หมอต้นไม้…เมตตาธรรมค้ำจุนโลกสีเขียว
เมื่อเอ่ยถึงอาชีพ “หมอต้นไม้” อาจเป็นคำที่เพิ่งเริ่มคุ้นหูคนไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่แท้จริงแล้ว อาชีพนี้มีมานานแล้วและในหลายประเทศให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น เพราะหน้าที่หลักของหมอต้นไม้ คือ การดูแลรักษาต้นไม้เก่าแก่ให้อยู่คู่กับชุมชนเพื่อทำหน้าที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของชุมชนให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้ สำหรับบ้านเราเพิ่งเริ่มได้ยินคำนี้ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาโดยมีศาสตร์จารย์กิตติคุณ เดชา บุญค้ำเป็นหมอต้นไม้รุ่นบุกเบิก และต่อมาอาจารย์บรรจง สมบูรณ์ชัย คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้นำแนวคิดหมอต้นไม้มาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ทำให้ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มหันมาใส่ใจต้นไม้โบราณ และเห็นความสำคัญของการรักษาต้นไม้ใหญ่เพื่อให้คนช่วยดูแลต้นไม้และต้นไม้ดูแลคนต่อลมหายใจให้กันและกันต่อไป ต้นไม้ดูแลคน คนดูแลต้นไม้
แนวคิดเกี่ยวกับหมอต้นไม้ คือ การดูแลต้นไม้เก่ามากกว่าการเน้นปลูกต้นไม้ใหม่ เพราะต้นไม้ที่มีอายุมากๆ จะมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของแต่ละชุมชนหรือพื้นที่แฝงอยู่ ถ้าเราเน้นเพิ่มต้นไม้รุ่นใหม่ แต่ไม่ดูแลรุ่นเก่าก็เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่สุด
อาจารย์บรรจงอธิบายแนวคิดเกี่ยวกับหมอต้นไม้ให้ฟัง พร้อมกับเล่าจุดเริ่มต้นของการเป็นหมอต้นไม้จิตอาสาเมื่อสิบปีก่อนว่า
“ผมเริ่มสนใจเรียนรู้การดูแลต้นไม้อย่างจริงจัง หลังจากได้เข้าร่วมเวิร์คชอปกับ ดร. ฮามาโน ชิคายาสึ ชาวญี่ปุ่นเมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมา ตอนนั้นท่านมาทำเวิร์คชอปที่เชียงใหม่หนึ่งเดือน ได้เรียนรู้ธีการดูแลต้นไม้ของชาวญี่ปุ่นที่ละเอียดอ่อนมาก เมื่อก่อนเราแค่ดูภายนอกว่า กิ่งหักก็เข้าไปตัด แต่อาจารย์ฮามาโนใช้สิ่ว เสียม มีด หรือแปรงเข้าไปปัด รวมถึงการตรวจสภาพที่อยู่ใต้ดินเพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้ต้นไม้ป่วยทำให้ผมเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมเมืองที่มีผลต่อสุขภาพต้นไม้มากขึ้น”
