Paper Ranger ฮีโร่จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง
เมื่อพูดถึงคำว่า “ฮีโร่” เรามักนึกถึงผู้นำยามวิกฤติที่ช่วยเหลือผู้คนให้รอดพ้นจากอันตราย แต่สำหรับฮีโร่ที่ชื่อ “Paper Ranger” ตัวนี้ เขาจะมาทำหน้าที่บอกกับเราว่า ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่จิตอาสาช่วยกันเปลี่ยน “กระดาษเอสี่ใช้แล้วหน้าเดียว” ให้กลายเป็น “สมุดเพื่อน้อง” ได้ด้วยสองมือของเราภายในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น
พูลยศ กัมพลกัญจนา หรือ พี อดีตนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เริ่มต้นโครงการ “Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง” เมื่อสิบปีที่ผ่านมากล่าวถึงเป้าหมายของโครงการนี้ว่า
“โครงการของเราอยากสื่อสารให้คนในสังคมรู้ว่าการทำเพื่อผู้อื่นนั้นสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ จากเรื่องใกล้ตัว โดยเรามองเรื่องของกระดาษเอสี่ใช้แล้วด้านเดียวที่หลายๆ คนมีเหลือใช้ รวบรวมแล้วนำกลับมาทำให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง ผ่านเรื่องราวของการทำสมุดทำมือที่เปรียบเสมือนตัวแทนส่งต่อความความสุขไปยังน้องๆ ที่ขาดแคลนได้”
การเดินทางของฮีโร่จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 ขณะที่พียังเป็นนักศึกษาปีสี่ เขาพบว่านักศึกษาต้องถ่ายเอกสารเพื่อใช้ในการเรียนเยอะมาก หลังจากหมดภาคเรียนแล้ว กระดาษเหล่านี้ก็ไม่รู้จะนำไปใช้ประโยชน์อะไร ทั้งที่ยังมีหน้ากระดาษว่างอีกด้านหนึ่ง เขาจึงเริ่มต้น “แปลงร่าง” นำกระดาษด้านที่ใช้แล้ว พับประกบเข้าหากันให้เห็นแต่หน้ากระดาษขาวๆ ที่ว่างอยู่ด้านนอกทั้งสองด้าน จากนั้นจึงนำกระดาษหลายๆ แผ่นมาวางเรียงซ้อนกันทีละแผ่น หากระดาษปกสีน้ำตาลมาห่อทับด้านที่เปิดออกได้ เย็บเล่มด้วยด้ายให้กลายเป็นสมุดที่จะเห็นแต่ด้านขาวๆ ราวกับสมุดเล่มใหม่ ตกแต่งหน้าปกด้วยสีสันตามจินตนาการจนกลายเป็นสมุดบันทึกขนาดพกพา แรกเริ่มก็นำมาใช้กันเองในกลุ่มเพื่อน แต่เนื่องจากกระดาษที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดความคิดอยากนำสมุดไปแจกเด็กยากจนเวลาออกค่ายอาสาฯ และพัฒนากลายเป็นโครงการ “Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง” ในเวลาต่อมา จนถึงวันนี้มีสมุดทำมือที่ส่งต่อไปยังน้องๆ ผู้ด้อยโอกาสมากกว่าสองแสนเล่มแล้ว
“หลังกลับจากค่ายอาสา เราเริ่มรู้สึกว่า เราสามารถทำประโยชน์ให้คนอื่นได้จากกระดาษเหลือใช้ของเรา ความรู้สึกดีๆ จากการให้ก็กลายเป็นพลังที่สะท้อนกลับมาหาเราว่า ทำไมเราไม่ทำให้มันจริงจังขึ้น เพราะใครๆ ก็มีกระดาษ ถ้าเราถ่ายทอดไอเดียนี้ออกไปสู่คนในสังคมก็น่าจะดี เมื่อคิดจะเริ่มทำให้จริงจังขึ้นก็เลยคิดว่าน่าจะมีสัญลักษณ์ของฮีโร่เป็นโลโก้ของโครงการ เพราะเรารู้สึกว่าเราเป็นฮีโร่ให้กับเด็กๆ เพื่อนก็เลยช่วยออกแบบตัวการ์ตูน Paper Ranger ขึ้นมาโดยมีแรงบันดาลใจการตั้งชื่อมาจากฮีโร่ Power Ranger ยอดมนุษย์ห้าสี”
