ASA Market แหล่งรวมผู้คนหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว
ASA มาจากคำว่า ‘อาสา’ คำที่รู้จักนิยมกันในปัจจุบัน การเสนอตัวเองเพื่อทำงานให้ผู้อื่น เพื่อช่วยเหลือโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทน แต่ทำไมถึงเป็น ASA Market คุณนก พัณนิดา คำสาตร์ ตัวแทนจากชมรมธนูโพชฌงค์จะมาเล่าเรื่องราวงานอาสานี้ให้ฟัง
ก่อนการมาเป็นตัวแทนบอกเล่าเรื่องราว ได้มีการร่วมสนทนากับเพื่อนๆ ที่ร่วมกันจัดงาน ASA Market ในเรื่องที่ได้ร่วมกันทำงาน เพื่อร่วมถ่ายทอดสิ่งที่ได้รับ แต่ละคนต่างทำงานและรับผิดชอบหน้าที่แตกต่างกันไป พบและเจอเหตุการณ์แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือความสุข ได้เห็นในสิ่งเดียวกันคือ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ ตอนพูดคุยถึงเหตุการณ์วันทำงานช่วงนั้น
มีพี่คนหนึ่งกล่าวว่า งานที่ได้ทำนี้เป็นเรื่องของน้ำใจ ไม่มีการบังคับ เรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของแต่ละคน
ASA Market เกิดขึ้นได้อย่างไร
จุดเริ่มต้นในการทำ ASA Market มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อร่วมทำบุญสร้างพระมหาเจดีย์พุทธเมตตาหลวง กับพระอาจารย์สำราญ ธมฺมธุโร (หลวงพ่อกล้วย) วัดป่าธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น และร่วมบุญอื่นที่จะมีขึ้นอีกภายหลัง โดยอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ ได้มีดำริให้โครงการแก่สมาชิกชมรมร่วมกันทำ เช่น จัดทำหนังสือ ทำสินค้าจำหน่าย และมอบหมายให้สมาชิกร่วมกันทำงาน โดยได้รับความเอื้อเฟื้อจากดร.สาธิต วิทยากร เจ้าของโรงแรมเรโทรเอซิส สุขุมวิท 24-29 กรุงเทพฯ ให้พื้นที่เป็นสถานที่ตั้งของชมรมฯ ชื่อ ‘โพรงกระต่าย’ และให้พื้นที่บริเวณทางเดินและรอบสระน้ำโรงแรมเป็นสถานที่จัดงาน
ASA Market ครั้งแรก SEPTEMBER HIPSTER
ครั้งแรกเริ่มจากไม่มีต้นทุนหรือศูนย์บาท จึงเริ่มจากการขอบริจาคเสื้อผ้าของใช้มือสอง มีคนนำเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ที่อยู่ในสภาพดีมาบริจาค บางคนนำของเก็บสะสมมาร่วมบริจาค ทำให้ได้ของเป็นจำนวนมาก และติดต่อพี่ๆ ที่มีสินค้ามาร่วมเปิดร้าน บางท่านนำขนมทำเอง นำผลผลิตจากไร่สวน มาร่วมทำให้ตลาดมีความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนั้นยังจัดทำสมุดทำมือมาขาย โดยสมาชิกมาร่วมช่วยกันทำ และมีครูป่าน ครูสอนศิลปะช่วยวาดภาพปกให้สวยงามขึ้น และหัวใจสำคัญงานนี้ อาจารย์วรภัทร์ เมตตาวาดภาพสีน้ำเตรียมใส่กรอบรูปสำหรับมอบผู้ร่วมทำบุญที่จะรับภาพสีน้ำกลับไปเป็นที่ระลึก ในวันงานครูป่านก็มาร่วมวาดภาพเหมือนด้วย
การจัดสถานที่ เวทีเล็กๆ ฉากเวทีการแสดงขอพาเลทไม้ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาจัดทำ เครื่องเสียงติดต่อขอยืมจากที่ทำงานสมาชิก งานเดินสายติดตั้งไฟ จัดร้านค้าต่างๆ คือสมาชิกร่วมช่วยกันทำงาน ใครทำจุดไหนได้ทำ ใครมีความรู้ตรงไหนเอามาใช้ เพื่อนคนอื่นๆ ก็เข้ามาช่วย ใครทำไม่เป็นก็เรียนรู้และช่วยทำในตอนนั้นเลย การเตรียมงานส่วนใหญ่สมาชิกมีงานประจำ ทำให้ทีมงานมีเวลาในการเตรียมงานกันน้อย และไม่เคยทำงานตรงนี้มาก่อน ลองผิดลองถูก เจอปัญหาให้ต้องแก้ไขตามสถานการณ์เฉพาะหน้า
