8 ช่องทางความสุข

Happy Dolls Project เติมรอยยิ้มให้ผู้คนด้วยตุ๊กตาจิตอาสา

เด็กดีต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่บางครั้งคำพูดของผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ตั้งใจอาจสร้างปมให้เด็กเบนเข็มทิศชีวิตไปอีกทางหนึ่งได้เช่นกัน ด้วยเพราะความไร้เดียงสาเด็กจึงมักฟังเสียงผู้ใหญ่มากกว่าเสียงตัวเอง

นงลักษณ์ พิทักษ์ธรรมนาถ หรือ “ลักษณ์” เป็นคนหนึ่งที่เคยมีปมวัยเด็กจากคำพูดของครูชั้นประถมซึ่งบอกว่า “เธอวาดรูปไม่สวยและไม่มีความคิดสร้างสรรค์” ความเสียใจทำให้นงลักษณ์เบนเข็มชีวิตถอยห่างจากงานศิลปะเข้าสู่เส้นทางสายงานคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานนับสิบปี ทว่า เมื่อเดินไปจนสุดทาง ความสุขกลับเริ่มลดลง เธอจึงย้อนกลับมาฟังเสียงหัวใจตนเองเพื่อคลี่คลายปมในใจวัยเด็ก ก้าวผ่านความหวาดกลัวไปสู่ความกล้าหาญ ลงมือออกแบบตุ๊กตาตัวแรกมีรอยยิ้มกว้างเป็นเอกลักษณ์จนเด็กทุกคนที่ได้เห็นมักยิ้มตามไปด้วย เธอจึงตั้งชื่อตุ๊กตาที่ออกแบบจากความคิดสร้างสรรค์ของตนเองตัวแรกว่า “Happy Doll”

รอยยิ้มของเด็กน้อยทำให้ความเชื่อมั่นในการทำงานศิลปะที่หล่นหายไปคืนกลับมาอีกครั้ง รวมทั้งยังทำให้เธอกล้าลุกขึ้นมาเดินตามความฝันจัดกิจกรรมเย็บตุ๊กตาจิตอาสาเพื่อนำไปบริจาคเด็กด้อยโอกาสในนาม Happy Dolls Project มาตลอดเวลาเจ็ดปีด้วยเช่นกัน   ตุ๊กตารอยยิ้มกว้างจึงเป็นตุ๊กตาที่สร้างความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับสมกับชื่อตุ๊กตาแห่งความสุขตามที่เจ้าของโครงการตั้งใจไว้อย่างแท้จริง

นงลักษณ์ พิทักษ์ธรรมนาถ ผู้ก่อตั้งโครงการ Happy Dolls ถ่ายภาพกับเด็กน้อย

 

ปมวัยเยาว์

ตอนอยู่ชั้น ป. 6 เราเจอปมชีวิตสองปม ปมแรก ครูศิลปะบอกว่า เราวาดรูปไม่สวย ตอนนั้นเสียใจมาก อีกปมหนึ่ง คือ ตอนชั่วโมงทำอาหาร เรามีหน้าที่ต้องหั่นผัก แล้วหั่นถั่วฝักยาวไม่เท่ากัน ครูพูดว่า ‘เธอช่างเป็นคนที่ไม่มีความคิดสร้างสรรค์เอาซะเลย’ พอได้ยินประโยคนี้ก็ยิ่งไปตอกย้ำปมเดิม หลังจากนั้นเลยบอกตัวเองว่า สองสิ่งที่เราจะไม่จับเลยคือศิลปะกับความคิดสร้างสรรค์

ลักษณ์ หญิงสาวผมสั้นใส่แว่นตา บุคลิกคล่องแคล่ว เล่าย้อนปมอดีตวัยเยาว์ที่ทำให้เธอเบนเข็มไปเรียนสายบัญชีและทำงานอยู่บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่นานถึงสิบปี จนกระทั่งเกิดความเครียดจากการทำงานต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการป่วยเล็กๆ น้อยๆ ทุกเดือน

