ความสุขวงใน

เข้าใจตนเองผ่านศิลปะการแสดง

‘ศิลปะการแสดงเป็นวิชาที่ทุกคนควรเรียนรู้’ คุณหลุยส์ กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Blind Theater ได้อธิบายให้เราได้เข้าใจถึงเนื้อในที่แท้จริงของคำว่าศิลปะการแสดงที่เป็นมากกว่าแค่การแสดง

เส้นทางการแสดงของคุณหลุยส์ มาจากการจับพลัดจับผลูได้เข้าเรียนในสาขาวิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จากการที่ค้นหาตนเองในสิ่งที่คิดว่าจะทำอะไรดี จนมาวันนี้ วันที่คุณหลุยส์คิดที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มา ไปทำประโยชน์เพื่อคนอื่น

ศิลปะการแสดงนั้น ในความหมายของคนในวงการการแสดง ก็คือทุกอย่างที่ทำการ ‘แสดง (acting)’ ให้ผุ้ชมสามารถสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็น การรำ การเล่นละคร การร้องเพลง การเต้น การเล่นดนตรี หรือแม้แต่มวยปล้ำ เพราะมวยปล้ำบางอย่างก็ต้องใช้การแสดง เหล่านี้เรียกว่าการแสดงทั้งสิ้น

ศิลปะการแสดง การละคร เป็นวิชาหนึ่งที่ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรภาคบังคับของโรงเรียนทางเลือก ดังเช่นโรงเรียนไตรพัฒน์ Tripat Woldorf School ที่คุณหลุยส์เข้าไปเป็นครูสอนเด็กๆ มัธยมในเรื่องของการแสดง ที่น่าสนใจคือ ทำไมจึงต้องมีการบรรจุวิชาศิลปะการแสดงลงไปในหลักสูตรภาคบังคับ โดยมีความสำคัญเทียบเท่ากับหน่วยกิตวิชาเรียนหลักอื่นๆ เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เลยทีเดียว

สิ่งที่ซ่อนอยู่ในศิลปะการแสดง (Acting) คือ ในมนุษย์คนหนึ่งจะประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ สมองคือความคิด (Thinking) ใจคืออารมณ์ (Soul) และร่างกาย (Physical) ในชีวิตประจำวันหรือธรรมชาติของมนุษย์ จะมีทั้ง 3 ส่วนนี้สอดประสานกัน เช่น เวลาเราจะเดินทางไปไหน ร่างกายก็ต้องไปด้วย หรือเวลาจะโบกรถแท็กซี่ เราก็มีสมองที่บอกว่าเราจะทำสิ่งนี้เพื่ออะไร ไม่มีใครที่อยู่ดีๆ ก็ใช้มือโบกรถโดยไม่มีเหตุผล ดังนั้นในทุกขณะของคน การกระทำที่เกิดขึ้นก็จะมีที่มาที่ไป มาจาก 3 ส่วนนี้

วิชาที่ทำงานกับเรื่องของ Soul คือวิชาศิลปะ แต่เราเรียนแค่วาดภาพ และกลับกลายเป็นไม่ใช่เรื่องของ soul แต่เป็นเรื่องของการวาดภาพเหมือนไม่เหมือน แต่ศาสตร์การแสดงเป็นวิชาที่ทำงานเกี่ยวกับ soul เช่น เราเห็นความโมโห เฝ้ามองเห็นอารมณ์ของคุณผ่านการแสดง เราจะสามารถแยกความคิดออกจากใจ แยกใจออกจากกาย ซึ่งเป็นวิชาในเชิงปฏิบัติที่ทำงานกับกายเยอะๆ ทำให้คนเข้าใจได้ว่าการแยกทั้ง 3 ส่วนนี้ทำอย่างไร การแสดงต้องใช้ทั้ง 3 ส่วน เพื่อให้คนเราสามารถรับรู้ที่มาที่ไปของอารมณ์ต่างๆ ตั้งแต่การเริ่มก่อตัวจากความคิด จนกลายมาเป็นอารมณ์ และสุดท้ายแสดงอารมณ์ออกมาผ่านร่างกายเป็นการกระทำ

ในส่วนของการโชว์คือการที่ร่างกายทำงานอย่างอัตโนมัติ ในการแสดงท่าทาง การเคลื่อนไหว ที่ถูกจัดวางมาเป็นรูปแบบแล้ว เราแค่เคลื่อนไหวร่างกายไปตามที่กำหนด เหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกโปรแกรมคำสั่งมาแล้ว ดังนั้นในการโชว์นี้ จะไม่มีส่วนของการคิดเกิดขึ้น การโชว์ก็นับว่าเป็นธรรมชาติ เพียงแต่ไม่มีการสอดประสานกันของ 3 ส่วนเข้าด้วยกันดังเช่นการแสดง (Acting)

