แสนสุขสมนั่งชมวิหค…ยาบำรุงหัวใจของหมอนักอนุรักษ์
“การได้เห็นสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติจริงๆ ปรากฎขึ้นตรงหน้าโดยที่เราไม่ได้คาดคิด มันมีพลังมาก จับหัวใจเรา ในนาทีที่ผมนั่งเฝ้านกนานๆ แล้วนกบินมา หัวใจมันพองโต มันมากกว่าความสุข เป็นความปีติอิ่มเอม นาทีนั้นอยากขอบคุณโชคชะตา ขอบคุณธรรมชาติ ขอบคุณใครก็ตามที่ทำให้ผมมีโอกาสได้อยู่ตรงนี้ วินาทีที่วิถีชีวิตของเรามาตัดกันพอดีช่างวิเศษเหลือเกิน”
น้ำเสียงของนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ “หมอหม่อง” แพทย์โรคหัวใจและนักอนุรักษ์แถวหน้าของเมืองไทยถ่ายทอดความปลื้มปิติยามนึกถึงวินาทีสำคัญที่ได้เห็นนกหายากปรากฎขึ้นในสายตา
แม้ภารกิจดูแลหัวใจคนไข้วันจันทร์ถึงศุกร์ ณ ศูนย์โรคหัวใจภาคเหนือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่จะหนักหนาเพียงใด แต่เมื่อถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์หมอหม่องมักจะเปลี่ยนจากชุดกาวน์สีขาวและหูฟังแพทย์เป็นชุดเดินป่าสะพายกล้องถ่ายรูปคล้องคอแทน เพราะมีภารกิจต้องออกไปตามหายาบำรุงหัวใจจากธรรมชาติให้ตนเอง ด้วยการนั่งเฝ้ามองวิหคเหินลมกลางป่า หรือจัดกิจกรรมพาผู้คนใกล้ชิดธรรมชาติเพื่อเติมเต็มความสุขอีกด้านหนึ่งของชีวิตให้สมบูรณ์
นี่คือวิถีชีวิตของหมอรักษาโรคหัวใจท่านนี้ที่เลือกสร้างสมดุลความสุขจากการเป็นแพทย์และนักอนุรักษ์มาตลอดระยะเวลาเกือบสามสิบปี และยังคงก้าวเดินบนเส้นทางสายนี้ต่อไปเพื่อดูแลหัวใจคนไข้และหัวใจตนเองให้แข็งแรงไปพร้อมๆ กัน
ดีเอ็นเอความรักธรรมชาติจากแม่สู่ลูก
“เวลาแม่เล่าเรื่องธรรมชาติสนุกที่สุดเลย เพราะแม่มีเกร็ดความรู้เยอะ ไม่แห้งแบบในตำรา แม่เป็นคนเปิดประตูให้ลูกๆ สนใจเรื่องราวธรรมชาติ”
บุตรชายคนสุดท้องของ ม.ร.ว.สมานสนิท สวัสดิวัฒน์ และ ดร. รชฎ กาญจนะวณิชย์ ย้อนอดีตวัยเยาว์ถึงมารดาผู้จุดประกายความรักธรรมชาติในหัวใจของลูกทั้งสี่คน
ขณะที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องการเก็บที่ดินมูลค่าสูงเอาไว้เป็นมรดกให้ลูก ทว่า แม่ของลูกทั้งสี่คนนี้กลับตัดสินใจ “ขายที่ดินมรดก” ริมชายหาดหัวหินมูลค่า 17 ล้านบาทเพื่อนำเงินมาซื้อรถแทรกเตอร์ สร้างอ่างเก็บน้ำ ระบบชลประทาน และสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำแม่สอยให้ช่วยกันปกป้องผืนป่าอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกสีเขียวให้ลูกและคนรุ่นต่อไป
มารดาผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับการอนุรักษ์ธรรมชาติเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อปี 2537 ถึงเหตุผลที่ตัดสินใจเช่นนี้ว่า
