8 ช่องทางความสุข

ครูณา…สร้างสายใยรักในครอบครัวด้วยโรงเรียนพ่อแม่

ที่นี่บ้านผม คุณนั่นแหละออกไปจากบ้านนี้”  เสียงสามีท้าทายภรรยาหลังจากทะเลาะกันถี่ขึ้นทุกวัน  แม่ลูกสองเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าด้วยน้ำตานองหน้า   พาลูกชายสองคนขับรถออกจากบ้านจังหวัดนครสวรรค์ไปจนถึงอยุธยา นั่งร้องไห้ระบายความเสียใจพร้อมกับคำถามมากมายผุดขึ้นในใจ เกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงที่คนรอบข้างต่างยกย่องว่าประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างเธอ?

อดีตวิศวกรการสื่อสารผู้มีอนาคตไกลแต่ตัดสินใจลาออกเพื่อกลับมาเปิดโรงเรียนสอนเสริมแห่งแรกในจังหวัดบ้านเกิดจนประสบความสำเร็จมีสาขาถึงสามแห่ง

ครูและแม่คนเก่งในสายตาผู้ปครองที่ใครๆ อยากพาลูกมาเรียนด้วย

มันต้องมีอะไรบางอย่างผิดพลาดในความสัมพันธ์ระหว่างเรากับสามีและลูกๆ แน่ๆ ทำไมเรายิ่งประสบความสำเร็จสูง ความสัมพันธ์ยิ่งแย่ ทำไมยิ่งเรียนสูง ยิ่งรักคนได้ยากขึ้น แสดงว่าเรามีความเข้าใจชีวิตบางมุมผิดไป ทำไมเราเรียนรู้ทุกอย่างมาได้ แต่ไม่เรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ เลยเปิดใจตั้งจิตอธิษฐานว่าขอให้ได้เรียนรู้เรื่องนี้”

ไม่กี่วันต่อมา เธอได้พบคำตอบที่ต้องการ

ไม่กี่เดือนต่อมา เธอได้พบความสัมพันธ์ใหม่ในครอบครัวเดิม  

ไม่กี่ปีต่อมา เธอได้พบเส้นทางเดินอาชีพใหม่เปลี่ยนจากเจ้าของโรงเรียน “ติวเด็ก” เป็นโรงเรียน “ติวพ่อแม่” เพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยชีวิตที่อบอวลด้วยความรักและเข้าใจ

วัน เดือน ปี ล่วงผ่านมานานสิบสองปี จวบจนวันนี้ เธอกลายเป็นกระบวนกรด้านสายสัมพันธ์ในครอบครัวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในสังคมไทย

ครูณา..อังศณา มาศรังสรรค์ คือ เธอผู้ที่เรากล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ผู้หญิงที่แปรเปลี่ยนความร้าวฉานในครอบครัวตนเองจนกลายเป็นความรักความเข้าใจ และยังเป็นผู้ทำหน้าที่สร้างสายใยรักให้กับอีกหลายครอบครัวด้วยหลักสูตรโรงเรียนพ่อแม่       

คำตอบที่เธอค้นพบให้ตนเองจึงกลายเป็นต้นธารแห่งความรักและความเข้าใจที่ไหลทอดยาวไปสู่อีกหลายครอบครัวในสังคมไทยให้มีความสุขเช่นเดียวกับครอบครัวของเธอ

 

ตามหาคำตอบ

“เมื่อก่อนเราเป็นคนตั้งใจทำทุกอย่างที่เข้ามาในชีวิตจนประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับจากผู้คนรอบข้าง ตอนกำลังท้อง ทุกคนจะมาแตะท้องแล้วพูดว่า ลูกครูณาต้องเพอร์เฟ็คเพราะครูณาเก่ง เราเลยมีความคาดหวังว่าเราจะต้องทำให้ลูกเป็นคนที่เก่ง และต้องมีความสุข เราไม่รู้ว่า ตรงนั้นคือความกดดัน รู้แต่ว่ามันคือความสามารถในการสร้างเด็กของเรา”

