8 ช่องทางความสุข

มวยจีน…เส้นทางสู่การฝึกตนของหมอดิน

เมื่อพูดถึงมวยจีน คนส่วนใหญ่มักนึกการออกกำลังแบบที่เรียกกันว่า ไท่เก็ก(จีนแต้จิ๋ว) หรือไท่จี๋(จีนกลาง) สำหรับมวยจีนที่เรียกว่า “อี้เฉียน” (Yiquan) ซึ่งเป็นแนว “มวยจิต” เน้นสร้างความแข็งแกร่งจากภายในและใช้ท่าฝึกที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกายตอนเป็นเด็กอาจยังไม่ค่อยคุ้นหูนัก เพราะบ้านเรายังไม่มีการเปิดสอนมวยอี้เฉียนแพร่หลายนัก หนึ่งในคนไทยที่สนใจฝึกมวยจิตอย่างจริงจังมากว่าสิบปีที่ผ่านมา คือ “หมอดิน” หรือ ศิรฐเมฆา เวฬุภาค ผู้ให้การบำบัดรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนทิเบตจากประเทศอินเดียคนเดียวในเมืองไทยและผู้บำบัดด้วยคลื่นเสียง Crystal Singing Bowl แพทย์องค์รวมท่านนี้ได้ค้นพบความเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งสำคัญหลังจากทำการฝึกมวยจีนอี้เฉียนเมื่อสิบห้าปีก่อน และยังคงใช้การฝึกมวยจีนเป็นแนวทางรักษาสุขภาพทั้งกายและใจให้ตนเองและผู้ป่วยที่มาขอคำปรึกษามาจนถึงปัจจุบัน

.

• เมื่อได้ยินคำว่า “มวย” เราก็มักนึกถึง “คู่ต่อสู้” และการประลองกำลัง แต่มวยอี้เฉียนมีแนวคิดที่ลึกซึ้งกว่าการต่อสู้ ไม่ได้ต้องการเอาชนะ แต่ต้องการสร้างความแข็งแกร่งภายใน ะคู่ต่อสู้คนสำคัญที่สุดคือตนเอง มวยจีนแบบนี้ ฝึกเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายตนเอง เป็นศิลปะการต่อสู้กับตนเอง ไม่ได้ต้องการทำร้ายผู้อื่น แต่ดูแลสมดุลของตัวเรา

• องค์ประกอบของชีวิตมีสามฐาน คือ ฐานกาย ฐานอารมณ์ ฐานความคิด มวยจีนให้ความสำคัญกับ ฐานกาย ถ้าฐานกายแข็งแรงก็จะส่งผลต่อฐานอารมณ์ที่มีความสุข แล้วฐานความคิด เพื่อพูดคุยสื่อสารกับคนอื่นก็จะมีมากขึ้น

• การฝึกมวยจีนผสานการเคลื่อนไหวกับลมหายใจ การฝึกมวยอี้เฉียนต้องเปล่งเสียงระหว่างการฝึก เพราะเป็นกระบวนการหนึ่งในการขับถ่ายของเสียช่วยให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น

.

มวยจีนเปลี่ยนชีวิต

“ชีวิตผมเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังจากฝึกเรียนมวยอี้เฉียน ตอนเด็ก ๆ ผมเป็นคนไม่ค่อยกล้าแสดงออก เขินอายในการสื่อสารกับคนอื่น แต่หลังจากฝึกมวยอี้เฉียนซึ่งเป็นการฝึกความแข็งแกร่งของกายและจิตจนรู้สึกอิ่มจากภายในอย่างเต็มที่ ผมจึงเริ่มอยากแบ่งปันสิ่งที่เราเห็นว่ามีคุณค่าและเป็นประโยชน์สู่ผู้อื่นมากขึ้นเรื่อยๆ ”

หมอดินย้อนอดีตถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิตหลังจากเริ่มต้นฝึกฝนมวยจีนเมื่อตอนอายุ 14 ปีให้ฟัง เขาเกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อทำงานพัฒนาชุมชนกับองค์กรพัฒนาเอกชน และแม่มีอาชีพค้าขายในจังหวัดเชียงราย หลังจากเรียนจบประถม 6 เขาเริ่มเบื่อการเรียนรู้ในห้องสี่เหลี่ยมของระบบการศึกษาในโรงเรียน จึงลองขอพ่อแม่ลาออกเพื่อผจญภัยสู่โลกกว้างด้วยตนเอง

