ความสุขวงใน

ฝึก ‘สิ้นคิด’ ชีวิตสุขได้อีก

ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ อดีตวิศวกรองค์การนาซ่า เมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านเริ่มสนใจพระพุทธศาสนา และได้ลงมือปฏิบัติจนค้นพบแสงสว่างแห่งธรรมะ และถ่ายทอดสิ่งที่ท่านได้ค้นพบ มาย่อยให้เข้าใจได้ง่าย มีคำสอนที่เข้ากับยุคสมัย ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจพุทธศาสนาในเชิงปฏิบัติมากขึ้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมายเช่น ยิงธนู วาดภาพสีน้ำ จัดดอกไม้ รำมวยจีน เป็นต้น

นอกจากเสียงหัวเราะที่เบิกบานเป็นเอกลักษณ์แล้ว ท่านยังมีคำสอนโดนๆ ตัวอย่างโดนๆ ให้ได้ฟังอยู่บ่อยๆ
บางคำฟังแล้วทำให้เอะใจสงสัยว่าจริงๆ แล้วคืออะไร อย่างวันนี้ได้มานั่งล้อมวงสัมภาษณ์ท่านอาจารย์วรภัทร์
ภู่เจริญ เลยยกคำคำหนึ่งที่ได้ยินบ่อยคือคำว่า ‘สิ้นคิด’ ว่ามันคืออะไรกันแน่

 

คำว่าสิ้นคิดของอาจารย์หมายถึงอะไร

“คนไม่เข้าใจมันก็นึกว่า ‘สิ้นคิด’ หมายถึงคำด่า จริงๆ แล้วเป็นคำพูดมันๆ แค่นั้นเอง ความหมายของคำว่าสิ้นคิดจริงๆ แล้วคือ ตอนที่เราประสาทกิน ความคิดมันจะหมุนๆ วนๆ เราต้องหยุดมันให้ได้ หรือถ้าพูดเป็นภาษาพระก็คือ ดับสังขารการปรุงแต่ง นั่นเองคือ ‘สิ้นคิด’

ส่วนใหญ่เราเติบโตมาภายใต้เงื่อนไขอะไรมากมาย นั่นก็ผิด นี่ก็พลาด อย่างโน้นอย่างนี้ ประสาทกินพอดี
คือเป็นลักษณะฟุ้งซ่าน ฟุ้งไปทุกเรื่อง เราไปกำหนดกฎเกณฑ์กันเอง ตั้งเงื่อนไขกันเต็มไปหมด พอผิดเงื่อนไขก็เป็นทุกข์ เช่น ต้องรวย ต้องมีเงิน มีบ้าน มีรถ มีธุรกิจ เยอะแยะไปหมดเลย อย่างนี้เรียกเอาเปรียบ อย่างนี้เรียกเสียเปรียบ อย่างนี้เรียกเห็นแก่ตัว อย่างนี้เรียกว่าใจดี นี่แหละมันก็เลยทะเลาะกันวุ่นวายไปหมด

เพราะฉะนั้นสิ้นคิดคือ กลับมาอยู่กับปัจจุบัน เห็นไหมตอนนี้อาจารย์ก็ลูบแก้วชาอุ่นๆ สร้างตัวรู้ เห็นไหมไม่ใช้สมองนะ สิ้นคิดมันหมายความว่า แทนที่จะใช้สมองตรงนี้เยอะๆ ให้เหลือแค่ 1% ก็ถือว่าใกล้ศูนย์ ก็เรียกว่าสิ้นคิดแล้ว”

 

มันส่งผลต่อความสุขอย่างไรครับอาจารย์

“จริงๆ แล้วมันมีสองจังหวะ เพราะสิ้นคิดใช่ไหมจิตมันถึงจะว่าง ตอนจิตว่างนี่แหละ เขาเรียกว่าความสุข พอเราไปบอกว่าความสุขๆ มันก็ไปคิดแบบเหมือนคนทั้งโลกอีกแล้ว เพราะฉะนั้นความสุขทางโลกมันก็คือทางกายทางเนื้อหนัง แต่ว่าความสุขทางธรรม คือจิตมันไม่บวกไม่ลบ ไม่กุศลและไม่อกุศลด้วยนะ มันโล่งๆ ก็พูดยากนะ มันก็ต้องฝึกไปถึงจุดจุดหนึ่งถึงจะเข้าใจ”

 

มีวิธีฝึก ‘สิ้นคิด’ อย่างไร

“ฝึกสิ้นคิดมันก็คือภาวนา เพราะว่าก่อนที่เราจะไปฝึกขั้นต่อไป ก็คือเห็นตั้งแต่มันก่อตัวเข้ามา ความคิดชุดแรกๆ มันจะวิ่งเข้ามา เราจับมันทันหรือเปล่าก่อนที่มันจะฟุ้ง ถ้าเปรียบเป็นรถไฟเราเห็นหัวขบวนหรือเปล่า จับหัวขบวนความคิดให้ทัน หลวงพ่อกล้วยท่านเรียกว่า ‘ความคิดจร’ คือความคิดที่ไม่ได้เชื้อเชิญ ความคิดที่เข้ามาโดยไม่ได้ตั้งใจ ความคิดที่พุ่งขึ้นมาแล้วก็ไหลไปตามความคิดนั้นเป็นชุดเลย แบบนี้ก็เละเลย

