ความสุขวงใน

สื่อสารอย่างสันติ เริ่มจากเข้าใจตัวเอง

 

ในขณะที่คุณเพิ่งกลับบ้านมาเหนื่อยๆ กลับมาเห็นน้องสาวของคุณกำลังนอนดูคลิป ขนมและข้าวของวางกระจัดกระจาย คุณเซ็งสุดๆ เลยพูดไปว่า “แกนี่ วันๆ จะไม่ทำอะไรเลยใช่ม่ะ เอาแต่ติ่งเกาหลี” น้องหันขวับ ตาเขียวปั้ด แล้วพายุน้อยๆ ก็เริ่มขึ้น…

แต่ถ้าคุณได้รู้จักศาสตร์หนึ่งที่ชื่อ ‘การสื่อสารอย่างสันติ’ (Nonviolent Communication : NVC) การสื่อสารของคุณอาจจะเปลี่ยนไปก็ได้ ลองย้อนฉากเมื่อกี้ใหม่ดูนะ

ในขณะที่คุณเพิ่งกลับบ้านมาเหนื่อยๆ กลับมาเห็นน้องสาวคุณกำลังนอนดูคลิป ขนมและข้าวของวางกระจัดกระจาย คุณเซ็งสุดๆ เลยกลับไปดูว่าตัวเองโกรธ แล้วฉันต้องการอะไรนะ อ่อ คุณเหนื่อยมากเลย ต้องการการพักผ่อนและความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้ากลับบ้านมาแล้วห้องสะอาดสะอ้านล่ะก็ ถึงน้องนอนดูคลิปอะไร คุณก็ไม่ว่าอะไรสักคำ ฉะนั้นมันไม่เกี่ยวกับว่าน้องจะติ่งเกาหลีหรือไม่เลยนี่หน่า ว่าแล้วคุณเลยเดินกลับเข้าห้องไปอีกครั้งและพูดกับน้องของคุณว่า “วันนี้พี่เหนื่อยมากเลยอ่ะ อยากอาบน้ำนอนสุดๆ แต่มีขนมกับของวางเต็มห้องเลย ช่วยพี่เก็บหน่อยนะ” น้องสาวอาจจะเซ็งๆ นิดหนึ่งตามภาษาคนติดละคร ว่าแล้วก็ไล่พี่สาวเข้าห้องน้ำพออาบน้ำเสร็จ คุณกับน้องก็ช่วยกันเก็บห้องจนเรียบร้อย คุณได้สิ่งที่ต้องการ น้องก็ได้ช่วยเหลือพี่ ว่าแล้วเธอก็กลับไปพักผ่อนด้วยการดูคลิปหนุ่มเกาหลีต่อ

โห อะไรมันจะดีขนาดนั้น…ถ้าอย่างนั้นเรามารู้จักเครื่องมือนี้กับพี่หลิน ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ เลยดีกว่า พี่หลินเป็นที่คนสนใจศึกษาสันติวิธีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เนื่องจากทำงานกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ และได้รู้จักกับ ‘การสื่อสารอย่างสันติ’ (Nonviolent Communication : NVC) ตอนปี พ.ศ. 2547 NVC เป็นเครื่องมือสันติวิธีที่เธอคิดว่ามีคุณสมบัติเหมือนยาสามัญประจำบ้านเลยล่ะ เพราะใช้ได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน องค์กร หน่วยงาน ไปจนถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมก็นำไปประยุกต์ใช้ได้

พี่สนใจเรื่องนี้ เพราะมันทำให้สันติวิธีเข้าใจง่ายขึ้นจริงๆ เมื่อก่อนเราสอนสันติวิธี ซึ่งจะใช้เฉพาะกับชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการทำงานในวงจำกัด แต่ NVC เป็นยาสามัญประจำบ้านที่เราใช้เยียวยาความไม่เข้าใจในบ้าน ในชีวิต ในที่ทำงานได้

การสื่อสารอย่างสันตินั้นเกิดจากนักจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยมชื่อ ดร.มาร์แชล โรเซนเบิร์ก ที่สงสัยว่าเหตุใดมนุษย์เราจึงตัดขาดจากความกรุณาซึ่งเป็นธรรมชาติพื้นฐานของมนุษย์ แล้วหันไปใช้ความรุนแรงและกดขี่ผู้อื่น ในขณะเดียวกันมนุษย์บางคนก็คงความกรุณาไว้ได้ แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเพียงใดก็ตาม ด้วยความสงสัยนี้เขาได้ใช้ความรู้ด้านจิตวิทยา พร้อมกับศึกษาสันติวิธีของมหาตมะ คานธี และ 7 ศาสนาหลักในโลก แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า ‘ภาษา’ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนเราใช้ความรุนแรงหรือมีความกรุณาต่อกัน จึงได้พัฒนาองค์ความรู้ชุดนี้ขึ้นมา โดยมีหลักการพื้นฐานดังต่อไปนี้