“ตอนนั้นผมเริ่มรู้สึกอยากทำอะไรที่แตกต่างจากการไปโรงเรียน จริงๆ แม่ไม่สนับสนุนให้ออกจากโรงเรียน แต่พ่อทำงานสายพัฒนาชุมชนแล้วก็เรียนไม่จบมหาวิทยาลัยเหมือนกันเลยบอกว่าให้ลองดูก็ได้”

หลังออกจากโรงเรียนไม่นาน เส้นทางชีวิตก็ชักนำให้ได้พบกับอาจารย์ฌานเดช พ่วงจีน ผู้ฝึกสอนมวยอี้เฉียนเดินทางจากกรุงเทพฯ มาพำนักอยู่ที่เชียงราย เด็กชายดินในขณะนั้นจึงเริ่มรู้จักมวยอี้เฉียนเป็นครั้งแรกและทำการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องวันละ 6-8 ชั่วโมงติดต่อกันประมาณครึ่งปี โดยหลังจากฝึกฝนได้เพียงสองเดือน อาจารย์ก็เริ่มให้ทดลองเป็นผู้ช่วยสอนผู้ฝึกใหม่ที่สวนสาธารณะในจังหวัดเชียงราย ซึ่งทำให้เขาเริ่มค้นพบความเปลี่ยนแปลงในตนเองมากขึ้นตามมา

“เหตุผลที่เลือกมวยจีนตอนแรก เพราะรู้สึกว่าเป็นศิลปะการป้องกันตัวที่ดูเท่ดี แต่หลังจากฝึกแล้วพบว่าการฝึกฝนร่างกายส่งผลต่อทักษะอื่นๆ ตามมา อาจารย์ท่านเห็นข้อจำกัดว่าเราเป็นคนขี้อาย ท่านจึงอยากให้เราเชื่อมั่นในตนเองมากขึ้น โดยให้ช่วยสอนผู้ฝึกใหม่ ท่านอธิบายให้ฟังว่า ในวันที่ร่างกายเราพัฒนาพร้อม เราจะเกิดความรู้สึกอยากแบ่งปันเอง ตอนแรกๆ ที่ลองสอนยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ แต่พอยิ่งสอนก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้น

หมอดินอธิบายถึงเหตุผลที่คนฝึกมวยจีนแนวกำลังภายในต้องเปล่งเสียงออกมาระหว่างการฝึกว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการขับถ่ายของเสียจากภายในทำให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น รวมทั้งการสร้างความมั่นใจในตนเองก็จะเพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน

ในกระบวนการฝึกจะมีการดึงพลังจากภายในเพื่อเปล่งเสียงออกมาให้ดัง ซึ่งจะช่วยขับของเสียจากภายในร่างกายออกมาผ่านแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงและลมหายใจ ถ้าเรายังไม่ค่อยมั่นใจ การเปล่งเสียงก็จะเบา การขับของเสียออกมาก็จะน้อย ช่วงแรกผมยังทำได้ไม่ดีนัก แต่หลังจากฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง การเปล่งเสียงจะเป็นธรรมชาติ ทำให้เราเกิดความมั่นใจในการพูด กล้าแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่ผู้อื่นตามมา

หลักการของมวยอี้เฉียนมองว่า องค์ประกอบของชีวิตมีสามฐาน คือ ฐานกาย ฐานอารมณ์ ฐานความคิด ถ้าเราสังเกตพัฒนาการของมนุษย์จะเห็นได้ว่า เด็กแรกเกิดจะใช้ร่างกายเยอะมาก พอเริ่มโตขึ้นเรื่อยๆ เราจะใช้ฐานกายน้อยลง ฐานอารมณ์ความรู้สึกจะค่อย ๆ ถูกพัฒนาขึ้น พอเริ่มเรียนสูงมากขึ้น ฐานความคิดจะค่อยๆ ถูกพัฒนามากขึ้นตามมา ส่วนฐานกายจะเริ่มใช้น้อยลง

