเจ็บบริเวณไหล่เพราะอายุมากขึ้นจึงเริ่มมองหาการออกกำลังกายแบบอื่น พอเห็นจักรยานลูกซื้อไว้ไม่มีใครขี่ เธอจึงเริ่มนำออกมาขี่ในหมู่บ้าน พอขี่ไปก็เริ่มเพลินจนเวลาล่วงไปหลายชั่วโมง ลงจากหลังอานปุ๊บขาเลยพับเข่าแตกต้องไปทำแผลที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่หลังจากนั้นก็ยังไม่กลัวการขี่จักรยาน ตรงกันข้ามกลับยิ่งปั่นยิ่งสนุก ยิ่งปั่นยิ่งไปไกล เพราะหลงรักหลังอานจนถอนตัวไม่ขึ้น ทั้งขึ้นเหนือ ล่องใต้ ไปไกลถึงแผ่นดินเพื่อนบ้านก็ไปมาแล้ว

“ทุกๆ วันที่ตื่นนอนขึ้นมา พอคิดว่าเราจะได้ปั่นจักรยาน เราก็รู้สึกมีความสุขแล้ว เริ่มปั่นทางไกลครั้งแรก คือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ หลังจากนั้นก็เริ่มปั่นไกลขึ้นมีทั้งกรุงเทพฯ – ปัตตานี เข้าไปถึงมาเลเซีย หรือ อุบลฯ – กรุงเทพฯ  เวลาปั่นจะไปเป็นกลุ่มเพื่อช่วยกันเวลามีปัญหา  บางครั้งก็ปั่นเป็นกลุ่มใหญ่ อย่างเช่น ปั่นไปปัตตานีประมาณ 100 คน บางครั้งก็ปั่นกลุ่มเล็ก อย่างเช่น อุบลฯ – กรุงเทพฯ หรือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ก็ประมาณนี้ 20 คน กลุ่มเล็กๆ ก็จะกระชับดี”

“เวลาปั่นทางไกลมักจะต้องมีวัตถุประสงค์ เช่น ปั่นไปปัตตานีบอกบุญ เราต้องติดถังผ้าป่าเพื่อให้สัญลักษณ์ คนจะได้มาทำบุญ ถ้าขบวนคนเยอะ เวลาจักรยานด้านหน้าผ่านแล้วทำบุญไม่ทันก็รอคันที่มาข้างหลัง หรือ กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ เราปั่นให้กับ มช. ช่วยนักศึกษาที่ยากจน สมาคมศิษย์เก่า มช. จะออกเงินค่าบ้านพักระหว่างทางให้ พอไปถึงจังหวัดไหน สมาคมศิษย์เก่าของแต่ละจังหวัดก็นำอาหารมาเลี้ยง”

คุณนีเล่าว่าความสนุกของนักปั่นการกุศลอยู่ตรงที่เวลาขี่จักรยานไปตามทางจะมีคนโบกมือให้เข้าไปหาเพื่อนำเงินใส่กล่องทำบุญ หรือมีคนนำอาหาร น้ำ ขนมมายืนรอแจกระหว่างทาง รอยยิ้มและมิตรภาพที่ได้รับทำให้การปั่นจักรยานแต่ละครั้งเหมือนได้เติมพลังชีวิตมากขึ้นไปด้วย

เราจะมีความสุขทุกครั้งที่คนโบกมือ ถ้าปั่นตามปกติ เราอยากปั่นเรื่อยๆ ไม่อยากจอด แต่ถ้าปั่นการกุศล บางทีขึ้นปั่น 5 นาทีก็ต้องจอด เพราะคนอยากทำบุญ คนมาสาธุ ขอไม้ไปเสียบเงินแล้วก็อธิษฐานก่อนเอาไปปักที่ถังผ้าป่าหลัรถเราจอดด้วยความปิตินะ มีความรู้สึกว่าเหนื่อยยังไงก็หายเหนื่อย บางทีเขาเห็นเราเหนื่อยก็จะยื่นน้ำ ถุงละมุดมาให้ เราก็ชื่นใจ เพราะเราไปบอกบุญเขาถึงที่ เราก็ได้ออกกำลังกายด้วย ได้ทำบุญด้วย แล้วก็เห็นมิตรภาพระหว่างทาง

