ความสุขวงใน

ธนาคารจิตอาสา ปันเวลา แชร์ความสุข

 

หากเดินเข้าไปที่ธนาคารสักแห่ง เราย่อมต้องการทำธุรกรรมทางการเงินบางอย่าง เช่น ฝาก ถอน โอน จ่าย กู้ ทำบัตรเอทีเอ็ม ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมการตอบโจทย์ทางการเงินทุกๆ อย่างเลยก็ว่าได้ แต่หากอยากทำอะไรดีๆ อยากช่วยเหลือคนอื่น เห็นเหตุการณ์ภัยพิบัติแล้วอยากช่วย เราจะหาข้อมูลเหล่านี้ได้ที่ไหน

เราอาจค้นหาใน Google Facebook หรือ Twitter แต่มันก็กระจัดกระจาย สิ่งที่อยากทำก็อาจหาไม่เจอ ไอ้ที่เจอก็ดันไม่ว่าง พอลองไปก็ดันเจอผู้จัดกิจกรรมที่ทำงานไม่รัดกุม ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหา ‘งาน’ กับ ‘คน’ หากันไม่เจอ ‘ธนาคารจิตอาสา’ จึงเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554

ธนาคารจิตอาสาเปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ทำหน้าที่สร้าง ‘ระบบฝากเวลา แนะนำงานอาสา’ โดยจัดทำเว็บไซต์ให้บุคคลที่สนใจเข้ามาสมัครสมาชิก ฝากเวลาที่ตนเองยินดีทำงานอาสา พร้อมกับบอกประเภทงานที่สนใจ ระบบก็จะส่งงานอาสาที่เกี่ยวข้องไปให้ หากสนใจก็ลงทะเบียนได้เลย ด้านองค์กรที่ทำงานสาธารณประโยชน์ก็เข้ามาเปิดหน้างานและประกาศหาอาสาสมัครได้ ปัจจุบันมีคนเข้ามาฝากเวลากับธนาคารจิตอาสาถึง 2,800,000 ชั่วโมง และมีองค์กรกว่า 210 องค์กรมาแนะนำงานอาสาในเว็บไซต์ JitAsabank.com (ข้อมูลวันที่ 17/7/2560)

ธนาคารจิตอาสาเรารับฝากเวลาทำงานอาสาแทนการฝากเงิน ชีวิตคนเราจะยากดีมีจน แต่ก็มีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ทุกคนอยากจะฝากเวลากี่ชั่วโมงกี่นาทีก็ได้ มันทำให้เราคิดว่าเราจะใช้เวลาในชีวิตอย่างไร
– เกิ๊ก วิเศษ บำรุงวงศ์ ทีมงานธนาคารจิตอาสากล่าว

แต่นอกจากงานบริการดังกล่าวแล้ว นุ้ก ธีรัช พิริยะปัญญาพร ทีมงานธนาคารจิตอาสาอีกท่านบอกว่า หัวใจของธนาคารจิตอาสานั้นไม่ใช่แค่การทำงาน แต่พยายามส่งเสริมให้งานอาสาเป็นช่องทางการพัฒนาจิตใจอีกด้วย

 

กำไรจากการฝากเวลากับธนาคารจิตอาสา

ปกติเวลาพูดถึงงานอาสา เรามักคิดไปถึงงานที่บุกป่าฝ่าดง ลำบากลำบน หรืองานที่ตัวเราเองไม่มีทักษะนัก เช่น สร้างบ้าน ปลูกป่า ขัดห้องน้ำ ฯลฯ แต่ธนาคารจิตอาสาพยายามทำงานส่งเสริมให้งานอาสานั้นมีมิติการขัดเกลาจิตใจ และทำให้อาสาสมัครเกิดการเรียนรู้เชื่อมโยงตัวเองกับผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม

วิธีการที่ทำให้งานอาสามีมิติเหล่านั้นได้ สองหนุ่มบอกว่าพวกเขาต้องชวนให้องค์กรต่างๆ พาอาสาสมัครกลับมาสัมผัสกับ ‘คุณค่า’ ของงานที่ทำ โดยทำให้เขาเข้าใจว่างานที่ทำนั้นเชื่อมโยงและมีประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมอย่างไร ในขณะเดียวกันก็พาอาสาสมัครกลับมาตระหนักรู้ตนเอง (Self-Awareness) บ่อยๆ พร้อมกับสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน (Self-Reflection) เพื่อกลับมาทวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในตนเอง

พูดอย่างนี้แล้วอาจจะงง หนุ่มนุ้กจึงเล่าตัวอย่างงานอาสาที่ช่วยขัดเกลาจิตใจคนให้ฟัง

เรื่องแรกเป็นอาสาสมัครคีย์ข้อมูลเพื่อจัดทำหอจดหมายเหตุอาจารย์ระพี สาคริก เนื่องจากงานของอาจารย์แทบทั้งหมดเป็นกระดาษ หนังสือ และไมโครฟิล์ม จึงต้องมีคนพิมพ์เนื้อหาเหล่านี้ลงฐานข้อมูลในคอมพิวเตอร์ แต่แทนที่จะให้งานไปพิมพ์เฉยๆ ก็จัดช่วงเวลาให้อาสาสมัครได้พูดคุยกับอาจารย์ระพี และส่งงานให้พิมพ์อย่างสม่ำเสมอ จนอาสาสมัครท่านหนึ่งได้เขียนข้อความมาบอกเล่าว่า รู้สึกตนเองโชคดีมากๆ เพราะมีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์ระพีซึ่งมีอายุมากแล้ว แต่ท่านก็ยังคงขยันทำงาน และมีเมตตา ช่วยเล่าและสอนเรื่องต่างๆ ให้ฟังมากมาย ทำให้อาสาสมัครคนนี้มีกำลังใจทำงานต่อไปในช่วงเวลาที่กำลังท้อแท้ และพอได้พิมพ์บทความและชีวประวัติก็ได้ความรู้ ได้พัฒนาจิตใจ จิตสำนึก และคุณธรรมในตนเอง

เรื่องที่สองเป็นเรื่องของเยาวชนคนหนึ่งที่ไปร่วมงานอาสาของ Art for all ซึ่งทำงานศิลปะกับเด็กพิการในพื้นที่ต่างจังหวัด ทำให้น้องต้องตื่นเช้ามากๆ ผิดปกติวิสัยของตัวเอง แต่เมื่อก้าวข้ามและไปร่วมกิจรรมได้ เธอก็ประทับใจจนต้องเขียนความเห็นมาขอบคุณทีมงาน

การขัดเกลาตัวเองจึงไม่ได้แปลว่าเราเลว เราเลยมาเปลี่ยนตัวเองให้ดี แต่เป็นการขัดเกลามุมมองตัวเอง เพื่อกลับมาพบความสุข ความงามของชีวิต ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่การตามใจตัวเอง แต่คือการฝืนบางอย่างเพื่อพบความสุขที่ประณีตกว่า
– นุ้กกล่าว

ด้านเกิ๊กก็เล่างานอาสาของกลุ่ม the guide light ที่ตั้งใจช่วยให้เพื่อนนักศึกษาที่เป็นผู้พิการทางสายตาให้อ่านหนังสือได้ เนื่องจากพวกเขาพบว่า เพื่อนที่ตาบอดจะมีปัญหาเรื่องไม่มีตำราอ่าน เพราะโปรแกรม Text to speech ซึ่งเป็นโปรแกรมช่วยคนตาบอดอ่านหนังสือนั้นรองรับแต่ไฟล์ Microsoft Word แต่ตำราออนไลน์ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบไฟล์ PDF จึงประกาศรับอาสาสมัครมาพิมพ์งาน และช่วยสื่อสารกับสังคมประเด็นการเข้าถึงการศึกษาของผู้พิการทางสายตาไปด้วย