ส่วนใหญ่คนเราไม่เห็นหัวขบวนหรอก ส่วนใหญ่ทะลวงเข้าไปทั้งขบวนแล้วยังไม่รู้เรื่องเลย
เพราะเราเอาแต่คิด มันก็เลยไม่เห็นไอ้ตัวความคิด ถ้ารถไฟคือขบวนความคิด เราก็นั่งอยู่ในรถไฟ
เราเลยไม่เห็นขบวนรถไฟ เพราะฉะนั้นการสิ้นคิดก็คือ หยุดคิดและย้ายฐานมาอยู่ที่ฐานกาย รู้ร่างกายก็ได้
รู้ลมหายใจเข้าออกก็ได้ ลองเอามือถูๆ สร้างตัวรู้ แต่เราไม่ยอมฝึกตัวนี้กัน คนส่วนใหญ่ไปฝึกสมอง
มีอะไรนิดหน่อยก็คิด แต่คนที่มาทางธรรม หาเครื่องอยู่ตัวใหม่ แทนที่เครื่องอยู่จะเป็นความคิด

 

“เราก็มาอยู่กับอะไรพวกนี้ อยู่กับความร้อน อยู่กับตัวรู้ไม่ต้องกลัวเสียเปรียบหรอก ไม่มีใครมาจดคะแนนว่าคุณจะต้องคิดให้ได้ 100 เรื่องต่อวัน แล้วเป็นคนเก่งบ้าบออะไรขนาดนั้น ประเด็นมันก็คือจับความคิดจรให้ทันเพราะว่าความคิดจรมันจะมาเร็วมาก”

 

“ต้องเริ่มจากฝึกกายานุปัสสนาก่อน สร้างตัวกายให้มันรู้กายก่อน ทุกข์ก็เพราะความคิด สุขก็เพราะความคิด อยู่มาวันหนึ่งคุณมาบอกผมว่าคุณอยากมีความสุข ผมก็จะบอกคุณว่าก็อย่าคิด อย่าคิดมาก เช่น ฉันโดนเอาเปรียบ ฉันโดนทำร้าย ไม่มีคนสนใจฉัน ไปร้องห่มร้องไห้อยู่ในห้องน้ำ แบบนี้บ้าแล้วรอให้คนมาหา นี่แหละหลงความคิดจรเข้าเต็มรักแล้ว”

 

สิ้นคิดก็ประมาณว่า อย่าไปตัดสินอย่าไปแบ่งพรรคพวก ไม่ต้องไปหาคำตอบเลยก็ได้บางเรื่องปล่อยไปก็ได้ อะไรที่มันไม่รู้ก็ช่างมันเถอะ บางครั้งอาจารย์ชอบใช้คำว่าช่างแม่งนะ แต่มันดูไม่ค่อยสุภาพ แต่จริงๆ แล้วมันคือช่างหัวมันเถอะ ต้องปล่อยไหลๆ ไปก่อน ลองดูอีกนิดนึงแต่เราจะไม่ค่อยยอมกันไง”

 

คนที่ทำงานบริษัท ทำงานออฟฟิศจะเอาตรงนี้ไปฝึกใช้อย่างไร

“ก็ทำงานไปอย่างมีความสุข ไม่ต้องไปคิด คนนั้นจนคนนี้รวย คนนี้เอาเปรียบคนนี้ คนนี้ตอแหลลูกน้อง คนนี้ตอแหลเจ้านาย คิดไปเรื่อย ตัดสินไปทั่วเลย เขาให้เงินเดือนแค่นี้ก็ไปนั่งเช็ก คนนั้นเงินเดือนมากกว่า คนนี้เงินเดือนน้อยกว่า ฉันทำมากกว่า ไปเปรียบเทียบอยู่เรื่อย สิ้นคิด ไม่ต้องไปคิดหรอก ไม่ต้องไปดูสลิปเงินเดือนใคร ห่วงคนนั้นจะว่าอย่างนั้น ห่วงคนนี้จะว่าอย่างนี้ฟุ้งไปหมด”

 

ต้องทำงานที่ใช้ความคิดหาไอเดีย เราจะสิ้นคิดอย่างไร

“นั่นมันคนละเรื่องกัน หมายความว่าพอจิตเราว่างแล้ว เราจะคิดเรื่องอนาคตก็ได้ มีคนเคยถามอาจารย์ว่าอาจารย์คะหนูทำงานหน่วยวางแผนการผลิตของบริษัท อาจารย์บอกห้ามคิด หนูจะทำอย่างไร ความหมายคือ พอเราคิดวางแผน คิดงานสร้างสรรค์ เขาเรียกเป็นความคิดที่ไม่จร ความคิดที่จำเป็น ความคิดที่ต้องอยู่กับมัน แต่ในระหว่างที่เราวางแผน เราสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง ก็ทำงานอยู่ตรงนี้

คือมนุษย์อย่างไรมันก็ต้องคิด แต่คำว่าสิ้นคิดก็คืออย่าคิดนอกเรื่อง ทำอะไรอยู่ก็คิดเรื่องนั้น คุยกับพวกคุณผมก็คิดเรื่องนี้ มีเสียงอะไรแวบเข้ามาก็ช่าง ตบไปก่อนเอาเรื่องนี้ก่อน ก็คือจดจ่ออยู่กับเรื่องนี้ หรือเวลาไปฟังใครเขา ฟังเขาก่อน เขาจะพูดดีหรือพูดร้ายก็ไม่ต้องตัดสินไม่ต้องจี๊ดไม่ต้องปรี๊ด จี๊ดคือของขึ้น ที่เราจี๊ดเราปรี๊ดเพราะอะไร เพราะเราฟังเขาปั๊บเราก็ตัดสินและมีเงื่อนไขทันที หรือไม่เราก็กลัว เสร็จเลยแบบนี้ เพราะฉะนั้นพอตัวจิตเราว่างๆ ทำงานไป ระหว่างที่ทำงานให้สังเกต