ชีวิตนักปั่นการกุศุลด้านหลังมีถังผ้าป่าให้คนทำบุญ

นอกจากมิตรภาพจากผู้คนสองข้างทางแล้ว สิ่งที่ทำให้คุณนีหลงรักการปั่นจักรยานทางไกล คือ มิตรภาพระหว่างนักปั่นด้วยกัน

“เวลาปั่นเราจะจับกลุ่มเพื่อนที่ชอบปั่นแนวเดียวกัน เราก็ได้เพื่อนที่ช่วยเหลือกัน อย่างกลุ่มของเราเป็นกลุ่มปั่นช้า เดี๋ยวเราแวะพักเอาขนมมาแบ่งปันกัน แล้วเราก็นั่งคุยกัน เส้นทางที่เขาบอกจุดพักตรงนี้มันไปไหนนะ เราก็ค่อยๆ คลำทางไป อายุไม่เป็นอุปสรรค แต่ต้องมีการซ้อมมาก่อน ถ้าอยู่ดีๆ มาปั่นทางไกลจะปั่นไม่ได้นะ เพราะต้องปั่นเป็นประจำ เวลาปั่นทางไกลจะต้องปั่นตั้งแต่เช้า คือออกเจ็ดโมงเช้า ห้าโมงเย็นถึงที่พัก”

คุณนีกล่าวถึงวิถีของนักปั่นทางไกลว่า คนที่ปั่นจะต้องมีวินัย โดยก่อนออกปั่นทางไกลจะต้องซ้อมก่อนหน้าหนึ่งเดือนทุกอาทิตย์ อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และแต่ละครั้งต้องปั่นได้ 100 กิโลเมตร แต่ถ้าบางคนไม่มีเวลา ต้องทำงานก็มี 2 ทางเลือก คือ ถ้าคุณมีเวลา และทำทุกวันก็ปั่นวันละ 20 – 30 กิโลเมตร เรียกว่าการออกกำลังกายแบบต่อเนื่อง อีกทางเลือกนึงคือ ถ้าไม่มีเวลา ใน 1 สัปดาห์ก์ต้องหาเวลาซ้อมครั้งนึงให้ร่างกายชินกับการซ้อม

สิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับนักปั่นทางไกล อย่างแรก คือ เสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้เร็วและซักแห้งเร็วเพราะต้องใช้สัมภาระที่น้อยที่สุด กระเป๋าเสื้อผ้าเบาๆ  ใส่เสื้อผ้าแค่ 2 ชุด ซักสลับกัน พอปั่นไปถึงที่พัก 5 โมงเย็นก็รีบซักเสื้อชุดที่เพิ่งใส่ตากไว้ก่อน เพราะเช้าวันรุ่งขึ้นต้องออกเดินทางต่อ สลับเปลี่ยนใส่และซักอยู่เช่นนี้จนถึงจุดหมายปลายทาง วิถีนักปั่นทางไกลจึงเป็นวิถีชีวิตที่พอเพียง กินง่าย อยู่ง่าย พกพาแต่สิ่งของที่จำเป็นจริงๆ หญิงนักปั่นวัยเกษียณเล่าถึงการปรับตัวหลังจากเข้าสู่วงการนักปั่นทางไกลว่า