“พอเริ่มเครียดจากงานจึงเริ่มนั่งวิเคราะห์ต่อว่าอยากทำอะไร เพื่อนก็ถามว่า เราชอบอะไร เราตอบว่า ชอบเย็บผ้า เพื่อนถามต่อว่า ชอบเย็บผ้า แล้วได้เย็บอะไรบ้างหรือยัง คำถามของเพื่อนเริ่มสะกิดใจเรา เป็นจุดเริ่มต้นที่ถามตัวเองว่า เราบอกว่าชอบเย็บผ้า แต่สิบปีผ่านไป เรากลับยังไม่เคยลงมือเย็บอะไรเลย”

หลังจากทนความเครียดจากการทำงานออฟฟิศไม่ไหว เธอจึงลาออกจากงานภาคธุรกิจและเบนเข็มไปทำงานสายพัฒนา หันหลังให้เมืองกรุง เริ่มต้นงานใหม่ที่พิพิธภัณฑ์ชาวเขาทางภาคเหนือ ชีวิตที่เคยตึงเครียดจึงเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

“หลังจากเปลี่ยนงานเป็นสายพัฒนา  ชีวิตเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่งเลย รูปแบบการทำงานยึดหยุ่นมากขึ้น เริ่มเข้าไปใกล้ชิดงานเย็บปักถักร้อยชาวเขา แต่ทำงานอยู่ปีกว่าก็ยังไม่ได้เริ่มเย็บผ้าของตัวเองสักที”

เส้นทางชีวิตของอดีตสาวนักคอมฯ ค่อยๆ ก้าวเข้าสู่เส้นทางการผลิตตุ๊กตามากขึ้น เมื่อเธอเป็นหนึ่งในอาสาสมัครที่ลงไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิและนำผ้าบริจาคไปให้ผู้ประสบภัยเย็บแปลงร่างเป็นตุ๊กตาสึนามิเพื่อขายระดมทุน แต่ถึงกระนั้นเธอก็ยังไม่ได้เป็นคนออกแบบและเย็บตุ๊กตาของตนเองสักที จนกระทั่งประมาณปี พ.ศ. 2550 ความฝันที่ค้างไว้เนิ่นนานจึงเริ่มใกล้เคียงความจริง

“ตอนนั้นเริ่มเบื่อการสมัครงานประจำ อยากลงมือทำตุ๊กตาของตนเองดูบ้าง เลยลองหัดวาดแบบด้วยตนเอง โดยที่ไม่เคยลงเรียนคอร์สการทำตุ๊กตามาก่อนเลย ทดลองทำผิดๆ ถูกๆ อยู่หลายรอบจนได้ตุ๊กตาตัวแรกที่พอใจ แล้วลองเอาไปทดสอบกับเด็กข้างบ้านอายุ 7 ขวบเพื่อดูว่าเด็กเห็นแล้วจะรู้สึกอย่างไร พอเห็นเด็กกรี้ดกร้าดชื่นชม เราก็ดีใจ เพราะเราไม่เคยทำมาก่อนเลย”

แววตาแห่งความสุขของเด็กน้อยทำให้ความเชื่อมั่นในการทำงานศิลปะที่หล่นหายไปในวัยเยาว์กลับคืนมาอีกครั้ง ปมอดีตในใจเริ่มคลี่คลายลงทีละน้อย แต่ถึงกระนั้นเธอก็ยังไม่มีโอกาสได้เย็บตุ๊กตาอย่างจริงจังเพราะต้องกลับไปทำงานประจำที่สมัครทิ้งไว้อีกสองปีจนหมดโปรเจ็ค

