ใจโล่งโปร่งสบายด้วยการยิงธนู
หลายๆ คนที่เคยเห็นแคตนิส เอเวอร์ดีน จากภาพยนตร์เรื่อง The hunger game อาจจะรู้สึกได้ถึงความเท่ ความแข็งแกร่ง และความเก่งกาจของเธอในการต่อสู้ แถมยังมีอาวุธคู่กายเป็นธนูอีกด้วย ในปัจจุบันธนูได้กลายเป็นกีฬาระดับโลกที่น่าสนใจ และทำให้คนหันมาเริ่มเรียนรู้กีฬายิงธนูนี้กันมากขึ้น เรามักรู้จักธนูในฐานะของอาวุธชนิดหนึ่ง ที่มักใช้ในศึกสงครามตั้งแต่โบราณ หรือใช้ในการล่าสัตว์ และบุคคลที่เราจะพาทุกท่านมาพบในวันนี้ เธอเป็นนักยิงธนู คุณโบว์กี้ วิศรุตา ผลนิยม ประธานชมรมธนูโพชฌงค์ แต่เธอบอกว่าเธอไม่ใช่นักกีฬา เพราะไม่ได้ลงแข่งในรายการใดๆ แต่ธนูนี้ฝึกไว้เพื่อเจริญสติ
ช่วยเล่าที่มาของชมรมธนูโพชฌงค์ให้ฟังหน่อยว่าคืออะไร
ชมรมธนูโพชฌงค์ก่อตั้งจากดำริของอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ ที่อยากให้มีกีฬาที่สามารถใช้ฝึกปฏิบัติได้ นอกเหนือไปจากการนั่งสมาธิ หรือเพียงแค่เดินจงกรมค่ะ ก่อนหน้าที่จะเกิดเป็นชมรมขึ้นมา อาจารย์วรภัทร์ได้ไปลองยิงธนูทั้งแบบตะวันตกและแบบตะวันออก ท่านศึกษาและลองผิดลองถูก จนค้นพบว่าการยิงธนูนั้น สิ่งที่มากไปกว่าการยิงธนูเพื่อเอาคะแนน หรือเน้นแม่น คือการยิงธนูแล้วได้เรียนรู้ปัญญา 3 ฐาน ได้แก่ ฐานกาย คือกายรู้กาย ฐานใจ คือการที่ใจเราโล่งโปร่งสบาย และฐานคิด คือการรู้และเท่าทันความคิดจรที่วิ่งเข้ามา ชมรมเราเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยแรกเริ่มใช้ชื่อว่า ธนูไตรสิกขา พื้นฐานคือรู้กายก่อนในเบื้องต้น และต่อมาท่านปิยโสภณแห่งวัดพระรามเก้าตั้งชื่อให้ใหม่เป็นธนูโพชฌงค์ โดยการผนวกการยิงธนูเข้ากับ 7 ลำดับขั้นของโพชฌงค์ 7 คือเริ่มต้นที่สติก่อนเสมอ จากนั้นมาอาจารย์มีดำริว่าเราควรจะมีการสอบสายเหมือนพวกยูโด คาราเต้ เพื่อวัดระดับการฝึก แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงก็คือการดูถึงความตั้งใจที่จะเดินทางในการฝึกปฏิบัติด้วยสายนี้ เหมือนเราหาคนที่จะลงเรือลำเดียวกัน เพื่อเดินทางไปให้ถึงจุดหมาย โดยในปัจจุบันนี้มีสมาชิกในชมรมที่ผ่านการสอบสายเข้ามาทั้งหมด 153 คน และกำลังมีผู้สนใจสมัครเข้ามาสอบกับทางชมรมอยู่เรื่อยๆ เพราะเราเปิดสอบสายกันทุก 6 เดือน
หลักของธนูโพชฌงค์ที่ใช้ฝึกสติคืออะไร
ธนูโพชฌงค์ไม่ใช่ธนูที่เราเน้นแม่นเพื่อทำคะแนนใดๆ เหมือนเราไม่ได้เล็งเป้า เพราะเป้าเราเป็นเป้าผ้าผืนใหญ่ที่ไม่มีวงคะแนนใดๆ แต่เราพุ่งความสนใจมาที่ตัวเรามากกว่า ลำดับขั้นของธนูโพชฌงค์ทั้ง 7 ข้อเราก็ปฏิบัติตามค่ะ (สติ ธัมมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา) แต่พื้นฐานจริงๆ ที่อาจารย์ต้องการให้ฝึกกันมี 3 ข้อคือ
