8 ช่องทางความสุข

ภาวนาเปลี่ยนข้างใน : ความสุขไม่มีลิขสิทธิ์

“การเจริญสติเป็นแกนกลางการอบรมทุกกิจกรรมของเสมสิกขาลัย การภาวนาต้องอยู่ในทุกขุมขนของสิ่งที่เราทำ”

ปรีดา และพูลฉวี เรืองวิชาธร ยืนยันในแนวทางเดียวกัน

ทั้งคู่เป็นกระบวนกร หรือผู้นำการอบรมของเสมสิกขาลัย องค์กรพัฒนาเอกชนที่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ทางเลือก ที่ใช้การภาวนาเป็นแกนหลักของทุกกิจกรรมที่ทำ

กระบวนกรทั้งคู่ย้อนความเป็นมาของแนวคิดและแนวทางที่ดำเนินมาให้ฟังว่า  กระบวนการอบรมสร้างการเรียนรู้โดยทั่วไปมักมุ่งแต่ด้านเนื้อหา ใส่ข้อมูลให้เกิดความรู้ผ่านการอ่าน การบรรยาย ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับหนึ่ง แต่เขาเห็นว่ายังไม่น่าพอใจเพราะนั่นเป็นการรู้แต่ในหัว ซึ่งโดยหลักการทั่วไปทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร อะไรที่ควรทำ  แต่หากไม่ได้เปลี่ยนมาจากข้างในจิตสำนึกจะไม่ค่อยเปลี่ยน

อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมเรารู้หมดแหละว่าจะลดการทำลายสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีไหนได้บ้าง จะดูแลรักษาอย่างไร เห็นชาวบ้านทุกข์ยากก็รู้อยู่ว่าเขาควรได้รับอะไร  เราสนใจประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม แต่ถึงจุดหนึ่งพอมีคนเห็นต่างก็เริ่มอึดอัดจนรู้สึกทนไม่ไหว ไปโจมตีเขา  ทำให้เสมฯ ต้องมานั่งทบทวนว่ามันต้องมีอะไรสักอย่างหายไปหรือเปล่า  ก็พบคำตอบว่าถ้าไม่เห็นข้างในของตัวเอง ไม่ว่าจะรู้อะไรมันก็กลับไปสู่จุดเดิมได้หมด คืนกลับร่องอัตตาเดิม สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่การเอาความรู้สึกตัวหรือการมีสติมาเป็นแกนกลางของทุกกิจกรรม  การภาวนาต้องอยู่ในทุกขุมขุนของสิ่งที่เราทำ ภาวนาจึงเป็นพื้นฐานของทุกคอร์สที่เราจัดอบรม

กิจกรรมของเสมสิกขาลัย

เสมสิกขาลัย ก่อตั้งเมื่อปี 2538 เริ่มเปิดอบรมทั้งเรื่องการรู้จักตัวเองและสังคมหลากหลายโครงการมาโดยตลอด ปรีดากับพูลฉวีเริ่มเข้ามาเป็นกระบวนกรให้กับเสมฯตั้งแต่ปี 2546  อาทิ “เป็นมิตรกับตัวเอง” “เผชิญความตายอย่างสงบ” “งานพลังกลุ่มและความสุข” “การสื่อสารอย่างสันติ” “การฝึกทักษะกระบวนกร”เป็นต้น ซึ่งทุกกิจกรรมใช้การภาวนาเป็นแกนหลัก

ใช้การอบรมเป็นเครื่องมือสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เข้าร่วมเกิดความเปลี่ยนแปลงภายในตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ชีวิตที่มีความสุขมากขึ้น ความทุกข์น้อยลง มีปฏิสัมพันธ์ในทุกระดับด้วยความเข้าใจและผสานกลมกลืนกันมากขึ้น

รวมทั้งถ้ากระบวนการเรียนรู้สร้างการเปลี่ยนแปลงข้างในได้ลึกซึ้ง ก็จะนำไปสู่สำนึกในการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว ลดการคุกคามหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อธรรมชาติ  กระทั่งกลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการเยียวยาสังคมที่เอารัดเอาเปรียบ มีความเหลื่อมล้ำ สังคมที่มีความทุกข์จากความรุนแรง

นี่เป็นภาพกว้างซึ่งเสมฯ วาดฝันไว้  เชื่อว่ากระบวนการเรียนรู้ผ่านการภาวนาเป็นเครื่องมือสำคัญชุดหนึ่ง ซึ่งถ้าทำให้ถึงจุดเปลี่ยน หรือเกิดการระเบิดจากภายในนั้นได้จะมีผลหลายทาง ตัวเขาเองมีความสุขจากภายใน มีความนิ่งจากภายใน มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง สังคม และธรรมชาติอย่างอ่อนโยน ซึ่งเป็นจุดปลายสุดที่เราต้องการ

