ภารกิจเตรียมตัวตายอย่างมีความสุขกับชายหนุ่มชื่อ “มาร์ท”
ถ้าคุณรู้ตัวว่ากำลังจะตาย หรือคนที่คุณรักกำลังจะตาย คุณจะรู้สึกอย่างไร
ความกลัวมักเป็นความรู้สึกแรกที่มาเยือน ตามมาด้วยความเศร้า
สัญลักษณ์ของความตายจึงเป็น “สีดำ” และ “ควันธูป”
ไม่มีใครอยากเอ่ยถึงความตายเพราะกลัวเป็นลางร้ายของชีวิต ความตายจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำใจยอมรับได้ยากมากที่สุด
และคงจะยากมากขึ้นไปอีกหากต้องเปลี่ยนมุมมองต่อความตายจาก “ความเศร้า” เป็น “ความสุข”
เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หรือ มาร์ท ชายหนุ่มรุ่นใหม่เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับมือกับความตายตั้งแต่ยังเรียนมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย เมื่อเขาต้องรับหน้าที่หลักในการดูแล “ม่า” หรือ “อาม่า” (ภาษาจีนหมายถึงย่าหรือยาย) ที่ต้องเข้าออกห้องไอซียูจนถึงวาระสุดท้าย
“ไม่มีใครรู้เลยว่าจะทำยังไงกับม่าที่กำลังจะตาย พ่อให้ผมไปเฝ้าไข้ เวลาเจอกับม่าร้องทุรนทุราย บอกว่ารำคาญสายยางที่หมอใส่ให้ ผมไม่รู้จะถอดตามใจม่าหรือต้องทำยังไง มันเป็นโจทย์ว่า ถ้าเราไม่รู้จักตรงนี้มากขึ้น เราก็จะไม่รู้ต่อไป”
“การแตกดับ” ของสังขารอาม่าจึงนำไปสู่ “การเกิดใหม่” ของการค้นหาองค์ความรู้เพื่อรับมือกับความตายของหลานชาย และขยายตัวสู่การเข้าร่วมทีมกิจกรรมเพื่อรับมือกับความตายอย่างมีสติภายใต้การนำของพระไพศาล วิสาโลในเวลาต่อมา
ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน หลานชายอาม่าได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมแอดมินเพจ Peaceful Death จัดทำโครงการความตายพูดได้ เปลี่ยนมุมมองต่อความตายจาก “สีดำ” เป็น “สีขาว” นำพาผู้คนก้าวพ้นความหวาดกลัวในใจลุกขึ้นมาเขียน “สมุดเบาใจ” หรือพินัยกรรมของตนเอง รวมทั้งชวนให้คนกล้าร้องเพลง “Happy Deathday” เพื่อรับมือความตายอย่างมีความสุข จนเพจที่เขาร่วมดูแลมียอดคนไลค์มากกว่าสามแสนคน
…อาจบางทีการดับไปของสังขารคนที่เรารัก…ไม่ได้หมายถึงการพลัดพรากเพียงอย่างเดียว
แต่หมายถึงการเกิดใหม่ของบางสิ่งที่มีความหมายต่อโลกใบนี้มากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
ความรู้
การจากไปของอาม่าทำให้มาร์ทสนใจค้นหาคำตอบเพื่อรับมือกับความตายอย่างจริงจัง เขาจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทและทำวิทยานิพนธ์เพื่อศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการตายในสังคมไทยให้มากขึ้น
การตายดีในโรงพยาบาลคือการตายหลังจากที่ยื้อทุกอย่างแล้ว
ชายหนุ่มได้ข้อสรุป “ชุดความรู้เกี่ยวกับความตาย” ที่แผ่ซ่านครอบคลุมอยู่ในโรงพยาบาล แม้ว่าบางเคสคนไข้จะขอถอดสายออกซิเจนเพื่อกลับไปตายที่บ้านตนเอง แต่ด้วยชุดความรู้ดังกล่าวทำให้แพทย์และญาติไม่กล้า “ตามใจ” ผู้ป่วย