ลดความคิด เพิ่มรู้กาย ทำใจว่าง
ก็คือขณะที่เรายิงธนูเราต้องรู้กายให้มากๆ ตั้งแต่ท่าเริ่มต้น การนั่งซาเซนหรือการนั่งสมาธิ การเดินเลียดพื้น ไปจนถึงกล้ามเนื้อทุกส่วน เราให้ผู้ยิงอยู่กับร่างกาย อยู่กับลมหายใจ ที่เราเรียกกันว่าใช้ body sensing (กายรู้กาย) และในขณะที่เราอยู่ในกระบวนการของการยิงธนู เชื่อเถอะว่าทุกคนจะต้องมีความคิดโน่นนี่เข้ามาไม่รู้กี่ร้อยเรื่องในเวลาไม่กี่นาที เสียงวุ่นวายที่อยู่ในหัวเรา มันพูดกับเราตลอดเวลา แต่อาจารย์สอนให้เรา “สิ้นคิด” ค่ะ เพื่อให้เราตัดความคิดที่ไม่ใช่ออกไป ก็คือการดีดความคิดจรต่างๆ นั่นเอง สุดท้ายเมื่อเรารู้กายมากๆ เราดีดความคิดขยะต่างๆ ออกไปได้ เราก็จะโล่งๆ สบายๆ นั่นคือใจจะว่าง ซึ่งมันก็เปรียบได้กับช่วงเวลาที่เราน้าวคันธนูหนักๆ อยู่ แล้วพอเราปล่อยลูกออกไป เราจะค้นพบความโล่ง ณ ขณะนั้นเอง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วความโล่งตรงนั้นแหละค่ะที่เราต้องการให้เกิดขึ้นตลอดเวลา มือใหม่จะรู้สึกว่าโล่งแค่ตอนปล่อยธนู ซึ่งมันเกิดแป๊บเดียว แต่เมื่อเราซ้อมเยอะๆ ทำบ่อยๆ มันก็จะเกิดความโล่งได้ตลอดเวลา หรือแม้แต่จะไม่ได้ยิงธนูอยู่ก็รู้สึกได้ ตอนนั้นแหละค่ะ ที่เราเรียกว่าสติอัตโนมัติ
ใครบ้างที่เหมาะสมจะมายิงธนูโพชฌงค์
เราออกแบบธนูโพชฌงค์มาเพื่อให้ทุกคนสามารถยิงได้ค่ะ ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงอายุ แต่ในส่วนของเด็ก เราจำกัดอายุที่ 14 ปีขึ้นไป ซึ่งเขาดูแลตัวเองได้แล้ว เพราะอย่างไรธนูก็คืออาวุธชนิดหนึ่ง เราใส่ใจเรื่องของความปลอดภัยที่สุด แล้วนอกจากนี้เราก็ยังมีผู้ที่อาจจะมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อแขนอ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อขาเล็กลีบจากโรคประจำตัว เราก็ออกแบบท่ายิงธนูเพื่อให้เหมาะสมกับผู้ที่สนใจอยากฝึกปฏิบัติแนวนี้ด้วย
ช่วยเล่าตอนคุณโบว์กี้ฝึกธนูโพชฌงค์ให้เราฟังหน่อย
โบว์เริ่มยิงธนูโพชฌงค์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็ยิงตามอาจารย์นั่นแหละค่ะ เราคิดว่าถ้าไม่ได้ไปหาอาจารย์ในวันนั้น ก็คงจะผลัดวันไปเรื่อยๆ ถ้าต้องรอหาเพื่อนไปด้วย คงไม่ได้ฝึก ก็เลยตัดสินใจไปพบอาจารย์ที่สนามยิงธนูเลย ซึ่งถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ตัวเองคิดไม่ผิดเลย ในช่วงเริ่มต้นโบว์ก็ได้ลองยิงธนูหลายแบบเหมือนกัน ทั้งแบบตะวันตกและแบบตะวันออกค่ะ ตอนฝึกใหม่ๆ เริ่มที่ธนูตะวันตกก่อน แต่โบว์เลือกธนูแบบไทยที่เป็นแบบดั้งเดิมก็คือเป็นธนูที่ไม่มีศูนย์เล็ง ไม่มีตัวช่วยใดๆ ขณะยิงคือใช้การเล็งเป้าและสัญชาติญาณค่ะ ซึ่งเราก็ฝึกแบบนั้นมาระยะหนึ่ง เมื่ออาจารย์เริ่มเปลี่ยนไปฝึกแบบใหม่ เราก็ฝึกตามไป เพราะว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันเป็นเพียงเครื่องมือที่เราจะนำมาใช้
