ดูแลหัวใจตัวเองกับนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน
“เวลาที่เพื่อนเราทำผิดพลาด เรายังให้กำลังใจเขา แต่ทำไมเราจะให้อภัยและให้กำลังใจตัวเองเวลาที่ตัวเราทำพลาดบ้างไม่ได้ล่ะ”
Benjamin Weinstein หรือ “เบน” นักจิตวิทยาชาวอเมริกันกล่าวถึงเป้าหมายของการอบรมเรื่อง “การให้ความเมตตาต่อตนเอง” ซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษให้กับกลุ่มคนทำงานจิตอาสาหรือคนทำงานด้านสังคมในเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา เขากล่าวถึงเหตุผลที่อยากจัดอบรมให้กลุ่มคนทำงานตรงนี้ว่า คนทำงาน “เพื่อคนอื่น” มักละเลยการดูแลหัวใจตนเอง จนทำให้ขาดความสุขในการทำงานเพราะมักคาดหวังว่าตนเองควรช่วยเหลือคนให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่
ก่อนหน้าที่เบนจะเดินทางมายังเมืองไทยเป็นครั้งแรกในปี 2546 เขามีชีวิตการทำงานไม่ต่างจากนักจิตวิทยาอเมริกันทั่วไปที่คร่ำเคร่งกับงาน กดดันตัวเองให้ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จจนเครียด มองเรื่องต่างๆ ในแง่วิทยาศาสตร์เท่านั้น จนกระทั่งเขาตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเกิดเพื่อหาประสบการณ์อาศัยอยู่ต่างบ้านต่างเมืองและอยู่กับคนต่างวัฒนธรรม ชีวิตช่วงแรกจึงเป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวกับความเหงาและโดดเดี่ยวมากทีเดียว
ทว่า หลังจากเบนเดินทางไปเข้าร่วมปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านพลัมจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี 2550 เป็นระยะเวลาสี่วัน มุมมองต่อ “โลกทั้งภายนอกและภายใน” ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
“ผมเคยอ่านเรื่องพุทธศาสนา [จึงรู้แต่ทฤษฏี] และไม่เคยปฏิบัติจริง” เขากล่าว และเล่าต่อว่าเขาเคยนั่งสมาธิครั้งหนึ่งเมื่อครั้งที่อยู่อเมริกา แต่มันเป็นประสบการณ์ที่รู้สึกไม่ดีนัก ตรงกันข้ามกับ ณ หมู่บ้านพลัมแห่งนี้เขาได้พบพระและแม่ชีชาวต่างชาติสิบกว่าคนซึ่งล้วนแต่ดูมีความสุข อิ่มเอม และพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์กับผู้ที่มาแสวงหา “ความสุข” จากภายในอีกเกือบ 70 คน
วันแรกของการฝึกเขาได้เริ่มเดินจงกรมเป็นครั้งแรก และนั่นเป็นชั่วขณะที่เขารู้สึกเหมือนกับเดินหายไปในห้วงเวลาอย่างมีความสุข เพราะมันเป็นจังหวะที่เขาสังเกตว่า ตลอดระยะเวลา 35 ปีก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยดูย่างก้าวของตัวเองเลยสักครั้ง
“ผมรู้สึกเหมือนกับค้นพบโลกใบใหม่ซึ่งผมบอกไม่ได้ว่ามันอยู่ในตัวผมหรือเปล่า แต่มันเป็นจังหวะที่ทำให้ผมรู้สึกได้ว่าความทุกข์มันหายไปในบัดดล”
