ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ ผู้ส่งมอบ “ฟาร์มสุข” ผ่านไอศกรีม
เมื่อเอ่ยถึง “ไอศกรีม” หรือ “ไอติม” ทุกคนคงนึกถึงความสุขและรอยยิ้มระหว่างการลิ้มรสความหวานเย็นชื่นใจ ไอศกรีมจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขของมนุษย์อย่างหนึ่ง ยิ่งสำหรับเด็กๆ แล้ว ไอศกรีมแสนอร่อยยี่ห้อดังย่อมเป็นที่ปรารถนาให้ได้สัมผัสที่ปลายลิ้นยิ่งนัก
ตามปกติ เวลาใครอยากเลี้ยงเด็กตามสถานสงเคราะห์ต่างๆ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงไอติมกะทิสดสีขาวถังใหญ่เพราะราคาเหมาะสมกับการเลี้ยงเด็กจำนวนมาก เด็กๆ จึงได้กินไอติมสีขาวโพลนหวานมันกันจนชินลิ้น
ลองคิดดูว่า ถ้าวันหนึ่งมี “ใครสักคน” ลงมือทำไอศกรีมที่ผลิตด้วยวัตถุดิบชั้นดี พร้อมท็อปปิ้งแบบจัดเต็มเหมือนร้านไอศกรีมชื่อดังไปแจกเด็กเหล่านี้ แววตาของเด็กน้อยจะมีความสุขมากเพียงใดยามปลายลิ้นได้สัมผัสรสชาติที่แตกต่างออกไปจากเดิม
ลองคิดดูว่า ถ้าเหตุการณ์ต่อมาหลังจากนั้นมี “ใครสักคน” ชวนเด็กในสถานสงเคราะห์ที่เคยกินไอติมแสนอร่อยมาเป็นผู้ผลิตไอติมขายให้คนอื่นได้ลิ้มรส แถมมีรายได้เลี้ยงตนเอง แววตาของเด็กเหล่านี้จะยิ่งทวีคูณความสุขมากมายเพียงใด
เรากำลังจะพาคุณไปรู้จัก “ใครคนนั้น” ผู้สร้างแววตาแห่งความสุขให้เด็กน้อยเหล่านี้และยังส่งต่อ “ฟาร์มสุข” ผ่านไอศกรีมให้กับผู้คนในสังคมอีกมากมายมาตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา เขาคือชายหนุ่มผู้มีชื่อว่า “ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ”
มนต์รักไอติม
“เวลาเหนื่อยเราชอบกินสองอย่าง คือ น้ำปั่นกับไอติม ชอบไอติมมากขนาดกินได้เป็นกะละมังเลย”
“ชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ” หรือ “บอม” เปิดบทสนทนาด้วยการเอ่ยถึงของกินสุดโปรดอย่างมีอารมณ์ขันจนเราไม่อยากเชื่อว่า เรื่องราวที่ได้ฟังหลังจากนั้นจะตรงข้ามกับบุคลิกในวันนี้ของเขาอย่างสิ้นเชิง
“เมื่อก่อนเราไม่เคยสนใจงานแนวช่วยเหลือสังคมเลย เพราะเติบโตมาในครอบครัวยากจน แม่มักจะสอนว่า ทำงานให้รวยนะลูก เราเคยทำงานบริษัทโฆษณา วิ่งรอกทำงานสองแห่ง เงินเดือนหลักแสน”
สีหน้าชายหนุ่มอารมณ์ดีเริ่มคิ้วขมวดเมื่อเริ่มย้อนอดีต
มีอยู่วันหนึ่งเราถูกลูกค้าตำหนิแรงมาก ตอนนั้นโกรธจัดขนาดซื้อไอติมกินทั้งกะละมังก็เอาไม่อยู่แล้ว พอเดินผ่านร้านขายเครื่องทำไอติมราคาสามหมื่นกว่า ตัดสินใจควักเงินซื้อเดี๋ยวนั้นเลย พอซื้อมาแล้วก็เกิดกลัวแม่บ่นว่าใช้เงินเปลือง เลยบอกแม่ว่า ซื้อเครื่องทำไอติมเพราะอยากทำไปบริจาคเด็ก ตั้งใจว่าจะทำแค่ครั้งเดียวให้จบๆ ไปก็พอ เพราะไม่เคยคิดเลิกทำงานโฆษณามาทำไอติมขายเลย คิดว่าเราคงรวยขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นเริ่มมีรถมีบ้านแล้ว ฐานะค่อนข้างโอเคเลย
