8 ช่องทางความสุข

วิ่งสมาธิ…ฝึกจิตให้นิ่งสยบความเคลื่อนไหว

เมื่อพูดถึง “การวิ่ง” เรามักนึกถึงการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าด้วยสองเท้าซ้ายขวา

เมื่อพูดถึง “สมาธิ”   เรามักนึกถึงการเพ่งจิตให้เป็นหนึ่งเดียว

หากเรานำ “การวิ่ง” และ “สมาธิ” มารวมกันจะเกิดอะไรขึ้น ?

คำตอบคือผู้ที่ฝึกวิ่งสมาธิจะได้ทั้งร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงไปพร้อมกันนั่นเอง เมื่อจิตนิ่งสยบความเคลื่อนไหว จิตจึงมีพลังสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนๆ หนึ่งให้ดีขึ้นจากหลังมือเป็นหน้ามืออย่างไม่น่าเชื่อเช่นเดียวกัน

เมื่อแปดปีก่อน กันต์ ปั้นภู ชายวัย 38 ปีในเวลานั้นเคยมีร่างท้วมน้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัมและชีวิตล้มเหลวทุกด้านจนเหมือนตกอยู่ในหุบเหวลึกที่ไม่มีใครอยากเอื้อมมือลงไปช่วยฉุดขึ้นมาด้านบน เพราะเขาเป็นคนโมโหร้ายไม่เคยฟังใคร แต่หลังจากได้ค้นพบการวิ่งสมาธิ เขาก็มี “เครื่องมือ” ช่วยปีนขึ้นมาจากก้นเหวด้านล่างทีละน้อยจนสามารถขึ้นมาสูดอากาศอันบริสุทธิ์ด้านบนด้วยตนเองในที่สุด และยังกลายเป็น “ไอดอล” ที่นำพานักวิ่งรุ่นใหม่เข้าสู่เส้นทางการวิ่งสมาธิเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มาจนถึงทุกวันนี้

           

วิ่งสมาธิเปลี่ยนชีวิต

ผู้เขียนมีนัดพบกับคุณกันต์ ปั้นภู ชายวัย 46 ปี พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยในเย็นวันหนึ่ง บุคลิกของเขาในวันนี้เป็นชายร่างเล็กแต่ดูแข็งแรง แววตาสงบนิ่ง น้ำเสียงเนิบช้า ยิ้มเล็กน้อย ต่างจากเรื่องราวในอดีตที่เขาถ่ายทอดออกมาราวฟ้ากับดิน

เมื่อก่อนผมเคยคนมีน้ำหนักตัวมากกว่า 80 กิโลกรัม ชีวิตล้มเหลวทุกด้าน ทำตัวเหมือนนักเลงโต เดินไปไหนหน้านิ่วคิ้วขมวดตลอดเวลาจนคนต้องแหวกทางหลบ ชอบดื่มเหล้า เจ้าอารมณ์โมโหร้ายจนครอบครัวแตกแยก ลูกชายหวาดกลัวไม่กล้าเข้าใกล้ เพื่อนร่วมงานเบือนหน้าหนี

ชายวัยกลางคนตรงหน้าเปิดฉากเล่าเรื่องที่ฟังดูเหมือนนิยายพร้อมกับนำภาพถ่ายเปรียบเทียบอดีตและปัจจุบันมายืนยัน ภาพอดีตด้านซ้ายคือชายร่างท้วมคิ้วขมวดแววตาหาเรื่องเหมือนนักเลงโต ภาพปัจจุบันด้านขวาคือชายร่างเล็กรูปร่างฟิตแอนเฟิร์มพร้อมบุคลิกที่อ่อนโยนมากขึ้น หลังจากนั้นจึงถ่ายทอด “ละครชีวิตจริง” ฉากต่อไปให้ฟังอย่างน่าติดตาม

ภาพเปรียบเทียบอดีตด้านซ้ายแววตาดุดันเหมือนหนักเลงโต น้ำหนักมากกว่า 80 กิโลกรัม ด้านขวารูปร่างฟิตแอนด์เฟิร์มดูบุคลิกอ่อนโยนมากขึ้น