หลังจากนั้นเป็นต้นมามุมมองต่อต้นไม้ของอาจารย์บรรจงก็เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม โดยเฉพาะในแง่ความละเอียดอ่อนและใส่ใจรายละเอียดของต้นไม้ที่มิใช่แค่เพียงสิ่งที่มองเห็นจากภายนอก
ความรู้เรื่องแรกที่ถูกสอน คือ การมองรูปร่างของต้นไม้เหมือนเรามองคนผอม สูง อ้วน เตี้ย สมมติมองต้นฉำฉาหรือจามจุรีที่สมบูรณ์จริงๆ คือ รูปพัดที่เรากางออกมาเป็นโค้งครึ่งวงกลมสวยมาก ถ้าเราเจอต้นไหนที่ไม่ใช่ทรงนี้แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น และต้นไม้ในป่าธรรมชาติกับอยู่ในเมืองก็มีรูปร่างไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับเรื่องสภาพแวดล้อม
อาจารย์บรรจงสรุปวิธีการทำงานของหมอต้นไม้ให้ฟังว่า โจทย์ในการเริ่มต้นทำงานมีสามเรื่องด้วยกัน คือ หนึ่ง เรื่องความปลอดภัยต่อผู้คน เพราะถ้าต้นไม้ใหญ่ล้มทับคนหรือทรัพย์สินจะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นจึงต้องดูว่าต้นไม้อยู่ตรงไหนถึงปลอดภัย สอง เรื่องสุขภาพของต้นไม้กับสุขภาพของคน ถ้าต้นไม้สุขภาพดี สุขภาพคนก็ดีตามไปด้วย ต้องปลูกต้นไม้ยังไงเพื่อให้ร่มเงากับคนได้เยอะๆ สาม เรื่องความงามหรือสุนทรียภาพของพื้นที่
“ต้นไม้อยู่กับคนหรือคนอยู่กับต้นไม้ได้อย่างไรเป็นโจทย์ที่ยาก สิบปีที่ผ่านมามุมมองต่อเรื่องนี้ของผมเปลี่ยนไปจากเดิม มองต้นไม้เป็นต้นๆ ว่าชนิดนี้อยู่ยังไง ผมลืมมองบริบทอีกด้านหนึ่งคือคนและสังคม เพราะผมถูกสอนในสายดีไซน์ ซึ่งนักดีไซน์จะแตะเรื่องคนไม่เยอะเท่ากับสายสังคม เรามองเห็นคนเป็นลูกค้า ไม่ใช่ชุมชนหรือสังคมใหญ่
ตอนหลังผมมองเรื่อง ‘คนกับต้นไม้’ ว่าเป็นสิ่งที่ต้องพึ่งพากัน ถ้าเราไม่ไปรบกวนต้นไม้ เขาอยู่ได้ไม่รู้กี่ร้อยปี แต่พอคนไปยุ่งกับเขา หรือย้ายเขามาจากแหล่งกำเนิดเดิมเพื่อมาอยู่กับคนจะเป็นปัญหาทันที
ภารกิจหมอต้นไม้
ทุกวันนี้ ความเป็นเมืองหรือภาคธุรกิจที่ต้องก่อสร้างอาคารใหญ่ โรงแรม หรือรีสอร์ตทำให้เกิดความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ไปอยู่อีกทีหนึ่งซึ่งทำให้ต้นไม้มีโอกาสป่วยเป็นโรคง่ายมากขึ้น และบางต้นอาจเสียชีวิตหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเข้าใจ
จริงๆ นักออกแบบที่ดี ถ้าในพื้นที่มีต้นไม้เก่าแก่ ควรเสนอทางเลือกให้เจ้าของโครงการเก็บต้นไม้ไว้แล้วเอาต้นไม้ใหญ่มาเป็นจุดขายของโครงการแทน โดยใช้การออกแบบที่สอดคล้องกับลักษณะของต้นไม้ แต่มีนักธุรกิจไม่กี่รายที่อยากทำ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างเพิ่มขึ้นมา ซึ่งถ้าทำได้มันจะดีมาก ไม้จะเติบโตอยู่กับอาคาร แต่พอทำไม่ได้ ต้นไม้ก็จะถูกย้าย เพราะดีกว่าการถูกโค่นทิ้ง