ตอนนั้นอายุ 38 ปีแล้ว เริ่มอยากทำงานตุ๊กตาให้เป็นงานจริงจัง แต่ถ้าจะทำขายอย่างเดียวก็คงไม่ใช่ตัวเรา เพราะอยากทำงานที่มีคุณค่ากับคนอื่นด้วย เลยตั้งชื่อตุ๊กตาว่า Happy Doll เพราะทำแล้วตัวเรา Happy และอยากกระจายความสุขต่อให้คนอื่นด้วย ถ้าสุขแล้วเก็บไว้ให้ตัวเองคนเดียวมันไม่พอ

สร้างรอยยิ้มด้วยตุ๊กตาจิตอาสา

ปี 2553 ณ งานวันเด็กบนดอยสูง จังหวัดเชียงราย ความฝันที่รอคอยมานานกว่าครึ่งชีวิตเริ่มกลายเป็นความจริง

“ตอนที่เริ่มคิดโปรเจ็คใกล้ถึงงานวันเด็กพอดี เราตั้งใจเย็บตุ๊กตาไปให้เด็กบนดอยที่เชียงราย เพราะมูลนิธิกระจกเงาที่เคยทำงานอยู่ด้วยจัดงานวันเด็กทุกปี ตอนนั้นเอาเงินเก็บมาซื้อผ้าและเย็บเอง 50 ตัว แถมยังเอาไปส่งที่เชียงรายด้วยตนเอง ไม่ได้คิดเรื่องรายได้อะไรเลย ตั้งใจทำแจกทั้งหมด”

ในงานวันเด็กปีนั้นเอง   ปมในใจวัยเยาว์ที่ฝังลึกมาเนิ่นนานได้ถูกมนต์วิเศษจากแววตาแห่งความสุขของเด็กน้อยช่วยคลี่คลายจนหมดสิ้น เธอเริ่มได้ยินเสียงหัวใจตัวเองและมองเห็นเส้นทางสู่ปลายฝันเบื้องหน้าชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

พอเห็นแววตาเด็กมีความสุข เรารู้สึกดีมากจนอยากขยายการเย็บตุ๊กตาที่เราออกแบบเองไปสู่คนอื่นด้วย แต่ไม่อยากเย็บคนเดียว 50 ตัว อยากทำมากกว่านั้นเพื่อกระจายความสุขให้คนอื่นมานั่งเย็บตุ๊กตาด้วยกัน

นับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โครงการ Happy Dolls  เริ่มต้นอย่างจริงจัง โดยมีอดีตสาวนักคอมพิวเตอร์เป็นแม่ทัพใหญ่ในการจัดเตรียมอุปกรณ์ทั้งหมด และทำงานในรูปแบบโครงการจิตอาสาร่วมกับมูลนิธิหรือองค์กรที่เป็นเจ้าภาพร่วมจัดกิจกรรม ใช้วิธีการระดมทุนจากคนทั่วไปเพื่อซื้ออุปกรณ์ หลังจากได้เงินครบตามจำนวนตุ๊กตาจึงเริ่มเปิดรับอาสาสมัครมาช่วยกันเย็บเพื่อส่งตุ๊กตาต่อไปให้เด็กด้อยโอกาส

“ตอนแรกเริ่มจากในกลุ่มเพื่อนก่อน โดยใช้แนวความคิดช่วยกันซื้อตุ๊กตาให้น้องๆ เราคำนวณต้นทุนตุ๊กตาแต่ละตัวออกมา แล้วกำหนดจำนวนแต่ละครั้งว่าจะทำ 200 ตัว ใครอยากช่วยบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ ถ้าเงินไม่พอก็ใช้เงินตนเองมาสมทบ”

กิจกรรมเย็บตุ๊กตาจิตอาสาเปิดตัวครั้งแรกที่สวนโมกข์กรุงเทพ ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปมากจนตุ๊กตาเกือบไม่เพียงพอกับจำนวนอาสาสมัคร หลังจากนั้นเป็นต้นมาโครงการนี้จึงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทั้งจากมูลนิธิและองค์กรธุรกิจที่ต้องการสร้างจิตอาสาให้กับพนักงานในการแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่สังคม ทว่า เมื่อปริมาณอาสาสมัครเพิ่มมากขึ้น ปัญหาใหม่ที่ตามมาให้แก้ไข คือ การควบคุมคุณภาพตุ๊กตาให้ได้มาตรฐานท่ามกลางอาสาสมัครที่มีความสามารถแตกต่างกัน หัวหน้าโครงการตุ๊กตาสรุปวิธีการแก้ปัญหาให้ฟังว่า