ผมจดบันทึกไว้เลยว่าวันที่ 13 เมษายน 2553 คือวันที่ผมทุกข์มากที่สุดจนต้องหาทางออกจากความทุกข์ตรงนั้นให้ได้ ตอนนั้นนึกได้สองอย่างคือออกกำลังกายกับอ่านหนังสือธรรมะ พอคิดคำตอบได้ก็ลองเริ่มทั้งสองอย่างพร้อมกันเลย ก่อนหน้านั้นผมไม่เคยสนใจออกกำลังกายประเภทไหนเลย จึงเลือกการวิ่งเพราะเป็นกีฬาง่ายที่สุด

เนื่องจากเขามีบ้านพักและที่ทำงานใกล้กับสวนรถไฟและสวนสาธารณะจตุจักร เย็นวันนั้นจึงตัดสินใจเริ่มต้นวิ่งเป็นครั้งแรก ผลปรากฎว่าวิ่งไปแค่ร้อยเมตรก็เหนื่อยหอบจนหมดแรงเพราะยังไม่เคยศึกษาวิธีการวิ่งอย่างถูกวิธี หลังจากนั้นจึงลองปรับรูปแบบเป็นเดินเร็วให้ได้วันละสามกิโลเมตร ในขณะเดียวกันก็เริ่มซื้อหนังสือธรรมะมาลองอ่านดู สองสัปดาห์ผ่านไป ระหว่างอ่าน “ช้อปปิ้งบุญ” ของอาจารย์ขวัญ เพียงหทัย เขาเกิดสะดุดข้อความในหนังสือวลีสำคัญซึ่งนำไปสู่จุดเริ่มต้นการเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองครั้งแรก

“วันนั้นผมอ่านเจอเรื่องโทษของการดื่มเหล้าที่ส่งผลกระทบปัญหาชีวิตหลายๆ ด้าน พออ่านหน้านั้นจบ ผมบอกตัวเองในเช้าวันต่อมาว่าจะเลิกดื่มเหล้าเด็ดขาด หลังจากนั้นผมก็เริ่มวิ่งได้นานขึ้นเรื่อยๆ ”

วันคืนล่วงผ่านชีวิตของชายหนุ่มขี้เหล้าและขี้โมโหเริ่มค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทีละน้อย ชายหนุ่มเริ่มเห็นผลของการวิ่งที่ดีต่อร่างกายพร้อมไปกับการอ่านหนังสือธรรมะซึ่งช่วยเยียวยาจิตใจร้อนรุ่มให้สงบลง เขาจึงเริ่มสนใจอยากพูดคุยกับผู้เขียนหนังสือธรรมะเล่มแรกที่จุดประกายความเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตดีขึ้น

“ผมตามไปพบอาจารย์ขวัญที่เรือนธรรม ท่านจึงแนะนำให้เข้าคอร์สฝึกสมาธิเริ่มจากระยะสั้นสองวัน แล้วก็กลับมาฝึกที่บ้าน หลังจากนั้นผมก็เริ่มสมัครคอร์สสมาธิหลักสูตรเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะเห็นประโยชน์ของการฝึกสมาธิ จนมาเจอคอร์สยาวหกเดือนของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล เรียน 100 ชั่วโมงทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ตอนเย็น มีทั้งฝึกเดินจงกรม นั่งสมาธิ เรียนทฤษฎี และการบ้าน ผมตั้งใจเรียนมากเป็นคนเดียวที่เรียนครบไม่ขาดแม้แต่ชั่วโมงเดียว”

เนื่องจากการเรียนคอร์สนี้มีการบ้านเดินจงกรมและนั่งสมาธิต้องกลับมาปฏิบัติฝึกฝนที่บ้านทุกวัน ประกอบกับเขายังรักการออกกำลังด้วยการวิ่งเหมือนเดิม ทำให้แต่ละวันต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อปฏิบัติให้ครบทุกกิจกรรม วันหนึ่งคำถามสำคัญจึง “ปิ๊งแวบ” ขึ้นมาในใจ “ทำไมเราไม่เอาเดินจงกรม นั่งสมาธิ และวิ่งมารวมกันเลยล่ะ?”

