ทำงานเพื่อรับใช้ เริ่มจากใจที่เพียงพอ
คุณธาดา เศวตศิลาจบปริญญาโท รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และด้วยความบังเอิญที่หน่วยก้านดี หน้าตาดูขายของได้ จึงได้เริ่มชีวิตการทำงานด้านการขายและการตลาดในเครือปูนซีเมนต์ไทยอยู่ 7 ปี ก่อนมาเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับบริษัท IBM ซึ่งเป็นที่ฝึกการขายและการตลาดชั้นยอดสำหรับคุณธาดา ให้เป็นคนมีจิตวิญญาณที่อยากจะช่วยลูกค้าจริงๆ ทำให้ลูกค้าหลายๆ คนกลายมาเป็นเพื่อนกันในที่สุด จนปัจจุบันได้มาช่วยบริหารงานบริษัทในเครือซีพีและทรู คอร์ปเปอเรชั่น
บุคคลสำคัญที่คุณธาดายึดเป็นแบบอย่างไม่ใช่ใครที่ไหนไกล ท่านคือพลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา อดีตองคมนตรีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คุณพ่อทำตัวเป็นแบบอย่างให้เห็นด้วยการเป็นผู้เสียสละที่ดี และทำงานเพื่อประเทศชาติโดยยึดหลักสำคัญ 4 ประการคือ มั่นคง ปลอดภัย รับผิดชอบ และมีวินัย ทำให้รู้สึกตนเองเป็นคนโชคดี พอโชคดีแล้ว ถึงจุดหนึ่งความพอเพียงมันเกิดขึ้นในใจได้เอง ตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยขออะไรใครเลย เป็นผู้ให้ไปก่อนเสมอ ไม่เคยเรียกร้องตำแหน่งใหญ่โต เงินเดือน รถประจำตำแหน่ง หรือห้องทำงานใหญ่ๆ
เมื่อใจรู้จักพอ ใจก็นิ่งเอง
ความโชคดีที่มีครอบครัวที่ดีดูแลในวัยเด็ก ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปถึงจุดหนึ่ง ความโชคดีกลายเป็นความพอเพียง ถ้าถามว่าฝึกใจให้นิ่งได้อย่างไร ที่มาก็คงมาจากเวลาที่เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ จะทำให้ดีที่สุดเพื่อคนอื่น ไม่ใช่เพื่อตนเอง ในเมื่อครอบครัว เจ้านาย ลูกน้อง เขาให้โอกาสเรา เราก็ต้องให้เขากลับคืนไป ความนิ่งมันจึงเกิดจากตรงนี้เอง ใจที่นิ่งเกิดจากใจที่มันพอเพียง เมื่อฝึกสำนึกรู้คุณบ่อยๆ ใจมันนิ่งของมันเอง มันไม่คิดว่าจะไปเอาอะไรของใครเลย
ผู้นำแบบผู้รับใช้ Servant Leadership
เมื่อปีค.ศ. 1980 โรเบิร์ต กรีนลีฟเป็นผู้บริหารที่สังเกตเห็นและรู้สึกได้ว่าพนักงานทำงานไม่มีความสุข จึงปรับเปลี่ยนให้หัวหน้าและผู้บริหารเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ตามอย่างจริงจัง แทนแนวคิดทฤษฎีกระแสหลักที่เน้นแต่บทบาทของผู้นำเพียงอย่างเดียว โดยฝึกเป็นผู้นำแบบรับใช้ เป็นผู้นำที่บริการคนอื่นก่อน เป็นฝ่ายให้ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นผู้นำที่มองเห็นประโยชน์ ความสุขของคนอื่นมาก่อนเสมอ
