ความสุขวงใน

ความผาสุกในองค์กรแห่งการสร้างโอกาส

พอเรามาเน้นที่คน ถ้าเขาสามารถสงบใจได้ ยังไงเขาก็ทำสิ่งที่เป็นกุศล

ผู้บริหารหนุ่มบอกเราอย่างเรียบง่าย แต่ทว่าสายตาดูมุ่งมั่น เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเค ธรรมฤทธิ์ เอกสมิทธ์ ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง วัยเพียง 30 ต้นๆ จากบริษัทเลิฟ ลีสซิ่ง จำกัด (Love Leasing) ซึ่งก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี ธุรกิจประสบกับสภาวะเกือบเจ๊ง ขาดทุนสะสมหลักร้อยล้าน ทำให้เขาและพี่ชาย (คุณเอกฤทธิ์ เอกสมิทธิ์) ต้องออกจากสายงานที่ร่ำเรียนมา เพื่อกลับมาบริหารธุรกิจของครอบครัว ให้กลับฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง จนตอนนี้ก้าวเข้าสู่กำไรแปดหลักแล้ว

ถ้าเราพูดถึงธุรกิจ Leasing (สินเชื่อ) สิ่งที่คนส่วนมากจะนึกถึง คงหนีไม่พ้นการตามทวงหนี้ ทีมตบพกปืน ซึ่งเห็นได้ตามบ้านในชนบท Love Leasing เป็นธุรกิจเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ในบ้าน เช่น ทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โดยแบ่งชำระเงินเป็นงวดๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ไม่มีเครดิต ไม่มีสลิปเงินเดือน กลุ่มชาวไร่ ชาวนา แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้สอยไม่ต่างจากคนเมือง บริษัทก็ต้องมีทีมที่เข้าถึงตามบ้าน ไปเสนอสินค้า และตามเก็บเงินด้วยเช่นกัน ฟังจากแนวคิดการบริหารของคุณเคแล้ว ช่างต่างจากความดุดันที่เราคิดไว้มากทีเดียว

ความเป็นมาของ Love Leasing

ก่อนจะมาเป็น Love Leasing บริษัทเคยใช้ชื่อว่า MC Chain เราเปลี่ยนชื่อเพราะอยากสื่อถึงความรัก ความเมตตา ในช่วงหนึ่งพบกับสภาพเกือบเจ๊ง ขาดทุนอยู่ตลอดทุกๆ ปี ผมกับพี่ชายจึงต้องกลับเข้ามาช่วยบริหาร เป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ ตอนนั้นทุกคนอยู่ในสภาวะหนีตาย มีความขัดแย้งกันเองระหว่างคนหน้างานที่พบลูกค้ากับคนในออฟฟิศ

มันไม่ง่ายเลยสำหรับผู้บริหารหนุ่มที่ต้องเจอทั้งศึกภายนอกและศึกภายใน แต่ก่อนที่คุณเคจะต้องกระโจนลงไปแก้ปัญหาเหล่านั้น ก็ต้องเผชิญกับความท้าทายของการเป็นทายาททางธุรกิจ ทำให้เรานึกถึงฮ่องเต้ที่จำเป็นต้องขึ้นบริหารตั้งแต่เยาว์วัย ท่ามกลางเหล่าเสนาผู้เจนจัดทั้งประสบการณ์และความสามารถ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ผู้บริหารรุ่นใหญ่ยอมรับเด็กหนุ่มผู้ถูกมองว่าอ่อนประสบการณ์

คุณเคเล่าให้เราฟังว่า

งานแรกที่เราต้องทำคือการปรับตัวเข้ากับคนเก่าคนแก่ สิ่งที่เราต้องใช้ให้มากที่สุดคือ ‘ความนอบน้อม’ เราจึงมุ่งไปที่สารทุกข์สุขดิบของเขาก่อน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับงาน ไปดูก่อนว่าเขามีปัญหาอะไร หรือกระตุ้นให้เขาแสดงถึงปัญหา สื่อสารกับเรามากขึ้น แล้วเราก็แก้ไข จนมันขยายจากวงเล็กๆ ไปสู่วงที่ใหญ่ขึ้น คือมันเกิดความไว้ใจ

 

