โนรา…รอยยิ้ม…และการโบยบินของผีเสื้อวัยเยาว์
อย่าให้ชุมชนขาดศิลปะ เพราะศิลปะช่วยขัดเกลาจิตใจคนให้มีความสุขได้
เสียงกลอง ฉิ่ง ฉับ กรับ โทน ที่ประสานกันดังขึ้นจากฝีมือการบรรเลงของกลุ่มผู้สูงอายุ ส่งเสียงเรียกร้องให้สายตาหลายคู่หันไปจับจ้องด้วยความสนใจ หลายครอบครัวจูงลูกจูงหลานเดินยิ้มร่าเข้าไปให้กำลังใจถึงหน้าเวทีจำลองเล็ก ๆ ที่เป็นเพียงแผ่นไม้ยกสูงขึ้นกว่าสนามหญ้าเพียงไม่กี่นิ้ว เสียงปรบมือดังขึ้นรัวเมื่อเพลงพื้นบ้านภาคใต้เพลงสุดท้ายบรรเลงจบ ก่อนที่รอยยิ้มผู้ชมจะคลี่บานขึ้นอีกครั้ง พร้อม ๆ กับการมาถึงของเด็กหญิงตัวน้อยผู้ออกมาทั้งร้องและร่ายรำท่วงทำนอง ‘โนรา’ ศิลปะประจำถิ่นของภาคใต้ เทริดน้อย ๆ บนศีรษะขยับไหวเป็นจังหวะ พร้อมผ้าห้อยสีสันสดสวยที่ปลายเล็บของนิ้วน้อย ๆ ขยับกรีดกรายคลี่ให้บานสวยราวกับปีกของผีเสื้อที่พร้อมจะโบยบินไปตามความฝัน สมดังชื่องานพัทลุงยิ้มปีนี้ ….‘ปล่อยให้ผีเสื้อโบยบิน’….
สำหรับผู้มาเยือน ภาพการแสดงโนราของเด็กน้อยที่เห็นนี้ อาจเป็นเพียงความเพลิดเพลินที่จุดรอยยิ้มด้วยความเอ็นดู แต่สำหรับ ‘นธี แสงอำไพ’ แกนนำเยาวชนอาสาเครือข่ายพัทลุงยิ้ม จ.พัทลุง แล้ว โนราที่เด็กน้อยกำลังร่ายรำ คือ ‘สื่อสร้างสรรค์’ ที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมร้อยศรัทธาของชุมชนและความฝันของเยาวชนเข้าไว้ด้วยกัน
เราต้องถ่ายทอดโนราต่อให้เด็ก สร้างพื้นที่ให้เด็กได้มีโอกาส ถ้าเด็กมาเรียนรู้วัฒนธรรม มาทำงานศิลปะ มาทำงานอาสาสมัคร มันจะช่วยลดปัญหาความรุนแรงได้
จากเยาวชนจิตอาสา…สู่โนรามืออาชีพ
ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ด.ช.นธี แสงอำไพ ก็เหมือนเด็กคนอื่น ๆ ใน ต.นาโหนด ที่วิถีชีวิตวนเวียนอยู่กับการเรียนและเล่นสนุก จนกระทั่งได้มาพบกับกลุ่มเครือข่ายพัทลุงยิ้ม ที่เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนอย่างนธีได้พบตัวตนและความฝันอีกด้านหนึ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน
“เริ่มแรกเรามาเป็นเด็กค่าย ค่ายเป็นพื้นที่อิสระให้เด็กได้ค้นหาและพัฒนาตัวเอง การเรียนในระบบโรงเรียนทำให้เราได้เรียนรู้ส่วนหนึ่ง แต่กิจกรรมทำให้เราได้ค้นพบและพัฒนาตัวเอง” นธีเล่าถึงจุดเริ่มต้น
งานของเครือข่ายพัทลุงยิ้ม โดยการสนับสนุนของ สสส. คือการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชนให้เด็กและเยาวชนอาสาสมัครในชุมชน ได้มีพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพและพื้นที่ทางความคิดในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ครั้งนั้นนธีและเพื่อน ๆ ทำกิจกรรมลงไปค้นหา ‘ขุมทรัพย์’ ในชุมชน จนได้ค้นพบกับศิลปะการร่ายรำที่เต็มไปด้วยพลังและสีสันของท่วงทำนองเร้าใจที่ชื่อว่า ‘โนรา’ ศิลปะการแสดงล้ำค่าที่อยู่คู่กับชาวพัทลุงมาเนิ่นนาน
