ความสุขวงใน

คืนความสุขให้องค์กรด้วย HRD 4.0

T.G.I.F (Thank God It’s Friday)
วลีคุ้นหูที่เรามักพบเห็นในโลกโซเชียลมีเดีย โลกของคนทำงานที่ผ่านเช้าวันจันทร์มาอย่างยากลำบาก รู้สึกทนทุกข์ทรมานในการทำงานแต่ละวัน และได้แต่ภาวนาให้มันถึงวันศุกร์เสียที มันวนอยู่ในวงจรนี้ไปหลายเดือน จนหลายปี หลายคนโชคดีได้ออกมาทำงานที่ตนเองรัก แต่ก็อีกหลายคนที่ยังต้องทนทำงานในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ชอบ เพียงเพื่อความอยู่รอดหรือรายได้ในการดำรงชีวิตตามธรรมดาที่ต้องกินต้องใช้

วันนี้เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณธนกฤต จรัสรุ่งชวลิต ที่ปรึกษาจากบริษัทไวท์แรบบิทแมเนจท์เมนต์ จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทใหญ่ๆ หลายองค์กรทั้งบีกริม มิตรผล 3Kแบตเตอร์รี่ และอีกหลายบริษัทน้อยใหญ่ เขาเล่าให้เราฟังว่าจากการที่ได้เข้าไปสัมผัสกับคนทำงาน ถึงแม้เนื้องานจะต่างกันแต่กลับมีสิ่งที่เหมือนกันคือ ‘คนเหล่านั้นไม่มีความสุข’ ทั้งที่จริงๆ แล้วต้องใช้ชีวิตอยู่ในที่ทำงานเกือบครึ่งชีวิตเลยทีเดียว บางคนที่ทนอยู่แบบนี้ไม่ได้ ก็ออกไปเป็น start up (ธุรกิจเกิดใหม่ที่โตเร็ว) ไปเริ่มธุรกิจของตัวเอง บางคนก็ลาออกเพื่อหาที่ทำงานใหม่ และหวังว่าจะพบความสุข แต่อีกหลายคนก็ยังต้องทนทำงานต่อไป

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัญหาของทุกๆ ที่ แต่จะมีสักกี่บริษัทที่นึกถึงและตระหนักกับเรื่องราวเหล่านี้ ผู้บริหารหลายๆ องค์กรก็เพียงแต่ปล่อยให้มันเป็นไป ฉันได้กำไรก็พอ แต่ก็มีหลายองค์กรที่เริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ก็เริ่มที่จะหาเครื่องมือมาช่วยมาไขมาซ่อมเพื่อให้ความสุขขององค์กรที่มันชำรุดที่มันทรุดโทรมไป กลับมาเบ่งบานอีกครั้ง และนั่นคือบทบาทของคุณธนกฤตที่ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษา เข้าไปช่วยองค์กรต่างๆ เพื่อให้กลายเป็น ‘องค์กรแห่งความสุข’ อย่างยั่งยืน

เจ้าของผืนป่า

มันไม่ง่ายหากผืนป่ามีพื้นดินอันแห้งผาก ขาดน้ำหล่อเลี้ยงมาเป็นเวลานาน เฉกเช่นเดียวกันกับคนในองค์กร ที่แต่ละคนก็ไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน เพียงแต่ให้มันผ่านไปวันๆ สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่เจ้าของผืนป่าว่าพร้อมและจริงใจแค่ไหนที่จะฟื้นฟูและกอบกู้มันอีกครั้ง นั่นทำให้คุณธนกฤตบอกเราว่า “ก่อนที่ผมจะเข้าไปช่วย ผมจะเข้าไปพูดคุยกับผู้บริหารก่อนว่าเข้าใจตรงกันใช่ไหม เราจะต้องพัฒนาไปในทิศทางเดียวกัน บางองค์กรเจ้านายงกๆ เค็มๆ นี่ผมก็ไม่ช่วยนะ ก็ถอยเหมือนกัน ถ้าวิสัยทัศน์ไม่ตรงกัน” ซึ่งถ้าพบว่าเจ้าของผืนป่าพร้อมที่จะพัฒนาและฟื้นฟูอย่างแท้จริง เขาก็พร้อมที่จะมอบเครื่องมือ และช่วยแก้ไขไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน ซึ่งเครื่องมือที่ว่านี้คือ HRD 4.0 หรือการจัดการทรัพยากรมนุษย์ยุค 4.0

HRD 4.0 ก้าวไปพร้อมกับ Thailand ยุค 4.0

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘คน’ คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด การทำให้องค์กรมีความสุข ก็คือการทำให้คนมีความสุข คุณธนกฤตเล่าให้เราฟังถึงทิศทางของการพัฒนาองค์กรคร่าวๆ ว่า “จริงๆ แล้วการพัฒนาองค์กรนั้นก็มีมาทุกยุคทุกสมัย เป็นศาสตร์ที่พัฒนามาเรื่อยๆ ยุคแรกๆ จะเป็นยุค HRD 1.0 มันก็จะเป็นยุคของผลงาน ด้วยความที่เอากำไรเป็นที่ตั้ง องค์กรก็จะงกๆ หน่อย เถ้าแก่ก็จะลดต้นทุกอย่าง ไม่ค่อยดูแลสวัสดิการพนักงาน” สิ่งเหล่านี้ทำไปก็เพื่อความอยู่รอด

