สถาบันโพชฌงค์ จุดเริ่มต้นสู่ความสุขวงกว้าง
ผมมองความสุขวงใน เหมือนการโยนก้อนหินลงไปในน้ำ เกิดเป็นระลอกน้ำเล็กๆ แล้วก็แผ่ขยายวงกว้างออกไป เริ่มจากตัวเราเองตอนที่มาสอนหรือมาเรียนก็เป็นความสุขเล็กๆ ของเรา และขยายเป็นความสุขวงใหญ่ของกลุ่มคนที่มาเรียนด้วยกัน ท้ายสุดมันก็สะท้อนออกไปเมื่อเรานำความรู้นี้ออกไปใช้ข้างนอก วงความสุขของเราก็จะใหญ่ขึ้น
นี่คือทัศนคติเปื้อนยิ้มของคุณธนาทัศน์ เส็งชา ผู้อำนวยการสถาบันโพชฌงค์ สถาบันที่ยกให้ความสมดุล ความสมบูรณ์ ความมีคุณค่า และความเบิกบานเป็นคุณค่าหลักขององค์กร
วงแห่งความสุขนี้เริ่มจากการที่ผมเข้าเรียนหลักสูตร Sense Zen เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว และได้เข้าร่วมกิจกรรมยิงธนูกับอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ ซึ่งอาจารย์ได้สอดแทรกเรื่องการเจริญสติ การบริหารแบบ Soft side หรือการบริหารเชิงคุณภาพซึ่งเน้นความเป็นมนุษย์ และองค์ความรู้อื่นๆ ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น เรื่องการจัดการคนและความคิด ซึ่งนำไปใช้ได้จริง ในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการส่วนวิศวกรรม บริษัทสยามคอมเพรสเซอร์อุตสาหกรรม จำกัด การที่ต้องไปสัมผัสคนที่เข้าไปซ่อมเครื่อง การบริหารแบบ Soft side ช่วยได้มาก โดยส่วนตัวผมคิดว่า ถ้าเรายังคงเป็นฆราวาส เรื่องทางโลกกับเรื่องทางธรรมยังไม่สามารถแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ถ้าเป็นเช่นนั้นเราก็ควรพัฒนาไปทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กัน ให้สมดุลทั้งทางโลกและทางธรรม
สถาบันโพชฌงค์คืออะไร
สถาบันโพชฌงค์เริ่มมาจากชมรมธนูโพชฌงค์ ซึ่งรูปแบบการสอนเป็นแบบศิษย์พี่สอนศิษย์น้อง จากนั้นจึงมีการต่อยอดเป็นสถาบันโพชฌงค์ สอนวิชาต่างๆ โดยเน้นไปที่การปรับพื้นฐานการคิด การฟัง ความกล้าแสดงออก เพื่อให้สมาชิกได้มีเครื่องมือที่ใช้ติดตัวสำหรับการประกอบอาชีพต่างๆ และขยายผลต่อออกไปสอนคนภายนอกเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้ง 3 อย่าง คือประโยชน์ต่อตนเอง ประโยชน์ต่อผู้อื่น และนำรายได้จากการสอนไปสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมอีกด้วย
ผมรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสถาบัน คือการรับไม้ต่อมาจากรุ่นพี่ตามแนวที่อาจารย์ให้เรียนรู้ต่อกันมาเป็นรุ่นๆ ให้ส่งทอดความรู้และยอมรับการถ่ายทอด
หลักสูตรของสถาบันโพชฌงค์มีอะไรบ้าง
ในส่วนของหลักสูตรจะแบ่งเป็น
Dialogue – สุนทรียสนทนา การฟัง 4 ระดับ เน้นการฟังด้วยใจ ไร้การตัดสิน
Public Speaking – การพูดในที่ชุมชน โดยใช้เทคนิค PechaKucha ในการนำเสนอและพัฒนาตัวเอง
Learn how to learn – เน้นการเข้าใจความแตกต่างของผู้เรียน ผู้สอน เพื่อนำมาประยุกต์เข้าสู่การเรียนรู้
Systematic thinking เป็นวิชาด้าน hard side (อิงเฉพาะระบบและวัดผลจากตัวเลข) โดยเน้นที่การแก้ปัญหา ถ้าเปรียบปัญหาเหมือนการแก้ปม เราไม่ได้มุ่งที่การแกะปม แต่จะมีการกำหนดแนวทางในการแก้ปม และที่สำคัญในขณะที่แก้ปมใจต้องว่าง