เนื่องจากการเคลื่อนย้ายจำเป็นต้องตัดรากต้นไม้ออกไปประมาณ 9 ใน 10 ส่วน รวมทั้งตัดกิ่งก้านใบด้านบนให้เหลือขนาดที่สามารถขนย้ายได้ ยิ่งต้นไม้ใหญ่มากเท่าไหร่ รากก็จะแผ่กว้างไปมากเท่านั้น
“การตัดรากทิ้งไป 9 ใน 10 ส่วน เหลือไว้ส่วนเดียว ส่งผลกระทบต่อต้นไม้แน่นอน
เพราะมันจะมีแผลตรงรากที่เค้าตัดมา แผลก็เน่า ซึมเข้าไป กลายเป็นเชื้อรา การย้ายต้นไม้ใหญ่จะรอดหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกใหม่และดูแลเอาใจใส่ บางคนกลัวต้องรดน้ำบ่อย เลยขุดดินลงไปลึกๆ ให้น้ำขังเยอะๆ ผลปรากฏว่ารากเน่าตาย”
เวลาเจอต้นไม้ป่วยมากๆ แล้วเราไปช่วยเหลือไม่ทัน ผมจะเสียใจมาก บางทีผมโทษตัวเองด้วยซ้ำไป ยกตัวอย่างเช่น มีรายหนึ่งอยู่จังหวัดอ่างทอง เป็นบ้านโบราณอยู่ริมน้ำ มีต้นสะตือเป็นพืชโบราณใหญ่มากขึ้นอยู่ริมน้ำ ขนาดสองสามคนโอบ กิ่งโดนลมฉีกเป็นแผล แต่ผมไม่มีคิวว่างสักที หลังจากผ่านไปสองสัปดาห์มีพายุเข้า พอถูกลมโกรกแรง จากที่เป็นแผลอยู่แล้ว ต้นไม้ล้มหักหมดเลย ผมรู้สึกเสียใจมาก บอกตัวเองว่า ถ้าเราแบ่งเวลาไปช่วยได้ก็จะดีมากเลยนะ รู้สึกเสียดายเพราะเป็นต้นไม้ที่เคยอ่านเจอในบันทึกประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินตีเมืองจันทบุรี จะพบเฉพาะแถวแม่น้ำภาคกลาง
หลังจากบทเรียนครั้งนั้น อาจารย์บรรจงจึงเริ่มคิดเรื่องการสร้างเครือข่ายหมอต้นไม้ในพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น จนถึงปัจจุบันเริ่มมีทีมหมอต้นไม้เกิดขึ้นหลายทีม เวลาเจอปัญหาเร่งด่วน อาจารย์จะทำหน้าที่ประเมินการรักษาและส่งทีมไปช่วยเหลือให้เร็วที่สุดเพื่อรักษาต้นไม้เก่าแก่ให้มีลมหายใจต่อไป
สิ่งที่ทำให้หมอต้นไม้ท่านนี้รู้สึกเศร้าใจมากที่สุด คือ การได้เห็นต้นไม้ป่วยหนักและไม่สามารถต่อลมหายใจให้ต้นไม้เหล่านั้นได้ เหมือนกับหมอรักษาคนที่ต้องตัดสินใจถอดสายออกซิเจนให้คนป่วยขั้นวิกฤติได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ
ต้นไม้ส่วนใหญ่ที่ได้รับการติดต่อให้ไปรักษามักจะอาการย่ำแย่แล้ว ถ้าเปรียบเป็นคนป่วยมะเร็งก็อาการโคม่า มีอยู่รายหนึ่งส่งตั๋วเครื่องบินไปภูเก็ตมาให้เลยทั้งที่ไม่รู้จักกันมาก่อน แต่เจ้าของคิดว่า ต้นไม้ของเขาคงต้องถึงเวลาหาหมอคนนี้แล้วเลยติดต่อมา พอผมไปถึง เห็นแล้วเสียดายมาก เขาทำโรงแรมสี่ดาวห้าดาวอยู่ริมทะเลหาดภูเก็ต หาดพวกนี้มักจะมีไม้โบราณทั้งต้นสนหรือมะม่วงป่าขึ้นริมชายหาด ตอนลงมือก่อสร้าง เขาลืมนึกไปว่า ต้นไม้พวกนี้ขึ้นบนทราย บริเวณที่เป็นดินน้อยมาก เวลารถก่อสร้างวิ่งไปบดทับจึงเหยียบราก อัดลงไปเรื่อยๆ ต้นไม้จึงหายใจไม่ออก ใบร่วงลงเรื่อยๆ
“ถ้าเจ้าของธุรกิจทำแนว ‘ระยะป้องกัน’ ถอยออกไปสักสามเมตร หรือวางโครงสร้างทับ ปูแผ่นเหล็ก จะได้ไม่กดถูกราก หรือเกรดเปิดพื้นที่ให้เอาดินไปถมตรงราก ต้นไม้โบราณเหล่านี้ก็จะรอด สรุปว่าต้นใหญ่ตายเกือบหมดเลย ต้นที่เหลือยังพอแนะนำทันอยู่บ้าง แต่ถ้าไปถึงช้ากว่านี้ ต้นที่เหลือก็น่าจะตายเหมือนกัน ถ้าเขามีความรู้ความระมัดระมัดระวังตั้งแต่ตอนเริ่มโครงการ ต้นไม้ทุกต้นคงจะรอดตาย”
แม้ว่าหมอต้นไม้มักต้องเจอเคส “ผู้ป่วยอาการโคม่า” อยู่บ่อยๆ แต่ในจิตวิญญาณความเป็นหมอแล้วย่อมต้องหาทางช่วยเหลือ “ผู้ป่วย” ให้มีลมหายใจต่อไปจนกว่าจะหมดหนทางเยียวยา
ถ้าเราไปได้ทันก็เหมือนกับเป็นการต่ออายุให้เขาไปอีก เราไม่ได้ไปเพื่อทำให้ต้นไม้หายเป็นปกติ แต่เราไปเพื่อหยุดไม่ให้อาการป่วยลุกลาม เหมือนหยุดการกระจายตัวของมะเร็ง เพราะส่วนที่เสียไปเอาคืนยากมาก เราต้องรักษาส่วนที่เหลือไว้ เหมือนต้องตัดเนื้อร้ายทิ้งไป ธรรมชาติของต้นไม้จะไม่ยอมตายง่ายๆ อยู่แล้ว แต่จะทำยังไงไม่ให้มันลุกลามต่อ เราต้องไปช่วยตรงนั้น บางครั้งต้องตัดตรงนี้ออกจะได้ปิดแผล ต้นไม้ก็อยู่รอดต่อไปได้ เพราะต้นไม้อึดกว่าคนเยอะ ต้นไม้บางต้น ถ้ามันจะล้มไปทางขวา รากทางซ้ายมักจะเป็นตัวดึงไว้ไม่ให้ยอมล้มง่ายๆ หรือไม่บางทีพอล้มลงไปแล้ว เราจะเห็นความพยายามดิ้นรนที่จะอยู่รอด ด้วยการแตกปลายด้านที่โดนแดด เติบโตทางฝั่งนี้แทน
อาจารย์เล่าถึงความประทับใจการดูแลต้นไม้ของอาจารย์ฮามาโนเมื่อครั้งติดตามไปดูอาจารย์ทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นว่า หมอต้นไม้ญี่ปุ่นมีความพยายามในการหาทางช่วยชีวิตต้นไม้เก่าแก่อายุสองพันปีให้มีลมหายใจต่อไปอย่างน่าอัศจรรย์และภาคภูมิใจ
“ตอนนั้นอาจารย์ดูแลต้นแป๊ะก๊วยโบราณในศาลเจ้า ซึ่งเป็นไม้ขนาดมหึมาถูกพายุโค่นเหลือแค่ตอกับราก ท่านใช้วิธีรักษาโดยการสร้างโครงขึ้นมาดูแลเหมือนกางมุ้งให้รากของต้นไม้ แล้วเอาดิน ปุ๋ย ประคบประหงมจนกระทั่งมีใบเล็กๆ แตกออกมาในที่สุด ตอนผมไปดูต้นนี้ขึ้นมาได้เมตรกว่าๆ แล้ว สามารถพูดได้ว่า นี่คือต้นไม้สองพันปีที่ยังไม่ตาย ไม่ใช่ต้นไม้ที่ปลูกนับหนึ่งวันนี้ เพราะมันยังมีลมหายใจเดิมอยู่”