สมมติกำลังออกแบบวางแผนอนาคตเดือนนี้ แต่ระหว่างที่คิดไป ความคิดจะแทรกเข้ามา มีเรื่องอื่นๆ แทรก เข้ามา
เช่น ทำงานไปดีๆ ก็เผลอคิดขึ้นมาว่า แฟนด่ากูเมื่อเช้า อย่างนี้ก็เสร็จเลย ถ้าแวบไปก็กลับมานะ เพราะฉะนั้น การที่เราจดจ่ออยู่กับความคิดที่ใช้เพื่อทำงานเรียกว่ามีสมาธิกับการทำงานแล้ว ไม่ด่า ไม่บ่นอะไรใคร มันก็จะเกิดปิ๊งไอเดีย ส่วนใหญ่เราไม่ใช่แบบนั้น เราคิดไปเรื่อย ทำงานไปก็คิด นี่มันด่ากูหรือเปล่าวะ กูมาทำงานตรงนี้ทำซากอะไร อย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นความคิดไม่จร ก็คือความคิดที่เรากำลังทำงานอยู่นี่ไง”

 

 

คิดงานไม่ออก แล้วอาจารย์บอกว่าปล่อยมัน อะไรไม่ได้ก็ช่างมัน เรื่องงานจะทำอย่างไร

“เรื่องงานช่างมันได้อย่างไร ก็คิดต่อให้ได้ คิดไม่ได้ก็หายใจลึกๆ ก็หยุดคิด อย่าไปเอาชนะมัน เห็นไหมความคิดจรมาแล้วคิดงานไม่ออก กูก็ต้องคิดให้ได้ เจอความคิดจรเข้าไปแล้ว คิดไม่ออกตันก็หยุด พักผ่อนคุยกับเพื่อน ปรึกษาคนมากขึ้น แต่เราไม่ยอมผ่อนคลาย เหมือนแก้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ยิ่งแก้ก็ยิ่งไม่ไหวใช่ไหม เพราะฉะนั้นนักคอมพิวเตอร์เวลาติดโปรแกรมที่มันยากๆ แก้ไม่ออก เขาก็หยุดแค่นั้นเอง ก็ไม่ดันทุรัง นี่ก็สิ้นคิดเหมือนกัน พอติดก็หยุดสิจะดันทุรังทำไม พวกนี้มันต้องมีศิลปะ มันต้องมีจังหวะลูกเล่น หลักการง่ายๆ ก็คือ ตรงใจเราขอให้มันโล่งๆ เชื่อไหมยิ่งโล่งๆ จะไม่มีคำว่าคิดงานติดขัดเลย

ที่คุณคิดงานอะไรไม่ออกเลย เพราะใจคุณไม่โล่งคุณพยายามจะคิดงาน จิตคุณไม่ว่าง คุณเกิดตัวจะเอาชนะ คุณเกิดตัวท้อแท้ ว่าทำไมคิดไม่ออก นักออกแบบบางคนก็ประสาทกินคิดอะไรไม่ออก มันจะปวดหัวแล้วมันก็เซ็ง ให้หยุดไปก่อน ไปนอนแล้วก็ไปหาวัตถุดิบใหม่ๆ คุยกับผู้คนเดี๋ยวมันปิ๊งเอง”

 

 

อาจารย์ ฝึกมาอย่างไร และเจอได้อย่างไร

“สิ้นคิดเป็นแค่ขั้นตอนเดียวเท่านั้นเอง ต้องมองภาพใหญ่ว่า ท่อนที่หนึ่งฝึกอะไร ท่อนที่สองฝึกอะไร ท่อนที่สามฝึกอะไร จำไปคำเดียวก็หลงกันหมด มันต้องก่อนหน้านี้ฝึกอะไร คือฝึกกายานุปัสสนาให้รู้ จนจัดการความคิดจรได้ พอฝึกได้ก็ลองไปทำงาน แล้วทำงานปั๊บพบว่ามีความคิดจร ตบไม่ทันก็กลับมาฝึกใหม่ พอมาทำงานปุ๊บคุณก็เริ่มกังวล คิดไม่ออก งานไม่เสร็จ แล้วคุณก็สับสนกับคำว่าสิ้นคิดของอาจารย์ไปแปลว่าไร้สาระ ไปแปลว่าไม่รับผิดชอบ มันไม่ใช่นะ คนสิ้นคิดต่างหากเป็นคนรับผิดชอบ เพราะเขาทำเต็มที่ของเขาตรงนี้ แม้เจ้านายสั่งสิ่งที่ไม่เห็นด้วย แต่เจ้านายอยากจะได้อยากจะให้ทำ ปรึกษากับเจ้านายเรียบร้อยแล้วก็ไม่ต้องคิดแล้ว ทำก็คือทำให้ จัดให้ หรือแม้แต่คุณได้ยินคำว่าสิ้นคิด ก็ปรุงกันใหญ่เลยว่า สิ้นคิดจะไม่คิดได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนี้ล่ะจะทำอย่างไร ในหัวมี ‘ถ้า’ มากมายเลย คุณไม่เคยตบ ‘ถ้า’ พวกนี้ออก นี่แหละคือไม่สิ้นคิด แม้แต่คำสิ้นคิดคุณยังเอาไปคิดเลย”

 

 

ความคิดที่ไม่จรกับการพิจารณาต่างกันอย่างไร

“มันก็แล้วแต่คุณกำหนดคำศัพท์ อาจารย์ไม่ติดยึดกับเรื่องคำศัพท์ พิจารณาแปลว่าอะไรก็แล้วแต่คุณกำหนดศัพท์คำว่าพิจารณา”

 

 