การค้นพบความสุขระหว่างการเดินจงกรมครั้งแรกทำให้เขารู้สึกเหมือนได้สัมผัสกับประสบการณ์บางอย่างด้วยตัวเอง เพราะคนตะวันตกไม่ชอบการถูกสั่งสอน แต่ชอบที่จะเรียนรู้และค้นพบด้วยตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นแรงผลักดันให้เขาอยากจะกลับมาปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านพลัมอีก และกลายมาเป็นอาสาสมัครอีกสองปีถัดมา เพื่อเรียนรู้พุทธศาสนามากขึ้น
“พระที่นี่ไม่ได้สั่งสอน ไม่เคยพูดถึงคำยากๆ เช่น อนัตตา อุเบกขา แต่ทุกคนกล้าเล่าถึงความทุกข์ของตัวเอง” เบนเล่าถึงประสบการณ์ที่เขาได้เรียนรู้จากการแบ่งปันประสบการณ์ของพระและแม่ชีที่หมู่บ้านพลัม
การกลับไปเป็นอาสาสมัครที่หมู่บ้านพลัมทำให้เขาได้รับหนึ่งในพันธะสัญญาจากการอบรมดังกล่าวคือการแบ่งปันต่อผู้อื่น
คนเราจะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีสามสิ่ง คือ ประสบการณ์ ความคิดไตร่ตรอง และการฟีดแบ็ค การได้มีโอกาสเข้าร่วมแบ่งปันพูดคุยถึงประสบการณ์ตัวเองกับคนอื่นในการอบรมจะช่วยให้เราได้รับสามสิ่งนี้
หลังจากเขาค้นพบเส้นทางที่มีความสุขจากภายในตนเองอย่างเต็มเปี่ยม เขาจึงเกิดความรู้สึกอยากแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนทำงานเพื่อสังคมในเมืองไทยบ้าง เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสดูแล ให้อภัย ปลดปล่อยตัวเอง และพร้อมที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน
ด้วยบุคลิกเป็นคนชอบเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง เบนจึงสมัครเรียนคอร์ส “Self Compassion” หรือ “ความเมตตาต่อตนเอง” อย่างจริงจัง เพื่อนำความรู้มาแบ่งปันสู่คนอื่น เพราะในชีวิตของเขามีความสุขกับการทำงานสามสิ่ง คือ หนึ่ง การบำบัดคนไข้ สอง การสอนนักศึกษา และสาม การฝึกอบรม ซึ่งเป็นงานที่แบ่งปันสู่คนอื่นทั้งสิ้น
เบนเริ่มใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาเปิดการฝึกอบรมตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยเน้นทำงานกับกลุ่มผู้ลี้ภัยในกรุงเทพฯ จากหลายประเทศ อาทิ พม่า เวียดนาม ปากีสถาน รวมทั้งกลุ่มคนทำงานมูลนิธิและจิตอาสา โดยจัดคอร์สละ 8 ครั้ง พบกันทุกเสาร์สุดท้ายของเดือน ในกระบวนการนี้จะเน้นสิ่งสำคัญสองเรื่อง คือ การสัมผัสประสบการณ์ตรงเพื่อฝึกการเมตตาตนเอง การแบ่งปันประสบการณ์และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าอบรมด้วยกัน
ทุกวันนี้ผู้คนมีชีวิตอยู่บนเฟสบุ๊ค ซึ่งไม่มีการสร้างสัมพันธ์ระหว่างความเป็นมนุษย์ด้วยกันจริงๆ ทำให้คนรู้สึกเหมือนขาดพลังงานชีวิตที่ส่งต่อถึงกัน การได้มานั่งพูดคุยสื่อสารกันแบบเห็นหน้าหรือนั่งภาวนาด้วยกันจะทำให้เกิดพลังงานที่ดีที่เราส่งไปให้กันและกันได้ ในการอบรม ผมจะให้ทุกคนได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงแทนการเลคเชอร์ เหมือนกับเราสอนคนทำอาหาร ถ้าเราไม่ให้เขาลิ้มรสอาหารด้วยตนเอง เขาก็จะทำอาหารไม่เป็นเพราะไม่เคยผ่านประสบการณ์ลงมือทำ