หมอดินยกตัวอย่างความสัมพันธ์ของทั้งสามฐานให้ฟังว่า

ลองสังเกตดูตนเองว่า เวลาที่เราเจ็บป่วยเรามักไม่ค่อยอยากมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่อยากพูดคุยกับใคร เราอยากอยู่นิ่งๆ รอให้หายดีแล้วถึงอยากเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อพูดคุยกับคนอื่น เพราะถ้าฐานกายมีความแข็งแรงก็จะส่งผลต่อฐานอารมณ์ที่มีความสุขและฐานความคิดในการพูดคุยสื่อสารกับคนอื่นมากขึ้นตามมา

เมื่อได้ยินคำว่า “มวย” เรามักนึกถึง “คู่ต่อสู้” และการประลองกำลัง แต่สำหรับมวยอี้เฉียนมีแนวคิดที่ลึกซึ้งกว่าการต่อสู้ทั่วไป เพราะเป็นศาสตร์การต่อสู้ที่ไม่ได้ต้องการเอาชนะเพื่อให้คู่ต่อสู้บาดเจ็บ แต่ต้องการเอาชนะด้านความแข็งแกร่งของแรงกายคล้ายประลองกำลังภายใน และคู่ต่อสู้คนสำคัญที่สุดคือตนเอง

หลักของมวยจีน จัดเป็น “มวยภายใน”   คือ เราฝึกเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายตนเอง เป็นศิลปะการต่อสู้กับตนเอง ถ้า “มวยภายนอก” จะเน้นการใช้แรงปะทะกัน แต่มวยภายในจะประลองกำลังจากการสัมผัส เช่น ใช้แรงผลักจากมือด้านทานกำลังอีกฝ่ายหนึ่ง เราจะวัดแรงของฝ่ายตรงข้ามว่า ถ้าเขาส่งแรงมาประมาณนี้ เราจะดำรงอยู่กับแรงนั้นยังไง เราไม่ได้ต้องการทำร้ายคนอื่น แต่เราต้องการดูแลสมดุลของเรา และดูแลสมดุลของเขา

หากเปรียบเทียบกับมวยไทยจากภายนอก นักมวยจะใช้กำลังของกล้ามเนื้อที่มีกล้ามเป็นมัดๆ เพื่อแสดงถึงความแข็งแกร่งของร่างกาย   แต่ผู้ฝึกฝนมวยจีนจากภายในจะมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อมากนัก เพราะกระบวนการฝึกฝนสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อคนละแบบ หมอดินอธิบายความแตกต่างของกล้ามเนื้อระหว่างมวยไทยและมวยจีน หรือมวยภายนอก และมวยภายในให้ฟังว่า

“มวยภายนอกจะใช้กำลังของกล้ามเนื้อ และน้ำหนักตัว จึงให้ความสำคัญกับการสร้างกล้ามเนื้อ แต่มวยภายในจะมองเรื่องความสอดคล้องกับแรงธรรมชาติ หรือแรงโน้มถ่วงของโลกอย่างสมดุล จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างกล้ามเนื้อ”

หลังจากหมอดินเป็นผู้ช่วยฝึกสอนมวยจีนให้กับผู้สูงอายุที่มาออกกำลังกายในสวนสาธารณะจังหวัดเชียงรายเป็นเวลาหลายเดือน วันหนึ่งเขาก็ได้พบกับคำถามใหม่ในชีวิต ซึ่งทำให้เขาเริ่มออกเดินทางไกลเพื่อค้นหาคำตอบให้ตนเองอีกครั้ง

“มีอยู่วันหนึ่งอาซิ้มที่มาฝึกมวยจีนเดินมาขอบคุณอาจารย์กับผม บอกว่า เขาไปตรวจสุขภาพมาแล้วดีขึ้น เช่น ค่าน้ำตาลดีขึ้น ความดันและอาการปวดเข่าลดลง ผมจึงเริ่มเกิดคำถามว่า มวยจีนเข้าไปทำให้ร่างกายดีขึ้นได้อย่างไร อาจารย์จึงเอาหนังสือการแพทย์แผนจีนมาให้อ่าน ทำให้ผมเริ่มสนใจการแพทย์แผนตะวันออกที่เน้นการรักษาแบบองค์รวมมากขึ้น”