 

  1. มนุษย์ทุกคนมีความกรุณาเป็นพื้นฐาน

ได้ฟังคำนี้แล้วคนอาจจะสงสัย แต่ว่าทุกศาสนาในโลกต่างพูดตรงกันว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีความดีงามภายใน เช่น เราต่างเป็นบุตรของพระเจ้า มนุษย์ทุกคนมีจิตประภัสสร มีเมล็ดพันธุ์ของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ฯลฯ หากไม่เชื่ออีกพี่หลินแนะนำให้ลองนึกถึงข่าวที่เคยอ่านผ่านตา เช่น คนพยายามช่วยเหลือคนอื่นหรือสิ่งมีชีวิตที่ไม่รู้จักกันมาก่อน หรือข่าวจิตอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมหรือเหตุการณ์สึนามิ

 

  1. เบื้องหลังทุกการกระทำและคำพูดของมนุษย์ล้วนตอบสนองความต้องการลึกๆ บางอย่าง

‘ความต้องการ’ ในที่นี้ไม่ใช่แค่อยากกินข้าวอร่อยๆ อยากได้เสื้อใหม่ อยากให้ห้องสะอาด ฯลฯ แต่เป็นความต้องการพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต่างมีร่วมกัน เช่น ความสุข ความปลอดภัย การยอมรับ ความเคารพ มิตรภาพ การพักผ่อน ฯลฯ ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นคนชนชาติไหน จะมีศาสนา สีผิว หรือเพศอะไร ต่างมีความต้องการเหล่านี้อยู่ภายใน หากเราเข้าไปสำรวจว่าคำพูดหรือการกระทำของอีกฝ่ายนั้น มีความต้องการอะไรอยู่เบื้องหลัง เราจะเกิดความเข้าใจ แม้จะไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมนั้นก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น มาร์แชลเคยต้องทำจิตบำบัดให้ผู้ต้องหาในคดีข่มขืนหลายคน เขาได้ชวนผู้ต้องหาชายคนหนึ่งสำรวจดูว่าเขาข่มขืนคนอื่นเพราะเขาต้องการอะไร พอพูดคุยลึกลงไปเรื่อยๆ เขาก็พบว่าจริงๆ แล้วเขาอยากได้ความเข้าใจ เพราะเขาถูกกระทำความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก พอโตขึ้น เมื่อเขาทำร้ายคนอื่นเวลาที่ได้เห็นคนอื่นเจ็บปวด เขารู้สึกว่ามีคนเข้าใจความเจ็บปวดที่เขาเคยเจอ แต่เขาไม่เคยตระหนักรู้ความต้องการอันนี้เลย

พอเขาตระหนักว่าเขาทำแบบนี้เพราะถูกส่งต่อความรุนแรง และมาพบว่าตัวเองต้องการ ‘ความเข้าใจ’ เขาก็จะพบทางเลือกว่าเขาจะหา ‘ความเข้าใจ’ ได้อย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง เขาอาจจะขอให้หมอช่วยรับฟังความเจ็บปวดของเขา เขาอาจจะเขียนบันทึก วาดภาพ หรือแต่งเพลงเกี่ยวกับความเจ็บปวดนี้ก็ได้ ฯลฯ ฉะนั้นถ้าเราขุดลึกในใจเราจนเจอว่าต้องการอะไร เราจะพบความเป็นไปได้มากมาย

 

  1. ใส่ใจและให้คุณค่ากับความต้องการของทุกฝ่าย เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจ ก่อนคิดแก้ไขปัญหาหรือทางออก