“ดิฉันมักเจอคำถามว่า เอาเงินส่วนตัวมาสร้างป่าเพื่ออะไร ดิฉันคิดว่าถ้าเราจะทิ้งมรดกให้ลูก จะมีอะไรดีกว่าการให้โลกสีเขียว เพราะที่ทำมาทั้งหมด มิใช่ว่าต้องการเพียงฟื้นฟูป่าต้นน้ำแม่สอยแห่งเดียว เราทำที่นี่เพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าการสร้างป่าให้เขียวทำได้จริง และหวังว่าจะมีคนมาช่วยกันสร้างป่าในที่แห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ”
ในทุกลมหายใจที่ใช้เวลาอยู่ร่วมกัน แม่ผู้รักผืนป่ามากกว่ามรดกที่ดินคนนี้ได้ส่งผ่านความรักและความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติมาให้ลูกเสมอ ไม่ว่ายามเล่านิทานก่อนนอน พาเดินลุยป่า จูงมือไปเที่ยวเขาดิน หรือพบเจอต้นไม้ข้างทาง แม่เป็นแบบอย่างให้ลูกได้เห็นผ่านการกระทำ มิใช่เพียงคำพูด
ต้นไม้ทุกต้นเป็นเพื่อนแม่ แม่คุยกับต้นไม้เหมือนคุยกับเพื่อน ‘เธอชื่ออะไร ฉันไม่เคยเห็นเธอเลยนะ’ เห็นแม่ทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เวลาแม่พาไปสวนสัตว์เขาดิน เราไม่ได้ไปดูสัตว์เหมือนเด็กทั่วไป แม่สอนเรื่องความมีเมตตากับสัตว์ว่า สัตว์ที่ถูกกักขังน่าสงสาร มันจะมีความรู้สึกยังไงบ้าง เราต้องไปเยี่ยมเยียน เอาอาหารไปให้ แม่วางรากฐานที่สำคัญ คือ การเคารพชีวิตผู้อื่น ชีวิตผู้อื่นมีคุณค่าไม่น้อยกว่าเรา ไม่ว่าจะตัวเล็กเท่าจุลินทรีย์หรือใหญ่เท่าปลาวาฬมีความสำคัญหมด
จึงไม่น่าแปลกใจที่ลูกๆ จะเติบโตขึ้นมาพร้อมดีเอ็นเอรักธรรมชาติอยู่ในสายเลือด แต่ละคนต่างเลือกทางเดินบนเส้นทางรักธรรมชาติในมิติแตกต่างกันไป บุตรชายคนเล็กผู้หลงรักนกมาตั้งแต่เยาว์วัยพัฒนา “วิชาดูนก” จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกและนักอนุรักษ์ธรรมชาติแถวหน้าของเมืองไทยในปัจจุบัน
“ตั้งแต่เล็กจะฟังนิทานเกี่ยวกับสัตว์ ถ้าเป็นเรื่องนกจะชอบมาก มีหนังสือนกเล่มเก่าอ่านแล้วอ่านอีก วาดรูปนกทำเป็นฉากอยู่ในตู้ จำได้ว่าตอนชั้นอนุบาลหรือ ป.1 ทำชิ้นงานส่งครู มีนกชื่อออสเปร ฉากเป็นภูเขา ทะเลสาบ เป็นผลงานเกี่ยวกับนกชิ้นแรกที่ยังจำได้จนถึงวันนี้”
ส่วนบุตรสาวคนที่สาม “ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์” หรือ “ดร.อ้อย” สนใจระบบนิเวศวิทยาตั้งแต่สิ่งมีชีวิตที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นไปจนถึงต้นไม้ใหญ่ในป่าลึก สองพี่น้องจึงมักแลกเปลี่ยนถกเถียงเรื่องธรรมชาติกันอย่างออกรสเสมอ