“ทุกเนื้อหาที่เสมฯ ทำ ทุกกิจกรรมการอบรม ก่อนเริ่มจะมีการทำภาวนา”  พูลฉวีเล่าให้เห็นภาพในภาคปฏิบัติ  “ทั้งผ่านการทำสมาธิ หรือเล่นเกมที่ฝึกสติให้ตื่นรู้ ในแต่ละกิจกรรมมีการเน้นให้เห็นว่าสติและการเห็นตัวเองสำคัญอย่างไร”

“เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมทำให้เกิดประสบการณ์ตรง”  ปรีดาเสริม “ขณะทำอะไรเพลินๆ เราดึงให้เขาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น นำเข้าสู่บทเรียนที่ทำให้เห็นจริงว่าสิ่งต่างๆ เกิดมาจากอะไร จะทำให้มองเห็นชัดขึ้น”

ในชีวิตประจำวันปัญหาเกิดจากการปะทะกันของปัจจัยต่างๆ กิจกรรมสะท้อนความจริงเหล่านั้น แล้วคุยกันว่าสิ่งที่ดีและไม่ดีเกิดจากอะไร ก็จะได้เห็นบางอย่างชัดขึ้น เกิดการยกระดับภายในและเดินหน้าฝึกฝนต่อ

 ประสบการณ์ตรงเป็นหัวใจสำคัญจุดหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนคนจากภายใน เพราะถ้าไม่มีประสบการณ์ตรงจะรู้บนฐานความคิดอย่างเดียว ซึ่งเราทุกคนรู้กันหมดอยู่แล้วแต่ยังไม่เกิดผลในชีวิตจริง  จุดสำคัญเราจึงต้องสืบค้นจากประสบการณ์ตรง โดยอาศัยความรู้สึกตัว ซึ่งเป็นการตื่นรู้ในระดับต้น  ความสำคัญของการภาวนาในกระบวนการอบรมจึงมาคู่กันกับประสบการณ์ตรง เพราะในชีวิตจริงก็เป็นเช่นนั้น สติจะเป็นตัวเชื่อมการเรียนรู้มาสู่ประสบการณ์ตรงได้

กระบวนกรนักภาวนาจากเสมสิกขาลัย ลงรายรายละเอียดต่อเนื่องไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย อย่างเรื่องความสัมพันธ์ หรือการทำงานเป็นทีม ก็ต้องใช้การภาวนาหรือการเจริญสติมาเป็นแกนกลางในการทำให้เห็นตามที่เป็นจริง

 “อย่างการทะเลาะเบาะแว้งกัน บางทีเราก็รู้ว่าเพราะเราฟังเขาไม่ค่อยดี ซึ่งสติจะทำให้เรารู้ว่าถ้าเรานิ่งเงียบและฟัง เราจะมองเห็นว่าเขาพูดมาจากอะไร เห็นแม้กระทั่งตัวตนของเขา ท่าทีของเราระหว่างพูดคุยก็จะเปลี่ยนไปด้วยใจที่นิ่งในระดับหนึ่ง เราจะเห็นตัวเองว่ามีจุดที่เป็นอัตตาอย่างไร คลายอัตตาอย่างไร  พลังงานของอัตตาจะลดลง ความเข้าใจคนอื่นจะเพิ่มมากขึ้น”

“การสื่อสารอย่างสันติไม่ใช่แค่ทักษะหรือคำพูดอ่อนหวาน แต่ต้องออกมาด้วยเจตนาที่จะไม่รุนแรง ต้องการจะสื่อให้เข้าใจตรงกัน”    พูลฉวีช่วยเสริม  “ยกตัวอย่างขณะเดินๆ อยู่แล้วมีคนมาชน เราเจ็บโกรธ แต่ถ้าสื่อสารออกไปโดยไม่รู้ตัว ก็จะแสดงออกด้วยคำพูดหรือท่าทีที่รุนแรงเพราะเรากำลังเจ็บหรือโมโห  แต่ถ้าสื่อสารอย่างรู้ตัวจะเป็นอีกแบบ โดยเฉพาะกับคนใกล้ตัวกระทบกระทั่งกันได้ง่าย การสื่อสารอย่างสันติจะทำให้เราเห็นว่า แม้เราทำไปด้วยความหวังดี แต่หากผ่านวิธีการดุด่าก็อาจไม่ได้ผล  แต่ถ้ามีสติพอจะได้ลองคิดต่อว่าจะสื่อสารอย่างไรที่ไม่ใช้การด่าว่า เพื่อให้เขาเข้าใจและความสัมพันธ์ก็ดีด้วย”

