8 ช่องทางความสุข

ครูเบลล่า…เปลี่ยนชีวิตคนด้อยโอกาสผ่านเสียงเพลง

ณ เรือนจำหญิง จังหวัดเชียงใหม่ บทเพลง “คนดีไม่มีวันตาย”   ถูกถ่ายทอดผ่านเสียงร้องของผู้ต้องขังหญิงอย่างทรงพลัง ความหมายของบทเพลงลึกซึ้งกินใจจนคนร้องและคนฟังน้ำตาซึม

            “…จะปิดทองหลังองค์พระปฏิมา

            จะยอมรับโชคชะตาไม่ว่าดีร้าย

            ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้าถึงเวลาก็ต้องไป

            เหลือไว้แต่คุณงามความดี

            ขอเทิดทูนศักดิ์ศรียิ่งสิ่งใด

            แม้แต่ลมหายใจก็ยอมพลี

            โลกยังไม่สิ้นหวัง ถ้ายังมั่นในความดี

            ศรัทธาไม่เคยหน่ายหนี คนดีไม่มีวันตาย”

ครูเบลล่า ครูสอนร้องเพลงวัยกว่าห้าสิบปีมองดูบรรดาลูกศิษย์ถ่ายทอดบทเพลงออกมาได้อย่างซาบซึ้งกินใจจนคนฟังและคนร้องน้ำตาซึมไปพร้อมกัน บทเพลงอันทรงพลังได้โบยบินผ่าน “กรงขังทางกาย” สู่เสรีภาพทางใจเพื่อให้ทุกคนกล้าก้าวเดินบนเส้นทางใหม่ที่มีความดีนำทาง

ครูเบลล่า หรือ นลี อินทรนันท์ ครูสอนร้องเพลงและเจ้าของโรงเรียนดนตรีวรนันท์ ใกล้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มก้าวเดินบนเส้นทางจิตอาสาในฐานะผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่อยากใช้เวลาว่างเพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาสตั้งแต่เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว  หลังจากได้สัมผัสถึงความสุขจากการให้ผ่านการทำงานจิตอาสาที่เริ่มต้นจากหนึ่งสมองและสองมือตนเอง

นลี อินทรนันท์ หรือ ครูเบลล่า ผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่มีความสุขจากการทำงานจิตอาสาผ่านเสียงดนตรีมาตลอดเวลายี่สิบปี

“เมื่อก่อนเคยทำงานอยู่โรงเรียนนานาชาติที่ค่าเทอมแพงที่สุดในเชียงใหม่ หลังจากนั้นก็ว่างงานกลับมาทำขนมเค้กอยู่บ้าน พี่สาวเลยแนะนำให้ลองทำงานกับเด็กด้อยโอกาสแถววัดอุโมงค์ดู ตอนแรกเริ่มจากเราไปสอนภาษาอังกฤษให้เด็กยากจนที่บ้านอยู่ใกล้กับวัด  พอได้เห็นความกระตือรือร้นของเด็กกลุ่มนี้มากกว่าเด็กที่เคยสอนในโรงเรียนลูกคนรวยก็รู้สึกมีความสุข 

มีอยู่วันหนึ่ง เราสอนเด็กให้ร้องเพลง Rhythm of the falling rain เราคุยกันเรื่องวงจรน้ำว่ามันเลยขึ้นไปเป็นเมฆแล้วตกลงมาเป็นฝนไหลลงสู่แม่น้ำและทะเล เด็กๆ ก็บอกว่าพวกเขายังไม่มีใครเคยเห็นทะเลซักคนเดียว พอได้ยินเด็กบอกอย่างงั้นก็เลยอยากทำโปรเจ็คพาเด็กไปเที่ยวทะเลซักครั้งหนึ่ง

หลังจากนั้นครูเบลล่าจึงเริ่มต้นทำตามความฝันของตนเองโดยปรึกษาครูเต๊ะ (อิทธินันท์ อินทรนันท์) ผู้เป็นสามีถึงการจัดทำคอนเสิร์ตเพื่อหาเงินพาเด็กประถมสามสิบคนไปเที่ยวทะเล เริ่มจากนั่งรถไฟจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพ แวะเที่ยววัดพระแก้วและสถานที่ต่างๆ ของกรุงเทพก่อนจะขึ้นรถไฟไปหัวหิน แม้ว่าเวลาจะล่วงผ่านไปนานกว่าสิบปีแล้ว แต่เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นี้คราใด ภาพความทรงจำยามเด็กๆ ตื่นเต้นเมื่อได้เห็นท้องทะเลครั้งแรกก็ยังคงแจ่มชัดราวกับเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้