แม้ว่าการหาทางออกที่ทุกคน (ซึ่งกำลังขัดแย้งกัน) ถูกใจจะเป็นเรื่องยาก จนบางทีเราก็ส่ายหัวและคิดว่ามันคงจะเป็นไปไม่ได้ แต่พี่หลินกลับบอกว่า เป็นไปได้สิ! หากเราเริ่มต้นด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง ใส่ใจและให้คุณค่ากับทุกฝ่าย แม้ว่าจะใช้เวลานานกว่าจะค้นหาความต้องการของแต่ละฝ่ายเจอ แต่การทำเช่นนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะเราไม่ได้ต้องการหาว่าใครถูก ใครผิด หรือควรเลือกทางไหนดี แต่ฟังให้ลึกเพื่อเข้าใจว่าแต่ละฝ่ายให้คุณค่ากับเรื่องอะไร แม้สุดท้ายเราอาจหาวิธีการที่ตอบโจทย์ทุกคนไม่ได้ แต่คนที่ได้รับการใส่ใจย่อมรับรู้ว่ามีคนได้ยินความต้องการของเขา

ว่าแล้วพี่หลินก็เล่าเหตุการณ์ตอนที่เธอใช้เครื่องมือนี้ขณะทำงานเป็น ‘สันติอาสา’ ในการชุมนุมทางการเมืองครั้งหนึ่ง ในระหว่างการชุมนุม มีชายคนหนึ่งไปยืนตะโกนด่าคนที่อยู่อีกฝั่งถนน เสียงของเขาทำให้อีกฝั่งถนนมีคนอื่นๆ มารวมตัวกัน ซึ่งรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องทางการเมืองเลย และไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวในความโกลาหกที่เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อเกิดเสียงตะโกนไล่คนอีกฝั่ง ตำรวจก็เข้ามากั้นเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะ พี่หลินและทีมสันติอาสาซึ่งยืนอยู่แถวนั้นจึงเข้าไปหาชายที่ตะโกนอยู่

สันติอาสา : เกิดอะไรขึ้น ทำไมมาตะโกนตรงนี้

ผู้ชุมนุม : ก็ไอ้…มันมาร้องเพลงอยู่ฝั่งโน้นน่ะสิ! ไอ้เลว ไอ้เ_ยเอ้ย

สันติอาสา : เขาทำอะไรที่คุณไม่พอใจเหรอ

ผู้ชุมนุม : ก็ตอนพฤษภาทมิฬ ผมจะจัดงานช่วยเหลือเหยื่อ เลยขอให้มันมาร้องเพลง แต่ไอ้เ_ยนั่นคิดเงินสองแสน

สันติอาสา : อ๋อ คุณเลยแค้นเขามากเลยใช่ไหม

ผู้ชุมนุม : ก็ใช่น่ะสิ บอกใครไม่ได้ด้วย

สันติอาสา : คุณเจ็บปวดมากเลยที่บอกใครไม่ได้มาตั้งหลายปี อยากให้มีคนรับรู้บ้างใช่ไหม

ผู้ชุมนุม : ใช่

พี่หลินได้ให้ความเข้าใจเขาต่อไปเรื่อยๆ จนเขาเลิกตะโกนและมีน้ำตาคลอเบ้า เพราะลึกลงไปในความโกรธ เขารู้สึกเสียใจมาก เสียความศรัทธาในตัวมนุษย์ หลังจากนั้นก็มีเพื่อนในที่ชุมนุมมากอดคอพาเข้ากลับไปนั่งในที่ชุมนุม

เราจะเห็นเลยว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง และลึกๆ เขาไม่ได้อยากให้เกิดเหตุการณ์จลาจล เขาแค่รู้สึกโกรธและเสียใจมาก อยากให้ใครมารับรู้ตรงนี้ พอเราเข้าไปฟัง ความต้องการของเขาก็ได้รับการตอบสนอง เหตุการณ์ความรุนแรงหรือความวุ่นวายก็ไม่เกิดขึ้น

นอกจากหลักการดังกล่าวแล้ว การสื่อสารอย่างสันตินั้นยังมีขั้นตอนและองค์ประกอบ 4 อย่างที่ชวนให้เราลงมือปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมดังต่อไปนี้

  1. การสังเกต การสังเกตคือขั้นแรก มาร์แชลชวนให้เรานึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เราไม่สบายใจ โดยละวางการตัดสิน การตีความ หรือต่อว่าต่อขานลง โดยให้ลองเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเหมือนตั้งกล้องวีดีโอ เช่น สามีรู้สึกหงุดหงิดที่ภรรยาช้อปปิ้งเสื้อผ้ามาเยอะมาก แต่แทนที่จะพูดว่า “คุณนี่ ทำไมเอาแต่ช้อปปิ้ง” ให้เปลี่ยนไปพูดว่า “อาทิตย์นี้ ผมเห็นคุณซื้อเสื้อ 5 ตัว”