“ผมเคยวาดรูปนกกิ้งโครงเกาะต้นมะขามเทศ ผมวาดรูปนกซะสวยเชียว แต่พอถึงต้นมะขามเทศวาดแบบขอไปที เพราะเราไม่เคยสังเกตเลยว่ามันแตกกิ่งไปยังไง มองเห็นต้นไม้เป็นแค่ส่วนประกอบ ผมวาดรูปฝักมะขามเทศออกมาเหมือนโดนัทเลย พี่อ้อยเห็นปุ๊บบอกว่า ‘เวลาวาดรูปนก วาดซะสวยเชียว แต่พอวาดรูปต้นไม้ดูไม่ได้เลย ทำไมเธอดูถูกต้นไม้จัง’ ” (เล่าพลางหัวเราะที่เคยถูกพี่สาวค่อนขอด)
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา น้องชายคนสุดท้องจึงเริ่มหันมาสนใจต้นไม้มากขึ้น และยังสามารถนำความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศมาดัดแปลงเป็นเรื่องเล่าสังคมป่าอันน่าสนุกให้บรรดานักดูนกได้ฟังเป็นเกร็ดความรู้ในเวลาต่อมาด้วยเช่นกัน
“บ่อยครั้งที่ไปดูนก ไม่เจอนก เจอแต่ต้นไม้ ผมก็จะเล่าเรื่องระบบนิเวศให้ฟังแทน โดยเปรียบเทียบกับสังคมเมืองที่มีหลากหลายอาชีพ ยกตัวอย่างเช่น นกกระจอกเหมือนคนอาชีพรับจ้างทั่วไป หรือต้นไม้ต้นนี้ทำไมต้องมีปลายแหลม ผิวมัน เราก็จะเล่าเรื่องให้เขาเห็นการทำงาน เชื่อมโยงกับระบบนิเวศ ทำให้ดูนกสนุกขึ้น ไม่ได้ดูนกเป็นตัวๆ อีกต่อไป
ผมเริ่มสนุกในการค้นหาความรู้ว่า นกแต่ละตัวมีหน้าที่เฉพาะอย่างไรบ้าง เช่น นกที่กินผลไม้ก็มีอาชีพแตกต่างกันไป บางเมล็ดใหญ่มากต้องเป็นอาหารของนกขนาดใหญ่ หรือการกระจายพันธุ์ของผลไม้เกิดขึ้นได้ยังไง เมล็ดบางอย่างต้องไปผ่านน้ำย่อยของนกก่อน ถึงจะงอกเป็นต้นไม้ได้ ธรรมชาติดีไซน์ไว้หมดแล้ว ทำให้เราดูนกสนุกมากขึ้นเหมือนเจอจิ๊กซอว์ธรรมชาติเรียงต่อกันเป็นภาพใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากแม่จะเป็นต้นแบบของความรักธรรมชาติให้กับลูกๆ แล้ว แม่ยังเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจในการลุกขึ้นมาปกป้องธรรมชาติไว้เป็นมรดกแก่คนรุ่นต่อไปเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นนายแพทย์รักษาโรคหัวใจแบ่งเวลามาทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน
หากแม่มองลงมาจากสวรรค์ในวันนี้ ท่านคงภูมิใจที่ดีเอ็นเอความรักธรรมชาติยังคงฝังแน่นอยู่ในหัวใจลูกชายคนนี้ผ่านถ้อยคำที่เอ่ยถึงแม่แทบทุกลมหายใจ เพราะแม่คือ “ครู” ผู้วิเศษสุดในชีวิตและยังทำให้เขาอยากเป็น “ครู” เปิดประตูสู่โลกธรรมชาติให้คนรุ่นต่อไปเช่นเดียวกัน
แม่เป็นคนเปิดประตูความรู้ให้เรารักธรรมชาติ สอนให้เรามองเห็นความงาม ความมหัศจรรย์ในโลกธรรมชาติ รู้จักถ่อมตน เคารพคุณค่าของชีวิตน้อยใหญ่ ให้ทั้งความรู้ วิธีคิด วิธีตั้งคำถาม และส่งต่อความรักความเมตตาต่อสรรพสิ่งที่มีมากมายล้นหัวใจแม่มาปลูกไว้ในหัวใจเรา เราจึงพยายามเปิดประตูดึงคนเข้ามาสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ เหมือนกับที่แม่เคยทำกับเรา
เมล็ดพันธุ์แห่งความสุข