ก่อนหน้านั้นบอมเคยเข้าคอร์สอบรมทำไอติมและทดลองทำกินเองเล่นๆ ที่บ้าน โดยเลือกสูตรไอติมไม่หวานจัดเพราะครอบครัวมีประวัติเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน เมื่อต้องลงมือทำไอติมไปบริจาคเด็กกำพร้าจึงนำสูตรที่เก็บไว้มาลองทำดู โดยเลือกใช้วัตถุดิบชั้นดีและมีท็อปปิ้งทุกอย่างครบเหมือนไอติมยี่ห้อดังเพราะอยากให้เด็กด้อยโอกาสมีโอกาสกินไอติมดีๆ บ้าง หลังจากตั้งใจทำไอติมอย่างสุดฝีมือได้จำนวนร้อยกว่าถ้วย เขาก็หอบหิ้วไปบริจาคด้วยตนเอง แล้วนั่งมองดูเด็กสัมผัสปลายลิ้นลงบนเนื้อไอติมที่เขาตั้งใจทำอย่างมีความสุข โดยไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า นับจากวันนั้นเป็นต้นมาเขาจะถูกอานุภาพของ “มนต์รักไอติม” เบนเข็มชีวิตไปสู่เส้นทางที่เขาไม่เคยคิดฝันมาก่อน
ตอนที่เห็นแววตาเด็กกินไอติมด้วยความสุขมากๆ เรารู้สึกปลื้มใจจนเกิดคำถามย้อนกลับมาที่ตัวเองว่า นี่ขนาดเรามีทั้งบ้าน ทั้งรถ เรายังไม่มีแววตาที่มีความสุขแบบเด็กที่กินไอติมเราเลย นาทีนั้นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เข้าใจคำว่า ความสุขจากการให้มันแบบนี้เอง เมื่อก่อนฟังแล้วไม่เคยอินกับประโยคนี้เลย
ด้วยความปลื้มปิติ คืนนั้นบอมจึงโพสต์เฟสบุ๊คบอกเล่าให้เพื่อนฟังว่า การทำไอติมดีๆ ไปให้เด็กกินแล้วมีความสุขมาก และอยากชักชวนเพื่อนๆ บริจาคไอติมดีๆ ให้เด็กกินกันเยอะๆ
“เราโพสต์ไปว่า ถ้าเรารักเด็ก ทำไมเราไม่ทำของดีๆ ให้เด็กกิน ครูที่บ้านเด็กกำพร้าบอกว่า เด็กได้กินแต่ไอติมกะทิรสชาติหวานจัดทุกเสาร์อาทิตย์จนจะเป็นเบาหวานกันอยู่แล้ว เพื่อนเลยบอกว่า ถ้าคิดว่าเราทำดีแล้วก็ทำต่อไปสิ”
หลังจากนั้น “มนต์รักไอติม” ก็เริ่มนำพาเงินบริจาคและผู้คนอีกมากมายมาเป็นจิตอาสาร่วมทำไอติมแจกเด็กด้อยโอกาส จากเด็กตามสถานสงเคราะห์ขยายสู่เด็กตามโรงพยาบาล ส่งต่อความสุขไปจนทั่วทุกสารทิศภายใต้ชื่อโครงการ “Scoop the love”
ชายหนุ่มนักโฆษณาเริ่มเปลี่ยนแปลงเป้าหมายชีวิตจากการเก็บเงินเพื่อสร้างความร่ำรวยให้ตนเองสู่การแบ่งปันความสุขให้ผู้อื่น เขาลดการทำงานจากสองบริษัทเหลือเพียงแห่งเดียวเพื่อใช้เวลาหลังเลิกงานกลับไปทำไอติมไว้บริจาคเด็ก เพราะนอกจากจะทำให้เด็กมีความสุขแล้ว เขายังได้ค้นพบการเติมเต็มความสุขให้ตนเองด้วยเช่นกัน
ตอนนั้นชีวิตมีความสุขมาก เหมือนเราไปอยู่อีกโลกหนึ่งเลย เป็นโลกที่มีคนถ้อยทีถ้อยอาศัย ได้อยู่ท่ามกลางคนจิตใจดีๆ ที่มารวมตัวกัน รู้สึกมีความสุข เหมือนได้ชาร์จแบตไปทำงาน
