ความสุขวงใน

สนทนาค้นหาความเข้าใจ วิถีไดอะล็อก

บางคนที่เคยเข้าวง ‘ไดอะล็อก’ อาจรู้สึกว่า ก็แค่ตั้งวงสนทนา โดยนั่งล้อมกันเป็นวงกลมเท่านั้น

แม้การไดอะล็อกส่วนใหญ่ เราจะนิยมนั่งล้อมพูดคุยเป็นวงกลม ไม่ว่าจะนั่งกับพื้นหรือเก้าอี้ก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียง ‘รูปแบบภายนอก’ เท่านั้น เรียกได้ว่ายังห่างไกลกับ ‘ความพิเศษ’ ของกระบวนการไดอะล็อกอยู่มากทีเดียว

ก่อนที่เราจะเริ่มเข้าสู่กระบวนการสนทนาแบบไดอะล็อก สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือต้องแยกแยะ ‘ความแตกต่าง’ ระหว่างการสนทนาไดอะล็อก กับการสนทนารูปแบบอื่นๆ ในหนังสือ The Magic of Dialogue (2001) โดย Daniel Yankelovich ได้ให้แนวทางการแยกแยะไว้เป็นหลักการพื้นฐาน 3 ประการด้วยกัน 

DEEP LISTENING – การฟังอย่างลึกซึ้ง ใส่ใจ และไม่ด่วนตัดสิน

บทสนทนาทั่วไปแม้จะมีการฟังเพื่อค้นหาความเข้าใจ แต่ถ้ามีสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย โดยอัตโนมัติและรวดเร็ว เราจะเปลี่ยนการฟังเป็นแบบ ‘ค้นหาจุดอ่อน’ และเข้าไปโจมตีจุดนั้นอย่างรุนแรงทันที ขณะที่การฟังในวงไดอะล็อกจะแตกต่างออกไป เราจะกลับมารับรู้ความรู้สึกไม่พอใจที่เกิดขึ้นในตนเอง ใส่ใจ และโอบอุ้มอารมณ์ที่เกิดขึ้น จากนั้นจะค่อยๆ ห้อยแขวนคำตัดสินไว้ และฟังต่อจนจบ

ทักษะนี้เรียกว่า ‘การฟังอย่างลึกซึ้ง’ ซึ่งต้องอาศัย ‘สติ’ และการฝึกตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถใส่ใจรับฟัง ‘สิ่งที่ไม่ได้พูด’ อันได้แก่ ภาษากายที่สื่อถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ ทัศนคติ คุณค่าเบื้องลึกที่ซ่อนไว้ ซึ่งแม้ตัวผู้พูดเองก็อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ทั้งหมด

ในพื้นที่การฟังลักษณะนี้ ไม่มีการตัดสินถูกผิด เราจึงสามารถ ‘รับรู้’ ผู้พูดได้อย่างแท้จริง ทั้งยังเห็นอกเห็นใจจากพื้นฐานและมุมมองของตัวเขา โดยไม่เอาพื้นฐานมุมมองของตัวเรา เข้าไปเป็นบรรทัดฐาน

การพูดคุยแบบอื่น มักจะลงเอยที่มี ‘ผู้แพ้-ผู้ชนะ’ ทุกเรื่องจะต้อง ‘มีคนถูก-คนผิด’
แต่สำหรับไดอะล็อกแล้ว ผู้ร่วมวงสนทนา ‘ชนะไปด้วยกัน หรือไม่ก็ แพ้ไปพร้อมๆ กัน’

เนื่องจากในวงไดอะล็อก จะให้ความสำคัญกับ ‘การค้นหาความเข้าใจร่วม’ ดังนั้น การที่เราเร่งด่วนตัดสินถูก-ผิด หรือให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของผู้คนอย่างไม่เท่าเทียม เป็นการลดทอนคุณค่าของสมาชิกในวงสนทนา และจะไม่ทำให้เกิดการสนทนาอย่างเปิดใจอีกต่อไป

 

RESPECT & EQUALITY – ความเคารพ ความเท่าเทียมกัน ในฐานะเพื่อนมนุษย์

ในวงสนทนาทั่วไป บางครั้งมีคนผูกขาดการพูด เพราะถือว่าตนเป็นใหญ่ เป็นผู้อาวุโส ทุกคนควรให้ความเคารพและรับฟังตน คนที่อายุน้อยในวง ก็ไม่ค่อยกล้าพูดหรือออกความเห็น นี่คือความเคารพที่เราเข้าใจ แต่มันกดทับความเท่าเทียมกัน ไม่ทำให้เกิดการฟังและการแลกเปลี่ยนที่แท้จริง

สมาชิกที่เข้าร่วมวงไดอะล็อก จะมีข้อตกลงร่วมกันว่า การนั่งล้อมวงนั้น บ่งบอกถึงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม ไม่มีผู้นำและผู้ตาม แม้ว่าภายนอกวง แต่ละคนจะมีสถานะทางสังคมที่แตกต่างกันมากเพียงใดก็ตาม แต่ภายในวงนี้ ทุกคนเท่ากัน

‘ความเท่าเทียมกัน’ จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อ มีการสร้าง ‘ความไว้วางใจ’ ให้แก่กันและกัน โดยมาก คนที่มีอาวุโส หรือตำแหน่งสูงสุด จะต้องเป็นผู้ประกาศที่จะถอดหัวโขนนั้นลงชั่วคราว และอยู่ร่วมในวงอย่างเท่าเทียมในฐานะเพื่อนมนุษย์ นั่นจึงจะทำให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า สามารถเริ่มเปิดใจที่จะพูด และมีส่วนร่วมในวงไดอะล็อกได้

