ฟังด้วยใจไขชีวิต
‘ชีวิตบางครั้งต้องใช้ความกล้าที่จะพูด แต่ต้องใช้ความกล้ามากกว่าที่จะฟัง’ ธรรมชาติสร้างมนุษย์ให้มีสองหูเพื่อฟังและหนึ่งปากเพื่อพูด เป็นสมดุลที่ถูกจัดสรรไว้อย่างลงตัว นักฟังบอยด์ คุณ กิตติชัย วิชัยดิษฐ วิศวรหนุ่มผู้ผันตัวเองมาเป็นนักฟังเชิงลึก มาเล่าประสบการณ์ที่ได้ออกไปฟังผู้คน ทุกเพศ ทุกวัย หลากหลายอาชีพถึง 10,000 ชั่วโมง จนเข้าถึงแก่นของการ ‘ฟังด้วยใจ’ ในที่สุด
ผมสะดุดตาและตะลึงกับคลิปวีดีโอของคนญี่ปุ่นคนหนึ่ง เขาเป็นนักฟังชื่อคุณทะกะโนะบุ นิชิโมะโตะ ซึ่งได้รับความนิยมมากในสภาพความเคร่งเครียดของคนญี่ปุ่น ที่ต้องเผชิญปัญหาไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน บริการเช่านักฟังเลยเกิดขึ้นที่นั่น สิ่งที่สัมผัสได้คือ สายตาท่าทางของคนที่มาเล่าให้นักฟังญี่ปุ่นคนนี้ฟังนั้น เหมือนเขามีพื้นที่ให้ได้พูดอะไรบางอย่าง ที่แม้แต่คนในครอบครัว คนสนิทก็ไม่สามารถจะเล่าให้ฟังทั้งหมดที่อยู่ในใจได้ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการปลดปล่อยและอาจจะเข้าถึงและเข้าใจตัวตนของคนๆ นั้นได้ในที่สุด ก่อนหน้านี้ผมเองอยู่ในช่วงที่ถามตัวเองวกไปวนมาอยู่เนิ่นนานเหมือนกันว่า หนึ่งชีวิตของเราจะสร้างประโยชน์อะไรให้กับสังคมได้บ้าง รอยยิ้มเล็กๆ ของผมเริ่มแย้มอย่างมีความหวังขึ้นทันทีหลังจากดูคลิปนี้จบในเวลา 5 นาที แล้วย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ผมจะเป็นอย่างเขาได้หรือเปล่า สิ่งแรกที่คิดได้คือต้องลองทำดู
แรงบันดาลใจให้มาเป็นนักฟัง 10,000 ชม.
ในอดีตตอนที่ยังไม่เจอกับอาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ มักมีผู้คน เพื่อนฝูง รุ่นพี่ รุ่นน้อง ฯลฯ ชอบมาเล่าเรื่องตนเองให้ฟังในทุกๆ แง่ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ผิดหวัง สมหวัง ฯลฯ ผมเองก็เต็มใจที่จะฟัง แต่ตอนนั้นยังไม่ติดอาวุธนักฟัง ได้แต่ฟังและแนะนำอะไรไปตามความหวังดีที่พอจะนึกออกมาช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้นได้ คนเล่าก็รู้สึกดีที่ได้เล่า แต่เขาไม่รู้จะทำยังไงต่อไป ผมเองก็ไม่รู้ จนวันนี้มาเจออาจารย์ ได้ฝึกฝนการฟังที่ถูกต้อง ฝึกฟังคือปฏิบัติธรรม รู้กาย รู้ใจ รู้ว่าความคิดหลอกเราไปไหนต่อไหนได้ยังไง สติเป็นอาวุธสำคัญที่ต้องติดเนื้อติดตัวนักฟังตลอดเวลา แต่สติต้องสร้างไม่ใช่คิดว่ามีสติแล้วจะมี