ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว ท่วงทำนองแห่งการตื่นตัวภายใน
ยูริธมี (Eurythmy) หรือศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว เป็นศิลปะแขนงหนึ่งใน ‘ศิลปะด้านใน’ ทั้ง 7 ซึ่งเปิดเผยกฎเกณฑ์และโครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี โดยดร.รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner) ผู้คิดค้นหลักมนุษยปรัชญา (สัจธรรมแห่งการเป็นมนุษย์) ยูริธมีช่วยจัดระเบียบและสร้างสัมพันธ์ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณระดับต่างๆ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ทั้งในด้านความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติค้นพบความดี ความงาม ความจริงในตน
ดนตรี การร้องเพลง และจังหวะ
เด็กๆ จะเริ่มสร้างตัวตน (Ego) ในช่วงวัย 7-14 ปี โดยเด็กวัยนี้สัมพันธ์กับวัยแห่งความรู้สึก ดนตรีจึงเป็นการเปิดเผยถึงความรู้สึก เด็กจะประทับใจกับเพลงได้ง่ายมาก หากใส่เพลงที่ดีในห้วงเวลานี้ การพัฒนาจึงเป็นไปด้วยดี ในการร้องเพลงนั้น เป็นมากกว่าการร้องเพื่อความไพเราะของบทเพลง หากมองให้ลึกลงไปต้องผสมเสียงจากตัวเขาเองและเสียงคนอื่นให้ไปด้วยกันได้ ดังนั้น หมายความว่าเด็กต้อง ‘ฟัง’ และ ‘ปรับ’ ให้เข้ากับผู้อื่นด้วย ดังนั้น ดนตรี การร้องเพลง ต่างมีชีพจรของจังหวะซึ่งนั่นเป็นความสัมพันธ์กับความมั่นคงด้านใน การสร้างเสริมสิ่งเหล่านี้ เป็นการจัดระเบียบในร่างกายและจิตใจตนเองอย่างมีท่วงทำนอง
โครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี
ยูริธมีถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เสียงพูดและดนตรีที่มองเห็นได้’ เพราะการฝึกยูริธมีเปิดเผยโครงสร้างภายในของภาษาพูดและดนตรี ช่วยจัดระเบียบและความกลมกลืนทั้งกายและจิตระดับต่างๆ กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวภายใน ทั้งในด้านจิตใจ ด้านความคิด ด้านการรับรู้ และด้านความรู้สึก ซึ่งจะทำให้เกิดความสมดุล ทั้งความคิด จิตสำนึก ความรู้สึกที่มาจากใจ และความต้องการที่จะทำให้เกิดผลแห่งความสำเร็จ
ปลุกใจให้เป็นผู้ตื่น กระทำการเคลื่อนไหว
การฝึกยูริธมีแต่ละแบบฝึกหัดนั้น เป็นการฝึกเพื่อให้เกิดความรู้สึกกับกาย มีสติกับการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้
- เริ่มด้วยการรู้สึกถึงจุดศูนย์รวมพลัง ซึ่งก่อให้เกิดการเติบโตจากภายในสู่ภายนอก โดยอาศัยภาพจินตนาการภาพเมล็ดที่มีขุมพลังซ่อนอยู่ หยั่งราก แตกกิ่ง เติบโต กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ ผลิบาน เติบโตเต็มกำลัง
- การยืนอย่างรู้สึกสมดุล โดยหาความไม่สมดุล โยกเยก เอนหน้าหลัง เพื่อมารู้สึกว่าการยืนที่น้ำหนักดิ่งลงมาที่กลางเท้านั้นทำให้พบแกนกลางของตนเอง เป็นการยืนที่ ‘ตั้งตรง’ ระหว่างเบื้องบนและเบื้องล่าง
- การยืนระหว่างเบื้องบนและเบื้องล่าง เพื่อรับรู้ความสว่าง แสง ความเบา และความอุ่น และรับรู้น้ำหนักแขนสองข้างที่ชูอยู่ด้านบน และขาที่กางอยู่ด้านล่าง โดยเริ่มจากแขนขวาชูขึ้นหาแสงและคิดถึงความจริงว่ามีแสงส่องมาจากด้านบน ส่วนขานั้นรับรู้ถึงแรงโน้มถ่วงที่มาจากเบื้องล่าง แรงโน้มถ่วงขึ้นมาจากแผ่นดิน สองพลังจะผสานกันที่ช่วงท้องของผู้รู้สึก
- การยืนนำความพร้อมมาสู่การเดิน การเดินอย่างที่ใจเป็นผู้กำหนด นับแต่การยกเท้า เป็นพลังใจ แรงบันดาลใจ การย่างเท้า อิสรภาพที่เรามีและมีช่วงเวลา ต่อมาการวางเท้า เป็นการตัดสินใจทำ การกำหนดทางชีวิต
- การทำงานกับจังหวะด้วยการเดินกับบทกวี หรือทำงานกลุ่มกับการเล่นจังหวะ เพื่อให้การเล่นกับจังหวะ และการทำงานกลุ่ม สามารถคิดสร้างสรรค์ต่อ พัฒนาไปได้โดยตัวผู้เรียนเอง
- การเข้าไปสัมผัสกับเสียงและความเป็นดนตรีของคำต่างๆ และวรรคบทกวีด้วยการออกเสียงทำให้ได้พบความเป็นดนตรีอย่างชัดเจนผ่านเสียงวรรณยุกต์ และค้นพบว่าเสียงวรรณยุกต์หลายๆ คำ เป็นเสียงที่สอดคล้องกับความรู้สึกของใจที่มีสูงและต่ำ ออกเสียงและค้นหา ฟังประสบการณ์ที่ใจต้องกระทำภายในเพื่อการออกเสียง
สตูดิโอศิลปะด้านใน (๗ Arts Inner Place)
สตูดิโอ ‘ศิลปะด้านใน’ ภายใต้สถาบันศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญา ซึ่งมีรากฐานจากหลักมนุษยปรัชญา ของดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่กล่าวว่า “ศิลปะมีศักยภาพพัฒนาภายในทั้งมิติของกาย วิญญาณ และจิตวิญญาณ” โดยสไตเนอร์ได้กล่าวถึงศิลปะด้านในทั้ง 7 แขนงไว้ที่เมืองมิวนิคในปี ค.ศ. 1908 อันได้แก่ สถาปัตยกรรม การปั้น การระบายสี ดนตรี ภาษา ศิลปะแห่งการเคลื่อนไหว และศิลปะแห่งชีวิต ที่ส่งผลในระดับจิตวิญญาณที่แตกต่างออกไป สตูดิโอศิลปะด้านในจึงเปิดพื้นที่สำหรับศิลปะไปจนถึงศิลปะบำบัดให้แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานมาก่อน “เมื่อการทำงานศิลปะด้านในเริ่มต้นขึ้น สมดุลแห่งจิตวิญญาณจะคืนกลับสู่ตัวเราอีกครั้ง
มนุษยปรัชญา (Anthroposophy)
ปรัชญาวิธีการมองมนุษย์และโลกที่เรียกว่า ‘มนุษยปรัชญา’ (Anthroposophy) เป็นการค้นหาในระดับที่ลึกซึ้งว่า ‘มนุษย์คืออะไร’ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอกระหว่างมนุษย์ กับโลกและเอกภพ แนวทางการศึกษาของสไตเนอร์ก่อเกิดมาจากการมองความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติมนุษย์และสังคม