แผนที่สู่ความสุขบนเส้นทางนพลักษณ์
ช่วงหนึ่งของชีวิตก่อนได้เจอนพลักษณ์ อัญชลี อุชชิน บอกว่าเธอรู้สึกบางช่วงเหมือนตัวเองเป็นคนบ้า มักหงุดหงิดกับเรื่องเล็กๆ แค่เดินเข้าบ้านมาแล้วแม่ถามว่าวันนี้เป็นไงบ้าง
หรือย้อนกลับไปถึงตอนเรียนมหาวิทยาลัย เธอเข้าร่วมทำกิจกรรมทางสังคมกับกลุ่มเพื่อนนักศึกษา แต่ขณะเดียวกันก็หวงความเป็นส่วนตัว และเบื่อหน่ายรำคาญกับการต้องเข้าร่วมวงคุยกับใครต่อใคร
“คิดว่าเราเป็นโรคประสาทหรือเปล่า ชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบยุ่งกับใครและไม่ชอบให้ใครมายุ่ง แต่เวลาทำกิจกรรมมันมีจุดที่ต้องไปอยู่รวมกัน ไปร่วมประชุม ร่วมแก้ปัญหาสังคม ต้องอยู่ท่ามกลางคนเยอะๆ ต้องคุย ด้านหนึ่งก็อยากเข้าร่วม ด้านหนึ่งก็อยากมีโลกส่วนตัว แต่พอมีนัดประชุมก็มาอีก เดี๋ยวต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนเยอะๆ เดี๋ยวต้องการออกมาอยู่คนเดียว บางวันรู้สึกว่าฉันบ้าหรือเปล่า เคยรู้สึกขนาดนั้น”
ต่อมาเพื่อนที่เคยร่วมทำกิจกรรมนักศึกษาด้วยกัน ซึ่งเป็นศิษย์นพลักษณ์ของพระสันติกโร แนะนำให้เธอรู้จักกับนพลักษณ์ ศาสตร์แห่งการเข้าถึงตนเองที่ท่านสันติกโรพระภิกษุชาวอเมริกันนำมาเผยแพร่สู่สาธารณะในเมืองไทย
“หลวงพี่หยอย ตอนนั้นท่านเป็นพระ เป็นผู้ชักชวนให้มารู้จักกับศาสตร์นพลักษณ์ โดยไปอบรมหลักสูตรนพลักษณ์ขั้นต้น และอ่านหนังสือต่อเนื่องหลังอบรม ถึงได้รู้ว่าเราไม่ได้เป็นบ้า แต่เป็นกลไกทางจิตของคนประเภทหนึ่งในเก้าลักษณ์ ที่มีแรงขับภายในบางอย่างทำให้เราเป็นอย่างนั้นเอง ซึ่งทฤษฎีนี้อธิบายตัวเราได้อย่างชัดเจนมาก เลยหายสงสัย ที่เคยคิดว่าเรามีอะไรผิดปรกติ โดยเพียงแค่รู้จักสังเกตว่าความรู้สึก ความคิด แรงจูงใจภายในของตนเอง มันผลักดันตัวเราเอง จนแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมอย่างนั้นๆ ได้อย่างไร”
อัญชลีเล่าจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ซึ่งนำทางเธอต่อมาจนเจอจุดสมดุลในชีวิตปัจจุบัน
อัญชลี อุชชิน (ขอบคุณภาพจากโปรไฟล์เฟสบุ๊คคุณอัญชลี อุชชิน)
รู้จักนพลักษณ์