จึงได้ใช้เวลาฝึกฝนบ่มเพาะอยู่กับอาจารย์ 3-4 ปี แล้วนักฟังโฉมใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เเรงบันดาลใจหลักคือการฝึกฝน สร้างประสบการณ์ ให้ตนเอง เพื่อออกไปช่วยเหลือ แบ่งปัน เยียวยา และสร้างทีมนักฟังช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติต่อไป
ลูกค้าคนแรก
เมื่อกล้าคิดก็ต้องลองลงมือทำดู เริ่มนัดหมายลูกค้าคนแรกมานั่งเล่าเรื่องชีวิตให้ฟัง ดูเหมือนจะง่ายพอเริ่มฟังได้สักระยะ ก็ต้องเริ่มเอามือกุมปากเอาไว้ กันเปิดปากพูด กลัวตัวเองจะแนะนำหรือวิจารณ์ออกไปตอนนั้น เพราะในหัวมันมีความคิดที่วิ่งวนอยู่ตลอด คิดต่อในสิ่งที่เขาพูด คิดแทนคนเล่า คิดออกไปนอกเรื่องที่เขากำลังตั้งใจเล่าให้ฟัง จนหูดับไปเป็นระยะๆ ก็มี เป็นสิ่งที่ไม่มีใครมองเห็น ทุกสิ่งมันเกิดขึ้นกับเราเร็วมากๆ มีแต่ผมที่รู้ว่าเกิดเสียงแห่งคำถาม คำตัดสิน คิดแทนอะไรเขาไปบ้างแต่เพียงผู้เดียว
ลุยต่อหรือพอก่อน
ล้มไปข้างหน้าดีกว่ายืนตั้งท่าอยู่กับที่ ‘ทำไปเถอะ ผิดอยู่ดี’ เสียงครูบาอาจารย์ดังก้องในใจเสมอว่า อย่าเพิ่งบอกว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ถ้ายังทำมันไม่ถึง 10,000 ชั่วโมง จึงตัดสินใจลุยต่อจากหนึ่งเป็นสิบ จากสิบเป็นร้อย และเพิ่มขึ้นๆ จนเข้าใจว่าการฟังที่ดีนั้น ต้องฟังให้ครบสามอย่างคือ หนึ่งฟังเนื้อหาที่ผู้พูดเล่าออกมา สองฟังว่าน้ำเสียงเขาเป็นอย่างไร สามสังเกตท่าทางที่บ่งบอกถึงความรู้สึกภายในของผู้เล่า ซึ่งส่งผลเยอะมากที่สุดในสิ่งที่ผู้พูดจะสื่อออกมา ถ้าเรานิ่งฟังได้มากพอ
การฟังแบบใช้ Ram ต่ำ จะทำให้ฟังได้ลึกซึ้งขึ้น
การฝึกฟังแบบใช้ Ram ต่ำ คือใช้ปัญญาฐานกาย (ไม่ใช้สมอง ไม่ใส่ความเห็นขณะฟัง) ให้กายรู้กาย เช่น รู้ที่ฝ่าเท้าสัมผัสพื้นขณะฟัง เป็นฟังวิปัสสนา ขณะฟังรู้ลมหายใจ รู้ใจสบาย ดีดความคิดแบบตัดสิน รังเกียจ และกลัว ออกไปเมื่อมีสติรู้กาย รู้ลมหายใจได้มากขึ้นๆ เราจะฟังได้ลึกถึงความรู้สึกแต่ไม่ไหลตามไป ฟังด้วยใจเบาๆ และฟังได้ลึก รู้จังหวะ และละเอียดขึ้นว่าจริงๆ คนที่คุยกับเราเขาต้องการสื่ออะไร จากเสียงและท่าทาง
สนามพลังแห่งการฟังอย่างตื่นรู้