รูปแบบการเรียนการสอนของสถาบันเป็นอย่างไร
ถ้าเป็นการปฏิบัติธรรม รูปแบบการสอนจะเริ่มจากไหว้พระ สวดมนต์ ถือศีล เดินจงกรม สำหรับสถาบันเองก็เช่นเดียวกัน รูปแบบการสอนจะมีการไหว้พระ สวดมนต์ เรียนรู้เรื่องศีลและลองปฏิบัติจริง รวมถึงการเดินจงกรม แนวทางการสอนปรับให้มีความสมดุลระหว่าง soft side ที่เป็นเรื่องภายในเกี่ยวกับพุทธศาสนา และ hard side เช่น การออกไปพบลูกค้า ทำอย่างไรให้เราฟัง รับรู้ถึงความต้องการของลูกค้า และช่วยเหลือลูกค้าได้จริงๆ หรือการนำเสนองานต่อเจ้านายและคนในบริษัท ทำอย่างไรที่พูดให้คนนอกฟัง ในขณะที่เราเองก็ฟังเสียงภายในของเราควบคู่กันไป นี่คือหลักสูตร Public Speaking ที่ทำอยู่
Public Speaking เป็นการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร
การเตรียมเรื่องออกไปพูด เช่น ถ้าหัวข้อที่พูดคือเรื่องกล้วยบวชชี ขณะพูดจะมีความคิดเรื่องความอร่อยของกล้วยบวชชีที่เราอยากจะถ่ายทอดให้คนฟังเข้าใจ หรือมีความรู้สึกภายในของเราที่มารบกวนการนำเสนอและการสื่อสาร การเรียน Public Speaking จะเห็นทั้งจังหวะการพูด จังหวะความคิด ซึ่งเป็นการปฏิบัติธรรมด้วย เนื่องจากการปฎิบัติธรรมคือ การเห็นกาย เห็นความคิด เห็นการกระทำ
จุดเด่นของสถาบันโพชฌงค์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปสนใจมาเรียนรู้
แต่ละสถาบันล้วนมีจุดเด่น การเลือกเรียนในสถาบันหนึ่ง ก็เหมือนเป็นการเลือกคบกันระหว่างเพื่อนพ้อง หรือระหว่างลูกศิษย์กับอาจารย์ เหมือนดูว่าสายที่เราปฏิบัติธรรมมันสอดประสานกันหรือเปล่า เพราะในการปฏิบัติธรรมแต่ละอย่างมันก็ไม่ได้บอกว่าอะไรถูกอะไรผิด ถ้ามาแล้วได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องที่เราได้ชื่นใจด้วยกัน ซึ่งผมคาดหวังว่าการที่เข้ามาเรียนด้วยกันจะช่วยเกื้อหนุนการปฏิบัติธรรมของผู้มาเรียนและของพวกเราให้ไปด้วยกัน
ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันฯ มองว่าสถาบันฯ สอดคล้องหรือต่างจากระบบการศึกษาในปัจจุบันอย่างไร
การเรียนในระบบการศึกษาปัจจุบัน ผู้เรียนจะได้ระบบการเรียนมาชุดหนึ่ง อาจจะเอามาประกอบอาชีพ หรือการแก้ปัญหาหลายๆ อย่างได้ เช่น ถ้าโจทย์คือการซื้อลูกชิ้น ความรู้ในการเรียนบวกเลขของวิชาคณิตศาสตร์ ทำให้คำนวณราคาของลูกชิ้นสองไม้ได้ แต่แนวทางการสอนบางอย่าง เช่น วิธีการเจรจา การติดต่อสื่อสารกับพ่อค้าลูกชิ้น ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในระบบการศึกษาปัจจุบัน ซึ่งตรงนี้เองหลักสูตรของสถาบันฯ จะช่วยเสริมการเรียนรู้เหล่านี้แก่ผู้เรียน ให้เรียนรู้ถึงวิธีการสื่อสารว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล สมบูรณ์ มีคุณค่า และเบิกบานทั้งตัวผู้เรียนและบุคคลรอบข้าง แนวทางการเรียนรู้ของสถาบันฯ จะเป็นเหมือนการพัฒนาต่อยอด จะไม่เน้นท่องจำ จะเน้นให้เห็นความรู้เชิงประจักษ์มากกว่า อย่างเช่น การเรียน Dialogue ถ้าในชั่วโมงเรียนอยากให้ผู้เรียนสัมผัสกับการฟังด้วยใจ กิจกรรมการเรียนก็จะจูงให้ผู้เรียนได้ไปสัมผัสว่าการฟังแบบ I in you และ I in now เป็นอย่างไร ให้เขาได้สัมผัสจากประสบการณ์ตรงและมานั่งแลกเปลี่ยนสิ่งที่เรียนรู้กันเป็นทีม