กระบวนการอบรมเพื่อสร้างความเมตตาให้ตนเองจะเริ่มจากการตั้งคำถามกับผู้เข้าอบรมว่า ในชีวิตที่ผ่านมา คุณดูแลตนเองอย่างไรบ้าง เบนสะท้อนให้ฟังว่า ปัญหาของคนทำงานเพื่อคนอื่น คือ มักรู้สึกผิดถ้าจะหาเวลาพักผ่อนส่วนตัวบ้าง
“บางคนก็บอกว่า ผมรู้สึกว่าผมเห็นแก่ตัวถ้าหันมาให้เวลากับตัวเองพักผ่อน เราก็จะบอกว่า นั่นไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว ถ้าคุณเอาแต่ดูแลคนอื่น โดยไม่ดูแลตนเองบ้างก็จะเหมือนกับคุณมีมีดที่เอาไว้ใช้งานจนทื่อ แต่ไม่เคยมีเวลาลับให้มันคมเพื่อใช้งานได้ดีขึ้น หรือถ้าเปรียบร่างกายเป็นแบตเตอรี่ คุณก็ใช้จนแบตหมดจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ คุณต้องมีเวลาลับคมมีดบ้าง”
หลังจากนั้นเบนก็จะนำเข้าสู่กระบวนการต่อไป คือ “การเป็นเพื่อนที่ดีกับตนเอง” ผ่านการตั้งคำถามให้ทุกคนหาคำตอบด้วยตนเองว่า เวลาคุณท้อใจ คุณเป็นเพื่อนกับตัวเองอย่างไร
เวลาเพื่อนท้อใจ คุณพูดกับเพื่อนอย่างไรก็ให้พูดกับตัวเองอย่างนั้นบ้าง ถ้าเราแสดงความอ่อนโยนกับเพื่อนได้ เราก็ต้องอ่อนโยนกับตัวเองเช่นกัน ถ้าเราทำอะไรผิดพลาด เราก็ควรจะให้อภัยตัวเอง อย่าลงโทษตัวเอง ก่อนจบการอบรมแต่ละครั้ง เราจะให้การบ้านเขากลับไปลองฝึกเมตตาต่อตนเอง เขาก็จะบอกว่า เขามีความสุขมากขึ้น ชีวิตยืดหยุ่นมากขึ้น
หลังการฝึกอบรม เขาจะรู้สึกอิ่มเอมทุกครั้งที่ได้ช่วยเหลือคนอื่นให้จัดการความทุกข์ได้ มีชีวิตที่ดีขึ้น และก้าวต่อไปข้างหน้าได้
“ผมอธิบายไม่ได้ว่ารู้สึกอะไรหรือได้รับอะไร แต่ผมรู้สึกยินดี มีพลังมากขึ้น และคนเหล่านั้นก็กลับมาเป็นแรงบันดาลใจให้ผม หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าความสุขคือความรู้สึกตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้วมันคือช่วงเวลาที่เราไม่ต้องการอะไรอีกแล้ว ไม่ต้องการไปที่ไหนอีก หรือความพอใจกับปัจจุบันขณะต่างหากคือความสุข”
จากการฝึกปฏิบัติธรรมตลอด 15 ปีที่ผ่านมา นักจิตวิทยาวัยห้าสิบปีจากโลกตะวันตกที่ค้นพบความสุขในโลกตะวันออกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตนเองว่า เขายังคงเป็นชายคนเดิมแต่มีมุมมองชีวิตที่เปลี่ยนไป จากคนที่คอยกดดันตัวเองให้พัฒนาและก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา กลายเป็นคนที่ยอมรับตัวตนที่แท้จริงของตนเองได้มากขึ้น มองเห็นจุดดีและจุดด้อยของตนเอง รวมทั้งยังคงต้องการที่จะพัฒนาและก้าวไปข้างหน้าภายใต้ความคิดว่าไม่มีใครสมบูรณ์แบบ
“ทุกวันนี้ผมหัวเราะมากขึ้น ปล่อยวางได้มากขึ้น ผมมีความสุขกับปัจจุบันขณะมากขึ้นถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่ห้วงเวลาที่ดีเลิศแต่มันก็ดีพอ