ความสุขวงใน

ศิลปะเชิงเข้าใจตัวเอง เพื่อพบความสุขในสิ่งที่คุณมี

เราเคยเดินในทางที่ไม่ใช่เสียทีเดียวแล้วพอเรามาเจอทางที่ใช่จริงๆ เราก็อยากบอกว่าทางนี้ดีกว่า ได้ผลมากกว่า ใกล้กว่า พอได้ผล คนก็ได้ประโยชน์

ครูป่านแห่งศรศิลป์เริ่มต้นงานศิลปะจากความชอบในวัยเด็ก เส้นทางชีวิตคลุกคลีอยู่กับการวาดรูปและความสุขที่ได้จากการวาดรูป ช่วงแรกๆ เมื่อไม่พอใจก็มาวาด รู้สึกขาดก็วาดเพิ่ม หลงใหลรูปที่วาด วาดเพื่อความพอใจ วาดเพื่อเติมเต็มตนเอง

ผมสั่งความรู้สึกได้ในขณะวาดรู้ว่าอยากวาดด้วยความรู้สึกแบบไหนโกรธ ดีใจ แต่พอออกมาจากการวาดรูป กลับคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้

จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อค้นพบความสุขที่เสถียร มุมมองต่อศิลปะก็เปลี่ยนไป

ผมไม่ได้หลงใหลรูปที่วาดแล้ว การวาดรูปไม่ได้จำเป็นกับผมแล้ว วาดหรือไม่วาดมีค่าเท่ากัน เป็นการชนะตัวเอง หัวใจสำคัญอยู่ที่เป้าหมายมากกว่า ว่าวาดไปเพื่ออะไร เพื่อใคร งานศิลปะต่อจากนี้ให้อะไรกับผู้อื่นได้บ้าง คนที่มาดูจะรู้สึกอะไร จากจุดนี้ผมเริ่มใส่ความรู้สึกปรารถนาดี หวังดี ทำให้รู้สึกอิ่มเอิบใจเข้าไปในการวาด ส่งผ่านความรู้สึกนั้นๆ ให้คนที่มาดูงานของผม

เป้าหมายของศิลปะเชิงเข้าใจตนเอง

ผมอยากเป็นครู (ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย) ที่ตั้งใจสร้างลูกศิษย์เพื่อบอกเรื่องราวของศิลปะแนวนี้ การวาดรูปที่ไม่ต้องสวยเป็นอย่างไร การเรียนศิลปะไม่ได้แปลว่าจะเป็นนักวาดรูป หรือทำงานเกี่ยวกับศิลปะ แต่แปลว่าคุณเอาศิลปะไปใช้กับคุณได้ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร หรือคนกวาดถนน ก็เอาศิลปะไปใช้กับชีวิตคุณได้ ไม่ใช่เชิงสวยงาม แต่เป็นเชิงที่คุณเข้าใจตัวเอง คุณจะได้มีความสุขกับสิ่งที่คุณมี เพราะเราต้องรู้จักสถานะของตัวเอง ขีดความสามารถ สิ่งที่เรามี และเราทำอะไรกับตัวเราได้บ้างตอนนั้น เราก็จะมีความไม่เกินตัว ความพอดี มีความเสถียร และมันก็จะไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ค่อยๆ เดิน แต่มีเป้าหมาย และไม่ทิ้งเป้าหมาย ศิลปะเชิงเข้าใจตนเองนั้นใครๆ ก็เรียนได้ โดยขั้นแรกต้องเปิดใจเสียก่อนว่าเราใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือฝึกสติ สวยไม่สวยเป็นแค่ผลพลอยได้

การสอนศิลปะแบบครูป่าน

ทุกวันนี้ผมไม่เรียกว่าสอน มันเป็นรูปแบบผ่านการเล่าเรื่อง บอก ชวน ช่วยกันคิด ชวนทำ แต่โดยหลักแล้วใช้ใจเป็นสำคัญ แล้วก็ใช้สายตา ดูแล้วก็รู้สึก ไม่ได้คิดอะไร มันอธิบายยาก บางทีเรารู้ว่าเด็กคนไหนต้องปรับอย่างไร เด็กเหมือนกระดาษ เรารู้ต้องใช้สีแดงกับกระดาษแผ่นนี้ มันเป็นความรู้สึกที่เกิดจากการทำอะไรซ้ำๆ จนเป็นอัตโนมัติเหมือนเรากลับบ้าน เราไม่ต้องคิดเส้นทาง

สิ่งสำคัญของการสอนคือ

ใช้ความรักกับเด็กและเข้าใจเด็กแต่สำคัญที่สุดต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ถ้าตัวเรายังไม่อิ่ม ก็สอนคนอื่นไม่ได้ ทั้งกายภาพและมโนภาพ ทั้งปัจจัยสี่และจิตใจ ต้องบริบูรณ์ก่อน บริบูรณ์คือความพอ และผมให้แบบหมดเปลือกในระดับที่ผู้เรียนรับได้ เพื่อที่เติบโตต่อไปได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จริตตรงกับผม บางคนอาจจะเหมาะกับครูที่เข้มงวด

สิ่งที่อยากฝากไว้

ศิลปะนำชาติได้ อย่างประเทศญี่ปุ่นบางเมืองไม่ได้รวย แต่ใช้สิ่งที่มีอยู่มาสร้างคุณค่า ไม้ชิ้นเดียวกัน คนหนึ่งนำมาทาสี คนหนึ่งนำมาแกะสลักนิดหน่อย เพิ่มมูลค่าหรือคุณค่า มันไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณมีทรัพยากรที่ดี แต่อยู่ที่ว่าตรงนั้นคุณมีอะไร การทำศิลปะคือการใช้สิ่งภายในที่เรามีและสิ่งแวดล้อมที่เรามี ศิลปะคือการประยุกต์ใช้

ความสำเร็จในมุมมองของครูป่าน

ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำเป็นเวลานานแบบไม่ปล่อย ย้อนกลับมาว่าทำไมต้องเป็นศิลปะ ถ้าเราไม่เข้าใจตัวเรา เราจะไม่เจอตรงนี้เท่านั้นเอง เราต้องทำให้เขารู้ให้ได้ว่าเขาเป็นใคร เด็กคนนี้อาจจะไม่ใช่นักวาดรูป แต่เราต้องทำให้เขารู้ให้ได้ว่าจริงๆ แล้วเขาชอบภาษาไทย เราก็จะนำศิลปะมาประยุกต์กับภาษาไทยนิดๆ หน่อยๆ ให้เขารู้จักตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ผมดูเด็กเป็นคนๆ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำศิลปะ แต่โตไปเขาจะไม่เกลียดศิลปะ จิ๊กซอว์ชิ้นนี้เขาก็จะไม่ขาดหาย คนที่บริบูรณ์ก็จะไปทำอย่างอื่นได้ง่าย

เมื่อความสำเร็จเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นำมาซึ่งความสุข ศิลปะเชิงเข้าใจตนเองและการใช้ชีวิตก็ทำหน้าที่เชื่อมโยงตัวเราเพื่อพบกับความสุขที่ไม่ต้องค้นหาที่ไหนแต่เป็นความสุขใกล้ๆในสิ่งที่คุณมี

 


ผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสอบถามโดยตรงได้ที่ครูป่าน

  • facebook :parnaniwat
  • โทร : 0945583976
  • line :parnaniwat
  • หรือติดตามข่าวสารจากทีมงานโพรงกระต่าย และศรศิลป์สตูดิโอของครูป่าน
ความสุขประเทศไทย
PDPA Icon

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save