หลังจากนั้นเขาจึงเริ่มศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจนพบว่า ดร.สุชาติ โสมประยูร ได้เขียนแนะนำวิธีการวิ่งสมาธิเอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาจึงนำแนวทางดังกล่าวมาลองฝึกฝน และค่อยๆ ปรับให้เข้ากับ “จริต” ในการฝึกสมาธิของตนเอง จนกระทั่งเขาใช้การวิ่งสมาธิเป็นเครื่องมือในการฉุดตนเองขึ้นมาจากก้นบึ้งของเหวลึกได้ในที่สุด

เมื่อจิตนิ่งสยบความเคลื่อนไหว

ชายหนุ่มเริ่มทำการทดลองวิ่งสมาธิ โดยเริ่มพัฒนาจากการเดินจงกรมที่เคยปฏิบัติอย่างเนิบช้าให้ก้าวเร็วขึ้นเหมือนการวิ่งเหยาะๆ ระหว่างการวิ่งเริ่มกำหนดจิตให้นิ่งด้วยการใช้คำบริกรรมเข้าช่วย อาทิ ซ้าย-ขวา, พุท-โธ หรือนับเลข 1-2-3 เพราะคำว่า “สมาธิ” คือ อยู่กับอารมณ์เพียงหนึ่งเดียว การใช้คำบริกรรมต่างๆ เป็นแค่วิธีการหนึ่งที่ช่วยให้จิตสามารถจดจ่อกับการเคลื่อนไหวไม่วอกแวกไปคิดเรื่องอื่น

การฝึกวิ่งสมาธิเปรียบได้กับตำรวจวิ่งจับผู้ร้าย ในช่วงแรก “จิต” หรือ “ผู้ร้าย” มักจะวิ่งหนี “ตำรวจ” ไปอย่างรวดเร็ว ตำรวจมือใหม่จะต้องใช้เวลาในการจับผู้ร้ายนานหน่อย แต่หลังจากฝึกฝนจนชำนาญ แค่เพียงผู้ร้ายขยับตัว ตำรวจก็จะสังเกตเห็นและสามารถคว้ากุญแจมือจับผู้ร้ายกลับมาได้เร็วขึ้น

ตอนแรกต้องฝึกจดจ่อให้ได้ก่อน การเดินจงกรมกับวิ่งต่างกันตรงจังหวะการเคลื่อนไหว เวลาเดินจงกรมจะเห็นชัดๆ ว่าเท้าเราเคลื่อนไหว ถ้าเราจับการเคลื่อนไหวได้ละเอียดมากๆ จะไม่มีช่องว่างให้เราคิดวอกแวกไปทางไหน

“เมื่อก่อนผมเป็นคนโมโหร้าย โกรธข้ามวันข้ามคืน พอเราฝึกตามดูรู้ทันบ่อยๆ อารมณ์โกรธจะถูกระงับได้เร็วขึ้น สมมติเมื่อก่อนโกรธวันนี้ กว่าจะรู้ตัวว่าโกรธคือพรุ่งนี้เย็น ถ้าฝึกบ่อยๆ ระยะเวลารู้ตัวก็จะเร็วขึ้นเรื่อยๆ จากพรุ่งนี้เย็นเป็นพรุ่งนี้เช้า จนกระทั่งโกรธปุ๊บรู้ตัวเลยว่าเรากำลังโกรธแล้วนะ ก็ดึงกลับมาได้ไวขึ้น”