หากเราเชื่อว่า ชีวิตไม่มี “เรื่องบังเอิญ” เส้นทางชีวิตของชายหนุ่มคนนี้ก็คงถูกกำหนดมาแล้วเช่นกันว่า อาชีพนักโฆษณาเป็นแค่เพียง “ทางผ่าน” ให้เขาได้รับ “บททดสอบทางอารมณ์” เพื่อนำพาเขาไปสู่เส้นทางใหม่ เพราะหากเขาไม่ได้โกรธลูกค้าโฆษณาในวันนั้น ไอติมถ้วยแรกก็คงไม่ได้ถูกผลิตขึ้น และนำพาชีวิตหักเหเข้าสู่เส้นทางนักธุรกิจเพื่อสังคมในเวลาต่อมา
หลังจาก “มนต์รักไอติม” เริ่มขยายตัวมากขึ้นจนเงินบริจาคหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก บอมจึงเริ่มคิดหาทางจัดการเงินบริจาคให้เป็นระบบมากขึ้น เมื่อทาง สกส. (สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ) ติดต่อมาให้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมเรื่องการทำธุรกิจเพื่อสังคมหลักสูตร 6 เดือน เขาจึงสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อนำความรู้มาพัฒนาการผลิตไอติมอย่างยั่งยืนมากขึ้น ก่อนจบโครงการอบรมทุกคนต้องเขียนแผนการทำธุรกิจเพื่อสังคมออกมาหนึ่งชิ้น
บอมนำเสนอโครงการชื่อ “ฟาร์มสุขไอศกรีม” เปลี่ยนจากผลิตไอศกรีม “เพื่อบริจาคเด็กด้อยโอกาส” เป็น “สร้างโอกาส” ให้เด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศตามสถานสงเคราะห์ได้กลายเป็นผู้ผลิตไอศกรีมมีรายได้เลี้ยงตนเอง โดยเขาทำหน้าที่ด้านการตลาดนำไอศกรีมออกจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไป ผลปรากฎว่าโครงการได้รางวัลผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมสาขาอาหาร พร้อมเงินสนับสนุนเริ่มต้นหนึ่งแสนบาท เมื่อรวมกับเงินบริจาคอีกหนึ่งแสนบาท เขาจึงสามารถเริ่มต้นธุรกิจฟาร์มสุขไอศกรีมโดยไม่ได้คิดฝันมาก่อน
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา “มนต์รักไอติม” ได้แสดงอานุภาพเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของหนุ่มนักโฆษณาเงินเดือนหลักแสนให้กลายเป็นนักธุรกิจเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว และในเวลาต่อมายังแสดงอานุภาพเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวที่เคยห่างเหินให้กลับมาผูกพันใกล้ชิด รวมทั้งนำพาชายหนุ่มที่เคยหนีออกมาจากบ้านมานานหลายปีคืนกลับสู่อ้อมอกแม่ด้วยความรักและความเข้าใจอีกครั้ง
เวทมนตร์แห่งการฟังอย่างลึกซึ้ง
“เมื่อก่อนเราไม่เคยรู้สึกกับปัญหาสังคมอะไรเลย แต่หลังจากเข้าไปสอนเด็กด้อยโอกาสทำไอติมขาย เราจึงเริ่มมีโอกาสได้คุยกับเด็กที่มีปัญหาเพิ่มมากขึ้น แล้วเกิดคำถามว่า มีอะไรที่ดีกว่าการทำไอติมไปบริจาคเฉยๆ ไหม”
อดีตนักโฆษณาเล่าถึงจุดเปลี่ยนความคิดหลังจากเริ่มโครงการฟาร์มสุขไอศกรีม ความสนิทสนมนำไปสู่ความไว้ใจจนทำให้เขาได้รับฟังเรื่องราวเด็กถูกทารุณทางเพศมากขึ้นเรื่อยๆ และเริ่มมองเห็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครอบครัว รวมทั้งได้ย้อนกลับมามองความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับแม่ ซึ่งขณะนั้นเขาหนีออกจากบ้านมาใช้ชีวิตเพียงลำพังอยู่นานหลายปี โดยไม่เคยติดต่อกลับไปหาแม่เลยสักครั้งเดียว