พอไปถึงบ้านพักติดทะเล  เด็กๆ ก็วิ่งเข้าไปเกาะระเบียงยืนดูทะเลไม่กล้าลงไปเล่น พอเราบอกว่าลงไปเลย เด็กๆ ก็วิ่งกรูลงไปที่หาด สิ่งแรกที่เด็กๆ ทำคือชิมว่าเค็มหรือเปล่า เรายืนมองภาพนั้นแล้วสัมผัสได้ว่าการทำงานแบบนี้เป็นเส้นทางที่มีความสุขจริงๆ และเราก็พบว่าเด็กที่ขาดโอกาสจะตั้งใจเรียนมากกว่าเด็กที่มีโอกาส ทำให้เรามีกำลังใจที่จะสอนและก้าวเดินบนเส้นทางนี้ต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ

ในเวลาต่อมา ครูเบลล่าตั้งครรภ์ลูกสาวคนเล็กประจวบกับเริ่มเปิดโรงเรียนดนตรีวรนันท์เป็นธุรกิจครอบครัวจึงหยุดพักโครงการสอนภาษาอังกฤษไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งธุรกิจเริ่มลงตัวและลูกสาวโตขึ้น ครูเบลล่าจึงอยากสานต่อความฝันการทำงานจิตอาสาอีกครั้ง โดยใช้เสียงดนตรีเป็นสื่อจึงลองชวนครูสอนดนตรีจากโรงเรียนของตนเองไปร่วมทำงานจิตอาสาด้วยกัน

“ตอนแรกเราชวนกันไปสอนกีตาร์ให้เด็กๆ ที่มาทำกิจกรรมกับพระอาจารย์จากวัดป่าแดง อ.เมือง จ.เชียงใหม่ในช่วงเสาร์อาทิตย์ ตอนนั้นพระอาจารย์ปรึกษาว่า ท่านทำหลักสูตรสอนธรรมะให้เด็กแต่เด็กไม่ค่อยสนใจ เราเลยเอาดนตรีไปช่วยสอน  โดยให้เด็กเรียนธรรมะก่อนถึงจะได้เล่นดนตรี ตอนนั้นลงทุนซื้อกีตาร์ไปให้เรียนเป็นสิบตัวและให้เด็กยืมไปซ้อมที่บ้าน แต่ปรากฎว่ากีตาร์หายไปทีละตัวจนไม่เหลือ ต้องเลิกโครงการนี้ไปในที่สุด”

ครูเบลล่าเล่นดนตรีและร้องเพลงร่วมกับเด็กๆ ชนเผ่าปกาเกอญอ

ครูเบลล่าบอกเล่าถึงความผิดหวังจากการทำงานจิตอาสาจนเกือบท้อใจหันหลังให้กับเส้นทางนี้ แต่หลังจากเสียงหัวใจยังคงเรียกร้องให้ทำงานเพื่อคนด้อยโอกาสดังก้องอยู่ภายใน ครูเบลล่าจึงมองหาเส้นทางใหม่เพื่อก้าวเดินต่อไปตามเสียงเรียกร้องของหัวใจอีกครั้ง

เราถามตนเองว่า แค่กีตาร์หายไป เราจะยอมแพ้แล้วเหรอ เราควรหาสถานที่สอนใหม่ที่กีตาร์ไม่หาย เลยคิดถึงเด็กในสถานพินิจเด็กและเยาวชน เพราะเด็กอยู่ที่นั่น กีตาร์ไม่หายแน่ และถ้าเราเอาดนตรีไปสอนเด็กที่ไร้เสรีภาพ เด็กก็จะคงมีความสุขมากขึ้น เลยชวนครูสอนกีตาร์ของโรงเรียนไปช่วยกันสอนด้วย ส่วนเราไปสอนร้องเพลง ผลที่เกิดขึ้นคือเราได้รับการต้อนรับอย่างดี เด็กๆ มีความสุขมากและกีตาร์ก็ไม่หาย

บนเส้นทางสายใหม่นี้ ครูเบลล่าได้เริ่มเรียนรู้การทำงานจิตอาสาที่มีเป้าหมายชัดเจนและความรับผิดชอบที่มากขึ้นตามมาเช่นกัน