คุณธาดาได้นำแนวทางการเป็นผู้นำแบบรับใช้นี้มาฝึกปฏิบัติกับตนเอง จนถึงจุดหนึ่งความสุขของคนในองค์กรก็เพิ่มขึ้นได้เองจริงๆ แนวคิดก็คือเริ่มต้นจากการมีจิตใจรับใช้ให้บริการผู้อื่น และต่อมาเห็นว่าการก้าวไปสู่ภาวะการนำคือเพื่อที่จะรับใช้ให้บริการผู้อื่นได้ดีขึ้น จะเป็นผู้นำที่ดีได้มากกว่าคนที่เริ่มต้นคิดจากจิตใจต้องการเป็นผู้นำ ซึ่งอาจมาจากแรงจูงใจต้องการมีอำนาจหรือผลประโยชน์เพิ่มขึ้น
ก้าวผ่านวิกฤติ ด้วยจิตที่นิ่งพอ
ในชีวิตคุณธาดาก็เคยมีเหตุการณ์ที่ต้องตัดสินใจยากๆ อยู่เหมือนกัน อย่างเช่นวันหนึ่งต้องทำหน้าที่สัมภาษณ์คนออก เนื่องจากบริษัทไอทีอเมริกันที่เคยทำในอดีตโดนเข้ามารับช่วงต่อ ลูกน้องเดิมจำเป็นต้องหายไปครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องรีบทำเพื่อให้บริษัทเดินหน้าต่อไป ถูกกำหนดให้คุยกับแต่ละคนได้ไม่เกิน 15 นาทีต้องจบ เป็นเรื่องที่ลำบากใจไม่ใช่น้อย คำพูดที่คิดออกจากใจที่สงบที่สุดที่ทำได้ในตอนนั้นคือ “บริษัทไม่ได้มีปัญหาอะไรส่วนตัวกับคุณนะ แต่บริษัทจำเป็นต้องเดินหน้าต่อ คุณเป็นคนที่มีศักยภาพสูง แต่ว่าเป็นเมล็ดพันธุ์ของต้นไม้ที่อาจจะไม่เติบโตในผืนดินของบริษัทนี้ แต่จะไปเจริญเติบโตได้ดีในที่อื่นๆ ไปปลูกที่อื่นน่าจะเจริญเติบโตได้กว่านี้” ผลคือคนฟังไม่รู้สึกต่ำต้อยอะไรเลย ณ เวลานั้นลูกน้องที่ถูกเชิญออกให้ไปอยู่ที่อื่น เพราะช่วงเวลานี้อยู่ที่นี่ไม่เหมาะสม ไม่มีใครมาต่อว่าคุณธาดากลับเลยสักคน และยังเป็นพี่น้องกันอยู่ คบหาเจอะเจอกันได้อีกต่อไป
ความสุขเกิดจากการรักษาสมดุล
ชีวิตที่มีความสุขคือชีวิตที่มีคุณภาพ เราต้องสมดุล 4 เรื่องคือ ครอบครัว สังคม ส่วนตัว และงาน ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็เสียสมดุล ทุกอย่างต้องผ่านการเรียนรู้ และต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ตามที่คุณพ่อสอนไว้คือ Never Retire คือไม่ว่าอายุเท่าไหร่ต้องไม่หยุดเรียนรู้และลงมือทำ พร้อมกับมีเป้าหมายที่เป็นอุดมการณ์ร่วมด้วย ไม่ใช่เป้าหมายของเราเพียงคนเดียวเท่านั้น สุขทุกข์มันมาพร้อมกัน มีพอใจก็มีขัดใจ บางอย่างบางเรื่องทุกข์ก่อนแล้วค่อยสุข ใจมันไม่เป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น มันบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจเราหวังไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมองสุขในทุกข์ให้เจอ
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณธาดาแนะนำคือ
ถ้าจิตเกาะลมหายใจไม่อยู่ ให้ลองหันมาเกาะอยู่กับปัญจะวิทยา ซึ่งประกอบด้วย 5 อย่างด้วยกันคือ ดนตรี กีฬา ศิลปะ ธรรมชาติ และปรัชญา เมื่อลองฝึกอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ใจเราก็แวะเวียนมาเจอความสงบได้เช่นกัน