ครูณาย้อนอดีตในวันที่ชีวิตกำลังก้าวเดินถึงจุดที่คนภายนอกมองว่า “ประสบความสำเร็จ”  ในเวลานั้นเธอเหมือน “คนขี่เสือ” ที่ก้าวไปข้างหน้าด้วยความองอาจมุ่งมั่นบนความคาดหวังของตนเองและผู้คนรอบข้าง หลังจากโรงเรียนสอนเสริมสาขาหนึ่งและสองประสบความสำเร็จมากจนไม่มีที่นั่งมากเพียงพอให้เด็กเรียน เธอจึงกู้เงินกว่าสิบล้านมาลงทุนเปิดสาขาที่สามซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความเครียดและนำไปสู่ความสัมพันธ์อันร้าวฉานในครอบครัว​

“ชีวิตเริ่มเครียดเพราะแบกหนี้สิน เริ่มทะเลาะกับสามีบ่อยขึ้น กับลูกก็กดดันเขามากเกินไป จนเขารู้สึกว่าการเป็นลูกครูณายากเหลือเกิน มีอยู่วันหนึ่งทะเลาะกันจนลูกโมโหพูดว่า ‘ซวยจริงๆ ที่เป็นลูกแม่’ พอได้ยินเรายิ่งโกรธ รู้สึกว่าเด็กเป็นพันคนรักฉัน ทำไมเธอไม่เห็นคุณค่าของฉัน”

ท่ามกลางวิกฤติชีวิตครอบครัว บางคนอาจเลือกนั่งร้องไห้จมอยู่กับความทุกข์ บางคนอาจเลือกโยนแก้วใบร้าวทิ้งลงพื้นจนแตกเป็นเสี่ยงๆ แต่เธอเลือกตั้งคำถามและพยายามค้นหาคำตอบด้วยตนเอง

พอมันถึงจุดพีคก็เกิดคำถามกับตนเองว่า เราต้องการอะไร พอย้อนกลับไปมองเห็นว่า มนุษย์ทุกคนต้องการความสัมพันธ์ เราอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสามีไปจนแก่เฒ่า เราอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกจนวันที่เขาประสบความสำเร็จแล้วเขาก็ยังรักเราอยู่ เลยทำให้เราอยากเปลี่ยนตัวเองใหม่

เมื่ออธิษฐานจิตตั้งมั่นอยากแก้ไขความผิดพลาดที่ผ่านมา ฟ้าจึงเปิดทางให้เธอเข้าร่วมคอร์สสุนทรียสนทนาของ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู เธอเริ่มทำความรู้จักบุคลิกภาพตนเองตามธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และ “การฟังอย่างลึกซึ้ง” หรือ “Deep Listening” ซึ่งนำไปสู่การรับฟังคนรอบข้างด้วยความรักและความเข้าใจ

“เราดิ่งลงไปแล้วสงบมากจนเกิดอาการปิ๊งแวบ เห็นภาพเรื่องราวของชีวิตตัวเองว่า อะไรที่ทำให้เราเป็นคนแบบนี้ คาดหวังอะไรแบบนี้ เราเปิดใจเข้าร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ เป็นคนที่ร้องไห้หนักมากทุกกิจกรรมจนกระบวนกรจำได้ พอเรียนจบคอร์สนั้นก็ตั้งหลักเปลี่ยนแปลงชีวิตเลย”

หลังจบคอร์สดังกล่าว บรรยากาศในบ้านที่เคยทะเลาะกับสามีวันละสามเวลา หงุดหงิดลูกแบบไร้เหตุผลเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ

พอกลับมาบ้าน เรากลายเป็นคนที่พูดน้อยลง ไม่อยากเกรี้ยวกราด ไม่อยากเป็นคนที่ใช้ชีวิตแบบเดิม เริ่มใช้ชีวิตช้าลง คิดว่าเราสามารถสื่อสารผ่านความสัมพันธ์ที่ดี ผ่านบทสนทนาใหม่ ผ่านการใช้ชีวิตแบบใหม่ ค่อยๆ พาตัวเองไปสู่การสร้างสัมพันธภาพที่ดีขึ้นได้ จึงเริ่มฝึกฝนตนเองในเรื่องนี้ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตนเองเป็นคนแรก เปรียบเสมือนการสร้างต้นธารพลังงานความรักและความเข้าใจให้เกิดขึ้นในบ้าน หลังจากนั้นลำธารสายนี้ก็ค่อยๆ ไหลผ่านไปสู่สามีและลูกจนบรรยากาศในบ้านอบอวลไปด้วยความรักและความเข้าใจ เสียงทะเลาะเบาะแว้งเบาบางลง เสียงหัวเราะเข้ามาแทนที่ ความเชื่อมั่นในคำตอบที่ได้รับแปรเปลี่ยนเป็นความศรัทธาและอยากส่งต่อพลังงานที่ดีสู่ครอบครัวอื่นตามมา