หลังจากศึกษาวิ่งสมาธิได้ระยะหนึ่ง เขาจึงค้นพบว่าหลักการของวิ่งสมาธิเป็นหลักการเดียวกับการเจริญสติ คือ การตระหนักรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ โดยที่ผู้วิ่งไม่จำเป็นต้องกำหนดจิตไว้ที่เท้าเพียงอย่างเดียว แต่สามารถกำหนดจิตไว้ที่จุดต่างๆ ในร่างกายที่ตนถนัดเช่นเดียวกับจุดรวมของการนั่งสมาธิได้เช่นเดียวกัน ซึ่งการวิ่งเป็นเพียงเครื่องมือที่จะช่วยดึงให้คนฝึกสมาธิกลับมาอยู่ที่การเคลื่อนไหวของ “ฐานกาย”เพียงแต่เปลี่ยนจาก “การนั่ง” เป็น “การวิ่ง” การฝึกวิ่งสมาธิมีประโยชน์สองทางคือร่างกายและจิตใจแข็งแรงมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน เปรียบได้กับสำนวน “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” นั่นเอง

“ช่วงที่ฝึกใหม่ๆ แต่ละคนจะมีฐานของตนเองที่รวมพลังจิต แล้วก็เพ่งไปที่ฐานนั้น ซึ่งบางครั้งเราดิ่งลึกเกินไปก็ไม่ดี เช่น เวลาคนวิ่งสวนมาไม่รู้ว่าเขาใส่เสื้อผ้าสีอะไร รองเท้าสีอะไร แสดงว่าเราไม่ได้ตระหนักรู้กับสิ่งที่เห็นตรงหน้า การวิ่งสมาธิสามารถพูดคุยกับคนอื่นได้โดยใช้หลักการสมาธิมาจดจ่อกับคู่สนทนา เพราะจิตเราจะได้ยินเสียงคู่สนทนาชัดขึ้น หลักการสำคัญคือเรารู้ตัวว่ากำลังทำอะไร”

หลังจากวิ่งสมาธิเพื่อกำหนดจิตให้นิ่งกับฐานกายได้แล้ว ในเวลาต่อมาเขาจึงเริ่มพัฒนาการ “วิ่งสมาธิ” สู่การ “วิ่งภาวนา” เพื่อพิจาณาสภาวะที่เกิดขึ้นกับร่างกายตามหลักสติปัฏฐานสี่ ด้วยการเฝ้าดู “กาย เวทนา จิต ธรรม”

“จากวิ่งกำหนดพุทโธก็เปลี่ยนมากำหนดรู้ เรารู้ตั้งแต่ออกวิ่งก้าวแรก เท้าเรากระทบพื้นชัดที่สุด พอวิ่งเร็วขึ้นเรากำหนดซ้ายขวาไม่ทันก็เหลือแต่ขวา ขวา ขวา พอวิ่งไปสักพักเราก็ไม่ต้องกำหนดคำบริกรรมแล้ว เอาแค่รู้ รู้ รู้ ว่าเท้าไหนสัมผัสพื้นก็พอ แต่ถ้าเริ่มมีอาการอื่นเกิดขึ้น เช่น เจ็บเข่า ปวดเข่า เราก็เอาจิตไปรู้เวทนาตรงนั้น แค่เฝ้าดูเฉยๆ โดยไม่เข้าไปกะเกณฑ์บงการ สมมติเจ็บก็ดูว่าเจ็บ ไม่ต้องบังคับ เราเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ หลังจากนั้นเราจะค้นพบ   ‘พลังแห่งการเฝ้าสังเกต (Observing Power)’ เกิดขึ้นในจิตของเรา คือ มันจะเบาโล่ง ว่างจากทุกสิ่ง ผ่อนคลาย จิตที่เข้าสู่สมาธิจะได้พักจากเรื่องวุ่นวายฟุ้งซ่านทำให้จิตมีพลังมากขึ้น”

หลังจากตั้งใจเรียนวิ่งสมาธิอย่างมุ่งมั่น เก้าเดือนผ่านไปอดีตชายอ้วนโมโหร้ายน้ำหนักกว่า 80 กิโลกรัมจึงเริ่มพบกับความเปลี่ยนแปลงบนร่างกายอย่างชัดเจน เมื่อน้ำหนักลดลงเหลือเพียง 60 กิโลกรัมพร้อมกล้ามเนื้อที่ฟิตแอนเฟิร์มและความเจ้าอารมณ์ลดลงจนคนรอบข้างแปลกใจ