ปรีดาพูดต่อในมุมกว้างออกไปอย่างความขัดแย้งระดับโครงสร้างอำนาจรัฐ

เรารู้ว่าจะช่วยชาวบ้านต่อสู้กับโครงการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม แต่ข้างในเราร้อนรุ่มด้วยความโกรธเกลียดต่อผู้กระทำผู้เอาเปรียบ ถ้าเราเข้าไปเรียกร้องด้วยอารมณ์แบบนี้มันยากมากที่จะเกิดสันติ การภาวนาผ่านกระบวนการแบบนี้ต้องรู้สภาวะภายในด้วย รู้ว่าแม้คนที่กระทำต่อเราก็มาจากเงื่อนไขบางอย่าง เข้าใจและยอมรับเขาตามที่เป็นจริง การเคลื่อนไหวก็จะมีคุณภาพมากขึ้น เราเคลื่อนไหวเท่าเดิม แต่ไม่นำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายๆ  นี่เป็นคำตอบว่าทำไมเรื่องสติภาวนาจึงสำคัญกับทุกเนื้อหาที่เสมฯ ทำ  ให้ภายในนิ่งพอรู้สึกตัวพอ ควบคู่ไปกับการใช้เนื้อหาต่างๆ เข้ามาเชื่อมร้อย

“เราทำงานอยู่ในขบวนการงานพัฒนาเอกชน (NGO) เห็นภาพขบวนการประชาชนที่ทำงานสังคมมีปัญหาการประสานงาน และกรำงานจนตัวเองกรอบ การเคลื่อนไหวแบบซ้ายๆ มีเรื่องตัวตนสูงมาก ยากที่จะก่อเกิดความร่วมมือเพราะมีการแบ่งแยกสูงมาก ก็คิดว่าน่าจะมีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในขบวน มีการสัมมนาอยู่ตลอด แต่เหมือนยังขาดการแบ่งปันในใจ พอได้มาเรียนรู้กิจกรรมของเสมฯ ก็เห็นว่าน่าจะตอบโจทย์นี้”

แนวคิดเรื่องนำการภาวนาเข้ามาอยู่ในการงานและวิถีชีวิตประจำวัน ถูกส่งผ่านกลุ่มเป้าหมายหลักที่เป็น ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่เสมฯ ชักชวนเข้ามาทำกิจกรรม การฝึกทักษะกระบวนกร (Training for Trainer)

“ให้เขาไปทำต่อ เป็นคนสร้างกระบวนการเรียนรู้ หรือที่เรียกว่า กระบวนกร ทำกับกลุ่มนักพัฒนาเอกชน อาจารย์มหาวิทยาลัยที่ต้องการเปลี่ยนการศึกษาในระบบ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่ต้องทำงานกับชาวบ้าน ซึ่งตอนนี้น่าจะหมดยุคแล้วที่จะสั่งการจากเบื้องบนหรือเลือกจุดสร้างโครงการขนาดใหญ่โดยพลการ เขาเหล่านี้คุ้นเคยกับการใช้อำนาจรัฐซึ่งพร้อมจะซัดคืน เขาต้องเย็นพอจะฟัง  หากเขาไม่ภาวนาก็พร้อมจะใช้อำนาจเหมือนเดิม”

กระบวนกรของเสมสิกขาลัยทั้งคู่ช่วยกันเล่าผลัดกันเสริม

“ฝึกเป็นกระบวนกรนำกระบวนการเรียนรู้ต้องมีสติเป็นฐาน จึงต้องเรียนรู้ต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ครั้ง เจอกันเดือนละครั้งๆ ละ 3-4 วัน  มีเนื้อหา ลองฝึก ประเมิน ฟังเสียงสะท้อน ฝึกซ้ำ จะทำให้เห็นตัวเองว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร  ระหว่างการเรียนรู้ เขาจะเห็นว่าการมีสติสำคัญอย่างไร  ถ้าไม่มีสติทำกระบวนการไม่ได้ จับประเด็นไม่ได้  หลังอบรมต้องลงพื้นที่ไปทำจริง ซึ่งยากกว่าเพราะถูกท้าทายหนักกว่าในห้องเรียน”

ส่วนในสนามความรู้

  “ในมหาวิทยาลัยแต่ก่อนอาจารย์เคยเป็นผู้กำหนดความรู้ ผลสอบ แต่หลังเรียนรู้การจัดกระบวนการให้การแสวงหาความรู้มาจากการมีส่วนร่วม นักศึกษาอาจท้าทายอำนาจครูได้ ซึ่งถ้าไม่ได้นำการภาวนามาใช้เขาอาจกลับไปใช้วิธีสั่งการ แต่หากได้เริ่มจากการลดอัตตา ครูก็ได้เรียนรู้จากศิษย์”