การสื่อสารเช่นนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะหากคุณเริ่มบทสนทนาด้วยคำตัดสิน ตีความ หรือต่อว่าต่อขาน อีกฝ่ายย่อมไม่อยากคุยด้วยหรือไม่ก็เถียงกลับในทันที สิ่งที่คุณอยากสื่อสารย่อมไปไม่ถึงเขา เผลอๆ จะได้ความโกรธมาเป็นของแถม (ซึ่งจริงๆ ก็ไม่อยากได้) แต่หากเราเปิดบทสนทนาด้วยข้อเท็จจริง อีกฝ่ายอาจจะตอบว่า “อ่อ ฉันซื้อเสื้อไปฝากญาติช่วงกลับสงกรานต์นะ”

  1. ความรู้สึก ความรู้สึกนั้นเป็นสิ่งที่เรามีแต่กำเนิดทั้งความรู้สึกด้านบวกและลบ หากเป็นความรู้สึกด้านบวก เช่น ดีใจ ภูมิใจ สนุกสนาน สดชื่น มั่นใจ โล่งอก ประทับใจ ฯลฯ นั่นเป็นสัญญาณว่าความต้องการบางอย่างในใจเรากำลังได้รับการตอบสนอง แต่ถ้าเป็นความรู้สึกด้านลบ เช่น กังวล โมโห สับสน อิจฉา หมดแรง เหงา เบื่อ อาย ฯลฯ นั่นคือสัญญาณไฟแดงที่กำลังบอกว่ามีความต้องการบางอย่างที่ไม่ได้รับการตอบสนอง และเราต้องกลับไปดูแล ฉะนั้นก่อนที่เราจะลงลึกไปถึงความต้องการ เราต้องดูเสียก่อนว่าความรู้สึกของเราคืออะไร
  2. ความต้องการ ในการสื่อสารอย่างสันตินั้น ความต้องการมาจากคำว่า Need ซึ่งคือปัจจัยพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต่างมีร่วมกัน เป็นพลังขับเคลื่อนภายในตัวเราให้มีชีวิตชีวา ยกตัวอย่างเช่น ความรัก การยอมรับ ความเข้าใจ ความเคารพ มิตรภาพ ความสนุก ความเมตตากรุณา ความงดงาม ประสิทธิภาพ การพักผ่อน ทางเลือก ความหวัง ความปลอดภัยมั่นคง ฯลฯ
  3. การขอร้อง การขอร้องคือขั้นตอนสุดท้ายของการสื่อสารอย่างสันติ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเราตระหนักรู้ความต้องการของตัวเองหรือผู้อื่นแล้ว เราจึงหาวิธีการตอบสนองความต้องการนั้นด้วยการขอร้องซึ่งพี่หลินบอกว่ารายละเอียดของขั้นตอนนี้มีอีกเยอะมาก หากอยากรู้ก็แนะนำให้มาเข้าอบรมจะดีที่สุด เพราะนอกจากจะได้ความรู้ การลองทำผ่านประสบการณ์ตรงจะทำให้เราประจักษ์แจ้งแก่ใจว่า การสื่อสารอย่างสันติทำงานอย่างไรกับเราบ้าง

การอ่านหนังสือได้ความเข้าใจระดับความคิด แต่ถ้าเราไปอบรม เราจะมีประสบการณ์ เราจะจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ว่าเวลาที่เราได้รับความเข้าใจ เวลาที่เราให้ความเข้าใจอีกฝ่ายได้ มีครั้งหนึ่งผู้สูญเสียพูดให้ความเข้าใจฝ่ายที่กระทำความรุนแรง ตอนแรกเขาคิดไม่ออกเลยว่าจะทำได้อย่างไร แต่พอให้เขาทวนความรู้สึกและความต้องการลึกๆ ของอีกฝ่าย เขาทำได้ พอทำได้ ใจเขาก็โล่งสบายเลย สุดท้ายการฝึก NVC จะไปทำงานกับเราในระดับร่างกาย ยิ่งเราทำบ่อย เราก็จะจดจำได้ บางคนก็เลยมาเรียนแล้วเรียนอีกเพื่อฝึกให้เป็นนิสัย

 

เมื่อขอให้เธอเล่าประสบการณ์ของตัวเองที่ได้เอาการสื่อสารอย่างสันติไปใช้บ้าง พี่หลินเล่าเรื่องตัวเอง 2 เรื่อง