หลังจากเรียนจบ ชายหนุ่มไปทำงานตามความรู้ที่ร่ำเรียนมาอยู่เกือบสองปี จึงได้กลับมาสานต่อโครงการนี้ให้จริงจังมากขึ้น โดยดำเนินงานโครงการภายใต้มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ พัฒนาจากเขียนโครงการขอทุนสนับสนุนการทำงานในปีแรกสู่โครงการที่อยู่ได้ด้วยตนเอง ผ่านการจัดกิจกรรมจิตอาสาให้กับบุคคลทั่วไป โดยใช้ตึกของมูลนิธิฯ ย่านเพชรบุรีตัดใหม่เป็นสถานที่จัดกิจกรรม รวมไปถึงการออกไปจัดกิจกรรมให้กับกลุ่มองค์กรที่สนใจ โดยรายละเอียดต่างๆ จะมีแจ้งล่วงหน้าไว้ในเฟสบุ๊คและเว็บไซต์ธนาคารจิตอาสา รวมทั้งเพจ Paper Ranger จิตอาสาสมุดเพื่อน้อง
“เราไม่ได้เขียนขอทุนตั้งแต่ปี 52 เป็นต้นมา แต่เราอยู่ได้จากการสนับสนุนของคนหลายๆ คนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมกับเรา ทั้งบุคคลทั่วไป และองค์กรต่างๆ โดยทางโครงการเราจะเตรียมอุปกรณ์สำหรับการทำกิจกรรมให้ทุกอย่าง และพยายามกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมนำกระดาษหน้าเดียวที่มีอยู่ที่บ้านมาด้วย แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร เราเองก็มีรวบรวมจากคนที่นำมาบริจาคไว้อยู่แล้วบางส่วน สิ่งที่ทุกคนจะได้กลับไปคือความรู้และวิธีการทำสมุดที่สามารถเอาไปทำต่อเองที่บ้านได้ รวมไปถึงคอนเซ็ปต์ที่เราอยากให้เขารู้ว่า จริงๆ แล้วการทำเพื่อคนอื่นทำได้ไม่ยาก แค่เราเริ่มลงมือทำ และเป็นการบอกให้เขารู้ว่า ถ้าเราช่วยกันพลังเล็กๆ ของเราก็จะรวมกันช่วยสังคมให้ดีขึ้นได้”
สิ่งที่ทำให้ทุกคนรู้สึกสนุกและกลายเป็นเสน่ห์ของโครงการนี้คือ สมุดแต่ละเล่มจะเป็นสมุดเล่มเดียวในโลก เพราะหน้าปกสมุดเกิดจากการวาดภาพตามจินตนาการของคนทำแต่ละคน ทุกคนที่ได้มาร่วมกิจกรรมจึงเกิดความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้แปลงร่างกระดาษขยะให้กลายเป็นสมุดเพื่อคนอื่น ด้วยการออกแบบหน้าปกแตกต่างกันไปตามจินตนาการแต่ละคน หลังจากสมุดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ทางโครงการก็จะนำไปแจกตามพื้นที่ต่างๆ ที่แจ้งความต้องการเอาไว้ โดยมีการส่งกระจายสมุดผ่านกลุ่มเครือข่ายของโครงการหลากหลาย เช่น กลุ่มนักศึกษาที่ออกค่ายอาสาของมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มบิ๊กไบค์จิตอาสาที่ต้องการสมุดไปแจกในพื้นที่ห่างไกล หรือพระนักพัฒนา เป็นต้น
จุดเด่นของโครงการนี้คือ เราสามารถชวนเด็กตั้งแต่วัยประถมมาร่วมกิจกรรมและปลูกฝังจิตอาสาได้ตั้งแต่วัยเยาว์ เพราะเป็นกิจกรรมที่ร่วมกันทำได้ทั้งครอบครัว เรามองเป็นโมเดลของการกระตุ้นการมีส่วนร่วมในสังคม การเดินทางของสมุดทำมือนำพาฮีโร่มาเจอกันมากมายระหว่างทาง เหมือนกับเรื่องง่ายๆ ที่ทำให้ทุกคนมารวมกันทำเรื่องดีๆ ร่วมกัน
คำถามที่พบบ่อยและสร้างความท้าทายให้หัวหน้าโครงการก็คือ
“มีคนถามว่าทำไมเราไม่ไปซื้อสมุดแจกน้องเลย มาเสียเวลานั่งทำสมุดกันทำไม คำตอบที่เรามีให้เสมอ คือ เราไม่ได้มองคุณค่าของสมุดที่ตัวเงิน แต่เรามองคุณค่าที่เกิดขึ้นระหว่างทางมากกว่า มันอาจไม่สามารถวัดผลได้เป็นตัวเงิน หากแต่เป็นความร่วมมือของคนในสังคมผ่านเรื่องเล็กๆ ที่เราพยายามสื่อออกไป ทุกวันนี้ โครงการของเรายังอยู่ได้เพราะทุกคนเห็นร่วมกับเรา เขามีความรู้สึกว่า “อุดมการณ์นี้น่าสนับสนุน” และอยากเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์นี้”