ยิ่งเราคุยกับเด็ก เราก็ยิ่งเห็นตัวเราในเด็ก เห็นว่าเราดื้อมาก โคตรซนเลย โชคดีนะที่เราไม่เกิดเป็นผู้หญิง ไม่งั้นคงถูกข่มขืนไปแล้ว
ขณะที่เขาเริ่มต้นสนใจปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่นั้น โชคชะตาก็นำพาให้เข้ารับการอบรมเรื่อง “การฟังอย่างลึกซึ้ง” หรือ Deep Listening โดยมี อ.ธนัญธร เปรมใจชื่นทำหน้าที่เป็นกระบวนกรภายใต้การสนับสนุนโดยธนาคารจิตอาสา
“การฟังอย่างลึกซึ้งคือการฟังเพื่อเข้าใจ เบื้องหลังคำพูดมีความรู้สึกอะไรซ่อนอยู่ เช่น ถ้ามีคนพูดว่า “อย่ามายุ่งกับฉัน” ไม่ได้แปลว่า เขาไม่ต้องการให้มายุ่งจริงๆ หลังจากนั้น เราก็เริ่มสนุกกับการฟัง กลายเป็นคนใช้เรื่องนี้โดยไม่รู้ตัว ตอนแรกที่รุ่นน้องในทีมงานธนาคารจิตอาสาชื่อนุกโทรมาชวน เราไม่เชื่อเรื่องนี้เลย คิดว่าเป็นลัทธิอะไรหรือเปล่า แต่ก็อยากลองไปดูว่าจะเป็นยังไงเพราะนุกเซ้าซี้เหลือเกิน(พูดแล้วหัวเราะตาม)”
หลังจากจบการอบรม บอมค้นพบว่า “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัวเด็กเมื่อมีใครสักคนเริ่มรับฟังอย่างเข้าใจ นาทีนั้น เขาเริ่มย้อนกลับมาตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวตัวเอง จนมองเห็น “หนทางกลับบ้าน” อีกครั้ง โดยเลือกใช้การฟังอย่างลึกซึ้งเป็น “ไฟฉาย” นำทาง
วันหนึ่งเราเกิดคำถามว่า ทำไมเราไม่เคยลองใช้การฟังอย่างลึกซึ้งกับแม่เลย มันจะแก้ปัญหาเรากับแม่ได้ไหม ตอนนั้นมีคำถามที่ตัดสินใจแล้วไม่ลังเลเลย คือ ระหว่างแม่กับเด็ก เรารักใครมากกว่ากัน คำตอบคือแม่ ถ้าวันหนึ่งเราเจอเพื่อนเก่า แล้วเพื่อนบอกว่า “บอมไม่รู้เหรอว่า แม่ตายไปห้าหกปีแล้ว” เราคงเสียใจมาก เลยตัดสินใจกลับบ้าน แต่จะไปแบบไม่เถียง จะตั้งใจฟังอย่างเดียว ดูสิว่าผลจะเป็นยังไง
ชายหนุ่มตัดสินใจกลับบ้านโดยไม่ลังเล แม้ในใจจะยังคงหวาดกลัวภาพจำสมัยเด็กที่มีต่อแม่ที่มีบุคลิกฉุนเฉียว พร่ำบ่น และดุด่าเขาทุกครั้งที่เจอหน้าก็ตามที
“กลับไปถึง แม่ทำกับข้าวให้กิน หลังจากนั้นแม่ก็เริ่มด่ายาวเลย เราไม่ได้เถียงสักคำ แต่นั่งฟังจนหูอื้อแดง หน้าร้อนผ่าว เหมือนข้างในเราเป็นภูเขาไฟ หลังจากนั่งดูความโกรธของตนเองสักพัก จู่ๆ ใจก็สงบนิ่ง จนเราถามตัวเองว่า เกิดอะไรขึ้นกับเรา มันรู้สึกเบา จิตใจมั่นคง จากหูอื้อด้วยความโกรธ นิ่งสงบจนได้ยินเสียงแม่พูดไปเรื่อยๆ ตอนนั้นรู้สึกเลยว่า ตัวเรามั่นคงมากๆ ในการที่จะรับฟัง บอกตนเองว่าเจ๋งว่ะ”
หลังจากลูกชายฟังแม่โดยไม่ปริปากเถียงสักคำเหมือนเมื่อก่อน ในที่สุด อารมณ์โมโหของแม่ก็สงบลงพร้อมกับคำพูดว่า “วันนี้บอมคุยสนุกดี” ทั้งๆ ที่ลูกชายไม่ได้พูดอะไรสักคำเดียว !