งานอาสาสร้างความเชื่อมโยงระหว่างคน ทำให้เรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหนในสังคม ทำให้เรามองเห็นกันและกัน เพราะผู้พิการก็อยู่ในสังคมเหมือนเรา การทำงานอาสาทำให้เราสัมผัสรับรู้การมีอยู่และเกื้อกูลกันได้
– เกิ๊กกล่าว

 

ความสุขของทีมงานJitasabank.com

ในฐานะคนทำงานหลังบ้าน นุ้กทำงานที่ธนาคารจิตอาสาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน เขาบอกว่างานของเขาก็เหมือนคนอื่นๆ มีทั้งทุกข์และสุขผสมกันไป แต่สิ่งที่ทำให้เขายังทำงานนี้ได้อย่างต่อเนื่องเพราะเขาตระหนักว่ากำลังทำงานเพื่อใครและเพื่ออะไร เขาเห็นทั้งโอกาสและความท้าทายในงานของตัวเอง ส่วนสิ่งที่ประทับใจและเป็นพลังให้เขาอย่างมาก คือช่วงแรกของการเปิดธนาคารจิตอาสา ทีมงานในองค์กรต่างๆ มานั่งร่วมกันและพูดในตอนท้ายเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาตั้งใจจะปัดฝุ่นงานของตนครั้งใหญ่ การประชุมครั้งนั้นทำให้นุ้กสัมผัสได้ถึงใจที่พร้อมร่วมไม้ร่วมมือกันด้วยเจตนาดี

ด้านเกิ๊กบอกว่าเขามีความสุขที่ได้ส่งเสริมให้คนในสังคมทำงานอาสา ซึ่งมีมิติการพัฒนาใจและพัฒนาความเข้าใจต่อโลกไปพร้อมๆ กัน

ผมคิดว่าตัวเองกำลังทำงานสาธารณสุข เพราะทำให้คนมีสุขภาพใจดีขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำงานการศึกษาด้วย เพราะเวลาคนไปเป็นอาสาสมัครในองค์กรสิ่งแวดล้อม เขาจะได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เมื่อไปทำงานองค์กรเด็ก เขาก็ได้เห็นสังคมกว้างขึ้น ฉะนั้นงานแบบนี้จึงสร้างการเรียนรู้ที่ไม่ได้ผ่านห้องเรียน

ว่าแล้วก็อย่ารอช้า…ไปฝากเวลากับ ‘ธนาคารจิตอาสา’ กันเถอะ

 


ติดต่อและติดตามข่าวสารของธนาคารจิตอาสาได้ที่

  • facebook: jitarsabank
  • twitter : jitarsabank
  • instagram : jitarsabank
  • หากคุณเป็นอาสาสมัคร คุณจะใช้บริการดังนี้ได้
    1. ระบบแนะนำงานอาสาที่ตรงกับความสนใจ และความถนัด
    2. แหล่งรวบรวมภารกิจจิตอาสาจากองค์กรภาคสังคมที่หลากหลาย
    3. ระบบการลงทะเบียนอาสาสมัครแบบ one-stop service หรือจุดเดียวเบ็ดเสร็จ
      • ลงทะเบียนร่วมกิจกรรมที่หน้าเว็บธนาคารจิตอาสาได้ทันที
      • มีอีเมลเตือนก่อนเริ่มกิจกรรม
      • มีระบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์หลังจบกิจกรรม

*ข้อควรรู้ก่อนเป็นอาสา* ขอให้รับผิดชอบตัวเองโดยไปร่วมงานตรงเวลาและร่วมกิจกรรมจนจบ หากติดขัดอะไรขอให้สื่อสารกัน เพราะถ้าหากลองทำอย่างเต็มที่แล้ว อาจได้อะไรที่ไม่คาดคิดก็ได้นะ

  • หากคุณเป็นองค์กรอาสาสมัครที่ต้องการหรือกำลังเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทำกิจกรรมเพื่อสังคม และสนใจสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิตใจ ติดต่อได้ที่ jitarsabank.com หรือ jitarsabank@gmail.com
ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save