นักปั่นเสื้อผ้าต้องน้อย เพราะขนไม่ไหว  มันทำให้เราต้องจัดการให้ง่ายขึ้น ยาสีฟันถ้าไป 10 วันก็ต้องพอสิบวันนะ ไม่ต้องเอาหลอดใหญ่  แชมพูไม่ต้องขวดใหญ่ เอาขวดเล็กๆ ข้อสำคัญคือต้องกินง่าย เจออะไรก็กิน ไม่ใช่ว่าอันนี้ฉันไม่อยากกิน ไม่ชอบ จะไปหาเอาข้างหน้า ถ้าข้างหน้าไม่มีก็ต้องกินไปก่อน   ที่พักมีหลากหลายรูปแบบ ถ้าเป็น ‘สายโรงแรม’ ก็เป็นสบายหน่อย แต่ถ้าเป็น ‘สายผ้าป่า’ ก็นอนวัด ไม่มีแอร์ ไม่มีพัดลม คุณต้องอยู่ให้ได้ ถ้าไปถึงแล้วบางคนไม่ไหว ขอกลับระหว่างทางก็อาจถูกแบล็คลิสต์

หลังจากใช้ชีวิตเป็นนักปั่นการกุศุลอยู่นานหลายปี คุณนีก็ค้นพบว่า ชีวิตของการปั่นจักรยานเพื่อคนอื่นเป็นชีวิตที่มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแท้จริง เมื่อทางมูลนิธิคนพิการซึ่งนำโดย ดร. วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์มีแนวคิดอยากพาคนตาบอดปั่นจักรยานสองตอนทางไกลเพื่อระดมทุนสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ คุณนีจึงได้เข้ามาเป็นหนึ่งในแกนนำคัดตัวนักปั่นตาดีที่จะนำพาคนตาบอดปั่นไปด้วยกัน

 

โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกันเส้นทางกรุงเทพ-เชียงดาว 9 วัน ระหว่างวันที่ 28 ม.ค.-5 ก.พ. 61 เป็นระยะเวลา 9 วัน 9 จังหวัด 867 กิโลเมตร อาสาปั่นนำ 20 คน คนตาบอด 20 คน

ปั่นไปไม่ทิ้งกัน

คุณนีเล่าประสบการณ์เตรียมตัวนักปั่นในโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกันให้ฟังว่า การคัดตัวครั้งนี้แตกต่างจากการปั่นจักรยานเดี่ยวการกุศลที่ผ่านมา เพราะต้องปั่นจักรยานสองตอนที่มีคนมองไม่เห็นอยู่บนอานด้านหลัง การคัดตัวนักปั่นตาดีที่จะปั่นด้านหน้าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

“ถ้าเป็นคนปกติที่แข็งแรง ปกติต้องปั่นได้ 150 โล จะใช้เวลาปั่น 6 วัน แต่ทริปนี้ต้องปั่นกับคนตาบอดที่ไม่ใช่นักปั่นและไม่เคยปั่นมาก่อนก็จะใช้เวลา 9 วัน จริงๆ การปั่นจักรยานสองตอนง่ายกว่าตอนเดียว ถ้าสองคนช่วยกันปั่แต่ถ้าอีกคนปั่นไม่เป็น ไม่ออกแรง คนหน้าก็จะหนัก  เพราะว่าต้องแบกทั้งน้ำหนักจักรยาน และน้ำหนักคนทั้งสองคน วิธีคัดคนมาปั่นคู่กัน ทั้งสองคนจะต้องมีน้ำหนักใกล้เคียงกัน บวกลบไม่เกิน 5 กิโล

“หลังจากคัดคนได้แล้ว​ เราก็จะจัดทริปฝึกปั่น จากทริปง่ายสุด ไปยากสุด เราซ้อมทุกอาทิตย์เดือนนึงก็ 4 ครั้ง บางคนมาได้บ้างมาไม่ได้บ้าง เราก็จะบอกกับเขาเลยว่า คุณควรจะปั่นกับคนนี้นะ น้ำหนักพอๆ กัน ส่วนใหญ่เขาก็อยากจับคู่กับคนตาบอดที่แข็งแรง แต่เราก็บอกว่าไม่ได้ คนแข็งแรงอยู่แล้ว คุณต้องปั่นกับคนตาบอดที่ปั่นไม่ได้ ช่วยๆ กันหน่อย คนไหนปั่นไม่ได้จริงๆ เราก็จะบอก”