ตอนเราอ่านหนังสือ เขาให้พิจารณา มันต่างจากให้เราคิดอย่างไร

“ถ้าคุณอ่านหนังสือ มันจะเกิดเหตุการณ์สามอย่าง คุณต้องจำไว้ว่าวิปัสสนามีสามขั้น ขั้นที่หนึ่งจิตคุณว่างหรือเปล่า แต่ปัญหาคือคุณไม่เคยฝึกกายรู้กายเลย คุณจะรู้ได้อย่างไรว่า จิตคุณว่างหรือไม่ว่าง คุณก็คิดไปเรื่อย แต่คนที่ฝึกมาดีแล้วเวลาเขาอ่าน ก็ไม่ฟุ้งซ่านไม่หวือหวาตาม นี่ก็คือพิจารณาภายนอก คือพิจารณาเรื่องที่อ่าน แล้วพิจารณาภายในจิตเราว่าเป็นอย่างไร แต่พวกเราส่วนใหญ่จะคิดพิจารณาปั๊บก็ไปที่สมองทันทีเลย เพราะฉะนั้นเวลาพิจารณา คุณก็ย้ายฐานมาที่ฐานกาย ฐานใจ แต่ขั้นที่หนึ่งคุณไม่ผ่าน คือคุณยังไม่ยอมย้ายฐานคิดเปลี่ยนมาเป็นฐานที่กายรู้ รู้ความร้อน รู้ความเย็น ก็ยังจะคิดอยู่นั่นแหละ และพยายามจะเอาความคิดมาแก้โจทย์ คือคุณไม่ยอมถอนตัวเองออกไปสิ้นคิดก็คือใช้กายเยอะๆ จนวันหนึ่งปัญญาฐานกายคุณมันคล่องตัวมากขึ้น นั่นแหละคุณถึงจะมาคิดแบบไม่จรได้ถึงจะจับความคิดจรได้ คุณต้องมาอยู่ที่ชานชาลาคุณถึงจะเห็นรถไฟแต่วันนี้คุณไม่ยอมฝึกวิชายืนชานชาลา เวลาไปพิจารณาอะไรก็แล้วแต่ คุณก็ใช้สมองเพราะเคยชิน

 

บางคนอ่านหนังสือธรรมะ ต้องตีความมันทุกคำเลย พิจารณาคืออะไร นั่นคือใช้สมอง
จนกว่าคุณจะยอมรับว่ามันมีปัญญาอีกชุดหนึ่งคือ ปัญญากาย คุณไม่ให้โอกาสกายได้ทำงาน

เพราะฉะนั้นขั้นแรกหยุดคิดก็คือสิ้นคิด แต่ให้กลับมาอยู่กับฐานกาย แล้วค่อยฝึกขั้นที่สอง เมื่ออยู่กับฐานกายมากๆ
แล้วจะจับความคิดจรได้ และเมื่อจับได้ชำนาญมากขึ้น ขั้นสุดท้ายจิตมันก็จะเป็นอิสระจากความคิด ส่วนใหญ่ขั้นที่หนึ่งฝึกไม่ดี พอไปฟังจากคลิปที่สอนก็เลยไปกันใหญ่ อะไรก็ตีความด้วยสมอง ต้องฝึกใช้ตัวรู้ นึกอะไรไม่ออกก็ถูๆ โต๊ะ ถูมือสร้างตัวรู้ หลวงตามหาบัวท่านให้ลูกศิษย์ถูพื้นทั้งวัน ถูกันจนกว่าจะสิ้นคิด ก็คือให้ฐานกายมันทำงานมากขึ้น และฐานคิดมันก็จะเบาลง ตอนอาบน้ำสังเกตไหมเราจะมีความสุข เพราะคุณคิดเรื่องอื่นไม่ได้ ตอนโดนหมอนวดมันเจ็บ มันมารวมอยู่ที่กาย ไม่ใช่สมอง ตอนอาบน้ำก็ถูตัว อากาศเย็นๆ ก็ย้ายมาอยู่ที่กาย คุณต้องเข้าใจการสร้างแบบฝึกหัดด้วยตัวเอง พอคุณจับหลักการได้ คุณจะทำอะไรก็ได้ ให้ตัวเรามันอยู่กับกาย หมอนวดมาคุณก็ยืมเป็นแบบฝึกหัด หมอนวดไปคุณก็หาเรื่องเอง เปลี่ยนจากใช้มือหมอนวดเป็นใช้ลมพัดก็ได้ ไปหัดเดินจงกรมให้เท้ามันกระแทกพื้นก็ได้ เราต้องเข้าใจหลักการก่อนว่าคืออะไร หลักการคือกายรู้กาย ใจโล่งโปร่งสบายแล้วก็ระวังความคิดจร แต่ความคิดประจำก็ต้องมีอยู่ ความคิดที่ต้องทำงานก็ต้องมีอยู่ แต่ความคิดที่ทำให้งานเสีย เรียกว่าความคิดจร ออกแบบวางแผนอนาคตได้ คิดแบบนั้นได้ แต่ถ้าออกแบบแล้วด่าลูกค้าไปด่าเจ้านายไป ด่าคนก่อนหน้าทำแผนเราพังอะไรอย่างนี้ อันนี้จิตเกิดอาการแล้ว โดนความคิดจรเล่นงานแล้ว

 

ไม่มีอะไรทำก็ถูตัวเอง นวดตัวเองก็ได้ รู้ รู้ รู้ อย่าอยู่นิ่ง คนนิ่งๆ ส่วนใหญ่ฟุ้งซ่านหรือไม่ก็บรรลุไปแล้ว
แต่คนที่เคลื่อนไหวเร็วเกินไปก็ไม่ใช่ สังเกตไหมนักปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่ก็จะไม่นิ่ง แต่ก็จะไม่ไวเกินไป
จนบรรลุไปแล้ว อย่างไรก็ได้ นิ่งก็ได้ไวก็ได้ ช่วงฝึกมันจะไม่นิ่ง สังเกตไหมคนที่ดูนิ่งๆ เหมือนดูสุภาพเรียบร้อยข้างในประสาทกินก็มี คนที่วิ่งพล่านทั้งวันไม่คิดอะไรเลยพอหยุดปั๊บคิดมากเลย

 