ตอนฝึกแรกๆ เราจะมีปัญหาเรื่องของกล้ามเนื้อที่ยังไม่เคยใช้ ทำให้แรงในการน้าวธนูน้อย เมื่อได้เรียนรู้จากพี่ๆ ที่สนามยิงธนูที่เขาเป็นนักกีฬาแข่งธนู ตอนเราฝึกธนูปอนด์หนักๆ บางทีเราก็นึกท้อนะ ว่ามันยิงไม่ได้ แต่พอเรากลับมาพิจารณาว่าที่ทำไม่ได้เพราะยังไม่เคยฝึกไง ก็กลับไปฝึกจนสามารถน้าวได้ ถือว่าเป็นช่วงเรียนรู้ เก็บเกี่ยวเทคนิคไปก่อน สุดท้ายพอมาเป็นธนูโพชฌงค์หลังจากที่นำการยิงแบบตะวันออกมาผสมผสานแล้ว เราก็ได้วิธีการยิงที่ทำให้เราสงบ อยู่กับฐานกายได้ดีขึ้น มันมีขั้นตอนที่เราจะต้องทำ ลมหายใจในแต่ละช่วงที่เราต้องดูแล กล้ามเนื้อแต่ละส่วนที่เราต้องใช้ เราจะรู้เลยว่าเราเกร็งไหล่เรามากเลย ไหล่ยก กำคันธนูแน่นเกินไป คิ้วขมวด เครียด มันจะเริ่มรู้สึกได้ และยังมีความคิดมากมายที่วิ่งวุ่นอยู่ในหัว เช่น ตอนนี้ต้องหายใจเข้าหรือออกนะ เดี๋ยวเราจะต้องทำขั้นนี้ต่อ คนอื่นเขาจะมองเราอย่างไรนะ ยิงออกไปจะโดนเป้าไหมนะ ถ้าไม่โดนเป้าคงอายแย่ มันเยอะแยะมากๆ จนถ้าเรามัวแต่ไปสนใจที่ความคิด ไม่ดีดมันออกไป คนดูจะสัมผัสได้ จะเห็นได้เลยตอนปล่อยลูก ว่าเราคิดเยอะ มันก็ต้องฝึกเห็นสิ่งเหล่านี้บ่อยๆ เห็นแล้ววาง ดีดมันทิ้งไป ซึ่งการยิงธนูออกไปมันเหมือนเราได้ปลดปล่อย ไร้ตัวตน ไม่ยึดติดใดๆ อีก มันทำให้เราโล่งได้จริงๆ เพราะเราไม่ได้พุ่งความสนใจไปที่ความแม่น หรือคะแนนที่จะได้ แต่เราพุ่งความสนใจมาที่ร่างกาย ที่กลางอกกลางใจของเรา จริงๆ แล้วเรื่องพวกนี้มันเล่ากันไม่ได้นะคะ มันจะไม่เข้าใจเท่ากับการได้ไปลองเอง และเรียนรู้ด้วยตัวเองค่ะ
หลังฝึกแล้วมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
พอเราได้รู้จักกับกายและความคิดแล้ว เวลาที่เราไปทำอย่างอื่น เราจะเริ่มรู้สึกถึงกายมากขึ้น ตอนนี้มือเย็นคือตื่นเต้น หน้าร้อนขึ้นเพราะโกรธ ใจเต้นแรงเพราะอาการดีใจ หรือรู้สึกจุกที่หน้าอกเพราะเกิดความเศร้า และเราจะเริ่มจับความคิดของเราเองว่า นี่มันความคิดจรนะ แล้วดีดมันทิ้งไป เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่เราต้องเจอผู้คน เราก็จะสังเกตกายตัวเองมากขึ้นว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไร กายเปลี่ยนไปไหม และหากมีอารมณ์ไม่พอใจเกิดขึ้น เราจะยั้งปากเราไว้ได้ทันก่อนที่จะพูดจาอะไรที่ไม่ดีออกไป บางครั้งบางเหตุการณ์มันเป็นความเคยชินที่เราทำเป็นประจำ มันตกร่องความคิดเดิมๆ ก็ต้องพยายามรู้ให้ทันและดีดความคิดนั้นออกไปให้ได้ เช่น มีคนด่าว่าเราโง่ ถ้าปกติเราก็คงจะโมโห แล้วก็ด่าสวนกลับไป แต่ถ้าเรา