“ตอนนี้เราลดขั้นตอนลง เนื่องจากอาสาสมัครบางคนเย็บตุ๊กตาไม่เป็นทำให้ไม่สามารถควบคุมเวลาในการทำกิจกรรมให้เสร็จตามเป้าหมายได้  เราจึงแก้ปัญหาด้วยการจ้างคนที่เย็บผ้าเป็นช่วยเย็บตัวตุ๊กตาไว้ให้   ส่วนขั้นตอนยัดนุ่นกับเย็บปิดด้วยมือเราให้อาสาสมัครช่วยเย็บ ทำให้เราควบคุมเวลากับคุณภาพของงานได้ดีขึ้น”

หลังจากโครงการ Happy Dolls เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น จำนวนอาสาสมัครที่สนใจเข้าร่วมจึงมากขึ้นตามไปด้วย โอกาสที่เด็กๆ จะได้รับตุ๊กตายิ้มกว้างจึงไม่ได้มีแค่เด็กในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปสร้างรอยยิ้มให้เด็กที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล  รวมทั้งเป็นของเล่นให้กับเด็กๆ ในประเทศเพื่อนบ้านลาว พม่า ขยายต่อไปจนถึงเด็กลี้ภัยสงครามซีเรีย ทั้งที่พักอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย และสวีเดน

ตอนนั้นเราผลิตตุ๊กตาฝากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคมและมูลนิธิกระจกเงาซึ่งเดินทางไปช่วยฟื้นฟูหลังประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล  พอเจ้าหน้าที่กลับมาก็เล่าให้ว่า ‘ตุ๊กตาของพี่ทำให้เมืองยิ้มได้นะ’  เพราะตอนนั้นเมืองเต็มไปด้วยความโศกเศร้า พอเด็กได้รับตุ๊กตาของเรา เด็กเริ่มมีรอยยิ้ม ผู้ใหญ่เลยยิ้มตามไปด้วย ตุ๊กตาของเราเลยกลายเป็นใบเบิกทางให้ทำงานเก็บข้อมูลง่ายขึ้นไปด้วย

ตลอดเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมา ตุ๊กตายิ้มกว้างเดินทางไปสร้างรอยยิ้มให้เด็กน้อยมากมายหลายพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ ผู้ป่วยเด็กเรื้อรังตามโรงพยาบาล แม้ว่ากระบวนการนำตุ๊กตาเข้าไปบริจาคในโรงพยาบาลจะต้องผ่านการตรวจสอบไม่ให้เป็นอันตรายและไม่เพิ่มโรคภัยให้กับเด็ก แต่ด้วยความใส่ใจคุณภาพทุกขั้นตอนทำให้ตุ๊กตา Happy Dolls ผ่านการตรวจสอบและสามารถส่งมอบความสุขให้เด็กป่วยเรื้อรังได้ในที่สุด ภายใต้การนำทางของโครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงา  ลักษณ์เล่าถึงเหตุผลที่อยากบริจาคตุ๊กตาให้เด็กที่นอนป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลว่า

“เด็กเหล่านี้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอย่างน้อยสองอาทิตย์ เรารู้สึกว่าเตียงคนไข้เหมือนกรงขัง เห็นเด็กไม่มีเพื่อนเล่น เลยอยากเอาตุ๊กตาไปให้เป็นเพื่อน”