เพราะเขาวิ่งไปเขาไม่ได้รู้กาย เขาใช้สมอง จนกว่าเขาจะทิ้งฐานความคิดมาใช้ฐานร่างกายให้กลายเป็นตัวผู้รู้ ร่างกายไม่เคยโกหก สมองคือตัวโกหก เราชอบคบสมองไม่ชอบคบร่างกาย เรานั่งใช้คอมพิวเตอร์ ร่างกายบอกคุณว่าเมื่อยแล้วแข็งแล้ว คุณเคยฟังกันไหม คุณก็ทำต่อไป สุดท้ายไหล่ติด คุณก็คิดอีกว่าไม่เจ็บ ไม่เป็นไรช่างมัน อันนี้ไม่ใช่นะ มันต้องฟังกายไปด้วย

กายฟ้องอย่างไรต้องรักษากายไปด้วย เพราะไม่มีกายจะปฏิบัติธรรมได้อย่างไร ร่างกายจึงสำคัญ สัตว์มันไม่มีสติ
เทวดาก็ไม่มีร่างกาย มนุษย์ได้เปรียบมีกายได้ฝึกสติ มีกายไว้ฝึกสติ ไม่ได้มีสมองไว้ฝึกสติ สติไม่ได้อยู่ที่สมอง สติอยู่ที่กายรู้กาย”

 

 

พอบอกว่าให้มีสติ บางคนก็คิดว่ามีสติเอาก็ได้ใช่ไหม

“แบบนั้นคือเตือนตัวเอง เป็นสติระดับความคิดใช้สำหรับเตือนตัวเอง แต่ถ้าเป็นสติทางปฏิบัติธรรม คือรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับกาย คือให้กายรู้อะไรเกิดขึ้นที่กาย อะไรเกิดขึ้นที่ใจ พระอรหันต์ยังเดินเตะรากไม้ล้มคว่ำในป่าได้ บางคนพอไปเห็นแบบนั้น ก็บอกว่าท่านไม่มีสติ นั่นไม่เกี่ยวกัน สติอยู่ที่กาย ท่านไม่เห็นมันก็ล้ม พระอรหันต์เดินชนเสายังได้เลย ไปว่าท่านไม่มีสติเดินชนได้อย่างไร สติมันอยู่ที่กายไม่ได้อยู่ที่ความคิด มันต้องเข้าใจก่อน ปัญญาฐานกาย ปัญญาฐานใจ ปัญญาฐานคิด จะสุขไม่สุขมันอยู่ที่ใจต้องไม่ขยับ อะไรมันทำให้ใจขยับ ก็คือตัวคิด แล้วทำอย่างไรถึงจะเห็นคู่นี้มันมากระแทกกันได้ ก็ต้องหนีไปอยู่ที่ไหน ก็ไปอยู่ที่กาย ลองถูมือดูแบบนี้เห็นไหมมันย้ายมาอยู่ที่นี่แล้ว ยิ่งมีความคิดเข้ามาคุณจะรู้
แต่เราชอบไปดูลมหายใจไง ฝึกฐานกายอะไรก็ดูแต่ลม มันมีเทคนิคอื่นอีกก็ได้ สร้างตัวรู้แบบนี้ก็ได้ ตบตัวเองก็ได้
ได้ทั้งนั้นแหละ ขอให้กายมันได้ใช้งานให้มากขึ้น”

 

 

อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิก็ได้ใช่ไหม

“นั่งสมาธิก็เป็นเทคนิคหนึ่ง เพราะตอนนั่งมันตัดทุกอย่างออกหมดเลย เหลือแค่อย่างเดียว คือบังคับให้คุณดูสิ่งที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ ไม่อย่างนั้นคุณก็จะสะเปะสะปะ เขาก็เลยบีบให้คุณเหลืออย่างเดียว คือดูลมหายใจ ดูพุงยุบหนอพองหนอ เพราะฉะนั้นนั่งสมาธิก็สำคัญ ก็เป็นพื้นฐาน ก็ต้องนั่ง แต่ไม่ใช่นั่งตลอดเพราะชีวิตจริงมันไม่ได้เหลืออย่างเดียวให้ดู นั่งสมาธิก็เหมือนฝึกตีเทนนิสกับกำแพง เหมือนฝึกไดรฟ์กอล์ฟ แต่ชีวิตจริงมันต้องออกไปตีกอล์ฟต้องไปเจอคู่แข่ง นั่งแบบนี้คือช่วงชาร์ตแบตเตอรี่ สุดท้ายมันก็ต้องออกไปเจอชาวบ้าน นั่งสมาธิก็เป็นเทคนิคกายรู้กายเทคนิคหนึ่ง มีเทคนิคอื่นอีก เช่น ยิงธนู รำมวยจีน คัดอักษรจีน หรือคุณจะวาดภาพสีน้ำก็ได้”

 

 

พูดถึงเรื่องบรรลุนิพพาน สงสัยว่าคนที่ทำงานประจำมีภาระต้องทำงานมีโอกาสที่จะไปถึงจุดนั้นบ้างไหม

“โอกาสเท่ากันหมดทุกคน อยู่ที่คุณขี้เกียจหรือเปล่า ไม่ต้องไปอ้างว่าทำงานออฟฟิศหรอก ตัวขี้เกียจกับอีกอันก็คือตัวไม่เข้าใจหลักการ หลักการปฏิบัติธรรมไม่ได้มีสมาธิอย่างเดียว ทานเคยมีไหม ศีลเคยมีไหม มันต้องประกอบกัน คุณจะบรรลุนั่งภาวนาอย่างเดียวแต่ขี้เหนียวขี้งก เกี่ยงงาน หลบงาน อย่ามาโม้เลยทานยังไม่ได้เลย ด่าชาวบ้าน พอไปปฏิบัติธรรมเห็นใครทำผิดศีลก็ไปด่า ไม่ให้อภัยเขาเลย ไม่ให้โอกาสเขาเลย ศีลก็ยังไม่เป๊ะเลยใช่ไหม และศีลทุกอย่างมันอยู่ที่ใจไม่กระเพื่อม ยากกว่าศีลห้าอีกนะ ศีลข้อเดียวคือ จิตไม่เกิดอาการ ยากกว่าศีลห้า”