หมอดินเริ่มต้นศึกษาแนวแพทย์แผนทิเบต ณ ธรรมศาลา ประเทศอินเดียเป็นสถานที่แรก และในเวลาต่อมาได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้านการรักษาแบบองค์รวมอีกหลายด้าน ทั้งการจัดกระดูก รวมไปถึงการบำบัดด้วยคลื่นเสียง Crystal Singing Bowl เพื่อสร้างความสมดุลให้จิตใจ ปัจจุบันหมอดินจึงเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์องค์รวมและเป็นนักบำบัดด้วยคลื่นเสียงให้กับผู้สนใจการรักษาแนวธรรมชาติบำบัดหลายแห่ง

การแพทย์แผนทิเบต

หมอดินอธิบายถึงหลักการแพทย์ทิเบตให้ฟังว่า แนวคิดในการรักษาโรคมีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของภูเขาหิมาลัย ซึ่งมีทั้งทิเบต ภูฐาน หิมาลัย จีน มองโกล ในอดีตผู้คนที่อยู่ในประเทศเหล่านี้ได้มาสังคยนาการแพทย์ร่วมกัน ดังนั้นการแพทย์แผนธิเบตจึงเป็นการหลอมรวมการแพทย์สามศาสตร์เข้าด้วยกัน คือ การแพทย์แบบอายุรเวท การแพทย์แผนจีน และการแพทย์แบบอาหรับ และใช้หลักพุทธศาสนาเข้ามาช่วยอธิบายสาเหตุของการเกิดโรคมนุษย์

มนุษย์เจ็บป่วยจากความไม่รู้สามอย่างคือ โลภ โกรธ หลง เมื่อจิตใจเจ็บป่วย ร่างกายก็ได้รับผลกระทบ หมอทิเบตไม่ได้มีหน้าที่รักษาร่างกายให้หายจากอาการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ยังต้องหาวิธีแก้ ความไม่รู้ดังกล่าวและนำพาคนไข้ไปสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ด้วยเช่นกัน

วิธีการรักษาตามแนวแพทย์แผนธิเบตจะเริ่มตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยด้วยการแมะ (วัดชีพจรที่ข้อมือเหมือนแพทย์แผนจีน) เพื่อดูการทำงานจากธาตุภายในผ่านการจับชีพจร หลังจากนั้นจึงตรวจสภาพอื่น ๆ ของร่ายกายร่วมด้วย ตั้งแต่ตรวจลิ้น กระดูก ไปจนถึงการตรวจปัสสาวะ (ในกรณีที่จำเป็น) หลังจากพบอาการป่วยแล้ว หมอจึงเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมให้ ตั้งแต่การแนะนำยาสมุนไพร การจัดกระดูก ไปจนถึงการให้คำแนะนำในการบริหารร่างกาย และการกินอาหารที่ถูกต้องเพื่อให้การรักษาเป็นไปแบบองค์รวม

หมอทิเบตเชื่อว่าหลังจากสภาพร่างกายดีขึ้น จิตใจก็พร้อมจะค้นหาความจริง  เริ่มดูแลชีวิตในด้านอื่นๆ ดีขึ้น การรักษาจะไม่ได้จบที่ร่างกายหายเจ็บแล้วไม่ต้องเจอกัน แต่รักษาจิตใจควบคู่ไปด้วย หมอทิเบตไม่มีพยาบาล ต้องทำเองทั้งหมด ทุกสิ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเรา

หมอดินสรุปแนวทางการรักษาของแพทย์แผนทิเบตให้ฟัง หลังจากนั้นจึงเริ่มเล่าถึงเส้นทางการศึกษาองค์ความรู้อื่นๆ เพิ่มเติมในเวลาต่อมา

“อาจารย์ผมที่ทิเบตเป็นคนเปิดกว้าง ท่านเรียนรู้ตลอดเวลา ท่านบอกว่า ทุกสิ่งในโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เราไม่ต้องจำกัดตัวเองว่าเรียนอะไรมา แต่เราควรเปิดรับแล้วดึงสิ่งที่เป็นประโยชน์เข้ามาเพื่อดูแลคนป่วยตรงหน้าเราอย่างเต็มที่”