ด้วยเพราะจุดเด่นของตุ๊กตา Happy Dolls คือ มีรอยยิ้มกว้างบนหน้า ใครเห็นจึงมักยิ้มตามไปด้วยไม่เว้นแม้แต่ผู้ใหญ่ หลังจากลักษณ์หิ้วตุ๊กตาเดินเข้าออกโรงพยาบาลอยู่หลายครั้ง วันหนึ่งเธอก็ได้พบกับพยาบาลผู้กล้าเดินเข้ามาถามว่า “พี่ขอตุ๊กตาบ้างได้ไหม”

เราฟังแล้วดีใจ เพราะไม่เคยคิดว่า ผู้ใหญ่จะอยากได้เหมือนกัน เลยสัญญาว่างวดหน้าจะเย็บมาให้พยาบาลโดยเฉพาะเลย

นับจากนั้นเป็นต้นมาตุ๊กตารอยยิ้มกว้างจึงไม่ได้มอบความสุขเพียงแค่เด็กป่วยเท่านั้น หากยังถูกส่งมอบไปเป็นกำลังใจให้กับพยาบาลตามโรงพยาบาลหลายแห่ง ความสุขจากการได้รับตุ๊กตาจึงกระจายอบอวลไปทั่วโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว

จากจุดเริ่มต้นตุ๊กตาตัวแรกมาจนถึงวันนี้นับเป็นเวลาเจ็ดปีแล้วที่ตุ๊กตา Happy Dolls ส่งผ่านกระจายความสุขไปให้เด็กและผู้ใหญ่ทั้งในและนอกประเทศไทยมากมายหลายพันตัว ความสุขที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ผู้ได้รับตุ๊กตาเท่านั้น เพราะในฐานะคนเย็บตุ๊กตาแล้ว ความสุขใจจากการเป็นผู้ให้ย่อมมากมายไม่แพ้กัน

ตุ๊กตา Happy Dolls สร้างรอยยิ้มให้ทั้งเด็กป่วยและพยาบาล

 

สุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ

คนส่วนใหญ่มักมองว่าการทำงานจิตอาสาเป็นการทำเพื่อผู้อื่นมากกว่าการทำเพื่อตนเอง ทว่า ในความจริงแล้ว การทำงานจิตอาสาไม่ได้มีแค่มิติของการให้ผู้อื่นเท่านั้น หากยังมีมิติของการพัฒนาจิตใจของอาสาสมัครให้เติบโตเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ลักษณ์มองเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงใช้กระบวนการเย็บตุ๊กตา Happy Dolls เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ตรงที่เธอสามารถคลี่คลาย ‘ปมด้อย’ ในวัยเยาว์จนกลายเป็น ‘ปมเด่น’ สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ฟังเสียงหัวใจตนเองและก้าวเดินไปจนสุดปลายทางแห่งความฝันเช่นเดียวกับเธอ

ถ้าเราเจอผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีปมคล้ายๆ กับเรา  เราจะให้กำลังใจว่า แต่ละคนอาจมีมาตรฐานความสวยของตนเองไม่เหมือนกัน แต่ในมุมมองของเด็ก ตุ๊กตาสวยทุกตัว เด็กทุกคนที่รับไปยิ้มและมีความสุขได้นะ

เรามักยกตัวอย่างตัวเองว่า เราเคยเป็นสาวออฟฟิศคนหนึ่งที่เริ่มจากจุดเล็กๆ ที่เราชอบ แล้วอยากทำต่อเพื่อสังคม ไม่ต้องทำตุ๊กตาหรือมีชุดความคิดใหญ่ก็ได้ แต่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่อยากทำ เราจะเชียร์คนที่มาร่วมกิจกรรมกับเราว่า ไปทำอะไรให้สังคมก็ได้ และหัดฟังเสียงตัวเองที่เป็นบวกมากกว่าเสียงคนอื่น