 

สมมุติว่าถ้าเราทำงานกับเพื่อนร่วมงาน สมมติเป็นคุณพ่อ
เขาโมโหบ่อยจนเป็นนิสัยจนไม่สามารถเข้าไปช่วยอะไรได้ มันจะมีวิธีอะไรบ้างที่เราจะช่วยท่าน

“ก็ฝึกทำใจให้สงบ แล้วก็ไปเรียนวิชาโค้ช (Coaching) วิชาฟา (Facillitating) วิชาเมนทอ(Mentoring) การจัดการกับคนคุณก็ต้องไปเรียนจิตวิทยา ฝึกจิตวิทยาเพื่อจัดการกับท่านแค่นั้นเอง อย่าไปจี๊ดท่าน อย่าไปมีข้อแม้กับท่าน ก็ทำของเราไป ก็ไปเรียน โค้ช ฟา เมนทอ เรียนแล้วก็เอาไปใช้ ถ้าตรงนี้เราไม่เป็น แล้วแหลมเข้าไป ก็สู้เงียบไว้ดีกว่า เฉยไว้ดีกว่า”

 

 

การฝึกไม่ให้อินกับการวาดภาพ จะช่วยเราวาดรูปได้ดีขึ้นไหม

“นักวาดภาพมันมีหลายระดับ นักวาดภาพที่ไม่อินก็เป็นนักวาดภาพที่ไม่ได้เรื่อง นักวาดภาพที่อินก็เป็นนักวาดภาพที่เก่ง แต่นักวาดภาพที่เก่งกว่าคือเขาวาดภาพโดยไม่อิน ‘วาดด้วยจิตว่าง’ ภาพมันจะออกมาลึกล้ำกว่าอินแล้ววาด มันต่างกัน ศิลปินชั้นเลิศวาดด้วยจิตว่าง ถามว่าจะมีศิลปินชั้นเลิศสักกี่คน วาดด้วยจิตว่าง แค่วาดแล้วทิ้ง ยกตัวอย่าง ศิลปินจีนในสมัยโบราณดูธรรมชาติเสร็จ ก็ไม่อินกับมัน แต่เห็นอะไรในธรรมชาติก็วาด วาดแบบจิตว่าง เสร็จแล้วก็ทิ้ง ของเราพอวาดเสร็จ สวยไหมสวยไหม อย่างนี้เรียบร้อยกิเลสทั้งนั้น ก็เก่งนะก็ยอมรับว่าเก่งแต่ยังไม่เก่งกว่า”

 

          “ดูภาพวาด เห็นใจตัวเองเคลื่อนไหวไปตามภาพไหม วิจารณ์ภาพไหมชอบภาพไหม แล้วก็ตบทิ้ง แล้วก็แค่ดู ฝรั่งดูศิลปะเขาไม่ได้ดูว่าสวยไม่สวย เขาดูว่าไอเดียแปลกดี ก็เก็บเอาไว้คิดทำมาหากินเรื่องอื่นต่อ เขาไปดูเพื่อให้สมองมันแตกปลาย ไม่ใช่ไปชมสวยจังเลย วาดได้อย่างไร เพราะฉะนั้นงานศิลปะมีอยู่ทุกหนแห่ง ประเทศไทยศิลปะน้อยเกินไป มันเป็นศิลปะที่ทำให้สมองมันแตก เราไม่เข้าใจ ศิลปะทำให้คนมีทางเลือกมากมาย เมื่อคุณมีทางเลือกคุณก็ไม่เป็นทุกข์ มีทางเลือกเอ บี ซี เต็มไปหมด”

 

การที่เราจะเก่งกว่า เราต้องผ่านขั้นอินก่อนไหม หรือข้ามไปได้เลย

“ส่วนใหญ่ต้องเคยผ่านอินมาแล้ว แต่ถ้าจะเก่งกว่าก็ต้องเลยขั้นอิน ตอนไม่อินก็ห่วย พออินก็ดีขึ้น แต่สุดท้ายไม่อินแต่ทักษะมันมาแล้ว ทักษะมันได้ วาดโดยไม่อิน มนุษย์ไปใส่ไข่กันเอง ถามว่าคุณรู้ได้อย่างไรว่าภาพนี้สวยไม่สวย ขอนิยามคำว่าสวยหน่อย กิเลสทั้งนั้นแหละ ศิลปินดังอย่างปีกัสโซ่ ไม่เคยสนใจว่ามันสวยหรือไม่สวยและเขาก็ไม่สนใจด้วยว่ามันเหมือนหรือไม่เหมือน แค่วาด ณ วินาทีนั้นอยากจะบรรยายอะไรก็เขียนมันออกมาก็แค่นั้นเอง แล้วมันก็จบ แต่เราไปดื่มด่ำกับมันวาดทุกวันแล้วพอมีใครชมก็ปลื้ม อินไปเรียบร้อยแล้ว

 

คุณดูหนังแล้วคุณอินกับมัน คุณก็สอบตก บางคนก็มาบอกอาจารย์ว่า อย่างนั้นดูภาพยนตร์มันก็ไม่สนุก พอไม่อินปั๊บคุณก็จะเห็นเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์มากขึ้นกว่าเดิม สมมุติว่าคุณเคยดูภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับการโค้ช แต่พอคุณมาดูครั้งที่สองคุณรู้สึกอย่างไร ไม่อินเท่าครั้งแรก แต่คุณเห็นขั้นตอนของการโค้ชมากขึ้น เห็นไหมนี่คือคนไม่อิน คุณถูกหลอกมาให้อิน เพราะฉะนั้นคุณเป็นเหยื่อของนักโฆษณาตลอดเวลา ใครโฆษณาอะไรมาคุณก็ซื้อ เพราะคุณอินอยู่ตลอดเวลา จิตมันเกิดอาการอยู่ตลอดเวลา”