ด้วยเหตุนี้ ทุกครั้งที่ อ.วิศิษฐ์ เดินทางมาบรรยายที่จังหวัดนครสวรรค์ ครูณาจึงมักติดตามไปช่วยงานอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่ง เธอต้องออกไปยืนหน้าเวทีเพื่อนำกิจกรรมต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก นาทีนั้นเธอสัมผัสได้ถึงความรู้สึก “พิเศษ” บางอย่างเกิดขึ้น

เรารู้สึกว่างานนี้ทำให้ชีวิตเรามีความหมายมากขึ้น การทำหน้าที่เยียวยาความสัมพันธ์ของครอบครัวที่แตกร้าวได้สำเร็จ นับเป็นงานที่มีความสำคัญมาก

หลังจากนั้น ครูณาจึงเริ่มนำบทเรียนทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จของตนเองมาแบ่งปันสู่ครอบครัวอื่น รวมทั้งเขียนหนังสือเรื่อง “ผลัดใบชีวิต” ซึ่งได้รับรางวัลหนังสือดีสร้างคนดีของแผ่นดิน หมวดธรรมะโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ในเวลาต่อมาเรื่องราวของเธอถูกเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนมากขึ้น ทำให้ต้องเดินสายทำหน้าที่กระบวนกรฝึกอบรมจนไม่มีเวลาบริหารโรงเรียนทั้งสามแห่ง ในที่สุด เธอจึงตัดสินใจเลิกกิจการทั้งหมดท่ามกลางหนี้สินที่ยังค้างอยู่ในธนาคารจำนวน 12 ล้าน เพื่อเข้าสู่เส้นทางโรงเรียน “ติวพ่อแม่” เข้ามหาวิทยาลัยชีวิตอันอบอุ่นแทน

“เราเชื่อว่า เราถูกกำหนดมาเพื่อทำงานเรื่องความสัมพันธ์แบบนี้ เลยตัดสินใจหันมาทำอาชีพกระบวนกรอย่างจริงจัง แล้วค่อย ๆ รวบรวมเงินจากอาชีพนี้ทยอยผ่อนหนี้ธนาคารไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดแทน”

คลี่คลาย “ปมลิขิต”

“ยามรักน้ำต้มผักยังว่าหวาน ยามชังน้ำตาลยังว่าขม” กลอนเปรียบเปรยของสุนทรภู่ประโยคนี้ยังคงใช้ได้กับคู่รักทุกยุคทุกสมัย คู่สามีภรรยาก่อนแต่งงานมักเชื่อว่า “พรหมลิขิต” บันดาลชักพาให้สองคนมาเจอกัน ยามความรักเต็มร้อย สายตามักมองไม่เห็นจุดบกพร่องของกันและกัน ทว่า เมื่อใช้ชีวิตคู่เนิ่นนานไป ความรักที่ลดน้อยลงทำให้มองเห็นจุดบกพร่องของอีกฝ่ายชัดเจนมากขึ้น ต่างฝ่ายต่างคาดหวังให้อีกคนเปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นไปตามใจตน น้ำต้มผักที่เคยหวานจึงเปลี่ยนเป็นยาขมนำไปสู่ความร้าวฉานในครอบครัวตามมา

สามีภรรยาทะเลาะกันเพราะเขารักกันภายใต้บางอย่างที่เรียกว่า ‘ปม’ เราต้องการให้เขามาแก้ปมในอดีตของเรา เช่น ภรรยาที่ไม่เคารพสามีอาจเป็นเพราะเขาไม่เคยเคารพพ่อตนเองเลย พอมาถึงลูก หลายคนเอาลูกมาแก้ปมตนเอง ลูกก็เจอปมใหญ่ขึ้น เพราะเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นในสิ่งที่เราคิดไว้ เขาก็มีหนทางของเขา แล้วการหนีปมของเรา การไม่เข้าใจชีวิตของเรา ทำให้เราลากเขาเข้ามาในเส้นทางที่เราอยากได้ ทั้งที่จริงแล้ว ลูกมีเส้นทางมหาศาลที่สามารถเลือกเดินได้ แต่มันถูกลบไปเลย เราขีดเส้นบาง ๆ ไว้เหมือนให้เขาไต่ลวดเพื่อไปให้ถึงฝันของแม่