ถ้าไม่ยื้อลมหายใจผู้ป่วยไว้ คนแรกที่รู้สึกผิดคือหมอ คนต่อมาคือญาติพี่น้อง แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่า ถึงอย่างไรก็ไม่รอด แต่ก็ไม่มีใครยอมทำตามความต้องการครั้งสุดท้ายของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ภาวะสุดท้าย ร่างกายอ่อนแอเกินกว่าจะพูดได้ ถึงตอนนั้นญาติกับหมอก็จะตัดสินใจบนพื้นฐานการแพทย์กระแสหลัก ยื้อลมหายใจจนถึงนาทีสุดท้ายบนเตียงโรงพยาบาล
เช่นเดียวกับกรณีที่คนไข้ป่วยด้วยโรคร้ายไม่มีทางรักษา เหลือเวลาบนโลกใบนี้อีกไม่นาน ญาติพี่น้องมักเลือก “ปกปิด” แทนการพูดความจริง ด้วยความเชื่อว่า “ความตายเป็นสิ่งอัปมงคล” กลัวคนไข้ยอมรับความจริงไม่ได้จนทำให้อาการป่วยทรุดหนักเร็วขึ้น หรือมิเช่นนั้นก็ไม่รู้ว่าจะสื่อสารเรื่องการเตรียมตัวตายอย่างไร ทั้งคนป่วยและญาติจึงใช้เวลาช่วงสุดท้ายที่เหลืออยู่ด้วยกันแบบ “ไม่มีความสุข” จนถึงเวลาพลัดพรากจากกัน
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้จึงทำให้เขามองเห็น “ชุดความรู้เกี่ยวกับความตาย” ที่แผ่ซ่านอยู่ในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น และได้นำสิ่งที่เรียนรู้มาสื่อสารต่อไปยังสังคมวงกว้างร่วมกับเพจ Peaceful Death และโครงการเผชิญความตายอย่างสงบ ภายใต้การนำของพระไพศาล วิสาโล ผู้เปิดประเด็นการเตรียมตัวตายอย่างมีสติให้กับสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
บนเส้นทางของความตายสีดำและความเศร้าหมอง ชายหนุ่มเริ่มต้นหยิบ “พู่กัน” มาร่วมแต่งแต้มสีสันใหม่ในหัวใจใครหลายคนให้กล้าเผชิญหน้ายอมรับความจริงที่มนุษย์ทุกคนต้องได้พบเจอ…ไม่ช้าก็เร็ว
ความจริง
“ถ้ากลัวอะไรก็เผชิญ ในสังคมกลัวความตายก็ต้องชวนให้เผชิญกับความตาย แต่ที่มันเผชิญยากเพราะความตายมีภาพลักษณ์น่ากลัว ดำๆ คุยแล้วหนักๆ พวกที่คุยเรื่องนี้ได้ต้องเป็นพวกปฏิบัติธรรมแน่ๆ เลย ตรงนี้เป็นภาพลักษณ์ที่รับรู้ร่วมกันในสังคมไทย ตัวอย่างเช่น เวลาผมบอกให้เอเจนซี่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับความตาย สิ่งแรกๆ ที่เอเจนซี่นึกถึงคือสีดำและควันธูป เซ็นส์น่ากลัวแบบหนังผี เราก็ต้องเริ่มเปลี่ยนมุมมองจากตรงนี้ก่อนคือ ความตายต้องสว่างขึ้น
เวลาเราสื่อสารเรื่องความตาย เราพยายามทำให้เป็นสีสันที่ไม่ใช่สีดำ แต่เป็นสีที่ดูสว่าง ความตายไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับโครงกระดูกแต่นำไปเชื่อมโยงกับสนามหญ้าหรือท้องฟ้า อะไรที่ดูแล้วมันง่ายที่จะยอมรับ ความตายต้องไม่ใช่เรื่องศาสนาหรือวงการแพทย์เท่านั้น มีแง่มุมให้พูดถึงความตายมากมาย เราต้องทำให้คนรู้สึกว่า ‘ความตายเป็นมิตร’ มากขึ้น
กิจกรรมเรียนรู้เรื่องความตายแบ่งเป็นสองแบบ คือ กิจกรรมออนไลน์บนเพจ Peaceful Death สร้างพื้นที่ให้สังคมออนไลน์ได้มองเห็นความตายในแง่มุมใหม่ ผ่านการแนะนำหนังสือ ภาพยนตร์ หรือคลิปวีดีโอที่นำเสนอเรื่องราวของคนที่รู้ว่าตนเองกำลังจะตายหรือคนรักกำลังจะตาย เพื่อเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความตายใหม่ จากความเศร้าสู่ความสุขในการใช้เวลาดีๆ ช่วงสุดท้ายร่วมกัน หรือทำตามความต้องการของผู้ป่วยเป็นครั้งสุดท้าย