นพลักษณ์คือศาสตร์ที่ทำให้รู้จักตัวเอง และผลพลอยได้คือ รู้จักคนอื่นที่แตกต่างจากตนเองอีก 8 ประเภท ทำให้ง่ายที่จะ เห็นใจคนอื่นในเรื่องราวที่เขาทำแล้วมากระทบกับเรา และในขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าอะไรผลักดันชีวิตเรา จนเป็นที่มาของการที่เราแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกไป กระทบกับคนอื่นด้วย
อัญชลีอธิบายถึงความลึกซึ้งของศาสตร์นพลักษณ์ โดยเปรียบว่าเป็น เครื่องมือหรือแผนที่ที่เปิดให้เข้าถึงตนเอง รู้จักตนเองในระดับที่ลึกซึ้งนพลักษณ์ เป็นศาสตร์โบราณที่แบ่งคนออกเป็น 9 ประเภท ได้แก่ คนลักษณ์ 1 คนสมบูรณ์แบบ คนลักษณ์ 2 ผู้ให้ คนลักษณ์ 3 นักแสดง คนลักษณ์ 4 คนโศกซึ้ง คนลักษณ์ 5 นักสังเกตการณ์ คนลักษณ์ 6 นักปุจฉา คนลักษณ์ 7 นักเสพสุข คนลักษณ์ 8 เจ้านาย และคนลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี
ซึ่งคนแต่ละเบอร์หรือแต่ละลักษณ์ มีทั้งศักยภาพและจุดอ่อนอยู่ในขณะเดียวกัน ถ้ารู้ตัวทันเราก็จะสามารถใช้ในด้านที่เป็นศักยภาพพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นไป รวมไปถึงการตระหนักรู้ เพื่อดูแลจุดอ่อนในตัวเองไม่ให้เบียดเบียนตัวเองและคนอื่นๆ ในการอยู่ร่วมกันในชีวิตประจำวัน และการทำงาน
ภาพนพลักษณ์ 9 ลักษณ์ (ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
เมื่อได้เข้าร่วมกระบวนการอบรมนพลักษณ์ ค้นหาแนวโน้มลักษณ์ของตนเอง อัญชลีพบว่าตัวเองเป็น คนลักษณ์ 5
นพลักษณ์ตอบโจทย์เลยว่าทำไมเราเป็นอย่างนี้ อธิบายได้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่เด็กมาเรามีบางอย่างอธิบายตัวเองไม่ได้ ก็คิดว่าทำไมเราเป็นอย่างนี้ การเข้าออกระหว่างความเป็นส่วนตัวกับการทำงานสังคม คนที่รักสันโดษจะเข้าใจความรู้สึกนี้ ว่าเวลาอยู่กับสังคมคนเยอะๆ ปรับตัวยาก เราไม่มีความสามารถในการปรับตัวเลย แต่ด้วยเหตุผลด้วยงานเราก็จะปรับ แต่พบว่าเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย จนอาจพูดได้ว่า เป็นการทรมานของคนเบอร์ 5 กับการต้องเข้าหาใครก่อน ลำบากใจตอนคุยกับคนแปลกหน้า คนไม่คุ้นเคย
“ความยากง่ายในพฤติกรรมของคนแต่ละลักษณ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ลึกมาก ถ้าไม่มีใครมาชี้ชวนให้ดูโลกภายในของตนเองว่า อะไรที่เป็นแรงขับ แรงผลักดันในชีวิตก็นับว่ายากที่จะเห็นได้ ถ้าไม่รู้อาจทำให้ติดอยู่กับความเชื่อเดิม ว่าคนที่มายุ่งกับเรา ทำไห้เราไม่สบายใจ อย่างแม่เรียกกินข้าว