“สิ่งสำคัญของการเข้าไปสอนที่สถานพินิจฯ คือ เด็กจะมีช่วงเวลารอศาลตัดสินอยู่ที่นั่นไม่เกินสองเดือนครึ่ง เราต้องมีวินัยเข้าไปสอนเป็นประจำทุกพุธอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานนับปีและมีข้อตกลงกับเด็กที่มาเรียนว่าเขาจะต้องทำตามสัญญามาเรียนให้ครบ ถ้าเราไม่ทุ่มเท ศรัทธาของเด็กในตัวเราก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราจะให้เขาทำตามสัญญา เราก็ต้องทำตามสัญญาด้วยเช่นกัน” 

ในเวลาต่อมา ครูเบลล่าเริ่มขยายเส้นทางจิตอาสาไปสู่การสอนดนตรีให้กับโรงเรียนฝึกอาชีพคนตาบอดภาคเหนือ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งเรือนจำหญิง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผู้หญิงอายุ18 ปีขึ้นไปถูกกักขังเสรีภาพเป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี  ที่นี่ทำให้ครูเบลล่ามีเวลาในการสอนและใกล้ชิดกับกลุ่มผู้หญิงที่ถูกจองจำเสรีภาพนานขึ้นจนทำให้เริ่มมีประสบการณ์ในการวางหลักสูตรการสอนร้องเพลงที่สามารถเข้าถึงหัวใจของคนร้องและคนฟังได้มากขึ้น และยังได้เปิดประตูเสรีภาพของตนเองจากโลกใบเดิมสู่โลกใบใหม่เช่นกัน

“การได้เข้าไปสอนคนด้อยโอกาสหลากหลายกลุ่ม ตัวเราเองก็ต้องทำตัวให้เหมือนตุ๊กแกที่เปลี่ยนสีได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนจะชอบเพลงแจ๊สอย่างเดียวและชอบร้องเพลงภาษาอังกฤษ เคยรู้สึกมีอคติกับเพลงไทย แต่พอต้องเข้าไปสอนเด็กในสถานพินิจฯ หรือเรือนจำหญิง เพลงแจ๊สที่เราชอบมันไปเชื่อมกับคนที่เราไปสอนไม่ได้เลย เราก็ต้องเปลี่ยนมาหาข้อมูลว่า เขาชอบฟังเพลงอะไรกัน แล้วก็เริ่มหัดฟังเพลงไทยที่มีเนื้อหาดีๆ อย่างเพลงของวงบอดี้สแลมมีหลายเพลงที่มีเนื้อหาดี เราก็นำมาสอนให้เขาร้องและทำความเข้าใจกับเนื้อหาของเพลงจนสามารถถ่ายทอดออกมาได้ดี

“เราเริ่มเรียนรู้ว่าเพลงที่จะเอาไปสอนหรือเอาไปเล่นต้องให้เหมาะกับสถานที่ที่ไป เวลาทำงานแต่ละครั้งก็ต้องมีเป้าหมาย เรามีเป้าหมายในการสอนให้เด็กเป็นคนดีโดยใช้เพลงเป็นสื่อ เราก็ต้องเลือกเพลงที่มีความหมายชัดเจน เพราะยิ่งเป็นเพลงที่เข้าไปถึงจิตวิญญาณของเขา สร้างแรงบันดาลใจให้เขาเปลี่ยนแปลงตนเองได้ก็ถือว่าเราไปถึงเป้าหมายของการเข้าไปสอนดนตรีให้เด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ เหมือนเราใช้เพลงเพื่อเป็นกุศโลบายให้เด็ก หลังจากเรียนจบเราจะมอบประกาศนียบัตรให้เขาเก็บไว้เป็นความภาคภูมิใจ เด็กบางคนพอออกไปสู่โลกภายนอกก็มาเป็นเพื่อนกับครูในเฟสบุ๊ค  เราก็จะคอยเตือนเขาไม่ให้เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงอันตรายได้ เพราะไม่อยากให้เขาย้อนกลับมาที่นี่อีก”