นักฟังต้องสร้าง Field Of Awareness : FOA หรือสนามพลังแห่งการฟังอย่างตื่นรู้ให้เป็น เพื่อให้ผู้พูดรู้สึกสบาย และพูดอย่างเต็มใจ ต้องรับฟังด้วยใจ ฟังแบบให้เกียรติ ขณะฟังมีการตอบสนอง หรือที่เรียกว่า Paraphrasing (ผ่านน้ำเสียง ท่าทาง คำพูด และความรู้สึก) เข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกแต่ไม่ไหลตาม เหมือนนักประดาน้ำที่ดำน้ำลึกต้องมีถังออกซิเจนติดตัวเพื่อช่วยให้ดำดิ่งลงลึกได้ นักฟังก็เช่นกันจะฟังลึกลงไปใต้ภูเขาน้ำแข็งของผู้พูด ว่าลึกๆ เขาเชื่ออะไร ตัวตนที่แท้จริงเขาคืออะไรได้นั้น ต้องมีการฝึกลมปราณ ด้วยการฝึกอาณาปานสติบ่อยๆ ถึงจะฟังสิ่งที่ซ่อนลึกอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งของผู้พูดได้สำเร็จ
ฟังเป็นช่วยแก้ปัญหา สร้างคุณค่าแห่งความสุขได้อย่างไร
มีโอกาสได้ฟังน้องคนหนึ่งที่คิดว่าตนเองไม่เก่ง และคิดว่าความไม่เก่งนั้นเป็นปัญหากับการทำงาน จนคิดจะลาออก ดูอาการเหมือนจะไม่ไหวแล้ว เขารู้สึกกดดันและค่อนข้างกังวล แต่กระบวนการฟังไม่ได้เจาะไปที่ประเด็นปัญหานั้นทันที เขาค่อยๆ คุยเรื่องอื่นให้ฟังก่อน อาจจะใช้เวลาช่วงนี้สักระยะ จนรู้สึกว่าเขาพร้อมเปิดประเด็นปัญหานั้นขึ้นมาเองแล้ว นั่นแหละครับการเล่าที่ใช้ใจเล่า คนฟังก็ใช้ใจฟัง การเชื่อมต่อกันแบบธรรมชาติก็เกิดขึ้น หรือที่เรียกว่าเกิด FOA เมื่อได้ฟังน้ำเสียง สีหน้า แววตา และท่าทาง บ่งบอกอะไรได้มากมาย เกินกว่าจะบรรยายด้วยการเขียนให้อ่านแล้วเข้าใจทั้งหมด ด้วยการฟังลงลึกแบบนี้ น้องเขาค้นพบและเริ่มตระหนักว่า จริงๆ แล้วอะไรที่เขาพลาด อะไรที่เขายังต้องพัฒนา ในอดีตเขาผ่านอะไรมา และความเชื่อที่เป็นอุปสรรคต่างๆ ต้องถูกสังคายนาใหม่อย่างไร มันผุดขึ้นมาเองราวกับดอกเห็ด น้องเขาเริ่มตั้งเป้าหมายใหม่เล็กๆ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่คือ เกิดมาทำไม มาสร้างประโยชน์อะไร และพร้อมจะเดินต่อและก้าวข้ามปัญหานั้นอย่างเต็มใจ
สุขใจที่ได้ทำ
ไม่มีผู้รับ ย่อมไม่เกิดผู้ให้ฉันใด ไม่มีผู้เล่า ย่อมไม่มีนักฟังเกิดขึ้นแน่นอนฉันนั้น ระหว่างทางที่ได้ฟังทุกๆ ครั้ง ได้เรียนรู้ ได้เข้าใจอะไรใหม่ๆ ได้สิ่งดีๆ ที่เอาไปปรับใช้ในชีวิต และทำให้ค้นพบตนเองได้ด้วยเช่นกัน ต้องขอขอบพระคุณทุกๆ ท่าน ทุกๆ เรื่องเล่า ทุกๆ ประสบการณ์ ที่ได้กลั่นจากใจมาให้ได้ฟัง จนก่อเกิดเป็นประสบการณ์ให้เติบโตเป็นนักฟัง 10,000 ชั่วโมง เพื่อสร้างความสุขสู่สังคมต่อไป
- ติดตามกิจกรรมคาเฟ่นักฟังได้ที่เฟสบุคเพจ White Rabbit Management
- ติดต่อนักฟังบอยด์ได้ที่ Line ID : ninewrabbit