เราก็รำคาญว่าไม่ต้องเรียกได้ไหม ถึงเวลาก็ไปกินเอง อึดอัดว่ามาวุ่นวาย มาแทรกแซงชีวิตเรา นพลักษณ์เปิดโลกให้เห็นอีกมุมหนึ่งว่า ในสถานการณ์เดียวกัน แต่กับคนอีกลักษณ์หนึ่งที่สัมพันธภาพเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าแม่ไม่เรียกกินข้าวเขาเสียใจ นั่นเขาเป็นคนลักษณ์ 2 แม่เรียกกินข้าว สิ่งที่เขารับรู้ คือแม่รัก แต่สำหรับเราสัมพันธภาพเป็นเรื่องวุ่นวาย”
นพลักษณ์มีเสน่ห์ตรงที่เปิดทางให้เราเห็นการปรุงแต่งของจิตชัดมาก ว่าเรามีแนวโน้มปรุงแต่งจิตตนเองไปอย่างไร แม่มาถามไถ่ แต่เราปรุงแต่งว่าแม่วุ่นวาย สิ่งนี้ก่อทุกข์ให้เรา ขณะที่คนเบอร์ 2 ปรุงไปว่าแม่รัก ทำให้มีความสุข หลังจากรู้จักนพลักษณ์จึงติดใจศาสตร์นี้ ที่ทำให้มองเห็น รู้จัก เข้าใจตนเองในมิติที่ละเอียดอ่อน รู้สึกว่าใช้ประโยชน์กับตัวเองได้
ช่วงสองสามปีถัดจากนั้นเธออยู่กับนพลักษณ์อย่างหลงใหล และทำให้เธอเห็นทางไปต่อ
“นพลักษณ์ทำให้เราคลี่คลาย เห็นเหตุแห่งความอึดอัดคับข้องใจ และเข้าใจว่าต้องดูแลมันอย่างไรจากเหตุเหล่านั้น เหตุที่เราชอบตีความว่าคนอื่นวุ่นวายกับชีวิตเรา เมื่อก่อนเราโยนความผิดให้คนอื่นว่าทำให้เราอึดอัดรำคาญ นพลักษณ์ทำให้เห็นว่ากลไกทางจิตของเราทำงานอัตโนมัติ หรือเราปรุงเอง เข้าใจผิดไปเอง ถ้ารู้ตัวเองทันมันจบ ตอนไม่รู้ทันก็โทษคนอื่น พอเรียนรู้นพลักษณ์ทำให้เราสบายมาก ในการจัดการชีวิตตัวเองในการอยู่กับคนอื่น ไม่เฉพาะคนในครอบครัว เดิมเป็นความทรมานซึ่งเล่าให้ใครฟังเขาจะงง แต่คนเบอร์ 5 ด้วยกันจะเข้าใจกันเรื่องความเป็นส่วนตัว การสงวนท่าที และการที่ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก เมื่อรู้จักนพลักษณ์เรารู้ว่าไม่ได้มีใครทำให้เราทุกข์หรอก เราปรุงไปเอง นี่คือเสน่ห์ที่ดึงดูดให้เราลาออกจากงานประจำมาทำนพลักษณ์อย่างเดียวเลย”
แผนที่สู่ความสุข
ปีแรกเธอเข้าเรียนทุกคอร์สนพลักษณ์ที่มีเปิดอบรม และเรียนรู้ต่อมาอีกสองปี ช่วงนั้นเธอยังทำงานประจำ จึงทุ่มเทใช้วันหยุดสุดสัปดาห์และวันลาทั้งหมดเพื่อลงเรียนเพิ่ม ต่อมานายกสมาคมนพลักษณ์ไทยคนแรกชักนำเธอเข้าร่วมเป็นกระบวนกรฝึกหัด จนปี 2550 เธอลาออกจากงานประจำ มาเป็นคนจัดกระบวนการเต็มตัว