แนวคิดที่ทำให้ Love Leasing กลับมามีกำไร

มันไม่ได้มีแค่แนวคิดเดียวแบบเปรี้ยงได้เลย มันไม่ใช่แนวคิดทางธุรกิจด้วยซ้ำ จริงๆ มันเป็นเรื่องของบรรยากาศการทำงานที่เปลี่ยนไป เรื่องของความปลอดภัยในแง่การเสนอแนวคิด ส่วนเรื่องของสวัสดิการพนักงานก็เกี่ยว เป็นสิ่งที่เราสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรม เหมือนกับเรามีแฟน มันไม่ใช่แค่บอกว่ารักอย่างเดียว มันต้องมีดอกไม้เป็นตัวแทนด้วย ทำคู่กันไป” ธุรกิจส่วนมากเมื่อพบสภาวะขาดทุน มันเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องลดต้นทุนในทุกทางที่เป็นไปได้ และคนก็ถือเป็นภาระต้นทุนที่สูงมาก บางบริษัทอาจต้องตัดสินใจปลดพนักงานบางส่วนออกไป เพื่อรักษาภาพรวมของธุรกิจ แต่คุณเคกลับมองต่างออกไป ไม่เพียงแค่รักษาคนไว้ แต่ยังคงสวัสดิการต่างๆ ที่พนักงานควรได้รับ “ยิ่งเราพยายามลดต้นทุน ยิ่งตัดงบ ตัดสวัสดิการออก มันยิ่งทำให้คนท้อแท้
– คุณเคกล่าว

สันดานใช่ ก็ไปต่อได้

พูดคุยกันมาถึงตรงนี้ เราเลยถือโอกาสถามคุณเคถึงคนที่เป็นต้นแบบในการบริหาร เขาเล่าให้เราฟังถึง ‘วอร์เร็นบัฟเฟ็ตต์’ เจ้าพ่อนักลงทุนระดับโลกผู้มองเรื่องคนเป็นหลัก ไม่ได้ดูแค่มิติของงบการเงินหรือเรื่องของการลงทุน แต่ดูที่ทีมงาน และเชื่อในพลังของคน (People Business) คุณเคจึงเลือกที่จะลงทุนกับการศึกษา การอบรม และการเชิญวิทยากรต่างๆ ถึงแม้จะเป็นช่วงหน้าสิ่วหน้าขวาน จะเจ๊งแหล่ไม่เจ๊งแหล่ เป็นช่วงที่ไม่มีบริษัทไหนจะมาสนใจลงทุนกับเรื่องเหล่านี้

คุณเคเริ่มจัดให้มีการอบรมที่เป็นรูปธรรม โดยเน้นไปที่ 2 มิติ มิติแรกให้ความรู้เรื่องการเงินส่วนบุคคล และอีกมิติคือวิธีการใช้ชีวิต คุณเคมองว่าปัญหาส่วนใหญ่มาจากเรื่องพื้นฐาน คนไม่อิ่มท้อง หลายคนยังไม่รู้จักการใช้ชีวิต การบริหารจัดการเงินในกระเป๋าของตัวเอง เสียเงินไปกับเหล้า บุหรี่ สังสรรค์ และที่ไม่น่าเชื่อเลยคือ ‘ค่าหวย’ บางคนเสียไปเกือบครึ่งหนึ่งของเงินเดือนในฐานะนักลงทุนคุณเคมองว่าเป็นการลงทุนที่เสี่ยง ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าเงินฝากเสียอีก จึงกำหนดให้ ‘ศีล 5’ เป็นค่านิยมขององค์กรและใช้เป็นตัวนำทาง โดยมีเครื่องมือคือ ‘เบี้ยคุณธรรม’ ซึ่งได้แนวทางมาจากคุณชัยวัฒน์ สุวิทย์ศักย์ดานนท์หรือคุณมี่แห่งนิ่มชี่เส็ง ยักษ์ใหญ่ขนส่งทางภาคเหนือ คุณเคเล่าว่า “มีโครงการเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกหวย ใครเลิกได้ก็ให้เบี้ยคุณธรรมซึ่งเป็นเงินเดือนเพิ่ม คนที่ทำได้แล้วก็รับไปเลย ส่วนคนที่ยังไม่พร้อมก็ยังไม่ต้องเข้าร่วมโครงการก็ได้ แต่อย่าหลอก ซึ่งหมายความว่าเราจะไม่บังคับ แต่ถ้าเข้าร่วมคุณจะต้องไม่โกหก เราถือตรงนี้เป็นสำคัญ” มันเป็นการใช้กลยุทธ์ ‘การบริหารกิเลส’ เอากิเลสละเอียดมาล่อให้ปล่อยกิเลสหยาบ พอถึงตอนนั้นสงบแล้วก็สามารถสอนสิ่งที่ละเอียดไปได้อีก

เมื่อสันดานใช่ ก็ไปต่อได้ การทำสิ่งเหล่านี้ อาจไม่เห็นประโยชน์ว่าจะลงทุนตรงนี้ไปทำไม เพราะไม่ก่อเกิดทรัพย์ที่เห็นได้ในระยะสั้น แต่กลับมองว่าถึงแม้บริษัทจะใหญ่กว่านี้อีกร้อยเท่า แต่คนทุศีลกันสะบัด ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม มีแต่ทำให้สังคมมันเสื่อมลง พอเรามาเน้นที่คน ถ้าเขาสามารถสงบใจได้ ยังไงเขาก็ทำสิ่งที่เป็นกุศล ‘ศีล สมาธิ ปัญญา’ มันจะเป็นไปตามลำดับ โดดข้ามไม่ได้เลย