ด้วยเหตุนี้ หมอดินจึงมุ่งศึกษาศาสตร์การแพทย์องค์รวมเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งศึกษาการบำบัดด้วยคลื่นเสียงอัลฟา หรือ Crystal Singing Bowl เพื่อสร้างสมดุลทางด้านจิตใจให้กับผู้ป่วยอีกทางเลือกหนึ่ง

“การใช้คลื่นเสียง crystal singing bowl ช่วยทำให้คนเห็นอะไรบางอย่างในตนเอง ช่วงที่เราใช้คลื่นเสียงบำบัดจะประมาณ 45 นาที คลื่นจะเข้าไปทำให้เซลล์หรือน้ำในร่างกายมีความสบายมากขึ้น และจะเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะสมาธิอย่างเป็นธรรมชาติ บางคนอาจหลับไปเลย บางคนอาจมีโฟกัสความคิดที่ชัดเจนขึ้น ไม่คิดฟุ้งซ่านไปเรื่องต่างๆ ที่กังวลอยู่ เป็นการบำบัดรักษาโรคและการพักผ่อนอย่างหนึ่ง และสร้างกำลังใจให้คนที่เจ็บป่วยเรื้อรังเผชิญกับภาวะความเจ็บป่วยได้อย่างผ่อนคลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เคสผู้ป่วยมะเร็งขั้นสุดท้าย เขารู้สึกว่าความเจ็บป่วยเบาลง มันเป็นสภาวะหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยกลับมารู้สึกดีกับตนเอง”

จากประสบการณ์ให้คำปรึกษาสุขภาพตามแนวทางแพทย์ทิเบตตลอดเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา หมอดินพบว่า สิ่งที่ยากที่สุด คือ การทำให้คนป่วยมองเห็นตนเองว่า ความเจ็บป่วยเกิดจากความไม่รู้เรื่องอะไรบ้าง และสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยยังตกอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ คือ ความโลภ โกรธ หลง การทำให้ผู้ป่วยมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายและจิตใจ และหันมาดูแลทั้งสองด้านให้สมดุลกันจึงเป็นหนทางรักษาสุขภาพแบบองค์รวมนั่นเอง

มวยจีน…การคืนสู่ความเป็นเด็ก

ตลอดเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รู้จักมวยอี้เฉียน และก้าวเดินบนเส้นทางสายสุขภาพองค์รวม หมอดินยังคงฝึกฝนมวยจีนด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องและหาความรู้เพิ่มเติมจากบรรดาครูบาอาจารย์ที่มาเปิดอบรมตามสถานที่ต่างๆ อีกหลายท่าน ในกระบวนการให้คำปรึกษาสุขภาพ หมอดินนำการฝึกฝนมวยอี้เฉียนมาแนะนำผู้ป่วยด้วยเช่นกัน เพราะมองเห็นว่า มวยจีนจะทำให้ชีวิตกลับคืนสู่สมดุลทั้งกายและใจอีกครั้ง

 “ผมมักจะสอนคอนเซ็ปต์ของมวยจีนโดยทำให้ผู้ป่วยเห็นว่า จุดเริ่มต้นของการเห็นคุณค่าตนเอง คือ การเริ่มต้นลงมือทำอะไรบางอย่าง อาจมีการฝึกมวยบางท่า แล้วเขาอาจชอบท่านี้ ทำแล้วสบาย ก็จะเริ่มเห็นร่างกายตนเองดีขึ้น และเริ่มอยากฝึกฝนท่าอื่นๆ ตามมาเรื่อยๆ”

สาเหตุที่คนในสังคมปัจจุบันป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อและกระดูกกันเพิ่มมากขึ้น เพราะเราใช้กล้ามเนื้อฝืนกับแรงธรรมชาติ การฝึกมวยอี้เฉียนจึงช่วยลดอาการเจ็บป่วยเหล่านี้ได้เช่นกัน