“ช่วงเป็นกระบวนกรฝึกหัด ทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน ไม่ได้พัก แต่มีความสุขตอนรอให้ถึงวันอบรมนพลักษณ์ สุดท้ายออกจากงานประจำ เมื่อเห็นว่ามันหล่อเลี้ยงชีวิตเราได้ แลกกับการสูญเสียรายได้ประจำที่มั่นคงที่หายไป แต่รู้สึกว่าชีวิตโอเคขึ้น มีเวลาได้ดูแลครอบครัวด้วย”
จากที่พบว่าตัวเองได้ประโยชน์เต็มที่จากศาสตร์นพลักษณ์ เธอจึงอยากให้คนอื่นได้ประโยชน์ด้วยดังที่เธอได้ประสบมาแล้ว
“นพลักษณ์ต้องค้นหาตัวเอง ไม่ใช่ให้ผู้รู้มาช่วยบอก จึงเรียก ‘กระบวนกร’ คือเป็นผู้จัดกระบวนการ หรือผู้อำนวยความสะดวก ไม่ใช่ผู้ให้ความรู้อย่างวิทยากร”
โครงสร้างหลักสูตรการอบรมนพลักษณ์ของเธอใช้เวลาสองวัน วันแรกสร้างกระบวนการให้ผู้เข้ารับการอบรมค้นหาตัวเอง ผ่านเกม การฟังบรรยาย คุยเรื่องราวชีวิตตัวเองในกลุ่มย่อยเพื่อย้อนกลับไปดูตัวเองว่าที่ผ่านมาเราตอบโต้ และมีปฏิกิริยาต่อโลกและผู้คนอย่างไร เพื่อค้นหาลักษณ์ของแต่ละคนด้วยตัวเองโดยกระบวนกรให้คำแนะนำ แล้วเข้าสู่กิจกรรม สัมภาษณ์หมู่ หรือ Panel Interview ในวันที่สองซึ่งกระบวนกรจะสัมภาษณ์ทีละลักษณ์
เราไม่ใส่กรอบให้ ต้องให้เขาบอกออกมาเอง ว่าตนเองใคร่ครวญแล้วพบว่าตนเองน่าจะเป็นลักษณ์ใด แล้วใช้การสัมภาษณ์กลุ่มทีละลักษณ์ ที่รวมตัวกันมาจากวันแรก ลักษณ์อื่นๆ อีกแปดกลุ่ม เป็นผู้ฟัง การถูกสัมภาษณ์พร้อมกับคนที่เป็นลักษณ์เดียวกัน เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ผิดปรกติที่เขาเป็นอยู่จะเห็นลักษณ์ตัวเองชัดขึ้น คนอื่นพูดแล้วเหมือนพูดแทนใจเรา เรามีเพื่อนร่วมสุขทุกข์คล้ายๆ กัน บางคนก็เคยหาวิธีออกจากจุดอ่อน หรือความคับข้องใจประจำลักษณ์พอได้บ้างแล้ว ก็บอกเล่าประสบการณ์ทำให้คนลักษณ์เดียวกันพอจะมีเหตุที่จะปรับตัว พัฒนาตนเองได้ และหากถูกสัมภาษณ์แล้วรู้สึกไม่เข้าพวกกันกับคนที่สัมภาษณ์อยู่ในกลุ่มเดียวกันก็อาจไม่ใช่ลักษณ์เดียวกัน แต่พบว่ามีไม่มาก
ต่อคำถามที่ว่า คนเราเปลี่ยนลักษณ์ได้หรือไม่ เธอบอกว่า บางคนอาจจะใคร่ครวญในเบื้องตนว่าเป็นลักษณ์หนึ่ง แต่เวลาผ่านไปสังเกตและใคร่ครวญลึกลงไปอีก อาจจะพบว่า เป็นอีกลักษณ์หนึ่งก็ได้ โดยสรุปคือ ไม่ได้เปลี่ยนลักษณ์ แต่เป็นการพบลักษณ์ที่แท้จริง บางคนกว่าจะหาลักษณ์ตัวเองเจอและได้ประโยชน์ก็อาจเป็น 5 ปี 10 ปี
เธอยกตัวอย่างบางคำถามสัมภาษณ์
คนอื่นมาขอยืมเงิน คุณตอบว่าไง?