เขายังสะท้อนเสียงของคนที่เคยสัมผัสเรื่องนี้ด้วยว่า

“พระไพศาล วิสาโล ท่านบอกว่าเป็นการเปลี่ยนร่องความคุ้นเคยเดิม จะทำให้เปลี่ยนบางอย่างได้  หมอที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่าบอกว่าทักษะที่ได้จากการอบรมกลายเป็นเรื่องรอง จุดใหญ่คือเปลี่ยนชีวิตเลย  เพราะในกระบวนการมันมีการกระทบอัตตากันตลอดและต่อเนื่อง หมอท่านนั้นบอกว่ามันถึงขั้นเป็นทักษะชีวิตว่าจะปฏิสัมพันธ์กับคนและธรรมชาติอย่างไร จะอยู่กับครอบครัวหรือทำงานร่วมกันให้ดีอย่างไร และเผชิญขาขึ้นขาลงของชีวิตอย่างไร”

ขณะที่กระบวนกรผู้นำการอบรมของเสมสิกขาลัยที่ทั้งคู่ก็สารภาพว่า ไม่ใช่แต่ผู้เข้ารับการอบรมที่เกิดความเปลี่ยนแปลง  แต่สิ่งนั้นเกิดกับคนทำกระบวนการด้วย

“เปลี่ยนเยอะมาก จากคนใจร้อนก็รู้จักเย็นลง รู้จักฟังคน เมื่อก่อนเอาแต่ใจตัวเอง เพื่อนยังทักว่าเราเปลี่ยนไปเยอะมาก  ตอนนี้เราใส่ใจ รับฟัง ประสานคนอื่น อะไรที่เป็นความขัดแย้งก็ลดน้อยลง  รู้สึกว่าเราเติบโตจากการเรียนรู้และพัฒนาข้างในขึ้นมาเยอะมาก ทำให้ชีวิตนิ่งขึ้นและมีความสุขมากขึ้น” พูลฉวีสะท้อนตัวเอง

 

ปรีดา เรืองวิชาธร กระบวนกรผู้นำการฝึกอบรมของเสมสิกขาลัย

ขณะที่ปรีดาพูดถึงตัวเองว่า

ยิ่งทำก็ยิ่งมีผลกับตัวเอง เพราะกว่าจะทำสิ่งนี้ได้ต้องมีการเปลี่ยนผ่านในตัวเองก่อน ต้องทดลองกับตัวเองมาทั้งหมด ทำและสอนตัวเองก่อน เพราะเราก็มีจุดติดขัดในชีวิตเยอะ กระบวนการนี้เป็นการสืบค้นภายในตัวเองหลายๆ อย่าง จนรู้สึกว่าเห็นตัวเอง ที่เหลือคือการแบ่งปัน

ทุกวันนี้นอกจากให้การฝึกอบรม เขายังตั้งต้นสะสมองค์ความรู้ไปพร้อมกันด้วย  นับจากเรียนรู้กับวิทยากรชั้นนำจากต่างประเทศที่เสมสิกขาลัยเชิญมาแบ่งปันความรู้ตั้งแต่ยุคที่เรื่องนี้ยังเป็นสิ่งใหม่มากในสังคมไทย บางส่วนได้มาจากการค้นคว้าและการอ่าน การลองผิดลองถูก รวมทั้งจากผู้มาเรียน  ซึ่งเขาเปรียบว่า เป็นผู้โยนโจทย์โยนองค์ความรู้เข้ามา กระบวนกรต้องมี “กล่อง”ใบใหญ่มารับไว้

“องค์ความรู้มาจาการสรุปบทเรียน กลายเป็นการสั่งสม  ยิ่งทำกับกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายยิ่งได้พบ ไม่หยุดนิ่งไม่ตายตัว”

ในกาลข้างหน้าเขาหมายมั่นจะทำเรื่องนี้ให้แข็งแรงขึ้นในสังคมไทย มีองค์ความรู้เป็นของสาธารณะที่ทุกคนสามารถนำไปใช้กับทุกภาคส่วนได้ โดยไม่ผูกขาดว่าเป็นองค์ความรู้ของเขาหรือของใคร

ให้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำคนเข้าถึงสติและความรู้สึกตัวได้

เพราะความสุขไม่มีลิขสิทธิ์

 

( ขอบคุณภาพจากเสมสิกขาลัย)

การภาวนา

เสมสิกขาลัย

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save