เขาเล่าต่อว่า “พอมายุค 2.0 ก็มาเน้นเรื่องคนมากขึ้นกลายเป็น 3P คือ Profit-People-Planet ก็มาสนใจเรื่องพนักงาน (People) และสิ่งแวดล้อม (Planet) มากขึ้น ไม่ใช่แค่กำไร (Profit) เพียงอย่างเดียว”

“และมาในยุค 3.0 มันเป็นยุคของ spiritual แล้ว มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ มันเริ่มย้อนกลับมาดูตัวเองแล้วว่าเกิดมาทำไม ฉันเกิดมาเพื่อทำงานแล้วก็ตายหรอ” จากที่เขาเล่ามามันดูเป็นสิ่งที่อยู่ในใจใครหลายๆ คน ว่าเราจะต้องทนตื่นเช้าไปทำงานในวันจันทร์ แล้วรอให้มันผ่านพ้นไปจนถึงวันศุกร์ แล้วความสุขมันเกิดขึ้นแค่ในช่วงเวลาคืนวันศุกร์เท่านั้นหรือ การออกไปฉลอง หรือแม้แต่ไปเที่ยวในวันเสาร์อาทิตย์ เป็นสิ่งที่ตอบโจทก์ความสุขในชีวิตนี้ได้จริงหรือเปล่า

การค้นหาคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ก็ถือเป็นภารกิจหนึ่งของการได้เกิดมาได้หรือไม่ หลายๆ คนโชคดีที่ได้ค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบ ได้ทำงานที่ตัวเองรัก แต่ก็มีอีกหลายคนบนโลกนี้กลับหาไม่เจอ แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นข้ออ้างที่เราจะทำงานไปวันๆ หรือเปล่า เขากล่าวต่อไปว่า “ยุคนี้เราก็เริ่มย้อนกลับมาหาตนเอง คือเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานแล้วตาย จริงๆ เราเกิดมาเพื่อทำประโยชน์ให้คนอื่นด้วยรึเปล่า มาเพื่อเป็นตำนานรึเปล่า เราได้ทำอะไรที่มีคุณค่าต่อตัวเอง และคนอื่นบ้างไหม” ถึงแม้งานนั้นจะไม่ใช่สิ่งที่เรารัก หากแต่เป็นประโยชน์ นั่นทำให้เราได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต อาจจะทำให้เราเอนเอียงเริ่มมารักมันขึ้นมาบ้างก็ได้

เขาเล่าต่อว่า “สุดท้ายเป็นยุคของทีม จากยุค 3.0 ที่เราเริ่มตอบตัวเองได้ว่าเกิดมาทำไม เราสมดุลมากขึ้น เริ่มเข้าใจตัวเอง และเริ่มสร้างคุณค่าที่มีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น พอมาถึงยุค 4.0 คือทุกคนในองค์กรมีบทบาทในการสร้างคุณค่าได้เหมือนกัน เราเรียกว่า ‘oneness (การเป็นหนึ่งเดียวกัน)’ หรือ Teamwork นั่นเอง คนร้อยคนในองค์กร ทุกคนมีใจเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ใครเหนื่อยเราก็รู้ว่าเหนื่อย เราก็ต้องเข้าไปช่วย เราทำงานของเรา แต่ก็รับรู้เรื่องของคนอื่นด้วย” และถ้าพูดถึงหน้าที่ของคนในองค์กร เขาก็เล่าให้ฟังต่อว่า “ณ สถานการณ์นี้เราต้องมีบทบาทอะไร เราก็แสดงบทบาทนั้น เราต้องเป็นคนนำ เราก็นำ พออีกสถานการณ์เพื่อนเหมาะสมที่จะนำ เราก็เป็นผู้ตามที่ดี เหมือนมีเส้นใยบางๆ ที่เชื่อมทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน”

กาลครั้งหนึ่งนานมา การเดินทางได้เริ่มขึ้นแล้ว

การเดินทางจากหนึ่งไปสอง ไปเรื่อยๆ จนถึงสี่ ระหว่างทางเดินนี้เราเรียกว่า ‘Journey Line’ ซึ่งเราต้องเข้าใจในเรื่องพัฒนาการขององค์กร เหมือนอย่างเด็กจะจับดินสอเขียนได้ เขาต้องฝึกกล้ามเนื้อน้อยใหญ่ที่นิ้วจนคล่อง เล่นทราย เล่นดินน้ำมัน หัดจับตะเกียบ จับกรรไกรก่อน” คุณธนกฤตเทียบให้เราฟังอย่างเข้าใจ และเล่าต่อว่า “จาก 1.0 ไป 2.0 ซึ่งเพิ่มเรื่อง planet และ people ก็ใช้เครื่องมือมาตรฐานแรงงาน และดูแลพนักงานให้เหนือกว่ามาตรฐานกฎหมาย ส่วนดูแลสิ่งแวดล้อมก็ใช้ ISO 14000 ซึ่งเครื่องมือส่วนใหญ่นี้เป็นเครื่องมือด้าน Hard side หรือการบริหารองค์กรเชิงปริมาณเพื่อให้ได้ผลงาน