คนเบอร์ 9 จะตอบว่า ปฏิเสธไม่ได้เกรงใจเขา คนเดือดร้อนต้องช่วย เขามาขอให้ช่วย แง่มุมในใจคนลักษณ์นี้คือความมีน้ำใจ อยากช่วยเหลือ กับโลกภายในที่รู้สึกว่าตัวเองตัวเล็ก เมื่อได้ช่วยเหลือคนอื่นจึงจะเริ่มเห็นความสำคัญของตัวเองขึ้นมา
คนลักษณ์อื่นอาจปฏิเสธได้ทันที แต่คนลักษณ์ 9 หากยังไม่เห็นตัวเอง คนลักษณ์นี้จะรู้สึกว่าคนอื่นสำคัญกว่า เกรงใจเขา ไม่อยากขัดแย้งกับเขา บางคนจนถึงกับต้องเบียดเบียนตัวเองเที่ยวหายืมคนอื่นมาให้
“รู้ทั้งรู้ก็ปฏิเสธไม่ได้ บางคนบอกยอมให้ยืม ไม่กล้าทวง และยืมอีกก็ให้อีก นี่คือจุดอ่อนที่เป็นปัญหาของคนลักษณ์ 9 ผู้ประสานไมตรี เมื่อมีแนวโน้มจะขัดแย้งกับใคร โลกภายในของเขาจะอึดอัดใจ ต้องหยุดวงจรนี้ให้ได้ การปฏิเสธสำหรับเขาคือ คำว่า “เอาไว้ก่อน” ซึ่งแปลว่า “ไม่ได้” สำหรับคนลักษณ์นี้ นี่เขาปฏิเสธอย่างเข้มแข็งแล้ว เมื่อเห็นจุดอ่อนของตนเองแล้ว เขาจะกล้ายืนยันที่จะปฏิเสธ หากมันเบียดเบียนตนเอง หรือไม่ นพลักษณ์ไม่อาจการันตี”
แต่นพลักษณ์ได้ปลูก ‘เมล็ดพันธุ์แห่งการเห็น’ ไว้ในตัวเขาแล้ว ให้เติบโตไปสู่การเป็นอยู่โดยไม่เบียดเบียนตัวเอง
“นพลักษณ์คือศาสตร์ที่ทำให้รู้จักตัวเอง เห็นใจคนอื่น” กระบวนกรอิสระ อดีตกรรมการสมาคมนพลักษณ์ไทย ให้คำจำกัดความเกี่ยวกับนพลักษณ์ และเล่าถึงบางคนที่ได้พบกันบนเส้นทางสายนี้
เมื่อได้คุยและได้รับฟังเพื่อนทั้ง 9 ลักษณ์ แต่ละคนจะได้เห็นความจริง ว่าแต่ละลักษณ์มีจุดโฟกัสของชีวิต ที่ให้คุณค่า และความสำคัญในชีวิต แตกต่างกันไป
และความจริงที่สำคัญอีกข้อคือ ไม่มีใครอยากทำร้ายคนอื่น แต่มักทำในนามของความหวังดีจากมุมมองของตน
“คนลักษณ์ 3 จะมุ่งมั่นทำทุกอย่างให้สำเร็จ ไม่ว่ากีฬา การเรียน และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเองไปสู่ความสำเร็จได้ด้วยตนเอง พอรักลูกก็ใส่ความหวังดีให้ลูกเป็นเช่นนั้นด้วย แต่ถ้าลูกไม่ได้เป็นลักษณ์เดียวกันก็อาจจะรู้สึกลำบาก และรู้สึกว่าถูกกดดัน”
จากประสบการณ์และที่ได้ศึกษาเรียนรู้มาอัญชลียืนยันว่า ลักษณ์ของแต่ละคนเป็นสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง
“เป็นโลกภายใน inner self ถ้าเทียบกับพุทธอาจเรียกว่าเป็นกรรมแต่กำเนิด ใครลักษณ์ไหนถ้าที่เมืองนอกเขาอ่านหนังสือก็พอจะเห็นตัวเอง แต่ในบ้านเราเรามีการสอนให้ดูกายใจ แต่คนไม่ค่อยดูกัน ต้องพึ่งให้อาจารย์ช่วยบอก บางคนอาจหาลักษณ์ตัวเองไม่เจอ ก็ไม่แปลกเพราะต้องสังเกตลึกๆ บางคนผ่านไปเป็น 5 ปี จึงหาบ้านดั้งเดิมเจอ”
ใครเป็นคนลักษณ์ไหนจะไม่เปลี่ยน แต่ปรับได้ “ปรับสมดุลที่จะอยู่กับคนที่ไม่เหมือนเรา อาจโมโหเหมือนเดิม แต่คิดได้ อภัยง่ายขึ้น ลักษณ์ไม่เปลี่ยน แต่ดูแลพฤติกรรมได้ดีขึ้น รู้ทันตัวเองมากขึ้น เหมือนที่หมอวัยหลังเกษียณคนหนึ่งที่มาร่วมอบรมพูดถึงตัวเองว่า สันดานผมเหมือนเดิม แต่ผมดูแลตัวเองได้ดีขึ้น ไม่ให้มันออกมาเบียดเบียนคนอื่น”
ดังคำนิยามที่ว่า “นพลักษณ์เป็นแผนที่ ช่วยเปิดทางเห็นตน”
เราเรียนรู้เพื่อให้เห็นว่าความเป็นลักษณ์มันทำงานยังไง มีอะไรครอบอยู่จึงทำให้เราเป็นแบบนี้ เราเรียนรู้เพื่อยกปี๊บออกจากหัว เรียนเพื่อให้มันพ้นไป ความจริงทุกคนมีข้อดีของทั้ง 9 ลักษณ์อยู่ในตัวเรา แต่อวิชชามันครอบอยู่ เราเรียนรู้ เห็นมัน ก็จะดูแลความไม่รู้ ที่ถูกผลักดันโดยกลไกทางจิตต่างๆ ตามศาสตร์นพลักษณ์ ก็คือ กิเลส ความคิดยึดติด ความใส่ใจ ฯลฯ ได้ดีขึ้น ตามระดับของการรู้สึกตัวทัน
ท้ายประโยคเธอเชื่อมโยงนพลักษณ์กับการปฏิบัติธรรม ซึ่งอัญชลียอมรับว่าแค่นพลักษณ์เพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถนำมาถึงจุดนี้ได้
ทางออกสู่เส้นทางดับทุกข์
นพลักษณ์เป็นแผนที่ช่วยชี้ให้เห็นเหตุ แต่ยังไม่ชี้ทางออก เธอใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างในการอธิบาย
“นพลักษณ์อาจไม่ได้ช่วยดับทุกข์ แต่เราศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วย ตอนแรกอ่านและทดลองไปเยอะตั้งแต่ก่อนเจอนพลักษณ์ ต่อมาเอามาประยุกต์กับนพลักษณ์ เรารู้ทัน เราเห็นการปรากฏของความรู้สึกความคิดที่ทำให้เราสบายใจและไม่สบายใจ เรารู้สึกเบา ยังสุขทุกข์ แต่เรารู้ว่าอยู่อย่างไรให้เบา ตอนแรกเหมือนยังไม่รู้เหตุที่แท้จริง เรารู้แค่ว่าเราไม่พอใจ แต่ไม่รู้ว่าอะไรทำให้ไม่พอใจ กิเลสตัวเองมองไม่เห็น แต่นพลักษณ์ทำให้เห็นเหตุ เหมือนมีทิศทางทำให้เราย่นย่อเวลาในการดู และเห็นแนวปฏิบัติสำหรับตนเอง ด้วยตนเอง จนทำให้ชีวิตในปัจจุบันค่อนข้างอยู่เย็น”