มิติความรักต้นไม้ของคนญี่ปุ่นสอนให้อาจารย์บรรจงรู้ว่า การเป็นหมอต้นไม้ไม่ใช่แค่การใช้ความรู้ในการรักษาโรคต้นไม้เท่านั้น แต่ยังต้องใช้หัวใจในการเอาใจใส่ดูแลต้นไม้อย่างทะนุถนอมราวกับเป็นคนรักเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังต้องอาศัยมุมมองทางศิลปะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน
หมอต้นไม้ญี่ปุ่นมองเรื่องการรักษาต้นไม้เป็นศิลปะ เขาจะปฏิเสธการใช้วัสดุที่ไม่ใช่ธรรมชาติในการดูแลต้นไม้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยากค้ำยันต้นไม้ไม่ให้มันล้ม หมอญี่ปุ่นจะไม่ยอมใช้เหล็ก ต้องใช้ไม้เท่านั้น เวลาหิมะมาก็เอาผ้าห่มมาห่อต้นไม้ เพราะกลัวหิมะจะไปกัดผิวจนป่วย หรือกิ่งไหนเอนไปไม่ถูกทิศทางก็ต้องช่วยบังคับเขาหน่อย ดึงเชือกมาแล้วปักหลัก ผมได้เห็นศิลปะกับธรรมชาติมันสอดคล้องไปด้วยกัน เห็นความละเอียดอ่อน คนที่มาทำงานได้รับการขัดเกลาจิตใจด้วย เพราะอีกด้านหนึ่งเขาก็ใช้ชีวิตกับเทคโนโลยีความเป็นเมืองสุดๆ เหมือนกัน พอมาถึงการดูแลต้นไม้ เขาก็นิ่งสงบสุดๆ ได้เหมือนกัน
บทเรียนจากครูต้นไม้
การอยู่ใกล้ชิดกับต้นไม้และการรักษาต้นไม้ที่ป่วยไข้ให้มีลมหายใจเพิ่มออกซิเจนให้โลกใบนี้ต่อไป นอกจากจะทำให้โลกมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นแล้ว ต้นไม้ยังเป็น “ครู” ที่มอบบทเรียนชีวิตให้กับหมอต้นไม้ท่านนี้ด้วยเช่นกัน
“ผมพูดมาตลอดว่า ต้นไม้คือครูของชีวิตผม ครั้งแรกที่ผมมาเรียนปริญญาตรี อาจารย์ให้สเก็ตรูปต้นไม้ ต้องถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นภาพ ผมก็มองต้นไม้แบบศิลปะ พอเอาศิลปะกับต้นไม้มาอยู่ด้วยกัน ความคิดตรงนี้มันละเอียดขึ้น มองอะไรต้องวิเคราะห์ ต้องลึกลงไป เราพยายามจะบอกคนที่มองต้นไม้ว่านี่คือชีวิต ต้นไม้มีเรื่องฤดูกาล ต้นไม้บางอย่างคุณต้องตั้งใจรอคอยมันนะ ไปบังคับไม่ได้ ปีหนึ่งคุณจะได้ดูดอกของเขาแค่อาทิตย์เดียวเท่านั้น คุณต้องใช้เวลา เสียสละ ต้องพยายาม ต้องกลายเป็นคนละเอียดมากขึ้นเนื่องจากมันเป็นสิ่งมีชีวิต ทอดทิ้งไม่ได้”
นอกจากนี้ ‘ครูต้นไม้’ ยังเป็นตัวอย่างบทเรียนความอดทนและการดิ้นรนต่อสู้ท่ามกลางวิกฤตเพื่อต่อลมหายใจให้อยู่บนโลกใบนี้ต่อไป แม้ว่าจะแทบมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เลยก็ตาม