ครูณาอธิบายถึง “ปมอดีต” ซึ่งเป็นต้นตอหนึ่งของปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว และฝังอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ความสัมพันธ์ของหลายครอบครัวจึงถูก “ปมอดีต” ชักพาไปจนเกิดความร้าวฉาน หรือกล่าวอีกนัยนึงว่าถูก “ปมลิขิต” เข้ามาแทนที่ “พรหมลิขิต”  จากความรักกลายเป็นความคาดหวังให้คู่ชีวิตหรือลูกเป็นไปดังใจตนเอง

“กระบวนการคลี่คลายปมอดีตต้องเริ่มจากการที่เรามองเห็นกลไกบางอย่างในสมองที่เก็บความทรงจำในอดีตไว้ในรูปของพลังงาน หรืออาจเรียกว่า “สัญญาเก่า” เช่น การที่เราไม่ชอบใครบางคนเมื่อแรกพบ เป็นเพราะเขามีพลังงานบางอย่างคล้ายกับเรื่องราวในอดีต เป็นต้น เมื่อเราเห็นกลไกนี้แล้ว เราจะทำความเข้าใจว่า สัญญาเก่าเหล่านี้กำหนดแรงดึงดูดของชีวิต ให้เราเห็น รู้สึก ตัดสิน คิด ภายใต้อดีต มิใช่ปัจจุบัน เมื่อเข้าใจจึงรู้ได้ว่า เราใช้ชีวิตตามอดีต มิใช่ตามปัจจุบันขณะที่พบและรู้สึกเป็นส่วนใหญ่

“ดังนั้น การใช้ชีวิตในครอบครัว การเลี้ยงลูก บ่อยครั้งที่ไม่ได้เลี้ยงภายใต้ปัญญาที่แท้จริงของเรา แต่เรามักเลี้ยงลูกด้วยความกลัว ด้วยการหนีบางเรื่องราว จนเกิดผลลัพท์ที่ไม่ดีต่อชีวิต ต่อความสัมพันธ์ของเรา เรื่องราวเหล่านี้มักทำให้เราจับผิดผู้คนมากกว่าการเปิดใจรับสิ่งดีงามของเขา เพราะสิ่งที่เราเกลียดชังทำให้เราเห็นได้ง่ายกว่า ด้วยว่าเรากลัว เราไม่ชอบ นี่คือกลไกของปมชีวิตเราส่วนหนึ่ง มีเรื่องราวมากมายของปม ที่หากเราเข้าใจ หลุดพ้นจากสิ่งเหล่านี้ เราก็จะเห็นชีวิตตามความเป็นจริงที่ควรเป็น

“เวลาที่ผู้คนผ่านกระบวนการเรียนรู้ การเข้าใจปมหนึ่ง ๆ จะเกิดโดมิโนที่จะทำให้เราคลี่คลายปมด้านอื่น ๆ อีกหลายด้าน การเรียนรู้เหล่านี้ทำให้เราเริ่มเข้าใจได้ว่า เราเกลียดสามีเพราะเราไม่เคารพพ่อของตัวเอง  เมื่อเราเข้าใจพ่อ มองเห็นความทุกข์และความดีงามของพ่อได้ เราก็จะรักสามีและยอมรับลูกได้มากขึ้นเช่นกัน  จะเห็นได้ว่าในกระบวนการเรียนรู้เพียงบางคนเข้าใจปมชีวิต  ทันทีที่เข้าใจพลังงานชีวิตจะเปลี่ยน  เราจะเห็นบุคลิกแววตาเปลี่ยนไปจนสัมผัสได้ว่ามีแสงออร่าเปล่งออกมาทันทีก็ว่าได้”

ในกระบวนการเยียวยาความสัมพันธ์ในครอบครัวมีหลายเส้นทางที่สามารถไปให้ถึง แต่ละเส้นทางอาจเหมาะกับบางคน และในเส้นทางเดียวกัน บางคนอาจไปถึงเร็ว บางคนอาจไปถึงช้า ขึ้นอยู่กับความลึกของปมที่ซ่อนอยู่ในใจ และการเปิดใจยอมรับให้ตนเองเข้าไปคลี่คลายปมทีละน้อย

“มีเครื่องมือหลายอย่างที่เรานำมาใช้ บางอย่างต้องเริ่มจากการฟังอย่างลึกซึ้ง เพื่อสงบนิ่งข้างใน ได้ยินมากกว่าที่เคยได้ยิน เขาต้องอยู่กับความตื่นรู้ของตัวเอง แล้วจะเริ่มมองเห็นและได้ยินบางสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน  เมื่อพลังงานบางอย่างเกิดขึ้น เขาจะเปิดใจเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ต่อไป  

