ค้นหาตัวตนผ่านศิลปะงานต่อผ้า
ถ้าใครเคยลองนำเศษผ้าเล็กๆ หลายชิ้น รูปร่างและขนาดแตกต่างกันมาเย็บต่อกันไปเรื่อยๆ ตอนแรกเราอาจนึกไม่ออกว่า สุดท้ายผ้าเล็กๆ ทั้งหมดจะกลายเป็นภาพอะไร หรือ ถ้าใครลองนำชิ้นผ้าขนาดสี่เหลี่ยมจัตุรัสเท่ากันหมดมาต่อกันให้เป็นผ้าห่มผืนใหญ่ เราก็จะพบว่าเศษผ้าชิ้นเล็กๆ เหล่านั้นได้กลายเป็นลวดลายใหม่บนผ้าห่มผืนใหญ่ให้เราห่มนอนอย่างน่าอัศจรรย์ นี่คือเสน่ห์ของงานต่อผ้าที่ใครได้ลองสัมผัสดูแล้วจะรู้สึกสนุก ตื่นเต้น ตอนที่เห็นชิ้นผ้าเล็กๆ เรียงรายต่อกันเพื่อสร้างจินตนาการไม่รู้จบ บางคนอาจนำเศษเสื้อผ้าของคนในครอบครัวที่ไม่ได้ใส่แล้วมาต่อกันจนเป็นกระเป๋า ของแต่งบ้าน หรือข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เศษผ้าเหล่านั้นก็เหมือนถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่และมีคุณค่าใหม่สำหรับทุกคนในครอบครัว
งานต่อผ้าจึงเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่นำมาความสุขใจมาให้ทั้งผู้ลงมือเย็บผ้าและผู้คนรอบข้าง รวมทั้งยังทำให้หลายคนได้ค้นพบตัวตนของตนเองผ่านเศษผ้าผืนเล็กๆ ด้วยเช่นกัน
ตัวตนบนผืนผ้า
ธิดาวรรณ วิวัฒน์คุณูปการ หรือ “ครูตู่” นับเป็นคนหนึ่งที่หลงรักศิลปะงานต่อผ้าและใฝ่ฝันอยากมีอาชีพเป็นครูสอนเย็บผ้าอยู่ลึกๆ ในใจมานาน แต่ด้วยความคาดหวังของครอบครัวทำให้เธอต้องทำงานเป็นอาจารย์คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตลอด 20 ปีโดยแอบเก็บซ่อนความฝันลึกๆ ในใจเอาไว้และหาเวลาเย็บผ้าเป็นงานอดิเรกเพื่อต่อเติมความสุขให้ตนเองเท่าที่พอจะมีเวลาเหลือจากงานประจำ หมอฟันผู้หลงรักงานเย็บผ้ามายาวนานเปิดใจให้ฟังว่า
“ตั้งแต่เด็กจนโตเราเรียนหนังสือไปตามความคาดหวังของคนในครอบครัว เนื่องจากมีพ่อเป็นหมอและแม่เป็นพยาบาลเลยโตมาในรั้วโรงพยาบาล และสอบเข้าเรียนเป็นหมอฟัน เพราะเป็นอาชีพที่ผู้ใหญ่มองว่ามั่นคง แต่ลึกๆ ในใจแล้วไม่เคยอยากเป็นหมอ เพราะชอบทำงานศิลปะประดิษฐ์มาตั้งแต่เรียนประถม พอถึงมัธยมก็เริ่มลองเอากางเกงยีนส์ตัวเก่ามาเย็บเป็นกระเป๋าใส่ของ (ถุงผ้าสีเขียวในภาพถ่ายด้านบน) หลังจากเรียนจบทำงานเป็นหมอฟัน ถ้ามีเวลาว่างเมื่อไหร่ก็หาโอกาสไปเข้าคอร์สเรียนเย็บผ้าและทำเป็นงานอดิเรก
“ตั้งแต่เล็กจนโตเป็นคนไม่กล้าแสดงความเป็นตัวเองออกมา เป็นเด็กดีตามที่ผู้ใหญ่ต้องการ เป็นอาจารย์ที่ดีตามแบบแผน ทำงานไปตามหน้าที่ แต่รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ยังไม่มีความสุข แค่ทำไปตามหน้าที่เท่านั้นเอง”