ครั้งแรกจัดงานวันธรรมดา สถานที่ใจกลางเมือง จึงเป็นจุดที่มีทั้งนักท่องเที่ยวและคนทำงานใกล้ๆ แถวนั้น มาอุดหนุนและไปบอกต่อให้มาเลือกซื้อ บรรยากาศคึกคักพอสมควร ทีมงานขายมือใหม่ช่วยกันขาย
รวมหลากหลายผู้คนและกิจกรรม
การจัดในครั้งถัดๆ มาเป็นเสาร์-อาทิตย์ เนื่องจากส่วนใหญ่ติดงานประจำ มีการเปลี่ยนรูปแบบงานไปทุกครั้ง อาจารย์วรภัทร์ จะนำโจทย์มาให้ฝึกในการทำงาน ให้มีความกล้าที่จะทำ ซึ่งท่านสอนเสมอว่า ‘ทำไปเถอะผิดอยู่ดี’ และในการทำไม่ได้หวังที่ผลสำเร็จว่าได้เงินมากน้อยแค่ไหน เน้นไปที่ขั้นตอนการทำงาน ฝึกดูใจของเราว่าเป็นยังไง มีโมโหขึ้นมาหรือเปล่า มีการงอนกันหรือเปล่า ยอมๆ กันหรือเปล่า
โพชฌงค์ฟาร์ม อาจารย์บอกให้นำเสนอการปลูกต้นไม้สำหรับคนกรุงเทพที่มีพื้นที่น้อย ทีมที่รับมอบหมายให้ทำต้องเริ่มศึกษาหาการปลูกอะไรที่เหมาะสม วิธีการเพาะปลูก การทดลองปลูกเพื่อนำมาบอกเล่า คิดออกแบบทำอุปกรณ์ ทดลองทำเพื่อนำมาแสดงในงานให้ได้เห็น และนำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมานำเสนอ เช่น การเพาะเมล็ดทานตะวัน การทำปุ๋ยมูลไส้เดือน
อีกหนึ่งกิจกรรมคือจัดแสดงหุ่นยนต์ที่สร้างจากกระดาษและกล่องกระดาษ โดยมีกลุ่มสมาชิกชมรม ซึ่งแบ่งเป็นบ้านสติ บ้านปัญญา บ้านสัมปชัญญะ และบ้านสมาธิ ร่วมกันทำงานออกแบบหุ่นยนต์ประกอบเป็นชุดให้ตัวแทนแต่ละบ้านสวมใส่ นำผลงานมานำเสนอในวันงาน เป็นการฝึกการทำงานร่วมกันระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ไม่เน้นเฉพาะกลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมกัน
ASA Market เป็นการทำงานกับผู้คนหลากหลาย เราได้เรียนรู้เรื่องสัตว์ 4 ทิศ ลักษณะนิสัยของคน จากอาจารย์วรภัทร์ มี กระทิง อินทรี หนู หมี (หนังสือศิษย์สี่ทัศน์ ศาสตร์แห่งการค้นหาตัวเอง โดย อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ) เราได้พบครบทั้ง 4 แบบในการทำงานครั้งนี้ มีทั้งการออกแบบ หาข้อมูลจากอินทรี คนที่เป็นกระทิงจะลุยทำ คนที่เป็นหนูจะจัดหาอาหารการกินมาให้ คนเป็นหมีก็จะดูความเรียบร้อย ความถูกต้อง ความเป็นระเบียบ เป็นการเรียนรู้ที่ทำงานร่วมกัน นำข้อดีๆ นิสัยดีๆ ของแต่ละตัวมาทำงาน และทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น
นอกจากกิจกรรมเด่นๆ คนที่มีความถนัดด้านอื่นๆ หรือชอบที่อยากจะลองทำอะไร ก็ได้นำมาลองและลงมือทำ เช่น ต้มน้ำฝาง ต้มน้ำเก็กฮวย พี่ที่ทำนำมาแจกในงานก็ได้ไปช่วยที่วัดหลวงพ่อกล้วย ได้อาสาต้มให้ หรือการมัดย้อมผ้าสี มีคนที่อยากจะลองทำก็ได้ลองทำในงานนี้
ร่วมบอกเล่าสิ่งดีๆ ความสุขเล็กๆ บนความเหนื่อย
ข้อความความรู้สึกต่างๆ จากการร่วมวงสนทนา เป็นความสุขที่เกิดขึ้นมากมาย
งาน ASA Market ได้จัดครั้งที่ 1 2 3 จะเห็นการพัฒนาตนเองของทุกคน ครั้งที่ 1 ทำงานกันด้วยความงง ๆ โดยอาจารย์ได้วางกับดักให้ทำงานบนความไม่พร้อม คือไม่มีความรู้ ไม่เคยทำ ทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความสัมพันธ์ข้างใน จนพัฒนามาเป็นครั้งที่ 2 ผลลัพธ์จะดีกว่าหรือแย่กว่าครั้งแรกหรือเปล่าไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่อยู่ที่การเรียนรู้ของทุกคน จนมาถึงครั้งที่ 3 ที่มองว่าผลของการเรียนรู้เริ่มเป็นชิ้นเป็นอัน ทุกคนเริ่มรู้ว่าหน้าที่เป็นยังไง มีการแบ่งงานกันไป ในการทำงานเริ่มมีเรื่องการวางแผน การจัดลำดับขั้นตอนในการทำงาน เรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรียนรู้และพัฒนาร่วมกันไปของทุกคน