หนึ่งในปัญหาที่ทำให้เกิดความเปราะบางในความสัมพันธ์และเป็นต้นเหตุแห่งความร้าวฉานในครอบครัวตามมา คือ คนที่มักใช้ข้ออ้างว่า “รักแต่ไม่ชอบแสดงออก” กระบวนกรผู้มากประสบการณ์กล่าวถึงปัญหานี้ให้ฟังว่า

ความรักต้องแสดงออกในทางที่ถูกต้อง คุณจะมาบอกว่า ‘รักแต่ไม่แสดงออก’ เป็นไปไม่ได้ คุณต้องฝึกที่จะพูด สื่อสาร และแสดงออกอย่างถูกต้อง

อาจกล่าวได้ว่า การเยียวยาความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นเรื่องซับซ้อนที่ลงลึกในระดับจิตใต้สำนึก การเข้าคอร์สอบรมที่ใช้กระบวนการท่องจำบทเรียนจึงไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ เพราะจำเป็นต้องทำให้พ่อแม่มองเห็นต้นตอของปัญหาและหนทางเปลี่ยนแปลงตนเองในระดับลึก ซึ่งแต่ละคนมีร่องความลึกของปัญหาไม่เท่ากัน

คนบางคนมีร่องของวิถีชีวิตที่ลึกมาก การที่เขาจะเปลี่ยนจากเส้นทางหนึ่งมาอีกเส้นทางหนึ่ง จึงต้องใช้ความพยายามสูงมาก แต่ถ้าเขาศรัทธา เขาจะทำได้ คนยังทำไม่ได้ก็จะค้นหาการเรียนรู้ต่อ ว่าจะทำยังไงที่จะทำให้ฉันดำรงอยู่กับสิ่งนี้ การเรียนรู้เหล่านี้เหมือนเป็นหินที่ใส่ในอ่าง เราไม่รู้หรอกว่า หินก้อนไหนจะเต็มพอดี  ถ้าถึงตอนนั้นเขาก็จะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ

ต้นธารแห่งความรักและความเข้าใจ

“การทำอบรมแต่ละครั้ง เราอยากได้คนที่เข้าใจสักคนหรือสองคนในบ้านเท่านั้น แล้วมันจะส่งพลังต่อกัน เพราะคนสองคนนี้จะเปลี่ยนคนอีกเยอะเลย โดยเฉพาะส่งผลต่อเด็กซึ่งมีความหมายมาก เพราะความจริงแล้ว มนุษย์ควรเรียนรู้เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว  ถ้าเข้าใจเรื่องนี้ก็จะเข้าใจความสัมพันธ์ของมนุษย์ด้วยกันหมด”

ประสบการณ์อบรมพ่อแม่ตลอดสิบสองปีที่ผ่านมาทำให้ครูณาค้นพบว่า ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของคนหนึ่งคนในบ้านเปรียบได้กับ “ต้นธารแห่งความรักและความเข้าใจ” ซึ่งเป็นพลังงานบวกส่งต่อไปถึงคนรอบข้างภายในครอบครัว เช่นเดียวกับตัวเธอเองที่เริ่มเปลี่ยนแปลงจากคนหนึ่งคนจนกลายเป็นครอบครัวที่อบอุ่นในปัจจุบัน

ในบ้านหนึ่งหลัง เราต้องการคนเรียนรู้สักหนึ่งคน แล้วหนึ่งคนก็จะเป็นต้นธารของพลังงานบวกในบ้านหลังนั้น อย่างในครอบครัวใหญ่ของเรา พอเราเปลี่ยนคนหนึ่ง ครอบครัวใหญ่เราเปลี่ยนเยอะมาก

เช่นเดียวกับพลังงานลบ หากใครเติบโตมาในบ้านที่เกรี้ยวกราดต่อกัน เมื่อต้องออกไปอยู่ในสังคม เขาก็จะแสดงความเกรี้ยวกราดต่อผู้อื่นไม่ต่างกัน

“คนที่ล้มเหลวในครอบครัว มักจะมีพลังงานลบแฝงบางอย่างแฝงอยู่  ถ้าไม่ทำความเข้าใจเรื่องนี้พลังงานลบก็จะส่งผลกระทบต่อผู้คนวงกว้าง แต่ถ้าเขาได้รับการเยียวยาและเข้าใจตนเองมากขึ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดจากพลังงานตัวเขาก็จะเปลี่ยนไปทันที”