กิจกรรมอีกส่วนหนึ่ง คือ กิจกรรมออฟไลน์ สร้างพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนกับผู้คนในสังคมไทยที่เริ่มต้นหันมาสนใจยอมรับความตายอย่างมีสติผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ อาทิ เวทีเสวนา กิจกรรมตั้งวงคุยเรื่องชีวิตและความตายผ่านเกมไพ่ไขชีวิต จัดเวิร์คชอปสั้นๆ ตั้งแต่ระยะเวลาครึ่งวันจนถึงพักข้างแรมสามวันสองคืน การได้เข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้ทำให้หลายคนเริ่มกล้าพูดถึงความตายและเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความตายทั้งของคนในครอบครัว รวมทั้งตนเองอย่างมีสติมากยิ่งขึ้น
ความตายเป็นเรื่องที่ทุกคนเคยมีประสบการณ์ผ่านมาทั้งนั้น เพราะต้องมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยเสียชีวิตมาแล้ว แต่สังคมไทยไม่เคยชินกับการยอมรับความรู้สึกทางลบ ไม่มีพื้นที่ทำให้คนยอมรับความเศร้า หรือแสดงความรู้สึกว่าฉันเจ็บปวด รู้สึกผิดกับมันยังไง
กิจกรรมระดับเบื้องต้นสำหรับผู้เข้าร่วมมือใหม่ที่ยังไม่คุ้นชินกับการพูดถึงความตายคือ การเล่นเกมไพ่ไขชีวิต ผู้เล่นจะต้องตอบชุดคำถามในเกมเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ในชีวิต ทำให้จิตเปิดกว้างต่อเรื่องความตายขยายตัวมากขึ้น หลังจากนั้นจึงยกระดับกิจกรรมมาสู่ระดับที่สูงขึ้น คือ กิจกรรมเจริญมรณานุสสติโดยใช้หลักการภาวนาเข้ามาเป็นพื้นฐานหลักในการฝึก ด้วยการสมมติว่าตนกำลังจะตายและฝึกเจริญสติน้อมนำให้รำลึกถึงความตายของตนเอง รวมไปถึงการเขียนพินัยกรรมชีวิต นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเยี่ยมผู้ป่วยวิกฤติตามโรงพยาบาล ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ทำหน้าที่เป็นคนรับฟังผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ให้กังวลใจ หรือเป็นเพื่อนแบ่งเบาความทุกข์ใจของญาติให้เบาบางลง
“การเข้าเยี่ยมผู้ป่วยไอซียู คือการเข้าไปสัมผัสภาวะความใกล้ตายจริงๆ เราให้เขาไปให้กำลังใจผู้ป่วย ถ้าผู้ป่วยไม่พร้อมให้เราเข้าไปส่งกำลังใจ ก็ไปให้กำลังใจญาติ เพราะญาติต้องรับมือหลายอย่าง ทั้งคนป่วยที่ใกล้ตาย ทั้งความเหนื่อยล้า กังวล ไม่เข้าใจ เราเข้าไปเป็นเพื่อน แล้วพิจารณาความรู้สึกตรงนั้น อยู่กับปัจจุบันขณะ ไม่พูดเลยก็ยังได้ แค่เป็นพลังงานดีๆ ไม่เอาความปั่นป่วนไปอยู่ตรงนั้น เข้าไปช่วยทำให้บรรยากาศตรงนั้นสงบ ตัวเขาไม่ต้องสงบก็ได้ แต่เรามั่นคงก็พอ ”
มาร์ทถ่ายทอดประสบการณ์ให้กำลังใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อยอมรับความตายอย่างมีสติว่า
เราจะจับมือผู้ป่วยหรือญาติไว้แล้วจินตนาการว่ายอมรับความเจ็บป่วยนั้นร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความทรมานอะไรก็ตาม ให้จินตนาการว่ามันคือหมอกควันที่ร้อน เรายินดีที่จะแบ่งความเจ็บป่วยมา รับความทุกข์ทรมานในรูปแบบนั้น สูดเข้ามาในใจของเรา อาศัยความทุกข์ร่วมกัน ยอมรับความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยที่อยู่ตรงหน้า แล้วเปลี่ยนความทุกข์ให้เป็นลำแสงแห่งความรักความเมตตาแล้วฉายคืนกลับไป อันนี้คือการเจริญเมตตาภาวนาแบบ ‘ทงเลน’ ซึ่งเรียนรู้มาจากหลักสูตรอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ
ความสุข
ตลอดเวลาสิบปีที่ผ่านมา มาร์ทนับเป็นหนึ่งในทีมแจวเรือที่ช่วยนำพาผู้คนผ่านพ้นสายธารอันดำมืดสู่ท้องทะเลแห่งความสดใสมองเห็นพระอาทิตย์อยู่ปลายขอบฟ้าไกล หลายคนแม้รู้ตัวว่ากำลังจะตาย แต่กล้าลุกขึ้นมาร้องเพลง “Happy Deathday” เพื่อใช้เวลาช่วงสุดท้ายอยู่ร่วมกับคนที่รักอย่างมีความสุข หลายคนสามารถปลดเปลื้องโซ่ตรวนความรู้สึกผิดในใจสู่เสรีภาพที่ไม่ยึดติดอดีตอีกต่อไป
“มีแม่คนหนึ่งส่งลูกไปเรียนที่อินเดีย แล้วลูกไปตายที่นั่น แม่ก็โทษตัวเองว่า ‘ฉันไม่น่าสนับสนุนลูกไปอินเดีย’ เพราะจริงๆ พ่อไม่สนับสนุน แต่แม่ช่วยพูดจนให้ลูกได้ไป แม่เลยโทษตัวเองว่าส่งลูกไปตาย ทำให้แม่ทุกข์ทรมานใจมาตลอด แต่หลังจากเข้าคอร์สการปฏิบัติภาวนา พอถึงวันสุดท้าย แม่ก็บอกว่า ‘ขอบคุณที่ลูกตาย เพราะทำให้แม่ได้เข้าใจ เห็นธรรมะ’ นี่เป็นอีกแง่หนึ่งของความตายที่ได้รับการยอมรับในมุมมองใหม่”
หลายคนอาจเผชิญเหตุการณ์สูญเสียสมาชิกในครอบครัวกะทันหันจนไม่มีโอกาสได้เอ่ยคำลา บางเรื่องที่อยากบอกจึงยังถูกเก็บงำไว้ในใจ หัวใจจึงไม่อาจพานพบอิสรภาพเพราะถูกพันธนาการด้วยอดีตของบุคคลอันเป็นที่รักที่จากไป การจัดกิจกรรมเพื่อคลี่คลายปมติดค้างในใจจึงเป็นกระบวนการหนึ่งของการยอมรับความตายอย่างมีสติ
เราให้เขียนจดหมายถึงคนที่จากไปว่าอยากบอกอะไรบ้าง หลังจากนั้นให้ทำสมาธินึกภาพบุคคลนั้นให้ชัดว่าเขากำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้ตรงหน้า แล้วบอกสิ่งที่อยากจะบอก พอบอกเสร็จแล้วก็เชิญเขากลับไป พอเราทำให้จินตนาการใกล้เคียงกับความจริง กิจกรรมนี้จึงสามารถช่วยปลดเปลื้องสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจออกไปได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน
ชายหนุ่มผู้ร่วมเป็นแอดมินเพจ Peaceful Death กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงสิบปีที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันคนที่มาเข้าร่วมกิจกรรมหลายคน รวมทั้งคนรุ่นใหม่เริ่มสนใจเขียนพินัยกรรมชีวิตให้ตนเอง รวมทั้งกล้ายอมรับความจริงเมื่อรู้ว่าตนเองหรือคนในครอบครัวกำลังจากไป และหันมาใช้เวลาช่วงสุดท้ายร่วมกันอย่างมีความสุขมากขึ้น
ถ้าถามผมวันนี้ว่า ผมกลัวความตายไหม ผมก็ยังกลัวอยู่นะ แต่ผมยอมรับความกลัวที่เกิดขึ้นอย่างมีสติ และการได้ใกล้ชิดกับความตายทำให้ผมรู้สึกว่า ตอนนี้เรายังไม่ตาย มันก็เป็นของขวัญแล้วล่ะ
………………………………..
เมื่อเราไม่อาจรู้ว่าลมหายใจสุดท้ายทั้งของตัวเราเองและบุคคลที่เรารักจะมาถึงเมื่อไหร่ เราทุกคนจึงควรใช้ชีวิตทุกวันเหมือนเป็นวันสุดท้าย…ใช้เวลาทุกนาทีบนโลกใบนี้อยู่ร่วมกันด้วยความรักและความเข้าใจ และเมื่อถึงวันที่ความตายมาเยือน เราคงจะได้ร้องเพลง Happy Deathday อย่างมีความสุขเพราะไม่มีสิ่งใดติดค้างในใจอีกต่อไป
ขอบคุณภาพจากเพจ Peaceful Death