พอเราได้ยินประโยคนั้น เรารู้สึกว่านี่เป็นครั้งแรกในชีวิตหลังจากช่วงวัยรุ่นที่แม่บอกรักเรา ถึงแม้จะไม่ได้พูดออกมาว่ารัก แต่เราสัมผัสได้ว่าแม่กำลังบอกรักเรา นาทีนั้น เราบอกกับตัวเองว่า ต่อไปจะรับฟังแม่ด้วยวิธีนี้
นับจากวันนั้นเป็นต้นมา บอมก็เริ่มรู้วิธี “ทลายกำแพง” ระหว่างแม่ลูกลงทีละน้อยด้วยการเตรียมสมุดบันทึกไว้ข้างตัว ทุกครั้งที่แม่เริ่มพร่ำบ่น เขาจะลงมือจดสิ่งที่แม่พูดโดยไม่เถียง สี่เดือนผ่านไปกำแพงหนาทึบที่กั้นกลางระหว่างสองแม่ลูกก็พังทลายลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อบอมได้ยินประโยคที่ไม่เคยฟังมาก่อนเลยในชีวิต
“แม่ถามว่า บอมคิดยังไงลูก เราเริ่มรู้สึกว่า แม่ประหลาดแล้ว เพราะอยู่บ้านเดียวกันมาทั้งชีวิต แม่ไม่เคยถามความคิดเห็นลูกเลย หลังจากนั้นเราก็เอาสมุดเล่มแรกที่จดไว้มาให้แม่ดู แล้วบอกว่า แม่กังวลกับเรื่องอะไรบ้าง แล้วค่อยๆ อธิบายเรื่องที่แม่เข้าใจผิดทีละเรื่อง มันเป็นครั้งแรกที่แม่เริ่มฟังเสียงของลูกบ้าง หลังจากแม่รู้สึกว่าลูกฟังเขามามากพอแล้ว เรารู้สึกเลยว่า เราโชคดีมากที่ได้เรียนรู้เรื่องการฟังอย่างลึกซึ้งและสามารถนำมาใช้กับความสัมพันธ์ที่ยากที่สุดคือแม่”
ในเวลาต่อมา เวทมนต์วิเศษจากการฟังอย่างลึกซึ้งยังทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้ชายคนนี้ตามมาอีกหลายอย่าง จากคนอีโก้แรงจัด ไม่เคยรับฟังใคร ไปไหนไม่มีเพื่อนอยากคบหา กลายเป็นคนที่พร้อมจะรับฟังคนอื่นและเป็นที่รักของคนรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อก่อนเราคิดว่า ความสัมพันธ์มีไว้เพื่อหาผลประโยชน์ เรามีอีโก้กับทุกเรื่องในชีวิต พอเราใช้เรื่องการฟังลึกซึ้งกับคนรอบข้าง เขาเริ่มรู้สึกดีกับเรา เพราะเรามีความเป็นมนุษย์มากกว่าเพราะเราเป็นคนเก่ง
อานุภาพจากการฟังอย่างลึกซึ้งที่เขาได้สัมผัสในเวลาต่อมา คือ การรับฟังและให้อภัยความผิดพลาดของตนเอง
“เมื่อก่อนไม่กล้าบอกใครว่า เราไม่เก่ง ทำไม่เป็น ไม่กล้าร้องไห้ เพราะกลัวไม่มีที่ยืนในสังคมนี้ แต่ตอนไปอบรมเรากล้าร้องไห้ออกมา นั่นเป็นจุดหนึ่งที่กระแทกใจเราอย่างแรง ทุกวันนี้ เรายังมีอีโก้อยู่บ้าง แต่รู้สึกว่า เราทำผิดได้นะ ถึงทำผิดก็ยังมีคนรักเราอยู่”
ไอติมชิมความสุข