ตลอดเวลาการทำหน้าที่กระบวนกรเพื่อเยียวยาสายสัมพันธ์ครอบครัวในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา พลังงานบวกไม่ได้ส่งออกไปถึงครอบครัวอื่นเท่านั้น หากยังสะท้อนกลับมาที่ครอบครัวของเธอเช่นเดียวกัน

เราเจอหลายคู่ที่คิดจะหย่าร้างแล้ววันนี้เขามีชีวิตที่น่ารักเกื้อกูลต่อกัน เราเห็นผู้คนที่จมอยู่กับความทุกข์แล้วมีพลังขึ้น ความสุขก็กลับมาที่ชีวิตเรามากเช่นกัน มันเหมือนเป็นพลังที่ตัวเราส่งถึงคนอื่น แล้วคนอื่นก็ส่งกลับมาถึงตัวเราด้วย

ปัจจุบันครูณาแบ่งชีวิตการทำงานออกเป็น 3 ส่วนภายใต้การทำงานของมูลนิธิพื้นที่ปัญญ์รัก-โรงเรียนพ่อแม่ลูก คือ การจัดอบรมให้กับบริษัทหรือองค์กรต่างๆ ในเรื่องคิดบวกและทำความเข้าใจชีวิต ส่วนที่สอง คือ อบรมพ่อแม่ทั่วไป และส่วนที่สาม คือ การทำงานจิตอาสาเยียวยาเด็กในศูนย์ฝึกฯและสถานพินิจจังหวัดนครสวรรค์ให้เห็นคุณค่าของตนเอง และเยียวยาครอบครัวก่อนเด็กได้รับการปล่อยตัวกลับบ้าน โดยนำรายได้จากสองส่วนแรกเพื่อมาทำงานในส่วนที่สาม

เราอยากให้เด็กในศูนย์ฝึกฯ และสถานพินิจฯ เห็นคุณค่าของตนเอง ให้เขาเข้าใจว่า บางอย่างที่เรารู้สึกกับการกระทำของพ่อหรือแม่เรา บางทีก็มาในนามของความรัก แต่เป็นความรักที่เราไม่เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจแล้ว เราปล่อยมันไปได้ใช่ไหม เราจะไม่เอาความรักที่เป็นพิษมากำหนดชีวิตของเรา

ครูณากล่าวถึงเหตุผลที่เลือกทำงานทั้งสามส่วนไปพร้อมๆ กันด้วยน้ำเสียงที่สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นอ่อนโยนว่า

“ความสุขของชีวิตคือสามส่วนนี้ สิ่งที่มันเป็นพลังมากๆ คือ การได้สามส่วนนี้คืนกลับไปสู่ครอบครัว เราเลือกจะทำงานสองส่วนแรกในนามโรงเรียนพ่อแม่ลูกเพื่อนำเงินมาทำงานส่วนที่สามในนามมูลนิธิ ทั้งสามส่วนนี้เป็นงานที่เรารักมาก”

แมัว่าปัจจุบันครูณาจะมีภารกิจเดินทางจนแทบไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว แต่บรรยากาศความอบอุ่นในบ้านก็ไม่ได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด  ตรงกันข้ามกลับเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นต้นธารแห่งความรักและความเข้าใจที่ไหลสู่แม่น้ำแห่งความรักอันกว้างใหญ่ของหลายครอบครัวในสังคมไทยมาจนถึงทุกวันนี้

ความสัมพันธ์ที่แท้จริงต้องมีเสรีภาพ ไม่ใช่เป็นพันธนาการ เราอยู่ด้วยความพยายามทำความเข้าใจกันตลอดเวลา มันเป็นสัมพันธภาพเชิงบวก เป็นพลังชีวิต แล้วเราไม่กัดกร่อนความสัมพันธ์ พอจะออกจากบ้าน ลูกวิ่งมากอด บอกว่าไม่ต้องห่วงเขา เพราะเขารู้สึกว่าแม่ได้ออกไปช่วยเหลือครอบครัวอื่นด้วย เราเชื่อว่าความดีที่เราทำช่วยดูแลครอบครัวเราด้วยเช่นกัน


ขอบคุณภาพประกอบจากครูณา

ความสัมพันธ์

โรงเรียนพ่อแม่

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save