หลังจากคนตาดีฝึกปั่นจนคล่องแล้ว ขั้นต่อไปคือการซ้อมปั่นคู่กับคนตาบอดทุกอาทิตย์ การฝึกปั่นมีทั้งทางตรงและทางเขา ซึ่งเลือกไปซ้อมกันที่เขาใหญ่

“เราซ้อมกันอยู่ 3 เดือน จนกระทั่งเห็นเขาปั่นทางราบได้แล้วก็พาเขาไปปั่นเขาใหญ่ เราก็บอกเขาก่อนว่าถ้าเราปั่นไปเชียงใหม่ เส้นทางนี้ต้องผ่านเขา แล้วก็เขาพลึง เขาลอง และดอยแม่แขม ซึ่งมันชันมาก เขาใหญ่เนี่ยจะให้เขาลองซ้อมดูซึ่งเป็นหนึ่งในสิบของของจริง ให้เขารู้ว่าเขาจะไปเจอทางเขาประมาณนี้ คนตาบอดก็จะได้รู้วิธีการเลี้ยว เพราะว่ามันไม่ใช่แค่ขึ้นเขา มันมีการเลี้ยวโค้งคุณจะต้องทำ Balance ตัวให้ได้ แต่ข้อดีของการมองไม่เห็นก็คือเขาไม่เห็นความชัน เขาก็จะไม่กลัว จะปั่นไปได้เรื่อยๆ ก็ใช้แรงปั่นไป ถ้าคนหน้าเลี้ยวโค้งคุณก็ต้องปล่อยตัวตาม อย่าตัวแข็ง ถ้ากลัวตก ต้องเชื่อใจคนหน้า”

การฝึกซ้อมดำเนินไปจนกระทั่งคนตาดีและคนตาบอดเริ่มคุ้นเคยกับการปั่นจักรยานคู่กัน และในที่สุดวันปั่นจริงก็มาถึง  เส้นทางวัดใจหรือจุดที่ปั่นยากสุดสำหรับเส้นทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นเชียงใหม่ คือ บริเวณเขาลองระหว่างอุตรดิตถ์ไปแพร่เป็นระยะทางขึ้นเขาเป็นรูปร่างตัว S ไปเรื่อยๆ ตลอดระยะทาง 7  กิโลเมตร และไม่มีที่พักข้างทาง

“ถ้าไปทางที่ชันมากๆ เราจะบอกก่อน ทุกครั้งที่ออกตัวเราบอกก่อนว่าทางข้างหน้าเป็นยังไง ต้องปั่นกี่โล  20 โลนะ  7 โลนะแต่ขึ้นเขาตลอดนะ แล้วหยุดไม่ได้เลย แล้วก็จะให้เขากิน Energy gel  ซึ่งกินปุ๊บมันจะมีแรงทันทีเลย เสร็จแล้วก็ให้เขานั่งพักและเตรียมใจว่าเดี๋ยวคุณจะต้องไม่ได้พักเลย คุณจะต้องควงขาตลอด หยุดไม่ได้ ถ้าคุณไม่หยุดควงขา รถมันจะพุ่งไปข้างหน้าตลอด แต่ถ้าหยุดรถมันจะถอยหลัง แล้วคุณก็จะขึ้นไม่ได้เลย เพราะว่ามันเป็นทางชันเพราะฉะนั้นให้คุณควงขาไปเรื่อยๆ แล้วก็ลดเกียร์ลงไปเรื่อยๆ อย่าลดรวดเดียว เราจะสอนเขาก่อนว่าวิธีทำตัวยังไง