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2527 ท่ามกลางตำราแพทย์กองโตเต็มโต๊ะ บุตรชายคนสุดท้องของ ม.ร.ว. สมานสนิทก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือสำหรับเตรียมพร้อมเข้าเรียนวันต่อไปอย่างมุ่งมั่น หลังจากอ่านตำราเรียนครบ เขาก็หันไปหยิบตำราอีกเล่มหนึ่งที่เขียนโดย “นายแพทย์” ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทยมาอ่านอย่างตั้งใจราวกับจะสอบปลายภาคในวันรุ่งขึ้น ทว่า เรื่องราวด้านในกลับไม่ใช่ความรู้เรื่อง “การรักษาร่างกายมนุษย์” แต่เป็นความรู้เรื่อง “การรักษาใจมนุษย์ผู้หลงรักนก” แทน หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “นกเมืองไทย” เขียนโดยนายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ตำราดูนกเล่มแรกในชีวิตที่นำพาหมอนักอนุรักษ์คนนี้เข้าสู่โลกของคนรักนกอย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มเรียนแพทย์ปีหนึ่งจนแทบหายใจเข้าออกเป็นนกเลยทีเดียว
ตลอดเวลาเรียนหกปีในรั้วมหาวิทยาลัย นักศึกษาแพทย์หนุ่มตั้งใจศึกษา “วิชาแพทย์” และ “วิชาดูนก” อย่างมีความสุขควบคู่กันไป โดยใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ออกไปตระเวนดูนกในสถานที่จริงใกล้กรุงเทพฯ จนเมื่อเรียนจบแพทย์ปีสุดท้าย “วิชาดูนก” ก็ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วพอๆ กับวิชาแพทย์ซึ่งไม่เคยถูกละเลย แม้ว่าจะออกไปดูนกแทบทุกวันหยุดเลยก็ตาม พิสูจน์ได้จากผลการเรียนระดับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีที่ได้รับมาอย่างน่าภาคภูมิใจ
ปี 2533 ระหว่างที่หมอหนุ่มจบใหม่เดินทางไปทำงานใช้ทุนในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เขายังคงใช้เวลาว่างจากการเป็นแพทย์สนใจศึกษาดูนกอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งวันหนึ่งโชคชะตาได้นำพาให้ก้าวเข้าสู่เส้นทางนักอนุรักษ์อย่างจริงจัง เมื่อเห็นเด็กในชุมชนใช้หนังสติ๊กไล่ยิงนกกันอย่างสนุกสนาน ความคิดอยากเปลี่ยนพฤติกรรม “เด็กยิงนก” เป็น “เด็กรักนก” จึงถูกจุดประกายขึ้นในใจเป็นครั้งแรก
ตอนนั้นใช้ใต้ถุนบ้านสอนเด็กวาดรูปนก ชวนไปดูนก เพื่อปลูกฝังให้เขารักนกมากขึ้น นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ค้นพบว่า นี่คือตัวเรา เราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ไม่ใช่แค่สนุกกับการดูนกเฉยๆ เราแฮปปี้มาก เวลาทำให้ใครตาโต อยากดูนก รักธรรมชาติมากขึ้น เหมือนเราประสบความสำเร็จในชีวิตขึ้นมาเลย (เล่าด้วยรอยยิ้ม)