“ตอนที่เราเห็นโนราครั้งแรก ตอนนั้นเราค้นพบตัวเองว่าเราชอบ 2 อย่างแน่ ๆ หนึ่งคืองานอาสาสมัคร เรารู้สึกว่างานอาสาสมัครช่วยพัฒนาตัวเรา สองคืองานศิลปวัฒนธรรม ทีนี้พอเราได้ลงไปเรียนรู้เห็นข้อมูลโนราชัดเจน เราก็หลงรักในทันที”
เมื่อความชอบเดินทางมาพร้อมกับโอกาส ก็ไม่มีอะไรที่จะหยุดความฝันของนธีอีกต่อไป นธีเดินหน้าไขว่คว้าหาความฝันและเส้นทางของตัวเอง หนึ่งเส้นทางคือการเป็นจิตอาสาทำงานพัฒนาชุมชน สองคือการทำอาชีพที่ตัวเองรัก และแน่นอน ‘โนรา’ คือสิ่งที่เชื่อมทั้งสองเรื่องเข้าไว้ด้วยกัน
“เราขอเลือกเส้นทางที่เรารักคือการเป็นโนราและทำงานเพื่อชุมชนไปด้วยพร้อมกัน เราใช้โนราเป็น ‘สื่อ’ เอาโนราเข้าไปในการทำงานเพื่อชุมชน แล้วก็เอาการทำงานเพื่อชุมชนเข้ามาในอาชีพโนรา เราพบว่าเวลาไปทำงานอาสาเพื่อชุมชน โนราจะเป็นสื่อที่เชื่อมใจของคนในชุมชนไว้ด้วยกัน”
โนราวันนี้….ทุกพื้นที่คือเวทีและโอกาส
การเดินไปจนบรรลุความฝันของตัวเอง อาจไม่ท้าทายเท่าการได้ไปจุดประกายให้คนอื่นได้เดินตามฝัน วันนี้นธีในวัย 26 ปี ออกร่ายรำในฐานะโนราอาชีพและแกนนำกลุ่มพัทลุงยิ้ม เขย่าเคลื่อนความฝันให้น้อง ๆ ในชุมชน ได้ออกเดินทางค้นหาความฝันของตัวเองด้วยเช่นกัน วันนี้พื้นที่บ้านลานยางยิ้ม เกาะทัง จ.พัทลุง เกิดศูนย์เรียนรู้ชุมชนโนรา ดึงโนรามืออาชีพมาสอนรำและร้องให้กับเด็กและเยาวชน ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของโนราสายท่าแค พัทลุง ที่เน้นการเรียนเฉพาะเป็นรายบุคคลทั้งร้องและรำในคนเดียวกัน ทำให้วันนี้โนราน้อยในชุมชนสามารถนำความสามารถด้านโนราที่ร่ำเรียนไปใช้แสดงด้วยตนเองได้ในทุกที่
“น้องเยาวชนที่แสดงในงานพัทลุงยิ้มชื่อน้องพลับพลึง” นธีเล่าให้เราฟังถึงเด็กหญิงตัวน้อยที่แสดงเดี่ยวโนราในงานพัทลุงยิ้ม
คุณพ่อของน้องเป็นอัยการจังหวัด น้องพลับพลึงเคยไปแสดงรำโนราให้คนในคุกได้ดู เพราะคุณพ่อของน้องเชื่อว่า ศิลปวัฒนธรรมจะช่วยลดความรุนแรงในสังคมได้
นธีเรียนรู้ว่าเขาและชุมชนได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ใจดีมากมาย ทั้งองค์กรอย่าง สสส. เครือข่ายพื้นทีนี้ดีจัง เครือข่ายพัทลุงยิ้ม เปิดโอกาสให้เยาวชนอย่างเขาได้เห็นโลกกว้าง ให้ลูกหลานในชุมชนได้เติบโตเป็นคนดี นธีเชื่อว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เด็กและเยาวชนต้องการคือ ‘โอกาส’ คนในชุมชนเองก็ต้องการโอกาส วันนี้เขาจะใช้โอกาสที่เขามีสื่อสารออกไปเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนและสังคม
ผมหวังว่าวันหนึ่งงานพัฒนาชุมชนที่เราทำ ศิลปวัฒนธรรมที่เราช่วยกันสืบทอด จะช่วยจรรโลงคนในชุมชนและสังคมได้ เสียงดนตรีจะดังมากกว่าเสียงปืนหรือเสียงตีกันของน้อง ๆ เยาวชน หวังให้วัฒนธรรมยังคงอยู่เป็นสุนทรียะในชุมชน อย่าให้ชุมชนขาดศิลปะ เพราะศิลปะช่วยขัดเกลาจิตใจคนให้มีความสุขได้