ถ้าพูดถึงการปฎิบัติธรรมเรามักจะนึกถึงการเดินจงกรม นั่งสมาธิที่วัด แต่สิ่งที่สถาบันโพชฌงค์สอนเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมเป็นแนวทางที่ค่อนข้างใหม่ อยากให้ช่วยขยายความ
การปฏิบัติธรรมเป็นธรรมดาเป็นธรรมชาติ และเรื่องการฟัง การพูด ก็เป็นธรรมดาของมนุษย์ แต่จะทำอย่างไรให้เราพัฒนาการฟังและการพูดที่ธรรมดาของเรา ให้ไปเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘ธรรมะ’ และธรรมะที่ว่านั้นคืออะไร ถ้าเราลองสังเกตชาวตะวันตก เวลาเขาพูดหรือทำอะไร เขาจะพูดว่า present, here and now เป็นการพูดในเชิง Zen มันเป็นการอิงเข้ามาสู่การรู้สึกตัว สู่ภาวะปัจจุบันของใจ ถ้ามองในเชิงพุทธ เราจะบอกว่านี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ทั้งการฟัง (Dialogue) และ การพูด (Public speaking) ก็เป็นรูปแบบการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อโลกเปลี่ยนไป เราอยู่ในสังคมปัจจุบันซึ่งมีสิ่งเร้าที่ต่างไปจากอดีต แล้วอะไรที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตัวให้แตกต่างไปจากเดิม มันก็ต้องมีเครื่องมือใหม่ๆ เช่น ชมรมธนูโพชฌงค์ใช้การยิงธนู ใช้การวาดสีน้ำ ใช้การลองไปนั่งบนหลังม้า ลองใช้เรื่อง Dialogue และ Public speaking ทำให้เกิดคำว่าความรู้สึกตัว ผ่านกระบวนการใหม่ที่เหมาะกับนิสัยคนรุ่นใหม่แบบเรา ได้ทำจริงๆ ได้เรียนรู้จริงๆ
คนที่ไปเรียนกับทางสถาบันฯ เป็นคนวัยไหนกันบ้าง
มีคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ จนกระทั่งคนที่เป็นรุ่นคุณยายครับ
ระยะเวลาในการเรียนการสอน
แต่ละหลักสูตรมีการเรียน 4 ครั้ง ครั้งละ 2 ชม. ตั้งแต่เวลาทุ่มครึ่งถึงสามทุ่มครึ่ง และเนื่องจากเราถือเอาผู้เรียนเป็นสำคัญ ถ้าผู้เรียนขาดเรียนครั้งไหน สามารถทดเวลาเรียนครั้งนั้นไปเรียนในหลักสูตรถัดไปได้ซึ่งรายละเอียดต่างๆ สามารถติดตามได้จาก https://www.facebook.com/BOJJHANGA INSTITUTE
ผู้เรียนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
ถ้ามองจากมุมของผม ปีที่แล้วผมเป็นผู้เรียน Dialogue ทำให้สัมผัสและเจอคำว่า ‘world café หรือ Spiral Knowledge’ ซึ่งเป็นการต่อยอดองค์ความรู้จากการพูดคุยแบ่งปันแง่คิดและความรู้เกี่ยวกับเรื่องการฟัง 4 ระดับ I in me , I in it, I in you, I in now ผ่านกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเล่นดนตรีให้เราฟัง และให้เราสังเกตดูว่าเวลาเราเอาตัวตนไปเป็นคนแต่งเพลง เราก็จะเห็นว่าเขาอยากจะสื่ออะไร แต่ถ้าเราฟังแบบฉันเคลิ้มไปกับเพลง มันก็เป็นความรู้สึกว่าฉันคิดอย่างไรกับเพลง
บุคคลทั่วไปที่มีความเชื่อในหลักศาสนาอื่นมาเรียนได้ไหม
ได้ครับเพราะว่าทั้งกิจกรรมของชมรมธนูโพชฌงค์และหลักสูตรของสถาบันธนูโพชฌงค์ ไม่ได้เป็นการบอกว่าพุทธศาสนาคืออะไร แต่เป็นการบอกว่าความสุขภายในคืออะไร ซึ่งสิ่งที่แต่ละศาสนาสอน เป็นการกลับเข้ามาสู่ความสุขภายในของเราเอง ใครที่มาเรียนกับเราก็มาแบ่งปันความสุขกับเรา เราจะได้เรียนรู้จากเขาว่าศาสนาอื่นที่แตกต่างจากเรา ความสุขภายในของเขาเป็นอย่างไร