หมอฟันผู้ชอบจับเข็มเย็บผ้าย้อนทบทวนความทรงจำตอนได้ค้นพบ “สี” ของตนเองครั้งแรกให้ฟังว่า
ตอนไปเรียนต่อปริญญาโทที่อังกฤษมีโอกาสลงเรียนวาดรูปสีน้ำมัน ได้เจอครูคนแรกที่มองเห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ครูบอกว่า ‘เธอรู้ไหม เธอมีสีเป็นของตัวเองนะ’ เราก็สงสัยว่าจริงเหรอ หลังจากได้เจอครูคนนี้ทำให้เราเกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น พอกลับมาเมืองไทยก็มาวาดรูปสีน้ำมันต่อ แต่วาดไปเยอะๆ แล้วไม่รู้จะเอาภาพวาดไปทำอะไร พอน้องสาวชวนไปเรียนต่อผ้าครั้งแรกได้ทำกระเป๋าชิ้นเล็กๆ ก็เริ่มตกหลุมรักงานต่อผ้าตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตลอดเวลายี่สิบปีของการเป็นอาจารย์ทันตแพทย์ แม้ว่าเธอจะทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่เมื่อสิ่งนั้นไม่ได้มาจากเสียงเรียกร้องของหัวใจอย่างแท้จริง ไฟในการทำงานจึงมอดลงเรื่อยๆ ในทางตรงกันข้าม ทุกครั้งที่ได้จับเข็มเย็บผ้า หัวใจกลับพองโตอย่างมีความสุข จนกระทั่งพอได้ยินว่ามีการเปิดหลักสูตรครูสอนเย็บผ้าที่กรุงเทพฯ ถ้าเรียนจบแล้วจะได้ใบประกาศจากญี่ปุ่น เธอจึงตัดสินใจสมัครเรียนหลักสูตรนี้เพื่อปูเส้นทางผันอาชีพ “ตามหน้าที่” สู่อาชีพ “ตามหัวใจ” ที่รอคอยมานานกว่าครึ่งชีวิต และได้ค้นพบ “สีของตัวเอง” ในที่สุด
“เมื่อก่อนไม่เคยรู้เลยว่า สีของตัวเองคือสีไหน แต่ทุกครั้งที่เราเลือกผ้าก็จะออกมาเป็นโทนสีนี้ จนคนอื่นดูปุ๊บรู้เลยว่า นี่คือ ‘สีของเรา’ ตอนหลังเริ่มสังเกตว่า งานต่อผ้าของเราทุกชิ้นจะมีโทนสีเหล่านี้อยู่ด้วย คือ สีโทนร้อนและโทนเย็นผสมกัน ออกแนวสีหม่นๆ ไม่ได้ชอบสีด้านใดด้านหนึ่งแบบชัดเจน แต่จะมีสองมุมที่ตัดกันแบบอยู่ด้วยกันได้”
สิ่งที่ได้ค้นพบตนเองหลังจากทำงานต่อผ้ามากขึ้นเรื่อยๆ คือ นิสัยบางอย่างที่ไม่เคยกล้าแสดงออกกับใคร แต่กล้าแสดงออกมาบนผืนผ้าอย่างชัดเจน
“เราเริ่มค้นพบนิสัยที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ในตัวเองว่า เราเป็นคนเอาแต่ใจ ดื้อมากทีเดียว ไม่ค่อยยอมใช้สีที่ไม่ชอบ และจะอึดอัดมากถ้าถูกครูบังคับให้ทำงานหวานๆ เย็นสบาย เพราะมันไม่ใช่สีของเรา ทำไปแล้วจะรู้สึกเหมือนยังไม่อิ่ม รู้สึกยังไม่พอใจผลงานชิ้นนั้น”
หลังจากเลือกผ้าตาม “สีของตนเอง” จนพอใจแล้ว เมื่อต้องลงมือจับเข็มเย็บผ้า เธอก็ได้บทเรียนใหม่ของชีวิตให้เรียนรู้เพิ่มเติมตามมาเช่นกัน