ท่ามกลางชีวิตสังคมเมืองอันวุ่นวาย อาสาสมัครบางคนเลือกเข้ามาร่วมกิจกรรมเย็บตุ๊กตาจิตอาสาเพราะอยากมีเวลาพักใจตนเอง และได้รู้สึกดีกับการแบ่งปันสู่สังคม บางคนอาจลงนั่งเย็บตุ๊กตาพร้อมกับปัญหาชีวิตที่กำลังหาทางออกไม่เจอ แต่เมื่อได้จับเข็มเย็บผ้าจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้า ความทุกข์ใจก็ถูกพักวางทิ้งไว้ชั่วคราว เมื่อจบการทำกิจกรรม หัวใจที่โปร่งเบาจึงเริ่มมองเห็นหนทางเดินต่อไปที่ชัดเจนมากขึ้น กิจกรรมเย็บตุ๊กตาจึงเปรียบเสมือนช่วงเวลาแห่งการเยียวยาหัวใจคนเย็บตุ๊กตาด้วยเช่นกัน

“การมานั่งทำอะไรชิ้นหนึ่งนานๆ สามสี่ชั่วโมง เราจะมองเห็นตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่งเหมือนกัน ล่าสุดมีน้องผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่า ‘ตอนนั่งนิ่งๆ ทำตุ๊กตา จู่ๆ หนูก็เจอทางออกของปัญหาที่กำลังไม่สบายใจ’ เราคิดว่าชีวิตคนเราถ้าทำอะไรเร็วๆ ตลอดเวลา เราจะไม่มีเวลาถามตัวเอง ฟังเสียงตัวเอง การใช้ชีวิตให้ช้าลง เราจะได้ยินเสียงตัวเองชัดขึ้น และมีความสุขกับชีวิตง่ายขึ้น จนทุกคนสามารถมีความสุขในชีวิตประจำวันได้”

กิจกรรมเย็บตุ๊กตาจิตอาสา

หลังจากโครงการ Happy Dolls เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น   หลายคนจึงเริ่มมีแรงบันดาลใจในการเย็บตุ๊กตาเพื่อบริจาคให้เด็กด้อยโอกาสโดยริเริ่มโครงการในชื่ออื่นๆ หรือตุ๊กตารูปแบบแตกต่างกันไป แต่สำหรับตุ๊กตายิ้มกว้างเป็นเอกลักษณ์แล้ว ใครเห็นจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นตุ๊กตาในโครงการ Happy Dolls ซึ่งลักษณ์เป็นคนออกแบบจากความสร้างสรรค์ของเธอเอง เมื่อจู่ๆ วันหนึ่งมีคนมาบอกเธอว่า ตุ๊กตาที่เธอออกแบบมีหน้าตาเหมือนกับตุ๊กตาของอีกโครงการหนึ่ง   แวบแรกที่ได้ยิน เธอยอมรับว่า “ตัวตน” ของเธอกำลังถูกทดสอบด้วยความรู้สึกบางอย่าง ทว่า หลังจากก้าวข้ามแรงยึดติดในตัวตนไปได้ หัวใจของเธอก็รู้สึกโปร่งเบาอย่างมีอิสระอีกครั้ง

ถ้าคิดในมุมมองคนออกแบบ เราย่อมเสียความรู้สึกเพราะโดนลอกเลียนแบบ แต่ถ้าคิดในมุมของเด็ก ทุกคนมีความสุขที่ได้รับตุ๊กตาจากผู้ตั้งใจทำให้ พอคิดแบบนี้ปุ๊บ เรารู้สึกปลดปล่อยเลย เพราะเราเองไม่มีทางทำตุ๊กตาแจกเด็กทั้งโลกได้ ใครอยากทำก็ทำเถอะ เพราะสุดท้ายเด็กก็มีความสุขเหมือนกัน

หลังจากก้าวข้ามทะเลใจของตนเองไปได้แล้ว ลักษณ์ยังสามารถเปลี่ยนมุมมองจาก “ความเสียใจ” เป็น “ความภูมิใจ”  แปรผัน “แรงยึดติดตัวตน” สู่ “แรงบันดาลใจ” ให้ผู้อื่นก้าวเดินตามอย่างมีความสุข