ส่วนการที่มีโอกาสได้แบ่งปันเรื่องนี้ให้คนที่มารับการอบรม เธอว่ารู้สึกยินดี เพราะอย่างน้อยก็ทำให้คนที่มาเข้าอบรมได้แก้ปัญหาตัวเองในบางระดับ
นับจากแรกสุดได้เห็นปัญหาของตัวเอง ซึ่งหากตระหนักรู้ชัดเจนก็จะมองหาและเห็นทางออก
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นกระบวนการอบรมก็ทำได้แค่ให้แรงบันดาลใจ แต่ละคนต้องทำด้วยตัวเอง ออกเดินเองหากต้องการแก้ปัญหา ซึ่งในแต่ละลักษณ์จะมีปมที่เป็นจุดอ่อนในชีวิต ที่เจ้าตัวเลือกจะเชื่อว่าเป็นเรื่องยาก แต่คนที่ผ่านมาแล้วยืนยันว่าถ้าลองฝึกมันก็เป็นไปได้
“นพลักษณ์ช่วยให้เห็นเหตุ แต่การดับทุกข์ยังไม่เกิดหากยังไม่ใช้ปัญญาและลงมือปฏิบัติ นพลักษณ์แค่อธิบายให้เห็นเหตุ แต่เราก็ยังอึดอัด อาจออกมาลำบากถ้าไม่มีสติ ไม่สร้างทางให้เราออกมาจากร่องเดิม” กระบวนกรนพลักษณ์ที่มีประสบการณ์ยาวนานยืนยัน และเล่าให้เห็นภาพ
จากประสบการณ์ฝึกอบรมนพลักษณ์พบว่า ต้องมีการปฏิบัติธรรมมาบวกด้วย นพลักษณ์ช่วยให้เห็นเหตุ แต่ต้องเอาการปฏิบัติเข้ามาช่วย ไม่เกินครึ่งที่เรียนนพลักษณ์แล้วรู้ว่า จะหลุดออกจากมันได้อย่างไร เราก็ยุต่อให้ไปปฏิบัติธรรม หรือหาวิธีการที่ถูกจริตกับเขา
พูดถึงคนอื่นแล้ว เธอวกกลับมาดูตัวเองอีกครั้ง
“ดีที่เราเคยฝึกปฏิบัติธรรมมาก่อน พอเห็นว่าอะไรที่ทำให้ทุกข์เราก็ดับที่เหตุได้”
เรื่องที่เคยหงุดหงิดและอาจจะถึงกับโมโหกับความเอาใจใส่ของแม่ เธอหาทางออกด้วยการไม่ต้องรอให้แม่ถาม เย็นกลับเข้าบ้านมาเธอก็ชิงเล่าให้แม่ฟังเสียก่อน
“ถูกถามทีไรเราปรี๊ดทุกทีว่าแม่วุ่นวาย แต่พอเข้าใจว่าแม่ไม่ได้รุกรานเราหรอกแต่แม่รักเรา ก็แก้โดยพอเข้ามาก็เล่าให้แม่ฟังเลย ไปสัมภาษณ์ใครที่ไหนมา แม่ก็มีความสุข ปล่อยเราผ่านไป เราได้เข้าห้องนอนเป็นส่วนตัว”
เป็นเส้นทางสู่ความสุขจากที่เธอได้ประยุกต์นพลักษณ์กับธรรมะ
ให้คนที่มีโลกส่วนตัวเป็นเจ้าเรือนอยู่กับคนอื่นได้อย่างสมดุลกลมกลืน จากการที่ได้รู้จักตนเองอย่างแท้จริงแล้วพัฒนาต่อ สมตามคำนิยามของศาสตร์โบราณแขนงนี้
นพลักษณ์–แผนที่เพื่อการเข้าถึงตนเอง
(หมายเหตุ – ขอบคุณภาพประกอบจากเฟสบุ๊คคุณอัญชลี อุชชิน)