สิบปีผ่านไป เมล็ดพันธุ์ความคิดของอดีตนักศึกษาหนุ่มเติบโตงอกงามขึ้นตามโครงการที่เขาดูแลเช่นกัน
ทุกวันนี้โครงการค่อยๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ดูได้จากปริมาณกระดาษและปริมาณคนที่มาร่วมทำกับเรา ทั้งจิตอาสาทำสมุดและคนช่วยกระจายสมุดไปถึงเด็กๆ เรามองว่าเราเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องดีๆ กระดาษถูกรวบรวมมาจากคนๆ หนึ่ง มาถูกเย็บด้วยคนอีกคนหนึ่ง แล้วถูกส่งต่อไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง มันเหมือนเป็นจุดร่วมของอุดมการณ์โดยที่ทุกคนเป็นฮีโร่ได้จากทุกมุมของตัวเอง
เมื่อมองย้อนกลับไปถึงวัยเยาว์ ทั้งตัวเขาและครอบครัวไม่เคยคาดคิดเช่นกันว่าจะเห็นภาพตนเองกลายเป็นผู้นำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อผู้อื่น
“ก่อนหน้าจะเริ่มทำโครงการนี้จริงจัง เราไม่เคยเห็นภาพตนเองมาทำงานจิตอาสาเลย ด้วยความที่เราเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ และที่บ้านก็มีธุรกิจครอบครัวให้ดูแล แต่พอได้ลองทำก็ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับมัน และเมื่อทำก็รู้สึกว่าทำได้ดี มันเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของเรา มีอยู่วันหนึ่งที่เรารู้สึกมีความสุขที่สุด คือ ช่วงที่เริ่มมีรายการมาสัมภาษณ์ เราบอกพ่อแม่ว่าจะออกทีวีวันนี้ ซึ่งรายการแรกๆ ที่มาสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะเป็นรายการที่ออกอากาศเวลาที่คนดูน้อย เช่น ตีห้า วันนั้นเราตื่นมาเตรียมจะนั่งดู แต่กลับมาเจอพ่อแม่ตื่นมานั่งหน้าทีวีก่อนเราเสียอีก ถ้าคุณไม่ได้อยู่จุดนั้น คุณจะไม่รู้ว่าเรามีความสุขมากขนาดไหน”
ชายหนุ่มเล่าเหตุการณ์สำคัญในชีวิตที่ทำให้เขาน้ำตาซึมด้วยความปลื้มปิติ
“โครงการนี้เปลี่ยนชีวิตเราเยอะเลย มันทำให้เราเข้าใจสภาพของคนและสังคมมากขึ้น ทำให้เราเรียนรู้ว่าการทำเพื่อคนอื่นเป็นยังไง พ่อจะบอกว่า เราโตขึ้น ดูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราก็เห็นตัวเองเปลี่ยนไปเหมือนกัน เคยมีกิจกรรมหนึ่งผู้เข้าร่วมสองร้อยกว่าคน เราเองก็ไม่เคยคิดว่าเราจะยืนอยู่ตรงนั้นและสามารถพูดต่อหน้าคนเยอะๆ ได้ มันคือการเติบโตของเรา และการได้ยืนเล่าเรื่องความเป็นมาของโครงการให้ผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมฟังว่า เราโตมาได้อย่างไร ยิ่งทำให้เราภูมิใจในสิ่งที่ทำมากขึ้น”
เมล็ดพันธุ์แห่งความเปลี่ยนแปลง
“ความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง คือ หนึ่ง เราเข้าใจเพื่อนมนุษย์มากขึ้น สอง เราเริ่มกลับมารู้ว่า ชีวิตคืออะไรมากขึ้น เราเรียนรู้จากสิ่งที่เราทำ การที่เราเจอคนหลายแบบมาร่วมกิจกรรมทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น เราเชื่อว่า ไม่มีอะไรถูกหรือผิด เราเรียนรู้ทุกวัน นั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเติบโตขึ้นมาและทำให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้น”