หลังจากไม้ขีดไฟนักอนุรักษ์ก้านแรกถูกจุดขึ้นด้วย “หนังสติ๊ก” เด็กยิงนก ไฟฝันของการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็เริ่มคุโชนมากขึ้นในใจนายแพทย์หนุ่ม ช่วงเวลานั้นปัญหาสิ่งแวดล้อมกำลังเริ่มรุนแรงมากขึ้นในสังคมไทยจนหมอนักอนุรักษ์อยากทุ่มเทเวลาทั้งหมดในชีวิตให้กับงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพแพทย์เพื่อไปทำงานเป็นนักอนุรักษ์กับมูลนิธินกเงือกอย่างเต็มตัว
“ตอนนั้นคิดว่าหมอมีเยอะแล้ว เราลาออกจากหมอดีกว่า ไม่ได้ไม่อยากเป็นหมอ แต่รู้สึกว่าเวลาชีวิตมันมีแค่นี้ เราคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเยอะมาก แต่คนที่มีความรักธรรมชาติยังมีอยู่น้อย เลยลาออกมาทำตรงนี้ดีกว่าไหม”
ทว่า หลังจากลาออกจากได้เพียงปีเดียว เขาจึงเพิ่งค้นพบว่า เขารักอาชีพแพทย์มากมายเพียงใด
เวลาเราออกไปอยู่ในจุดที่เราไม่มี เรามักจะเห็นคุณค่าของสิ่งนั้นมากขึ้น ความสุขของหมอ คือการได้เห็นคนไข้ดีขึ้น รู้สึกว่าเรามีคุณค่าแบบเห็นผลทันตา มันคือความสุขของชีวิตอีกด้านหนึ่งที่เราต้องการ หลังจากลาออกได้ปีเดียว ผมก็กลับมาเป็นหมออีกครั้ง และคิดว่าต้องทำสองอย่างคู่กันไป แม้ว่ามันอาจไม่ดีนัก แต่มันก็ช่วยเติมเต็มชีวิตของเราไม่ให้บางอย่างขาดหายไป
เมื่อค้นพบว่าความสุขที่ต้องการอยู่ตรงไหน เขาจึงก้าวย่างต่อไปด้วยความเชื่อมั่นบนความสุขสองเส้นทาง ทางหนึ่งดูแลหัวใจคนอื่น อีกทางหนึ่งดูแลหัวใจตนเอง ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้ค้นพบว่า แท้จริงแล้วถนนทั้งสองสายมิใช่ทางคู่ขนาน หากเป็นถนนสายเดียวกันเพราะปัญหาสุขภาพมนุษย์กับปัญหาสิ่งแวดล้อมล้วนโยงใยถึงกัน ภารกิจปกป้องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นภารกิจของแพทย์ในการนำพาผู้คนไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน
การได้ออกไปสู่โลกกว้างเป็นการชาร์จแบตและสร้างสมดุลในชีวิตทางหนึ่ง จริงๆ แล้วเรื่องธรรมชาติกับความเจ็บป่วยของมนุษย์มันเชื่อมโยงกัน ปัญหาของโลกเราทุกวันนี้ ต้องเริ่มจากหัวใจของคน เข้าใจและแคร์สิ่งเหล่านี้ การที่เขาไม่แคร์เพราะเขายังไม่รู้จักมัน เลยไม่รักมัน วัตถุประสงค์ใหญ่ของเรา คือการทำให้คนกลับไปใกล้ชิดกับธรรมชาติ รักธรรมชาติเหมือนเดิม
บทเรียนจากธรรมชาติ
ท่ามกลางแสงสีเสียงในเมืองใหญ่ ประสาทสัมผัสตา หู จมูกของผู้คนต่างเคยชินกับสิ่งเร้าเหล่านี้จนหยาบกระด้าง บรรดา “มือใหม่หัดดูนก” หลายคนจึงเกิดอาการ “หูดับ” ไม่ได้ยินเสียงนกร้องเพลง หรือ “ตาบอดต้นไม้” เพราะมัวแต่มุ่งมั่นตามหานก จนมองไม่เห็นความสวยงามของต้นไม้และธรรมชาติรอบกาย หมอนักอนุรักษ์ถ่ายทอดประสบการณ์จัดกิจกรรมพาคนเมืองดูนกให้ฟังว่า
“การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เราต้องอาศัยความช่างสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มันเป็นทักษะของประสาทสัมผัสที่ต้องค่อยๆ จูนให้ละเอียดขึ้น บางครั้งเราจัดกิจกรรมให้นอนกับพื้นป่า เอาใบไม้มากลบเหลือแต่ลูกตา ทิ้งไว้ให้อยู่เงียบๆ สักพัก เขาก็จะเริ่มได้ยินเสียงของป่าชัดขึ้น”
ในบรรดาสัตว์ป่าทั้งมวล นกจัดเป็น “ทูตธรรมชาติ” ที่มีรูปร่างหน้าตาดึงดูดใจคนทุกเพศทุกวัยมากที่สุด รวมทั้งเป็น “ครู” สอนบทเรียนหลายอย่างให้กับมนุษย์ได้ดีเช่นกัน
นกเป็นครูที่สอนเรื่องทักษะเพื่อความอยู่รอดที่ดีมาก โดยเฉพาะความไวของประสาทสัมผัสต่อสิ่งเร้าทางตาและหู ผมเชื่อว่านกทำให้เรามองเห็นบางสิ่งที่มองข้ามไปในชีวิตด้วย บางคนมองไม่เห็นรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต หรือการมองเห็นความงาม บางทีมันไม่ใช่แค่มอง แต่เราต้องมีหัวใจรับรู้ความงามนั้นด้วย
กิจกรรมดูนกของชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนาจึงเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่หมอนักอนุรักษ์เลือกนำมาใช้เป็น “นางเอก” เพิ่มเรตติ้งช่องทางการเรียนรู้ธรรมชาติให้มากขึ้น
“นกเป็นสัตว์ที่มีเสน่ห์ในตัวเองทั้งรูปร่าง หน้าตา เสียงร้อง มันจับจิตจับใจคนได้ง่าย ถ้าพาคนออกไปท้องทุ่งไม่ไกลก็ได้เจอนก 20 ถึง 30 ชนิดแล้ว ตื่นเช้ามา ถ้าเราไม่เปิดทีวีดังมากเกินไป เราก็จะได้ยินเสียงนกปลุกเรา มันทำให้เรารู้ว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก
เวลาดูนก เราต้องดูต้นไม้ด้วย เพราะนกไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ทุกครั้งที่เห็นนก เราก็จะเห็นรังนกอยู่บนต้นไม้ด้วย ถ้าเรามองเห็นนกกับต้นไม้ เราก็จะมองเห็นความสัมพันธ์ในธรรมชาติ รวมทั้งความสัมพันธ์ของตัวเรากับธรรมชาติ
บทเรียนสำคัญที่ “ครูนก” ทำหน้าที่สอนได้ดีที่สุด คือ “การรู้จักรอคอย” เพราะไม่มีใครกำหนดได้ว่า นกที่เฝ้ารอจะมาเมื่อไหร่ หรืออาจไม่มาให้เห็นเลยก็ได้ ในด้านหนึ่งอาจทำให้คนที่รอรู้สึกเบื่อเพราะอยู่กับสิ่งที่คาดหวังไม่ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับนำความตื่นเต้นมาให้ผู้เฝ้ารอเช่นกัน
“ผมคิดว่าความคาดหวังอะไรไม่ได้เลย มันทำให้การดูนกเป็นความรู้สึกที่สดมากๆ คนที่ดูนกส่วนใหญ่จะเสพติดความรู้สึกนี้ นกตัวนั้นอยู่ที่นั่นที่นี่ก็ต้องตามไปดูถิ่นที่อยู่ของมัน เราสนุกที่จะไปค้นหา ถ้าไปครั้งแรกไม่เจอ ยิ่งต้องไปอีก และถ้าผ่านไปหลายครั้ง แล้ววันหนึ่งได้เจอขึ้นมา เราจะยิ่งรู้สึกว่าความพยายามของเราสำเร็จแล้ว”
น้ำเสียงของหมอนักอนุรักษ์ยามถ่ายทอดถึงบรรยากาศเฝ้าดูนกเต็มไปด้วยความสุขจนล้นปรี่ออกมาทางแววตาและรอยยิ้มบนใบหน้า