คุณเควางแผนให้ศีล 5 เป็นภาพลักษณ์ที่ชัดเจน และเชื่อว่ามีหลายบริษัทที่คิดแบบนี้ แต่ไม่มีคนกล้าที่จะประกาศตัวแต่การวางนโยบายเช่นนี้ ก็ทำให้สูญเสียคนเก่งที่คิดไม่ตรงกันไปไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งเขาเองก็ยินดีเพราะยังมีอีกหลายบริษัทที่คิดต่างกัน คุณเคมองว่าคนที่ผิดศีลนั้น ถ้าผู้บริหารไม่จัดการ มันก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรโดยไม่รู้ตัว เขาจึงต้องเด็ดขาดชัดเจน นั่นทำให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นค่านิยมขององค์กร

สนใจแต่เรื่องคน ขาดทุนก็ไม่เป็นไรอย่างนั้นหรือ

เราเน้นเรื่องคนก็จริง แต่ก็ต้องทำกำไรด้วย มันเป็นความท้าท้ายเหมือนกันนะ เพื่อเป็นบทพิสูจน์ว่าบริษัทที่ดูอ่อนโยน มาทุ่มเททุ่มทุนเยอะกับคนขนาดนี้ แล้วมันออกดอกออกผลได้จริง การที่เราทำได้มันก็เป็นตัวอย่างที่ดี เหมือนมีคนจุดประกายขึ้นมา มีคนทำตามได้ผมก็จะมีความสุขมาก

ทฤษฎีโผล่พ้นน้ำ

ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของคนที่มีทรัพยากร คนที่มีความสามารถที่จะทำกิจการ ที่เราต้องดูแลคน เราอาจจะได้อยู่ในจุดที่ดีกว่าแล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องส่งต่อ

คุณเคมองว่าบริษัทที่อยู่ในสเกลขนาดใหญ่ระดับหมื่นล้านแสนล้าน แล้วยังมีแผนขยายธุรกิจนั้น มันไม่ได้ใกล้เคียงกับคำว่าโลภเลย ซึ่งเขาคิดว่ามันน่าจะมีเหตุผลที่ใหญ่กว่านั้น คุณเคเล่าต่อว่า

อุปมาว่าบริษัทเป็นสามเหลี่ยมพีระมิดแล้วเหล่าผู้บริหารระดับสูงอยู่ด้านบน หลายๆ บริษัทพอได้กำไรก็เหมือนพ้นน้ำแล้วก็หยุด แต่จริงๆ มันทำใจลำบากนะที่จะทิ้งคนข้างหลังไว้ แบบลูกน้องเรายังไม่พอกิน เพราะฉะนั้นมันยังหยุดไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องว่าจะหาเงินเยอะกว่านี้เพื่อมาใช้ให้มันเยอะๆ การที่เราขยาย เติบโต หรือเพิ่มตำแหน่งงานมันก็ทำให้คนได้ลืมตาอ้าปากมากขึ้น

แม้แผนทางธุรกิจก็ยังหยิบยื่นโอกาส

มาถึงช่วงท้ายของการพูดคุย เราจึงขอถามคุณเคถึงแผนทางธุรกิจ หลังจากที่พลิกฟื้นให้ Love Leasing กลับมาทำกำไรถึงแปดหลัก เมื่อเราได้ฟังคำตอบก็ยิ่งทำให้รู้สึกทึ่งในตัวผู้บริหารคนนี้มากขึ้นไปอีก คุณเคเล่าว่าเดิมสินค้าจะมีแต่พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แต่แผนต่อไปคือการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าพวกที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น ตู้แช่ของสด มาเป็นสินค้าเพื่อให้ลูกค้าก่อเกิดรายได้จากหนี้สินด้วย ฟังดูแล้วทำให้รู้สึกอบอุ่นใจไปด้วยเลย คุณเคไม่เพียงแต่จะนึกความอยู่รอดของบริษัทเท่านั้น แต่ยังนึกถึงความอยู่รอดของลูกค้าด้วยเช่นกัน ถือเป็นโชคดีของพนักงานเลิฟ ลีสซิ่ง ที่มีผู้บริหารที่สร้างความสุขวงในได้อย่างแท้จริง ทั้งยังสามารถแผ่ขยายความสุขนั้นให้กว้างออกไปในสังคมได้อย่างมิมีประมาณ

.

ปัจจุบัน คุณเค ธรรมฤทธิ์ เอกสมิทธ์ ไม่ได้เป็นผู้บริหารที่เลิฟ ลีสซิ่ง แต่มั่นใจว่าการหยิบยื่นโอกาสของบริษัทนี้ยังคงมีให้กับสังคมต่อไป

ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save