เมื่อถูกถามถึงความสุขที่ได้รับ ชายหนุ่มผิวขาวนั่งนึกชั่วขณะก่อนจะถ่ายทอดออกมาพร้อมรอยยิ้มและแววตาเปล่งประกาย
ผมว่ามันมีความสุขตั้งแต่เราเริ่มสอนให้คนอื่นลงมือทำ ผมมักจะบอกเสมอว่า ตอนที่ลงมือทำ ถ้าเป็นไปได้ให้ลองคิดว่าคุณกำลังทำสมุดให้ใคร จินตนาการถึงคนนั้น แล้วให้สื่อลงไปในสมุด แล้วสมุดทุกเล่มมันจะไม่ใช่สมุดธรรมดา ความสุขของคุณจะเก็บอยู่ในสมุด และพร้อมจะส่งต่อไปให้น้องด้วย เด็กทุกคนที่ได้รับสมุดจะได้รับความสุขนั้น ตัวเราเวลาเห็นเขามีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีมาก เวลาเราอยู่ตรงกลางระหว่างคนที่ให้ความสุขและคนที่รับความสุข มันน่าอิจฉาไหมล่ะ
ชายหนุ่มจบประโยคด้วยคำถาม ในฐานะคนฟังจึงพยักหน้าเห็นด้วย เพราะการได้ทำงานอยู่ท่ามกลางมวลรวมแห่งความสุข คนที่อยู่ตรงกลางย่อมอิ่มเอมใจอย่างแน่นอน
“ทุกวันนี้ ถ้ามองในตัวคอนเซ็ปต์โครงการ เราตกผลึกชัดเจนแล้วว่า โครงการนี้เกิดมาเพื่ออะไร ทุกอย่างชัดเจนและเริ่มนิ่งมากขึ้น เราพร้อมจะเอาแนวคิดนี้บอกต่อไปสู่สังคมเรื่อยๆ และพร้อมสำหรับทุกคนที่สนใจจะเข้ามามีส่วนร่วม ผมคิดว่ามันคือความภาคภูมิใจนะ เพราะการที่คนในสังคมเห็นพ้องไปกับเรา ทุกคนมาช่วยกันในแต่ละบทบาทของเขา และพาโครงการนี้เดินทางไปด้วยกัน ผมคิดว่ามันเป็นความสุขของเราที่ได้ทำมัน”
หากเปรียบแนวความคิดฮีโร่จิตอาสาสมุดเพื่อน้องเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ การเติบโตของโครงการตลอดสิบปีที่ผ่านมาก็เหมือนกับการแผ่กิ่งก้านสาขาของไม้ใหญ่ออกไป โดยมีคนดูแลต้นไม้ที่เติบโตทางความคิดไปพร้อมๆ กัน
“ผมชอบเปรียบเทียบว่า จริงๆ แล้วเหมือนเราปลูกต้นไม้ ถ้าปลูกวันนี้แล้วจู่ๆ จะให้ออกดอกเลยก็ไม่ได้ เราต้องให้เวลามันมากกว่านั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา โครงการเติบโตขึ้น ตัวเราก็เติบโตขึ้น ถามว่าในอนาคตอยากขยายไปไกลกว่านี้ไหม ผมไม่อยากคิดไปให้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่เราเป็นอยู่ ไม่เคยวางแผนว่าอีกห้าปีต้องมีอะไร แต่คอยดูแลให้มันแผ่ออกไปตามธรรมชาติ ไม่ได้ใส่ปุ๋ยเร่ง เมล็ดพันธุ์จะไปโตที่ไหนก็ปล่อยเป็นธรรมชาติ อยู่ดีๆ อาจมีนกมาคาบไป มีผีเสื้อไปผสมเกสรที่โน่น ที่นี่ เราแค่เห็นมันไปเติบโตตามที่ต่างๆ เราก็มีความสุขมากแล้ว อย่างเช่น เด็กบางคนมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา แล้วกลับไปทำกิจกรรมนี้ในบ้านเกิดของตนเอง ผมก็รู้สึกดีใจมากแล้ว”
ในวันนี้เจ้าตัวการ์ตูน Paper Ranger ฮีโร่จิตอาสาสมุดเพื่อน้องได้กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการทำความดีด้วยวิธีเรียบง่าย ไม่ต้องมีคาถาวิเศษหรือเวทมนตร์เหาะเหินเดินอากาศใดๆ เพียงแค่คุณมองหากระดาษหน้าเดียวบนโต๊ะทำงาน แล้วนำมาเย็บติดกัน เราทุกคนก็สามารถเป็นฮีโร่จิตอาสาสมุดเพื่อน้องได้ในชั่วพริบตา