เรื่องแรกเป็นเหตุการณ์บนท้องถนนมีคนมาปาดหน้ารถของเธอ ตอนแรกเธอเตรียมจะเหยียบคันเร่งเพื่อปาดกลับ แต่เอ๊ะ เราเรียนการสื่อสารอย่างสันติมานี่ เมื่อทวนว่ารู้สึกอะไรก็พบว่ากำลังโกรธ เมื่อกลับมาสังเกตร่างกายก็พบว่าหัวใจเต้นตึกๆ แปลว่ากำลังกลัวด้วย ความต้องการลึกๆ ก็คือ ความปลอดภัย ฉะนั้นเมื่อรู้ว่าต้องการอะไร เธอก็ถอนคันเร่งออกโดนทันที ล้มเลิกความคิดจะปาดกลับ แต่ยิ่งขับรถให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

เรื่องที่สองเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในบ้าน วันหนึ่งแม่ตัดต้นไม้ที่พี่หลินปลูกมาหลายปี พอเห็นเข้าก็โกรธมาก จึงตัดสินใจโทรหาเพื่อนที่เคยเรียนสื่อสารอย่างสันติด้วยกันมา ขอให้เพื่อนช่วยฟังและให้ความเข้าใจ สุดท้ายเธอพบว่าเธอเสียใจ อยากให้แม่เห็นคุณค่าในต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็นกับโลกใบนี้ เมื่อใจเย็นลงแล้วก็ลองไปนั่งในใจของแม่ เธอพบว่าแม่ตัดต้นนี้เพราะมันมีแต่ใบ ไม่ออกดอกออกผล แถมยังมีลำต้นขนาดใหญ่จนดันกำแพง เมื่อเข้าใจทั้งสองฝ่ายเธอก็คิดได้ว่าน่าจะปลูกมะม่วง เพราะเป็นผลไม้ที่ให้ประโยชน์กับคนในครอบครัวและให้ความร่มเย็นได้ สุดท้ายจึงไปคุยกับแม่ว่า

แม่ตัดต้นนั้นไปแล้ว เราปลูกมะม่วงดีไหม

แม่ก็เห็นดีด้วย

เวลาที่เรากลับไปหาความต้องการของตัวเองได้ เรากำลังตอบสนองสิ่งหนึ่งซึ่งคือ ‘ความเข้าใจ’ ให้กับตัวเอง พอเราเข้าใจตัวเองแล้ว บางครั้งไม่ต้องไปสื่อสารกับอีกฝ่ายเลย เพราะความรู้สึกเราเบาขึ้นแล้ว เราเกิดความเข้าใจทันทีว่าเมื่อกี้ที่เพื่อนพูด เขาไม่ได้คิดอะไร เขาเหนื่อย เราก็ให้อภัยเขาได้

 

จนทุกวันนี้ ‘การสื่อสารอย่างสันติ’ มาอยู่ในเมืองไทยได้ 13 ปีแล้ว ได้ช่วยสานความเข้าใจในหลายบริบททั้งครอบครัว องค์กร สังคม สร้างเครือข่ายโรงพยาบาลที่ใช้เครื่องมือนี้เพื่อสานความเข้าใจระหว่างคนไข้กับหมอและพยาบาล รวมถึงทำงานในพื้นที่ความขัดแย้ง เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการชุมนุมทางการเมือง ส่วนพี่หลินยังทำฝึกอบรมเรื่องนี้ต่อไปโดยหวังใจว่ายาสามัญประจำบ้านที่ชื่อ ‘การสื่อสารอย่างสันติ’ จะสร้างสันติในใจคนทุกๆ ระดับ

 


หากสนใจเพิ่มเติมเข้าไปสั่งซื้อหนังสือ ไพ่ความรู้สึกและความเข้าใจ หรือติดตามคอร์สอบรมได้ที่

หมายเหตุ : ภาพพี่หลินใส่ตุ๊กตามือ ไพ่ หรือมีตุ๊กตา เป็นอุปกรณ์ที่เอาไว้สอน NVC ซึ่งมักจะใช้อธิบายเรื่อง NVC กับเด็กๆ และผู้ใหญ่ เช่น เม่นเป็นตัวเราปกติ ถ้าปกป้องตัวเองก็พลิกตัวเข้า / ยีราฟเป็นสัตว์ที่คอยาว เห็นไกล และขนาดหัวใจใหญ่ที่สุด เป็นต้น

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save