การที่เด็กๆ ได้รู้จักว่าคนเราประกอบด้วย 3 ส่วนนี้ จะทำให้เด็กเข้าใจถึงกระบวนการทำงานของการเกิดอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น สามารถที่จะควบคุมอารมณ์ ตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ได้ดี สามารถเรียนรู้ได้ว่าความคิด อารมณ์ และร่างกาย สามารถแยกออกจากกันได้ ซึ่งช่วยให้เด็กสามารถดึงศักยภาพของส่วนต่างๆ มาใช้ได้ เช่น หากอยู่ในสังคมที่ถูกปิดกั้นทางอารมณ์ไม่ให้แสดงความรู้สึก ทำให้การทำงานของทั้ง 3 ส่วนไม่สอดประสานกัน ในขณะที่การแสดงจะมาช่วยให้คนเราเข้าใจความละเอียดอ่อนในเรื่องของอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น

บางคนโกรธมาก บางคนโกรธน้อย บางคนแค่เสียใจเล็กน้อย หรือบางคนเสียใจสุดๆ อารมณ์บางอย่างเพิ่งเคยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสถานการณ์จริง และบางครั้งเราควบคุมอารมณ์นั้นไม่ได้ จนอาจทำให้เกิดการสูญเสีย แต่อารมณ์ก็เหมือนลม เมื่อลมพัดผ่านไป ความจริงก็เริ่มปรากฏถึงผลกระทบที่ตามมาว่ามีอะไรบ้าง การแสดงก็จะมาช่วยให้คนเราได้เห็นอารมณ์พวกนี้ก่อนในสถานการณ์จำลอง ในพื้นที่ที่ปลอดภัย

นอกจากเรื่องของการแสดงที่ 3 ส่วนของมนุษย์ต้องสอดประสานกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องใช้ในการแสดงก็คือ ความเชื่อหรือจินตนาการ ความเชื่อหรือจินตนาการนี้เอง เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแสดง แม้จะเป็นเรื่องสมมติ แต่เราต้องทำความเข้าใจ และเชื่อว่าสิ่งๆ นั้นมีอยู่จริง และถ้าเราทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจากจินตนาการ ใช้สติประกอบปัญญาในการทำงานของ 3 ส่วนนั้น ก็จะทำให้สามารถทำการแสดงได้โดยที่ไม่ยึดติด ไม่หลง ไม่จมไปกับตัวละครที่สร้างขึ้น หรือเราจะเรียกได้ว่าแท้ที่จริงนั้น ชีวิตก็เหมือนตัวละครที่เราต้องใช้สติประกอบปัญญาในการดำเนินชีวิตเช่นกัน

คุณหลุยส์ได้รู้จักกับน้องผู้พิการทางสายตาท่านหนึ่ง ทำให้ได้ทราบว่าผู้พิการทางสายตานั้น เขาไม่เข้าใจเรื่องของการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปแบบการใช้ร่างกายในการประกอบท่าทางต่างๆ เช่น การเต้น ความต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวร่างกาย น้องจะรู้จักแค่เพียงการยืน นั่ง นอน เดินเท่านั้น คุณหลุยส์จึงคิดที่จะสอนการแสดงในรูปแบบของการเคลื่อนไหวให้แก่น้องๆ เหล่านี้ และเกิดเป็น ‘Blind Theater’ ขึ้น ที่ ‘ช่างชุ่ย’ พื้นที่ศิลปะย่านฝั่งธนบุรี เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจในศิลปะการแสดงได้ในทุกๆ รูปแบบ และสำหรับบุคคลทุกประเภท วิธีการชม Blind Theater มีแนวคิดว่า จะเป็นไปได้หรือไม่ที่นักแสดงและผู้ชมจะอยู่ในที่ๆ เดียวกัน ลองให้ผู้ชมได้รับชมผ่านประสาทสัมผัสที่ต่างจากการรับความรู้สึกในโสตอื่นนอกจากการมองเห็น เป็นพื้นที่การเรียนรู้ในความมืด

การสนทนากับคุณหลุยส์ในวันนี้ ได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับการแสดงของคนเราในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ศาสตร์ของการแสดง เพื่อไปเป็นนักแสดง เป็นดาราเท่านั้น แต่มันคือการฝึกที่จะรู้จัก 3 ส่วนของมนุษย์ ได้แก่ ความคิด อารมณ์ และร่างกาย

โลกคือละคร เป็นคำกล่าวที่คุณหลุยส์มีความเห็นว่าเป็นเรื่องจริงที่สุด ละครมีเรื่องราว ชีวิตของคนเราก็มีเรื่องราวต่างๆ เช่นกัน และเรานี่แหละที่เป็นนักแสดงในโลกของความเป็นจริงที่ต้องดำเนินกันต่อไป ดังนั้นการแสดงเป็นพื้นฐานที่ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรจะเรียนรู้เพื่อความเข้าใจในการดำเนินชีวิตจริงๆ

 


ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save