ตลอดเจ็ดปีที่ผ่านมา เส้นทางชีวิตของบอมเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแบบที่เขาเองไม่เคยคาดคิดมาก่อน จาก “มนต์รักไอติม” ถ้วยแรกที่ลงมือทำอย่างตั้งใจได้แสดงอานุภาพแห่งความรักไปสู่ผู้คนมากมายมาจนถึงอานุภาพจาก “การฟังอย่างลึกซึ้ง” ทำให้เขาได้กลับบ้านไปกอดแม่อย่างอบอุ่นอีกครั้ง เมื่อชีวิตเต็มอิ่มไปด้วยความสุขจากความสัมพันธ์รอบด้าน เขาจึงเริ่มมีแรงบันดาลใจอยากเห็นความสัมพันธ์ภายในครอบครัวอื่นอบอุ่นมากขึ้นบ้าง ชายหนุ่มจึงลองนำ “มนต์รักไอติม” มาผสมผสานกับ “การฟังอย่างลึกซึ้ง” จนกลายเป็นกิจกรรมที่มีชื่อว่า “ไอติมชิมความสุข” เพื่อสานความรักความเข้าใจในครอบครัว โดยเริ่มจัดเป็นครั้งแรกที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน
ปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้น ถ้าครอบครัวอบอุ่น พ่อแม่รับฟัง เด็กก็ไม่ต้องไปปรึกษาเพื่อน เด็กก็เหมือนเราในอดีต คิดว่าพ่อแม่ไม่รัก เราอยากนำประสบการณ์ตรงมาแบ่งปันสู่ครอบครัวอื่นบ้าง ตอนจัดครั้งแรก ทุกคนจะมุ่งมั่นกับการมาทำไอติม แต่จริงๆ แล้ว กิจกรรมเรามีครึ่งวัน และอยู่กับไอติมแค่ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น เวลาที่เหลือเราต้องการให้เขารับฟังกัน
แม้ว่าตอนจัดกิจกรรมครั้งแรก ผู้เข้าร่วมจะมาเพราะเหตุผลอยากทำไอติม แต่หลังจากผ่านกิจกรรมการรับฟังอย่างลึกซึ้ง หลายครอบครัวเริ่มเรียนรู้วิธีการรับฟังกันมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การจัดกิจกรรมครั้งต่อมาได้รับความสนใจจนมีคนสมัครเต็มแน่นทุกรอบ บอมถ่ายทอดถึงความประทับใจจากการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกในครอบครัวพ่อแม่ลูกได้รับฟังกันด้วยหัวใจว่า
“เวลาจัดกิจกรรม เด็กกล้าพูดเยอะสุด ส่วนพ่อพูดน้อยสุด บางคนนั่งนิ่ง เพราะปกติผู้ชายจะไม่ชอบกิจกรรมทำนองนี้ แต่ปรากฏว่า พอจบกิจกรรมพ่อหลายคนเดินมาขอบคุณเรา เด็กบางคนบอกว่า ดีจังไม่ได้คุยกับพ่อมาอาทิตย์หนึ่งแล้ว กิจกรรมนี้ทำให้ลูกได้คุยกับพ่อมากขึ้น หรือในช่วงกิจกรรมสุดท้ายทุกคนจะได้รับแจกกระดาษเพื่อเขียนสิ่งที่อยากขอบคุณและขอโทษคนครอบครัว เด็กบางคนบอกว่า หนูขอโทษด้วยที่หนูดื้อ ถ้าเด็กคนไหนยังพูดไม่เป็นก็จะวาดรูปแทน แม่คนหนึ่งพูดว่า เราเริ่มต้นกันใหม่ได้ไหมลูก พอได้ยินแม่พูดแบบนี้ เราก็จะรีบช่วงชิงโอกาสนี้พูดให้กำลังใจว่า ลูกของแม่ต้องเป็นคนให้อภัยคนอื่นได้แน่ๆ เลยเพราะมีแม่เป็นตัวอย่าง ตอนท้ายเราจะสรุปว่า อยากให้ทุกคนมีพื้นที่รับฟังกันทุกวันแบบนี้ในบ้าน”