เราจะบอกให้คนข้างหลังอย่าหยุดปั่นให้คนปั่นไปเรื่อยๆ ถ้าเราควงขาไปเรื่อยๆ มันไปได้ และอย่าใจร้อน เพราะถ้าอย่างนั้นตะคริวจะมา เราปั่นของเราไปสบายๆ ถ้าสมมุติเป็นคนตาดีก็จะบอกว่าอย่ามองข้างหน้า ถ้าคุณมองข้างหน้า คุณก็จะหมดกำลังใจเพราะปั่นยังไม่ถึงที่สิ้นสุดสักที ให้ก้มหน้าก้มตามองล้ออย่างเดียว ทุกคนก็จะเชื่อ คนตาบอดไม่ต้องบอกเขา เพราะเขามองไม่เห็นอยู่แล้ว ให้เขาเลี้ยงตัวไปตามซ้ายขวาที่เลี้ยวและทรงตัวให้ได้ ผ่านเขาลองไปให้ได้เพราะรถจอดไม่ได้มันไม่มีที่ข้างทางให้จอด ต้องกินน้ำให้เต็มที่ ระหว่างทางก็จะมีกำลังใจจากชาวบ้านที่เขาได้ข่าวเขาก็จะมาทำมะม่วงแผ่น กล้วยกวนมาให้ มานั่งรอ มานั่งเชียร์ ให้กำลังใจ คนปั่นก็จะมีกำลังใจ

 

มองโลกด้วยหัวใจ

หลังจากปั่นทางไกลขึ้นเขา ลงดอย กินอยู่ หลับนอนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันตลอดเวลาเก้าวัน ทั้งคนตาดีและคนตาบอดก็ได้เรียนรู้โลกใบใหม่ด้วยกัน

คนตาบอดเขาสนุกนะคะ เขาได้ออกกำลังกาย ได้ออกมาดูโลกภายนอก ได้ลมปะทะ ต่อให้สิบล้อวิ่งสวนมา เขายังบอกรู้สึกดี  แต่สำหรับคนตาดีจะรู้สึกน่ากลัวจะตาย (พูดแล้วหัวเราะ) เวลาเขาได้กลิ่นดอกไม้ ได้ลมปะทะ เขาให้เราบรรยายนะว่าข้างทางมันเป็นอะไร เป็นบัวสีชมพูนะ แล้วมันเป็นยังไงอ่ะพี่ เขาก็จะได้สร้างจินตนาการของเขา

“สิ่งที่ได้เรียนรู้ก็คือ พอเขาได้ออกข้างนอกเขาจะมีความสุขมาก เขาเหมือนจะมี inspiration มีแรงบันดาลใจให้สู้ชีวิต เขาก็จะเล่าเรื่องของเขาให้เราฟัง แล้วเราก็จะเล่าเรื่องของเราให้เขาฟัง เหมือนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แล้วเขาก็จะบอกสิ่งที่เขาอยากได้อยากเป็น บางคนตาบอดแต่กำเนิด  บางคนก็อาจจะเพิ่งตาบอดมาเมื่อสาม-สี่ปี เนื่องจากรถคว่ำ คนที่เคยมองเห็นมาก่อน เขานึกภาพที่เราบรรยายวิวทิศทัศน์ออก สมมติเคยผ่านไปที่ทางด่วนแล้วมันเคยมีนกนางแอ่น เขาก็จะถามว่าตอนนี้นกนางแอ่นยังอยู่ไหม เราก็จะบอกว่า ตอนนี้มันมีทางตัดจากทางนี้ไปทางนี้ จินตนาการเขาก็จะเชื่อมต่อได้ แต่ถ้าคนตาบอดแต่กำเนิดเขาจะไม่มีจินตนาการเลย”

เมื่อถามถึงปัญหาและอุปสรรคระหว่างคนตาดีและคนตาบอดที่ต้องปั่นด้วยกันเป็นระยะทางยาวไกลหลายวัน คุณนีพูดอย่างอารมณ์ดีว่า

“มีคู่หนึ่งทะเลาะกัน คนตาบอดอยากจะปั่นให้ถึง คนตาดีก็ไม่เคยปั่นมาก่อนในชีวิตเลย มันเหนื่อย ปั่นไม่ไหว เขาก็บอกให้พอ แล้วขึ้นรถ แต่คนตาบอดบอกไม่เอาไม่ได้ เขาไม่ยอม แต่เขาก็ปั่นด้วยกันได้จนถึงเชียงใหม่ วันนึงปั่นได้ระหว่าง 100 ถึง 120 กิโลเมตร”