ได้เห็นศักยภาพบางอย่างของแต่ละคน เพราะเดิมเราไม่ได้ทำงานใหญ่ๆ อย่างนี้ เห็นความเป็นผู้นำ ของแต่ละคนในการทำงานแต่ละอย่าง มีความช่วยเหลือกันซึ่งกันและกันในแต่ละงาน จะมีคนที่มาเป็นหัวหน้านำทำงาน ในแต่ละช่วง แต่ละประเด็น แต่ละเหตุการณ์ พอถึงเวลาก็จะมีคนขึ้นมานำ
มีการทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว จากที่แค่เข้าฟังเรียนกับอาจารย์ พบปะพูดคุย พอได้ลงมือทำงานด้วยกัน ทุกคนนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์มาใช้ในการทำงานอย่างไม่รู้ตัว ทำงานในแนวทางเดียวกัน เข้าใจกัน บอกให้ทำลงมือทำเลย ผิดพลาดอะไรมาไม่เป็นไรลงมือทำใหม่ อาสาร่วมกันทำงานจนงานสำเร็จ
การสร้างหุ่นยนต์ ในงานครั้งที่ 3 สมาชิกทุกคนต่างมีอาชีพหลักของตนเอง ทำให้ไม่มีเวลามาพบพูดคุยงาน อาศัยใช้เทคโนโลยีช่วยติดต่อสื่อสาร และแบ่งงานกันไปทำ เมื่อนัดมารวมประกอบกันเดิมคาดหวังออกมาจะดี แต่ไม่ได้เป็นไปตามคาดไว้ ชุดใส่ไม่ได้บ้าง ไม่ครบบ้าง แต่ร่วมกันแก้ไขปัญหา จนงานออกมาสำเร็จในที่สุด เป็นการร่วมใจกันทำงาน
เห็นถึงความเสียสละของคนที่ใส่ชุด เข้าไปอยู่ภายใต้กล่องกระดาษ ออกท่าทางสนุกสนาน เต้น กระโดด ทั้งเหนื่อยและร้อน ถอดออกมาเหงื่อท่วมตัว แต่เราก็เห็นถึงรอยยิ้ม ตัวแทนทีมบ้านสัมปชัญญะ เป็นผู้หญิงมาใส่ จากคนนิ่งๆ แต่กลับทุ่มเทออกท่าออกทางเต็มที่ ได้มองเห็นประทับใจอีกแง่มุมหนึ่งของเขา
การทำงานจัดเวที จัดสถานที่ เตรียมการความพร้อม หนักและเหนื่อย แต่มีความสุขที่เกิดขึ้นมาทีละเล็กละน้อย เป็นความสุขที่มีบนความเหนื่อยนั้น รอยยิ้มของทุกๆ คนในงานเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงความสุขที่ได้รับ
สนใจร่วมกิจกรรมชมรมธนูโพชฌงค์
ปัจจุบันชมรมธนูโพชฌงค์ (โพรงกระต่าย) ได้ย้ายสถานที่ไปอยู่แถวเอกมัย ในการทำงานอาสาของชมรมมีหลากหลายรูปแบบ ไม่เพียงแต่ ASA Market เพียงอย่างเดียว อาทิเช่น จัดกิจกรรม Bojjhanga for Nepal จัดที่สวนโมกข์เพื่อรวบรวมเงินช่วยเหลือประเทศเนปาลเมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหว การไปร่วมปลูกต้นไม้ตามสถานที่ต่างๆ การไปร่วมสร้างพระเจดีย์ งานก่อสร้างทางวัด เป็นต้น
ค่านิยมหลัก (Core Values) ของชมรมธนูโพงฌงค์ ‘สมดุล มีคุณค่า เบิกบาน’
‘สมดุล’ คือ สมดุลทางโลกและทางธรรม
‘มีคุณค่า’ คือ สร้างประโยชน์ต่อสังคม
‘เบิกบาน’ คือ จิตใจบริสุทธิ์ จิตว่าง จิตโล่งโปร่งสบาย
ในทุกๆ กิจกรรมชมรมแฝงไปด้วยการเรียนรู้ การฝึกให้มีสติ การทำงานอาสาเป็นข้อหนึ่งใน 3 ข้อคือ ‘มีคุณค่า’ เป็นการทำประโยชน์ 1 ให้ได้ 3 คือ ประโยชน์ต่อตนเอง ประโยชน์ต่อผู้อื่น และประโยชน์ต่อส่วนรวม
สำหรับคนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ทางชมรมมีการแจ้งประกาศกิจกรรมต่างๆ สามารถลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรมนั้นๆ ได้ ซึ่งมีหลากหลายไม่ใช่เพียงงานอาสา เช่น ฟังบรรยายธรรมจากอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ และฟังโพชฌงค์ทอล์คจากผู้มีประสบการณ์ด้านต่างๆ
สมารถติดตามเรียนรู้ร่วมกันได้ที่
- เพจชมรมธนูโพชฌงค์ Bojjhanga Archery Club (www.facebook.com/bojjhangaarcheryclub)
- เพจตลาดนัดอาสา ASA Market (www.facebook.com/asamarket)