หลังจากใช้ไอติมเป็นสื่อรักสร้างสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกให้กลับมาเข้าใจกันจนประสบความสำเร็จเกินคาดแล้ว บอมจึงเริ่มนึกถึงคนวัยสูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่สังคมส่วนใหญ่มักมองข้ามไป และเป็นกลุ่มสำคัญที่ใกล้ชิดกับเด็กในยามที่พ่อแม่ออกไปทำงานปล่อยให้เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย
เราอยู่กับเด็กด้อยโอกาสที่ทำไอติม พอเด็กออกจากบ้านพักพิงกลับบ้านไปอยู่บ้าน เด็กส่วนใหญ่ต้องอยู่กับผู้เฒ่าผู้แก่เพราะพ่อแม่ไปทำงาน ถ้าคนสูงอายุรับฟังเป็น เด็กจะมีที่พึ่งที่ดีมาก เราอยากทำเรื่องที่ป้องกันปัญหา ทำยังไงก็ได้ที่ให้ครอบครัวเข็มแข็ง ให้เด็กมีที่พึ่ง ไม่ไปทำผิดซ้ำอีก เลยอยากทำเรื่องนี้กับผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น
กิจกรรมกับกลุ่มผู้สูงอายุจึงเริ่มต้นแบบสองวันเต็มที่สวนโมกข์กรุงเทพเป็นแห่งแรกและจบลงด้วยเสียงหัวเราะและน้ำตาแห่งความสุข ทำให้เขาค้นพบคำตอบสำคัญว่า ทุกคนล้วนต้องการการรับฟังอย่างลึกซึ้งไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหนก็ตาม
เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงชีวิตช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา บอมมองเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาสรุปบทเรียนชีวิตตนเองให้ฟังว่า
“การเปิดรับทุกอย่างทำให้ตัวเราเป็นธรรมชาติ มันคงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะแตกดับไป ต่อให้เราไม่อยากให้มันเปลี่ยน เราก็ไปห้ามไม่ได้ บางครั้งยังมีความรู้สึกว่าเรามีอีโก้อยู่ แต่น้อยลงกว่าเมื่อก่อน เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าเราเก่ง เรามักจะใจหายทุกทีว่า เราเริ่มละเลยใส่ใจดูแลคนรอบข้างอีกแล้ว”
ในนาทีนี้ แววตาที่เคยเปี่ยมไปด้วยอีโก้ของนักโฆษณาเงินเดือนหลักแสนได้แปรเปลี่ยนเป็นแววตาขี้เล่นตามสไตล์คนอารมณ์ดีพร้อมจะมีความสุขแบบเรียบง่ายมากขึ้น เมื่อถามถึงความฝันในอนาคตว่าอยากเห็นตนเองเป็นอย่างไร นักธุรกิจเพื่อสังคมผู้ส่ง “ฟาร์มสุข” ผ่านไอศกรีม กล่าวด้วยรอยยิ้มปิดท้ายบทสนทนาในวันนี้ว่า
เราอยากเป็นคนแก่ที่โคตรจะน่ารัก มีคนรุ่นใหม่นึกถึงเวลาที่เขาไม่สบายใจ มีเพื่อนไปมาหาสู่เล่าเรื่องให้ฟัง อยากมองคนเป็นธรรมชาติมากขึ้น เราคงเข้าใจชีวิตและมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ
ขอบคุณภาพประกอบจากเฟสบุ๊คชัยฤทธิ์ อิ่มเจริญ