UNFOLDING ASSUMPTIONS – การเปิดเผยสมมติฐานเบื้องลึกของตน

ความแตกต่างสำคัญของกระบวนการไดอะล็อกกับการสนทนาทั่วไปคือ ในวงไดอะล็อกสมาชิกพร้อมจะเปิดเผยสมมติฐาน หรือความเชื่อเบื้องลึกของตนให้ผู้อื่นได้รับรู้ แม้จะรู้สึกเปราะบาง หรือไม่มั่นคง หรืออาจมีคนไม่เห็นด้วยก็ตาม

ในพื้นที่ของความไว้วางใจต่อกันนั้น แทนที่เราจะถูก ‘ตัดสิน’ จากคนอื่น จะกลายเป็นการสร้าง ‘พื้นที่แห่งความจริง’ (Moment of Truth) ให้เกิดขึ้น ผู้คนจะรับรู้ได้ และพร้อมเปิดใจตนเอง

ในวงไดอะล็อก ไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อกันตลอดเวลา หากแต่การเปิดเผยความเห็นเบื้องลึก จะทำให้เราสามารถเคลียร์ความในใจระหว่างกัน โดยไม่ต้องคาดเดา หรือสงสัยในความคิดของอีกฝ่ายอีกต่อไป ซึ่งแท้จริงแล้ว การปิดบังความคิด หรือมีวาระซ่อนเร้นนี้เอง ทำให้เกิดความขัดแย้งบาดหมางใจต่อกัน

แน่นอนว่าในบางครั้ง การเปิดเผยความเชื่อเบื้องลึก อาจดูอันตราย และเสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน ทำให้บรรยากาศในวงสนทนามีความไม่ราบรื่น อาจทำให้บางคนมีอารมณ์ แต่หากในเบื้องลึกคือความเชื่อมั่นและศรัทธาที่อยากจะทำให้เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้เพื่อทำร้ายกัน นั่นคือการกระทำที่กล้าหาญอย่างยิ่ง

ในเบื้องต้นของการฝึก หากยังรู้สึกไม่ไว้วางใจเต็มที่ เราสามารถค่อยๆ เปิดเผยความคิดไปทีละชั้นๆ ได้ วงไดอะล็อกก็จะค่อยๆ เติบโตไปตามความไว้วางใจที่สมาชิกต่างมอบให้กัน ด้วยความเคารพความเท่าเทียม ด้วยการรับฟังอย่างลึกซึ้งไม่ตัดสิน ถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่า เราสามารถมอบความไว้วางใจในการเปิดเผยความคิดและอารมณ์ ได้มากกว่าทุกวงสนทนา และลึกเท่าที่เราต้องการ

 

มหัศจรรย์ผลลัพธ์ของการไดอะล็อก

ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แต่ในช่วงเวลาแห่งการสนทนาเท่านั้น โดยมากผู้คนที่ผ่านกระบวนการไดอะล็อก หลังจากกลับไปใช้ชีวิตตามปกติเพียงหนึ่งวันหรือสองวัน อยู่ๆ พวกเขาก็จะเกิดญาณทัศนะ หรืออาการปิ๊งแว้บบางอย่างขึ้นมา และสามารถแก้ไขโจทย์ที่ตนขบคิดมาเนิ่นนานก่อนการไดอะล็อกได้

นั่นเป็นเพราะมนุษย์เราต่างมีพื้นฐานการดำเนินชีวิตและจิตใจใกล้เคียงกัน การสนทนาที่ผ่อนคลาย นำพาองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดกันอยู่ในวงนั้น ให้เลื่อนไหลเข้ามาสู่จิตใต้สำนึกของเราโดยไม่รู้ตัว เมื่อเพาะบ่มได้ที่ หากมีปัญหา ก็ถึงเวลาที่ปัญญาจะเผยออกมา

สิ่งสำคัญก็คือ เราไม่อาจมีปัญญาหาคำตอบได้เลย หากเราคิดเพียงคนเดียว เพราะถ้าหากเรารู้คำตอบอยู่แล้ว หรือหาคำตอบได้เอง นั่นก็จะไม่ใช่ปัญหาที่แท้จริง หรือไม่ใช่ประเด็นปัญหาใหญ่อะไรนัก

แต่ปัญหาชีวิต หรือปัญหาสำคัญที่แท้จริง ย่อมไม่สามารถขบคิดได้ด้วยตนเอง หากจะเกิดจากการตกผลึกจากกระบวนการคิดร่วมกัน ได้ค้นพบ ‘ปัญญาญาณร่วม’ หรือ Collective Wisdom ในวงไดอะล็อกนั่นเอง

 

‘เรือรบ’ นาวาตรี จิณณ์ณัฏฐ์ พรหมนุรักษ์

ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการสื่อสารและการฟัง พัฒนากระบวนการ ‘ไดอะล็อค’ หรือ สุนทรียสนทนา ผู้ก่อตั้ง Learning Hub Thailand ธุรกิจเพื่อสังคม สร้างการเรียนรู้ สู่สมดุลและความสุขในชีวิตผู้คน

  • ติดต่อสอบถาม คุณลูกคลื่น โทร : 094-959-2645
  • line : @learninghub
  • website : www.learninghubthailand.com
ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save