“พอเราก้าวข้ามจุดนี้ไปได้ รู้สึกเบาเลย พอมองต่อไปว่า เราควรจะดีใจด้วยซ้ำที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากทำเหมือนเรา เราค้นพบความสุขระหว่างที่เราทำงาน ถ้าคนอื่นทำแล้วมีความสุขก็เป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นสิ่งดีงาม อยากให้มาทำกันเยอะๆ เลย ถ้าใครสามารถออกแบบตุ๊กตาในสไตล์ของตัวเองได้ก็จะยิ่งดีเพราะคุณจะยิ่งรู้สึกภูมิใจที่เห็นเด็กถือตุ๊กตาที่คุณออกแบบ และเด็กๆ จะได้มีตุ๊กตาน่ารักๆ หลากหลายรูปแบบไว้เล่น โลกนี้ก็จะเต็มไปด้วยรอยยิ้มเพิ่มมากขึ้น”

จวบจนวันนี้นับเป็นเวลาเจ็ดปีแล้วที่ลักษณ์ก้าวเดินบนเส้นทางของตนเองอย่างมีความสุข แม้ว่าจะเคยถูกปมด้อยหันเหเส้นทางให้เป็นสาวออฟฟิศอยู่นานนับสิบปี แต่เมื่อย้อนมองกลับไปแล้ว เธอกลับไม่เคยรู้สึกเสียดายวันเวลาเหล่านั้น เพราะทุกอย่างในชีวิตคือการเรียนรู้เพื่อการเติบโตเป็นตัวเธอในวันนี้

เราไม่เคยรู้สึกว่าที่ผ่านมาเราหลงทางไปเป็นคนทำงานออฟฟิศมาก่อน เพราะคนเราสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่ไม่ชอบก็ได้ แต่ละคนมีเส้นทางการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน จุดดีในสิ่งที่เราดูเหมือนไม่ชอบก็มีอะไรที่เป็นประโยชน์กับชีวิตมากมาย อย่างตอนทำงานกับบริษัทคอมฯ ก็ช่วยให้เรารู้จักการทำงานเป็นระบบ ถ้าเราไม่เคยมีการเรียนรู้เรื่องนี้ เราก็จะหลงทางไปมากกว่านี้ก็ได้

ตรงกันข้าม เธอยังมองเห็นความโชคดีของชีวิตที่มีโอกาสก้าวเดินบนถนนสองสาย ทั้งสายงานออฟฟิศและงานสายพัฒนามาก่อนจะเริ่มโครงการ Happy Dolls เพราะนั่นทำให้เธอได้เรียนรู้การมองโลกที่แตกต่างกัน

ช่วงทำงานพัฒนาเจอคนเยอะขึ้น เราจึงเริ่มเห็นมิติของความงามที่แตกต่างกัน คนทุกคนมีมุมสวยของตนเอง ไม่จำเป็นต้องสวยมาตรฐาน แล้วเราก็เริ่มปลดล็อคจากการฟังเสียงคนอื่น หันมาฟังเสียงตนเอง เริ่มหยิบดินสอมาวาดรูปตุ๊กตาในแบบของตนเอง จนตอนหลังยังแอบขำที่มีคนเข้าใจผิดว่าเราเรียนสายอาร์ต (พูดแล้วหัวเราะ) รู้สึกว่า เราเสพความงามในมุมมองที่กว้างขึ้น ทุกวันนี้มองความสวยกว้างมาก แล้วก็มีความสุขง่ายขึ้น ไม่ต้องฟังเสียงคนอื่นที่มาวิพากษ์วิจารณ์เรามากนัก ยิ่งทำงานไป เราก็ได้ยินเสียงตัวเองชัดขึ้น”

ขอบคุณภาพประกอบจากเพจ Happy Dolls Project มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

งานจิตอาสา

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save