และเล่าต่อว่า “พอจะขยับมายุค 3.0 ก็เป็นเรื่องของ Soft side หรือการบริหารเชิงคุณภาพซึ่งเน้นความเป็นมนุษย์ จะเป็นเครื่องมือพวกการฟังอย่างลึกซึ้ง สุนทรียสนทนา สัตว์สี่ทิศเข้าใจตนเองเข้าใจผู้อื่น รวมทั้ง Theory U, PPC (Positive Approach for Profound Change), Pecha Kucha, Coaching, Facilitator, Mentoring ซึ่งเครื่องมือพวกนี้จะทำให้เราเริ่มเข้าใจตนเองมากขึ้น และเริ่มพัฒนาตนเองจากภายใน และสามารถอยู่ในองค์กรอย่างมีความสุขมากขึ้น” โดยทางทีมไวท์แรบบิทแมเนจเมนต์ ก็มีจัดหลักสูตรอบรมในเรื่องเหล่านี้ และมีการทำ Learning Organization หรือการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ สำหรับบริษัทที่ให้เข้าไปจัดอบรมภายในองค์กรด้วยเช่นกัน

ส่วนเรื่องการสร้าง Teamwork อย่างเราดูฟุตบอลหรือบาสเกตบอลของ NBA เขาไม่ได้ส่งเสียง แค่มองตาก็ส่งลูกให้เพื่อนได้ มันเกิดจากการที่เขารู้ใจกัน oneness กัน เราก็มีเครื่องมือในการสร้างทีม” เราถามคุณธนกฤตต่อว่าเมื่อพัฒนามาถึงตรงนี้ แล้วจะทำอย่างไรต่อไปให้มันยั่งยืน เขาตอบเราว่า “อย่างทีมฟุตบอล เขาก็มีทีมสำรองนะ มียู23, ยู18, ยู16 มีการฝึกรุ่นใหม่ๆ ที่พร้อมจะขึ้นมา ก็คือการทำ DOJO หรือค่ายฝึกขององค์กรเอง เพื่อพัฒนาคนรุ่นต่อไป มันก็จะเป็นการฝึกและส่งต่อความรู้ขององค์กรอย่างยั่งยืน

‘ความสุข’ ของคนเป็นที่ปรึกษา

เราได้มีโอกาสถามคุณธนกฤตถึงความสุขจากการได้ทำงานนี้ เขาเล่าว่า “ผมได้ทำอาชีพที่ผมชอบและรัก ตลอด 20 ปีที่เป็นที่ปรึกษามา เหมือนไม่ได้ทำงาน ความสุขเกิดจากการที่เราช่วยให้เขาก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นได้อย่างยั่งยืน ไม่ต้องมาเจอกับปัญหาเดิมๆ อีก ในขณะที่ลูกค้าเรียนรู้ เราก็ได้เรียนรู้ด้วยนะ ก็ได้เติบโตไปด้วยกัน เป้าหมายสุดท้าย คือเขามีความสุขกับการทำงานในองค์กรนั้น คนทำงานค้นพบตัวเอง เข้าใจตัวเอง เป็นความสุขแบบยั่งยืน ไม่ใช่ความสุขแบบวัตถุ และองค์กรก็ต้องมีกำไรนะคืออยู่รอดได้ นั่นคือความสมดุลทั้ง Hard side งานได้ผล และ Soft side คนมีความสุข พอเขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย”

นั่นทำให้เราเริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของการเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น เสมือนการติดอาวุธ เพื่อทำให้ทุกวันเป็นวันสุข (ศุกร์) สามารถขอบคุณพระเจ้าได้ทุกๆ วัน ‘Thank God It’s Every Day A Friday’

บริษัท ไวท์แรบบิทแมเนจท์เมนต์ จำกัด มีการจัดอบรม Soft Side Management ในเรื่อง Deep listening, Theory U, Dialogue, PPC (Positive Approach for Profound Change), สัตว์สี่ทิศ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น, Coaching, Facilitator, Mentoring และรับเป็นที่ปรึกษาบริษัทเพื่อทำ In-House Training ทั้ง Learning Organization และ Knowledge Management สอบถามรายละเอียดได้ที่คุณธนกฤตหากเป็นหลักสูตร In-House โทร. 095-789-5666 หรือคอร์สจัดอบรม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่คุณโบกี้ โทร.063-997-9555

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save