ครูเบลล่าเล่นกีตาร์ร้องเพลงข้างถนนเพื่อระดมทุนทำกิจกรรมจิตอาสา

สิ่งสำคัญที่ครูเบลล่าได้เรียนรู้จากการทำงานจิตอาสาก็คือ คำว่า “จิตอาสา” ไม่ใช่การให้ตามอารมณ์ของตนเอง แต่จะต้องมาพร้อมกับ “วินัย” และ “ความรับผิดชอบ” ด้วยเช่นกัน

คนที่ทำงานจิตอาสาบางคนจะคิดว่า จิตอาสาทำตอนไหนก็ได้เพราะเราไม่ได้เงินตอบแทน บางคนไปแค่ครั้งสองครั้งก็หายไปเลย อยากไปก็ไป อยากหยุดก็หยุด ทำตามอารมณ์ตนเอง มันทำให้คนที่เราเข้าไปช่วยเหลือขาดความเชื่อมั่นในตัวคนที่มาทำงานจิตอาสา เพราะเราได้ยินหลายหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือบอกว่า จิตอาสาหลายคนไม่มีวินัยทำให้โครงการต่างๆ ล้มเลิกไปกลางคัน ไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เมื่อเราคิดว่าอะไรที่สำคัญเราก็ต้องทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด อย่างสมมติถ้าเราบอกว่า เด็กสำคัญเราก็จะต้องซื่อสัตย์กับเด็ก แล้วเด็กก็จะตามสัญญาของเรา การมีวินัยคือการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเรา คนที่เราเข้าไปช่วยเหลือก็จะเกิดความศรัทธาและพร้อมจะไปก้าวไปกับเรา

ตลอดระยะเวลายี่สิบปีของการทำงานจิตอาสา ครูเบลล่าเริ่มต้นจากหนึ่งสมองและสองมือของตนเองทุกครั้ง โดยใช้วิธีการระดมทุนจากกัลยาณมิตรจนได้เงินมาทำตามความฝันของตนเอง ไม่ได้รอการขอทุนจากองค์กรธุรกิจหรือองค์กรรัฐใดๆ เพราะเธอเชื่อว่า การทำความดีสามารถเริ่มได้จากสองมือของทุกคน และหากคนทำความดีมาพร้อมกับวินัยและความรับผิดชอบ คนรอบข้างก็ย่อมพร้อมที่จะสนับสนุนให้ความฝันของคนนั้นกลายเป็นความจริง

ทุกวันนี้ ครูเบลล่ายังคงทำงานจิตอาสาให้กับคนด้อยโอกาสหลากหลายกลุ่มเท่าที่หนึ่งสมองและสองมือจะทำได้ เพราะเธอรู้ว่านี่เป็นความสุขที่ช่วยเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์มากขึ้นนั่นเอง

เวลาเราเห็นเด็กได้ดี มันเป็นความสุขที่บอกไม่ถูกที่เราช่วยเด็กเหล่านี้ให้พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น มีงานทำ ตั้งแต่เรามาทำงานจิตอาสาแบบนี้ รู้สึกมีความสุขกับตนเองมากขึ้น เราเริ่มเข้าใจว่าชีวิตเราก็มีแค่นี้แหละ แต่ก็ต้องผิดหวังบางคราวเมื่อลูกศิษย์กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม  เราต้องยอมรับและต้องปล่อยวางให้ได้ เพราะถ้าเราทำงานแบบนี้แล้วเราปล่อยวางไม่ได้มันจะเป็นอุปสรรคที่ร้ายแรงมากสำหรับเรา แล้วเราก็ยอมรับว่าโลกนี้มีสองด้าน มีทั้งได้และไม่ได้ มีทั้งดีและเสีย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำเลย 

“การทำงานจิตอาสาทำให้เรามีความสุข  เมื่อเราตายไป เราจะไม่รู้สึกเสียใจอะไรเลย เพราะเราทำสิ่งที่ควรจะทำมาทุกอย่างแล้ว การทำแบบนี้ไม่ต้องมีเงินเยอะก็ทำได้ ขอให้มีทักษะ มีปัญญาคิดที่จะแก้ปัญหาได้ก็พอ ยิ่งเราทำไปเรื่อยๆ เราก็จะมีประสบการณ์มากขึ้นเอง ขอแค่เรามีใจที่มุ่งมั่นอย่าท้อถอย เราก็จะไปถึงปลายทางแห่งความสุขในที่สุด”

ขอขอบคุณภาพจากเฟสบุ๊คครูเบลล่ามา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ


ศิลปะ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save