แม้ว่าในเวลานั้นเขาจะเริ่มปีนขึ้นมาจากหุบเหวลึกด้วยตนเองจนเริ่มมองเห็นแสงสว่างด้านบนอยู่ไม่ไกล แต่เมื่อมองย้อนกลับเข้าไปภายในตนเอง เขายังรู้สึกว่าความเลวร้ายในอดีตที่ผ่านมามันมากมายจนยังไม่สามารถ “โยนทิ้ง” ไว้ในหุบเหวด้านล่างได้ทั้งหมด เขาจึงต้องการ “เครื่องมือทางธรรม” เพิ่มขึ้นอีกเพื่อให้เป็นอิสระจากความทุกข์ในอดีต ปีนขึ้นไปสู่ปากเหวได้อย่างอิสระสักที ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจสมัครเรียนปริญญาโท พุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ภาควิชาจิตวิทยา สาขาวิชาชีวิตและความตาย การสมัครเรียนในหลักสูตรนี้เองที่ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองต่อชีวิตตนเองราวกับได้เกิดใหม่อีกครั้ง

อันที่จริงตอนนั้นรู้สึกว่าตนเองดีขึ้นแล้วด้วยนะ แต่ยังคิดว่าเราเลวร้ายกว่านั้น เลยอยากเรียนสมาธิให้มากกว่านี้ และอีกความคิดหนึ่งคืออยากบอกต่อคนอื่นว่า ตรงนี้ดีนะ ตรงนี้สุขนะ ตรงนี้ได้ผลนะ แต่ยังดูถูกตนเองอยู่ ตอนนั้นคิดว่า น้ำหน้าอย่างเราบอกใคร ใครจะฟัง การได้เรียนรู้เรื่องจิตวิทยาการให้คำปรึกษาเชิงพุทธศาสนาทำให้เราต้องฝึกการเยียวยาตนเองก่อนไปเยียวยาผู้อื่น

เมื่อความต้องการเป็น “ศูนย์” จึงพบ “สุข”

การเรียนหลักสูตรปริญญาโทด้านพุทธจิตวิทยา สาขาวิชาชีวิตและความตาย นับเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่พลิกมุมมองของนักวิ่งสมาธิท่านนี้ จากการ “ดูถูกอดีต” สู่ “การยอมรับคุณค่า” ในตนเอง เพราะหนึ่งในภารกิจของผู้เรียนหลักสูตรนี้ นักศึกษาจะต้องไปช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วยระยะสุดท้ายและญาติที่โรงพยาบาลหลายๆ แห่ง

“การทำหน้าที่ตรงนี้ทำให้เราได้เยียวยาตัวเราเองไปด้วย เขาเป็นครูสอนเรื่องชีวิตให้กับเรา มีเคสหนึ่งเป็นเด็กผู้ชายป่วยหนักขั้นวิกฤติจากหลายโรครุมเร้า เด็กคนนี้ชอบรถไฟมาก พอเราบอกว่า ปัจจุบันเราเป็นพนักงานการรถไฟ ก่อนหน้านี้เคยเป็นช่างเครื่องและผู้ช่วยพนักงานขับรถไฟมาสิบกว่าปี ได้ขับรถไฟมาแล้วทุกขบวนทุกเส้นทาง เขาก็สนใจฟังมาก และบอกว่าถ้าเขาหายจะขอไปขับรถไฟด้วย แต่น้องคนนี้เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้พาไปขับรถไฟด้วยกัน

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ผมทำงานอยู่บนหัวรถจักรไม่เคยมีความภาคภูมิใจเลยเพราะรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก แต่พอมาเล่าให้น้องคนนี้ฟัง เขากลับเห็นคุณค่าในงานของเราและมีความสุขกับเรื่องราวของเรา

นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ทุกวันที่เขาไปทำงานที่การรถไฟฯ เขารู้สึกมีความสุขกับอาชีพของตนเองมากขึ้น รอยยิ้มแห่งความสุขได้ส่งพลังสะท้อนไปสู่เพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวจนกระทั่ง “ความหวาดกลัว” ของลูกชายที่มีต่อพ่อแปรเปลี่ยนเป็น “ความรัก” และพ่อได้กลายเป็นไอดอลคนสำคัญในชีวิตแทน

สิ่งที่ภาคภูมิใจคือ ตอนนี้ลูกชายเขารักเรา มีเราเป็นไอดอล และคนรอบข้างมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อเรามากขึ้น  ตอนลูกชายอายุ 8 ขวบ เขาอยู่กับปู่ย่าที่ต่างจังหวัด เกลียดกลัวพ่อขนาดโทรหาไม่ยอมคุยด้วย แต่พอเราเริ่มอ่อนโยน นุ่มนวล พูดกับลูกดีขึ้น ไม่ใส่อารมณ์ ใช้เหตุผล เขาก็เริ่มอยากคุยกับเรา

หลังจากอดีตหนุ่มขี้โมโหเปลี่ยนตนเองใหม่จนกลายเป็นนักวิ่งสมาธิ ชีวิตที่ดีขึ้นทำให้เกิดความรู้สึกอย่างแบ่งปันตามมา เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ติดต่อให้เขาเป็นวิทยากรบรรยายหลักการวิ่งสมาธิ เขาจึงได้กลายเป็น “ไอดอล” ของบรรดานักวิ่งมาราธอนที่เริ่มสนใจหันมาวิ่งสมาธิ นอกจากนี้เขายังพัฒนาการฝึกสมาธิขึ้นไปสู่ระดับสูงจนสามารถทำหน้าที่เป็น “ครูสมาธิ” ให้กับบุคคลอื่นในหลักสูตรสอนสมาธิด้วยเช่นกัน

“เวลาเห็นคนเพิ่งเริ่มวิ่งใหม่ๆ วิ่งไม่ไหว เราก็จะไปให้กำลังใจเขา พอเขารู้ว่าเราทำหลักสูตรวิ่งสมาธิด้วยก็เลยติดต่อกันเรื่อยมาเหมือนเราได้ครอบครัวใหม่ส่งต่อพลังงานที่ดีต่อกัน ต้องขอบคุณ สสส.ที่ดึงมาทำงานตั้งแต่ปี 58 จนถึงปัจจุบัน เพราะไม่อย่างนั้นเราคงแค่วิ่งวนอยู่ในสวนจตุจักร ไม่มีโอกาสออกมาบอกคนอื่นว่าตรงนี้ดีนะ สนุกนะ ตอนนี้มีคนวิ่งสมาธิเยอะขึ้น ทำงานอบรมภาวนาด้วย เวลาซ้อมวิ่งตอนเย็น เราก็สอนเรื่องการเจริญสติในชีวิตประจำวันไปด้วย”

เมื่อชีวิตสมบูรณ์แข็งแรงทั้งกายและใจ ความรู้สึกอยากแบ่งปันต่อผู้อื่นจึงเกิดตามมา และเป้าหมายของการวิ่งไปข้างหน้าจึงไม่ได้อยู่ที่เส้นชัยหรือถ้วยรางวัลอีกต่อไป พนักงานการรถไฟที่กลายมาเป็นไอดอลของ “นักวิ่งสมาธิ” สรุปถึงความสุขในชีวิตทุกวันนี้ด้วยน้ำเสียงเรียบง่ายว่า

ผมมีความสุขจากความไม่คาดหวังอะไรเลย เพราะผมตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือสุขภาพและมิตรภาพ เท่านี้ก็กำไรแล้ว เพราะเป้าหมายอาจไม่สำคัญเท่ากับความสวยงามระหว่างการเดินทาง ความสุขน่าจะอยู่ตรงนี้มากกว่า

คุณกันต์กับบรรดานักวิ่งที่กลายเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” (ขอบคุณภาพจากคุณกันต์ ปั้นภู)

การเคลื่อนไหวร่างกาย

วิ่งสมาธิ

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save