สิ่งที่เห็นมีสองด้าน เวลาทำงานผ้าจะรู้สึกเหมือนกับเราหลุดโลกไปเลย คิดถึงแต่ฝีเข็ม ไม่ได้คิดเรื่องอื่น แต่ในบางจังหวะจะเห็นความใจร้อนของตนเอง เพราะตื่นเต้นอยากเห็นผลงานเสร็จไวๆ ปรากฎว่าพอรีบเมื่อไหร่งานจะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย ตอนแรก ๆ เราไม่ยอมเลาะ ฝืนทำต่อไปจนเสร็จ เพราะอยากเห็นปลายทางไว ๆ โดยไม่สนใจความสุขระหว่างทาง ผลงานจึงออกมาไม่ดี ตอนหลังเริ่มฝึกตัวเองใหม่ ถ้าทำผิดต้องรีบเลาะออก พอยอมรับว่า เราทำผิดได้นะ ถ้าผิดปุ๊บต้องรีบแก้ไข ผลงานก็สวยมากขึ้นตามมา หลังจากเย็บผ้าสักพัก เราเริ่มพบว่า ความสุขระหว่างทางสำคัญกว่าปลายทาง จึงพยายามฝึกตัวเองให้ใจเย็นลง
อาจกล่าวได้ว่า ความสุขจากการทำงานศิลปะต่อผ้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีความสุขตอนเลือกผ้า บางคนมีความสุขตอนลงมือเย็บ บางคนมีความสุขตอนนำผ้ามาเย็บต่อกันเสร็จเป็นผืนใหญ่ได้เห็นผลงานเสร็จสมบูรณ์ เมื่อความสุขของแต่ละคนแตกต่างกัน งานต่อผ้าจึงเป็นงานที่ทุกคนเลือกความสุขได้หลากหลายเส้นทาง
“เรามีความสุขที่สุดตอนเลือกผ้ากับตอนที่เสร็จออกมาแล้วสีมันเรียงกัน แล้วก็ชอบใช้ผ้าที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เวลาเอามารวมกันแล้วมีความสุขมาก เราจะมีผ้าหนึ่งชิ้นหลักเป็น ‘นางเอก’ แล้วก็ค่อยหาผ้าชิ้นอื่นมาประกอบเพื่อให้ผ้าชิ้นหลักของเรามีที่อยู่”
ยิ่งนานวัน ธิดาวรรณก็เริ่มได้ยินเสียงหัวใจตนเองที่สะท้อนออกมาบนผืนผ้าชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ
การทำงานต่อผ้าเหมือนได้หยุดฟังเสียงตนเอง เพราะผ้าสามารถสื่อความหมายแทนตัวเรา เป็นพื้นที่เดียวที่ทำให้เรากล้าแสดงอารมณ์ที่แท้จริงออกมา และไม่มีใครกล้ามายุ่งหรือห้ามไม่ให้เราใช้ผ้าสีไหน งานต่อผ้าทุกผืนจึงมีคุณค่ามากสำหรับเรา
เมื่อถามถึงผลงานต่อผ้าที่ภาคภูมิใจมากที่สุด หมอฟันผู้หลงรักงานเย็บผ้าจึงหยิบผ้าผืนใหญ่ขนาดความสูงหนึ่งเมตรมาให้ชม ผลงานชิ้นนี้ถูกส่งประกวดในหัวข้อ “Green” สะท้อนเรื่องราวของมนุษย์โลกที่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด ด้านบนมีนางฟ้าโปรยเวทมนตร์สีเขียวให้มนุษย์โลก ด้านล่างนำเศษผ้าสีหม่นชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาต่อกันจนเหมือนกองขยะ แม้ผลงานจะไม่ได้รางวัลใดๆ แต่เธอก็มีความสุขที่ได้ใช้จินตนาการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ออกมา เพราะความสุขไม่ใช่ความสำเร็จที่รออยู่ปลายทาง ทว่าอยู่ระหว่างทางที่ได้ก้าวเดินไปด้วยกันบนผืนผ้าต่างหากเล่า