ภาพการขี่เข้าเส้นชัยของนักปั่นตาดีและตาบอดที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ไม่ว่าบนเส้นทางจะมีอุปสรรคเหนื่อยท้อมากเพียงใด แต่เมื่อทุกคนได้ปั่นไปจนถึงปลายทางเป้าหมาย สิ่งเดียวที่ทุกคนสัมผัสร่วมกันได้ คือ น้ำตาแห่งความดีใจ

“พอปั่นถึงเชียงดาวคนตาดีร้องไห้กันใหญ่เลยนะ เพราะเขาเห็นคนตาบอดขึ้นมาถึงแล้วดีใจ แบบมีความสุข น้ำตาไหลกันทุกคนนะคะ เพราะว่าเขาพาให้คนตาบอดมีความสุข ทำให้สำเร็จ คนตาบอดก็ร้องไห้  มีคนนึงน้ำหนัก 120 กิโล แล้ววันที่คัดตัวก็จะมีคนตาดีที่ปากไม่ดีบอกว่า ‘อย่างคุณน่ะ ปั่นไม่ได้หรอก’  พอไปถึงเขาไหว้ขอบคุณคนที่ปั่นพาเขามาจนถึงเชียงดาว ขอบคุณที่พาเขามาถึงวันนี้เพราะมีคนดูถูกเขาว่าเขาปั่นไม่ได้หรอก แล้วทำให้เขาปั่นได้ น้ำหนักเขาลดลงไป 20 กิโล เหลือต่ำกว่าร้อย โครงการนี้ทำให้คนตาบอดได้ออกนอกบ้านมาออกกำลังกาย ไม่อย่างงั้นก็นั่งกินอยู่ที่บ้านอย่างเดียว”

นอกจากคนตาบอดจะมีความสุขมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว คนตาดีก็มีความสุขไม่แพ้กัน

คนที่เป็นผู้ชายฮาร์ดคอร์ชอบปั่นความเร็วแบบ Racing มาก่อน พอเขาต้องมาปั่นช้าๆ กับคนตาบอด เขาก็เริ่มมีมุมมองเปลี่ยนไป มีใจเอื้ออาทรมากขึ้น เขาเห็นคนตาบอดมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นยิ้มที่ไม่ได้เสแสร้ง มาจากใจจริงๆ ว่าฉันมีความสุขมากนะที่ได้ทำแบบนี้ อยากช่วยเหลือต่อ พอจบทริปแล้วทุกคนรู้สึกว่าอยากช่วยเหลือต่อ ถ้าใครพอมีจักรยานจะบอกคนตาบอดไว้เลยถ้าอยากปั่นอีกก็บอกนะ เดี๋ยวจะเอาจักรยานมาให้ปั่น

เมื่อถามถึงความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตนักปั่นการกุศล หญิงสูงวัยผู้ใช้ชีวิตนักปั่นจิตอาสามานานหลายปีบอกว่า การเข้ารับพระราชทานธงจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อนำไปติดหน้ารถจักรยานก่อนปั่นจากกรุงเทพ-เชียงดาวในโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกันนับเป็นเกียรติสูงสุดของชีวิตนักปั่นจิตอาสาทุกคนที่เข้าร่วมโครงการนี้

บนเส้นทางของนักปั่นจักรยานทางไกลการกุศล…ความสุขของนักปั่นทุกคนจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่ตัวเอง หากเป็นความสุขที่แบ่งปันสู่ผู้คนรอบข้างด้วยหัวใจที่อิ่มเอม…ทุกคนจึงมีความสุขทั้งกายและใจเพราะได้ปั่นไปไม่ทิ้งกัน…สร้างสังคมไทยให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นด้วยสองเท้าของตนเอง

เข้ารับพระราชทานธงจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อนำไปติดหน้ารถจักรยาน เพื่อปั่นกรุงเทพ-เชียงดาว เป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตของนักปั่นอาสา

(ขอบคุณภาพประกอบจากคุณนีมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ)

 

 

 

การเคลื่อนไหวร่างกาย

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save