ถ้าเรามองต้นไม้เป็นคน เราจะได้บทเรียนจากต้นไม้เยอะเลย เราจะเห็นมิติต่างๆ ที่เขาเป็นครูสอนเรา แม้แต่ต้นไม้เล็กๆ ตั้งแต่เมล็ดการงอก มันมีวัฎจักร ถ้าเทียบต้นไม้กับคน บทเรียนสำคัญที่ผมเรียนรู้ คือ หนึ่ง เขาไม่ยอมตายง่ายๆ สอง เขารู้จักการปรับตัวเอง คนเราถ้ายอมหักไม่ยอมงอแสดงว่าคุณไม่ปรับตัวเอง คุณก็จะเป็นไม้แข็งๆ แต่ถ้าคุณเป็นเหมือนต้นไผ่ ต้นอ้อ แม้จะสูงใหญ่เสียดฟ้า แต่ยากมากที่ไผ่จะหักลงดิน เพราะมันเอนลู่ไปตามลม
ทุกวันนี้ อาจารย์บรรจงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงหมอต้นไม้ให้คำปรึกษาเยียวยาต้นไม้เท่านั้น แต่ยังทำงานเชิงรุกเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ระดับผู้บริหารบ้านเมืองหันมาให้ความสนใจการดูแลต้นไม้ใหญ่เก่าแก่เพื่อเป็นมรดกสีเขียวและมรดกวัฒนธรรมให้คนรุ่นต่อไปด้วยเช่นกัน
“บางคนอาจมองว่า ต้นไม้ปลูกง่าย ถ้ามันป่วยก็ปล่อยมันตายไป แล้วปลูกต้นใหม่ แต่เขาลืมไปว่า สิ่งที่เขาเริ่มปลูกวันนี้สำหรับลูกหลาน มันคือต้นไม้ประวัติศาสตร์ ต้นไม้บ้านเรา บางต้นสามร้อยปี ห้าร้อยปี ต่างประเทศมองว่าเป็นมรดกเลยด้วยซ้ำไป อย่างเช่นสิงคโปร์มีสวนพฤกษศาสตร์ต้นไม้เก่าแก่ที่กลายเป็นมรดกโลกไปแล้ว เป็นต้น
สิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุดคือการให้ความรู้คน เพราะผมเป็นอาจารย์ ต้องพยายามเปลี่ยนทัศนคติของคน ตอนนี้ผมเริ่มมองระดับที่จะเปลี่ยนทัศนคติหน่วยงาน โดยการให้ความรู้ ตั้งชมรมหมอต้นไม้อาสาในโรงเรียน ทุกคนมีเป้าหมายทำไปในช่องทางของตนเอง ประชารัฐเริ่มเกิด มีเอกชน นักวิชาการ ท้องถิ่นเข้ามาร่วมมือกัน สิ่งที่ผมภูมิใจ คือ ผมสามารถทำงานกับรุ่นลูกได้ เพราะในอนาคตอีกยี่สิบหรือสามสิบปีเด็กรุ่นนี้ก็ยังไปต่อได้อีกไกล
ตลอดสิบปีที่ผ่านมา อาจารย์บรรจงได้ผลักดันแนวคิดหมอต้นไม้จนปัจจุบันมีเครือข่ายหมอต้นไม้กว้างขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ผู้คนเริ่มมองเห็นเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะเรื่องหมอต้นไม้เชื่อมโยงกับสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สังคม ชุมชนไหนมีต้นไม้เก่าแก่โบราณหลายร้อยปี ยิ่งเป็นชุมชนที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน การดูแลรักษาต้นไม้จึงไม่ใช่เพียงการต่อลมหายใจให้ต้นไม้ แต่ยังต่อลมหายใจให้ชุมชนท้องถิ่นได้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของตนสู่คนรุ่นต่อไปด้วยเช่นกัน
ขอบคุณภาพถ่ายจากเพจหมอต้นไม้