 

อาชีพนักแสดงไม่อินแล้วจะเล่นได้อย่างไร

“ก็เหมือนเดิมนักแสดงที่เก่งก็อิน แต่เก่งกว่าก็ไม่อิน เขาก็ทำได้ และสุดท้ายก็พบว่า แล้วจะแสดงไปทำไม แสดงไปสนองกิเลสตัวไหน มีความอยากอะไรที่มาแสดง หิวเงินหรือว่าเคยดังมาก่อน เรียกร้องความสนใจว่าฉันเคยดังมาก่อนหรือเปล่า กิเลสทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้นศิลปินบางคนไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ นักแสดง หรืออะไรก็แล้วแต่ พอถึงจุดหนึ่ง ถึงจุดสูงสุด พอเข้าใจสัจธรรมแล้วก็เลิกอาชีพนั้น ไปเริ่มต้นทำอย่างอื่นใหม่ นี่คือศิลปินที่แท้จริงคือต้องรู้จักทิ้งด้วย แต่ศิลปินที่ยังเป็นศิลปิน และจะยังเป็นศิลปินอยู่ ถือว่ายังไม่จบ ยังไม่สุดของศิลปิน สุดของมันคือเลิก วงดิเอ็มพอสซิเบิ้ล ถามว่าเลิกเพราะอะไร ถึงจุดอิ่มตัว ฟังแล้วรู้สึกอย่างไร วงดังๆ ถึงจุดหนึ่ง เขาก็แยกวง พอแล้ว เก็บไว้เป็นตำนาน เพราะว่าใจเขาเปลี่ยนไปแล้ว เขาไปสู่เรื่องอื่นแล้ว มีอะไรทำมากกว่านั้น ตอนนั้นเขาวัยรุ่นก็แต่งเพลงให้วัยรุ่นด้วยกันฟัง ตอนนี้แก่แล้ว อยากให้คนได้อะไรดีดี ได้สิ่งที่มันเป็นสาระมากกว่าบันเทิงทางอารมณ์ เขาก็เปลี่ยนไปเรื่องอื่น เพลงก็จะเปลี่ยนไปถูกไหม

 

อย่างนักร้องไทยหลายคนตอนหนุ่มๆ เพลงก็ร็อกแอนด์โรล โหด เสียงดังทั้งอัฒจันทร์เลยใช่ไหม พอแก่เพลงเขาก็เริ่มมีความหมาย พอแก่มากขึ้นเขาเริ่มไม่ใส่เนื้อหาไว้ในเพลงแล้ว แก่มากขึ้นก็เลิก มันมีจุดจุดหนึ่งที่เข้าใจมันแล้ว คือทุกวิชามันมีดีหมด เมื่อคุณเข้าถึงสุดยอดของวิชานั้นๆ แล้วคุณจะเจอสัจธรรม ถึงจุดนั้นควรจะวาง พระพุทธเจ้าก็ทำให้ดูแล้ว ท่านไปที่สุดแห่งการสอน ไปที่สุดแห่งการค้นพบ สุดท้ายก็วาง นี่คือท่านทำให้ดู แต่เราดันไปวางตอนที่ยังไปไม่สุด

 

ศิลปะมันทำให้ใจคุณงดงาม แต่คุณยิ่งใช้ศิลปะใจคุณยิ่งไม่งดงาม คุณเริ่มเห็นแก่ตัว คุณเริ่มหวงของ ห่วงตัวเองไม่มีกินก็เลยล็อคลิขสิทธิ์วุ่นวายไปหมดเลย อันนี้ก็ไม่ใช่แล้ว คุณเริ่มไม่ใช่ผู้ให้แล้ว เพราะตอนแต่งเพลงครั้งแรกคุณอยากให้คนทั้งโลกมีความสุข สุดท้ายพอมีเรื่องเงินทองเข้ามาคุณก็ล็อคแล้วนะ อย่ามาเล่นซ้ำฉันนะ ฉันฟ้องนะ อย่างนี้ก็แสดงความเห็นแก่ตัวแล้ว แสดงว่าใจคุณไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่แรกแล้ว

 

คุณไม่ได้เป็นศิลปินผู้ให้ คุณก็เลยเป็นศิลปินที่เก่งแต่ไม่ใช่เก่งกว่า เป็นศิลปินประมาณได้เกรดดี แต่เกรดเอเขามองอีกแบบว่า จะเลียนแบบก็ไม่ว่ากัน มีความสุข ไปแต่งใหม่เอาก็ได้ พระพุทธเจ้ายังไม่มีลิขสิทธิ์เลย ไปถึงขั้นนั้นแล้ว ขั้นเป็นทาน ศีลได้ ภาวนาได้ พูดไปเขาก็ทำมาหากิน ก็ให้เขาเก่งไปเถอะ แต่ถ้าจะเก่งกว่าใจมันต้องสูง ศิลปินใจสูงๆ ก็มีเยอะ เขาก็ไม่สนใจ เพลงทำให้คุณมีความสุข เขาก็มีความสุข แล้วเงินไม่มาก็ไม่เป็นไร ถือว่าได้เป็นผู้ให้ แนวเพลงเขาจะเป็นธรรมะมากขึ้น แนวเพลงจะเป็นสัจธรรมมากขึ้น สุดท้ายไม่มีแม้แต่เนื้อเพลง กลายเป็นเครื่องดนตรีล้วนๆ

 