ธิดาวรรณสรุปมนต์เสน่ห์ของงานต่อผ้าที่เธอหลงรักมานานว่า
เสน่ห์ของงานต่อผ้าคือการร้อยเรียงจินตนาการออกมาเป็นเรื่องราวต่าง ๆ อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเพื่อนร่วมทางที่ค่อยๆ เดินและเรียนรู้ไปด้วยกัน จากเศษผ้าชิ้นเล็กเมื่อนำมาเย็บต่อกันก็จะเริ่มมีความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นลวดลายใหม่บนผ้าผืนใหญ่ในที่สุด
ความสุขในโลกใบเล็ก
ภวัญญา แก้วนันตา หรือ ใครๆ ชอบเรียกว่า “ป้าหนู” วัย 55 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่หลงรักงานผ้าหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าทุกวันนี้จะต้องทำงานเจ็ดวันกับหน้าที่ครูสองแบบ คือ วันอังคารถึงวันศุกร์เป็นครูโรงเรียนมัธยม ส่วนวันศุกร์ถึงวันจันทร์เป็นครูสอนเย็บผ้าที่บ้าน แต่ป้าหนูผู้หลงรักงานต่อผ้ามานานกว่ายี่สิบปีก็ยังมีรอยยิ้มอันอบอุ่นให้ทุกคนที่ได้พบเสมอ
ป้าหนูเล่าว่า เริ่มค้นพบตนเองว่าชอบงานศิลปะประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็ก แต่เพิ่งได้มีโอกาสเรียนเย็บผ้าเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ปี 40 หรือยี่สิบปีที่ผ่านมา บรรยากาศในห้องเรียนเย็บผ้าที่ได้สัมผัสครั้งแรกทำให้ป้าหนูรู้สึกว่านี่คือโลกใบใหม่ที่ทำให้เริ่มได้ฟังเสียงหัวใจของตนเองชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งได้พบเจอกับ “เพื่อนแท้” ที่หลงรักงานผ้าเหมือนกัน
“ตอนไปเรียนครั้งแรก แม้ว่าในห้องเรียนจะมีคนเยอะมากกว่าสิบคน แต่ทุกคนก็สามารถจดจ่อกับงานตนเองอย่างมีความสุข เพื่อนที่ได้จากวงการผ้าเป็นเพื่อนที่คุยแล้วสบายใจเพราะไม่ยุ่งเรื่องส่วนตัวกันและกัน ไม่มีแบ่งรวยจน มีแต่ความชอบที่เหมือนกัน บรรยากาศอบอุ่นมาก เพื่อนที่ได้รู้จักกันเมื่อยี่สิบปีก่อนก็ยังคบกันมาจนถึงวันนี้”
ก่อนหน้านี้ป้าหนูมักเป็นโรคเครียดจากภาระหน้าที่สอนหนังสือที่โรงเรียน แต่หลังจากได้ทำงานเย็บผ้าแล้ว ปัญหาดังกล่าวก็ลดลงจนเหลือแต่ความสุขเมื่อได้ลงมือจับเข็มเย็บผ้า
เมื่อก่อนเป็นคนขี้โมโห การเย็บผ้าทำให้ได้จดจ่ออยู่กับงานที่ทำ งานจะสวยหรือไม่สวย เราก็ภูมิใจในงานของเรา ได้สมาธิ ผ่อนคลาย สังเกตตัวเองจากที่เคยป่วย ปวดหัว ความดัน หลังจากเย็บผ้า สุขภาพจิตดีขึ้นมาก การได้จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งทำให้เราไม่ฟุ้งซ่าน ลืมปัญหา มีสติ จิตใจแข็งแรงขึ้น ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรเราก็ผ่านไปได้ ถึงแม้สุขภาพกายจะไม่ดี เป็นทั้งเบาหวานและความดัน แต่เราไม่เคยเป็นทุกข์กับโรคเลย งานทุกชิ้นที่ออกมาเหมือนเป็นของขวัญให้ตัวเอง มันดีงามต่อใจ งานเย็บผ้าทำให้เราเป็นคนมีมุติตาจิต ยินดีในสิ่งที่คนอื่นได้ดี ไม่อิจฉากัน เพราะงานของแต่ละคนมีความสวยงามในตนเอง
ป้าหนูสรุปบทเรียนชีวิตจากผืนผ้าให้ฟังว่า
“การทำงานต่อผ้าหนึ่งชิ้นหนึ่งก็เหมือนกับการเอาชนะตัวเอง ถึงแม้เป็นงานชิ้นเล็กๆ แต่เราจะรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่สามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ตอนเลือกผ้าจะใช้เวลานานที่สุด บางครั้งเหมือนไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ทำให้เราต้องมีผ้าเพิ่มขึ้นอีก แต่เมื่อถึง ณ จุดหนึ่ง เราต้องรู้จักห้ามใจตัวเองและพอใจในสิ่งที่มีอยู่”
จากประสบการณ์เป็นครูสอนเย็บผ้ามานับสิบปี ป้าหนูพบว่าสิ่งที่เป็นอันตรายสำหรับมือใหม่ที่เพิ่งเข้าวงการงานต่อผ้าคือการซื้อผ้าสะสมไว้มากมายเพราะยังไม่รู้จัก ‘สีของตัวเอง”
“คนที่ทำงานต่อผ้าช่วงแรกจะยังไม่รู้จักแนวผ้าที่ตัวเองชอบ เลยซื้อผ้าไปเรื่อยๆ เห็นอะไรก็อยากได้ ซึ่งเป็นสิ่งอันตรายสำหรับผู้เข้าวงการใหม่ๆ เพราะถ้าเราซื้อทุกอย่างโดยไม่จำกัดวงเงินไว้ อาจกระทบกับเงินค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของครอบครัว บางคนมีกำลังซื้อมาก เราจะไปว่าเขาฟุ่มเฟือยก็ไม่ได้ เพราะเป็นความสุขของเขา จุดพอของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่าทำให้ตัวเองเดือดร้อนก็พอ”
นอกจากนี้ป้าหนูยังมีคำแนะนำสำหรับคนที่สนใจทำงานต่อผ้าหรืองานเย็บผ้าแฮนด์เมดว่า ถ้าใครต้องการเข้าวงการนี้เพื่อทำงานเป็นอาชีพ โดยไม่มีรายได้จากงานประจำรองรับในช่วงแรก ๆ อาจมีความเสี่ยงสูง เพราะศิลปะการต่อผ้าต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาทักษะและการค้นหาเอกลักษณ์ของตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานให้แตกต่างจากผู้อื่น
หลายคนทิ้งวงการผ้าไปด้วยเหตุผล หนึ่ง หาจุดยืนของตนเองไม่เจอ สอง พอหาตนเองเจอแล้วโดนคนอื่นก้อปปี้งานก็เริ่มเบื่อทิ้งงานผ้าไปเลย ถ้าเราอยากอยู่รอดบนเส้นทางนี้ต้องอดทน และต้องยืนอยู่ในสิ่งที่เราชอบ แต่ละคนมีจุดยืนที่ตัวเองมีความสุข ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน
เมื่อถามถึงผลงานกระเป๋าต่อผ้าที่ภาคภูมิใจมากที่สุด ป้าหนูเลือกหยิบกระเป๋าต่อผ้า 300 กว่าชิ้น ซึ่งเรียนจากครูวิทยาลัยในวังภูทองของสมเด็จพระเทพฯ มาให้ดู
“เหตุผลที่ใบนี้ครูให้ต่อผ้าตั้งสามร้อยชิ้น เพราะครูอยากให้แม่บ้านที่มีเศษผ้าอยู่แล้วมาสร้างสรรค์ให้เกิดผลงานชิ้นใหม่ แล้วสอนให้ใช้ของอย่างประหยัด ไม่อยากให้มองว่า เศษผ้าผืนเล็กๆ สี่เหลี่ยมธรรมดาคือขยะ เพราะการต่อผ้าชิ้นเล็กๆ ทำให้เกิดงานชิ้นใหญ่ๆ ได้ สมเด็จพระเทพฯ จะเน้นกับครูว่า ทุกอย่างต้องประหยัด”
ป้าหนูสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการทำงานต่อผ้าชิ้นเล็กว่า ทุกคนต้องมีความมุมานะอดทนจนกว่าจะเห็นผลงานผ้าชิ้นเล็กประกอบเป็นผ้าผืนใหญ่ และนำไปต่อยอดเป็นกระเป๋าถือหรือของใช้ในชีวิตประจำวัน
เราต้องมีความอดทน อย่าทำงานพอให้เสร็จ งานต่อผ้าถ้าทำลวกๆ แล้วจะเสียโยงกันไปหมดเลยทั้งผืน แม้แต่การตัดกระดาษทุกชิ้นต้องตัดให้เท่ากันทุกด้าน ถ้าไม่เท่ากัน มุมแต่ละมุมก็จะไม่เท่ากันด้วย มันเหมือนเป็นปรัชญาชีวิตว่า ทำอะไรก็ต้องทำตั้งใจ ถามว่าเกิดข้อผิดพลาดได้ไหม ก็เหมือนกับชีวิตเราผิดพลาดได้ ถ้าพลาดแล้วก็หาทางแก้ไขให้ดีที่สุด
จากประสบการณ์สอนเย็บผ้ามานานนับสิบปี ป้าหนูได้เห็นทั้งคนที่เรียนแล้วท้อใจ หันหลังให้กับการเย็บผ้าไปเลย และคนที่เรียนแล้วไปต่อ เพราะแต่ละคนมีความตั้งใจที่จะไปให้ถึงเป้าหมายแตกต่างกัน
“คนที่ทำงานต่อผ้าแล้วท้อ ไม่อยากไปต่อก็มี เพราะเขาไม่ได้อยากทำจริงๆ ยกตัวอย่างกระเป๋าใบนี้ ต่อผ้า 300 ชิ้น บางคนอยากทำเป็นใบแรก เราจึงแนะนำว่า การเริ่มทำอะไรต้องเริ่มจากเล็กๆ ก่อน การเริ่มจากชิ้นยากแล้วทำไม่สำเร็จจะส่งผลเสียกว่าการทำชิ้นง่ายแล้วสำเร็จ เพราะถ้าทำใบเล็กๆ เสร็จ เขาจะรู้สึกว่ามันง่าย แล้วก็จะมีชิ้นที่สองสามต่อไป มันก็เหมือนกับชีวิตคนเรา เวลาเห็นคนที่ประสบความสำเร็จก็อยากประสบความสำเร็จบ้าง โดยที่ไม่รู้หรอกว่า กว่าเราจะทำกระเป๋าต่อผ้า 300 ชิ้นใบนี้สำเร็จ เราผ่านการเย็บผ้ามาแล้วสิบห้าปี”
ป้าหนูกล่าวทิ้งท้ายถึงความสุขของคนทำงานต่อผ้าว่า
งานต่อผ้าเป็นความสุขที่หาได้ไม่ยาก และเป็นความสุขที่คุณเลือกได้หลายระดับ ให้เป็นของขวัญตนเองและคนที่เรารัก หรือจะทำขายก็ได้ ถ้ามันเริ่มต้นจากความสุข ความรัก คุณก็จะทำสิ่งนั้นด้วยความสุข การทำงานเย็บผ้าทำให้เราได้รู้จักตนเองมากขึ้น ทั้งในแง่ดีและไม่ดี รู้สึกว่าใจเย็นลง ถึงงานเราจะไม่ได้เป็นมาตรฐานในสถาบันใด แต่เราทำแล้วสุขใจก็พอ กำไรของเราคือความสุขของการเย็บผ้าและการได้เพื่อน