คิดที่จะฝึกและเปลี่ยนแปลงตัวเอง คงทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่ได้ ก็ต้องหมั่นสังเกตและฝืนตัวเอง อาจารย์สอนเสมอว่า just do it คือก็แค่ทำ ให้ออกมาจาก comfort zone (ความเคยชิน) ซะ ตอนนี้ก็ยังคงฝึกอยู่ ผ่านบ้างไม่ผ่านบ้าง แต่เราก็เพียรทำไปเรื่อยๆ จริงๆ ที่เราฝึกอยู่ คนรอบข้างจะเป็นตัวชี้วัดให้เราเองว่าเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
ถ้าเราอยากจะฝึกธนูโพชฌงค์บ้างต้องทำอย่างไร
เรื่องของการฝึกธนูโพชฌงค์ ใครที่สนใจไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไรใดๆ เลยค่ะ แค่เตรียมกายและใจที่พร้อมจะเรียนรู้มาด้วยก็พอ ชมรมเราเปิดสอนบุคคลทั่วไปทุกเดือนค่ะ ยกเว้นเดือน ม.ค. และ ก.ค. ที่เราจะสอบสายกันช่วงนั้นก็เลยจะงดสอน เรามีอุปกรณ์ให้สำหรับผู้ที่เริ่มฝึกใหม่ การฝึกธนูโพชฌงค์อย่างที่บอกว่าต้องฝึกทำซ้ำๆ ค่ะ มาเรียนครั้งเดียวไม่พอ เพราะมันคือการที่เราได้พัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ถ้าสนใจจะใช้ธนูเป็นเครื่องมือในการฝึกเจริญสติแล้วก็สมัครเรียนกันเข้ามาได้ค่ะ ติดตามวันและเวลาที่ทางชมรมจะนัดสอนในเพจของชมรมได้ที่ http://facebook.com/bojjhangaarcheryclub สามารถเข้าไปติดตามข่าวสารต่างๆ ของชมรม รวมไปถึงกิจกรรมต่างๆ ของ อ.วรภัทร์ได้ที่เพจนี้เช่นเดียวกันค่ะ
มีอะไรอยากฝากถึงทุกคนที่อยากฝึกธนูโพชฌงค์ไหม
การฝึกยิงธนูเป็นกลยุทธ์ของอาจารย์ในการให้คนทำงานออฟฟิศได้มาออกกำลังกาย ได้มาฝึกฐานกายในรูปแบบที่ต่างไปจากการปฏิบัติแบบอื่น ทั้งยังช่วยให้ผู้หญิงได้ฝึกความเด็ดขาดขณะยิงด้วย จริงๆ กีฬาอย่างอื่นก็มีให้ฝึกได้ดีเช่นกัน เช่น ตีกอล์ฟ กีฬาที่ใช้ฐานกายเยอะๆ เคลื่อนไหวช้าๆ ให้เราได้สังเกตกายได้อย่างชัดเจน สุดท้ายแล้วเมื่อเราฝึกทำซ้ำๆ ได้ดีแล้ว อาจจะไม่ต้องใช้ธนูแล้วก็ได้ มาทำให้มันอยู่เป็นเนื้อเป็นตัวของเรา แล้วออกไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป เรามาฝึก ลดความคิด เพิ่มรู้กาย เพื่อให้เจอใจที่ว่าง ไปกับชมรมธนูโพชฌงค์กันนะคะ
สุดท้ายต้องกราบขอบพระคุณท่าน อ.วรภัทร์ และครอบครัว ที่ทำให้เกิดชมรมธนูโพชฌงค์ในวันนี้ ครูธนูทุกท่าน พ่อพิชัย ครูณัฐ พี่โดม ที่ช่วยสั่งสอนเรื่องของการยิงธนู และที่สำคัญคือเพื่อนร่วมเดินทาง กัลยาณมิตรที่เราร่วมฝึกด้วยกันมา หากไม่มีทุกคน วันนี้ชมรมธนูโพชฌงค์ก็คงเกิดขึ้นมาไม่ได้เช่นกัน ร่วมฝึกฝนและพัฒนาตัวเองไปด้วยกันจนกว่าจะถึงเป้าหมายนะคะ
แล้ว ณ วันนี้ ความหมายของการยิงธนูก็เปลี่ยนไป เมื่อการยิงธนูแบบโพชฌงค์นั้น เป็นศาสตร์ที่ใช้ในการฝึกฝนตนเองให้แข็งแกร่งขึ้นในทางธรรม