นึกภาพออกไหมนักดนตรีที่เก่งๆ สุดท้ายเนื้อร้องหายหมด ศิลปินที่เก่งจริงๆ เขาไม่สนเนื้อเพลงแล้ว หลอดคอเป็นแค่เครื่องดนตรีชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง ไม่ต้องตีความก็ได้ว่าอะไรที่บรรยายออกมา ไปถึงขั้นฟังเพลงแล้วฟังเป็นคลื่นเสียง ไม่ได้ตีความแล้วก็คือสิ้นคิดแล้ว ฟังดนตรีก็เป็นคลื่นที่มากระทบ อย่างคุณฟังดนตรีคลาสสิก ถ้าคุณไม่เคยฝึกมาก่อน แล้วคุณนั่งฟังเพลงคลาสสิกคุณหลับแน่นอน แต่คนที่ปฏิบัติธรรมมาดีๆ ขั้นสูงๆ ฟังเพลงคลาสสิกเพื่อให้จิตว่าง พอจิตว่างปุ๊บคุณก็จะได้ยินคลื่นเสียงดนตรีเป็นร้อยๆ ชิ้น ชัดทุกชิ้นเลย ฟังเป็นคลื่นเสียงดูว่ามีความถี่สูง ความถี่แรงเข้ามากระทบหูกระทบกาย ก็ดูลมหายใจเข้าไปทำใจให้สงบ ฟังคลื่นแห่งดนตรีแล้วมาย้อนดูใจ คลื่นเสียงตัวนี้กระแทกที่ตันเถียนบน ตันเถียนกลาง ตันเถียนล่าง (จุดสะสมลมปราณ) ดูลมหายใจก็คือเดินลมปราณแล้วก็นั่งฝึกไป เพราะฉะนั้นฟังเพลงคลาสสิกได้เป็นชั่วโมง ก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะรู้ว่าคือการภาวนา ขณะฟังก็จะไม่ปล่อยความคิดจร ก็สิ้นคิดเหลือแต่เพลง สร้างตัวรู้ขึ้นมา ฟังเพลงก็วิปัสสนาได้

 

เป็นการฝึกสร้างความเคยชินใหม่ นั่นคือรู้กายรู้ใจก่อนแล้วค่อยคิด ก็เลยพูดสั้นๆ ว่าสิ้นคิด
ถ้าใจคุณมันไม่นิ่งก็หยุดคิด ถ้าใจคุณโล่ง คุณก็คิดได้ จะคิดอนาคตจะทำงานสร้างสรรค์ก็ว่ากันไป

 

จะร้องเพลงจะเล่นดนตรีอะไรก็ได้ขอให้จิตคุณว่าง มันก็ไม่อิน เพราะฉะนั้นช่วงต้นเพลงก็ฟังไม่รู้เรื่อง เพราะมันไม่อินใช่ไหม สุดท้ายก็ถามอีกทีว่าแล้วทำไมต้องเล่นดนตรี ก็เพื่อฝึกสมาธิ ประโยชน์มันก็อยู่ตรงนั้นก็คือฝึกสมาธิ แต่หลายคนก็หลงไปอินกับมัน แต่ไหนจะเป็นแล้ว ก็ไปให้สุดๆ ของศิลปินก็คือไปเป็นศิลปินขั้นสูงเลย ทำเพลงด้วยการเป็นผู้ให้ ไม่อินกับมันด้วยและก็ไม่เสียดายด้วยที่แต่งเพลงนี้เสร็จ เขาร้องกันทั้งแผ่นดิน ก๊อปปี้แหลกลาญก็มีความสุข และจะไม่มีความสุขก็ได้ คือไม่เอาทั้งสุขและไม่สุข คือสรุปแล้วเลิกตัดสิน”

 

สิ้นคิดเพื่อสุขอย่างไร

“มาถามว่าเพื่อความสุขอาจารย์ก็บอกว่ามันไม่ใช่ เพื่อที่จะสุขไม่สุขก็ไม่รู้นะ มันไม่มีทั้งสุขและไม่สุข มันไม่มีทั้งทุกข์และไม่ทุกข์ ไม่มีก็คือออกจากการตัดสินให้หมดเลย ผมก็ไม่รู้ว่านี่เรียกว่าสุขหรือไม่สุข ถ้ามีคนมาถามอาจารย์วรภัทร์ว่า อาจารย์มีความสุขไหมครับ เห็นอาจารย์ร่าเริงแจ่มใส ผมก็ไม่รู้ แต่ถ้าพวกคุณคิดกันว่าเป็นความสุขก็ได้ เอาใจคนฟังหน่อย แต่มาถามอาจารย์ก็ไม่รู้ว่านี่สุขหรือนี่ทุกข์ก็ไม่รู้เพราะมันไม่สุขและมันก็ไม่ทุกข์ และมันก็ไม่ตัดสินด้วยว่านี่ถูกหรือเปล่า นี่สุขหรือเปล่า ตราบใดที่ตรงใจมันยังโล่งๆ รู้กายตลอด ดีดความคิดจรออก ทำสามอย่าง ไม่คิดอะไรมาก ผมเป็นคนไม่ค่อยฉลาดมากนะเพราะผมใช้ฐานกาย จะมาถามเรื่องสมองไม่ฉลาดนะ แค่โล่งๆ ทำๆ ไปแล้วมันก็ดีเองแหละ เขาเรียกว่าดีไม่ดีก็ไม่รู้ สุดท้ายมันก็ไม่ต้องคุยอะไรกันแล้ว สบายๆ ถ้ายังตัดสินกันทั้งวัน เป็นผู้พิพากษากันทั้งวัน นั่นแหละคือพวกที่ยังคิดอยู่ เข้าใจไหม”

 

ไม่ต้องคิด just do it ทำไปตามหน้าที่มีความรับผิดชอบ ไม่ทำใครเดือดร้อน ใจเราโล่งๆ แล้วก็ทำหน้าที่ไป

ติดตามอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ ได้ใน facebook : Woraphat Phucharoen และแฟนเพจ :
สอนคน_ให้เป็นโค้ช หรือไปร่วมกิจกรรมได้ที่โพรงกระต่าย เอกมัย ซ.2 กรุงเทพฯ

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save