ผู้คนทุกวันนี้ใช้ร่างกายสองข้างไม่เท่ากันทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ยกตัวอย่างเช่น โรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากสะโพกมีปัญหา นั่งเอียง นั่งไขว่ห้าง บิดตัวนั่งพับเพียบเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อสะโพกตึงไม่เท่ากัน ทำให้เวลายืน การรับน้ำหนักของเข่าสองข้างไม่เท่ากัน จนเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมตามมา ในกระบวนการฝึกมวยจีนจะสอนให้ใช้กล้ามเนื้อทุกมัดไปตามแรงธรรมชาติเพื่อไม่ให้ตัวเราต้านทานกับแรงโน้มถ่วงโลก

หัวใจสำคัญของการฝึกมวยอี้เฉียน คือ การกลับไปสู่การเคลื่อนไหวในวัยเยาว์

ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กตั้งไข่หัดเดิน เด็กจะโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ฝืนกับแรงโน้มถ่วงของโลก แต่พอเราโตขึ้นเวลาเราเดิน เราจะควบคุมการเดินด้วยกล้ามเนื้อหลังและสะโพก ส่งผลให้คนส่วนใหญ่เดินก้าวไปข้างหน้าแต่ตัวเอนไปด้านหลัง ทำให้กล้ามเนื้อหลังรับน้ำหนักมากเกินไป เกิดอาการปวดหลังตามมา เป็นต้น  ประโยชน์ของการฝึกมวยจีนอี้เฉียน คือ การปรับอริยาบถของร่างกายให้สมดุลเพื่อลดอาการเจ็บป่วยของร่างกาย โดยทุกคนสามารถใช้ท่าการฝึกมวยจีนเข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก ดังนี้

ท่ายืน เพื่อปรับท่าทางสร้างสมดุลร่างกาย ถ้าเราปรับท่ายืนพับสะโพกลงนิดนึง เปิดเข่า เราจะถ่ายแรงลงไปที่พื้น ไม่ให้กล้ามเนื้อหลังรับแรงกดมากเกินไป ตามปกติร่างกายของเราจะรับแรงกดจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นแรงโน้มถ่วงที่ดึงตัวเราลงตลอดเวลา เราต้องปรับร่างกายให้สมดุลอยู่กับแรงโน้มถ่วงนี้ให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจึงค่อยปรับท่าการเดิน

ท่าฝึกมวยจีนแบบท่ายืน

ท่าเดิน เวลาเดินให้นึกถึงเวลาเด็กตั้งไข่ ลำตัวจะโน้มไปข้างหน้า ก่อนก้าวขาให้พับสะโพกเล็กน้อย ทุกวันนี้ เรามักคุ้นเคยกับการเดินโดยการก้าวเท้าไปข้างหน้า แล้วตัวไปข้างหลัง แต่ถ้าเราเรียนรู้การใช้แรงธรรมชาติ เราจะให้พลังงานน้อยลง เราต้องโน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อให้การเดินของเราสอดคล้องกับแรงโน้มถ่วงของโลก คล้ายเวลาเดินขึ้นเขา เราจะโน้มตัวไปด้านหน้า เพื่อรักษาสมดุลขณะก้าว และเช่นเดียวกันในทางราบ หากเราทำให้ได้ กล้ามเนื้อหลังก็จะรับน้ำหนักน้อยลงไปด้วย

ท่านั่ง เราควรนั่งด้วยกระดูกรองนั่ง ใช้กระดูกแทนขาของเรา ให้กระดูกสัมผัสกับเก้าอี้ ช่วงไหล่และท้องหดลงเล็กน้อย คนส่วนใหญ่เวลานั่งหลังตรงจะต้องให้แนวกระดูกอยู่ในแกนเดียวกัน ถ้าทิ้งน้ำหนักมาข้างหน้าเล็กน้อย กล้ามเนื้อช่วงท้องจะช่วยรับน้ำหนัก น้ำหนักอีกส่วนจะถ่ายลงไปที่ขา อาการปวดหลังก็จะลดลง

ท่าฝึกมวยจีนแบบท่านั่ง
ท่าฝึกมวยจีนแบบท่านั่ง

ท่านอน ไม่ว่าเราจะนอนหงาย หรือนอนตะแครง ไม่ควรมีข้อต่อถูกกดทับ หรือพับงอมากจนเกินไป ปรับกระดูกสันหลังเหยียดตรง ควรมีหมอนหนุนรับกระดูกช่วงคอ ที่นอนไม่ควรนิ่มเกินไป และเพื่อสุขภาพการนอนที่ดีเราควรที่จะหมั่นบริหารคลายกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอ

ท่าฝึกมวยจีนแบบนอนฝึก

หมอดินอธิบายหลักการฝึกมวยจีนด้วยตนเองว่า “การจัดท่าต่าง ๆ ตอนแรกจะจำไม่ค่อยได้ แต่ถ้าเราฝึกบ่อยขึ้น เวลาเรายืน เดิน นั่ง นอน เราก็จะจัดท่าที่ถูกต้องได้เร็วขึ้น เราจะเริ่มเห็นรายละเอียดของท่าทาง ถ้าเราทำท่าแล้วไม่ประสานกัน เราก็จะยืนไม่มั่นคง ถ้าเราฝึกฝนบ่อย ๆ ร่างกายจะทำงานประสานกันก็จะช่วยรักษาสมดุลร่างกายได้ และถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ เราจะใช้ท่าทางที่ถูกต้องอยู่ในชีวิตประจำวัน อาการเจ็บป่วยต่างๆ ก็จะลดน้อยลง”

เนื่องจากปัจจุบันเมืองไทยยังไม่มีสถานที่ฝึกมวยอี้เฉียนที่แพร่หลายเหมือนการออกกำลังกายแนวอื่น หมอดินจึงมีความฝันอยากทำให้มวยจีนแนวนี้แพร่หลายในสังคมไทยมากขึ้นเพราะจะทำให้สุขภาพของคนไทยเข้าสู่ภาวะสมดุลและเจ็บป่วยน้อยลง

ทุกวันนี้ในเมืองไทย ถ้าอยากเรียนมวยจีนจะหาได้ที่สวนลุม หรือตามสวนสาธารณะ ผมอยากทำให้ศาสตร์การฝึกมวยจีนเป็นสิ่งที่สามารถฝึกได้ในชีวิตประจำวัน ทั้งการเดิน การนั่ง การนอน และทำให้เป็นเรื่องสนุก ไลฟ์ไสตล์ของคนรุ่นใหม่ ถ้าทำแบบนี้แล้วจะดูเท่ ดูดี เพื่อให้คนทั่วไปอยากเข้ามาฝึกกันให้มากขึ้น

ตลอดเวลากว่าสิบปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เด็กหนุ่มรูปร่างผอมบางขี้อายคนนี้ตัดสินใจออกจากรั้วโรงเรียนมาเผชิญโลกกว้าง ชีวิตของเขาได้ก้าวเดินบนเส้นทางการแพทย์แบบองค์รวมไกลขึ้นเรื่อย ๆ  บุคลิกของหมอดินในวันนี้จึงเต็มไปด้วยความมั่นคงจากภายในพร้อมแบ่งปันความรู้สุขภาพองค์รวมด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง

หมอดินบอกเล่าความเปลี่ยนแปลงในตัวเองนับจากอดีตถึงปัจจุบันให้ฟังว่า

“ตอนออกจากโรงเรียนใหม่ๆ ผมยังมองไม่เห็นทางข้างหน้าที่ชัดเจน มันเป็นภาพเบลอๆ คิดแต่ว่า โรงเรียนไม่มีอะไรที่ผมอยากเข้าไปหาความรู้ ผมก็เลยอยากออกมาหาความรู้ข้างนอก การเริ่มต้นเป็นครูสอนมวยจีน ทำให้ผมเริ่มมีความรับผิดชอบ จากเด็กที่นอนตื่นสาย หาอะไรทำไปเรื่อยตามที่ตนเองสนใจ เริ่มมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ พอมาเรียนแพทย์ตะวันออก ผมเริ่มเห็นภาพกว้างของชีวิต มีธงที่จะเดินไปมากขึ้น ผมเริ่มรู้สึกอยากดูแลผู้คน อยากแบ่งปันสิ่งที่เรามีต่อผู้อื่นมากยิ่งขึ้น”

.

(หมายเหตุ – สำหรับผู้สนใจร่วมกิจกรรมกับหมอดินสามารถติดต่อได้ที่เฟสบุ๊ค Tri retreat)

การเคลื่อนไหวร่างกาย

มวยจีน

8 ช่องทางความสุข

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save