ความงามของธรรมชาติเป็นความงามที่ไม่ได้เกิดจากการปรุงแต่ง ถ้าเราเข้าไปในป่า แล้วบังเอิญเจอเอื้องตะขาบ ซึ่งหนึ่งปีออกดอกวันเดียว เราจะรู้สึกประทับใจมาก หรือแม้ได้เจอดอกเอื้องที่เหี่ยวคาคบไปแล้ว เราก็ยังประทับใจและจดจำมันได้ติดตาเพราะมันไม่ได้ถูกจัดวางโดยมนุษย์
เช่นเดียวกับการได้เห็นสัตว์อาศัยอยู่อย่างอิสระตามธรรมชาติ แค่เพียงเดินผ่านแมลงทับสีสวยเกาะบนกิ่งไม้ข้างทาง เห็นผีเสื้อโบยบินกลางทุ่งกว้าง หัวใจก็พองโตได้ไม่ยาก
“การได้เห็นสัตว์อยู่อย่างอิสระในธรรมชาติจริงๆ มันมีความงดงามในตัวเอง เวลาไปสวนสัตว์เห็นนกแก้วมาคอว์ เราจะไม่รู้สึกประทับใจเลย แต่ถ้าไปรอดูนกในธรรมชาติ นั่งรอจนยุงกัด แล้วจู่ๆ นกมาปรากฏให้เห็น มันเหมือนเป็นรางวัลจากธรรมชาติที่มอบให้แก่เราที่อดทนรอคอย เพราะไม่มีใครบังคับให้มันบินมาปรากฏให้เราเห็น”
นับตั้งแต่เด็กจนโต บทเรียนจากธรรมชาติที่ได้รับการถ่ายทอดตั้งแต่เยาว์วัยจากอ้อมอกแม่ถูกพัฒนาสู่บทเรียนชีวิตมากมายตามวัยที่เติบใหญ่ แม้ว่าในบทบาทของ “อาจารย์แพทย์” จะเต็มไปด้วยเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และการยอมรับนับถือจากผู้คนมากมาย แต่เมื่อต้องเก็บกระเป๋าเดินทางเข้าป่ามองดูดาวท่ามกลางธรรมชาติแล้ว เขาเรียนรู้ว่า “หัวโขน” เหล่านี้ไม่ได้มีความหมายใดๆ เลย
เวลาเราอยู่ในเมือง เรามักมองไม่เห็นดาว และอาจเผลอรู้สึกว่าเราเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ผมชอบเข้าไปผูกเปลกลางป่า เวลานอนดูดาวเต็มท้องฟ้า เราจะรู้สึกว่าเราตัวเล็กนิดเดียว มันเตือนสติให้เรารู้ว่ามนุษย์เป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ได้แคร์ว่าเราจะเกิดหรือตาย เพราะธรรมชาติก็อยู่อย่างนั้นมานานแล้ว เราไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลาง หรือยอดของปิระมิด เราเป็นแค่หนึ่งในตัวละครของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่เท่านั้นเอง
ทุกวันนี้ หมอนักอนุรักษ์ในวัยต้นห้าสิบยังคงทำงานที่รักทั้งสองอย่างควบคู่กันไปอย่างมีความสุข รวมทั้งได้ทำหน้าที่ส่งมอบความรักธรรมชาติให้กับเด็กหญิง “น้ำดอกไม้” ลูกสาวคนเดียววัยสิบปีเฉกเช่นที่เขาเคยได้รับจากแม่ในวัยเยาว์ด้วยเช่นกัน
“ผมพยายามพาลูกไปสัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุด แต่เราจะไปคาดหวังให้เขาเหมือนเราคงไม่ได้ เราคาดหวังแค่ให้เขาอ่อนโยนต่อธรรมชาติ และการเคารพสิ่งมีชีวิตต่างๆ รอบตัว ผมคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว”
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ (หมอหม่อง)